Friday, 25 April 2025
Politics

‘บิ๊กป้อม’ ยันจุดยืน ‘พปชร.’ ปกป้องสถาบัน ค้าน!! ‘กม.นิรโทษกรรม’ หากรวม ‘ม.112’

(19 ก.ค. 67) ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงว่าตนได้รับมอบหมายจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เกี่ยวกับจุดยืนของพรรคต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม พรรคมีมติคัดค้านการรวมคดี 112 ร่วมอยู่ในร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะเป็นการฝ่าฝืนบรรทัดฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ที่ระบุว่า “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำความผิด บุคคลที่หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และเป็นกฎหมายคุ้มครองที่ไม่ให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและเป็นสถาบันหลักของประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้”

ดังนั้น การให้ผู้กระทำความผิดที่ถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม แต่มาออกกฎหมายเพื่อให้นิรโทษกรรมความผิดดังกล่าว จึงเป็นการขัดต่อคำวินิจฉัยต่อศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ดังนั้น การที่จะเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมีมาตรา 112 ร่วมด้วย โดยมีเจตนาทางการเมืองไม่ได้ ถือเป็นการมีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลาย สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรมและอ่อนแอ นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

“การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้ผู้กระทำผิดในมาตรา 112 เป็นการออกกฎหมายที่มีความร้ายแรงมากกว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ด้วยซ้ำ เราจึงคัดค้านไม่เห็นด้วย และพล.อ.ประวิตร ก็มีนโยบายชัดเจนที่จะปกป้องสถาบัน จึงต้องมาบอกให้ชัดเจนว่าพรรคพลังประชารัฐ ขอคัดค้านเรื่องนี้และท่านยังกำชับว่าหากมีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาฯ ในวาระ 1 ไม่ว่าจะกี่ฉบับ สส.พรรคพลังประชารัฐทุกคน จะลงมติไม่เห็นด้วยทุกฉบับ เพื่อให้ร่างกฎหมายที่จะมีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ตกไปตั้งแต่วาระ 1 ”

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่พรรคเพื่อไทยอาจจะให้รวมมาตรา 112 กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้าไปด้วย นายไพบูลย์ กล่าวว่า ใครจะอย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่พรรคพลังประชารัฐ เราจะคัดค้านทุกวิถีทางที่จะไม่ให้มีการเห็นชอบร่างกฎหมายนิรโทษกรรมมาตรา 112 ส่วนเรื่องพรรคไหนจะทำแบบไหนก็แล้วแต่ เราไม่เกี่ยว แต่พรรคเราแน่วแน่ และมั่นคงในหลักการนี้ 

ถามต่อว่า ที่ระบุว่าการแก้กฎหมายนิรโทษกรรม โดยรวมมาตรา 112 ร้ายกว่าการเสนอแก้มาตรา 112 หากพรรคการเมืองดึงดันที่จะให้มี 112 จะส่งผลต่อสถานะของพรรคการเมืองเหมือนกรณีของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนได้พยายามย้ำไปแล้วในประเด็นนี้ ขอให้แต่ละพรรคการเมืองไปตีความเอาเอง

เช็กเสียง!! ‘โหวต - ไม่โหวต’ วาระพิจารณางบ 67 อุ้ม ‘เงินดิจิทัล’ พบ 4 สส. ก้าวไกล ไม่ลงมติ!! 2 ใน 4 'แด๊ดดี้' กับ ‘จิรัฏฐ์’

เมื่อวานนี้ (18 ก.ค.67) สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ.... วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ เพื่อใช้ในโครงการเติมเงินหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยในการลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ปรากฏว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 461 เสียง ผลการลงมติเห็นด้วย 297 เสียง ไม่เห็นด้วย 164 เสียง งดออกเสียงและไม่ลงคะแนนไม่มี 

โดยจากการตรวจสอบพบว่าเสียงของพรรคฝ่ายค้านที่หายไป คือ พรรคก้าวไกล มีผู้ที่ไม่ได้กดบัตรลงคะแนน 4 คน ประกอบด้วย ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ สส.บัญชีรายชื่อ, ‘จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์’ สส.ฉะเชิงเทรา, ‘จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม’ สส.เชียงราย และ ‘ปรีดี เจริญศิลป์’ สส.นนทบุรี

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ได้ร่วมโหวต 10 คน อาทิ ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ สส.สงขลา และเลขาธิการพรรค, ‘ชัยชนะ เดชเดโช’ สส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรค  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไฮไลต์ที่สำคัญพบว่า มี สส.ฝ่ายค้านโหวตสวนมติของพรรค ได้แก่ 3 สส.ของพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ซึ่งก่อนหน้านี้มีพฤติการณ์โหวตลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง และมีข่าวที่จะย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย ‘สุภาพร สลับศรี’ สส.ยโสธร, ‘หรั่ง ธุระพล’ สส.อุดรธานี และ ‘อดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์' สส. อุดรธานี รวมถึงยังมี ‘ปรีดา บุญเพลิง’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ‘สุรทิน พิจารณ์’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปไตยใหม่ และ ‘กฤดิทัช แสงธนโยธิน’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคใหม่ ที่โหวตเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ของรัฐบาล 

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล พบว่าพรรคเพื่อไทย มี สส. 7 คน ไม่ได้โหวต อาทิ ‘สุทิน คลังแสง’ รมว.กลาโหม, ‘เกรียง กัลป์ตินันท์’ รมช.มหาดไทย, ‘ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง’ สส.บัญชีรายชื่อ, ‘พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์’ สส.บัญชีรายชื่อ, ‘วันนิวัติ สมบูรณ์’ สส.ขอนแก่น, ‘วิลดา อินฉัตร’ สส.ศรีสะเกษ  

ด้าน พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้โหวต 2 คน ได้แก่ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, ‘สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล’ สส.พระนครศรีอยุธยา รมช.ศึกษาธิการ สำหรับพรรคพลังประชารัฐ มีผู้ไม่ได้มาร่วมโหวต 6 คน ได้แก่ ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, ‘ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า’ รมว.เกษตรและสหกรณ์  เลขาธิการพรรค, ‘ขวัญเรือน เทียนทอง’ สส.สระแก้ว, ‘สะถิระ เผือกประพันธุ์' สส.ชลบุรี, ‘นเรศ ธำรงทิพยคุณ’ สส.เชียงใหม่ และ ‘ทวี สุระบาล’ สส.ตรัง  

