Monday, 6 May 2024
Northern

เชียงใหม่ - สวพส. เผยแนวทางที่เหมาะสม ในการปลูกพืชผักคุณภาพบนพื้นที่สูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า นางสาวเพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการสถาบัน ด้านการพัฒนา และ นายอิทธิพล โพธิ์ศรี นักวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืชของเกษตรกรบนพื้นที่สูง พบว่าพื้นที่สูงของประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคเหนือนั้นมีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศต่างจากพื้นที่ราบเป็นอย่างมาก โดยเป็นเทือกเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 500 ถึงมากกว่า 1,000 เมตร ทำให้มีสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นและมีฝนตกชุก นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลและอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ประชาชนที่อยู่อาศัยบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ จึงมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก โดยในอดีตดำรงชีวิตอยู่ด้วยการทำไร่เลื่อนลอย และปลูกพืชเพียงไม่กี่ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด และพืชผักท้องถิ่น เพื่อเป็นพืชอาหารเป็นหลัก ส่วนพืชรายได้มีน้อยมาก จึงเกิดปัญหาการปลูกฝิ่น ซึ่งเป็นพืชเสพติดที่สร้างปัญหาให้กับคนทั้งโลก

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงก่อตั้ง“โครงการหลวง” เพื่อส่งเสริมให้คนบนพื้นที่สูงปลูกพืชทดแทนฝิ่น โดยพืชส่วนใหญ่ที่ปลูกทดแทนฝิ่นเป็นพืชเมืองหนาว หากปลูกพืชผักเขตร้อนจะไม่สามารถแข่งขันทางการตลาดกับพื้นที่ราบได้ แต่ในอดีตพืชผักเขตหนาวเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย เราขาดองค์ความรู้ว่าจะปลูกพืชผักอะไร วิธีการเพาะปลูกอย่างไร และยังไม่มีตลาด โครงการหลวงเป็นหน่วยงานหลักที่ได้วิจัย ส่งเสริม และสร้างตลาด จนทุกวันนี้เป็นที่รู้จัก มีการปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ต่อมารัฐบาลได้ตั้ง สวพส. ขึ้นเพื่อสนับสนุนงานโครงการหลวง และขยายผลสำเร็จไปพัฒนาพื้นที่สูงต่าง ๆ ปัจจุบันพืชพันธุ์ใหม่ ๆ และวิธีการเพาะปลูกที่ประณีตและปลอดภัย ได้รับการวิจัยและพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมแก่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง 

พืชผักกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง

พื้นที่สูงเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศ แม้ว่ามีความจำเป็นต้องส่งเสริมอาชีพ เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งอาศัยอยู่มากกว่า 4,000 ชุมชน มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน ยังต้องคำนึงถึงการไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยและคุ้มค่าที่สุด และได้ผลตอบแทนเพียงพอต่อการดำรงชีวิต แต่ที่ผ่านมาพืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้พื้นที่และแรงงานจำนวนมาก ถึงจะมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จึงเป็นสาเหตุของการบุกรุกป่า เกิดการเผาและปัญหาหมอกควัน พืชผักจึงสามารถตอบโจทย์ได้ดี เพราะมีความต้องการของตลาดสูง จึงสามารถสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้กว้างขวาง การเพาะปลูกไม่มีปัญหาการเผา สามารถให้ผลตอบแทนสูงในพื้นที่จำกัดและได้ตลอดปี โดยเฉพาะเมื่อปลูกในระบบที่ประณีต จะยิ่งใช้พื้นที่และน้ำน้อยมาก ดังจะเห็นได้ชัดเจนในพื้นที่ดำเนินงานของ สวพส. หลายแห่ง เช่น น่าน เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ที่ปรับระบบเกษตรเป็นพืชผักและพืชอื่น ๆ ที่เหมาะสมแล้ว สามารถลดการบุกรุกป่า และการเผาได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งทำให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

การผลิตพืชผักคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ความยั่งยืนของการประกอบอาชีพปลูกพืชผักนั้น คุณภาพของผลผลิต และวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจากการที่โครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงจำนวนมาก ปลูกพืชผักเป็นอาชีพมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยในปีหนึ่ง ๆ มีผลิตผลที่ผ่านระบบบริหารจัดการด้านการตลาดรวมมากกว่า 25,552 ตัน มูลค่า ประมาณ  646 ล้านบาท โดยมีหลักการและแนวทางที่เหมาะสมในการปลูกพืชผักบนพื้นที่สูง ดังนี้ 

1. การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแปลงของเกษตรกร บนพื้นที่สูงพื้นที่ของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ จึงต้องวางแผนการใช้พื้นที่ให้มีการทำการเกษตรที่หลากหลาย ตามความเหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่ ควบคู่ไปกับการทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ

2. การวางแผนการผลิตและตลาด ความสำเร็จของการทำการเกษตรคือเกษตรกรจะต้องสามารถขายผลผลิตได้และราคาเป็นธรรม การส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานของสวพส. จะยึดหลักตลาดนำการผลิต หรือเป็นพืชหรือพันธุ์ใหม่ จะเริ่มส่งเสริมจากจำนวนที่ไม่มาก ควบคู่กับการสร้างตลาด สำหรับพืชผักเป็นพืชที่มีช่วงเวลาปลูกสั้น และต้องมีการวางแผนการผลิตและการตลาดให้สัมพันธ์กัน 

3. การเพาะปลูกภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย หรือ พืชผักที่ปลูกภายใต้ระบบการเพาะปลูกที่ดี (GAP) หรือเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นจุดแข็งและเพิ่มโอกาสทางการตลาด โดยเฉพาะความตระหนักเรื่องสุขภาพ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน

4. การเลือกพันธุ์และผลิตต้นกล้าแบบประณีต ความแม่นยำของปริมาณผลิตผลและช่วงเวลาที่ตลาดต้องการ มาจากพื้นฐานสำคัญ คือ การผลิตต้นกล้าให้ได้ตรงตามพันธุ์ ปริมาณ และช่วงเวลา ซึ่งการผลิตต้นกล้าแบบประณีตในโรงเรือนเพาะกล้าโดยใช้วัสดุปลูกที่ดี ช่วยให้ได้ต้นกล้าที่มีคุณภาพ มีจำนวน และระยะเวลาที่แน่นอน รวมทั้งยังช่วยให้ใช้เมล็ดพืชผักพันธุ์ดีซึ่งมีราคาสูงได้อย่างคุ้มค่า 

5. โรงเรือน คือ หัวใจของคุณภาพและความปลอดภัย การปลูกผักในโรงเรือนช่วยลดผลกระทบจากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนโดยเฉพาะบนพื้นที่สูง และยังใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลตอบแทนที่สูงมากกว่าการปลูกนอกโรงเรือนประมาณ 2-5 เท่า สามารถควบคุมการผลิตได้ค่อนข้างแม่นยำและผลผลิตมีคุณภาพดี ช่วยลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตมากถึง 30-50 % ลดการใช้สารป้องกันและกำจัดวัชพืชได้ร้อยละ 100 ควบคุมการใช้น้ำและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้

6. การปลูกและดูแลรักษาอย่างประณีต โดยเริ่มจากการปลูกในโรงเรือน ใช้ต้นกล้าที่คุณภาพดีสม่ำเสมอ ปลูกอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อให้ทุกต้นมีพื้นที่และได้รับสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน ให้น้ำและปุ๋ยอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอด้วยการให้ปุ๋ยทางระบบการน้ำ และการดูแลและป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างใกล้ชิด สำหรับพืชผักใบส่วนใหญ่จะปลูกลงแปลง (ดิน) โดยตรง สำหรับผักผลบางชนิด เช่น พริกหวาน และมะเขือเทศ นิยมที่จะปลูกในวัสดุปลูก (Substrate culture)

7. การจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการตลาดที่ดี นอกจากการผลิตในแปลงปลูกอย่างประณีตและปลอดภัยแล้ว ต้องมีการเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังเก็บเกี่ยวที่ดี ทั้งการรวบรวมและการคัดคุณภาพของผลิตผลให้เป็นไปตามที่กำหนด การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งไปสู่ตลาด ซึ่งกระบวนการทั้งหมดต้องทำอย่างประณีตและรวดเร็ว เพื่อให้ผลิตผลถึงตลาดและผู้บริโภคด้วยคุณภาพดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยของผลผลิต โดยตรวจสารเคมีตกค้างทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่เป็นระบบแบบนี้จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น โรงคัดบรรจุ ห้องเย็น ห้องวิเคราะห์สารเคมี หรือรถขนส่งผลผลิต ซึ่งเกษตรกรควรรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ เพื่อให้รัฐสามารถให้สนับสนุนได้ง่าย รวมถึงการขอรับรองมาตรฐาน

“การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความใส่ใจและห่วงใยสุขภาพของผู้บริโภคในปัจุบันนี้  พืชผักจะเป็นอาหารอันดับแรก ๆ ที่มีความสำคัญ แต่เกษตรกรจะสามารถปลูกพืชผักเป็นอาชีพอย่างมั่นคงได้ ความปลอดภัยของผลิตผล และการเพาะปลูกแบบประณีต เป็นสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด และความพร้อมสำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ การเสื่อมโทรมและจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของกฏและกติกาการค้าต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ กล่าวส่งท้าย


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

ลำปาง - ครม.อนุมัติ เพิ่มค่าตอบแทน อสม.อีก 3 เดือนเริ่ม เดือน ก.ค.-ก.ย. 2564

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ขอแสดงความยินดีกับ อสม.ลำปาง และ อสม.ทั่วประเทศที่ ครม.อนุมัติค่าตอบแทนต่ออีก 3 เดือน โดยจะเริ่มในเดือน ก.ค.2564 นี้ โดยครม. อนุมัติโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.อีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ก.ย. 2564 วงเงินรวมไม่เกิน 1,575.4950 ล้านบาท เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจที่ดีแก่ อสม. ผู้ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน

ซึ่งที่ผ่านมา อสม. ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมอย่างถ้วนหน้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.2563 – มิ.ย 2564 เป็นระยะเวลา 16 เดือน กรอบวงเงินรวม 8,348.6965 ล้านบาท ทั้งนี้ ในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติในอนาคตและกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติมก็สามารถขอรับเงินค่าตอบแทนเพิ่มเติมให้แก่ อสม. เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจที่ดีให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน อสม. ได้ต่อไป


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า

เชียงราย - โรงพยาบาลเม็งรายฯ ฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่ลงทะเบียนกับหมอพร้อม ทั้งวัคซีน Sinovac และ Astrazeneca ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะฉีดให้ตามความเหมาะสมของผู้รับวัคซีน

เวลา 09.00 น. วันที่ 8 มิ.ย.64 ที่โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมือง จ.เชียงราย พล.ต.ศุภฤกษ์ สถาพรผล ผบ.มทบ.37 พร้อมคณะได้เดินทางมา เพื่อตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส โควิด - 19 ให้กับผู้ที่ลงทะเบียนนแอพพิเคชั่นหมอพร้อม ผู้ที่สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี และผู้ป่วยเรื้อรังที่รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช โดย พ.​อ.นพ.กิติพันธ์ เฮงสนั่นกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายฯ ให้การต้องรับ ซึ่งวันนี้มีประชาชนเดินทางเข้ามารับการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งวัคซีน sinovac และ astrazeneca ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะฉีดให้ตามความเหมาะสมของผู้รับวัคซีน

โดยที่โรงพยาบาลค่ายเม็งรายฯ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการหมอพร้อม ที่ให้บริการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอพพิเคชั่น โดยเปิดให้ฉีดวัคซีนในวัน อังคาร พฤหัส และวันศุกร์  โดยในวันนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนจำนวน 130 ราย  โดยในจำนวนนี้มี พล.อ.แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช เข้ารับการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ด้วย


ภาพ/ข่าว  ณัฐวัตร ลาพิงค์

เชียงราย – นักรบบนหลังม้า หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 นำม้าลาดตระเวนสกัดกั้นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองพร้อมสิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดน

เมื่อวันที่14 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ตามที่ พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ได้มีนโยบายให้กำลังพล ที่ปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเฝ้าตรวจ ตามแนวชายแดน ได้มีการผ่อนคลายจากการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว

ดังนั้น พลตรี นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง จึงได้สั่งการให้ พันเอก สัมฤทธิ์ ฉัตรวัฒนาสกุล ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 นำม้า เพื่อใช้เป็นพาหนะเพิ่มระยะทางและระยะเวลา ในการปฏิบัติภารกิจการลาดตระเวน ตามแนวชายแดน แทนการเดินเท้า เพื่อให้กำลังพลลดความเหนื่อยล้า และได้ผ่อนคลาย จากการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมงและ ให้มีการผลัดเปลี่ยนกำลังพล ในการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายตามแนวชายแดนพร้อม การสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ ในพื้นที่ตามแนวชายแดน ของ จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ยังได้สร้างความสัมพันธ์กับประชาชน ในพื้นที่ ด้วยการแจกหน้ากากอนามัย ให้กับประชาชน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด – 19)

ทั้งนี้ ในห้วงเดือน พฤษภาคม ถึงเดือน มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่3กองกำลังผาเมืองสามารถสกัดกั้นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จำนวน 4 ครั้ง ผู้ต้องหา จำนวน 14 คน การผลักดัน จำนวน 7 ครั้ง ผู้ต้องหา จำนวน 16 คน และจะยังคงเพิ่มความเข้มข้น ในการปฏิบัติการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดต่อไป


ภาพ/ข่าว  สันติ วงศ์สุนันท์ / ผู้สื่อข่าวเชียงราย

แม่ฮ่องสอน - นพค.36 ส่งมอบโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบนำหลักทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์สู่ “ โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนในชุมชน

นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ,นายปฐมพงษ์ จันทร์สว่าง พัฒนาการจังหวัดแม่ฮ่องสอน รับมอบบ่อกักเก็บน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ของนายประเสริฐ จันทร์โอภาส บ้านกลาง หมู่ 7 ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการปรับพื้นที่และขุดบ่อกักเก็บน้ำ สำหรับแปลงพื้นที่ของนายประเสริฐ จันทร์โอภาส เป็นแปลง CLM พื้นที่ขนาด 15 ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ กับกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการปรับพื้นที่โดยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 และขุดบ่อกักเก็บน้ำจำนวน 5 บ่อ และขุดคลองไส้ไก่เพื่อนำน้ำไปใช้ในพื้นที่ ซึ่งเมื่อได้ดำเนินการปรับพื้นที่แล้วจะได้มีการเอามื้อสามัคคีในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

นายปฐมพงษ์ จันทร์สว่าง พัฒนาการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า โครงการโคก หนอง นา โมเดล โดยพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เข้าดำเนินการในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้ง 7 อำเภอ  25 ตำบล 103 หมู่บ้าน แบ่งเป็นขนาดพื้นที่ 1 ไร่ 3 ไร่ จำนวน 99 แปลง และพื้นที่ 10 ไร่ขึ้นไป จำนวน 4 แปลง ซึ่งพื้นที่ของหมู่บ้านกลาง ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ที่รับมอบจาก นพค.36 ดังกล่าว เป็นของนายประเสริฐฯ มีพื้นที่จำนวน 15 ไร่ และขุดบ่อเก็บน้ำ 5 บ่อ สำหรับแปลงนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 2 คือการปรับพื้นที่ หลังจากปรับพื้นที่เสร็จก็จะจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ 9 ฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดใกล้เคียงในการศึกษาเรียนรู้โครงการ “ โคก หนองนา โมเดล”

หลังจากจัดทำศูนย์เรียนรู้เสร็จ จะนำหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นำศาสตร์พระราชา มาประยุกต์สู่ “โคก หนองนา โมเดล” ในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนบ่อกักเก็บน้ำที่ขุด จำนวน 5 บ่อ นอกจากจะเลี้ยงปลาแล้ว น้ำในบ่อก็จะใช้ในการทำการเกษตรของโครงการและเกิดความชุ่มชื้นในพื้นที่ มีแปลงนา มีการปลูกป่า 5 ระดับ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไปจนถึงการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็น สุกร อย่างเป็นรูปธรรมและสร้างรายได้ให้ประชาชนในชุมชนอย่างยั้งยืน


