(16 ก.ค. 67) นายชัชวาลย์ แพทยาไทย สส. จังหวัดร้อยเอ็ด และเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบ Zoom กับรายการ ‘สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง’ ทางช่องยูทูบแนวหน้าออนไลน์ ในประเด็นโครงการ ‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ ว่า เป็นเรื่องน่าดีใจที่รัฐบาลยอมถอยโครงการดังกล่าว เพราะแม้ปุ๋ยคนละครึ่งจะเป็นโครงการที่ตั้งอยู่บนหลักคิดที่ดี แต่แนวปฏิบัติและห้วงเวลาที่เปิดตัวนโยบายออกมายังไม่เหมาะสม จึงทำให้เกษตรกรกังวลและส่งเสียงไปถึงรัฐบาล และยังดีที่รัฐบาลฟังและคิดทบทวน
ส่วนกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาบอกว่าโครงการมีปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการเมืองท้องถิ่นและผลประโยชน์ ตนมองว่าไม่น่าจะจริง เพราะปุ๋ยคนละครึ่งเป็นโครงการที่เริ่มต้นเป็นปีแรก จึงยังมองไม่เห็นว่าใครจะเสียผลประโยชน์ แต่หากมองย้อนไปในปีก่อน ๆ ที่รัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกร เช่น โครงการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ เป็นการมอบเงินโดยตรงถึงเกษตรกรเพื่อลดต้นทุนการผลิต ไม่ใช่โครงการจัดซื้อ-จัดหา จึงไม่น่าจะมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน มีแต่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์
“ทีนี้พอกลับมาถึงปีนี้ ซึ่งตอนต้นแว่วว่าโครงการไร่ละ 1,000 อาจจะไม่มีถ้ามีโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ฉะนั้นคำพูดที่บอกว่าถ้ามีปุ๋ยคนละครึ่งแล้วจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งที่ได้รับประโยชน์เสียประโยชน์ ผมว่าคงไม่มีกลุ่มการเมืองที่ไหนที่ได้หรือเสีย มีแต่ชาวนาที่ได้เต็ม ๆ” นายชัชวาลย์ กล่าว
นายชัชวาลย์ กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับว่ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ชาวนาพอใจมากที่สุดในห้วงที่ผ่านมาคือโครงการไร่ละ 1,000 บาท ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้เขาเคยช่วยเหลือมาน่าจะสัก 4 หรือ 5 ปี ซึ่งการอุดหนุนไร่ละ 1,000 บาท เป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรได้มาก เพราะต้นทุนของเกษตรกรไม่ได้มีเฉพาะค่าปุ๋ย เช่น หากเป็นการทำนาหว่าน จะมีทั้งค่าไถ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเคมีภัณฑ์ ค่าเกี่ยว ค่าปุ๋ย ค่าขนส่ง ยังไม่รวมค่าแรงของเจ้าของนา ดังนั้นการทำนาหว่าน ต้นทุนต่อไร่ถือว่าสูงมาก การเน้นไปแต่เรื่องปุ๋ยอย่างเดียวจึงไม่ตอบโจทย์เท่าใดนัก
ดังนั้นการมอบเงินโดยตรงเพื่ออุดหนุนชาวนาไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 20 ไร่ รวมแล้วคือ 2 หมื่นบาท เกษตรกรสามารถนำเงินไปใช้จ่ายด้านต้นทุนต่าง ๆ ที่กล่าวมาได้ทั้งหมด แต่โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง รัฐบาลกำหนดเงื่อนไขช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือรวมแล้วคือ 1 หมื่นบาท และช่วยเฉพาะค่าปุ๋ยเท่านั้น อีกทั้งเกษตรกรต้องหาเงินอีกครึ่งหนึ่งมาสมทบเข้าบัญชีและผ่านแอปพลิเคชั่น จึงจะสามารถสั่งซื้อปุ๋ยได้ นั่นทำให้เกษตรกรตั้งคำถามว่าแล้วจะไปเอาเงินจากไหนมาสมทบ
