Friday, 5 July 2024
NewsFeed

ย้อนรอยสงครามกลางเมืองศรีลังกา ‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ ก่อนแพ้พ่าย ต้นตำรับปฏิบัติการ ‘ระเบิดพลีชีพ’ ที่ก่อการร้ายนำมาเลียนแบบทั่วโลก

เรื่องราวของกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม หรือ ‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ และในอีกหลาย ๆ ชื่อได้แก่ สมาคมทมิฬระดับโลก สหพันธ์ของสมาคมทมิฬแคนาดา กองทัพเอลอัลลานี ซึ่งเป็นองค์กรติดอาวุธที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาในประเทศศรีลังกา ระหว่างชาวทมิฬ (Tamil) ที่มีจำนวนราว 3 ล้านคน คิดเป็น 18% ของพลเมืองศรีลังกาและนับถือศาสนาฮินดูในเขตจาฟนา บริเวณภาคเหนือสุดของเกาะซีลอน กับชาวสิงหล (Sinhalese) พลเมืองส่วนใหญ่กว่า 16 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 จากประชากรทั้งหมดในศรีลังกา ซึ่งนับถือพุทธศาสนา โดยความขัดแย้งดังกล่าวไปสู่การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนที่รุนแรงที่สุดในโลก และเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลศรีลังกาจะสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างหมดสิ้นไปในปี 2009

‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ ก่อตั้งเมื่อปี 1976 มีเป้าหมายคือการแยกตัวจากศรีลังกาเพื่อตั้งรัฐทมิฬ เริ่มการต่อสู้ด้วยการก่อการร้ายตั้งแต่ปี 1983 หัวหน้ากลุ่มคือ เวลูปิลลัย ประภากาเรา ชาวทมิฬผู้มีความใฝ่ฝันที่จะสร้างรัฐที่ชาวทมิฬมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง และหลังจากศรีลังกาได้รับอิสรภาพจากอังกฤษแล้ว ชาวทมิฬที่นับถือฮินดูซึ่งมีสัดส่วนราว 10 % ของประชากรชาวศรีลังกาทั้งประเทศกลายเป็นพลเมืองชั้นสองไป เพราะโอกาสในทางการศึกษาและอาชีพการงานด้อยกว่าชาวสิงหลที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ 

ธงจักรวรรดิอังกฤษซีลอน

สาเหตุความขัดแย้งเกิดจากช่วงที่อังกฤษเข้ามาแทนที่ฮอลแลนด์ในการยึดครองศรีลังกา อังกฤษได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณเขตจาฟนา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวทมิฬมากมายทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ทำให้ชาวสิงหลซึ่งอยู่พื้นที่ส่วนอื่นของเกาะไม่พอใจ อันเป็นรูปแบบของกระบวนการ ‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’ (Divide and Rule) ของอังกฤษผู้เป็นอดีตเจ้าอาณานิคม (วิธีปกครองโดยเอาใจคนกลุ่มหนึ่ง แต่กลับ กีดกัน กดดัน คนอีกกลุ่มหนึ่ง) ซึ่งมักจะใช้กับอาณานิคมต่าง ๆ เช่น อินเดีย พม่า มลายู แม้อังกฤษจะช่วยวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งระบบการศึกษา ระบบขนส่ง และการทำการเกษตร แต่ภาคการเกษตรโดยเฉพาะไร่ชาขนาดใหญ่นั้นต้องการแรงงานจำนวนมาก ชาวสิงหล และชาวทมิฬเดิม ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของซีลอน ต่างก็ไม่สนใจทำงานในไร่ชาของอังกฤษ อังกฤษจึงได้นำแรงงานชาวทมิฬอินเดีย ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองทางตอนใต้ของอินเดียเข้ามาทำงานในไร่ชาที่เกาะซีลอนและสิ่งนี้เองที่สร้างรอยร้าวให้กับผู้คนบนเกาะแห่งนี้

ชาวทมิฬอินเดียที่ถูกนำเข้ามาทำงานในไร่ของอังกฤษมักได้รับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีกว่าชาวพื้นเมืองเดิม โรงเรียนแบบตะวันตกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ซึ่งมีชาวทมิฬอาศัยอยู่หนาแน่น ชาวทมิฬจึงได้รับการศึกษาที่ดีกว่า นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของคนทั้ง 2 กลุ่ม หลังจากซีลอนได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 แม้เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาตามลําดับ แต่ความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬยังมีคงอยู่ ชาวทมิฬซึ่งมีการศึกษาดีกว่า ฐานะดีกว่า ผูกขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวสิงหล ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อรัฐบาลศรีลังกาที่ได้รับเลือกตั้งเป็นชาวสิงหล จึงมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘ซีลอน’ มาเป็น ‘ศรีลังกา’ ในปี 1972 พร้อมกับการกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และเริ่มดำเนินนโยบายกีดกันชาวทมิฬ ทั้งการบังคับไม่ให้มีการเรียนการสอนภาษาทมิฬ การบรรจุเข้ารับราชการต้องใช้ภาษาสิงหลเท่านั้น ทำให้เกิดการต่อต้านรุนแรงจากชาวทมิฬ ชาวทมิฬจึงมารวมกันอยู่ทางตอนเหนือของประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 1956 มีการประกาศนโยบายชาตินิยมสิงหล (Sinhalese only) โดยเปลี่ยนภาษาราชการเป็นภาษาสิงหลแทนที่ภาษาอังกฤษ ร่างกฎหมายนี้ชื่อ Sinhala Only Act ต่อมาในปี 1970 รัฐบาลศรีลังกาเปลี่ยนชื่อประเทศจาก Ceylon มาเป็น Sri Lanka อันเป็นชื่อดั้งเดิมในภาษาสิงหล มาตรการเหล่านี้ล้วนสร้างความไม่พอใจแก่ชาวทมิฬ และมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ของสองชนชาตินี้เสื่อมลงเรื่อย ๆ 