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน - ททท.แม่ฮ่องสอน จัดส่วนลดโรงแรม 7 อำเภอ เพิ่มกิจกรรม ‘เดินป่าหน้าฝน’ เตรียมพร้อมการท่องเที่ยว” สามหมอก...หยอกฝน”

นายโยธิน ทับทิมทอง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ททท.แม่ฮ่องสอน ได้เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4 ไว้แล้ว โดยเป็นแผนเตรียมพร้อมหลังจากเปิดจังหวัด ซึ่งในเรื่องนี้ทางจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสิธิชัย จินดหาหลวง  ได้มีการเตรียมนโนบายและแนวทางในการดำเนินการไว้เบื้องต้นแล้ว ทาง ททท.จึงได้เตรียมแผนรองรับและส่งเสริมการท่องเที่ยว ในไตรมาส 4 ที่อยู่ในระหว่างฤดูฝน หรือกรีนซีซั่น

ในฤดูท่องเที่ยวกรีนซีซั่นของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเสน่ห์เป็นอย่างมาก หากนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวในระยะนี้ จะพบเจอกับบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยความงาม จากหุบเขาสีเขียวทั้งจังหวัด รวมถึงความของแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ  ซึ่งนักท่องเที่ยวที่กำลังวางแผนเดินทางมาท่องเที่ยวภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะพบว่าการท่องเที่ยวที่นี่ มีจุดเด่นคือไม่แออัด คนไม่พลุกพล่าน ส่วนผู้ประกอบการเริ่มทยอยเปิดกิจการร้านค้า ปฏิบัติตามมาตรการภายใต้สถานการณ์โควิด อย่างไรก็ตาม ทาง ททท. ได้วางแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบค่อยเป็นค่อยไป และเน้นย้ำให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังตนเอง สำหรับแผนในระยะสั้น ได้วางแผนร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรมทั้ง 7 อำเภอ จัดโปรโมชั่น มอบส่วนลด โดยใช้ชื่อว่า แฮปปี้ เรนนี่ ซีซั่น (HAPPY RAINNIE SEASON) และอีกหนึ่งกิจกรรมสำหรับสายลุย คือการ “เดินป่าหน้าฝน” โดยจะจัดนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ท่องเที่ยวชมป่า

ทั้งนี้ ททท.คาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวในภาคเหนือในระยะอันใกล้นี้ มีความสำคัญมาก เนื่องจากข้อมูลสถิติที่เก็บในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 40 เดินทางมาจากภาคเหนือด้วยกัน จึงได้วางแผนประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยเจาะกลุ่มภาคเหนือก่อน ถือเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวในระยะใกล้ อาจร่วมกับบริษัทนำเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ เสนอขายทัวร์ให้กับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ที่สำคัญต้องเน้นย้ำมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดในการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / รุจิรา

เชียงราย - กอ.รมน.จังหวัด ช.ร. โครงการการสานเสวนาส่งเสริมการมีส่วนร่วม และปรึกษาหารือ กิจกรรมการเสริมสร้างเครือข่ายผู้นำชุมชนประชาธิปไตย ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงราย

เมื่อ 21 มิ.ย. 64 เวลา 08.30 น. กอ.รมน.จังหวัด ช.ร. โดย พ.อ.กิตติพล ไพรหิรัญ รอง ผอ.รมน.จังหวัด ช.ร. (ท.) เป็นประธานเปิดการอบรม โครงการการสานเสวนาส่งเสริมการมีส่วนร่วม และปรึกษาหารือ กิจกรรมการเสริมสร้างเครือข่ายผู้นำชุมชนประชาธิปไตย  พร้อมด้วยกำลังพล กอ.รมน.จังหวัด ช.ร.ร่วมกับ ผู้นำชุมชนในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย จำนวน 65 คน  ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้นำชุมชน มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้กับประชาชน รวมทั้งสื่อสารข้อมูลของภาครัฐให้กับประชาชนรับรู้ถึงการดำเนินงานและรับทราบข่าวสารของประชาชน โดยผ่านการมีส่วนร่วมและปรึกษาหารือในชุมชน และเพื่อรับทราบปัญหา และบูรณาการ การแก้ไขปัญหาร่วมกันของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในแต่ละพื้นที่ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เด่นศักดิ์ สุริยะ ประธานคณะกรรมการศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้าจังหวัดเชียงราย เป็นวิทยากร ทั้งนี้จัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันเชื้อไวรัสไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับผู้เข้ารับการอบรม