พรรครวมไทยสร้างชาติ 4 คน คือ ‘สุชาติ ชมกลิ่น’  รมช.พาณิชย์, ‘อนุชา นาคาศัย’ สส.ชัยนาท, ‘จิรวุฒิ สิงห์โตทอง’ สส.ชลบุรี และ ‘นิติศักดิ์ ธรรมเพชร’ สส.พัทลุง และพรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน คือ ‘พาณุวัฒณ์ สะสมทรัพย์’ สส.นครปฐม และพรรคประชาชาติ 1 คน คือ ‘พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง’ รมว.ยุติธรรม พรรคเสรีรวมไทย 1 คน ได้แก่ ‘มังกร  ยนต์ตระกูล’  

นอกจากนี้ ประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ทั้ง 3 คน ก็ไม่ได้ร่วมโหวต ประกอบไปด้วย ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ สส. พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ สส.พิษณุโลก พรรคเป็นธรรม ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ‘พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน’ สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2

‘เฉลิม’ จ่อแจม 'พลังประชารัฐ' หลัง 'ลูกชาย' เตรียมเปิดตัววีกหน้า ลั่น!! หากถูก 'เพื่อไทย' ขับพ้นพรรคเมื่อไร พร้อมย้ายทันที

เมื่อวานนี้ (19 ก.ค.67) รายงานข่าวจากพรรคพลังประชารัฐเปิดเผยว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้เข้าพบหารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่บ้านป่ารอยต่อ เพื่อพูดคุยกันถึงสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้เชิญให้ ร.ต.อ.เฉลิม ย้ายไปอยู่ด้วยกันในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในเบื้องต้นมีรายงานว่า ร.ต.อ.เฉลิม ได้ตอบตกลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม ยังย้ายไปร่วมไม่ได้ในขณะนี้เพราะยังเป็น สส. ของพรรคเพื่อไทยอยู่ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยมีมติขับออกจากพรรคก็จะย้ายไปอยู่ในทันที

นอกจากนี้ มีรายงานข่าวว่า นายวัน อยู่บำรุง บุตรชาย ร.ต.อ.เฉลิม ซึ่งได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทยไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในสัปดาห์หน้าอีกด้วย

‘ธนกร-รวมไทยสร้างชาติ’ ค้านสุดลิ่ม!! นิรโทษกรรม สอดไส้ ‘ม.110-112’ เชื่อ!! คนทำผิดหาข้ออ้างรอดไม่ยากและสุดท้ายก็ได้นิรโทษกรรม

(20 ก.ค.67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เตรียมจัดทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมสภาภายในเดือนก.ค.นี้ 

โดยมองว่า หากจะมีการเสนอสภาให้ตรากฎหมายนิรโทษกรรม แก่การกระทำที่มีเหตุแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดต่อชีวิต และความผิดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง 2 ประเด็นแรกนั้น ตนเห็นด้วย หากเป็นการกระทำที่ไม่รุนแรงถึงขั้นชีวิต แต่ควรพิจารณาในรายละเอียดอย่างรอบคอบ ตามหลักกฎหมาย เชื่อว่าจะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายได้

ส่วนการกระทำผิดที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ มาตรา 112 ที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทฯ นั้น กรรมาธิการมีเสียงแตก เห็นเป็น 3 แนวทาง แนวทางแรก เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรม แนวทางที่ 2 นิรโทษกรรมให้โดยไม่มีเงื่อนไข และแนวทางที่ 3 นิรโทษกรรมให้แบบมีมาตรการเงื่อนไขนั้น 

โดยนายธนกร เห็นว่า หากจะมีการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิด ที่ก้าวล่วงสถาบันฯ ตามมาตราดังกล่าว อาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ในหลายมาตรา เช่น มาตรา 6 ที่ระบุชัดว่า ‘องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้’ ซึ่งจะเท่ากับว่ากฎหมายที่สภาจะตราออกมาใหม่เรื่องการนิรโทษกรรม ส่อไปขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง และทำให้ไม่ผ่านการพิจารณาถูกตีตกในสภาได้ 

นอกจากนั้น อาจเป็นการเปิดช่องให้คนนำเหตุผลมาอ้างว่า ทำลงไปเพราะมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ถูกชักจูงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนทำให้คนไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทำผิดซ้ำอีก เพราะสุดท้ายก็ได้นิรโทษกรรม แบบนี้ถือว่าเป็นความลักลั่นทางกฎหมาย เปิดช่องให้คนทำผิดมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่เปราะบาง เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะเป็นความมั่นคงของชาติ

“พรรครวมไทยสร้างชาติ นำโดยนายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค ได้ย้ำจุดยืนมาตลอดแล้วว่า กฎหมายนิรโทษกรรม เราคัดค้าน จะต้องไม่รวมคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 เด็ดขาด เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ใครจะดูหมิ่นก้าวล่วงไม่ได้ ซึ่งการจะตรากฎหมายใดออกมาก็ตาม ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก ไม่เอาพวกพ้องเป็นใหญ่ หากดันทุรังผลักดันเรื่องนี้ในสภา เชื่อว่าสส.ผู้แทนที่มาจากประชาชนทุกคน ไม่ยอมแน่ หากกระทำความผิดก็ต้องยอมรับและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” นายธนกร ระบุ

‘โซเชียล’ ชื่นชม ‘พีระพันธุ์’ สั่งตรึงค่าไฟ 4.18 บาท แม้ลดราคาให้ไม่ได้ แต่ก็ไม่ยอมให้ขึ้นโดยเด็ดขาด

(20 ก.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘เชียร์ลุง’ ได้โพสต์ข้อความกล่าวถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กรณีการตรึงราคาค่าไฟ โดยมีเนื้อความระบุว่า…

“ยืนหยัดต้านสุดกำลัง ‘ไม่ยอมให้ค่าไฟขึ้น’ ไม่ใช่พีระพันธุ์พังไปนานแล้ว!!”

“มติ กกพ. เรื่องค่าไฟ ออกมาคราใดประชาชนสุดแสนจะเจ็บปวด ล่าสุดจะทะลักไปสูงสุดที่ 6 บาทต่อหน่วย!! ช่างร้าวรานหัวใจสิ้นดี”

“มติออกมาแต่ละครั้ง คุณพีระพันธุ์ รมต.กระทรวงพลังงานไม่เคยยอมแพ้ ฝ่ากระแสทวนอำนาจ ตรึงราคาได้ทุกครั้งไป สู้ทุกวิถีทางเพื่อที่จะช่วยประชาชน ล่าสุด กกพ.มีมติให้ขึ้นไปสูงสุดที่ 6 บาทกว่า คุณพีไม่ยอมเช่นเดิม ขอตรึงไว้ที่ 4.18 ลดไม่ได้ก็ไม่ยอมให้ขึ้นเด็ดขาด!!”