ชาวทมิฬแม้จะมีความไม่พอใจต่อรัฐบาลศรีลังกาและมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมาตลอด แต่ก็ไม่มีองค์กรนำและเป้าหมายการต่อสู้ที่ชัดเจน จนกระทั่งถึงปี 1972 เมื่อพรรคการเมืองของชาวทมิฬสามพรรคได้รวมตัวกันเป็น ‘แนวร่วมทมิฬ’ (Tamil United Front) การต่อสู้ของชาวทมิฬจึงได้เข้าสู่ยุคใหม่ที่อยู่ภายใต้การนำของพรรคการเมืองที่เข้มแข็งและมีจุดมุ่งหมายในการต่อสู้ที่ชัดเจน พรรคแนวร่วมทมิฬได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘แนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ’ (Tamil United Liberation Front) และผ่านมติต่อสู้เพื่อก่อตั้งประเทศทมิฬอีแลมเมื่อปี 1976 ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในปีถัดมา พรรคนี้สามารถกวาดที่นั่งส่วนใหญ่ในเขตชาวทมิฬ จนกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดในรัฐสภาศรีลังกา ทำให้มองเห็นความหวังในการต่อสู้เพื่อให้ชาวทมิฬแยกตัวเป็นอิสระตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ แต่แล้วไม่มีใครคาดคิดว่าชาวสิงหลหัวรุนแรงที่ไม่พอใจผลการเลือกตั้งได้ก่อเหตุจลาจลจนนำไปสู่การปะทะนองเลือดระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน การปะทะครั้งนี้ทำให้ชาวทมิฬส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ พวกเขาจึงเลิกให้การสนับสนุนพรรคแนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ แล้วหันไปให้การสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ปลดปล่อยแห่งทมิฬอีแลม หรือพยัคฆ์ทมิฬ ที่ใช้วิธีต่อสู้ด้วยความรุนแรงแทน

กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นโดยวัยรุ่นชาวทมิฬที่มีการศึกษาสูง โดยงานแรกของกลุ่มคือ การสังหารนายกเทศมนตรีเมืองจาฟนา เพราะนายกเทศมนตรีคนนี้แม้จะเป็นชาวทมิฬแต่กลับเห็นดีเห็นงามกับชาวสิงหล กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีการจัดบุคลากรเป็นระบบมากที่สุด มีการแยกส่วนสมาชิกเป็นแผนก ๆ เฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการวางแผน ด้านการเมือง ด้านกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งใช้คนที่มีความรู้ความสามารถด้านนั้นจริง ๆ เข้ามาเป็นผู้นำ โดยมีแนวทางการต่อสู้ใน 3 แนว คือ การใช้กำลัง การประชาสัมพันธ์ และการระดมทุน เงินทุนในการดำเนินงานของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้มาจากการประชาสัมพันธ์และการระดมทุน โดยระดมทุนจากชาวทมิฬที่อยู่ต่างประเทศ (ยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย) และชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่สนับสนุนเป็นเงินมหาศาล ทั้งพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยังมีรายได้จากการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ สินค้าผิดกฎหมาย และรับจ้างฝึกกองกำลังทหารรับจ้างตลอดจนกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ จากทั่วโลก จนทำให้ฐานะทางการเงินของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมนั้นจัดว่ามั่งคั่งแข็งแกร่งเลยทีเดียว ประมาณการว่ารายได้ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมน่าจะอยู่ที่ราว 200–300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ซากเครื่องบินของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ซึ่งถูกเครื่องบินรบของกองทัพอากาศศรีลังกายิงตก

ปฏิบัติการหลัก ๆ ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมคือ การสังหารบุคคลสำคัญ การก่อวินาศกรรม วางระเบิดสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของศรีลังกา และจัดกำลังรบตามแบบกับรัฐบาลโดยใช้กำลังทางบก เรือ และอากาศ (พยัคฆ์ทมิฬอีแลมมีกองเรือและฝูงบินจำนวนหนึ่งซึ่งได้ออกปฏิบัติการรบด้วย) และด้วยวิธีการลอบสังหารที่ขึ้นชื่อที่สุดของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมคือการใช้เข็มขัดติดระเบิดพันรอบตัว แล้วจัดการกดชนวนระเบิดเป้าหมายไปพร้อมกับมือระเบิด หรือที่เรียกว่า ระเบิดพลีชีพ (Suicide bomb) นั่นเอง ซึ่งถือเป็นต้นแบบของกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ทั่วโลกนำไปเลียนแบบจนทุกวันนี้ พื้นที่หลักของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมอยู่ตามแนวชายฝั่งตอนเหนือและตะวันออกของศรีลังกา แต่จะทำการก่อการร้ายทั่วประเทศศรีลังกา สมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในศรีลังกา และเป็นนักรบราว 3,000 - 6,000 คน (สูงสุดถึงที่เคยมีคือ 7,000 ถึง 15,000 คน) โดยอินเดียก็มีส่วนในความขัดแย้ง ด้วยรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐทมิฬนาฑู ทางภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นรัฐของชาวทมิฬ ได้ให้ความสนับสนุนการต่อสู้ของชาวทมิฬในศรีลังกา ขณะที่รัฐบาลกลางอินเดียซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลสิงหลของศรีลังกาก็ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก ด้วยเกรงจะกระทบคะแนนเสียงในการเลือกตั้งและอาจจะเป็นการสร้างความแตกแยกขึ้นภายในประเทศอินเดียเอง

ภาพสุดท้ายของ ราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย ก่อนถูกสังหารด้วยระเบิดพลีชีพ

ต่อมา ราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย ผู้ซึ่งกล้าแสดงจุดยืนว่าจะขัดขวางการสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมของรัฐบาลทมิฬนาฑู จึงต้องพบกับจุดจบโดยถูกลอบสังหารด้วยระเบิดพลีชีพระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่รัฐทมิฬนาฑูจนเสียชีวิตจากฝีมือของหญิงชาวทมิฬ-ศรีลังกา ซึ่งเป็นสมาชิกของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมเมื่อ 21 พฤษภาคม 1991 ต่อมากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมก็ใช้ปฏิบัติการระเบิดพลีชีพสังการประธานาธิบดีศรีลังกา รณสิงห เปรมดาสา จนเสียชีวิตเมื่อ 1 พฤษภาคม 1993 ขณะที่มีการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างรัฐบาลสิงหลและกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ได้มีความพยายามในการเจรจาและทำสนธิสัญญาหยุดยิงหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งในปี 2009 มหินทา ราชาปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกาได้ตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกองกำลังทมิฬจนได้รับชัยชนะ และบีบบังคับให้กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยอมวางอาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไข ถือเป็นการยุติสงครามกลางเมืองอันนองเลือดในศรีลังกาที่ดำเนินมากว่า 25 ปีอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2009 ประธานาธิบดีมหินทรา ราชปักษา ได้ประกาศชัยชนะของรัฐบาลศรีลังกาต่อกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม โดยกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้สูญเสียดินแดนทางตอนเหนือและตะวันออกของศรีลังกาทั้งหมด หมดสิ้นอำนาจทางการเมืองการปกครองในดินแดนของตน และสิ้นสภาพในการต่อสู้ ไม่สามารถสู้รบกับกองทัพของรัฐบาลศรีลังกาได้อีก

ทหารรัฐบาลศรีลังกากับอาวุธที่ยึดจากกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม

สมาชิกของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจำนวน 11,664 คน รวมทั้งทหารเด็กอีก 595 คนยอมวางอาวุธและมอบตัวกับกองทัพศรีลังกา (ส่วนหนึ่งหลบหนีไปอินเดีย) ซึ่งต่อมามีทั้งข่าวและคลิปการสังหารคนเหล่านี้อย่างเหี้ยมโหด และหญิงชาวทมิฬถูกข่มขืนแล้วฆ่าอีกจำนวนมาก สิ่งที่กองทัพศรีลังกาทำกับชาวทมิฬก็ไม่แตกต่างจากพฤติกรรมขององค์การก่อการร้ายเลย แม้ปฏิบัติการของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจะเหี้ยมโหดก็ตาม แต่เมื่อควบคุมตัวชาวทมิฬเหล่านี้แล้ว ควรนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีและบังคับใช้อยู่ให้ถูกต้อง โดยสหประชาชาติ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้รายงานตรงกันว่า ปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลศรีลังกานั้นเป็นการสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ตลอดระยะเวลาการสู้รบที่ยาวนานนับตั้งแต่ปี 1983 - 2009 ผลจากสงครามทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 70,000 คน และผู้คนนับล้านต้องลี้ภัยและสูญเสียทรัพย์สิน เศรษฐกิจของศรีลังกาได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิต แม้ว่า พยัคฆ์ทมิฬอีแลมจะสิ้นสภาพในศรีลังกาตั้งแต่ปี 2009 แล้วก็ตาม แต่สมาชิกพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในยุโรปและอเมริกาเหนือก็ยังคงมีความพยายามในการเคลื่อนไหวปรากฏตามสื่อต่าง ๆ อยู่จนทุกวันนี้

