Monday, 6 May 2024
Northern

เชียงใหม่ - ทอท. ลงพื้นที่มอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์การศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านใหม่พัฒนาสันติฯ

วันที่ 2 เมษายน 2564 นายกฤษฎา พุกะทรัพย์ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (สายสนับสนุนธุรกิจ) พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงานฝ่ายกิจการเพื่อสังคม และผู้บริหาร พนักงานท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นผู้แทน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านใหม่พัฒนาสันติ (บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ2 เมษายน 2558 อุปถัมภ์) ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์การศึกษา จำนวน 100,000 บาท โดยมีพันตำรวจโท ผดุงเกียรติ ปัณฑรนนทกะ รองผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 และดาบตำรวจหญิง กัญญารัตน์ ขวัญทรัพย์กิจ รักษาการครูใหญ่ ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน

ทั้งนี้ ทอท.ได้ให้การสนับสนุนและดูแลโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านใหม่พัฒนาสันติฯ มาตั้งแต่ปี 2558 โดยได้สร้างอาคารเรียน และสนับสนุนงบประมาณการบริหารจัดการด้านการศึกษาของโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีศิษย์เก่าของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านใหม่พัฒนาสันติฯ ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนในถิ่นทุรกันดารเกิดความมุ่งมั่นในการศึกษาต่อไป


ภาพ/ข่าว  นภาพร  เชียงใหม่

แม่ฮ่องสอน - อนุทิน รองนายก และรมว.กระทรวงสาธารณสุข มอบวัคซีนโควิด-19 ลงพื้นที่ มอบนโยบายดำเนินงานรองรับสถานการณ์ในประเทศเมียนมา อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ณ โรงพยาบาลแม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน   นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย  นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์โอภาส  การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์  อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  เดินทางมาที่โรงพยาบาลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2,000 โด้ส  และ  พบปะผู้บริหารจังหวัด/อำเภอ และ มอบนโยบายการดำเนินงานรองรับสถานการณ์ไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจส่งผลกระทบด้านความมั่นคง ความปลอดภัยของชาวบ้านในพื้นที่  และ สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งนำวัคซีนซิโนแวค ไปฉีดให้กับเจ้าหน้าที่ด่านหน้าทำงานต่อสู้กับโควิด-19 ซึ่ง ความปลอดภัยของคนในประเทศจะต้องมาเป็นอันดับแรก โดยเราปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมอยู่แล้วในการช่วยเหลือผู้ที่หนีภัยสงคราประเทศเมียนมาตามสถานการณ์หากมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเราก็จะดูแลให้ความช่วยเหลือปฏิบัติตามหลักของมนุษยธรรมอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ให้เข้ามาในเขตแดนของเราหากไม่มีการสู้รบ  ส่วนผู้หนีภัยสงครามเมียนมา จำนวน 7 คนที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบที่เดินเข้ามาก่อนหน้านี้ก็ได้รับการรักษา นอนรักษาตัวที่ รพ.สบเมย 4 คน โรงพยาบาลแม่สะเรียง 1 คน และ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ 2 คน 

โดยหลังรับการรักษา หากมีอาการดีขึ้นหรือหายจากการบาดเจ็บ ทางโรงพยาบาลจะประสานกับทางอำเภอ มารับตัวไปตามขั้นตอน ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละราย โดยต้องประเมินวันต่อวัน แต่ยืนยันว่าจะต้องรักษาจนหายดีก่อน โดยทางทีมแพทย์  จะให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม ดูแลรักษาผู้บาดเจ็บทุกคนไม่ต่างจากการรักษาคนไทยเรา แต่การรับเข้ามาอาจจะมีมาตรากาคุมเข้มเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19


ภาพ/ข่าว :  สุกัลยา / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน - ผู้ว่าแม่ฮ่องสอนสั่งยกเลิกด่านตรวจ จุดตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019

เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 1  เมษายน  2564  ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มีคำสั่งยกเลิกด่านตรวจ จุดตรวจจุดคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้ง 3 จุด  อ้างถึง คำสั่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ 2565 / 2563 ลงวันที่ 30  ตุลาคม  2563 และคำสั่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ 14 /2564 ลงวันที่ 4 มกราคม  2564 สำเนาคำสั่ง จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ 650 / 2564 ลงวันที่ 1 เมษายน 25649

