Thursday, 4 July 2024
NewsFeed

‘เกาหลีใต้’ ปัดข้อเรียกร้องผ่อนผัน K-ETA ‘ไทย’ แม้ยอดนทท.ไทยลดลง หลังพบประชากรแฝงชาวไทยเพิ่มขึ้นสามเท่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

(25 มิ.ย.67) หนังสือพิมพ์ The Korea Herald ของเกาหลีใต้ รายงานข่าว S. Korea unlikely to grant temporary K-ETA exemption to Thailand ระบุว่า จากกรณีที่กระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ เรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ ผ่อนผันประเทศไทยไม่ต้องเข้าระบบการขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศ หรือ K-ETA อย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2567 เนื่องจากพบจำนวนท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาเกาหลีใต้ลดลง 

ล่าสุด กระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้ดูแลระบบ K-ETA ได้ออกแถลงการณ์ ยืนยันว่า เป็นการยากที่จะดำเนินการผ่อนผันดังกล่าว

“เราจำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้ข้อยกเว้น K-ETA สำหรับประเทศต้นทางที่มีผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารจำนวนมาก K-ETA เป็นระบบที่ถูกนำมาใช้หลังจากตระหนักว่า มีข้อจำกัดในการควบคุมการเข้าเมืองและป้องกันการอยู่อาศัยอย่างผิดกฎหมายตามนโยบายวีซ่าของประเทศเท่านั้น” แถลงการณ์ของกระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ ระบุ

แถลงการณ์ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนข้อร้องเรียนจากนักเดินทางชาวไทยว่าแผนการเยือนเกาหลีใต้ถูกยกเลิกเนื่องจากการปฏิเสธการเข้าประเทศผ่าน K-ETA กรณีของบางครอบครัวและนักท่องเที่ยวกลุ่ม (ที่ไม่สามารถเข้าเกาหลีได้) เนื่องจากการปฏิเสธ K-ETA ถูกพบเห็นในช่วงแรกของการดำเนินการ ทั้งนี้ ระบบ K-ETA มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะไม่ขัดขวางความต้องการของนักเดินทางที่เดินทางมายังเกาหลีใต้

รายงานของสื่อเกาหลีใต้ กล่าวต่อไปว่า K-ETA ซึ่งเปิดตัวเต็มรูปแบบในเดือน ก.ย. 2564 กำหนดให้นักเดินทางจากประเทศที่ได้รับยกเว้นการทำวีซ่า ต้องได้รับอนุญาตก่อนเข้าเกาหลีใต้ เพื่อปรับปรุงการตรวจสอบนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พร้อมทั้งสกัดกั้นบุคคลที่จะเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งในขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมฯ ของเกาหลีใต้ คาดหวังว่าจะมีชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยว 20 ล้านคนในปี 2567 

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์บางคนชี้ว่า การคัดกรองด้วยระบบ K-ETA ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ ซึ่งถือว่ายากเมื่อเทียบกับระบบอนุญาตการเดินทางทำนองเดียวกันในประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นและจีน

ข้อมูลล่าสุดที่รวบรวมโดยองค์การการท่องเที่ยวเกาหลีเผยว่า เกาหลีใต้มีนักท่องเที่ยวชาวไทยราว 119,000 คนในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ลดลงร้อยละ 21.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ข้อมูลเดียวกันนี้แสดงให้เห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 87 เมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วงเวลาที่อ้างถึง ซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ในทางกลับกัน ข้อมูลจากรัฐบาลเกาหลีใต้ พบว่า ประชากรแฝงชาวไทยในเกาหลีใต้ได้เพิ่มขึ้นสามเท่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในชาติที่มีประชากรแฝงอยู่ในเกาหลีใต้มากที่สุด

ทรภ.1 จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่และเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ

วันที่ 25 มิถุนายน 2567 ทัพเรือภาคที่ 1 (ทรภ.1) จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่และการเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ณ โรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ อ.บางสะพาน จว.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นาวาเอก กฤษดา จิระไตรพร รองเสนาธิการ ทัพเรือภาคที่ 1 เป็นประธานในพิธี สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน ให้สามารถร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายชาวประมง ผู้นำชุมชน โรงเรียน และประชาชนในพื้นที่ทุกภาคส่วน โดยกิจกรรมประกอบด้วย การพัฒนาโรงเรียน การปรับปรุงภูมิทัศน์ การส่งมอบป้ายธนาคารปู การปล่อยพันธ์ุปูที่เพาะพันธุ์ได้จากธนาคารปู การมอบอุปกรณ์สำหรับทาสี ผ้าห่ม และหน้ากากอนามัย รวมทั้ง การเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและบกพร่องทางสติปัญญา อีกด้วย