เชียงใหม่ - เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ต้อนรับการเปิดให้บริการ เชิญชมสมาชิกใหม่ พร้อมประกวดตั้งชื่อ “ลูกเลียงผา" (Serows) หนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 มิถุนายน 2564 สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ต้อนรับการเปิดให้บริการอีกครั้ง ด้วยสมาชิกใหม่ “ลูกเลียงผา" (Serows) เป็นสัตว์ 1 ใน 15 สัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย จำนวน 1 ตัว พร้อมเชิญชวนร่วมประกวดตั้งชื่อ ลุ้นรับรางวัลจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

นายเบญจพล นาคประเสริฐ กรรมการบริหาร ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร เปิดเผยว่า หลังจากที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้กลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้วนั้น วันนี้เชียงใหม่ไนท์ซาฟารียังได้สมาชิกใหม่ “ลูกเลียงผา" (Serows) แห่งโซนซาวันน่า ซาฟารี  จำนวน 1 ตัว ยังไม่ทราบเพศ เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เกิดจาก “พ่อตองหก" และ “แม่ปริฉัตร" ขณะนี้ลูกเลียงผามีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และได้รับการเลี้ยงดูแบบธรรมชาติจากแม่ปริฉัตร โดยอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ ในส่วนจัดแสดงซาวันน่า ซาฟารี ซึ่งปัจจุบันเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มีเลียงผาทั้งหมด 7 ตัว และนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมความน่ารักของ “ลูกเลียงผา" ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 13.00 – 20.00 น.

นอกจากนี้ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีขอเชิญชวนร่วมประกวดตั้งชื่อให้ “ลูกเลียงผา” (Serows) ลุ้นรับรางวัลบัตรเข้าชม จำนวน 1 รางวัล (2 ใบ) และเสื้อยืด ลาย Limited จากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี โดยสามารถร่วมตั้งชื่อได้ที่ Facebook : เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี Chiang Mai Night Safari ตั้งแต่บัดนี้ - วันที่ 30 มิถุนายน 2564 และประกาศผลวันที่ 1 กรกฎาคม 2564

สำหรับ “เลียงผา" (Serows) เป็น 1 ใน 15 ชนิด ของสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย เป็นสัตว์ที่มีประสาทหู ตา และรับกลิ่นได้ดี เมื่อโตเต็มที่มีความสูงที่ไหล่ประมาณ 1 เมตร ขายาวและแข็งแรง ใบหูยาวคล้ายใบหูลา ขนตามลำตัวค่อนข้างยาว หยาบและมีสีดำ ด้านท้องขนสีจางกว่า มีขนเป็นแผงยาวบนสันคอและสันหลัง มีเขาทั้งในตัวผู้และตัวเมีย เขามีลักษณะตอนโคนกลม หยักเป็นวงแหวนโดยรอบค่อยๆ เรียวไปทางปลายเขาโค้ง ไปทางด้านหลังเล็กน้อย เลียงผากินพืชต่างๆ ทุกชนิด และผสมพันธุ์ในช่วงปลายเดือนตุลาคม โดยใช้เวลาตั้งท้องราว 7 เดือน

ทั้งนี้ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้เน้นย้ำมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด - 19 ที่มีการเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด - 19 นักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง พร้อมตรวจคัดกรองผ่านกล้องโทรทัศน์วงจรปิดชนิดตรวจวัดอุณหภูมิความร้อน และนักท่องเที่ยวต้องลงทะเบียนจองคิวนั่งรถชมสัตว์ก่อนเข้าใช้บริการในช่องทางออนไลน์เท่านั้น โดยทำการจองได้ที่ www.chiangmainightsafari.com และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ Facebook : เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี Chiang Mai Night Safari หรือ Line OA : nightsafari หรือ IG และ Tiktok : chiangmainightsafari หรือ โทร. 053 - 999000


ภาพ/ข่าว  นภาพร/เชียงใหม่

ลำพูน – อธิบดีกรมสุขภาพจิต ติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหา ‘การฆ่าตัวตาย’ ภายใต้กิจกรรม 4 Plilar

แพทย์หญิง พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิตพร้อมคณะฯ ติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย ภายใต้กิจกรรม 4 Plilar ณ ห้องประชุมจามเทวี ศาลากลางจังหวัดลำพูน ถนนอินทยงยศ ตำในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และประชุมติดตามผลการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชนในโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย (4 pillar) จังหวัดลำพูน ในวันนี้ (30 มิ.ย. 64) เมื่อเวลา 09:30 น.

