Sunday, 19 May 2024
Northern

ลำปาง - มทบ.32 พร้อมช่วยเหลือปชช. จัดกำลังพลสนับสนุนช่วยจัดตั้ง ร.พ.สนาม

“เมื่อได้รับการประสาน ทหารพร้อมนำกำลังมา ช่วยขจัดปัญหาที่มี ยิ่งในสถานการณ์โควิดแบบนี้  ค่ายสุรศักดิ์มนตรีช่วยทันทีทันใด” ตามที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นตามลำดับ โดย จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดหนึ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมในการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยเหล่านั้น ในการนี้ พลตรี อโณทัย ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ในการเตรียมการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนามมาอย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อ 22 กรกฎาคม 2564 เวลา 15.00 น. หน่วยได้รับการประสานจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ในการช่วยจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม ณ โรงพยาบาลลำปาง ได้จัดกำลังพลจิตอาสา 10 นาย ร่วมในการประกอบเตียงสนาม จำนวน 20 เตียง ก่อนหน้านี้หน่วยได้จัดกำลังพลและยานพาหนะเข้าให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ จังหวัดลำปาง มาแล้วทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง , โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารี และ โรงเรียนวังเหนือวิทยา

ทั้งนี้การให้การสนับสนุนหน่วยงานหรือช่วยเหลือประชาชนของหน่วยทหารในพื้นที่ จังหวัดลำปาง นั้น ทุกหน่วยพร้อมเข้าให้การสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ตามศักยภาพที่หน่วยมี เพื่อให้ชาวลำปางได้มั่นใจว่าทหารพร้อมเคียงข้างและช่วยเหลือประชาชนในทุกโอกาส  


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

ลำพูน - ร่วมส่งกำลังใจ "นักรบชุดขาว" จังหวัดลำพูน ชุดที่ 5 เพื่อเดินทางไปร่วมปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ โรงพยาบาลสนามบุษราคัม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

วันนี้(25 ก.ค. 64) ที่โรงพยาบาลลำพูน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นายแพทย์ สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ลำพูน , แพทย์หญิงภาวิณี เอี่ยมจันทน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำพูน , นางปนัดดา เนาวรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำพูน , หัวหน้าส่วนราชการจังหวัด , คณะผู้บริหารและบุคลากรทางการแพทย์  และเจ้าหน้าที่ฯ ร่วมส่งกำลังใจให้นักรบชุดขาว ชุดที่ 5 จำนวน 3 คน ประกอบด้วย

1. นางสาว จารุวรรณ คงภักดี พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ

2. นางสาว ธีราภรณ์ สุทธกุล พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ

3. นางสาว วรณัน ไชยพรหม พยาบาลวิชาชีพ

เพื่อเดินทางไปร่วมปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ โรงพยาบาลสนามบุษราคัม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 ถึง 8 สิงหาคม 2564

โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำพูน , นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำพูน , หัวหน้าส่วนราชการจังหวัด ผู้บริหารบุคลากรทางการแพทย์ ได้มอบกระเป๋าสัมภาระให้แก่คณะบุคลากรการแพทย์ (นักรบชุดขาว ชุดที่ 5) และพยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลลำพูน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมมอบดอกไม้ และของใช้ที่จำเป็น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่คณะอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  กรรณิการ์  วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดลำพูน

เชียงใหม่ - วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ มอบอาหารกล่องและน้ำดื่ม ในโครงการ “อาชีวะร่วมด้วยช่วยประชาชน FIX IT จิตอาสา” ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันจันทร์ ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ 2564 เวลา 10.30 น ที่หน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ นายสมบัติ นาหลวง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผู้บริหาร คณะครู บุคลากรทางการศึกษา และงานโครงการพิเศษและบริการชุมชน มอบอาหารกล่องและน้ำดื่ม หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ตามโครงการ "อาชีวะร่วมใจ ต้านภัยโควิด"

นายสมบัติ นาหลวง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ กล่าวว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ผู้ประสบภัยพิบัติจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสติดเชื้อโคโรน่า 2019 (Covid-19) จัดตั้งโรงครัวประกอบอาหารปรุงสุก ในโครงการ “อาชีวะร่วมด้วยช่วยประชาชน FIX IT จิตอาสา” ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์ดังกล่าว