“หนึ่งเดียวจริง ๆ กับชายคนนี้ บาดแผลเต็มตัวแต่ก็ไม่ร้องเรียกความสงสาร ถูกเตะถ่วงก็ไม่ท้อเดินหน้าสู้สุดฤทธิ์เพื่อพวกเรา”

“สู้ ๆ ครับ คุณพีระพันธุ์ หน.พรรคแห่งความหวัง ‘รวมไทยสร้างชาติ’!!”

'เปลวสีเงิน' ยกนิ้ว!! 'ทำงานสไตล์พีระพันธุ์' ชัดเจน-เถรตรง-โกงไม่เป็น ยาหอมไม่มี คำหวานไม่พูด มุ่งแต่ทำงานเพื่อชาติ-ประชาชน

(20 ก.ค. 67) เปลวสีเงิน นักหนังสือพิมพ์และคอลัมนิสต์ชื่อดัง ได้นำเสนอบทความ ในหัวข้อพีระพันธุ์ 'คนหวานไม่เป็น' โดยระบุว่า...

ผมชอบรัฐมนตรี 'พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค' แฮะ!

ท่านเป็นคนชัดเจน

ในการทำงาน ไม่ต้องการหวานให้คนรัก ชอบโผงผาง-ตรงไปตรงมา ใครเกลียด ก็เรื่องมึง

งานที่ทำ มีผลสำเร็จ เพื่อสังคมชาติบ้านเมืองและประชาชน นี่เรื่องที่กูปรารถนา!

ที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องเสีย ค่าโง่โฮปเวลล์ ๒๔,๐๐๐ ล้านบาท

ก็ฝีมือท่าน 'พีระพันธุ์' สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์คนนี้แหละ สู้ด้วยการหักล้างกันด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจนชนะ

'การบินไทย' ที่อยู่ในสภาพศพคาห้องดับจิต หนึ่งในทีมที่ทำให้กลับมีลมหายใจ ฟื้นขึ้นมาและลุกขึ้นวิ่ง เป็นการบินไทย แข็งแรงกระดี๊กระด๊า ทุกวันนี้

ก็รัฐมนตรี 'พีระพันธุ์' ในยุคนายกฯ ประยุทธ์คนเดียวกันนี้แหละ หัวเรี่ยว-หัวแรง 'ฟื้นชีพการบินไทย' ตอนนี้โก้ กินขนมปังแทนกินปาท่องโก๋ยาไส้แล้ว

คนอย่างนี้ ในทางการเมือง ถึง 'งานดี-งานเด่น'

แต่ 'ปากไม่ดี, ประจี๋-ประจ๋อไม่เป็น' แถม 'เถรตรง-โกงไม่เป็น' แบบนี้ด้วยละก็รุ่งในสนามเลือกตั้งยาก ไม่โกงเอามาแบ่งปัน ชาวบ้านไม่ชอบ

นักการเมืองด้วยกันก็เหอะ 'บางพรรค-บางคน' ก็ไม่ชอบ!

แต่ในทาง 'เพื่อบ้าน-เพื่อเมือง'

คนอย่างท่านพีระพันธุ์ ถ้าชาววิไล ส่งเสริมให้มีพื้นที่ยืนในงานบริหารชาติบ้านเมืองต่อเนื่องละก็

ชาติบ้านเมือง รุ่งแน่!

เรื่อง 'ค่าไฟฟ้า' ที่ชาวบ้านกลายเป็น 'ถังขยะ' ให้รัฐบาลเพื่อไทย โกยสารพัดขยะใส่

ลืมสิ้น ที่ตะโกนตอนหาเสียง 'ค่าไฟ..ค่าน้ำมัน ลดทันที' ชนิดคำว่า 'อัปรีย์' ยังสูงเกินไปนั้น!

ไตรมาส ๔ 'กันยา-ธันวา' คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เคาะแล้ว เมื่อ ๑๐ ก.ย. ภายใต้เงื่อนไข ว่า

หากนำ 'ต้นทุน' และการ 'คืนหนี้' ให้  กฟผ. ๙๘,๐๐๐ ล้านบาท มาคำนวณ รวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ที่ ๓.๗๘ บาท/หน่วย

จะทำให้ค่าไฟที่ ๔.๑๘ บาท/หน่วย ขณะนี้ เพิ่มขึ้นเป็น ๔.๖๕-๖.๐๑ บาท/หน่วย

คือราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ  ๔๖-๑๘๑ สตางค์/หน่วย!

ชาวบ้านก็เป็นไก่ ถูกรัฐบาลเอาไม้เสียบตูดเผา หมุนไป-ก็หมุนมา ไปเท่านั้น

ไม่แค่ระดับชาวบ้าน 'สภาอุตสาหกรรม' ยังร้องโอ้ก!

แล้ว 'นายกฯ ประเทศไทย' นามว่าเศรษฐา ว่าไง?

ผมสั่งการให้ 'กระทรวงพลังงาน' นำเอามาตรการช่วยเหลือประชาชนจากการปรับขึ้นค่าไฟ เข้า ครม.สัปดาห์หน้า ที่ ๒๓ ก.ค.ที่จะถึงนี้

แล้วรัฐมนตรีพลังงาน 'พีระพันธุ์' ว่าไง...

"เชิญประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประธานคณะกรรมการ บมจ. ปตท. (PTT) มาหารือร่วมกัน

ได้ข้อยุติ ที่จะตรึงค่าไฟงวดใหม่ไว้ที่ ๔.๑๘ บาท/หน่วยตามเดิม...

"ต้องให้เครดิต ปตท...

เพราะทาง ปตท.ไม่รับเงินตอบแทนใดๆ จากค่าไฟฟ้างวดนี้เลย เพื่อช่วยเหลือประชาชน"

รัฐมนตรีพีระพันธุ์ ยังบอกด้วยว่า....

"การช่วยประชาชน ไม่ว่าจะค่าไฟฟ้าหรือน้ำมัน ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงพลังงาน เพียงกระทรวงเดียว แต่ต้องประสานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง...

"รวมถึงราคาน้ำมันที่กระทรวงพลังงานพยายามตรึงไว้ที่ราคาเดิมที่ ๓๓ บาท/ลิตร...