ร้านอาหารญี่ปุ่น ‘ชิคาระ เมชิ’ ประกาศปิดกิจการในไทย เปิดวันสุดท้าย 31 พ.ค.67 ขอบคุณลูกค้าที่อุดหนุนเสมอมา

(29 พ.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร้านอาหารญี่ปุ่น “ชิคาระ เมชิ” (Chikara Meshi) ซึ่งมีเมนูขึ้นชื่อคือข้าวหน้าเนื้อต่างๆ ที่มาเปิดสาขาในประเทศไทย ณ ตึกธนิยะพลาซ่า ชั้น 4 ประกาศเตรียมปิดกิจการเร็วๆ นี้ โดยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม เฟซบุ๊ก Chikara Meshi Thailand เผยแพร่ข้อความระบุว่า...

‘ประกาศปิดกิจการ กราบเรียนคุณลูกค้าทุกท่าน ร้านชิคาระ เมชิ ประเทศไทย ขอขอบพระคุณลูกค้าทุกท่านที่ให้การสนับสนุนร้านเราเป็นอย่างดี และขออภัยที่ต้องแจ้งว่าทางร้านจะเปิดให้บริการถึง วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 เป็นวันสุดท้าย’

ซึ่งภายหลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนมากต่างเป็นแฟนๆ ที่เข้าไปแสดงความเสียใจที่เสียร้านโปรดไปอีก 1 ร้าน อาทิ เช่น

-ขอบคุณที่นำเข้ามาในไทยนะครับ นับถือคนนำเข้ามาก คือแค่ชอบทาน ก็เลยขอคุยกับฝั่งญี่ปุ่นมาเปิด ใจพี่มันได้มากกกก

-ข้าวหน้าเนื้อชีสที่อร่อยที่สุด หวังว่าจะได้เจอกันในรูปแบบ Pop-up งานอาหารญี่ปุ่นสักงานก็ยังดี, เป็นร้านโปรดของผมที่ญี่ปุ่นเลยครับ ไปทีไรก็กินทุกที ตอนนี้สาขาที่ญี่ปุ่นก็เหลือน้อยแล้ว ตอนที่ร้านนี้มาเปิดในไทยผมดีใจมากเลยครับ ขอบคุณที่นำเข้ามานะครับ ไว้จะแวะไปอุดหนุนก่อนร้านปิดครับ, คุณเป็นร้านที่ดีนะ อาหารก็อร่อยมาก

-เสียใจมากครับ เป็นร้านโปรดสมัยอยู่ญี่ปุ่น มีโอกาสได้กินที่ไทยแค่ครั้งเดียวเพราะไกลบ้านมาก คิดว่าร้านอาจจะเลือกที่ตั้งผิดไป ไม่งั้นลูกค้าน่าจะเยอะกว่านี้มากๆครับ, เป็นร้านโปรดของลูกชายเลย เพิ่งไปทานเมื่ออาทิตย์ที่แล้วเองค่ะ น่าเสียดายมาก ร้านดีๆอร่อยๆ วันนี้เลยสั่งแกรปมาทานที่บ้านส่งท้าย ถ้าไปเปิดที่ไหนอีกแจ้งนะคะ

‘ILINK’ ร่วมให้ข้อมูลโครงการสายเคเบิ้ลใต้ทะเล 230 Kv. ‘ขนอม-เกาะสมุย’ พร้อมใช้ประสบการณ์-ความเชี่ยวชาญ สร้างแสงสว่างให้เกิดบนเกาะสมุย

(29 พ.ค. 67) นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ หรือ ILINK เปิดเผยว่า…

“เมื่อวานนี้ (28 พ.ค.67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เชิญ คุณธนา ตั้งสกุล ผู้ช่วยกจญ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ไปร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับ โครงการ สายเคเบิ้ลใต้ทะเล 230 Kv. ขนอม-เกาะสมุย รวมระยะทาง 52.5 กิโลเมตร มูลค่าโครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้ว จำนวน 11,230 ล้านบาท”

ประธานกรรมการ ILINK ระบุเพิ่มว่า “บริษัทฯ ต้องขอขอบคุณ EGAT ที่ให้โอกาส บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย ที่มีประสบการณ์วางสายไฟฟ้าแรงสูงใต้ทะเลให้เกาะต่าง ๆ ในประเทศมากกว่า 10 เกาะ ได้มีโอกาสนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ การวางสายไฟฟ้าใต้ทะเลในท้องทะเลของประเทศไทย มาชี้แจง และให้ความมั่นใจกับประชาชนเพื่อจะนำความเจริญและระบบไฟฟ้าที่เสถียรสูงสุด มาสู่เกาะสมุย โดยไม่ทำลายสภาวะแวดล้อมของท้องทะเลไทยครับ”

‘จีน’ เปิดตัว ‘หุ่นยนต์สุนัขติดไรเฟิล’ ระหว่างซ้อมรบกับต่างชาติ ตอกย้ำ!! เทคโนโลยีสงครามของประเทศก้าวหน้าไประดับหนึ่ง