โดยได้จัดทำอาหารกลางวันในรูปแบบอาหารกล่อง มอบให้กับโรงพยาบาลสันทราย โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ และแจกอาหารกลางวัน ในรูปแบบอาหารกล่องพร้อมน้ำดื่ม หน้ากากผ้าพร้อมด้วยเจลแอลกอฮอล์แบบหลอด ให้กับประชาชนบริเวณด้านหน้า บริเวณหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ตั้งแต่วันที่ 26 - 30 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.45 น. ถึง 12.00 น. หรือแจกตามจำนวนอาหาร  ขอเชิญผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสติดเชื้อโคโรน่า 2019 รับอาหารและน้ำดื่มได้ที่บริเวณหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ใส่Mask เว้นระยะห่าง Social Distancing ตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

ลำปาง - รองผู้ว่าฯ ลำปาง ตรวจติดตามการดำเนินงานป้องกันโรค COVID-19 พื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 ที่ จ.ลำปาง นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นำทีมตรวจเยี่ยมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ติดตามการดำเนินงานป้องกันโรค COVID-19 เข้าตรวจประเมินการปฏิบัติตามแผนมาตรการควบคุมโรคของจังหวัดลำปางโดยมีนายอดิศักดิ์  กิจเจริญธนารักษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 และนายมาโนช  ชูชาติวรรณกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องมาให้การต้อนรับ พร้อมทั้งบรรยายสรุปให้รายละเอียดข้อมูล ณ ห้องประชุมมุ่งงานเลิศ อาคารประชาสัมพันธ์แม่เมาะ กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

นายจำลักษ์ กล่าวว่า “จังหวัดลำปาง ได้ประกาศกำหนดให้หน่วยงานสถานประกอบการต่าง ๆ ผู้ที่มีผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนโดยเบื้องต้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมทีมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าทำการตรวจเยี่ยมประเมินผลการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อ COVID-19 สำหรับสถานประกอบการ(โรงงาน) หรือ Good Factory Practice (GFP) ของ กฟผ.แม่เมาะ ทั้งนี้เนื่องจากภายในสถานประกอบการโรงไฟฟ้ารวมถึงบริเวณพื้นที่เหมืองแม่เมาะ ถือเป็นสถานที่ประกอบการขนาดใหญ่ ที่แต่ละวันจะมีพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งของ กฟผ.แม่เมาะ และของบริษัทคู่สัญญา เข้าไปปฏิบัติหน้าที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ถ้าหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ก็อาจเกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างจนเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ของจังหวัดได้ ทั้งยังจะส่งผลต่อภารกิจหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศ”

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า “ในมาตรการปฏิบัตินั้น กฟผ.แม่เมาะ ได้มีการนำมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อ COVID-19 เข้ามาใช้อย่างเข้มข้น ภายใต้แผนปฏิบัติการ ZERO COVID โดยมีเป้าหมายกำหนดให้พื้นที่โรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะ ต้องเป็นเขตพื้นที่ปลอดเชื้อ COVID-19 ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนไทยต้องมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ทาง กฟผ. แม่เมาะ จึงได้สั่งการให้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ต้องกักตัวเองอยู่ภายในบริเวณพื้นที่ Safe Zone ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับในส่วนบุคลากรทั่วไปได้เน้นกำชับให้ทุกหน่วยทุกพื้นที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด

ส่วนในกรณีฉุกเฉินหากปรากฏว่ามีการตรวจพบพนักงานเจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด-19 ทาง กฟผ.แม่เมาะได้จัดทำพื้นที่ FAI หรือ Factory Accommodation Isolation ไว้จำนวน 2 แห่ง คือ ที่อาคารถิ่นเทเวศร์ ใช้สำหรับเป็นสถานที่พักคอยของผู้ป่วยสีเขียวจำนวน 16 ห้อง และที่อาคารอเนกประสงค์ห้วยคิง ได้ทำการจัดตั้งเป็น รพ.สนาม รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 60 เตียง ประกอบกับพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ก็ได้มีการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วเกินกว่าร้อยละ 90 จึงเชื่อมั่นได้ว่าพื้นที่โรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะ จะเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสูงสุด และจะไม่เป็นจุดแพร่ระบาดของเชื้อโควิดอย่างแน่นอน