"แต่ปัจจุบัน 'กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง' ภาระหนี้สินมากขึ้น การจะปรับลดราคาน้ำมันลงมาได้ ต้อง 'ปรับลดภาษี' ด้วย...

"ผมพยายามปรับปรุงกฎหมายอยู่....

"ขณะนี้ยกร่าง 'กฎหมายฉบับที่ ๑' เกี่ยวกับการดูแลราคาน้ำมันประจำวันเสร็จแล้ว...

"อยู่ระหว่างทบทวนความถูกต้อง ก่อนเสนอให้นายกฯ รับทราบ"

สรุป ปัญหาเฉพาะหน้า หลุดไปเปลาะ แล้วในระยะยาวล่ะ จะแก้ยังไง?

การแก้ปัญหาแบบ 'แก้ผ้าเอาหน้ารอด' ไปแต่ละมื้อ ผมสังเกตว่า นั่นไม่ใช่สไตล์การทำงานของคนชื่อพีระพันธุ์

คงด้วยสายเลือด จากที่เคยเป็น 'ผู้พิพากษา' มาก่อน ทั้งพ่อของท่าน 'พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค'

อดีตเป็นทั้ง 'ปลัดกระทรวงพาณิชย์' และ 'เจ้ากรมการพลังงานทหาร' ผู้ริเริ่มขุดเจาะน้ำมันที่อำเภอฝาง เชียงใหม่

เป็นผู้ก่อตั้ง 'ปั๊มน้ำมันสามทหาร'

ฉะนั้น ปัญหาน้ำมัน รัฐมนตรีพีระพันธุ์ จะไม่แก้ปัญหาชนิด 'ตัดตอน' จะต้องแก้ 'ชนิดถาวร' ด้วยการรื้อโครงสร้างแน่

สังเกตจากสไตล์ทำงาน ไม่ว่าปัญหาใด ถ้าจะแก้ ท่านจะสาวจากปลายลงไปจนถึงราก แล้วแก้ปัญหาที่ต้นราก

มิใช่ทำงานแบบ 'ถากหญ้าหน้าดิน'
เรียบชั่วคราว หมาเยี่ยวรด อีกเดือน-ครึ่งเดือน หญ้าก็ท่วมเหมือนเดิมอีก ซึ่งนี่ มิใช่ สไตล์พีระพันธุ์

ปัญหาพลังงาน ว่าด้วย 'ค่าน้ำมัน-ค่าไฟ' นี่เช่นกัน เมื่อเข้ามา

ท่าน 'รื้อกฎหมาย' ที่เกี่ยวกับพลังงานและ 'กลไกสร้างราคา' ขึ้นมาศึกษา มุ่งแก้จากต้นราก เป็นการแก้ถาวร

ทุกวันนี้ ไฟฟ้าแพง คนก็ด่า กฟผ., น้ำแพง-แก๊สแพง คนด่า ปตท. ทั้ง กฟผ.ทั้ง ปตท.ตกอยู่ในสภาพ 'เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง'

แต่ต้อง 'เอากระดูกมาแขวนคอ' ตลอด!

เพราะราคาขาย มันมาจาก 'ระบบภาษี' ภาครัฐและกองทุนต่าง ๆ ซึ่ง ปตท.-กฟผ.ไม่มีสิทธิ์ ไปกำหนดอะไรได้ทั้งสิ้น!

จะแยกให้เห็นคร่าว ๆ ว่าราคา 'น้ำมัน ๑ ลิตร' มีที่มาจากไหนบ้าง?

-๔๐-๖๐% ต้นทุนเนื้อน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น

-๓๐-๔๐% เป็นภาษีสรรพสามิต

-๑๐% ภาษีเทศบาล มหาดไทยนำไปใช้พัฒนาท้องถิ่น

-๗% ภาษีมูลค่าเพิ่ม         

-๗% ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด

-๕-๒๐% จัดเก็บโดย 'กองทุนต่าง ๆ'

-กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน

-กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน และ

-๑๐-๑๘% ค่าการตลาด

เนี่ย โครงสร้างราคาน้ำมัน มันเป็นอย่างนี้ จะว่ารัฐบาลก็ยาก ถ้าไม่เก็บภาษี จะเอาเงินที่ไหนไปพัฒนาประเทศล่ะ?

แล้วจะแก้ยังไง?

เป็นคำถาม 'กำปั้นทุบดิน' ก็จริง แต่ปัญหามันก็อยู่ตรงดินนี้แหละ บางอย่างก็ซ้ำซ้อน  บางอย่างก็มากไป บางอย่างก็มักได้เกินไป

ทางที่ดี ก็ต้องนำทั้งหมดมา 'รื้อ' จัดระบบกันใหม่ ส่วนจะจัดแบบไหน-อย่างไร ลองฟังที่ท่านพีระพันธุ์แย้มไว้ละกัน

"สำหรับค่าไฟฟ้า ยืนยัน คงไว้ที่หน่วยละ ๔.๑๘ บาท กลุ่มเปราะบาง ที่หน่วยละ ๓.๙๙ บาท 

"ที่เป็นปัญหาคือ 'ราคาน้ำมัน' รัฐบาลชุดที่แล้วตรึงราคาดีเซลไว้ที่ลิตรละ ๓๐ บาท...

"แต่ปัจจุบันใช้ระบบ 'กองทุนน้ำมัน' รักษาระดับราคาน้ำมันตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วย กับการเอาเงินไปรักษาระดับราคาน้ำมัน...

"แต่เมื่อรูปแบบเป็นเช่นนี้ 'กระทรวงพลังงาน' จึงพิจารณาศึกษาปรับปรุงแก้ไขปัญหานี้...

"ที่ผ่านมา ผมไม่เคยรู้ 'ราคาต้นทุน' ของน้ำมันเลย...

"จึงออกประกาศกระทรวงพลังงาน ให้ผู้ประกอบการค้าน้ำมัน ต้อง 'แจ้งต้นทุน' ให้กระทรวงพลังงานทราบ ถือเป็นครั้งแรก ที่มีการ 'แจ้งราคา' ต้นทุนน้ำมัน...

"อีกส่วนหนึ่ง 'ภาษีน้ำมัน' มีมูลค่าสูง ไม่ต่างจากราคา 'ต้นทุนน้ำมัน' เช่น หักค่าน้ำมัน ลิตรละ ๔๕ บาท...

