Wednesday, 14 May 2025
PoliticsQUIZ

กระทรวงแรงงาน เปิดให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ดำเนินการแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ต้องการจ้าง และคนต่างด้าวลงทะเบียนแจ้งข้อมูลบุคคลผ่านระบบออนไลน์ สำหรับคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา)

สำหรับคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ซึ่งได้รับการผ่อนผันตามมติครม. เริ่มวันแรก 15 ม.ค. 64 ถึง 13 ก.พ. 64

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนคนไทยและผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนต่างด้าวเป็นอย่างยิ่ง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 ระลอกใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายจังหวัด รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด มีการปรับแผนปฏิบัติการเชิงรุก รวมทั้งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

“ตามที่กระทรวงแรงงานได้เสนอแนวทางเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ให้อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่ เพื่อชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าว และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ พร้อมกับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จากภายนอกประเทศ

ซึ่งมีเป้าหมายเป็นคนต่างด้าว 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.คนต่างด้าวที่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน 2.คนต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงาน 3.ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี โดยนายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ต้องการจ้าง และคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้างแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ได้ตั้งแต่ วันที่ 15 มกราคม - 13 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นขั้นตอนแรก เพื่อเข้าสู่กระบวนการ ตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน และจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการว่า สำหรับขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่

- กรณีคนต่างด้าวมีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

1. แจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว - ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารใบแจ้งชำระเงินค่าใบอนุญาตทำงาน ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

2. ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ - ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม กิจการทั่วไป 7,200 บาท และกิจการประมงทะเล 7,300 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

3. ยื่นคำขออนุญาตทำงาน - ให้นายจ้างชำระค่าคำขอใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564

4. จัดทำทะเบียนประวัติ – ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) และบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง โดยนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปยื่นเป็นหลักฐาน ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรชมพู 60 บาท

- กรณีคนต่างด้าวยังไม่มีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

1. คนต่างด้าวแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th - ให้คนต่างด้าวแนบรูปถ่าย และพิมพ์หลักฐานการรับแจ้งข้อมูลบุคคลจากระบบออนไลน์ ซึ่งให้บริการ 4 ภาษา คือ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

2. ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ - คนต่างด้าวใช้แบบแจ้งข้อมูลบุคคล เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม 7,200 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

3. จัดทำทะเบียนประวัติ - คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค จะต้องไปทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร. 38/1) ณ สถานที่ ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรสีชมพู 60 บาท (ในขั้นตอนนี้คนต่างด้าวยังไม่ได้รับบัตรสีชมพู)

4. คนต่างด้าวหานายจ้างและยื่นคำขออนุญาตทำงาน - ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารจากในระบบออนไลน์ เพื่อไปชำระค่าคำขอรับใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564

5. ปรับปรุงทะเบียนประวัติ - คนต่างด้าวนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564

สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานกิจการประมงทะเล ต้องไปทำหนังสือคนประจำเรือ หรือ Sea book ณ กรมประมง เป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยมีค่าธรรมเนียม 100 บาท และเมื่อกรมประมงพิจารณาเรียบร้อยแล้วจะได้รับหนังสือคนประจำเรือ เป็นหลักฐานใช้คู่กับบัตรสีชมพูในการอยู่และทำงานในประเทศ

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ

รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ แจง แนวทางขอใช้ที่ดิน เพื่อประโยชน์สาธารณะ ย้ำ รัฐไม่ขัดข้องแต่ต้องเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นหลัก ยกกรณีคณะสงฆ์เชียงรายขอใช้ที่ดินฯ ดำเนินการจนแล้วเสร็จ

ที่กระทรวงมหาดไทย มีการเปิดเผยถึงกรณีคณะสงฆ์จังหวัดเชียงรายมีปัญหาการก่อสร้างพุทธมณฑลในจังหวัดเชียงราย ที่มีพระเชียงแสนสิงห์องค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สูงกว่า 30.09 เมตร ประดิษฐานอยู่ แต่ติดขัดในที่ดินของพุทธมณฑล ยังไม่สามารถที่จะถ่ายโอนไปยังหน่วยงานของรัฐได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากยังเป็นที่สาธารณประโยชน์ (น.ส.ล.) จึงต้องมีการเร่งรัดให้มีการดำเนินการที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย

โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่กำกับดูแลกรมที่ดิน ได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า "ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐ เพื่อให้ทบวงการเมืองใช้ประโยชน์ในราชการในท้องที่ ตำบลบัวสลี อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นไปตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอให้จัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐ แปลง "ที่เลี้ยงสัตว์หมู่ที่ 15" ในท้องที่ตำบลบัวสลี อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งพุทธมณฑลสมโภช 750 ปี เมืองเชียงราย

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 334 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐดังกล่าว เพื่อให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งพุทธมณฑลสมโภช 750 เมืองเชียงราย ภายในแนวเขตตามที่กำหนดในท้ายประกาศ ซึ่งได้มีการลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 และได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา"

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐพร้อมดำเนินการให้อย่างเร่งด่วนอยู่แล้ว ซึ่งเราต้องมองไปถึงเรื่องของการใช้ที่ดินที่ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นหลัก พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ อย่างกรณีคณะสงฆ์จังหวัดเชียงรายเสนอให้ดำเนินการมานั้นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ขอเพียงแค่ให้มีการตรวจสอบหลักฐานและดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายเท่านั้น ซึ่งพร้อมดำเนินการให้ทุกแห่ง"

ทั้งนี้ ขั้นตอนการดำเนินการจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐ เพื่อให้ทบวงการเมืองใช้ประโยชน์ในราชการตามมาตรา 8 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินนั้น ผู้ขอซึ่งเป็นทบวงการเมืองให้ยื่นเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและในเขต กทม.ให้ยื่นต่ออธิบดีกรมที่ดิน โดยที่ดินที่ขอต้องอยู่ในบริเวณที่กำหนดความเหมาะสมใช้ประโยชน์ในราชการ และไม่ขัดกฎหมายผังเมือง จากนั้นอำเภอหรือเขตท้องที่สอบสวนประวัติความเป็นมาพร้อมให้ความเห็น โดยผู้ขอใช้จัดทำแผนที่ท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย พร้อมจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อประชุมให้ความเห็น และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งจังหวัดก็จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและจะประกาศจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐกำหนด 30 วัน

ครบกำหนดและไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นก็ให้สรุปเรื่องส่งต่อไปยังกรมที่ดินตรวจสอบเรื่อง โดยดำเนินการตามระเบียกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพ การจัดขึ้นทะเบียนและการจัดหาผลประโยชนในที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2550 และยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย พร้อมรูปแผนที่ และเสนอให้รัฐมนตรีลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทยและลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะต้องดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยถอนการหวงห้ามไปในคราวเดียวกันอีกด้วย

กระทรวงพาณิชย์ จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) แห่งชาติ ตั้งเป้าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน e-commerce อย่างเป็นรูปธรรม คาดภายในปี 2565 สร้างรายได้กว่า 5.35 ล้านล้านบาท

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้กระทรวงพาณิชย์ประชุมจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) แห่งชาติ ตั้งเป้าเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อน e-commerce ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม คาดภายในปี 2565 สร้างรายได้กว่า 5.35 ล้านล้านบาท

ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ปัจจุบันการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce ได้เข้ามีบทบาทต่อชีวิตของคนเราอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลให้การซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจากการสำรวจโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พบว่ามูลค่า e-Commerce ประเทศไทยในปี 2562 มีมูลค่ารวม 4.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 6.91% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เองนั้น ในปี 2564 ได้เดินหน้าผลักดันการค้าออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ การปั้นเด็ก Gen Z to be CEO , การผลักดันผู้ผลิตและผู้ส่งออกให้เป็นผู้ค้าออนไลน์, การพัฒนาตลาดสด ร้านธงฟ้า ให้สามารถขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้, การสร้างยี่ปั้วออนไลน์เพื่อให้เป็นฟันเฟืองเชื่อมโยงสินค้าของ SME รายเล็กเข้าสู่ช่องทางออนไลน์สู่ตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการผลักดันสร้างทีมเซลส์แมนจังหวัดเผยแพร่ความรู้เรื่องการค้าออนไลน์ให้กับผู้ผลิตในระดับฐานรากอีกด้วย

สำหรับคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ชุดนี้ เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง กว่า 30 หน่วยงาน อาทิ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เป็นต้น เพื่อร่วมขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้ครอบคลุมทุกมิติ

ดร.สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั้น ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564-2565) ฉบับนี้ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงาน 4 ด้าน ได้แก่

1. การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (e-Marketplace) เพื่อส่งเสริมการค้าภายในประเทศและการค้าข้ามพรมแดน (Enhancement and Promotion)

2. การพัฒนาสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในทุกด้านให้พร้อมรองรับการเติบโตของการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Ecosystem and Enabling Factors)

3. การสร้างความเชื่อมั่นในธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trust and Sustainability)

4. การพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Competency Building)

ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะขยายการเติบโตของมูลค่า e-Commerce ของประเทศได้อย่างมีนัยยะสำคัญ พร้อมตั้งเป้าการเพิ่มการเติบโตของ e-Commerce ให้ได้ปีละ 10% หรือคิดเป็นมูลค่า 5.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.33 ล้านล้านบาทภายในปี 2565

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

จากกรณีที่รายงานเรื่องของประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะวัคซีนของบริษัท ซิโนแวค จากประเทศจีน ล่าสุด ‘ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ’ ออกมาไขข้อสงสัยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวแล้ว

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โควิด-19 วัคซีน ผลการศึกษาประสิทธิภาพจึงต่างกัน ผลของประสิทธิภาพวัคซีนในการศึกษาต่างสถานที่ ต่างกลุ่ม ประสิทธิผลทำไมไม่เท่ากัน

เพราะการประเมินประสิทธิภาพ จะประเมินอะไร ป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันการเกิดโรค (ติดเชื้อได้แต่ไม่เป็นโรค) เป็นโรคแต่ไม่รุนแรง เช่นไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่เสียชีวิต

ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 จะประเมินตรงไหน ต้องชี้แจงให้ละเอียด ไม่ใช่บอกแต่ตัวเลข

ประเด็นที่ 2 ที่มีการประเมินผลวัคซีนเดียวกัน ทำในสถานที่และประชากรต่างกัน ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากรที่ศึกษา ทำให้ผลต่างกัน เช่น การศึกษาวัคซีน HIV ในประเทศไทย ได้ประสิทธิภาพป้องกันกันโรคได้ 30% ศึกษาที่แอฟริกา ได้ 0% เพราะ แอฟริกา มีความเสี่ยงสูงกว่าไทย

ในทำนองเดียวกัน การศึกษาวัคซีนท้องเสียโรตาในแอฟริกา ประเทศเมารี ได้ประสิทธิภาพ ร้อยละ 50 แต่ใช้วัคซีนเดียวกัน ทำในยุโรปได้ประสิทธิภาพสูง 83-90% เพราะแอฟริกาเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค และการติดโรคได้สูงกว่าในยุโรป

ทำนองเดียวกันการศึกษาโควิดวัคซีน ถ้าทำในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ย่อมมีประสิทธิภาพป้องกันในการศึกษาต่ำกว่า การศึกษาในประชากรทั่วไป ที่มีความเสี่ยงต่ำ

การศึกษาของวัคซีนของจีนประสิทธิภาพที่จีนประกาศ 79% โดยรวม ตุรกี ประกาศผลประชากรทั่วไปได้ 91% และอินโดนีเซียได้ 65% ตัวเลขต่างกัน คือ บราซิลในบุคลากรทางการแพทย์ ได้ 50.4%

ดังนั้นประสิทธิภาพของวัคซีนในแต่ละตัว การแปลผลจะต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงตัวเลข


Cr เพจ Yong Poovorawan

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (14 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 271 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 11,262 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 รวมยอดผู้เสียชีวิต 69 ราย รักษาหายเพิ่ม 717 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 7,660 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 3,533  ราย


ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากปากีสถาน 2 ราย ,ฮังการี 1 ราย ,สหราชอาณาจักร 2 ราย ,สหรัฐอเมริกา 1 ราย ,รัสเซีย 1 ราย ,เนเธอร์แลนด์ 1 ราย ,แคนาดา 1 ราย ,เยอรมนี 1 ราย ,อินโดนีเซีย 1 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ เป็นคนไทย 1 ราย จากมาเลเซีย
ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 78 ราย
ติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 181 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้
ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 174 ราย รักษาหายแล้ว 168 ราย เสียชีวิต 3 ราย
ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 411 ราย รักษาหายแล้ว 377 ราย  ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 8.58 แสน ราย รักษาหายแล้ว 7.03 แสน เสียชีวิต 24,951 ราย
ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.45 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.12 แสน ราย เสียชีวิต 563 ราย
ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.32 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.16 แสน ราย เสียชีวิต 2,902 ราย
ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.93 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.59 แสน ราย เสียชีวิต 9,699 ราย
ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,984 ราย รักษาหายแล้ว 58,722 ราย เสียชีวิต 29 ราย
ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,521 ราย รักษาหายแล้ว 1,369 ราย เสียชีวิต 35 ราย

รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอตั้งกองทุนการท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทย และดูแลหากประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยในประเทศไทย ชงมาตรการจ่ายคนละครึ่งช่วยแรงงานภาคท่องเที่ยว 4 แสนคน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติครั้งที่ 1/2564 ถึงมาตรการการช่วยเหลือการท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ว่า ในการประชุมวันนี้เป็นเรื่องนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติและเรื่องกองทุนการท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทย และดูแลหากประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยในประเทศไทย คล้ายกับภาษีซาโยนาระของประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวว่า เมื่อเข้ามาในประเทศไทยและประสบอุบัติเหตุบริษัทประกันที่นักท่องเที่ยวทำไว้จะต้องดูแลตามขั้นตอนจนกระทั่งกลับประเทศ

เมื่อถามว่าค่าใช้จ่ายการทำประกัน ฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวต้องเป็นผู้จ่าย โดยประเมินว่านักท่องเที่ยว 1 คนจะต้องจ่าย 10 ดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลและกรณีเสียชีวิต ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยงและกีฬาจะเก็บเงินส่วนนี้เข้ากองทุน และที่ผ่านมาก็อยากมีกองทุนของตัวเองเพื่อใช้เยียวยาผู้ประกอบการการท่องเที่ยว โดยที่ประชุมวันนี้จะหารือในเรื่องนี้ด้วย หากได้รับความเห็นชอบจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่ากระทรวงการท่องเที่ยว มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรบ้าง นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จากการหารือกับสมาคมต่าง ๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรม สมาคมการจัดประชุม ได้ข้อสรุปว่าจะมีการผ่อนผันดอกเบี้ยเงินต้น การเข้าถึงซอฟท์โลน และช่วยเหลือแรงงานในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะในภาคส่วนโรงแรม จากนี้จะไปหารือกับกระทรวงแรงงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานประมาณ 4 แสนคน ในลักษณะการแบ่งจ่ายคนละครึ่ง รัฐบาลจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ ผู้ประกอบการจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 เดือน คือเดือนก.พ.และมี.ค. โดยมีเงื่อนไขผู้ประกอบการจะต้องไม่ปลดพนักงานออก จะเยียวยา

เมื่อถามว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ติดตามการช่วยเหลือสายการบินที่เคยเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องซอฟท์โลนหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงคมนาคม ก็สอบถามไปยังกระทรวงการคลัง รวมถึงยังมีการหารือในครม.หลายครั้ง คาดว่าจะเยียวยาได้ทันก่อนที่จะเริ่มมีการเดินทาง ขอย้ำว่ารัฐบาลจะไม่ปล่อยและใครทิ้งไว้ข้างหลังเหมือนที่นายกฯ พูดไว้

ทีม “ก้าวไกล-ก้าวหน้า-ส้มจี๊ด” ระดมกำลังแจกถุงยังชีพ เยียวยาน้ำท่วมใต้ - ชี้ น้ำท่วมครั้งนี้ไม่ใช่ภัยธรรมชาติ แต่เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำ - เตรียมทำหนังสือผ่าน “ลุงชวน” ถึงความรับผิดชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เดินทางลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เกิดเหตุอุทกภัยน้ำท่วมฉับพลันจากเขื่องบางลาง นอกจากนี้นายประเสริฐพงษ์ เป็นยังผู้ประสานทั้ง 3 หน่วยงาน คือ พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และบริษัทส้มจี๊ดเอ็นเตอร์ไพรส์ ในการช่วยเหลือผู้สบภัยโดยการแจกถุงยังชีพ ช่วยเหลือเยียวยาให้กับประชาชนผ่านพ้นวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ไปให้ได้

นายประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันทั้งสิ้น 4 จังหวัด คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 32 อำเภอ 193 ตำบล 1,047 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 70,000 ครัวเรือน ซึ่งวันนี้ตนอยู่ในพื้นที่ ต.ปะกาฮะรัง จ.ปัตตานี แม้ระดับน้ำจะลดลงแต่ยังคงต้องใช้เรือในการสัญจรและเข้าไปช่วยเหลือประชาชน ซึ่งประชาชนยังคงอยู่ในพื้นที่สูงอย่างเช่นบนสะพาน ส่วนความเสียหายของชาวบ้านคือกระชังปลา และวัวที่ล้มตายจากเหตุน้ำท่วม ส่วนวานนี้ตนได้ลงพื้นที่ ต.ยุโป อ.เมือง ยะลา โดยมีผู้นำชุมชนเป็นผู้ประสานในการแจกถุงยังชีพ จากสิ่งที่ตนเห็นนั้นสังเกตได้ว่า ประชาชนที่อาศัยเป็นบ้านชั้นเดียวนั้นขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ทัน ส่วนคนที่อยู่บ้านสองชั้นขนย้ายสิ่งของทันเป็นบางส่วน

“การลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันของ 3 หน่วยงาน คือ พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และบริษัทส้มจี๊ดเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยเป็นการเข้าไปรับฟังปัญหาและแจกถุงยังชีพ ซึ่งประกอบด้วย ชุดข้าวสารอาหารแห้ง และนมแพะ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมเศรษฐกิจระดับรากหญ้าของบริษัทส้มจี๊ด และจากการรับฟังปัญหามานั้น ชาวบ้านได้ตั้งคำถามกับเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ เนื่องจากน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติ แต่เกิดจากการบริหารจัดการน้ำผิดพลาดจากเขื่อนบางลาง ซึ่งปัญหาทั้งหมดผมจะนำเข้าสู่การประชุมสภาในวาระต่อไป”

นายประเสริฐพงษ์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์น้ำท่วมลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วก็เกิดเหตุการน้ำท่วมในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น น้ำท่วมในครั้งนี้คือความล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนบางลาง ตนเชื่อว่าในเมื่อเรามีเทคโนโลยีที่ดีที่ทันสมัย เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในลักษณะแบบนี้ได้ ทั้งนี้ตนจะใช้ช่องทางการประชุมสภาในช่วงปรึกษาหารือในวาระต่อไป ผ่านท่านประธานสภาให้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้บริหารเขื่อนบางลางที่อยู่ในการดูแลของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แสดงความรับผิดชอบ และให้ความชัดเจน เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ยังคงมีความกังวล ว่าเขื่อนบางลางจะปล่อยน้ำเป็นระลอกที่ 2 หรือไม่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ยังไม่กล้าขนย้ายสิ่งของกลับเข้าบ้านของตนเอง

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ดีขึ้น ระดับน้ำลดลง เครือข่ายของคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลจะระดมกำลังเข้ามาช่วยเหลือประชาชน ในการซ่อมแซม เยียวยาและฟื้นฟูบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้

ไมค์ ภาณุพงศ์ แกนนำม็อบคณะราษฎร ปลุกสาวกสามนิ้ว แบน ‘ดอยคำ’ โครงการหลวง ตัดทางทำมาหากินของชาวดอยผู้ด้อยโอกาส

จากกรณีที่พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือพิมรี่พาย แม่ค้าออนไลน์และยูทูปเบอร์ชื่อดัง ได้เดินทางไปที่ หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านและเด็กๆ ซึ่ง พิมรี่พาย ก็ได้ทุ่มเงินของตัวเองกว่า 5 แสนบาท ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และซื้ออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสนั้น

ต่อมาก็ได้เกิดประเด็นร้อนแรง โดยมีสาวกปลดแอก ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีของพิมรี่พาย และขยายผลเชื่อมโยงไปโจมตีสถาบัน โดยเฉพาะโครงการหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำริตั้งโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวเขา ที่อยู่ในถิ่นทุรกันการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้หาเลี้ยงตัวเองได้

ล่าสุด นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แกนนำกลุ่มคณะราษฎร กลายเป็นอีกคนที่ออกมาโพสต์โจมตีเกี่ยวกับโครงการหลวง โดยได้โพสต์ข้อความถึงโครงการหลวงโครงการหนึ่งอย่าง ‘ดอยคำ’ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าที่แปรรูปผ่านโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป หนึ่งในโครงการตามพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 โดยระบุข้อความว่า