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน 0909535645

ตอบอีกครั้ง!! เหตุผลที่ผู้ผลิต 'แอนิเมชัน 2475' ไม่นำเข้าโรงหนัง 'ปล่อยชมฟรี-สร้างความเข้าใจ' เหตุการณ์จริงช่วง 2475 แค่นี้พอ

(25 มิ.ย. 67) จากเพจ '2475 Dawn of Revolution' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

“เมื่อต้นเดือน มีการสอบถามว่าทำไมเราไม่กล้าเอาหนังเข้าโรง จะได้รู้ว่าแอนิเมชันมันดังจริงมั้ย คนจะยอมเสียเงินมาดูสักกี่คน ผมก็ได้ทำโพสต์อธิบายไปแล้วว่า การเอาหนังเข้าโรงมันไม่ใช่ง่าย ๆ ซึ่งพวกเรามองแค่การฉายเป็นรอบพิเศษตามโอกาสต่าง ๆ เมื่อทาง รทสช. เห็นเข้า ก็ติดต่อมาขอจัดรอบพิเศษ ซึ่งเราก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะมอบประสบการณ์ฉายโรงให้กับผู้ที่สนใจรับชม”

“แต่หลังจากเราประกาศฉายรอบพิเศษในโรงไป ก็ยังมีการถามมาอีกว่าทำไมไม่เอาเข้าโปรแกรมตามปกติ เพื่อแข่งขันกับหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้”

“ผมขอเรียนอย่างนี้ครับว่า…”

“แอนิเมชันนี้เป็นงานประวัติศาสตร์ เป้าหมายคือ เน้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ 2475 ดังนั้น เราจึงเลือกที่จะฉายออนไลน์ให้ชมฟรีทางยูทูบ เพื่อให้คนดูเข้าถึงง่าย ไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูในโรงภาพยนตร์”

“การเข้าโรงภาพยนตร์ ไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่ายที่ต้องให้ผู้จัดจำหน่าย ค่าประกันโรง และ ยังมีค่าโปรโมท อื่น ๆอีกมากมาย ทางคนดูเองก็ต้องเสียเงินมาดู และทางเราไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะเอามาทำอะไรแบบนี้” 

“และต่อให้เราฉายโรง ได้รายได้ 1 ล้าน ก็เท่ากับตั๋วหนังประมาณ 5พันใบ หรือมีคนดูเพียง 5 พันคนเท่านั้น  (และยังต้องแบ่งรายได้ครึ่งนึงให้โรงหนังอีกนะครับ)” 

“เมื่อเทียบกับ การฉายยูทูบ ที่มีคนดูวันแรก 1.2 แสน เพราะมันเข้าถึงง่ายกว่า เราจึงมองว่า ถ้าจุดประสงค์ของเราคือต้องการให้เข้าถึงคนมาก ๆ ยูทูบจึงเหมาะสมที่สุดครับ” 

“ตอนนี้ก็เริ่มมีถามมาอีกว่าทำไมไม่เอาเข้า Netflix  ทำไมไม่เข้า Prime ไม่เข้า Disney เรื่องสตรีมมิ่งเคยคุยไว้แล้วครับ เขาบอกว่า หนังเราลงยูทูบให้ดูฟรีไปแล้ว เขาคงไม่รับ (แม้เราจะยืนยันว่าให้ลงฟรีๆ ก็ได้ แค่อยากเพิ่มช่องทางการรับชม)”

“เมื่อเราตัดสินใจไปแล้วว่า ลงยูทูบให้ดูฟรี ก็ต้องตามนั้นครับ เราคงไม่ไปลบออกเพื่อหวังจะลง Netflix”

“ในส่วนของโรงภาพยนตร์ เมื่อวานผมก็ตอบไปหลายท่านว่า ผมไม่เอาแอนิเมชันเข้าโปรแกรมฉายตามปกติครับ เพราะมันไม่คุ้มค่าเท่าไหร่ สมมติว่า ถ้าผมต้องจ่ายเงินประกันค่าโรง 2 ล้าน แล้วสุดท้ายคนมาโหรงเหรง ผมว่าผมเอา 2 ล้านนั้น มาจัดรอบพิเศษ สัก 30-40 รอบ ทั่วประเทศ น่าจะดีกว่าครับ”