(29 พ.ค. 67) สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ในระหว่างการซ้อมรบ Golden Dragon 2024 ของกองทัพกัมพูชา และจีน กองทัพจีนได้เปิดตัว ‘หุ่นยนต์สุนัข’ ที่ติดตั้งอาวุธปืนไรเฟิลอัตโนมัติไว้ที่หลัง ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้เปลี่ยนเพื่อนรักแสนรู้ของมนุษย์ ไปอยู่ในรูปแบบของ ‘เครื่องจักรสังหาร’

‘เฉิน เว่ย’ ทหารจากกองทัพจีน กล่าวผ่านวิดีโอการซ้อมรบที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวซีซีทีวีของรัฐบาลจีนว่า

ในการเปิดตัวหุ่นยนต์สุนัข กองทัพจีนได้แสดงให้เห็นว่า หุ่นยนต์นี้สามารถเดิน กระโดด นอน และเดินถอยหลังได้ ภายใต้การควบคุมของรีโมตสั่งการ

นอกจากนี้ ในการซ้อมรบ กองทัพจีนยังได้เปิดตัวปืนไรเฟิลอัตโนมัติที่ติดตั้งอยู่ใต้โดรนแบบ 6 ใบพัด แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของอุปกรณ์อัจฉริยะที่ไร้มนุษย์ควบคุมของจีน

แน่นอนว่าหุ่นยนต์สุนัขที่ใช้ทางทหาร และโดรนติดตั้งอาวุธนี้ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่รายงานของซีซีทีวีตอกย้ำว่า สุนัขอิเล็กทรอนิกส์แบกปืนไรเฟิลของจีน มีส่วนร่วมในการฝึกซ้อมระหว่างกองทัพจีน และชาติอื่น ๆ มากขึ้น อาทิ กองทัพกัมพูชา กองทัพลาว กองทัพมาเลเซีย กองทัพไทย และกองทัพเวียดนาม

อีกทั้งยังดูเหมือนว่า หุ่นยนต์สุนัขนี้จะได้รับการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากมาย เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าของกองทัพปลดปล่อยประชาชน และหุ่นยนต์ชนิดนี้ปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียของจีนมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี

ตามข้อมูลของโกลบอลไทม์ส สื่อรัฐบาลจีน ระบุว่า การปรากฏของหุ่นยนต์สุนัขสังหารในการฝึกซ้อมร่วมกับกองทัพต่างชาติบ่งชี้ถึงการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน

นักวิชาการคนหนึ่งเผยกับโกลบอลไทม์สว่า “ปกติแล้ว อุปกรณ์ใหม่ ๆ จะไม่นำมาร่วมฝึกซ้อมกับประเทศอื่น ดังนั้น หุ่นยนต์สุนัขจะต้องมีความพร้อมทางเทคนิคในระดับหนึ่งแล้ว”

ผบ.ทร.รับมอบเงินกว่า 6.4 ล้านบาท จัดซื้อชุดเครื่องมือผ่าตัดหัวใจ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า

พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ รับมอบเงินบริจาคจาก คณะผู้มีจิตศรัทธาโดยพลเรือเอก ประพฤติพร อักษรมัต และคุณพยนต์ ศรีโน้ต จำนวน 6,471,496.99 บาท เพื่อจัดซื้อชุดเครื่องมือผ่าตัดหัวใจส่องกล้องแผลเล็ก (MIS Set) ให้แผนกศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ โดยมี คุณกีรตา พันธุ์เอี่ยม นายกสมาคมภริยาทหารเรือ พลเรือโท ณัฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ และพลเรือตรี วสุธา ข่ายแก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ร่วมพิธีรับมอบฯ ณ สีลมวิลเลจ สีลม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2567

ฉะเชิงเทรา-รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้การต้อนรับ ผบ.ทร./รอง ผอ.ศรชล. ตรวจเยี่ยมหน่วยของ ศรชล.

วันนี้ 29 พฤษภาคม 2567 ที่ ห้องประชุมวิชิตสงคราม (ห้องรับรอง) นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา / ผอ.ศรชล.จังหวัดฉะเชิงเทรา มอบหมายให้นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้การต้อนรับ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) พร้อมด้วยคณะติดตาม เดินทางตรวจเยี่ยม ศรชล.ภาค 1 ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 

สำหรับการเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ของผู้บัญชาการทหารเรือ /รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการในพื้นที่ และรับทราบปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้อง และมอบนโยบายในการทำงานของหน่วยงานศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ ศรชล. มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศรชล. โดยมุ่งเน้นความมั่นคงทางทะเลแบบองค์รวม จึงมีการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานหลักของ ศรชล. 7 หน่วยงาน ในการบังคับใช้กฎหมายในทะเล และให้ความคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล สำหรับผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวในทะเล, การส่งกลับผู้เจ็บป่วยสายแพทย์ การบูรณาการหน่วยงานทางทะเลและหน่วยงานความมั่นคงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการสกัดกั้นการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล, การทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ,การส่งเสริมการท่องเที่ยว, การสร้างความตระหนักรู้ผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อตอบสนองภารกิจในการจัดการแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานของรัฐในการป้องกัน ปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