“ผลิตภัณฑ์ #ดอยคำ

ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ ‘ดอยคำ’ มาจากการพัฒนาของ ‘มูลนิธิโครงการหลวง’ ที่ #ได้งบประมาณจากรัฐปีละหกร้อยกว่าล้านบาท สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ โดยหนึ่งในกิจกรรมที่ใช้งบประมาณที่ว่านี้ คือการแปรรูปและพัฒนาสินค้าเกษตร ก่อนจะถูกนำไปผลิตและจำหน่ายโดย ‘#บริษัทดอยคําผลิตภัณฑ์อาหาร จํากัด’ ภายใต้แบรนด์ ‘ดอยคำ’

ที่หลายคนอาจจะเข้าใจว่า “#บริษัทดอยคำฯ” เป็นของมูลนิธิโครงการหลวง แต่ข้อเท็จจริงคือมูลนิธิฯ ถือหุ้นเพียง 2.94% ส่วนที่เหลืออีก 97.06% นั้นถือหุ้นโดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ อันนี้ว่าตามข้อมูลปี 2560 เพราะปัจจุบันหุ้นในส่วนนี้ #ถือตรงโดยพระนามของในหลวง ร.10 ของเรา

งบประมาณจากเงินภาษี -> อุดหนุนมูลนิธิโครงการหลวง -> ม.โครงการหลวงใช้งบประมาณรัฐพัฒนาผลิตภัณฑ์ (ปั้นโปรดักส์) ก่อนจะให้ บจก.ดอยคำ ซึ่งมีฐานะเป็น ‘บริษัทเอกชน’ (และถือหุ้นใหญ่โดยในหลวง ร.10) ผลิตและจำหน่าย”

สำหรับ ดอยคำ ก่อตั้งขึ้นจากแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชประสงค์ในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของไทย ทรงก่อตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปขึ้นในพื้นที่การเกษตร เมื่อปี พ.ศ.2515 ดำเนินการส่งเสริม รับซื้อ พัฒนา และแปรรูปผลผลิต เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพที่มีคุณภาพ ในราคาเป็นธรรม โดยเริ่มต้นเพียง 10 รายการ ใน 2 กลุ่มสินค้า ต่อมาในปี พ.ศ.2537 ได้จัดตั้งองค์กรเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ตามศาสตร์พระราชา พัฒนาสร้างสรรผลิตภัณฑ์คุณภาพจากชุมชนและผลผลิตของเกษตรกรไทย ส่งเสริม รับซื้อ พัฒนา และแปรรูปผลผลิต พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรปลอดภัย พลังงานทดแทน เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างยั่งยืน จวบจนปัจจุบัน


ที่มา: The Truth

“ธนกร”ป้อง”บิ๊กตู่” ย้อน”เสรีพิศุทธ์”สมัยรับราชการก็มีบ่อน แต่จัดการได้เด็ดขาดสักครึ่งที่นายกฯ กำลังทำหรือไม่ ยันรัฐบาลจัดการเด็ดขาดแน่ ไม่เว้นแม้มีจนท.เกี่ยวข้อง แจงข้อเสนอ”กรณ์”ทำบ่อนถูกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีเข้ารัฐ ต้องรับฟังทุกฝ่าย

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี กล่าวถึงพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย โพสต์เฟซบุ๊กไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ออกจากตำแหน่ง

เพราะปราบบ่อนกระจอกยังไม่ได้ ว่าหลายคนที่นำคำพูดของนายกฯไปบิดเบือน ที่นายกฯบอกว่าไม่มีใครทำได้สำเร็จเพียงคนเดียว ต่อให้ 100 นายกฯ ก็ทำไม่ได้ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือกัน ไม่ว่าใครเก่งกาจสามารถแค่ไหนก็ทำไม่ได้ แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าไม่มีใครที่จะทำได้สำเร็จด้วยตัวเองเพียงคนเดียว ถ้าทุกฝ่ายไม่ให้ความร่วมมือ หากจะให้สำเร็จทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เช่นเดียวกับการทำงานให้กับประเทศ ทุกคนจะต้องร่วมมือกัน ประเทศจึงจะเดินหน้าไปได้ บ่อนการพนันก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าปราบไม่ได้ แต่ทุกคนต้องให้ความร่วมมือด้วย เพื่อให้สิ่งเหล่านี้หมดไปอย่างแท้จริง