“ถ้าจังหวัดไหนอยากดูในโรงภาพยนตร์จริง ๆ ลองรวมตัวกันส่งเสียงดัง ๆ ถ้ามีคนเรียกร้องมาก ๆ ก็อาจจะหาทางจัดที่นั่นได้ครับ ผมเชื่อว่า ถ้ามีคนจำนวนมากต้องการ เราสามารถหาทางจัดอีเวนต์ได้ครับ รวมกันไปดูเป็นรอบพิเศษ แบบนี้สนุกกว่าเยอะ”  

“แอนิเมชันของเราก็มีความเฉพาะตัวของเรา ไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันกับหนังเรื่องไหนหรอกครับ เพราะมันคนละแนวทาง คนละเป้าหมาย สิ่งที่ได้มันต่างกัน และผมมั่นใจว่า แอนิเมชันของเรา ผลิตมาเพื่อให้ใช้เรียนรู้ในระยะยาว ที่จะอยู่กับชาติไทยไปเป็นสิบปี เป็นร้อยปีครับ (ซึ่งมีการติดต่อมาเพื่อขอบรรจุแอนิเมชันเป็นหนังอนุรักษ์แล้วครับ)” 

“และยังไม่หมดแค่นี้ ยังมีวิธีต่อยอดอีกมากมายครับ ซึ่งกำลังคุยกันอยู่ บางส่วนขออุบไว้ก่อนนะ เชื่อว่าเป็นสิ่งดี ๆ ที่ทุกท่านจะต้องชื่นใจครับ” 

“เพิ่มเติม เรื่องการประกวดเอารางวัลอะไรนั่น ผมเรียนตรง ๆ นะครับ ตอนที่พวกผมกำลังตัดสินใจว่าจะเผยแพร่ในช่องทางไหน มีคนถามผมว่า ‘อยากได้เงินหรือกล่อง’ ด้วยความสัตย์จริง ผมตอบไปว่า ‘ผมแค่ทำงานนี้ออกมาแล้วอยากให้มันทำประโยชน์ได้’ นั่นล่ะครับ จึงได้ข้อสรุปว่า Youtube” 

“ขอบคุณครับ”

‘จีน’ จ่อสนับสนุน 'อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ฯ' ขับเคลื่อนด้วย ‘AI’ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ด้าน ‘การสื่อสาร-กีฬา-สุขภาพ-ชำระเงิน’

(25 มิ.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เผยว่าจีนจะสนับสนุนการบริโภคอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไฮเทครุ่นใหม่ เช่น อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ และหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

คณะกรรมการฯ จะทำงานเพื่อผลักดันการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-คอมพิวเตอร์ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาหลายเทคโนโลยี เช่น จอแสดงผลที่ยืดหยุ่น ซูเปอร์ชาร์จ ผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ และโมเดลขนาดใหญ่บนอุปกรณ์ อีกทั้งจะสนับสนุนการใช้งานอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะในด้านต่าง ๆ เช่น การสื่อสาร ความบันเทิง กีฬา การติดตามสุขภาพ และการชำระเงินผ่านมือถือ

จีนมีแผนสำรวจการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์โดยใช้โมเดลปัญญาประดิษฐ์ และขยายขอบเขตการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะในการทำความสะอาด การพักผ่อนหย่อนใจและสันทนาการ การดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการ ตลอดจนการศึกษาและการฝึกอบรม

ขณะเดียวกัน จีนจะส่งเสริมโมเดลการผลิตใหม่ ๆ เช่น การปรับแต่งตามความต้องการลูกค้าแบบย้อนกลับ (reverse customization) การออกแบบแบบเฉพาะบุคคล และการผลิตที่ยืดหยุ่น รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อเพิ่มการรับรู้ของผู้บริโภคและการเจาะตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ

‘ยานฉางเอ๋อ-6’ กลับถึงโลก พร้อมชิ้นส่วน ‘หิน-ดิน’ จากอีกฟาก ‘ดวงจันทร์’ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ หลังใช้เวลา 53 วันปฏิบัติภารกิจ 

(25 มิ.ย.67) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 ของจีน ได้กลับมาถึงโลกโดยลงจอดในเขตมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน พร้อมตัวอย่างหินและดินจากอีกฟากหนึ่งของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน จึงถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่มีการเก็บตัวอย่างหินและดินมาจากด้านไกลของดวงจันทร์

จาง เค่อเจี้ยน ผู้อำนวยการองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน แถลงข่าวทางสถานีโทรทัศน์หลังการลงจอดของยานฉางเอ๋อ-6 เพียงไม่นานว่า “ผมขอประกาศว่าภารกิจสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-6 ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แล้ว”

ด้านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้ส่งข้อความแสดงความยินดีกับทีมนักบินอวกาศของฉางเอ๋อ โดยกล่าวว่านี่คือ “ความสำเร็จครั้งสำคัญในความพยายามของประเทศของจีน ที่จะเป็นมหาอำนาจในด้านเทคโนโลยีและอวกาศ”

