Wednesday, 14 May 2025
PoliticsQUIZ

ทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ แนะรัฐ 6 ทางเยียวยาเศรษฐกิจ คลำเป้าชัด โฟกัส 'เพิ่มรายได้' พร้อม 'ลดรายจ่าย' แบบเร่งด่วน

ทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมกันแถลงข้อเสนอแนะมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ จากผลกระทบการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยนายปริญญ์ กล่าวว่า ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ขับเคลื่อนนโยบายทุกท่านที่ทำงานหนักอย่างเต็มที่ แต่เมื่อมีวิกฤตทางสาธารณสุขที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจร่วมด้วย จึงมีข้อเสนอต่อภาครัฐอย่างสร้างสรรค์ในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้ประชาชน ภายใต้ 6 แนวทาง ดังนี้

• ออกมาตรการเยียวยาทันท่วงที การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ผ่านพ้นไปเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่มีมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนออกมา ผลกระทบคือทำให้มีคนตกงานทันที โดยเฉพาะกับกลุ่มอาชีพอิสระที่ประกอบธุรกิจกลางคืน เช่น ศิลปิน นักดนตรี ผู้ประกอบการ ธุรกิจกลางคืนซึ่งให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปิดสถานบริการและปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดี แต่กลับได้รับผลกระทบมากที่สุด และยังไม่เคยได้รับการเยียวยาจึงขอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจทันที โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด) โดยให้เงินเยียวยาขั้นต่ำคนละ 5,000 – 6,000 บาท/เดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน

• เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ลดคอขวด ทำให้ล่าช้า ทั้งโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลแล้วแต่ยังไม่มีการเบิกจ่าย ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ ที่ต้องไปเร่งติดตามว่าทำไมถึงยังไม่มีการนำเงินออกไปขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรม รวมถึงกลุ่มโครงการของหลายกระทรวงที่กำลังรออนุมัติด้วย เช่น โครงการของกระทรวงพาณิชย์ที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเยียวยาหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโครงการที่ไม่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณปกติ

• สนับสนุนการสร้างงานในเชิงรุก สถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้คนตกงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ภาครัฐต้องทำงานในเชิงรุกและโฟกัสการเยียวยาให้ถูกกลุ่ม เลือกจ่ายในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ หรืออาจเข้ามาช่วยจ่ายเงินเดือนบางส่วนเหมือนกับในหลายประเทศ เพื่อช่วยเยียวยา โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก ผู้ประกอบการ SMEs นอกจากมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นแล้วยังต้องช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับคนไทยในระยะกลางถึงยาวด้วย โดยให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้ออนไลน์ เสริมทักษะ เพิ่มสมรรถนะองค์ความรู้ดิจิทัล ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ เพราะจะเป็นโอกาสให้ภาครัฐสร้างแรงงานฝีมือให้กับประเทศได้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้คนตกงานไม่ใช่เพราะว่าไม่มีตำแหน่งงานให้ทำ แต่เป็นเพราะไม่สามารถหาบุคลากรที่มีทักษะ หรือสมรรถนะที่ตรงกับความต้องการได้รวมถึงการออกนโยบายเพื่อจูงใจคนที่อยู่บ้าน หรือกำลัง Work from home อยู่ให้สามารถเรียนรู้จากบ้านได้ โดยมีเครดิตพิเศษ เช่นให้เงินแถมโบนัส เพื่อจูงใจให้ประชาชนสามารถเรียนจบคอร์สยาก ๆ ได้ เช่น โคดดิ้ง (Coding) การขายของออนไลน์ (E-commerce) การตลาดยุคดิจิทัล (Digital marketing) หรือทักษะอื่น ๆ ด้านดิจิทัล เป็นต้น

• ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ในส่วนของรัฐวิสาหกิจต้องมาช่วยกันมากกว่านี้ อาจต้องไม่ทำกำไรในตอนนี้ ควรพิจารณาดูว่าทำอย่างไรให้ค่าน้ำ-ไฟถูกลงกว่านี้ได้เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

• การเข้าถึงแหล่งเงินทุน SMEs มีปัญหามากในเรื่องของสภาพคล่อง จากปัญหาหนี้สินที่พอกพูนมากขึ้น ควรช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงเงินกู้ที่ถูกและเป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่นโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) กว่า 4 แสนล้านบาทยังไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างเต็มที่ และมีเพียงบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้นที่เข้าถึงได้ อยากให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการต่อรองกับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ในการพักเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้อย่างน้อย 6-12 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ สามารถกลับมาทำธุรกิจได้ และกลับไปใช้จ่ายหนี้คืนได้เช่นเดิม

• ยืดระยะเวลาจ่ายภาษีอากร เช่นเดียวกับในปี 2563 ที่มีการยืดเวลาในการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาจากเดิมช่วงเมษายนไปเป็นช่วงกลางปี รอบนี้ก็เช่นเดียวกัน เพื่อช่วยพยุงความลำบากประชาชน ให้สามารถเดินต่อไปได้ในระยะสั้น 3 - 6 เดือนข้างหน้านี้ นอกจากนั้นควรมีการเก็บภาษี VAT 7% จากแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ต่างชาติ ที่จะมีผลบังคับใช้ก่อนสิ้นปี 2564 นี้ และการเก็บภาษีจากยอดขายของแพลตฟอร์มเหล่านี้ในอนาคตจะทำให้ประเทศมีรายได้จากการเก็บภาษีมากขึ้น

ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากวิกฤตทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจแล้ว การสื่อสารในภาวะวิกฤตก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ต้องถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาทาง ศบค. ทำหน้าที่ได้ดี แต่ยังมีประเด็นที่เป็นปัญหา คือ การให้ข้อมูลข่าวสารในบางครั้งที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันระหว่างหน่วยงาน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เนื่องจากการระบาดระลอกนี้มีการแพร่กระจายเกือบค่อนประเทศ มีชุดข้อมูลที่มาก เข้าใจถึงความยากลำบากในการรวบรวมข้อมูลของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ จึงอยากวิงวอนภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนให้มีการพูดคุยกันมากขึ้น เพื่อบูรณาการข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะเผยแพร่ออกไป ช่วยลดความสับสนและสื่อสารให้กับสังคมไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังทำหน้าที่ อยากให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันเหมือนครั้งก่อน เพื่อให้เราก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน

ทั้งนี้ ในตอนท้ายนางดรุณวรรณ ยังได้พูดถึงโครงการ “เรียนจบพบงาน” ของทีมเศรษฐกิจทันสมัย ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่ไม่ได้งบประมาณจากรัฐบาล ที่ช่วยพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีทันสมัยหรือดิจิทัลเหมาะสมกับงานยุค 4.0 สำหรับโครงการเรียนจบพบงานในช่วงสถานการณ์โควิด จะปรับรูปแบบมาทำกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นทั้งทางด้านการสัมมนา การให้ความรู้ ผ่านแฟนเพจที่เป็นข่องทางในการหางาน รวมถึงการฝึกงานผ่านออนไลน์เพื่อช่วยอัพสกิลและรีสกิล ช่วยประชาชนสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และอยู่รอดได้ในช่วงโควิด-19 และในระยะยาว

อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยปลายปี 2563 ตัวเลขจำนวนผู้ว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น ประชาชนยื่นขอใช้สิทธิ์กรณีว่างงานออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ empui.doe.go.th ลดลง ขณะที่ แรงงานในด้านการผลิตต่าง ๆ เป็นที่ต้องการอันดับแรก

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เดือนธันวาคมที่ผ่านมาถือว่ามีผู้ที่ขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิ์ และรายงานตัวกรณีว่างงานจำนวนน้อยที่สุด โดยไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เดือนธันวาคม มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน 82,238 คน รายงานตัว 539,474 คน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ที่มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน 93,190 คน รายงานตัว 598,076 คน เดือนตุลาคม ขึ้นทะเบียนว่างงาน 116,160 คน รายงานตัว 643,148 คน และเดือนกันยายนขึ้นทะเบียน 121,023 คน รายงานตัว 680,825 คน

“แต่อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานคาดการณ์ว่าอาจจะมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงได้รวบรวมตำแหน่งงานว่างจากนายจ้าง/สถานประกอบการที่ยังมีความต้องการจ้างงาน จำนวน 58,151 อัตรา ซึ่งมีตำแหน่งงานรองรับทุกระดับการศึกษา และอัตราค่าจ้างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ 10 อันดับแรก ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1.แรงงานในด้านการผลิตต่าง ๆ ,แรงงานทั่วไป 2.แรงงานด้านการประกอบอื่นๆ 3.แรงงานด้านการผลิต 4.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่นๆ 5.ตัวแทนนายหน้าขายบริการธุรกิจอื่นๆ 6.พนักงานจัดส่งสินค้าอื่นๆ 7.เจ้าหน้าที่เก็บเงิน ,แคชเชียร์ 8.พนักงานบริการอื่นๆ 9.พนักงานขายสินค้า (ประจำร้าน) , พนักงานขายของหน้าร้าน และ 10.ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์

กรมการจัดหางานยังมีช่องทางการให้บริการจัดหางานออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ ไทยมีงานทำ ซึ่งสามารถค้นหาตำแหน่งงาน สถานที่ทำงานในพื้นที่ที่ต้องการ และมีการประมวลความเหมาะสมกับตำแหน่ง หรือเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน (Co-Payment) ที่เพิ่มโอกาสได้งานสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ หรือการจัดงานนัดพบแรงงาน โครงการนัดพบตลาดงานเชิงคุณภาพ และโครงการจัดหางานเชิงรุกเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งการแนะแนวอาชีพ แนวทางการประกอบอาชีพอิสระ และการฝึกอาชีพอิสระ โดยเน้นการให้บริการตรงถึงระดับตำบล ชุมชน และครัวเรือน เพื่อคนไทยทุกกลุ่มมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน และตำแหน่งงานอย่างทั่วถึง” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

สำหรับผู้ว่างงานที่ประสงค์มีงานทำ สามารถเลือกสมัครงานผ่านช่องทางการให้บริการจัดหางานรูปแบบออนไลน์ด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ smartjob.doe.go.th หรือไทยมีงานทำ เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปติดต่อที่สำนักงาน ลดการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่ในกรณีที่ไม่สามารถใช้บริการแบบออนไลน์ได้ สามารถติดต่อขอรับบริการ ณ ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งนี้ขอความร่วมมือให้สวมหน้ากากอนามัย ตลอดระยะเวลาที่ใช้บริการ รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการที่เจ้าหน้าที่แนะนำอย่างเคร่งครัด หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ประธานรัฐสภา ‘ชวน หลีกภัย’ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เรียบร้อย เดินหน้าสมานประเทศ แต่ไร้เงาฝ่ายเข้าร่วม

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เซ็นลงนามในประกาศรัฐสภา เรื่องแต่งตั้งกรรมการสมานฉันท์ ตามที่มีประกาศรัฐสภาเรื่อง การเเต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ลงวันที่ 8 ธ.ค.2563 กำหนดรูปแบบเเละองค์ประกอบของคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยกำหนดให้มีกรรมการ จำนวน 21 คน

และบัดนี้ รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ว. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้เสนอชื่อผู้เเทนของตน เป็นคณะกรรมการสมานฉันท์แล้ว อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วรรคสี่ ประธานรัฐสภา จึงออกประกาศแต่งตั้งบุคคลต่อไปนี้ เป็นกรรมการสมานฉันท์ 1.พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล 2.นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ 3.นายนิโรธ สุนทรเลขา 4.นายสรอรรถ กลิ่นประทุม 5.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ 6.นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร 7.นายสุริชัย หวันแก้ว 8.นายวันชัย วัฒนศัพท์ 9.นายสมศักดิ์ รุ่งเรือง 10.นายนิรุต ถึงนาค 11.นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง

และให้ข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ ของคณะกรรมการสมานฉันท์ ดังนี้ นายคุณวุฒิ ตันตระกูล เลขานุการ นายณัฐพัฒน์ พัดทอง ผู้ช่วยเลขานุการ นายศตพล วรปัญญาตระกูล ผู้ช่วยเลขานุการ

เป็นรัฐบาลทำได้ทันที!! ‘พิธา ’เปิดข้อเสนอพร้อมใช้สู้โควิด กระทุ้งอีกรอบ เร่งเยียวยาประชาชน-SME ได้แล้ว

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เปิดข้อเสนอมาตรการสู้โควิดกระทุ้งรัฐอีกรอบ ย้ำเร่งเยียวยาผลกระทบให้กับประชาชน และธุรกิจ SME ได้แล้ว ระบุเป็นมาตรการบนพื้นฐานทางการคลัง ที่เป็นไปได้ รัฐบาลทำได้ทันที

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สัปดาห์ก่อน ตนได้อภิปรายออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยสรุปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในภาพรวมและข้อเสนอที่รัฐบาลควรจะทำทันที แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆ ที่เป็นรูปธรรมออกมา ในขณะที่หลายครอบครัวกำลังยากลำบากมาก และทุกๆ วันกำลังรอคอยนโยบายที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่พวกเขา แต่เมื่อรัฐบาลไม่ยอมดำเนินการ ตนจึงขอนำข้อเสนอมาตรการเยียวยาที่พรรคก้าวไกลได้ศึกษาและจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมจากสัปดาห์ที่แล้วมาให้ โดยหวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจและเห็นใจความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมาตรการพร้อมใช้ที่รัฐบาลสามารถนำไปใช้ได้ทันที ดังนี้

1.ทบทวนมาตรการการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัด โดยเร่งด่วน ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ระดับการติดเชื้อ ศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย รวมถึงต้องคำนึงถึงประเภทสถานประกอบการ ที่ถูกสั่งปิดในแต่ละจังหวัด ให้มีมาตรการเยียวยาที่สอดคล้อง และสมเหตุสมผลกับแต่ละสถานที่

2.เร่งช่วยเหลือถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน (สำหรับอายุ 18 ปี ขึ้นไป ยกเว้นข้าราชการ) เพื่อเป็นโครงข่ายรองรับทางสังคม ให้ประชาชนที่กำลังประสบปัญหา อย่างถ้วนหน้า และพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้

3. เยียวยาเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากเป็นพิเศษจากโควิดและมาตรการของภาครัฐ

3.1 ต้องมีมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าเช่าให้ประชาชน ในจังหวัดที่ถูกควบคุมในระดับเข้มงวดสูงสุด

3.2 ชดเชยสถานประกอบการที่ถูกขอความร่วมมือให้หยุดกิจการราว 6,098 แห่ง ใน 28 จังหวัดที่ถูกสั่งปิด เพิ่มจาก 50% เป็น 75% ใช้งบเพิ่ม จาก 2,321 ล้านบาทเพิ่มเป็น 3481.5 ล้านบาท โดยสามารถตั้งต้นงบประมาณไว้ราว 4,000-5,000 ล้านบาท เพราะอาจมีสถานประกอบการที่มาลงทะเบียนเพิ่ม

3.3 ควรมีมาตรการพยุงการจ้างงานสำหรับธุรกิจ ที่รายได้ลดลงในช่วงโควิด โดยมุ่งเน้นจังหวัดที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก เช่น 5 จังหวัดแดงเข้มและกรุงเทพฯ เสนอให้ใช้เกณฑ์การพิจารณาให้โดยดูจากรายได้/การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลง ชดเชยที่ 50-75% โดยมีเพดานไม่เกิน 7,500 บาท/ราย

3.4 ต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้เช่าไม่ให้ถูกให้ออก โดยอาจมีกฎหมายพิเศษห้ามบังคับไล่ผู้เช่าออกในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมาก และให้รัฐบาลไปเยียวยาผู้ให้เช่า เช่น พิจารณาลดภาษีที่ดิน

4. สำหรับภาคธุรกิจ รัฐบาลควรต่อสายป่านของธุรกิจที่อาจขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์ที่คลี่คลายช้าลง โดยต้องมีโครงการ Soft-loan และพักชำระหนี้ไปสูงสุด 2 ปี ซึ่งอาจใช้โมเดลแบบการฟื้นฟูช่วงที่เกิดสึนามิ ด้วยการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารและธนาคารของรัฐ

นายพิธา กล่าวต่อว่า มาตราการเยียวยาทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นได้จริงและทำได้อย่างเร่งด่วน โดยจะหางบประมาณได้จากการ

1. โยกงบฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังเหลืออยู่ ใช้สำหรับเยียวยา รวมแล้วจะมีงบยังไม่ได้ใช้จากเงินกู้ 1 ล้านล้านเหลืออยู่ราว 467,000 ล้านบาท งบกลางเหลืออยู่ราว 139,000 ล้านบาท

2. เกลี่ยก่อนที่จะกู้ เมื่อมีสถานการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีกรอบ ก็ควรรวบรวมทรัพยากรทั้งหมดที่มี รวมถึงการโยกงบปี 64 ในส่วนที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพื่อนำไปเป็นกระสุนสำหรับการฟื้นฟูในระยะถัดไป ก่อนที่จะคิดกู้เงินเพิ่ม ประสบการณ์จากการโยกงบปี 63 พบว่าหน่วยงานรัฐสามารถหั่นงบตัวเองได้เมื่อยามจำเป็นโดยไม่กระทบเป้าหมายเดิม สำหรับปี 64 ที่งบประมาณเพิ่งเริ่มใช้มาไม่ถึง 3 เดือน จะโยกงบได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท

“มาตรการเหล่านี้คิดมาโดยละเอียดรอบคอบ บนพื้นฐานที่เป็นไปได้ทางการคลังทั้งสิ้น หากท่านเป็นรัฐบาลของประชาชนก็ไม่ควรรั้งรอ ที่จะดำเนินการใดๆ เพราะเวลานี้หลายครอบครัวและหลายกิจการเหมือนมือกำลังเกาะขอบเหว ไม่รู้ว่าจะอดทนได้อีกแค่ไหน ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลของประเทศนี้จะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยพวกเขาบ้าง” นายพิธา กล่าว

“อนุทิน ชาญวีรกูล” ฟิต ร่วมประชุมครม.นัดแรกหลังกักตัว 14 วัน ยืนยันไม่มีขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุข ไม่ขัด หากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น-โรงพยาบาลเอกชน ซื้อวัคซีนฉีดเอง แต่ต้องขึ้นทะเบียนจากอย.ก่อน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลประชาชน ในการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ว่าสธ.ยืนยันความพร้อม ทั้งเรื่องการแพทย์ เวชภัณฑ์ การพยาบาล และการดูแลสถานการณ์เรามีความพร้อม และขอให้ทุกคนช่วยกันสอดส่องดูแล อย่าให้มีการลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีที่จะให้มีคนกลับจากบ่อนการพนันต่างประเทศ และนำเชื้อโควิด-19 เข้ามาด้วยนั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง รวมไปถึงโทษนั้น มีความชัดเจนอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องไปดูในพ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยเฉพาะมาตรา 40,41,42 รวมทั้งดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ประกอบด้วย ซึ่งเราต้องทำทุกอย่างตามกฎหมาย แต่เรื่องการที่บอกว่าจะไม่รักษานั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องให้การรักษา แต่ต้องดูข้อกฎหมายว่ากำหนดไว้อย่างไร

เมื่อถามถึงความคืบหน้าเรื่องวัคซีน ว่า ในกรณีที่ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยินดีซื้อมาเพื่อฉีดให้กับประชาชนในจังหวัดของตัวเอง แล้วทางสธ.มีความเห็นอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการที่จะนำวัคซีนมาบริการกับประชาชนโดยทั่วไปอยู่แล้ว ถ้าท้องถิ่นมีงบประมาณและต้องการดูแลประชาชน สิ่งที่ใช้ก็ต้องเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียน โดยผ่านการอนุมัติจากสธ. ถือว่าเป็นเรื่องดีหากท้องถิ่นมีความจำนง ที่ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล โดยงบประมาณรัฐบาล ต้องนำรายชื่อมาตรวจคัดกรองกัน เพราะฉีดซ้ำไม่ได้อยู่แล้วเป็นการช่วยกันคนละไม้ละมือ อย่างไรก็ตามเป็นการพูดถึงหลักการทั่วไปก่อนยังไม่ได้ลงรายละเอียด ถือว่าเป็นเรื่องร่วมกันทำงาน เพราะถึงอย่างไรก็เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดิน อยู่ที่ว่าจะเอามาจากกระเป๋าใบไหนเท่านั้น ทั้งนี้สธ.พิจารณาแล้วเห็นว่า วัคซีนต่างประเทศทุกยี่ห้อไม่มีปัญหา และสามารถมาขอขึ้นทะเบียนจากทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สธ.ของไทยได้ และโดยหลักการเราเปิดกว้างเพียงขอให้ปลอดภัย หากบริษัทจะมาขึ้นทะเบียนกับอย.ไว้ก่อน เพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำมาฉีดให้กับคนที่มีฐานะหรือฉีดได้

เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แล้วหรือยังในกรณี แถลงข่าวออกมาโดยเหมือนยังไม่ได้หารือกันภายในก่อน แทนที่จะมาคุยผ่านโซเชียล ทำให้ดูเหมือนมีปัญหาภายในศบค. นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีปัญหาและนายแพทย์ทวีศิลป์ก็เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนโดยตรง เวลาเขาทำหน้าที่ เขาก็แถลงตามตัวอักษรของกฎหมาย แต่เมื่อมีกระแสออกมาอีกทางหนึ่งก็ต้องรีบบอกกันว่า ไม่ควรใช้กฎเกณฑ์แบบนั้น เราต้องเอาความสบายใจของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ได้มีปัญหาใดๆ เมื่อวันที่ 11 มกราคม ก็ยังนั่งพูดคุยกัน ต่างคนต่างให้กำลังใจกัน

นายอนุทินกล่าวถึงการกักตัว 14 วันที่ผ่านมาของตนเองด้วยว่า รู้สึกฟิตน้ำหนักลงไป 3 กิโลกรัม อยู่บ้านก็ทำงานได้และทำงานหนักกว่าเสียอีกเพราะไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องรับแขกใช้วิธีการประชุมทางไกล ซึ่งก็ประชุมทั้งวัน และยังกินน้อยลงไปด้วย

อันที่จริงก็ไม่อยากจะพูดถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก แต่ตอนนี้อุณหภูมิด้านอารมณ์ของคนไทย เริ่มร้อนแรงไม่แพ้อุณหภูมิของเชื้อร้ายจากโควิด-19 สักเท่าไรนัก

อันที่จริงก็ไม่อยากจะพูดถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก แต่ตอนนี้อุณหภูมิด้านอารมณ์ของคนไทย เริ่มร้อนแรงไม่แพ้อุณหภูมิของเชื้อร้ายจากโควิด-19 สักเท่าไรนัก

เพราะตอนนี้จะมีการแบ่งซักสังคมออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือผู้เฝ้าระวัง คอยเตือน วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่และภาครัฐ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็คือผู้ลงมือทำงาน

น่าเห็นใจทุกฝ่าย แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้อีกฝ่ายเริ่มรู้สึกถึงการ ‘ล่วงล้ำบทบาท’ กันจนเกินขอบ ก็ทำให้เกิดเรื่องที่ไม่น่าให้เกิด เฉกเช่นกรณีของ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมอผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาให้ข่าวด้านโควิด-19 สายบู๊ที่มีวิวาทะหนักหน่วง ชวนกระซวกไส้ กลุ่มผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การดูแลปัญหาโควิด-19 โดยตรง

นั่นจึงเป็นเหตุให้เกิดประเด็นดราม่า แบบ ‘หมอ’ ไฝว้ ‘หมอ’ เกิดขึ้น โดยไม่นานมานี้ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ รก ระดับ 11 หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “เราจะควบคุมโรคโควิด 19 ได้สำเร็จ เราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน เราต้องการกำลังใจ มิใช่ต้องการคำวิพากษ์วิจารณ์ที่บั่นทอนจิตใจ สร้างความกลัว ตื่นตระหนก และไม่มีประโยชน์ ครับ

วันนี้ หมออ่านข่าว อาจารย์ธีระ และตลอดเวลาที่ผ่านมา ที่อาจารย์ธีระเขียนผ่านโซเชียลและเป็นข่าว ขอเรียนว่า ไม่สบายใจ และหมอเห็นใจคนทำงาน เห็นใจพี่น้องประชาชน มากๆ ครับ

คนที่ No action talk only สบายมากครับ ไม่ทำอะไร ไม่มีผิด คนทำงาน คนที่อยู่หน้างาน มดงาน นักรบชุดขาว ทั้งเหนื่อย เครียด ผู้บริหารที่บัญชาการเหตุการณ์ ต้องวางแผน คิดรอบด้าน เลือกมาตรการใดๆ ก็ต้องมีบวกและลบ ครับ แต่เราเลือกสิ่งที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับประเทศชาติและประชาชน ครับ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat 10 มกราคม 2564...สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำคือ "ทำในสิ่งที่ควรทำ และอย่าทะลึ่งไปทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ"

ผมขอตอบอาจารย์ธีระว่า กระทรวงสาธารณสุข ทำทุกสิ่งด้วยความถูกต้อง ถูกหลักวิชาการ ตามมาตรฐาน ด้วยการมีส่วนร่วมของนักวิชาการทั้งใน และนอกกระทรวงสาธารณสุข จนมากำหนดนโยบาย มาตรการ เราประชุม ทำงานตั้งแต่เช้าทุกวัน มดงาน หน่วยปฏิบัติการ

“นักรบชุดขาว” ปฎิบัติการ 24/7 ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ไม่มีวันหยุด ครับ

หมอสงสารชาวบ้านครับ เขียนหรือพูดให้เกิดความตื่นตระหนก เกิดความกลัว มีประโยชน์อะไร ครับ

อาจารย์เขียนแต่ละครั้ง หมอขอให้คิดพิจารณาให้ดี ขอให้ผู้บังคับบัญชาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโปรดช่วยแนะนำตักเตือนอาจารย์ธีระด้วยครับ

ทุกสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาตรการ อยากบอกอาจารย์ธีระ เราคิดถึงปากท้องชาวบ้าน คิดถึงพี่น้องประชาชนมาก่อนเสมอ เราต้องเน้น “ทุกมิติ” มิใช่ควบคุมอย่างเด็ดขาด แต่ชาวบ้านอดตาย ครับ แต่กระทรวงสาธารณสุขเน้น มาตรการที่ถูกหลักวิชาการ คิดในทุกมิติ เช่น ปากท้อง สังคม เศรษฐกิจ ครับ

วันนี้ เราทำงานเป็นทีม สามารถแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอเชิงนโยบาย และผู้บริหารรับฟัง ครับ (ไม่จริง แบบที่อาจารย์โจมตี ผมอยากเชิญอาจารย์มารับฟัง มาดูพวกเราทำงาน มิใช่ คิดเอง และเขียนเอง โจมตีการทำงาน ว่า เราขาดความเป็นเอกภาพ สับสน หรือทำงานแบบ "ทราบแล้วเปลี่ยน" การทำงานหรือมาตรการมีความชัดเจน และพร้อมปรับตามสถานการณ์ ครับ

เราไม่เคย “กลับลำ” ตามที่อาจารย์วิจารณ์ แต่มีการปรับเปลี่ยนมาตรการ อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ครับ

หมอขอกำลังใจและความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชน ในกรณีการดูแลผู้ป่วย เราเป็นหมอ ไม่ว่าคนทำผิด หรือประชาชน เราดูแลทุกคนครับ แต่เรื่อง “ค่ารักษา” เป็นอีกเรื่อง นะครับ

เราดูแลรักษาอย่างดีที่สุด ได้มาตรฐานอยู่แล้วครับ ไม่เคยนำ “เงิน” มาเป็นตัวตั้ง

อาจารย์ธีระ โปรดเข้าใจด้วยครับ สำหรับผู้กระทำผิด เรื่องการคิดค่าใช้จ่ายภายหลัง เป็นไปตามหลักกฏหมายและความถูกต้อง ครับ

กระทรวงสาธารณสุขทราบปัญหา และดูแลคนในมุมมืด ค้นหาเชิงรุก ทำงานด้วยเมตตา จรรยาบรรณแพทย์ตามหลักมนุษยธรรม ครับ

หมอขอยืนยัน การควบคุมโรคโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข มีการวางแผน วิเคราะห์สถานการณ์ กำหนดยุทธศาสตร์ และมาตรการ มีการมีส่วนร่วมและขอบคุณอาจารย์จากมหาวิทยาลัย

เรามีการติดตามประเมินผล อย่างเป็นระบบ เราผ่านเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี เราจะร่วมกับทุกภาคส่วน และพี่น้องประชาชน ผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ให้ได้ ครับ

ผมขอบคุณความปรารถนาดี อาจารย์ธีระ ครับ หากอาจารย์มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โปรดเสนอในที่ประชุม หรือส่วนตัวที่ผมก็ได้

เราทุกคนพร้อมรับฟัง ในการทำงานมีผู้แทนทุกภาคส่วนครับ โปรดอย่าวิจารณ์พวกเราในลักษณะนี้เลยครับ

หมอสงสาร เห็นใจ คนทำงาน มดงาน นักรบชุดขาว และผู้บริหารที่อุทิศตน ทุ่มเททำงานครับ...."

@@@ ทั้งนี้เมื่อถูกตอบโต้จาก ‘หมอรุ่งเรือง’ ทางรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้โพสต์เฟซบุ๊กตอบกลับว่า...