และอยากจะย้อนความจำว่าในสมัยที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังรับราชการอยู่ก็มีบ่อนผิดกฎหมายให้ตำรวจไล่จับกันมาตลอด เมื่อจับเสร็จสักพักคนก็แอบไปเล่นกันอีก ก็เป็นแบบนี้เช่นกันไม่ใช่หรือ อย่าทำเหมือนความจำสั้น เรื่องบ่อนนายกฯ กำชับสั่งการอย่างเด็ดขาดแล้วว่า หากมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องก็ต้องลงโทษเด็ดขาด มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดด้วย ถามว่าก่อนที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะตำหนิหรือออกมาไล่นายกฯควรย้อนไปดูผลงานตัวเองในอดีตด้วยว่า เคยทำได้สำเร็จหรือกล้าลงโทษเด็ดขาดได้สักครึ่งหนึ่งอย่างที่นายกฯ ทำหรือไม่ ไม่ใช่พ่นน้ำลายไปวันๆ

นายธนกร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า เสนอให้รัฐบาลเปิดบ่อนถูกต้องตามกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาบ่อนเถื่อน แล้วนำภาษีมาเข้ารัฐนั้น การเสนอให้มีบ่อนถูกต้องตามกฎหมายมีการพูดคุยกันมาในทุกยุคทุกสมัย ทุกรัฐบาล มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

คนที่เห็นด้วยบอกว่าหากมีบ่อนถูกกฎหมายจะสามารถเก็บภาษีเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศได้จำนวนมาก แก้ปัญหาส่วยต่างๆ ได้ ที่สำคัญ บ่อนกาสิโนแต่ละประเทศป้องกันไม่ให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าไปเล่น ไม่ใช่ว่าประชาชนทั่วไปจะเข้าไปเล่นได้ และทุกประเทศรอบๆ เมืองไทยมีบ่อนถูกต้องตามกฎหมายกันหมดแล้ว มีคนไทยเดินทางไปเล่นจำนวนมาก เงินไหลออกนอกประเทศ จึงสมควรที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะที่คนที่ไม่เห็นด้วยก็บอกว่า เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ผิดศีลธรรม ไม่ควรมี อาจจะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมมากมาย ก็ต้องฟังเสียงทุกฝ่าย ทุกอย่างอยู่ที่สังคมว่าจะเอาอย่างไร ทุกปัญหา ทุกข้อเสนอแนะ รัฐบาลพร้อมรับฟัง วันนี้พล.อ.ประยุทธ์แก้ปัญหาให้กับประเทศสำเร็จมาแล้วหลายเรื่อง ส่วนบางเรื่องอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง จึงจะเห็นผลที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นขอให้มองด้วยใจที่เป็นธรรมและขอให้มั่นใจว่าพล.อ.ประยุทธ์จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอน

รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เคาะจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คนละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300 บาท เพื่อใช้ในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว พร้อมบังคับซื้อประกันภัยรองรับกรณีเจ็บป่วย-อุบัติเหตุ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการจัดเก็บและการบริหารจัดการค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คนละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300 บาท

เพื่อใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระหว่างท่องเที่ยวภายในประเทศ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะนำเรื่องนี้ประกาศลงในราชกิจกานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

“กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะมีการประกาศใช้โดยกำหนดค่าธรรมเนียม และเงื่อนไขต่างๆ โดยจากนี้จะประสานทำตามขั้นตอนให้เสร็จในขณะที่ตอนนี้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพราะถ้าใช้ตอนที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาคงจะยุ่ง ซึ่งข้อดีของการจัดทำเรื่องนี้ จะสามารถดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติในกรณีที่เขาเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาได้

ส่วนวงเงินที่จัดเก็บมาแล้ว ส่วนหนึ่งจะนำเงินไปซื้อประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อดูแลเขา ซึ่งเงินที่จะเอาไปซื้อประกันนั้นอาจจัดเก็บที่ประมาณ 34 บาท โดยจากนี้จะไปหารือกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อีกครั้ง”

สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมครั้งนี้ ถือว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ. นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยนำมาสมทบในกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงการซื้อประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างท่องเที่ยวภายในประเทศไทย โดยจะจัดเก็บรูปแบบออนไลน์

เบื้องต้นในปี 64 นี้ หากเริ่มต้นเก็บคนละ 300 บาท ตามประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย 10 ล้านคน จะทำให้กองทุนมีเงินถึง 3,000 ล้านบาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top