ทั้งนี้ด้านใกล้ของดวงจันทร์คือสิ่งที่มองเห็นได้จากโลก ในขณะที่ด้านไกลของดวงจันทร์หันไปทางอวกาศ โดยเป็นที่ทราบกันว่าด้านไกลมีภูเขาและหลุมอุกกาบาต ตรงกันข้ามกับพื้นที่ราบที่มองเห็นได้จากด้านใกล้

ในขณะที่ในอดีต สหรัฐและสหภาพโซเวียตต่างเก็บตัวอย่างมาจากด้านใกล้ของดวงจันทร์ จึงถือว่าภารกิจของจีนเป็นภารกิจแรกที่เก็บตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์

โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนคาดว่าตัวอย่างที่นำกลับมาจากดวงจันทร์ จะรวมถึงหินภูเขาไฟอายุ 2.5 ล้านปี และวัสดุอื่นๆ ที่นักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับความแตกต่างทางภูมิศาสตร์บนสองด้านของดวงจันทร์

ซงยู เยว่ นักธรณีวิทยาจากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน ระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ใน Innovation Monday ซึ่งเป็นวารสารที่ตีพิมพ์ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์จีนว่า “คาดว่ากลุ่มตัวอย่างที่เก็บมาจะตอบคำถามทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่สุดข้อหนึ่งในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของดวงจันทร์ นั่นคือปฏิกริยาทางธรณีวิทยาประเภทใดที่ส่งผลต่อความแตกต่างระหว่างทั้งสองด้านของดวงจันทร์”

ทั้งนี้ จีนยังหวังว่ายานสำรวจจะกลับมาพร้อมกับวัสดุที่มีร่องรอยอุกกาบาตพุ่งชนจากดวงจันทร์ในอดีต เมื่อยานฉางเอ๋อ-6 กลับมาถึงอย่างปลอดภัย นักวิทยาศาสตร์จะเริ่มศึกษาตัวอย่างเหล่านั้น

ยานสำรวจฉางเอ๋อ 6 ออกจากโลกเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา และ ใช้เวลาเดินทาง 53 วันในปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยยานสำรวจสัญชาติจีนได้เจาะเข้าไปในแกนกลางของดวงจันทร์ และตักหินออกจากพื้นผิวของดวงจันทร์กลับมา

โครงการสำรวจดวงจันทร์เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งยังคงเป็นผู้นำด้านการสำรวจอวกาศ รวมไปถึงประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นและอินเดีย โดยจีนได้ส่งสถานีอวกาศของตนเองขึ้นสู่วงโคจรและส่งลูกเรือไปที่นั่นเป็นประจำ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จีนมีภารกิจไปยังดวงจันทร์ที่ประสบความสำเร็จหลายครั้ง รวมถึงการเก็บตัวอย่างจากด้านใกล้ของดวงจันทร์ด้วยยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 ก่อนหน้านี้

'ชาวจีน' หนี 'สิงคโปร์' มาเที่ยวไทย เหตุเพราะ 'ความแพง' และมีแต่ตึก

เมื่อวานนี้ (25 มิ.ย.67) เว็บไซต์ Mothership สื่อของสิงคโปร์ได้รายงานถึงการที่นักท่องเที่ยวจีนเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวในไทยและญี่ปุ่นมากกว่าสิงคโปร์ โดยให้เหตุผลหลัก ๆ ว่า ค่าใช้จ่ายในสิงคโปร์สูงเกินไปและมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น้อยเมื่อเทียบกับไทยและญี่ปุ่น

ชาวสิงคโปร์หลายคนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยบอกว่าค่าใช้จ่ายในสิงคโปร์แพงมาก เช่น การกินข้าวแกงที่มีราคา 21 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อจาน ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินไปสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป 

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นว่าสิงคโปร์มีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกไม่สะดวกสบาย

หนึ่งในชาวสิงคโปร์ได้กล่าวว่า “สิงคโปร์มีข้อจำกัดที่โง่เขลามากเกินไป มีสิ่งที่ไม่อนุญาตเป็นจำนวนมาก สิงคโปร์เหมือนกับหุ่นยนต์ที่เดินไปเดินมาเพื่อหาเลี้ยงชีพ อย่ามาสิงคโปร์เลย ไปประเทศไทยเถอะ!”