"ภาษีน้ำมัน ก็จะอยู่ที่ประมาณ ๔๐ บาท ถือว่า 'สูงมาก'

"อีกทั้งการ 'จัดเก็บภาษีน้ำมัน' คณะกรรมการกองทุนน้ำมันจะมีอำนาจกำหนดเพดานการจัดเก็บ...

"แต่ขณะนี้อำนาจดังกล่าว 'หายไป'...

"จึงต้องแก้ไข ให้กระทรวงพลังงาน มีอำนาจ 'กำหนดเพดาน' การจัดเก็บภาษีน้ำมัน...

"หากกระทรวงพลังงาน 'กำหนดเพดาน' ได้เอง ก็จะมีเงินเพียงพอสำหรับการ 'อุดหนุนราคาน้ำมัน'...

"แต่ปัจจุบัน เมื่อยังไม่สามารถทำได้ ก็จำเป็นต้องใช้เงินอุดหนุนจาก 'กองทุนน้ำมัน' แทน"

ที่เห็นท่านหายไปหลายวัน โน่นครับ รัฐมนตรีกับปลัดพลังงาน เดินทางไปเจรจาเรื่องน้ำมันที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย

เห็นแว่ว ๆ ด้วยว่า ท่านรัฐมนตรีพีระพันธุ์ กำลังคุยกับรัฐมนตรีพลังงานรัสเซีย หาช่องทางด้านธุรกิจน้ำมันกันอยู่

เรื่องน้ำมันกับรัสเซีย มีคนจำนวนมากคิดว่า ทำไมไทยไม่ซื้อน้ำมันรัสเซียล่ะ ราคาถูกกว่าด้วย 

ใครก็อยากซื้อ แต่มันมีอะไรหลาย ๆ อย่าง ที่ไม่เอื้อให้ทำได้สะดวกราบรื่นตามที่คิด

อีกอย่าง การซื้อ-ขายน้ำมัน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล

การเป็น 'สว่านนำร่อง' เพื่อทางอนาคต

นั่นพูดได้ว่า เป็นภารกิจ 'ทางจิตสำนึก' คนเป็นรัฐมนตรีพลังงาน ซึ่งยังไง ๆ ก็ดีกว่า

'คนใช้เงินหลวง'

แต่ไปเป็นเซลส์แมน 'ขายคอนโดฯ-ขายแผ่นดิน' ให้ต่างชาติ ๙๙ ปี จิมิ..จิมิ!

'ก้าวไกล' จอด!! 'ทักษิณ' คุมเกมใหญ่ 'ป้อม-เหลิม' จับมือดับจันทร์ส่องหล้า

นับถอยหลังสู่เดือน ส.ค.2567...อย่างที่เคยเกริ่นนำไว้ว่า จะเกิดไทม์ไลน์การเมืองที่จะเป็นจุดเดือด จุดหักเปลี่ยน...แบบได้เสีย...

1) กรณียุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารคู่กรณี (กกต.-พรรคก้าวไกล) ยุติการไต่สวน นัดฟังคำวินิจฉัย 7 ส.ค.2567 พรรคก้าวไกลหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการได้ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี มธ.มาเป็นพยานปากเอก ช่วยขยี้ประเด็นการดำเนินการขั้นตอนการยุบพรรค ตามมาตรา 92 และ 93 ของพ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 และระเบียบการดำเนินการการสอบสวน 2566 ของกกต. รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ จะช่วยให้รอดจากการถูกยุบได้...

แต่แหล่งข่าวระดับสูงระดับลึกของ 'เล็ก เลียบด่วน' ยังฟันธงว่า 'รอดยาก' โอกาสที่กกต.จะแพ้ฟาวล์มีน้อย ดังนั้นไม่แปลกที่คอการเมืองเขามองไปที่หัวหน้าพรรคคนใหม่ รุ่นที่ 3 ของก้าวไกลแล้ว ว่าจะเป็นใครระหว่าง 'ไหม' ศิริกัญญา ตันสกุล กับ 'ดร.ต้น' วีระยุทธ กาญจนชูฉัตร เพื่อนของเอก ธนาธร...

2) กรณีถอดถอนเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  คาดว่าช่วงกลางเดือนหรือปลายเดือนส.ค.ก็จะได้รู้กันว่า จะมีการเปลี่ยนนายกฯ หรือไม่...ราคาต่อรองบนโต๊ะกาแฟของหลายวงการตอนนี้อยู่ที่ 50/50   สำหรับ 'เล็ก เลียบด่วน' นาทีนี้ให้รอด/ไม่รอด ที่ 50.5 ต่อ 49.5

แต่ไม่ว่า 'เศรษฐา' จะรอดหรือไม่รอด หน้าการเมืองหลังการตัดสินคดีจะต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่...ถ้ารอดก็จะปรับโฉมหน้าครม.ครั้งสำคัญ แต่หากหวยออกมาว่า 'ไม่รอด' ก็ต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี  

เรื่องใหญ่ของประเทศ...หลายคนคาดว่า หวยนายกฯ คนใหม่ อาจจะไหลไปถึง น.หนู-อนุทิน ชาญวีรกูล แต่ 'เล็ก เลียบด่วน' ฟังพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวเพื่อไทยมาล่าสุด เขาบอกว่า...นาทีนี้ พ่อ-ลูก ชินวัตร ตกผลึกแล้วที่จะให้คนชื่อ 'แพทองธาร ชินวัตร' หรือ 'อุ๊งอิ๊ง' นั่งนายกฯ เลย...

เว้นแต่มี 'ข้อมูลใหม่' เท่านั้น...ถึงจะไม่ขึ้น...

3) กรณีทักษิณ ชินวัตร ก็นับถอยหลังที่จะได้รับใบสุทธิหรือใบบริสุทธิ์จากการพ้นโทษ 22 ส.ค. (โดยไม่ต้องนอนคุกแม้แต่วันเดียว)...ก็ชัดเจนว่า หลังวันพ้นโทษ แม้ทักษิณจะมีคดีมาตรา 112 ผูกแข้งอยู่ แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะเป็นพยัคฆ์ติดเทอร์โบ...เป็นผู้ทรงอิทธิพลในการช่วยนายกฯ บัญชาการ...

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. เห็นทักษิณควงครอบครัวอุ๊งอิ๊งและโอ๊ค พานทองแท้ไป Rancho Charnvee Resort and Country Club ของอนุทิน...เล่นกอล์ฟ กินข้าว ร้องเพลง โดยมีเสี่ยหนูมาร่วมวงด้วยแล้ว...ก็พอจะเห็นทิศทางการเมืองใหญ่ได้ระดับหนึ่ง ยังไง ๆ ระหว่างทักษิณกับอนุทินนั้นไม่ยากที่จะพูดคุย...ตกลงทางอำนาจในฉากหรือนาทีสำคัญ...!!

นั่นว่าด้วย 3 วาระสำคัญที่น่าจับตา...แต่เฉพาะหน้าเรื่องเล็ก ๆ แต่ไม่เล็กที่ต้องขีดเส้นใต้หมายเหตุไว้สักนิดคือ...กรณีพ่อลูกบ้านบางบอน 'ร.ต.อ.เฉลิม-วัน อยู่บำรุง'

วัน อยู่บำรุง หลั่งน้ำตาลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยเรียบร้อยแล้ว ข่าวล่าสุดระบุว่าบ่ายหน้าไปซบตัก 'ลุงป้อม' พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ...บ้านป่ารอยต่อ ที่ถูกทักษิณเปลี่ยนชื่อเป็น 'บ้านในป่า'

แว่วว่าผู้พ่อ...เฉลิม อยู่บำรุง ก็ได้เปิดอกพูดคุยกับลุงป้อมเป็นที่เรียบร้อย...ด้วยความเข้าใจในฐานะที่ตอนนี้มีคู่กรณีเป็นคน ๆ เดียวกัน...ลุงป้อมนั้นถูกหาว่าเป็น 'บ้านในป่า' อยู่เบื้องหลัง 40 สว.ให้ยื่นถอดถอนนายกฯ ส่วนพ่อลูกอยู่บำรุงนั้น กรณี 'บิ๊กแจ๊ส' เป็นพิษ...

งานนี้ฟันธงได้ล่วงหน้า เมื่อบ้านในป่าจับมือกับบ้านบางบอน...รับรองบ้านจันทร์ส่องหล้าจะต้องหนาวยะเยือก หรือไม่ก็ร้อนด้วยไฟประลัยกัลป์...เพราะอ่านทางได้ไม่ยากว่า...แม้จะชราวัยไปบ้าง แต่เฉลิมนั้นยังเป็นฉลาม ได้กลิ่นเลือดเมื่อไหร่ ก็ต้องกระโจนใส่...ข้อมูลเก่า ๆ ที่ยังไม่ถูกเปิดมีอีกเป็นกะตั้ก...แว่วว่าจะถูกงัดมาใช้ในสงครามสั่งสอนรอบใหม่ เร็ว ๆ นี้...

'เล็ก เลียบด่วน' ฟังหนังตัวอย่างมาแล้ว...หนาวแทน!!

ประชาชนได้อะไร? ตั้งจังหวัดใหม่ 'สว่างแดนดิน' และ 'ทุ่งสง'  ทำไม? ไม่ตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 

ในฐานะเป็นคนเกิดอำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นคนนครศรีฯ โดยกำเนิด ไม่เห็นด้วยกับความพยายามในการแยกจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกไปจัดตั้งจังหวัดทุ่งสง

สุธรรม จริตงาม สส.พลังประชารัฐ นครศรีธรรมราช พร้อม สส.พรรคเดียวกัน 20 คน ลงชื่อเสนอให้ญัตติให้สภาตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาแยก อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร และ อ.ทุ่งสง ออกไปจัดตั้งจังหวัดใหม่ เรียกว่าจังหวัดสว่างแดนดิน และจังหวัดทุ่งสง แต่ญัตติยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าที่ประชุมสภา เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) เห็นว่า มีเรื่องอื่นที่เร่งด่วนกว่า จึงสลับเอาเรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อนในการประชุมเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคมที่ผ่านมา

ในมุมของ #นายหัวไทร ถือว่าเป็นการเสนอกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่ก้าวหน้า เพราะเป็นการเปิดให้มีการขยายตัวของราชการส่วนภูมิภาค อันเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางที่แบ่งอำนาจไปตามเมืองต่างๆ สวนกระแสสังคมโลกที่เน้นการกระจายอำนาจ (ท้องถิ่น) เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

เหตุผลของคณะ สส.ผู้เสนอญัตติระบุว่า ด้วยอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นอำเภอที่ จัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งเมืองภูมิดลสว่าง

เมืองสว่างแดนดิน เป็นเมืองที่ขึ้นกับมืองสกลนคร ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมมากมาย เช่น พระบรมธาตุเจดีย์ศรีมงคล หลวงปู่คำบ่อ และปราสาทขอม บ้านพันนา เป็นต้น 

ส่วนอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอำเภอที่มีความเจริญเป็นอันดับสองของจังหวัดนครศรีธรรมราช รองจากอำเภอเมือง เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางของภาคใต้และเป็นจุดศูนย์กลางคมนาคมทางบกทั้งรถยนต์และรถไฟ อำเภอทุ่งสงมีประวัติความเป็นมายาวนาน 

ปรากฏตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่าเคยเป็นแขวง ขึ้นอยู่ในการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากมณฑล เป็นจังหวัด เมื่อ พ.ศ. 2440 ได้จัดตั้ง เป็นอำเภอทุ่งสงขึ้นกับจังหวัดนครศรีธรรมราช 

แต่ปัจจุบันพบว่า อ.ทุ่งสงมีปัญหาภูมิประเทศในเรื่องระยะทาง ทำให้การติดต่อระหว่างอำเภอที่ห่างไกลและจังหวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากเกินควร 

ซึ่งมีความสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การตั้งจังหวัดใหม่ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ที่ต้องพิจารณาลักษณะพิเศษของจังหวัด ผลดีในการให้บริการประชาชน และหลักเกณฑ์อื่นๆ เช่น เหตุผลทางประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรมของท้องถิ่นและนโยบายของรัฐบาล เป็นตัน 

จากเหตุผลดังกล่าวคณะ สส.พลังประชารัฐ จึงเห็นสมควร แยกอำเภอสว่างแดนดิน ออกจากจังหวัดสกลนคร และ แยกอำเภอทุ่งสง ออกจากจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดสว่างแดนดิน และจังหวัดทุ่งสง เพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบการปกครอง การรักษาความมั่นคงและการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 

อีกทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ โดยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน การค้า การลงทุน การอุตสาหกรรม การคมนาคม การศึกษา เทคโนโลยีรวมถึงอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป 