นอกจากนี้ ยังได้มีการอภิปรายหัวข้อการป้องกันแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายประเด็น

1. นโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายของจังหวัดลำพูน โดย นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน

2. สถานการณ์การฆ่าตัวตายของประเทศไทย และแนวทางแก้ไขปัญหา โดย แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต

3. บทบาทของพระสงฆ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย โดย พระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน

4. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายโดยใช้ลำพูนโมเดล (4 pillar) โดย นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน

ดำเนินรายการ โดย นายแพทย์ กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง และ นางบุษบา อนุศักดิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน

จากนั้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมคณะฯ เดินทางไปยังเทศบาลตำบลทากาศเหนือ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามผลการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชน และ มอบทุนประกอบชีพให้กับผู้เปราะบาง โดย แพทย์หญิงพรรณพิมลฯ ก่อนเดินทางกลับ

นางพรรณพิมล อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า "จากสถานการณ์การฆ่าตัวตายประเทศไทย ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา พบมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จต่อแสนประชากรสูงอยู่ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง , 2540 โดยในปี 2540-2542 พบร้อยละ 6.92-8.12 และสูงสุดในปี 2542 ร้อยละ 8.59 ส่วนในปี 2563 อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ต่อแสนประชากร อยู่ที่ร้อยละ 7.37 และจากการรวบรวมข้อมูลตามเขตสุขภาพ ในช่วงเดือน ตุลาคม 2563 ถึง พฤษภาคม 2564 พบเขตสุขภาพที่ 18 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) มีอัตราการฆ่าตัวตายสําเร็จต่อแสนประชากร ร้อยละ 10.01 และ สูงสุดในจังหวัดลำพูน ถึงร้อยละ 14.22"

สำหรับ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายและการลดอัตราการฆ่าตัวตายจะสำเร็จได้นั้น เกิดจากแรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน โดยมีคณะกรรมการระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ภาคส่วนต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันช่วยเหลือ ค้นหา ผู้ที่มีความเสี่ยงการฆ่าตัวตายในกลุ่มนายจ้าง ลูกจ้าง และแรงงานในชุมชน ด้วยการใช้เครื่องมือ Mental Health Check-In เพื่อตรวจเช็คสุขภาพใจ สำรวจผู้ที่มีภาวะเครียด ซึมเศร้า ภาวะหมดไฟ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยข้อมูลที่ได้จะส่งต่อทีมสุขภาพจิตให้คำปรึกษา จะลดผลกระทบดังกล่าวได้ หรืออีกหนึ่งช่องทางการติต่อเพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต สามารถติดต่อสายตรง 1323 หรือปรึกษาช่องทางออนไลน์ผ่านแฟนเพจ  Facebook  สายด่วนสุขภาพจิต 1323

ทั้งนี้ การใช้วัคซีนใจในชุมชน 4 สร้าง 2 ใช้ คือ สร้างชุมชนปลอดภัย สร้างชุมชนให้สงบ สร้างชุมชน ให้มีความหวัง สร้างชุมชนที่เข้าใจและให้โอกาส ใช้ศักยภาพชุมชน และใช้สายสัมพันธ์ในชุมชน รวมถึงการสอดส่อง มองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง ในหลัก 3 ส. จะช่วยส่งเสริมป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายได้อย่างยั่งยืน อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยในที่สุด


ภาพ/ข่าว  กรรณิการ์  วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดลำพูน

ลำปาง - ททท.สำนักงานลำปาง ร่วมกับ ชมรมสนามกอล์ฟลำพูน แถลงเปิดตัว กิจกรรม"เล่นกอล์ฟ ผ่อนคลาย ที่ลำพูน Green Season"