จากความคิดเห็นนี้สะท้อนให้เห็นว่าชาวสิงคโปร์เองก็รู้สึกไม่พอใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเห็นว่าการเดินทางไปเที่ยวในประเทศไทยเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากไทยมีค่าครองชีพที่ถูกกว่า และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายและน่าสนใจมากกว่า

การที่นักท่องเที่ยวจีนหนีจากสิงคโปร์ไปเที่ยวไทยแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการดึงดูดนักท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งมีทั้งความเป็นธรรมชาติ วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และอาหารที่อร่อยและราคาไม่แพง

เหตุการณ์นี้ยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่สิงคโปร์ต้องเผชิญในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านการท่องเที่ยว ถ้าสิงคโปร์ต้องการที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น อาจจำเป็นต้องพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อให้มีความหลากหลายและน่าสนใจมากขึ้น

'ดร.สุวินัย' ออกบทความ 'ปลายทาง' ของนักปฏิกษัตริย์นิยมคืออะไร? พร้อมจุดจบผู้ตกกระไดพลอยโจน ที่โดนหลอกให้เชื่อเรื่องสถาบันฯ ผิดๆ

(26 มิ.ย. 67) รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'ปลายทางของนักปฏิกษัตริย์นิยมคืออะไร?' จากกรณีนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน จำเลยคดี 112 ไม่เดินทางไปฟังคำพิพากษาและถูกหมายจับ โดยมีเนื้อหา ดังนี้…

ปลายทางของนักปฏิกษัตริย์นิยมคืออะไร?

ตัวเองต้องตอบคำถามนี้ให้ชัดแจ้งให้ได้ก่อนที่จะริเป็นนักปฏิกษัตริย์นิยมในประเทศนี้

เพราะสุดท้ายแล้ว ปัจเจกต้องรับผิดชอบชีวิตของตนเองให้ได้ในทุกการตัดสินใจของตัวเองว่าจะเลือกเป็น ‘นัก…’ อะไร

ถ้าจับพลัดจับผลูกลายมาเป็น ‘นักปฏิกษัตริย์นิยม’ แบบตกกระไดพลอยโจน เพราะโดนหลอกให้เชื่อเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างผิด ๆ ด้วยข้อมูลที่บิดเบือน ยกตัวอย่างเช่น...

ทำทีเป็นตั้งคำถามลอย ๆ แซะ ๆ แบบว่า ‘ตระกูลไหนเนรคุณพระเจ้าตากสินหว่า? ’

ชุดคำตอบที่จริงและตรงตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ (จากเพจ ฤๅ - Lue History) คือ

(1) พระเจ้าตากกับรัชกาลที่ 1 ไม่ได้เป็นเพื่อนกัน

คนที่บอกว่าเป็นเพื่อนกัน สามเกลอ จีน ไทย แขก น่าจะอ่านมาจากนิยายของ กศร. กุหลาบ ที่เขียนเรื่องอภินิหารบรรพบุรุษเอาไว้สมัย ร.5

ตอนนี้ความจริงเปิดเผยออกมาหมดแล้ว มีแต่พวกฟังนิทานมาเท่านั้นที่จะพูดแบบนี้

(2) คนก่อกบฏ คือ พระยาสรรค์กับเจ้ารามลักษณ์ หลานของพระเจ้าตาก ตอนนั้นรัชกาลที่ 1 อยู่เขมร

(3) พระยาสรรค์ปลดพระเจ้าตากออกจากกษัตริย์ แล้วบังคับให้ไปบวช ในเวลานั้นพระยาสรรค์คือรัฏฐาธิปัตย์ ที่ยังไม่ได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์

(4) เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับมา พระยาสรรค์กลัวเลยไปกราบบังคมทูลเชิญพระเจ้าตากกลับมาเพื่อต่อสู้ แต่พระองค์ปฏิเสธ แปลว่าพระยาสรรค์ยังคงเป็นรัฏฐาธิปัตย์อยู่

(5) พระยาสรรค์ยอมแพ้ พระเจ้าตากบวชไม่ยอมสึก ไม่มีรัฏฐาธิปัตย์ ขุนนาง อำมาตย์ เลยกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เริ่มต้นราชวงศ์จักรี

(6) ส่วนเรื่องการชำระโทษนั้น มีรายละเอียดและเหตุผลที่รัชกาลที่ 1 ต้องทำตามบริบททางประวัติศาสตร์ในยุคนั้น

นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็ก ๆ ตัวอย่างเดียวเท่านั้น ที่สะท้อนความเป็นจริงว่า ...