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

เชียงใหม่ - เทศบาลนครเชียงใหม่ จัดกิจกรรมรณรงค์ “ล้างเมืองเชียงใหม่ สู้ภัยโควิด -19”

เทศบาลนครเชียงใหม่ จัดกิจกรรมล้างเมืองเชียงใหม่ สู้ภัยโควิด-19 ล้างถนนและทางเท้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดเมืองเชียงใหม่ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

วันที่ 2 สิงหาคม 2564 เวลา 20.00 น. ณ บริเวณข่วงประตูท่าแพ นายไทณ์ โรจน์รัตนจินดา รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ ล้างเมืองเชียงใหม่ สู้ภัยโควิด -19 เป็นการเดินหน้านโยบายของเทศบาลฯ ภายใต้หลักการ “สร้าง สาน เสริม” การสร้างใหม่ สานต่อ และเสริมพลังการพัฒนา ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้จัดให้มีการทำความสะอาดถนนและทางเท้าในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ทั้งสี่แขวงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้แก่ประชาชนชาวเชียงใหม่

การจัดกิจกรรมดังกล่าวในช่วงเวลากลางคืนเพื่อให้กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนน้อยที่สุด โดยมี นางบงกช ตุวานนท์ ประธานสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ นางสาวรัชนี ชมชื่น รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นายพิศุทธ์ พิศุทธกุล นางสาวพรผกา ตาระกา ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ หัวหน้าแขวงทั้งสี่แขวง เจ้าหน้าที่เทศบาล และประชาชนชาวเชียงใหม่ เข้าร่วมกิจกรรม


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

ลำปาง - พม.ลำปางจิตอาสาพระราชทาน 904 จับมือหลายหน่วยงานบรรเทาทุกข์อัคคีภัยผู้เฒ่า2 ตายายตำบลสบป้าดแม่เมาะ

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. นางจินจณา โอสถธนากร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง มอบหมายให้ นางวรรณวิไล กันเพ็ชร์ พร้อมด้วย นายอำเภอแม่เมาะ ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบอัคคีภัย นายสังเวียน ไชยยา บ้านเลขที่ 4/1 ม.1 ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมอบเครื่องอุปโภค-บริโภค ,ชุดเครื่องครัว และเงินสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 8,000 บาท พร้อมด้วย นายพนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ ,นางธนวรรณ ตุ้ยกาศ นายกกิ่งกาชาดอำเภอแม่เมาะ ,นายณรงค์ฤทธิ์  นุปิง ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดลำปาง (วิทยากรจิตอาสาพระราชทาน 904) ได้สนับสนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวรายได้น้อยคนไร้ที่พึ่งจำนวน 3,000 บาท พร้อมเครื่งอุปโภคบริโภค ,นายประทีป มูลเภา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง จำนวน 2,000 บาท และมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง จำนวน 12,000 บาท ณ อำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง


ภาพ/ข่าว  ปฏิญญา เรือนงาม รายงาน

แม่ฮ่องสอน - ผบ.ร.7 พัน.5 ช่วยเกษตรกรช่วงโควิดระบาด รับซื้อข้าวโพดหวาน แจกจ่ายกำลังพลและครอบครัว สร้างความสุขใจ- อิ่มท้อง

วันที่ 6 ส.ค.64 เวลา 09.00 น. พ.อ.สันติพงษ์ ชิงดวง ผบ.ร.7 พัน.5 ได้สั่งการให้ฝ่ายกิจการพลเรือน ดำเนินการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรเป็นข้าวโพดหวานพันธุ์ชูก้า จำนวน 100 กิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือเกษตกร บ้านทุ่งโป่ง ต.ทุ่งยาว อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัส (โควิด-19) โดยรับซื้อในราคาตลาด ซึ่งผลผลิตดังกล่าวที่รับซื้อทั้งหมดจะได้นำไปมอบให้แก่กำลังพลและครอบครัวไว้รับประทาน สร้างความสุขใจอิ่มท้อง และมีโภชนาการ รวมถึงเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจต่อไป

พ.อ.สันติพงษ์ ชิงดวง กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัส (โควิด-19) ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง  พืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ ไม่สามารถนำออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่ายได้ ถึงแม้ผลผลิตจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถระบายผลผลิตออกได้ทัน เนื่องจากการประกาศยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ห้ามการเดินทางข้ามพื้นที่ตอนกลางคืนซึ่งมีผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาปัญหาดังกล่าว ทางกองพันทหารราบที่ 5 กรมทหารราบที่ 7 จึงได้สั่งการให้กำลังพลได้ช่วยเหลือประชาชนโดยการรับซื้อผลผลิตเกษตรจากเกษตรกรผู้ปลูกถึงที่ โดยรับซื้อตามราคาตลาด และยินดีรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรตามศักยภาพของหน่วย โดยการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง และขอเป็นกำลังใจให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตโควิดนี้อย่างปลอดภัย

แม่ฮ่องสอน - “แอน ทองประสม” ดาราสาวสวยใจบุญ ช่วยเหลือราษฏรบ้านแม่แพน้อย เหมากะหล่ำปลีแจกจ่ายประชาชน ในโรงเรียน วัด และในพื้นที่ชายขอบ

"แอน ทองประสม"ดาราสาวใจบุญ ได้รับซื้อกะหล่ำปลีช่วยเหลือเกษตรกร บ้านแม่แพน้อย ต.กองก๋อย อ.สเบมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ  แจกจ่ายให้พี่น้องประชาชน โรงเรียนตามแนวชายขอบ วัด ตลอดจนหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดน รวม 6,900 กิโลกรัม โดยชาวบ้านได้มายืนต่อคิว นำถุงกระสอบปุ๋ยมาใส่กระหล่ำปลี คนละ 4-5 หัว ส่วนโรงเรียนที่ต้องนำไปเป็นอาการกลางวันเด็ก เลี้ยงเด็กพักนอน หรือวัด หน่วยงานต่าง ๆ ก็ได้นำรถกระบะมาใส่เฉลี่ยกันไป

เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจาก นางนงนุช  วิชชโลกา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่แพน้อย ซึ่งได้เป็นผู้ประสานงาน กับทาง คุณแอน ทองประสม ดาราสาวสวยใจดี  ในการรับซื้อกะหล่ำปลี จากราษฏรบ้านแม่แพน้อย ต.กองก๋อย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากตนเองรู้สึกสงสาร ชาวบ้านที่ปลูกกะหล่ำปลี แต่ราคาตกต่ำมาก ประสบสภาวะขาดทุน จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือ จากดารานักแสดงชื่อดัง ซึ่งคุณแอน ทองประสม ก็ได้ตกลงใจรับซื้อกะหล่ำปลีของราษฏรบ้านแม่แพน้อย จำนวน 3 คันรถ น้ำหนัก 6,900 กิโลกรัม ให้นำไปแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชนชาวอำเภอแม่สะเรียง และให้กับโรงเรียนในเขต อ.แม่สะเรียง อ.สบเมย และ อ.แม่ลาน้อย สังกัด สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 จำนวนหลายสิบแห่ง ที่เดินทางมารับกะหล่ำปลี เพื่อนำไปประกอบเป็นเมนูอาหารกลางวัน หรืออาหารเด็กพักนอน รวมไปถึงวัด หน่วยงานตามแนวชายแดนต่าง ๆ เป็นต้น

ซึ่งทุกคนต่างแห่ชื่นชมในความใจบุญของดาราสาวที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้ความลำบาก ทั้งเจ้าของกะหล่ำปลี และพี่น้องประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน ตกงาน ขาดรายได้ ให้มีกำลังแรงใจที่จะยืนหยัดและสู้ต่อไป โดยทุกคนฝากขอบคุณดาราสาว แอน ทองประสม ที่ได้ซื้อกะหล่ำปลีแจกจ่ายในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

เชียงใหม่ - ม.แม่โจ้ MOU ร่วมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ ปลูกกัญชงอินทรีย์-สร้างผลิตภัณฑ์ต่อยอดเชิงพาณิชย์-บันทึกข้อมูลระบบ Cloud เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกร

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ (Northern organic Hemp: NOH) ซึ่งประกอบไปด้วยวิสาหกิจชุมชนจากจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำพูน จำนวน 16  วิสาหกิจชุมชน ในโครงการปลูกกัญชงสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในภาคเหนือของประเทศไทย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและจัดทำเป็นฐานข้อมูลสะดวกใช้ในระบบ Cloud 