ตามที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีคำสั่งที่ 14 / 2564 เรื่องการจัดตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัดควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลงวันที่ 4 มกราคม 2564 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่  1.จุดตรวจแม่อุคอ ทางหลวงแผนดินหมายเลข 1263 ตำบลแม่อูคอ อำเภอุนยวม  2. จุดตรวจหน้าถ้ำ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 หมู่ที่ 8 บ้านป่ากล้วย ตำบลแม่สะเรียง  อำเภอแม่สะเรียง  3. จุดตรวจแม่ปิง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1095 หมู่ที่ 4 ตำบลแม่ฮี้  อำเภอปาย  จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019   (COVID – 2019) ในประเทศไทย และในสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา การแพร่ระบาดได้ลดลง  ผู้ว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน และผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน ครั้งที่  10 / 2564 เมื่อวันจันทร์ที่  8 มีนาคม  2564  จึงได้มีคำสั่งยกเลิก ด่านตรวจ  จุดตรวจ  จุดสกัด การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  จำนวน 3 แห่งดังกล่าว


ภาพ/ข่าว :  เกียรติศักดิ์  รักสัตย์  (ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน)

แม่ฮ่องสอน - ล็อตแรกเรือ 6 ลำ ส่งช่วยเหลือเยียวยาผู้หนีภัยความไม่สงบฝั่งสหภาพเมียนมา เจ้าหน้าที่บูรณาการอำนวยความสะดวกตามหลักมนุษยธรรม

ณ ท่าเรือบ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ภายหลังจากที่ทางหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่36 ได้รับการประสานจากหน่วยงานเอกชนที่ได้ทำการรวบรวมสิ่งของเพื่อขอส่งมอบของบริจาคให้กับผู้หนีภัยความไม่สงบในฝั่งสหภาพเมียนมา  พันเอก สมรรถชัย แปงสาย ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่36 จึงได้สั่งการให้กองร้อยทหารพรานที่3606 เข้าทำการตรวจสอบและอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามมาตรการคัดกรอง

ไวรัสโควิด-19 โดยเคร่งครัด  โดยทาง พันตรี ธเนศ กันทา ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่3606 ได้จัดกำลังพลจาก ฐานปฏิบัติการแม่สามแลบ จำนวน 1 ชุดปฏิบัติการ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และ อาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอสบเมย อำนวยความสะดวกและคัดกรองบุคคลตามมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งร่วมตรวจสอบสิ่งของที่รับบริจาคจากประชาชนและองค์กรเอกชนต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องอุปโภค-บริโภค โดยจะทำการขนส่งจากท่าเรือแม่สามแลบ ไปยังพื้นที่พักพิงอีทูโกรและอูเวโกร ฝั่งสหภาพเมียนมา โดยเรือยนต์ขนาดกลาง จำนวน 6 ลำ

สำหรับการช่วยเหลือดังกล่าว เป็นไปตามหลักการช่วยเหลือตามมนุษยธรรม แต่ต้องอยู่ในความดูแลของหน่วยงานความมั่นคง เนื่องด้วยสถานการณ์ตามแนวชายแดนยังไม่ปลอดภัย และเพื่อทำการคัดกรองบุคคลตามมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 รวมทั้งตรวจสอบสิ่งของเพื่อป้องกันการลักลอบนำสิ่งของต้องห้าม หรือของผิดกฎหมายแอบแฝงไปด้วย


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา  / ถาวร (อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน)

เชียงราย - เข้มรับมือสงกรานต์ ป้องกันอุบัติเหตุและอาชญากรรม

เวลา 19.45 น.วันที่ 7 เม.ย. 64  พล.ต.ต.ชินวิช วิชัยธนพัฒน์ ผบก.ภ.จว.เชียงราย ได้เดินทางตรวจ จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์นางแล สภ.บ้านดู่ ตามนโยบายของ รัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นการอกนวยความสะดวกในการใช้รถใช้ถนนให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมไปถึงดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัด โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด

โดยได้เน้นย้ำการปฏิบัติหน้าที่ ให้ปฏิบัติด้วยความสุภาพ เรียบร้อย ในการให้บริการต่อพี่น้องประชาชน เน้นบริการและอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทางและดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่เดินทางกลับต่างจังหวัดและเข้ามาในพื้นที่ เพิ่มความเข้มในการตรวจเฝ้าระวัง  สืบสวน และจับกุมการกระทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง  แรงงานต่างด้าว ทั้งขาเข้าและขาออก ที่จะมีผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้อุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น หน้ากาก, ถุงมือ โดยเคร่งครัดเพื่อป้องกันการติดต่อโรคโควิด-19  การตั้งด่านห้ามมีการเรียกรับผลประโยชน์โดยเด็ดขาด  การปฏิบัติหน้าที่ให้แต่งกายให้ถูกต้องตามระเบียบ ทั้ง เสื้อผ้า ทรงผม การพกพาอาวุธและเครื่องมือสื่อสาร การตั้งจุดตรวจฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดทั้งรูปแบบและอุปกรณ์ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้


ภาพ/ข่าว  ณัฐวัตร ลาพิงค์

เชียงราย - สสส.-กพย. ชู กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียง เป็นต้นแบบอำเภอขับเคลื่อนการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพเหมาะสม-ปลอดภัย ลุยแก้เครื่องสำอางค์-ยาอันตรายในชุมชน-ปัญหายาชายแดนสำเร็จ

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. พร้อมด้วยนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ลงพื้นที่ศึกษาดูงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและระบบยา : อำเภอเชียงของ พบการดำเนินงานเข้มแข็งและสอดรับกับแนวทางการดำเนินงานของ สสส. พร้อมหนุน “กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ” สู่การขับเคลื่อนอำเภอต้นแบบการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างสมเหตุผลและปลอดภัย

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตราย และการใช้ที่ไม่เหมาะสมจากการได้ข้อมูลและความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของผู้บริโภค เป็นปัญหาที่นำไปสู่การผลกระทบต่อสุขภาพและสูญเสียค่าใช้จ่ายของประชาชน  สสส. จึงมียุทธศาสตร์ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ประชาชนมีความสามารถและมีระบบและสังคมช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาชนให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรการควบคุมเฝ้าระวังสินค้าและบริการที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน เช่น ปัญหาจากสารเคมีในผลิตภัณฑ์อาหาร ยา ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อีกทั้งได้ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สร้างความเข้มแข็งของกลไกเฝ้าระวังระบบยาในระดับพื้นที่และระดับภาค  สร้างและจัดการความรู้เพื่อการเฝ้าระวัง เตือนภัยสังคม เพื่อลดอันตรายจากความเสี่ยงดังกล่าว

“จากข้อมูลการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือยาที่ไม่เหมาะสมจากต่างประเทศ (ยาชายแดน) ในพื้นที่  อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2562 โดยกลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ พบว่า ยาที่มีการจำหน่ายมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Dexamethasone Prednisolone) 2.ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ 3.สเตียรอยด์ครีมสำหรับเป็นเครื่องสำอางค์ 4.สเตียรอยด์ครีมสำหรับใช้ทั่วไป และ 5.ยาสมุนไพรผสมสเตียรอยด์ ปัจจัยที่ซื้อบริโภค แบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1. กลุ่มผู้สูงอายุและใช้แรงงานใช้ยาสเตียรอยด์แก้ปวดเพื่อให้สามารถทำงานต่อได้ 2. กลุ่มวัยรุ่นใช้ยาครีมสเตียรอยด์ทาเพื่อให้ผิวขาว และ 3. กลุ่มประชาชนทั่วไปใช้ยาครีมสเตียรอยด์ในการแก้แพ้ แก้คัน จากกลไกการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือยาที่ไม่เหมาะสมจากต่างประเทศ (ยาชายแดน) ของกลุ่มงานเภสัชกรรมฯ ทำให้ผลิตภัณฑ์ยาต้นเหตุที่ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพในพื้นที่เชียงของ ลดลงจากร้อยละ 100 ใน พ.ศ. 2557 เหลือร้อยละ 20 ใน พ.ศ. 2562  ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่เข้มแข็งสอดรับกับแนวทางการดำเนินงานของ สสส. จึงขอยกระดับกลุ่มงานเภสัชกรรมฯ สู่การเป็น “อำเภอต้นแบบการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างสมเหตุผลและปลอดภัย” นายชาติวุฒิ กล่าว