- มีขบวนการปฏิกษัตริย์นิยมดำรงอยู่ในประเทศนี้จริง

- มีกระบวนการจัดตั้ง - ผลิตซ้ำความคิดปฏิกษัตริย์นิยมผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ จริง

- มีขบวนการบิดเบือนใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์จริงผ่าน "การเมืองแห่งเรื่องเล่า" ที่สร้างเรื่องเล่าในอดีตเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างจงใจแหกตาผู้คนที่เสพสื่อรูปแบบต่าง ๆ จริง

- มีกลุ่มปัญญาชนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ฝักใฝ่ในความคิดปฏิกษัตริย์นิยมจริง

- รวมทั้งมีนักการเมืองและพรรคการเมืองที่เป็นพรรคปฏิกษัตริย์นิยมดำรงอยู่จริง แถมเป็นพรรคใหญ่ด้วย

ทีนี้ เราขอถามกลับพวกปฏิกษัตริย์นิยมบ้างว่า

"ตระกูลไหนเนรคุณในหลวงในสมัย ร.7, ร.8, ร.9 และ ร.10? "

ยุคนี้สามารถค้นหาคำตอบได้ไม่ยากเช่นกัน ขอเพียงผู้นั้น คิดเป็น-วิเคราะห์เป็น-แยกแยะเป็น ได้เท่านั้น

ปลายทางของนักปฏิกษัตริย์นิยมคืออะไร?

คนที่ค้นพบตัวตนแล้วและตระหนักว่า...ตัวเองอยากเป็น ‘นักปฏิกษัตริย์นิยม’ จริง ๆ อย่างยอมอุทิศชีวิตของตนให้ และยึดเอาการกระทำแบบปฏิกษัตริย์นิยม เป็นความสำคัญสูงสุดของชีวิตตน ...ก็จงเป็นนักปฏิกษัตริย์นิยมต่อไปเถิด สักวันอาจมีชื่ออยู่ในตำราประวัติศาสตร์ไทยก็เป็นได้ ถ้าเจ้าตัวมีบทบาททางประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นพอ

แต่ถ้าเจ้าตัวยังมิได้ค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตน เพียงแค่หลงในกระแสที่ถูกสื่อเสี้ยมสื่อปั่นแค่ช่วงหนึ่งของชีวิตที่ฮอร์โมนพลุกพล่านจน ‘พร้อมบวกพร้อมปะทะกับอำนาจรัฐพันลึก’

ขอให้ตั้งสติ คิดให้ดีเถิด

ทุก ๆ การกระทำของเรา ล้วนมีผลตามมาที่ตัวเราต้องรับผิดชอบทั้งนั้น

ตอนนี้รู้แล้วรึยังว่าปลายทางของนักปฏิกษัตริย์นิยมคืออะไร?

ใครใฝ่ฝันจะเป็นนักปฏิกษัตริย์นิยมในประเทศนี้ ผมไม่ห้ามนะ แต่เจ้าตัวต้องยอมรับผลที่ตามมา รวมทั้งควรต้อง ‘รู้ทันความคิดปฏิกษัตริย์นิยม’ ก่อนที่จะสมาทานลัทธินี้ใส่สมอง ใส่จิตวิญญาณของตัวเอง

ด้วยความปรารถนาดี

'กรณ์' เฉลย!! ไทยไปต่อยังไง ในวันที่ภาคอุตสาหกรรมหลักเริ่มถดถอย แนะ!! ถึงเวลาลงทุนพัฒนาความรู้ความสามารถของคนไทยอย่างจริงจัง

(26 มิ.ย. 67) กรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยระบุว่า…

คุณผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดว่า ไทยเราจะสามารถพัฒนาเป็นประเทศที่รํ่ารวยด้วยการเน้นธุรกิจบริการได้หรือไม่?

คำถามนี้ผมว่าสำคัญ เพราะอย่างที่ Lee Kuan Yew เคยปรารภไว้ว่า ‘ไม่เคยมีประเทศไหนรํ่ารวยได้โดยไม่เป็นประเทศอุตสาหกรรม’

ไทยเราก็เหมือนกัน รายได้ต่อหัวประชากรไทยเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 10 ปีในยุค ‘โชติช่วงชัชวาล’ ที่มีต่างชาติลงทุนในภาคอุตสาหกรรมไทยมากมาย

แต่วันนี้ประเทศที่กำลังโตด้วย play book เดิมของเราคือเวียดนาม ส่วนเรากำลังถดถอยในแทบทุกอุตสาหกรรมหลัก (เช่น ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์)

สาเหตุที่ถดถอยเพราะเราขาด key components ที่จะแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นคน (ทั้งปริมาณและคุณภาพ) สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ วัตถุดิบ และเทคโนโลยี

แต่ดีที่เรายังมี อุตสาหกรรมบริการ โดยเฉพาะท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะแตกขยายเพิ่มเติมไปสู่ การบริการทางการแพทย์ การเสริมสวย หรือการดูแลผู้สูงวัย