‘เกาหลีเหนือ’ ปล่อย ‘ลูกโป่งติดขยะ’ ลอยเข้า ‘เกาหลีใต้’ 150 ลูก ตอบโต้เอาคืน!! หลังโดนโสมขาวส่งใบปลิวต่อต้านรัฐบาลมาให้

(29 พ.ค.67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กองทัพเกาหลีใต้แถลงวันนี้ว่า เกาหลีเหนือได้ส่งลูกโป่งหิ้วขยะมากกว่า 150 ลูกลอยข้ามพรมแดนเข้ามาในเกาหลีใต้ หลังจากเกาหลีเหนือเตือนว่า จะตอบโต้ที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวเกาหลีใต้ส่งลูกโป่งติดใบปลิวต่อต้านรัฐบาลเกาหลีเหนือลอยข้ามพรมแดนเข้าไปในเกาหลีเหนือ

ด้านคณะเสนาธิการร่วมหรือเจซีเอส (JCS) ของเกาหลีใต้แถลงว่า นับตั้งแต่คืนวันอังคารที่ผ่านมา ลูกโป่งเหล่านี้ได้ลอยข้ามพรมแดน 2 เกาหลีกระจายไปยังหลายพื้นที่ทั่วเกาหลีใต้ โดยลอยไปไกลที่สุดถึงจังหวัดคยองซังใต้ ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้ และเมื่อตกถึงพื้นก็ทำให้ขยะที่ติดมากับลูกโป่งกระจายเกลื่อนพื้น การกระทำของเกาหลีเหนือละเมิดกฎหมายสากลอย่างชัดเจน และคุกคามความปลอดภัยของประชาชนเกาหลีใต้ ขอเตือนเกาหลีเหนืออย่างจริงจังให้ยุติการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมและหยาบช้า

เจซีเอสแนะนำประชาชนอย่าแตะต้องลูกโป่งและขยะที่ผูกติดมา โดยขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจใกล้เคียง และเตือนว่าลูกโป่งเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายได้หากตกลงมาใส่ ดังที่เคยทำให้ยวดยานและหลังคาบ้านเสียหายในปี 2559 เจซีเอสจะร่วมกับตำรวจและรัฐบาลหามาตรการรักษาความปลอดภัย และกำลังประสานงานกับกองบัญชาการสหประชาชาตินำโดยสหรัฐที่ดูแลความเคลื่อนไหวในเขตปลอดทหารที่แบ่ง 2 เกาหลี

ทั้งนี้ เกาหลีเหนือประกาศเมื่อวันอาทิตย์ว่า จะส่งกองขยะและเศษกระดาษข้ามพรมแดนเพื่อตอบโต้ที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวเกาหลีใต้ส่งลูกโป่งติดใบปลิวชักชวนให้ชาวเกาหลีเหนือลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล เกาหลีเหนือเรียกร้องมาโดยตลอดให้เกาหลีใต้ยุติการกระทำนี้

“ผบช.ภาค1” 18 องค์ดีเด่น ผู้ประกาศข่าว นักวิทยุสื่อออนไลน์ เข้ารับรางวัลเทพทองพระราชทาน-โล่เกียรติยศ

วันที่ 28 พ.ย.37 ที่ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปมอบรางวัลเทพทอง ครั้งที่ 22 ประกอบด้วย ประเภทองค์กรดีเด่น จำนวน 19 องค์กร, บุคคลดีเด่นด้านโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ดีเด่น จำนวน 11 คน, บุคคลดีเด่นด้านวิทยุกระจายเสียงและสื่อออนไลน์ดีเด่น จำนวน 9 คน และประเภทโล่เกียรติยศ จำนวน 14 คน

สำหรับปีนี้ “องค์กรดีเด่น” ที่ทำคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง เทิดทูล สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นองค์กรที่มิได้ประกอบกิจการอันขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีงามของบ้านเมือง อาทิ มูลนิธิวัดอินทาราม หลีก โหมดมณี เป็นมูลนิธิฯที่ทำงานสาธารณประโยชน์ด้านสังคมสงเคราะห์การเผยแผ่พุทธศาสนา ผ่านสื่อสาธารณะและสื่อออนไลน์ มุ่งเน้นการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ ให้ความช่วยเหลือสังคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี

บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)
เป็นบริษัทที่ยึดหลักการดำเนินงานอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค บนพื้นฐานการบริหารจัดการน้ำร่วมกันทุกภาคส่วน

กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1
เป็นองค์กรภาครัฐ ที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ ให้ประชาชนและสังคมอยู่อย่างปลอดภัยและมีความสงบสุข โดยพลตำรวจโท จิรสันต์ แก้วแสงเอก     ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1