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ นายสุชาติ  อินต๊ะเขียว ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ เป็นผู้แทนลงนามทั้งสองฝ่าย โอกาสนี้ นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ปฏิบัติงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และ ดร.ธนสาร  ธรรมสอน ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวแสดงความยินดีและให้กำลังใจ (ผ่านระบบออนไลน์) แก่เกษตรกรในเครือข่ายที่ได้ร่วมโครงการกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้  ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารของทางสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยายาน ณ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้

โครงการปลูกกัญชงสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในภาคเหนือของประเทศไทย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและจัดทำเป็นฐานข้อมูลสะดวกใช้ในระบบ Cloud  เป็นโครงการที่ทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการขอรับอนุญาตผลิต (ปลูก)กัญชง ผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชงและนำผลผลิตและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์  โดยร่วมกันสนับสนุนองค์ความรู้ และนวัตกรรมในเกษตรกรเพาะปลูกกัญชงระบบเกษตรอินทรีย์  ร่วมกันทดลองสายพันธุ์กัญชงที่มีเสถียรภาพ ผลผลิตต่อไร่สูง ให้สารสำคัญ CBD สูง มี THC ต่ำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของภาคเหนือ และยังดำเนินการรวบรวมและพัฒนาข้อมูลการปลูกกัญชงอินทรีย์ทั้งกระบวนการ แล้วจัดเก็บฐานข้อมูลในระบบคลาวด์ เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานและเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกร และประชาชนที่สนใจต่อไปในอนาคต  

ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันแต่งตั้งคณะทำงานและนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาและมอบหมายให้ผู้แทนของแต่ละฝ่ายได้ตกลงกันในรายละเอียดภายใต้วัตถุประสงค์และขอบเขตความร่วมมือ หน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กำหนด โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี


ภาพ/ข่าว  วิภาดา

เชียงราย – วอนเร่งรัดกระบวนให้สัญชาติผู้เฒ่า เสียชีวิตก่อนได้บัตรประชาชนแล้ว 2 “ครูแดง” เผยอยู่ไทยมานานกว่า 40 ปี สร้างคุณประโยชน์มากมาย ยุคโควิดยิ่งลำบากไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐ

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ กรณีแปลงสัญชาติชนกลุ่มน้อย ผู้สูงอายุชาติพันธุ์อาข่า บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการของกรมการปกครองแล้ว จำนวน 15 ราย และได้ส่งรายชื่อไปยังคณะกรรมการของกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณา และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ซึ่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พศ.2508 ระบุว่าเมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรอนุญาตให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต 

นางเตือนใจกล่าวว่า ผู้เฒ่าไร้สัญชาติจำนวน 15 รายนี้ อยู่ในกลุ่มที่มีการยื่นคำร้องเป็นกรณีศึกษาชุดแรก จำนวน 23 ราย ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามหนังสือสั่งการที่ลงนามโดยปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายฉัตรชัย พรมเลิศ) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่องการปรับปรุงแนวทางประกอบการพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่ชนกลุ่มน้อย โดยการแปลงสัญชาติตามมาตรา10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 

“สำหรับความคืบหน้าในครั้งนี้ ถือว่ามาไกล นับตั้งแต่มีการขับเคลื่อนแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งมีความละเอียดและขั้นตอนที่ซับซ้อน ใช้เวลายาวนาน ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 40 ปี กลมกลืนกับสังคมไทย และมีลูกหลานเป็นคนสัญชาติไทย ที่สำคัญคือเป็นกลุ่มที่ได้ทำคุณประโยชน์ ใช้ภูมิปัญญาในการรักษาป่าต้นน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูและปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 5,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พศ.2538 จนเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติที่สำนักทะเบียนอำเภอ  และส่งเข้าสู่คณะกรรมการระดับจังหวัด ในกลุ่มนี้มีผู้เฒ่าเสียชีวิตไปแล้ว  2 ราย และบางรายกำลังป่วยหนัก หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับงานแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ตามที่อธิบดีกรมการปกครอง (นายธนาคม จงจิระ) กำหนดเป็น 1 ใน 10 เป้าหมายหลัก จะต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบ พัฒนากลไก บุคคลากร และทรัพยากร ของสำนักทะเบียนจากระดับอำเภอ จังหวัด ถึงระดับกรม เพื่อให้คำมั่นทั้ง 7 ข้อในการแก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่ผู้แทนรัฐไทยได้แถลงในที่ประชุมผู้บริหารผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ณ นครเจนีวา ตามมติคณะรัฐมนตรี 1 ตุลาคม 2562 บรรลุเป้าหมายได้จริง โดยเฉพาะข้อ 5 การแก้ปัญหาผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด” นางเตือนใจ กล่าว