“มีคนเอ่ยถึงผมผ่านทางสื่อสาธารณะว่า สื่อให้สังคมกลัวเพราะอะไร ได้อะไรขึ้นมา และการวิพากษ์วิจารณ์ชี้ให้เห็นจุดอ่อนต่างๆ ที่ผ่านมานั้นล้วนเป็นการบั่นทอนจิตใจบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง

หากใครที่ติดตามอย่างละเอียดลออ จะทราบได้ว่า สิ่งที่ผมทำมาทั้งหมดนั้นยืนบนพื้นฐานของเจตนาดีที่จะปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนทุกคนในสังคมไทย รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขหน้างานทุกคน

ผมเป็นคนทำงานด้านสาธารณสุขมาก่อน ดังนั้นการจะมองว่าอยู่บนหอคอยงาช้างนั้นคงไม่ใช่แน่นอน หากกล่าวเช่นนั้น ต้องบอกว่าท่านไม่รู้จักผมจริง

หนึ่ง ผมนำข้อมูลวิชาการจริงมานำเสนอให้สาธารณะได้ทราบว่าสถานการณ์จริงคืออะไร วิเคราะห์ให้ดูว่าการระบาดของเราเมื่อเทียบกับประเทศอื่นเป็นเช่นไร อนาคตของเราหากเดินตามรอยเท้าของประเทศอื่นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ทำเช่นนี้เพราะต้องการให้คนของเรามีความรอบรู้ รู้เท่าทัน ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น โรคนี้รุนแรงสุดในรอบ 102 ปี ติดไปแล้วกว่า 90 ล้าน ตายไปแล้วเกือบ 2 ล้านคนทั่วโลก หากรู้เท่าทัน จะมีสติ รู้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับอะไร และจะเตรียมตัวรับมือได้

การจะมาบอกว่าขู่ให้คนกลัว ถามตรงๆ ว่ามันน่ากลัวไหม?

ผมคงไม่สามารถหลอกตัวเองให้ทำการเล่าให้มองว่า โรคนี้มันคือหวัดธรรมดา กระจอก เอาอยู่ เป็นแล้วมียารักษาและไม่มีทางตายครับ เพราะผมเชื่อว่าการพูดสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องจริงนั้นเป็นบาปมหันต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจทำให้คนประมาท การ์ดไม่เข้มแข็ง ใช้ชีวิตสำมะเลเทเมาปล่อยตัวปล่อยกายปล่อยใจ จนติดเชื้อแล้วตายกันเป็นใบไม้ร่วงได้

โรงเรียนผม Johns Hopkins มีสุภาษิตที่เป็นแรงบันดาลใจของศิษย์เก่าทั้งหลายว่า "Protecting health, Saving lives, Millions at a Time"

แต่ไม่ได้สอนให้ผมตัดสินใจทำแบบยอมรับความเสี่ยงที่คุกคามสุขภาพและชีวิตคนแลกกับเศรษฐกิจ ภายใต้สถานการณ์ระบาดที่รุนแรง

การอ้างถึงปากท้องของคนนั้นเป็นเหตุผลสำคัญยิ่ง พอๆ กับสุขภาพคนครับ แต่ยามที่โรคระบาดรุนแรง มุมมองของผมคือจะไม่ยอมเอาชีวิตคนอื่นมาเดิมพันแลกกับความเสี่ยงเพื่อให้ทำมาหากิน แต่ผมจะหาทางช่วยประคับประคองกันไปในช่วงเวลาสั้นๆ โดยใช้เวลาสั้นๆ นี้หาทางจัดการควบคุมโรคระบาดอย่างเคร่งครัดเด็ดขาด

เพราะผมทราบดีจากการติดตามสถานการณ์ทั่วโลกที่แสดงบทเรียนให้เห็นว่า การสู้แบบแย่บๆ ไม่มีทางน็อคตัวร้ายได้ แต่จะถูกมันน็อคในที่สุด

ผมนั้นยกย่องให้เกียรติคนทำงานหน้าด่านเสมอ ไม่ว่าเค้าจะเป็นอาชีพใดก็ตาม ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คุณตำรวจ คุณทหาร หรือแม้แต่ประชาชนชาวบ้านที่มาร่วมด้วยช่วยกันสู้กับโรคระบาด หากไม่ได้พวกเราทุกคน ไทยเราคงไม่สามารถผ่านระลอกแรกมาได้อย่างหวุดหวิด และคงไม่สามารถต้านระลอกสองมาถึงบัดนี้

สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นคือ การตัดสินใจเชิงนโยบาย และมาตรการต่างๆ เพราะหากผิดทิศผิดทาง ย่อมจะนำพาให้ทุกคนในสังคมตกอยู่ในภาวะลำบากทั้งระยะสั้นและระยะยาว

การถกแถลงให้เห็นเหตุและผลเชิงวิชาการ และข้อมูลประกอบนั้นคือสิ่งที่ยืนยันชัดเจนในเจตนารมย์ที่จะนำไปสู่การพัฒนา

นโยบายและมาตรการต่างๆ สำหรับสาธารณะนั้น หากมองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีหลายต่อหลายอย่างที่หากรื้อฟื้นขึ้นมาถาม คงมีคนสงสัยมากมายว่ามีเหตุผลอะไรกันแน่ เพราะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ระบาด ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนแข่งรถ เงื่อนเวลาในการตัดสินใจแบนนักท่องเที่ยว และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า แม้จะมีการอ้างว่านโยบายหรือมาตรการต่างๆ ผ่านกระบวนการกลุ่มที่มีตัวแทนจากที่ต่างๆ มาช่วยกันคิดหรือกลั่นกรองแล้ว ก็มิใช่ว่าจะเป็นนโยบายที่สมควรเสมอไป ดังนั้นหากเราปรารถนาดีต่อทุกชีวิตในสังคม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด ก็ย่อมที่จะต้องเปิดใจนำคำวิพากษ์วิจารณ์และคำแนะนำต่างๆ นั้นไปขบคิด และนำไปประยุกต์ใช้ ยิ่งหากเป็นชุดข้อมูลที่แตกต่างจากที่ตนเองมีครับ

จากที่ผ่านมา อยากบอกพวกเราว่า หลายต่อหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบชีวิตของคนในสังคม ได้พยายามช่วย และสู้กันอย่างเต็มที่ตลอดปีกว่าที่ผ่านมา เพื่อหวังประคับประคองประเทศให้พ้นภัยโรคระบาด หลายอย่างได้รับการนำไปใช้เป็นมาตรการ แม้จะไม่ผ่านกลไกปกติก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผ่านพ้นหลายวิกฤติมาได้

ด้วยสภาพปัจจุบัน ที่ใช้มาตรการที่ไม่ได้เข้มแบบล็อคดาวน์ แต้มต่อในการจัดการโรคอย่างสมบูรณ์คงแทบไม่มีครับหากดูจากบทเรียนของต่างประเทศ

สิ่งที่ผมคาดการณ์ว่าอาจเป็นสถานการณ์ในอนาคตที่เราจะเจอ มีดังนี้

1. จะมีการติดเชื้อแฝงในชุมชนทั่วไปได้โดยไม่รู้ตัว และมีจำนวนติดเชื้อต่อวันไปเรื่อยๆ จะเป็นหลักหน่วย หลักสิบ หรือหลักร้อยต่อวันก็แล้วแต่

2. จะมีโอกาสเกิดการระบาดซ้ำระลอกสาม และ/หรือสี่ได้ในระยะ 1-1.5 ปีถัดจากนี้ ขึ้นกับจำนวนติดเชื้อรายวันว่ามากน้อยเพียงใด และการ์ดของพวกเราทุกคนว่าเข้มแข็งหรือไม่

3. ประชาชนจำเป็นต้องป้องกันตัวเสมอ ระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะทำงาน ท่องเที่ยว หรืออื่นๆ ใครที่ไม่ป้องกันตัวก็จะติดเชื้อ ป่วย หรือเสียชีวิตได้

4. วัคซีนจะยังไม่สามารถส่งผลให้คุมการระบาดได้ ตราบใดที่ยังไม่สามารถฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ราว 70% ของประชากรทั้งหมด (ประมาณคร่าวๆ จากสรรพคุณในการป้องกันเฉลี่ยของวัคซีนหลายชนิดรวมกัน ทั้งของจีน ของอังกฤษ และอื่นๆ เช่นจากอเมริกา หลังขึ้นทะเบียนมาจำหน่ายในอนาคต)

5. สำหรับการระบาดระลอกสอง ระบาดซ้ำ ระบาดใหม่ครั้งนี้นั้น ถ้าดูจากบทเรียนต่างประเทศ มีโอกาสที่จะทวีความรุนแรงขึ้นกว่านี้ และอาจไปพีคประมาณต้นถึงกลางเดือนหน้า จึงต้องระมัดระวังกันให้ดี หากใช้มาตรการเข้มข้นเต็มที่ตั้งแต่ตอนนี้จะดีกว่า มิฉะนั้นอาจมีโอกาสสู้ยาวถึงปลายมีนาคม แต่หากไม่เป็นอย่างที่คาด ก็คงจะดีครับ

6. สถานพยาบาลต่างๆ จะรับภาระหนักขึ้นเรื่อยๆ ในการสู้ระยะยาว สำหรับศึกระลอกสองครั้งนี้นั้นจะวัดกันใน 6-8 สัปดาห์ข้างหน้า ถ้าเสร็จศึกก่อนก็จะดี ถ้ายืดเยื้อ คงจะเหนื่อยมาก

ในขณะที่อนาคต สถานพยาบาลคงต้องเตรียมรับมือกับวิถีใหม่ ที่จำเป็นจะต้องตรวจคัดกรองโรคโควิดในผู้ป่วยในและผู้ป่วยที่จะผ่าตัดทุกราย รวมถึงการตรวจคัดกรองในบุคลากรทุกระดับในสถานพยาบาลเป็นระยะ เพื่อป้องกันการระบาดในสถานพยาบาล เฉกเช่นเดียวกับโรงเรียนแพทย์ ที่จำเป็นต้องตรวจในเหล่านิสิตนักศึกษาแพทย์ พยาบาลและสาขาอื่นๆ ที่มาปฏิบัติงาน นอกจากนี้ผลกระทบต่อระบบบริการโรคอื่นๆ จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก คุณภาพและปริมาณที่จะให้บริการจะได้รับผลกระทบ แม้จะพยายามหาทางเลือกอื่นมาช่วย เช่น เทเลเมดิซีน การส่งยาถึงบ้าน การบริการถึงบ้าน ฯลฯ

ที่แลกเปลี่ยนมาทั้งหมดนั้น อยากจูงใจให้เราช่วยกันสู้เต็มที่ในเวลานี้ ป้องกันตัวอย่าให้ติดเชื้อ ฉุดกราฟการระบาดลงมาให้ได้

ภาพที่อยากเห็นคือ ต่อให้ไม่ประกาศล็อคดาวน์ แต่ทุกคนที่พอไหว ช่วยกันอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ใส่หน้ากาก 100% ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น และรีบไปตรวจหากสงสัยหรือมีอาการผิดปกติ ในขณะที่ผู้ประกอบกิจการต่างๆ หากช่วยกันลดความเสี่ยงลงให้เหลือน้อยที่สุดยิ่งดี หากทำได้ในระยะ 2-4 สัปดาห์ถัดจากนี้ เราก็อาจเปลี่ยนภาพอนาคตให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้

อยากให้ประเทศไทยทำได้ครับ

ด้วยรักต่อทุกคน”

อันที่จริงแล้ว ในห้วงเวลานี้ เชื่อว่าทุกคนมองเป้าหมายปัญหาเดียว คือ พิชิตโควิด-19 ให้ได้ เพื่อชีวิตพี่น้องคนไทยทั้งนั้น ส่วนความคิดอาจจะ ‘แตกต่าง’ แต่ยังไงเสียก็ขออย่า ‘แตกแยก’ กันเลยนะคุณหมอ ให้กำลังใจทุกฝ่ายจ้า...