ที่ท้าทายคือ ‘การส่งออกบริการ’ ยังยากกว่าการ ‘ส่งออกสินค้า’ และนี่คือส่วนหนึ่งของความยากในการสร้างความมั่งคั่งด้วยธุรกิจบริการ

บริการส่วนใหญ่ที่เราขายต่างชาติได้คือบริการที่ลูกค้าต้องบินมาหาเรา

หากเราดูอินเดียหรือฟิลิปปินส์ เขาส่งออกบริการผ่านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น IT service หรือ call centre และอุตสาหกรรมบริการที่สร้างมูลค่าสูงจริง คืออุตสาหกรรมบริการที่ส่งออกได้ ซึ่งเป็นประเภทบริการที่เรามีน้อย

ดังนั้น หากคนถามว่า เศรษฐกิจไทยจะไปทิศทางไหน ผมมองว่าโดยศักยภาพ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องไปทางด้านบริการ และรวม food service เป็นหนึ่งประเภทการบริการด้วย

ส่วนเราจะมีอุตสาหกรรมบริการที่จะมีมาตรฐานคุณภาพที่ส่งออกได้นั้น คนของเราต้องเก่งขึ้นมาก เพราะสุดท้าย บริการที่ส่งออกได้จะต้องพึ่งความรู้ด้านเทคโนโลยีและภาษาเป็นตัวเชื่อมถึงลูกค้า
ดังนั้นนโยบายที่จำเป็นคือการลงทุนพัฒนาความรู้ความสามารถของคนไทย

Lee Kuan Yew ท่านตระหนักว่าสิงคโปร์เล็กเกินไปที่จะเป็นประเทศอุตสาหกรรม ท่านจึงมียุทธศาสตร์ตั้งแต่ยุค 1980’s ที่จะพัฒนาให้สิงคโปร์เป็นผู้ขายบริการ และอุตสาหกรรมที่เขาเลือกคือ ‘การเงิน’

เศรษฐีไทยเองใช้บริการกันอยู่แทบทุกคนครับ

'อิหร่าน' นั่งเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรี กรอบความร่วมมือเอเชีย ACD ครั้งที่ 19 ตอกย้ำเวทีแห่งหลักประกันความเป็นมิตรที่ดี พร้อมเกื้อหนุนทุกมิติที่เป็นประโยชน์

ความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD) เป็นความคิดริเริ่มของไทย และได้ถูกยกขึ้นเป็นครั้งแรกในการประชุมระหว่างประเทศของพรรคการเมืองเอเชีย ครั้งที่ 1 ณ กรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 17 -20 กันยายน 2000 โดยประเทศไทยได้เสนอแนวคิดว่า เอเชียควรมีเวทีเป็นของตนเองเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในระดับทวีปของเอเชีย ต่อมาไทยได้เสนอแนวคิดเรื่อง ACD อย่างเป็นทางการในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่กรุงฮานอย ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2001 และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ที่ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2002 ทำให้ ACD เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้น และเกิดขึ้นในปีนั้นเอง 

ปัจจุบัน ACD มีสมาชิก 35 ประเทศ คิดเป็น 56% ของประชากรโลก และ 35% ของ GDP โลก ประเทศเหล่านี้มุ่งเป้าไปที่การพูดคุยและการเป็นหุ้นส่วนพัฒนาความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ เช่น การขนส่งและการสื่อสาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และน้ำ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และครอบคลุมและยั่งยืนโดย ACD เป็นเวทีหารือระดับนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย รวมถึงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความท้าทายของโลก

วันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ครั้งที่ 19 ณ กรุงเตหะราน อิหร่าน ซึ่งที่ประชุมฯ รับรองการเสนอตัวเป็นประธาน ACD วาระปี 2568 ของไทย และรับรองเอกสารสำคัญ 3 ฉบับ ได้แก่ 1) ปฏิญญาเตหะราน (Tehran Declaration) 2) กฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือเอเชีย (Rules of Procedure) และ 3) แนวทางหลักในการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการกรอบความร่วมมือเอเชีย (Guiding Principles) ในโอกาสดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยได้กล่าวถ้อยแถลงโดย (1) ย้ำถึงบทบาทสำคัญของ ACD ในการกำหนดอนาคตของภูมิภาคเอเชีย และความสำคัญของความร่วมมือกันของประเทศสมาชิกเพื่อสร้างภูมิภาคเอเชียที่ครอบคลุมและยั่งยืน (2) แสดงเจตจำนงของไทยในการขับเคลื่อน ACD ผ่านการเสนอตัวเป็นประธาน ACD วาระปี 2025 (3) เสนอแนวทางการส่งเสริมพลวัตให้แก่ ACD ผ่านการจัดการประชุมทั้งแบบทางการและไม่ทางการ (retreat) และการจัดประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมโลก การเสนอแนวความคิดการจัดตั้งกองทุน ACD รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง ACD และกรอบความร่วมมืออื่นๆ