ลิเกทรงเครื่อง คณะทองเจือ โสภิตศิลป์ เป็นคณะลิเกทรงเครื่องที่รักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยด้านศิลปะการแสดง เกิดขึ้นปลายรัชสมัย รัชกาลที่ 5 เป็นต้นกำเนิดของลิเกในปัจจุบัน
ฟาร์ม พลายสยาม 88 เป็นองค์กรผู้นำให้ชาวอำเภออู่ทอง อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียง หันมาเลี้ยงควายเผือก ทำทฤษฎีเกษตรเศรฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัส รัชกาลที่ 9

สำหรับผู้ประกาศข่าวที่รับรางวัล จากช่อง 7HD คือ นายทิน โชคกมลกิจ ผู้ประกาศข่าวและพิธีกร รายการถกไม่เถียง น.ส.ภานุรัจน์ ศนีบุตร รายการเช้าข่าว 7 สี และ 7 สีช่วยชาวบ้าน และนายเกณฑ์สิทธิ์ กันธจันทร์ ผู้ประกาศข่าว ผู้ดำเนินรายการ และพิธีกร รายการสนามข่าว 7 สี นายเทพกิจ ฉัตรสุริยาวงศ์ ผู้ประกาศข่าวรายการคุยข่าวเช้ารุ่งอรุณ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 8 นางสาวรินรดา รวีเลิศ ผู้ประกาศข่าวรายการข่าวเช้าเวิร์คพอยท์ นายสมภพ รัตนวล ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวและผู้ประกาศข่าวรายการติ่งข่าว สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ หมายเลข 23

นางสาวธนัชศลักษณ์ ฮัดสัน ชื่อในวงการ “น้องอลิศ” ศิลปิน นักร้อง นักแสดง ผู้ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องและชัดเจน นายณรงค์ฤทธิ์ คิดเห็น พิธีกรและผู้ดำเนินรายการรายการเปลี่ยนมุมคิด และ Inside รัฐสภา สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา นายณฐพงศ์ รอดกันภัย ผู้ประกาศข่าวรายการข่าวต้นชั่วโมงและข่าวกีฬา นางสาวธนัญญา พิพิธวณิชการ ผู้ประกาศข่าว รายการเที่ยงวันทันข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 HD

ส่วนผู้ที่ได้รับโล่เกียรติยศ ประกอบด้วย นางจุไรรัตน์ เทพทอง นายแสวง คำก้อน นายก้องเกียรติ สุริเย
ประธานกรรมการ บริษัท จีอาร์ดี จำกัด (สำนักงานใหญ่) พันตำรวจเอก ธัชพงศ์ วงศ์พัฒนานิวาศ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก พันตำรวจเอก เชิดศักดิ์  รอดเข็ม ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 6 พันตำรวจเอก ธิติพงษ์ สียา ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 9 นางสาวจรรยาพร เนื่องหล้า นายอธิษฐ์ วีระรังสรรค์ นายไพศาล หงษ์ทอง พันตำรวจโท ธรณ์เทพ ประคองกลาง
รองผู้กำกับการสืบสวน สถานีตำรวจภูธรหนองสาหร่าย จังหวัดนครราชสีมา นางสาวเยาวลักษณ์  แสงจันทร์ นางสาวนราภรณ์ หาญมนต์

นางสาวชุติพันธุ์ ลิมปะพันธุ์ นายกสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สำหรับรางวัลเทพทอง สมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติ และเป็นขวัญกำลังใจแก่องค์กรดีเด่นทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้มีส่วนสนับสนุนให้บุคลากรในวงการวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ผลิตผลงานที่ดีมีคุณภาพให้ประโยชน์ทั้งด้านการศึกษา การปกครอง สิ่งแวดล้อม และความบันเทิง ตลอดจนบุคคลดีเด่นด้านวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนของชาติและเป็นการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องชัดเจน

'ศธ.' สั่งลุยเชิงรุก สำรวจเด็กหลุดระบบการศึกษา เร่งแก้ปัญหา ตามนโบาย ‘Thailand Zero Dropout’ 

(29 พ.ค.67) นักข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ว่า ที่ประชุมรายงานการขับเคลื่อนการยกระดับการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รายงานการนํานักเรียนเข้าสู่ระบบการทดสอบ COMPUTER BASED TEST เพื่อนําผลสู่การพัฒนา และเติมเต็มนักเรียน (Pre-test) ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2567 กว่า 104,578 ราย พร้อมๆ กับการขยายแกนนำ ที่เป็นครู ศึกษานิเนิทศก์ พี่เลี้ยง และแกนนำ ระดับเขตพื้นที่ฯ 1,400 คน ที่ผ่านหลักสูตร การอบรมการใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษา สู่โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ 9,214 แห่ง ครู 3 โดเมน 27,397 ราย จนถึงเดือนกันยายน 2568

‘ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำการจัดอบรมฯ PISA ให้ สสวท.ติดตามและรายงานความก้าวหน้า พร้อมมีแผนระยะยาว การจัดทำข้อสอบเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆ ระดับประถมศึกษา เริ่มจากการอ่าน การคิดวิเคราะห์ ส่วนวิธีการทดสอบหรือการออกข้อสอบ ให้เข้ากับเจนเนอเรชั่นของเด็กในยุค 4.0 และมีความทันสมัย ทั้งในเรื่องของภาษา การเลือกใช้คำที่เข้ากับวัยของเด็ก’ รมว.ศธ.กล่าว

รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการติดตามการดำเนินการงบประมาณ โดยได้ติดตามเรื่องเงินอุดหนุน อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจนถึงช่วงเดือนมิถุนายน 2567 และคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ตามแผนที่วางไว้ ส่วนงบลงทุน กำลังเร่งทำแอปพลิเคชันโดยมี สพฐ.เป็นเจ้าภาพ เพื่อติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเรียลไทม์ ในส่วนของงบประมาณ ขอให้วิเคราะห์ปัญหา ความเสี่ยง และหาบุคลากรแต่ละพื้นที่ที่มีความชำนาญ ในแต่ละเรื่อง เพื่อช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการบริหารจัดการงบประมาณ ส่วนกรณีที่ ศธ.มีหนังสือยกเว้น หรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบนักเรียนนั้น ขอเน้นย้ำ โดยเฉพาะในสภาวะที่เศรษฐกิจที่เงินเฟ้อ ผู้ที่ขัดสนอาจไม่สามารถจัดหาเครื่องแบบนักเรียนได้ ศธ.จึงออกหนังสือดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณา ช่วยเหลือนักเรียนให้สามารถมาโรงเรียนได้โดยไม่กดดัน โดยขอให้มีการสำรวจข้อมูล เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยอาจต้องประสานกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคเอกชน ในการเข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงให้มีการจัดทำระบบคลังข้อมูลเพื่อการบริหารการศึกษา (Data Warehouse)

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สำนักงานปลัด ศธ.พัฒนา พัฒนาระบบรายงานผลการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เรียนดี มีความสุข แบบเรียลไทม์ ทั้งในเรื่องของสุขาวดี มีความสุข และการยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งกายของนักเรียนในสถานศึกษา ไว้สำหรับสำรวจเป็นข้อมูลเพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง เป็นหลัก ขณะเดียวกันยังเน้นย้ำเรื่อง การขับเคลื่อนการป้องกันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน พร้อมจัดกิจกรรมวันงดสูบบุหรี่โลก และขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้พิจารณาแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ให้เป็นเจ้าพนักงานดูแลเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา เพื่อให้มีอำนาจในการตรวจยึด และขยายผลในการแก้ปัญหาต่อไป

‘ส่วนกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout นั้น ในส่วนของ ศธ.ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยในเชิงรุกได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) สำรวจตัวเลขเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา และพยายามนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือเข้าเรียนในระบบการศึกษาตามอัธยาศัย โดย ศธ.ก็มีเป้าหมายให้เด็กดร็อปเอาท์เป็นศูนย์เท่านั้น และไม่ใช่แค่เด็กในวัยเรียนเท่านั้น ยังรวมถึงประชาชนทั่วไป ที่ยังได้รับการศึกษาไม่ถึงภาคบังคับ ก็ขอให้ สกร.เข้าไปช่วยเติมเต็ม ให้ความรู้ เพื่อให้ทรัพยากรของประเทศไทยมีความรู้ไม่น้อยกว่าการศึกษาภาคบังคับด้วย’ พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว

พิษณุโลก-แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมหลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองทัพภาคที่ 3 รุ่นที่ 5 (พสบ.ทภ.3 รุ่นที่ 5)

วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.30 น. ที่  ห้องคอนแวนชั่น 1 ชั้น 5 โรงแรมท็อปแลนด์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก  พลโท ประสาน แสงศิริรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมหลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองทัพภาคที่ 3  รุ่นที่ 5 (พสบ.ทภ.3 รุ่นที่ 5) ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมฯ จำนวน 108 คน  ประกอบด้วย ข้าราชการทหาร 21 คน ตำรวจ 5 คน ข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานองค์กรของรัฐ  23 คน และนักธุรกิจภาคเอกชน จำนวน 59 คน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์อันจัดส่งผลให้เกิดการสนับสนุนส่งเสริมพลังมวลชนในระดับผู้บริหาร และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของชาติ และการพัฒนาประเทศตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของกองทัพบก พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ภัยคุกคาม ด้านความมั่นคงของประเทศ โดยมีเนื้อหาวิชาที่สำคัญแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ภาควิชาการ ประกอบด้วย การบรรยายการสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ภารกิจ และการดำเนินงานของกองทัพบกและกองทัพภาคที่ 3 ปัญหาภัยคุกคาม ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ การเดินตามศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาประเทศ และความยั่งยืนรวมทั้งการสื่อสารดิจิทัล ภาคปฏิบัติประกอบด้วย การจัดเวทีเสวนา การเสวนาระดมความคิดเห็น การทัศนศึกษา กิจกรรมพัฒนาสัมพันธ์และการดำเนินงานจิตอาสา ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้ร่วมเป็นเครือข่ายและสนับสนุนงานด้านความมั่นคงของชาติ และร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาอย่างสร้างสรรค์ ในนามของสมาชิก พสบ.ทภ.3 ต่อไป ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าวพิษณุโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top