ภก.อิ่นแก้ว สิงห์แก้ว เภสัชกรชำนาญการกลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ กล่าวว่า ปัญหาการใช้ยาสเตียรอยด์อาจส่งผลให้เกิดผู้ป่วยโรคไต และเสียชีวิตจากอาการไตวายเฉียบพลัน จากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของผู้ป่วย ของกลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ พบว่า มีผลิตภัณฑ์ยาที่มีฉลากที่ไม่ใช่ภาษาไทยและยาแก้ปวดกลุ่มสเตียรอยด์ที่บ้านผู้ป่วยหลายราย และเมื่อลงพื้นที่สำรวจและพูดคุยกับคนผู้ขายในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น อำเภอเวียงแก่น พบว่า ยาส่วนหนึ่งนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในตลาดนัดชายแดน ตลาดนัดพื้นที่ใกล้เคียง และกระจายวงกว้างไปยังจังหวัดอื่น ๆ รวมถึงในกรุงเทพฯ ผ่านรถประจำทาง ขนส่งเอกชนและทางพัสดุไปรษณีย์

“การดำเนินการคุ้มครองสุขภาพประชาชนและแก้ไขปัญหาการใช้ยาสเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสมในชุมชน มีวิธีการทำงานแบบคู่ขนาน คือ การให้ความรู้ในชุมชนควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยประสานงานกับเจ้าของตลาดและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าในตลาดรับทราบถึงผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้ในโรงเรียนผู้สูงอายุ และร่วมกับ อสม. เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสมในชุมชน สำรวจร้านชำ รวมถึงการ MOU ร่วมกับหน่วยงานทางปกครอง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ด่าน อย. เชียงของ ด่านควบคุมโรคเชียงของ รพ.สต. และประเทศเพื่อนบ้าน ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ข้ามแดนระหว่าง 2 พื้นที่ ไทย-ลาว เพื่อป้องกันควบคุมการลักลอบนำเข้าและการจำหน่ายในพื้นที่  ซึ่งทาง สสส. จัดเวทีให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนงานวิชาการต่าง ๆ ผ่านทางศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) อย่างต่อเนื่อง ทำให้การเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือยาที่ไม่เหมาะสมจากต่างประเทศ (ยาชายแดน) มีการขยายพื้นที่การทำงานไปได้มากขึ้น จากเดิมที่เริ่มต้นในสามพื้นที่ ปัจจุบันได้ขยายไปครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย” ภก.อิ่นแก้ว กล่าว

ด้าน นายธนชัย ฟูเฟื่อง สมาคมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า สมาคมฯ ดำเนินงานด้านคุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภค สสส.ได้ร่วมสนับสนุนการยกระดับความเข้มแข็งให้เป็นองค์กรผู้บริโภคที่มีคุณภาพ ผ่านกลไกสนับสนุนในภาคเหนือ ทำหน้าที่เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้คำปรึกษาให้ความรู้กับประชาชน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือเยียวยา รวมถึงดำเนินงานเชิงรุกร่วมกับ กพย. ทำให้ได้รับการพัฒนาความรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยาอันตราย บทบาทการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในพื้นที่ เฝ้าระวังโฆษณาทางวิทยุ รวมถึงการทำงานร่วมกับเภสัชด้านคุ้มครองผู้บริโภค ที่ กพย. ได้ช่วยในการให้มีกระบวนการดำเนินงานร่วมกัน ถือเป็นการเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทุกมิติ

เชียงราย - สสส. ผนึก 5 หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม MOU ขยายผลห้องเรียนสู้ฝุ่น 41 โรงเรียนใน จ.เชียงราย พร้อมมอบรางวัลโรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น

ด้านผู้ว่าฯ เชียงราย ชื่นชม นวัตกรรม “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” สสส. ทำให้เด็กรู้ภัยอันตราย PM2.5 สู่การเป็น “พลเมืองใหม่” ส่งต่อความรู้สู่ชุมชน ลดวิกฤตฝุ่นควันปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอย่างยั่งยืน เตรียมขยายครอบคลุมทุกจังหวัดในภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 เวลา 10.30 น. ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม สภาลมหายใจจังหวัดเชียงราย สมาคมยักษ์ขาว และสมาคมสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงราย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาต่อยอดและขยายผล “ห้องเรียนสู้ฝุ่นในบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม จังหวัดเชียงราย” พร้อมมอบรางวัลและเกียรติบัตรแก่โรงเรียนในโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น 10 โรงใน จ.เชียงราย ต้นแบบการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดความร่วมมือและเปลี่ยนแปลงค่านิยมในชุมชน

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในปี 2562 จ.เชียงรายเป็นจังหวัดที่พบจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้น้อยที่สุดใน 9 จังหวัดภาคเหนือ จึงไม่ใช้สาเหตุหลักของค่าฝุ่นในพื้นที่ แต่ด้วยทิศทางลมที่พัดฝุ่นควันจากการเผาในพื้นที่โล่งของประเทศข้างเคียง อย่างเช่น เมียนมา ลาวเข้ามา พร้อมกับสภาพอากาศที่นิ่งและความกดอากาศสูงทำให้เกิดการขังตัวของฝุ่น PM2.5 ช่วงเดือนมกราคม-เดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดของจังหวัดเชียงราย เพราะมีฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ทำให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และอาการระคายเคืองตาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เฉลี่ย 2,200 คนต่อวัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และเยาวชนในพื้นที่ จ.เชียงราย ร่วมกับ สสส. ดำเนินโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 มีโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาเข้าร่วม 10 โรง “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ถือเป็นนวัตกรรมองค์ความรู้ ที่ทำให้เด็ก และคนในชุมชนรับมือกับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาในพื้นที่โล่งได้ และทางเชียงรายมุ่งสร้าง “พลเมืองใหม่” ที่สามารถสื่อสารสร้างความตระหนักรู้แก่คนในชุมชนถึงผลกระทบต่อสุขภาวะจากฝุ่น PM2.5 จนเกิดเป็นการเปลี่ยนค่านิยมลดการเผานา-ไร่ในพื้นที่ได้

นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดและขยายผลห้องเรียนสู้ฝุ่นในโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาในสังกัด อบจ.เชียงรายทั้งหมด 41 โรง รวม จ.เชียงรายมี 51 โรง โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ “มลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน และมลพิษข้ามแดน” โดยการเสริมสร้างทรัพยากรด้านความรู้ พัฒนากลไกการมีส่วนร่วม พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพในการสร้างกิจกรรมเสริมหลักสูตร การเรียนรู้ในโรงเรียน รวมถึงพัฒนาเยาวชน และประชาชนทั่วไปให้สามารถรู้เท่าทันภัยฝุ่น PM2.5 และสื่อสารส่งต่อองค์ความรู้สู้ภัยฝุ่น เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาวะเด็กและประชากรในจังหวัดเชียงรายได้

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สสส. จึงร่วมสานพลังกับภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา มุ่งเน้นสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชน ผ่านการเรียนการสอนในโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่ายนำหลักสูตรห้องเรียนสู้ฝุ่นไปใช้ในจังหวัดแพร่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน จำนวน 30 โรง และเตรียมขยายผลไปยังโรงเรียนจังหวัดอื่น ๆ ภาคเหนือ เพื่อให้เด็กมีค่านิยมและจิตสำนึกไม่เผานา เผาไร่ จนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ พร้อมทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลให้กับผู้ปกครอง ครอบครัว และชุมชน เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นอกจากนี้กลุ่มผู้นำชุมชนรวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้ความสำคัญขับเคลื่อนนโยบายเพื่อเอื้อต่อการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

ต่อมาเวลา 14.00 น. คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. นำโดยนายชาญเชาวน์     ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. พร้อมด้วยนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงาน “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” สนับสนุนโดย สสส. ที่โรงเรียนบ้านป่าแฝ-หนองอ้อ-สันทรายมูล อ.แม่สาย จ.เชียงราย 1 ใน 10 โรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น จ.เชียงราย 

โดย ดร.พัชรินทร์ จันทาพูน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าแฝ-หนองอ้อ-สันทรายมูล กล่าวว่า โรงเรียนบ้านป่าแฝฯ เคยประสบกับปัญหาฝุ่นควันจนต้องหยุดทำการเรียนการสอน แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในเดือนตุลาคม 2563 ทางโรงเรียนได้เพิ่มกิจกรรม “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เสริมหลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา เด็ก ๆ มีความรู้สามารถอ่านค่าจากเครื่องวัดค่าฝุ่น และติดธงสีต่าง ๆ เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ 2 ครั้งต่อวัน คือ ในช่วงเช้าและเที่ยง หากแกนนำนักเรียนปักธงสีแดง หมายถึง มีค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป เด็กนักเรียนจะงดกิจกรรมกลางแจ้ง พร้อมกันนี้ยังได้นำความรู้เรื่องการไม่เผานา-ไร่ ส่งต่อยังผู้ปกครอง แนะนำการกำจัดฟางข้าวด้วยการหมักทำปุ๋ยทดแทนการเผา เพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นควันในพื้นที่

เชียงราย - เปิดโครงการสายตรวจร่มบิน แจ้งเหตุทางอากาศ

เปิดโครงการ “ร่มบินพารามอเตอร์ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย” สนับสนุนภาระกิจทางอากาศ ทั้ง ชี้ภาพการจราจรในช่วงเทศกาล  จุดเกิดไฟป่า ป้องกัน PM 2.5 ติดตามเป้าหมายคนร้าย ชี้เป้าหมายทางอากาศ

เวลา 16.00 น.วันที่ 9 เม.ย.64 ที่ สภ.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีต ผบก.กองปราบ/ผอ.กองสลาก เข้าร่วมพิธี เปิดโครงการ “ร่มบินพารามอเตอร์ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย”  โดยมี พ.ต.อ.สันติ กองสมัคร รอง ผบก.ภ.จว.เชียงราย เป็นประธานในการเปิดโครงการ โดย พ.ต.อ.ภาสกร ณ พิกุล ผกก.สภ.บ้านดู่ พร้อมด้วยข้าราชการตำรวจ สภ.บ้านดู่   ชมรมร่มบิน จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลบ้านดู่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยโครงการสายตรวจทางอากาศ  “ร่มบินพารามอเตอร์ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการตรวจสภาพการจราจรในช่วงเทศกาลต่าง ๆ 1. เพื่อลดปัญหาด้านจราจร อุบัติเหตุ 2. เพื่อสนับสนุนารทำงานของสายตรวจภาคพื้นดินในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม 3.เพื่อชี้เป้าจุดที่เกิดไฟป่าและค้นหาตัวผู้กระทำผิด ได้อย่างรวดเร็ว 4. เพื่อสนับสนุนภารกิจที่จำเป็นต้องใช้อากาศยานเบาหรือได้รับการร้องขอจากหน่วยงานข้างเคียง เข้าปฏิบัติหน้าที่ตามที่ร้องขอได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการดังกล่าวดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

พ.ต.อ.สันติ กองสมัคร  กล่าวว่า  ปัจจุบัน มีปัญหาอาชญากรรม  การจราจร และการลักลอบเผาป่า   ทำให้เกิดหมอกควันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่างได้อย่างมีประสิทธิภาพประกอบกับช่วง  เทศกาลสงกรานต์ ที่จะมาถึงมีพี่น้องประชาชน ได้เดินทางกลับภูมิลำเนา  เป็นจำนวนมาก อาจมีปริมาณรถที่หนาแน่นและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ มีความจำเป็นในการใช้ร่มบิน(พารามอเตอร์)ในการตรวจการ  สังเกตการณ์จากที่สูงมีของสภาพการจราจร  เพื่อลดความหนาแน่นของการใช้เส้นทางหลักและการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม การติดตาม ชี้เป้าหมาย เพื่อง่ายต่อการสกัดจับกุมผู้กระทำความผิดต่างๆและการใช้ในการ     ตรวจการณ์ ป้องกันการลักลอบเผาป่า ที่เป็นสาเหตุหมอกควัน

สำหรับโครงการ “ร่มบินพารามอเตอร์ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย” มีที่ตั้งและศูนย์ประสานงานชุดเฉพาะกิจสายตรวจทางอากาศ สภ.บ้านดู่ เลขที่ 550 ม.2 ต.บ้านดู่ อ.เมือง จว.เชียงราย สามารถจัดเตรียมเก็บขึ้นรถยนต์เพื่อเตรียมพร้อม บินได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที อัตราความเร็วในการบินจะอยู่ที่ประมาณ 40-55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของร่มด้วย เชื้อเพลิง 10 ลิตร จะบินได้ประมาณ 3 ชม. ถ้าสภาวะอากาศเอื้ออำนวย การบินแต่ละครั้งจึงไปได้ไกลกว่า 100 กิโลเมตร และพร้อมที่จะสนับสนุนภารกิจต่าง ๆ เมื่อได้รับมอบหมายในทันที


ภาพ/ข่าว  ณัฐวัตร ลาพิงค์  เชียงราย

เชียงราย - จัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม 500 เตียง รับมือโควิด-19

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะทำงานติดตามสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 10 เมษายน 2564 ที่ห้องประชุมพญาพิภักดิ์ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ถนนแม่ฟ้าหลวง ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย  โดยมี นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ ปลัดจังหวัดเชียงราย นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย นายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ตลอดทั้วหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อพิจารณาแนวทางยับยั้งการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน และสรุปข้อสั่งการจาก ศบค. และ ศบค.มท.

โดยที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์และประเมินแนวทางการแก้ไขปัญหาโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดยังไม่พบการระบาดในพื้นที่ มีผู้ติดเชื้อจำนวน 12 ราย ส่วนใหญ่รับเชื้อมาจากสถานบันเทิงในจังหวัดใกล้เคียงและกรุงเทพมหานคร และผู้ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด

สำหรับการประชุมในวันนี้ ได้ติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ภายในประเทศ และของจังหวัดเชียงราย ติดตามการเตรียมความพร้อมสถานที่ และเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จำนวน 500 เตียง ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ติดตามการตรวจหาเชื้อผู้สัมผัสผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ติดตามการออกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงรายที่ให้ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่เที่ยงคืนวันเสาร์ที่ 10 ถึง– วัน ที่ 23 เมษายน 2564 และการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) การจัดงานเทศกาลสงกรานต์อย่างปลอดภัย

พร้อมกันนี้ ประธานที่ประชุมได้เน้นย้ำขอความร่วมมือประชาชนป้องกันตนเองตามมาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัดอีกด้วย ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดในพื้นที่ได้อย่างแน่นอน เพื่อเป็นของขวัญในเทศกาลป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมืองเจียงฮายอีกด้วย

ลำปาง - เปิดแล้วงาน “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง นครลำปาง “ประจำปี ๒๕๖๔ รูปแบบออนไลน์

วันเสาร์ ที่ 10 เมษายน 2564 เวลา 19.00 น. ณ บริเวณสนามหน้าพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง (มิวเซียมลำปาง) อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง นาย

สรุพล บุรนิทราพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง นครลำปาง ประจำปี ๒๕๖๔” โดยมีนางลัษมา ธารีเกษ วัฒนธรรมจังหวัดลำปาง เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง นายกเทศมนตรีนครลำปาง ผู้อำนวย ททท. สำนักงานลำปาง ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมพิธีเปิดงาน “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง นครลำปาง ประจำปี ๒๕๖๔” และร่วมรับชมการแสดงแสง สี เสียง ชุด “สลุงหลวง ปีใหม่เมือง นครลำปาง”

พิธีเปิดงาน “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง นครลำปาง ประจำปี ๒๕๖๔” ผ่านการถ่ายทอดสดออนไลน์ ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป และสามารถรับชมกิจกรรมในวันที่ 11 และ 12 เมษายน ซึ่งประกอบไปด้วย วันที่ 11 เมษายน การประกวดบ่าวน้อย สาวน้อยปี๋ใหม่เมืองเวียงละกอน ประจำปี 2564 วันที่ 12 เมษายน ขบวนแห่สลุงหลวง ประจำปี 2564 ผ่านช่องทาง Facebook Fanpage “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง 2564”

โอกาสนี้ นายสรุพล บุรนิทราพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นการรวมพลังความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของทุกภาคส่วนที่จะได้นำเอาอัตลักษณ์อันโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมของจังหวัดลำปาง ก่อให้เกิดความเข้าใจในอัตลักษณ์ ตำนาน มรดก คุณค่าของวิถีวัฒนธรรมอันเป็นทุนทางวัฒนธรรมของจังหวัดลำปาง อีกทั้งเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่ได้นำเอาทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มาพัฒนาและขับเคลื่อนเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของจังหวัดลำปาง สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดลำปาง หลังจากวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid – 19) ผ่อนคลาย และเข้าสู่ภาวะปกติ ต่อไป

ในปีนี้ จังหวัดลำปางจัดงานภายใต้แนวความคิด “สุขก๋าย เย็นใจ๋ ปลอดภัยไร้  โควิด-19” เพื่อสืบสานประเพณีปีใหม่เมืองของชาวลำปาง โดยดำเนินการตาม มาตรการควบคุมโรคระบาดตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัดตลอดการจัดงาน และขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมงานปฎิบัติตามมาตรการ D – M – H – T – T คือ มีการเว้นระยะห่าง หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่น สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ คัดกรองและตรวจวัดอุณหภูมิ  ติดตั้งแอปพลิเคชั่นไทยชนะ


ภาพ/ข่าว  วิภาดา รายงาน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top