กล่าวเฉพาะอำเภอทุ่งสง ถ้าแยกไปจัดตั้งเป็นจังหวัด จะมีอะไรเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นเมือง ปัจจุบันมีพระบรมธาตุฯ เป็นอัตลักษณ์ที่ชาวนครศรีฯภาคภูมิใจ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และกำลังเสนอต่อยูเนสโก เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ถามว่าแล้วทุ่งสงมีอะไร มีสถานีรถไฟ มีพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ จะเป็นเมืองที่ขาดอัตลักษณ์

ถามว่าแยกเป็นจังหวัดใหม่ประชาชนได้อะไร? นี่คือธงนำ ประชาชนจะได้งบประมาณจัดตั้งจังหวัดใหม่ 2,000 ล้าน จะได้ศาลากลางหลังใหม่ ได้ผู้ว่าฯ เพิ่มมาอีกคน ได้นายกฯ อบจ. ได้ข้าราชการส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้น แต่ชีวิตความเป็นอยู่ การดำรงชีพของชาวบ้านดีขึ้นไหม และทุ่งสงจะเป็นอีกจังหวัด นอกจากยะลา ที่ไม่ได้อยู่ติดทะเล

การยกเหตุผลว่าห่างไกลจากตัวจังหวัด การคมนาคมยากลำบาก ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่น่าจะจริง เดี๋ยวนี้ถนนหนทางสะดวกสบาย เกือบทุกบ้านมีรถยนต์ แค่ชั่วโมงเดียวก็ถึงตัวเมืองแล้ว ถ้าเป็นสมัยปี 2529-2530 ที่ 'ถวิล ไพรสณฑ์' เสนอให้จัดตั้งจังหวัดทุ่งสง อ้างเรื่องการคมนาคมเป็นเหตุผลหนึ่ง ยังพอรับฟังได้ แต่ปัจจุบันไม่ใช่

“ยังคิดแยกจังหวัด/ผมว่ามันไม่มีเหตุผลเท่าไหร่ คนเห็นด้วยก็ดราม่าไปเรื่อยโน่นนี่นั่น/เอาเงิน2พันล้านที่จะสร้างศูนย์ราชการใหม่ทำประโยชน์กับคนพื้นที่ก่อนดีมั้ย/เพราะแค่เหตุผลมีศาล มีคุก มีขนส่งใกล้บ้านมันก็มีหมดแล้ว...หลายจังหวัดก็มี นอกจาก 'เหล้าขาว' ที่ต้องซื้อเฉพาะในเขตจังหวัด/ข้าราชการที่ย้ายไปอยู่กิ่งจังหวัดส่วนใหญ่ก็คิดแค่เป็นกระดานหกไปที่อื่นท้างน้าน” ความเห็นจากนิกร จันพรม ชาวไร่ขอนแก่น

แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ทุ่งสงมีความเจริญ เป็นรองก็แค่อำเภอเมือง เป็นศูนย์กลางการคมนาคม ศูนย์กลางกระจายสินค้า มีศาลจังหวัด มีสำนักงานอัยการ มีความพร้อมในระดับหนึ่ง

ถ้า สส.หัวก้าวหน้าหน่อย ต้องเสนอให้ทั้งสองอำเภอ ยกฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือจังหวัดจัดการตนเอง อย่างนี้น่าสนใจกว่า เป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเมือง ผ่านการเลือกตั้ง ผู้บริหารเมืองอาจจะเรียกว่า 'นายกเมือง' อย่างพัทยา ก็ได้ หรือ 'นายกนคร' แล้วแต่กฎหมายจะยกฐานะเป็นอะไร หรือจะเรียกว่า 'ผู้ว่าฯ' ก็ได้ แต่มาจากการเลือกตั้ง เหมือนกรุงเทพมหานคร

ถ้าเสนอออกมาในรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง หรือองค์ปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ก็จะเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้า และสองจังหวัดนี้ก็จะเป็นจังหวัดนำร่องกับการปกครองรูปแบบใหม่

อย่างทุ่งสงอาจจะเรียกชื่อใหม่ว่า 'นครทุ่งสง' อย่างน้อยก็มีร่องรอยของประวัติศาสตร์ว่า เคยขึ้นอยู่กับจังหวัดนครศรีธรรมราช

การเสนอให้มีการจัดตั้งจังหวัดใหม่สะท้อนด้วยว่า พรรคพลังประชารัฐ ไม่มีแนวคิด และไม่จริงจังจริงใจอะไรกับการกระจายอำนาจ แถมยังห่วงอำนาจ ขยายฐานอำนาจออกไปอีก อันเป็นแนวคิด 'อำนาจนิยม'

ไม่ใช่ครั้งแรกในความพยายามแยก อ.ทุ่งสง เพื่อจัดตั้งจังหวัดใหม่ มีรายงานผลการศึกษามากมาย จริงๆไม่ต้องเสนอให้สภาตั้งกรรมาธิการศึกษาให้เสียเวลา เสียงบประมาณ 

ถ้าตั้งใจจริง เสนอ พรบ.จังหวัดทุ่งสง และสว่างแดนดินไปเลย ร่างก็เคยมีให้อ่านกันอยู่แล้ว จะได้เห็นกันว่า สภาเราคิดอะไรกันอยู่ และจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่?

แต่ย้ำว่านายหัวไทรชูมือคัดค้านแน่นอน

‘ลิณธิภรณ์’ เผย ‘เศรษฐา’ มาแรงขึ้นนำอันดับ 1 ผลโพล ‘ไลน์ทูเดย์’  สะท้อน!! ปชช.เห็นผลงานรัฐ ใช้งบกลางแก้ปัญหาได้ตรงจุด 

(21 ก.ค.67) น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้รับคะแนนความนิยมเป็นอันดับ 1 ของนักการเมือง ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2567 ซึ่งสำรวจโดยไลน์ทูเดย์ (LINE TODAY) จำนวน 8,742 คะแนน คิดเป็น 40.12% ว่า คะแนนนิยมนี้สะท้อนว่าประชาชนเห็นและสัมผัสได้ถึงผลลัพธ์จากความมุ่งมั่นในการทำงานของรัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา ซึ่งสามารถจัดตั้งรัฐบาล นำพาประเทศพ้นภาวะสุญญากาศหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด จนเข้าบริหารโดยปราศจากกฎหมายงบประมาณที่ล่าช้ามาแต่เดิม โดยยึดหลักสอบถามหารือ สั่งการ และติดตามต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่อว่า ยิ่งเมื่องบประมาณ 2567 ได้รับการอนุมัติ อาทิ งบกลางในวงเงิน 7.6 พันล้าน ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รับมือน้ำท่วมปี 2567 และน้ำแล้งปี 2568 และวงเงินกว่า 272 ล้านบาท แก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน ลดฝุ่น PM2.5 ทั้งหมดมีเจตนารมณ์เพื่อช่วยเหลือ และบรรเทาความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างตรงจุด จนประชาชนสัมผัสได้ และสะท้อนผ่านคะแนนความนิยมในวันนี้