ส่วนที่บอกว่าโครงการนี้มาไม่ถูกช่วงเวลา เพราะในเดือนกรกฎาคม เกษตรกรที่นำนาปีบางคนเขาหว่านปุ๋ยไปแล้ว 2 รอบ และรอบที่ 3 ที่เรียกว่าหว่านรับรวง จะอยู่ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม แต่โครงการปุ๋ยคนละครึ่งก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ กำหนดการยังไม่ชัดเจนว่าจะออกมาตอนไหน ดังนั้นเกษตรกรบางส่วนจึงมองว่าต่อให้โครงการออกมาก็ไม่สามารถนำปู๋ยไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ยังมีประเด็นข้อจำกัดเรื่องยี่ห้อปุ๋ยซึ่งเกษตรกรไม่สามารถเลือกได้ หากเกษตรกรเคยใช้ยี่ห้อที่ขายในท้องตลาดแล้วไม่มี ก็ต้องใช้ยี่ห้อที่รัฐบาลกำหนด
“สูตรปุ๋ยเลือกได้ แต่บางทีก็ต้องยอมรับว่าความมั่นใจในเรื่องของแบรนด์สินค้า อย่าลืมว่าครึ่งหนึ่งเป็นเงินของเขา เป็นเงินของชาวบ้าน แล้วรัฐบาลให้อีกครึ่งเดียว อีกครึ่งเขาหามา เขาไม่ได้มีสิทธิ์เลือกเลย ไม่มีสิทธิ์เลือกปุ๋ยยี่ห้ออะไร ยี่ห้อที่เขาเคยใช้มา เขามาใช้ยี่ห้อที่กรมวิชาการเกษตรรับรอง กรมการข้าวรับรอง ทั้ง ๆ เป็นยี่ห้อเกิดใหม่ เขาก็ไม่มีความมั่นใจ” นายชัชวาลย์ ระบุ
นายชัชวาลย์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่รัฐบาลบอกว่ามีผู้ประกอบการจำหน่ายปุ๋ยให้เลือกมาก 40-50 เจ้า ตนอธิบายว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสูตรปุ๋ย แต่เท่าที่ถามเกษตรกร ส่วนใหญ่หากเคยใช้ยี่ห้อใดก็จะใช้ยี่ห้อนั้นต่อไป เกษตรกรจึงหนักใจว่ายี่ห้อใหม่ที่จะเข้ามาคือยี่ห้ออะไร ยี่ห้อที่ไม่เคยพบเคยเห็นหรือเปล่า อีกทั้งปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปิดเผยยี่ห้อของปุ๋ยต่อสาธารณะ ขณะที่อีกเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลบอกว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตด้วยการยิงตรงอย่างแม่นยำ ตนก็ต้องบอกว่า การเพิ่มผลผลิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับปุ๋ยเพียงอย่างเดียว
โดยการทำนามีปัจจัยสำคัญคือ 1.น้ำ แต่พื้นที่ที่ระบบชลประทานเข้าไม่ถึง ตนคาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 60-70 ของประเทศ อย่างบริเวณที่ตนอยู่ คือทุ่งกุลาร้องไห้ ทำเกษตรโดยใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว 2.ดิน 3.เมล็ดพันธุ์ ในขณะที่ปุ๋ยเป็นปัจจัยลำดับที่ 4 และต้องไม่ลืมว่าทางเลือกของเกษตรกรไม่ได้มีแต่ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ก็มีเกษตรกรที่ใช้อยู่แล้วเพื่อลดต้นทุน โดยนำมาใช้รองพื้น ขณะที่ปุ๋ยเคมีนำมาใช้เสริมในช่วงรับรวง
ส่วนเรื่องเกษตรแม่นยำ ตนต้องถามรัฐบาลว่า ณ เวลานี้ หน่วยงานที่ถูกอ้างถึงบ่อย ๆ คือหมอดิน ที่เป็นอาสาสมัครในแต่ละพื้นที่ระดับหมู่บ้านหรือตำบล คนกลุ่มนี้มีความรู้และเครื่องมือเพียงพอมาก-น้อยเพียงใด อย่างเครื่องวัดค่ากรด-ด่าง (PH) ของดิน ซึ่งเป็นค่าที่เกษตรกรต้องรู้ก่อนตัดสินใจเลือกใช้ปุ๋ย เพื่อให้สูตรปุ๋ยที่ใช้เหมาะสมกับดินในแปลงของตนเอง หากอ้างเรื่องเกษตรแม่นยำ แต่คนในฟันเฟืองที่มีหน้าที่ผลักดันยังไม่มีเครื่องมือ ตนจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นการกล่าวอ้างที่เกินไป