เมื่อวันพฤหัสบดีที่  1 กรกฏาคม 2564 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมสนามกอล์ฟลำพูน จัดแถลงข่าว กิจกรรม“เล่นกอล์ฟ ผ่อนคลาย ที่ลำพูน Green Season” (Playing Golf at Lamphun in Green Season) โดยมีนางสาวสรัสวดี อาสาสรรพกิจ ผู้อำนวยการภูมิภาค ภาคเหนือ ททท.นายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง และนายสุพชฌาย์ เสวตไอยาราม ประธานชมรมสนามกอล์ฟลำพูน ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดสนามกอล์ฟและรีสอร์ทในเครือกัชชัน ร่วมแถลงข่าว เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวจังหวัดลำพูนภายใต้มาตรฐาน SHA ณ ห้องฟ้าประทาน คลับเฮาส์ กัซซัน เลกาซี่ กอล์ฟ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยภูมิภาคภาคเหนือ และ ททท. สำนักงานลำปาง ร่วมกับชมรมสนามกอล์ฟลำพูน และ 6 สนามในจังหวัดลำพูน (สนามกอล์ฟอัลไพน์ กอล์ฟ รีสอร์ท เชียงใหม่ (ลำพูน), สนามกอล์ฟอาทิตยา เชียงใหม่ กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท (ลำพูน), สนามกอล์ฟกัซซัน ขุนตาน กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท, สนามกอล์ฟกัซซัน พาโนราม่า กอล์ฟ คลับ, สนามกอล์ฟกัซซันเลกาซี่ กอล์ฟ คลับ และสนามกอล์ฟหริภุญชัย กอล์ฟ คลับ) จัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Lover) ในช่วง Green Season “เล่นกอล์ฟ ผ่อนคลาย ที่ลำพูน Green Season” หรือ Playing Golf at Lamphun in Green Season ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2564

โดย ททท. มอบสิทธิประโยชน์ คูปองชุดอาหาร จำนวน 700 คูปองต่อสนามกอล์ฟ ทั้งนี้ทุกสนามกอล์ฟดำเนินกิจกรรมภายใต้ มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Safety & Health Administration (SHA) และยึดหลัก D-M-H-T-T นักกอล์ฟสามารถมาออกรอบท่ามกลางความเขียวขจีของ Fairway และ Putting Green ในบรรยากาศสดชื่นสวยงามมีเอกลักษณ์ของแต่ละสนามกอล์ฟ

นางสาวสรัสวดี อาสาสรรพกิจ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ว่า เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองที่มีศักยภาพโดยใช้อัตลักษณ์สนามกอล์ฟที่มีมาตรฐานการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงกีฬาให้เป็นที่รู้จักและสามารถขยายผลในการกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นใกล้เคียงได้ ททท.สำนักงานลำปาง และชมรมสนามกอล์ฟลำพูน  

จึงขอเชิญชวนผู้รักกีฬากอล์ฟมาร่วมกิจกรรม “เล่นกอล์ฟ   ผ่อนคลาย ที่ลำพูน Green Season” เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดลำพูนอย่างปลอดภัยผ่านทางกีฬากอล์ฟ ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสนามกอล์ฟในหลายภาคส่วนอีกด้วย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก สนามกอล์ฟอัลไพน์ กอล์ฟ รีสอร์ท เชียงใหม่ (ลำพูน) โทร. 053 880 888 สนามกอล์ฟอาทิตยา เชียงใหม่ กอล์ฟ แอนด์  รีสอร์ท (ลำพูน) โทร. 053 096 333  สนามกอล์ฟกัซซัน ขุนตาน กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท โทร. 053 507 006 สนามกอล์ฟกัซซัน พาโนราม่า กอล์ฟ คลับ โทร. 053-921-815  สนามกอล์ฟกัซซันเลกาซี่ กอล์ฟ คลับ โทร. 053 921 846 และ สนามกอล์ฟหริภุญชัย กอล์ฟ คลับ โทร. 053 096 222


ภาพ/ข่าว  วิภาดา / เชียงใหม่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top