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่อว่า ตนในฐานะ สส.พรรค พท. ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล นอกจากจะขอแสดงความยินดีแล้ว ต้องขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลไม่หยุดอยู่เท่านี้ แต่ต้องต่อยอดความสำเร็จต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่เตรียมจะเปิดให้ลงทะเบียน 1 สิงหาคมนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทั้งระบบต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับผลโพลครั้งนี้ซึ่งมีผู้ตอบจำนวนมากและผ่านการยืนยันตัวตนที่แท้จริง คือกระจกสะท้อนหัวใจประชาชนที่ยอมรับผลงานรัฐบาลตั้งแต่ยังไม่ครบปีแรก และพร้อมสนับสนุนนายเศรษฐา ถือธงนำประเทศ ดำเนินนโยบายต่อไปให้สำเร็จ ในฐานะนักการเมืองที่ 1 ในใจคนไทยขณะนี้

‘พีระพันธุ์’ นักการเมืองผู้พยายามรักษาคำพูด 'ค่าไฟฟ้า' ยังคงที่ ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง

ปัญหาราคาพลังงานเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสสำหรับสังคมบ้านเรามาก ๆ เพราะเราต้องนำเข้าพลังงานเรียกว่า 'แทบทุกชนิด' แม้แต่การผลิตกระแสไฟฟ้าก็ต้องนำเข้า LNG เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าจนทุกวันนี้ การผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงหลัก เพราะแต่ก่อนใช้ถ่านหินซึ่งเคยเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ต่อมาเมื่อมีการใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าในบ้านเราได้ใช้ LNG จากแหล่งอ่าวไทยและเมียนมา 

ปัจจุบันปริมาณ LNG จากแหล่งอ่าวไทยมีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ ทั้งเมียนมาเองก็มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในจนอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการจ่าย LNG เข้ามาในประเทศไทยได้ จึงต้องเพิ่มการนำเข้า LNG จากประเทศผู้ผลิตทั่วโลก แต่เมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนขึ้น ประเทศสมาชิกองค์การ NATO ซึ่งเคยนำเข้า LNG จากรัสเซียเพื่อใช้เป็นพลังงานในครัวเรือน ยกเลิกการซื้อ LNG จากรัสเซีย จึงทำให้ LNG ในแหล่งผลิตต่าง ๆ มีราคาพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่นั้นมา 

การที่ราคา LNG ในตลาดโลกราคาพุ่งสูงขี้นนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการกำหนดราคาค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะค่า Ft (Fuel Adjustment Charge (at the given time)) ซึ่งใช้ในการคำนวนเพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะเป็นผู้พิจารณาปรับค่า Ft ทุก 4 เดือน แต่จนถึงทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานเป็นผู้ที่กำหนดราคาค่ากระแสไฟฟ้า 

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. อันเป็นคณะบุคคลจำนวน 7 คน (ประธานฯ 1 คน กรรมการ 6 คน ซึ่งได้รับการคัดสรรและได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง) ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน ดังนั้นการพิจารณาปรับขึ้นหรือลดอัตราค่าไฟฟ้าจึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานแต่อย่างใด นับตั้งแต่ ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้เมื่อ 1 กันยายน 2566 สิ่งที่ 'รองพีร์' ใช้ความพยายามมากที่สุดคือ 'การใช้กลไกและมาตรการต่าง ๆ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงานในการทำให้ราคาต้นทุนพลังงานที่นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดไม่ให้กระทบต่อค่า Ft ซึ่งจะทำให้สามารถตรีงหรือลดค่า Ft ได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยให้ได้มากที่สุด'

ดังนั้น จึงทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. สามารถปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2566 ในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือในอัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย และในต่อมาเป็นอัตรา 4.18 บาทต่อหน่วยจนกระทั่งปัจจุบัน และเมื่อ 19 กรกฎาคม 2567 ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เชิญประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประธานคณะกรรมการบมจ. ปตท. (PTT) มาร่วมกันหารือกรณีค่าไฟฟ้างวดใหม่ กันยายน - ธันวาคม 2567 สืบเนื่องจากการที่กกพ.มีมติให้ขึ้นค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 6 บาทกว่า การหารือได้ข้อยุติที่จะตรึงค่าไฟงวดใหม่ไว้ในอัตรา 4.18 บาทต่อหน่วยตามเดิม โดยปตท.จะไม่รับเงินตอบแทนใด ๆ จากค่าไฟฟ้างวดนี้เลย เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทย

โดยที่การช่วยเหลือพี่ประชาชนคนไทยนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าไฟฟ้าหรือราคาน้ำมัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานเพียงหน่วยงานเดียว แต่กระทรวงพลังงานต้องประสานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจะประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่มีเครื่องมือ โดยเฉพาะกฎหมายที่จะช่วยในการดำเนินการำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซทั้ง LPG และ LNG ถูกลง อีกทั้งรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่มีเชื้อเพลิงสำรองในมือเลย เพราะการสำรองเชื้อเพลิงเป็นเรื่องของเอกชนผู้ค้าน้ำมัน จึงทำให้ภาครัฐไร้ซึ่งอำนาจในการต่อรองใด ๆ กับภาคเอกชน ซึ่งหากมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) เกิดขึ้นแล้ว กระทรวงพลังงานก็จะถือครองเชื้อเพลิงที่เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศได้ถึง 50-90 วัน ปริมาณน้ำมันสำรองจำนวนดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ภาครัฐสามารถต่อรองและถ่วงดุลระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ เพราะเชื้อเพลิงที่สำรองใน SPR จะมีการจำหน่ายหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ภาครัฐจึงรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG และ LNG ที่นำเข้ามาในประเทศได้โดยตลอด

การตรึงหรือลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง นับว่าเป็นภารกิจที่ยากมาก ๆ แต่ ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ก็ทำด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเต็มใจ แม้ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ง่ายเลย และอาจจะขัดผลประโยชน์ของคนบางพวกบางกลุ่ม จึงต้องใช้เวลาดำเนินการในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ตามความต้องการอันเร่งด่วนของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top