ที่มา: เพจ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ / เพจ Thira Woratanarat

คณะรัฐมนตรี ไฟเขียวจ่ายเงินเยียวยาประชาชน จำนวน 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน สำหรับอาชีพลูกจ้าง อาชีพอิสระ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งอีก 1 ล้านสิทธิ ปลายเดือนม.ค.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) ถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้มีการอนุมัติหลายโครงการ โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ในวันนี้ ครม.อนุมัติได้เงินเยียวยาประชาชน จำนวน 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งมีรูปแบบเยียวยาในอาชีพ คือ แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม รวมไปถึงยังมีโครงการคนละครึ่ง เปิดให้ลงทะเบียนใหม่ 1 ล้านสิทธิ์ ปลายเดือน ม.ค. นี้ด้วย

ขณะเดียวกัน ยังได้มอบหมายให้ไปหารือเอกชนช่วยลดค่าอินเตอร์เน็ต 3 เดือน เพื่อรองรับการทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home รวมถึงได้เห็นชอบมาตรการลดค่าไฟ-ค่าน้ำ เป็นเวลา 2 เดือน ก.พ. - มี.ค. เพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด-19 อีกด้วย"

FBI เตือนมีป่วนอีกรอบ (มีแนวโน้มสถานการณ์อาจรุนแรงกว่าเหตุการณ์ยึดรัฐสภา 6 ม.ค.) ในวอชิงตันดีซี และเมืองหลวงของทั้ง 50 รัฐ ทั่วประเทศจากกองเชียร์ของทรัมป์ ในวันที่ 20 ม.ค. ที่ 'โจ ไบเดน' ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง

ข้อความที่สื่อสารกันออนไลน์ โดยเฉพาะในเพจของกลุ่มขวาจัดใช้ข้อความปลุกระดมยั่วยุ ให้เตรียมพร้อมป่วนใช้ความรุนแรงอีกรอบ เพื่อขัดขวางการส่งมอบหน้าที่ ที่กองเชียร์ทรัมป์ยังมโนเชื่อว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้งจากบัตรเลือกตั้งผีหลายล้านใบ ในรัฐสวิงสเตท อย่าง Pensylvania-Wisconsin-Michagan-Georgia ส่งผลให้ทรัมป์พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นที่มาของถ้อยคำ "STOP THE STEAL" ยุติการทุจริตโกงการเลือกตั้ง ที่ตะโกนกันในช่วงชุมนุมประท้วง

ฝ่ายความมั่นคงได้เตรียมเจ้าหน้าที่ทหารไว้ 15,000 นาย สำรองอีก 10,000 นาย เพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดความรุนแรงขึ้นอีกรอบในพิธีสาบานตนที่เมืองหลวงวอชิงตันดีซี ที่ทรัมป์ ประกาศก่อนหน้านี้จะไม่เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว

และคาดว่าในวันพุธนี้ ญัตติถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐ ที่เสนอโดยประธานสภาผู้แทนราษฎร Nancy Pelosi จะผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร (Democrat ครองเสียงข้างมาก) ก่อนถูกส่งต่อไปวุฒิสภา (Republican มีเสียงข้างมาก) และต้องใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 66 เสียงจากสว.ทั้งหมด 100 คน เพื่อให้มีผลในการถอดถอนจากตำแหน่งปธน.โอกาสถอดถอนทรัมป์จากตำแหน่งจากเสียงสนับสนุนในวุฒิสภานั้น ดูแล้วท่าจะเป็นเรื่องที่ 'เป็นไปไม่ได้'


ที่มา: เพจ Sermsuk Kasitipradit

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (12 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 287 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 10,834 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 67 ราย รักษาหายเพิ่ม 166 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 6,566 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4,035 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 287 ราย เป็น ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน 1 ราย,ญี่ปุ่น 1 ราย,สหรัฐอเมริกา 2 ราย,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย,สหราชอาณาจักร 2 ราย,อินโดนีเซีย 1 ราย,อินเดีย 1 ราย

ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 153 ราย

ติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 125 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 173 ราย รักษาหายแล้ว 153 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 392 ราย รักษาหายแล้ว 374 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 8.37 แสน ราย รักษาหายแล้ว 6.89 แสน เสียชีวิต 24,343 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.38 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.09 แสน ราย เสียชีวิต 555 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.31 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.15 แสน ราย เสียชีวิต 2,858 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.9 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.58 แสน ราย เสียชีวิต 9,416 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,929 ราย รักษาหายแล้ว 58,668 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,515 ราย รักษาหายแล้ว 1,361 ราย เสียชีวิต 35 ราย

ครม.อนุมัติ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 คาด ส่งเสริม-เสริมสร้าง-เชื่อมโยง-การลงทุนระหว่างประเทศ โดยงานจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า อนุมัติหลักการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ ใช้กรอบงบประมาณวงเงิน 20 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า "การแข่งขันจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา แบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ การจัดการแข่งขัน RoboCup แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอายุไม่เกิน 19 ปี หรือ RoboCup Junior League และกลุ่มอายุ 19 ปีขึ้นไป หรือ RoboCup Major League

ส่วน Exhibition เป็นพื้นที่สำหรับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และส่วนแสดงวัฒนธรรมไทย, ส่วน Symposium เป็นการนำเสนอแลกเปลี่ยนองค์ความรู้โดยนักวิชาการด้านหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติที่มีชื่อเสียงระดับโลก และส่วน Startup Pitching เป็นเวทีกลางที่เปิดโอกาสให้ผู้ประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ได้เข้ามามีโอกาสในการนำเสนอนวัตกรรมการประดิษฐ์ของตนต่อกลุ่มผู้ลงทุน"

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า "ในการจัดงานแข่งขันครั้งนี้คาดว่าประโยชน์ที่จะได้รับประกอบด้วย

1.) การเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรและเพิ่มจำนวนบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ของประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันระดับสากล

2.) เสริมสร้างพัฒนาการวิจัย และการต่อยอดงานวิจัยในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ รวมทั้งสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่มีความเชื่อมโยงและร่วมมือระหว่างประเทศ

3.) เป็นการเชื่อมโยงและสนับสนุนกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ รวมถึงแสดงศักยภาพของนักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักเรียน และนักศึกษาไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล

4.) เกิดการลงทุนระหว่างประเทศจากอุตสาหกรรมขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top