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ พชภ.กล่าวว่า สำหรับผู้เฒ่าไร้สัญชาติ การล่าช้าหมายถึงเวลาในชีวิตที่หมดไปทุกวัน เสียโอกาสในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 พบว่าผู้เฒ่าไร้สัญชาติไม่สามารถเข้าถึงการชดเชยเยียวยาใดๆ ทั้งๆ ที่ท่านเป็นบุพการีของคนสัญชาติไทย โดยข้อมูลของกรมการปกครองระบุว่ามีจำนวนผู้เฒ่าไร้สัญชาติมากถึง 77,000 กว่ารายทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ หนังสือสั่งการของปลัดกระทรวงมหาดไทยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งว่า สำหรับผู้ขอแปลงสัญชาติที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คุณสมบัติเรื่องการมีความประพฤติดี ให้ยกเว้นการตรวจสอบพฤติการณ์ทางการเมือง ฯลฯ โดยใช้การสอบพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือไม่น้อยกว่า 3 คน คุณสมบัติเรื่องการมีอาชีพเป็นหลักฐาน ให้พิจารณาจากอาชีพที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มอาชีพ หรืออาชีพส่วนบุคคล โดยให้นายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขตท้องที่ เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการประกอบอาชีพ และยกเว้นเกณฑ์รายได้  คุณสมบัติเรื่องการมีความรู้ภาษาไทย ให้พิจารณาการใช้ภาษาไทยกลาง หรือภาษาถิ่นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนา และว่าการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขอให้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับเร่งรัดดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาด้านสัญชาติให้แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายและนโยบายของรัฐและห้ามมิให้มีการแสวงหาหรือเรียกรับผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนใด ๆ 

นายอาทู่ เบียงแลกู่ อายุ 72 ปี และนางพิซุง เบียงแลกู่ อายุ 73 ปีคู่สามีภรรยา กล่าวว่าพวกตนอยู่ประเทศไทยมา 45 ปี แต่ยังไม่มีบัตรประชาชน ที่อยากได้เพราะต้องการสิทธิในการรักษาพยาบาล เพราะหากไม่มีบัตรต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง “ไม่รู้หรอกว่าหากได้บัตรประชาชนแล้วจะได้สวัสดิการอะไรบ้าง ไม่รู้ด้วยว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลฟรี เพราะไม่เคยป่วย แต่อยากได้บัตรประชาชนไทย เพราะเป็นความภูมิใจในชีวิตที่อยู่บนแผ่นดินไทยมายาวนาน และจะได้นอนตายตาหลับ” พ่อเฒ่าแม่เฒ่าไร้สัญชาติ กล่าว

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ มูลนิธิพชภ. ได้รับการร้องเรียนและติดตามปัญหาของชาวบ้านบนพื้นที่สูงโดยเฉพาะบนดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งพบว่ามีผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กำลังประสบความยากลำบากในชีวิตเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนแม้ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน 40-50 ปี บางส่วนเกิดในไทยแต่ขาดหลักฐานเอกสารยืนยัน บางส่วนไม่ได้เกิดในไทยแต่อยู่มานานจนกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พชภ.ได้พาผู้เฒ่าไร้สัญชาติเหล่านี้เดินทางมายื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย แต่พบว่ามีข้อติดขัดหลายประการ โดยเฉพาะกระบวนการที่ซับซ้อน ทำให้เรื่องการแปลงสัญชาติของผู้เฒ่ากลุ่มนี้ยืดเยื้อมานาน อย่างกรณีของบ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง บนดอยแม่สลอง ซึ่งมีคนเฒ่าไร้สัญชาติ ยื่นคำร้องจำนวน 27 ราย ซึ่งมีอายุตั้งแต่อายุ 65-98 ปี แต่กระบวนการที่ล่าช้า ทำให้มีผู้เฒ่าเสียชีวิตไปแล้วในระหว่างรอจำนวน 3-4 ราย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top