Ali Bagheri Kani รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านได้แถลงแสดงความอาลัยในการจากไปของประธานาธิบดี Raisi และดร. Amir-Abdollahian รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทั้งสองต่างให้การสนับสนุนการประชุม ACD ครั้งที่ 19 นี้ อย่างแข็งขัน ตามแนวคิดพหุภาคีที่สำคัญซึ่งทั้งสองเป็นผู้ร่วมกันบุกเบิกเพื่อลดการผูกขาดปฏิสัมพันธ์และการพึ่งพาประเทศตะวันตกโดยมุ่งเน้นไปที่ประเทศตะวันออกด้วยกันเอง ด้วยการส่งเสริมเอกลักษณ์ของเอเชียและรับประกันความเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรที่ดี ตลอดจนส่งเสริมความสมบูรณ์ของภูมิภาคผ่านการเป็นสมาชิกของ ACD อย่างแข็งขันในองค์กรระดับภูมิภาคและระดับโลก

นอกจากนี้ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านได้กล่าวแสดงความรู้สึกเศร้าใจและตกตะลึงอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความโหดร้ายและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กระทำโดยอิสราเอลในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นมานานกว่าแปดเดือนแล้ว และหวังว่าเหตุการณ์อันเลวร้ายนี้จะยุติลงโดยเร็วที่สุด สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านเข้าร่วม ACD ในปี 2003 และถือว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกที่มีความกระตือรือร้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 อิหร่านรับหน้าที่เป็นประธาน ACD โดยถือเอาการก่อตั้ง 'ประชาคมเอเชีย' ซึ่งเป็นหนึ่งในปณิธานของ ACD ด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอันมั่งคั่งและคุณค่าที่ยั่งยืนของเอเชียตลอดจนศักยภาพที่แข็งแกร่งของทวีปและรากฐานทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจริง หากความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเอเชียที่เข้มแข็งขึ้นถูกสร้างขึ้นในหมู่ชาวเอเชียย่อมนำมาซึ่งประโยชน์มากมายอย่างไม่ต้องสงสัย 

'ผู้กำกับแอนิเมชัน 2475' โต้!! 'จอมไฟเย็น' นักโทษหนีคดีที่ฝรั่งเศส แขวะแบบไร้หลักฐาน หวังให้คนเข้าใจผิดว่า 'หนัง' ได้รับทุนหนุนจากรัฐ

(26 มิ.ย. 67) จากกรณี จอมไฟเย็น ปฏิกษัตริย์นิยม ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า “อะไรที่รับทุนรัฐมันจะมีข้อกำหนดห้ามเอาผลงานไปทำกำไรอยู่นะ - มิตรสหายท่านหนึ่ง - ”

ด้านเพจ ‘2475 Dawn of Revolution’ ก็ได้ออกมาไขข้อกระจ่าง ว่า “หนังหลายเรื่องรับทุนสนับสนุนของรัฐยังเอาไปหารายได้ได้เลยครับ อย่างแอนิเมชันเรื่อง นักรบมนตรา ก็ได้ทุนสนับสนุนส่วนหนึ่ง หนังนเรศวรก็ได้ ประเด็นคือเรื่องพวกนี้มันปรากฏชัดเจนอยู่แล้ว คุณยังไปหลงเชื่อข้อความอะไรแบบนี้ด้วยเหรอครับ…

“ผมมาทราบเรื่องการขอทุนสนับสนุนหนัง หลังจากที่เปิดตัวแอนิเมชันไปแล้วหนึ่งเดือน เขามีเงื่อนไขเพียง เป็นหนังที่ยังไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนและพร้อมฉายในรอบปีงบประมาณนั้น…

“สส.มี กมธ.ก็มีนะครับ ขอข้อมูลภาครัฐได้ ถ้าจะกล่าวหาใคร ควรไปค้นหากันครับว่า แอนิเมชันเรื่องนี้ได้งบจากรัฐ หรือใช้เงินภาษีมาทำหรือไม่…

“พวกคุณถนัดแต่พูดลอย ๆ หวังให้คนคิดและเข้าใจไปเองผิด ๆ ต่อไปควรหัดใช้หลักฐานและตรรกะกันบ้างนะครับ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top