'อิหร่าน' นั่งเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรี กรอบความร่วมมือเอเชีย ACD ครั้งที่ 19 ตอกย้ำเวทีแห่งหลักประกันความเป็นมิตรที่ดี พร้อมเกื้อหนุนทุกมิติที่เป็นประโยชน์

ความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD) เป็นความคิดริเริ่มของไทย และได้ถูกยกขึ้นเป็นครั้งแรกในการประชุมระหว่างประเทศของพรรคการเมืองเอเชีย ครั้งที่ 1 ณ กรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 17 -20 กันยายน 2000 โดยประเทศไทยได้เสนอแนวคิดว่า เอเชียควรมีเวทีเป็นของตนเองเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในระดับทวีปของเอเชีย ต่อมาไทยได้เสนอแนวคิดเรื่อง ACD อย่างเป็นทางการในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่กรุงฮานอย ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2001 และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ที่ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2002 ทำให้ ACD เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้น และเกิดขึ้นในปีนั้นเอง 

ปัจจุบัน ACD มีสมาชิก 35 ประเทศ คิดเป็น 56% ของประชากรโลก และ 35% ของ GDP โลก ประเทศเหล่านี้มุ่งเป้าไปที่การพูดคุยและการเป็นหุ้นส่วนพัฒนาความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ เช่น การขนส่งและการสื่อสาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และน้ำ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และครอบคลุมและยั่งยืนโดย ACD เป็นเวทีหารือระดับนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย รวมถึงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความท้าทายของโลก

วันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ครั้งที่ 19 ณ กรุงเตหะราน อิหร่าน ซึ่งที่ประชุมฯ รับรองการเสนอตัวเป็นประธาน ACD วาระปี 2568 ของไทย และรับรองเอกสารสำคัญ 3 ฉบับ ได้แก่ 1) ปฏิญญาเตหะราน (Tehran Declaration) 2) กฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือเอเชีย (Rules of Procedure) และ 3) แนวทางหลักในการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการกรอบความร่วมมือเอเชีย (Guiding Principles) ในโอกาสดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยได้กล่าวถ้อยแถลงโดย (1) ย้ำถึงบทบาทสำคัญของ ACD ในการกำหนดอนาคตของภูมิภาคเอเชีย และความสำคัญของความร่วมมือกันของประเทศสมาชิกเพื่อสร้างภูมิภาคเอเชียที่ครอบคลุมและยั่งยืน (2) แสดงเจตจำนงของไทยในการขับเคลื่อน ACD ผ่านการเสนอตัวเป็นประธาน ACD วาระปี 2025 (3) เสนอแนวทางการส่งเสริมพลวัตให้แก่ ACD ผ่านการจัดการประชุมทั้งแบบทางการและไม่ทางการ (retreat) และการจัดประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมโลก การเสนอแนวความคิดการจัดตั้งกองทุน ACD รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง ACD และกรอบความร่วมมืออื่นๆ

Ali Bagheri Kani รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านได้แถลงแสดงความอาลัยในการจากไปของประธานาธิบดี Raisi และดร. Amir-Abdollahian รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทั้งสองต่างให้การสนับสนุนการประชุม ACD ครั้งที่ 19 นี้ อย่างแข็งขัน ตามแนวคิดพหุภาคีที่สำคัญซึ่งทั้งสองเป็นผู้ร่วมกันบุกเบิกเพื่อลดการผูกขาดปฏิสัมพันธ์และการพึ่งพาประเทศตะวันตกโดยมุ่งเน้นไปที่ประเทศตะวันออกด้วยกันเอง ด้วยการส่งเสริมเอกลักษณ์ของเอเชียและรับประกันความเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรที่ดี ตลอดจนส่งเสริมความสมบูรณ์ของภูมิภาคผ่านการเป็นสมาชิกของ ACD อย่างแข็งขันในองค์กรระดับภูมิภาคและระดับโลก

นอกจากนี้ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านได้กล่าวแสดงความรู้สึกเศร้าใจและตกตะลึงอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความโหดร้ายและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กระทำโดยอิสราเอลในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นมานานกว่าแปดเดือนแล้ว และหวังว่าเหตุการณ์อันเลวร้ายนี้จะยุติลงโดยเร็วที่สุด สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านเข้าร่วม ACD ในปี 2003 และถือว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกที่มีความกระตือรือร้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 อิหร่านรับหน้าที่เป็นประธาน ACD โดยถือเอาการก่อตั้ง 'ประชาคมเอเชีย' ซึ่งเป็นหนึ่งในปณิธานของ ACD ด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอันมั่งคั่งและคุณค่าที่ยั่งยืนของเอเชียตลอดจนศักยภาพที่แข็งแกร่งของทวีปและรากฐานทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจริง หากความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเอเชียที่เข้มแข็งขึ้นถูกสร้างขึ้นในหมู่ชาวเอเชียย่อมนำมาซึ่งประโยชน์มากมายอย่างไม่ต้องสงสัย 


เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES