Sunday, 25 May 2025
NewsFeed

‘ติ๊ก เจษฎาภรณ์’ เปิดใจครั้งแรก หลังเจอดรามาโยงการเมือง ลั่น!! อยู่ที่คนจะตีความ แต่ต่อไปนี้จะระวังเรื่องโพสต์มากขึ้น

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 66 เรียกว่าไม่ได้มีการเคลื่อนไหวอะไรออกมาเลย หลังจากอยู่ผู้จัดหนุ่ม ‘ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี’ โดนทัวร์ลงหลังโพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ (X) ไว้ว่า “ในความมืดมิด…ไม้ขีดไฟแค่ 1 ก้านที่จุดติด คนนับล้านในรัศมีไกลจะมองเห็นเปลวแสงสว่างจากปลายไม้ขีดนั้น #ยิ่งมืดยิ่งสว่าง” ซึ่งถูกโยงเรื่องการเมืองที่กำลังร้อนระอุในช่วงนั้น

ล่าสุดได้เจอ ‘ติ๊ก เจษฎาภรณ์’ ในงาน ‘ลมพัดผ่านดาว Gala Event’ ที่ สยามพารากอน หลังจบงานผู้จัดคนเก่งได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าว

>> ถามถึงเรื่องดรามาในทวิตเตอร์ อยู่ ๆ ทัวร์ก็ลง ?

“ผมเข้าไปอ่านในคอมเมนต์เราไม่เรียกว่าทัวร์ลงดีกว่า ผมเห็นแต่คอมเมนต์ดี ๆ มันเป็นเรื่องของนานาจิตตัง ว่าคุณจะเข้าใจและตีความหมายแบบไหน แต่ถ้าย้อนกลับไปผมเป็นคนชอบเข้าป่าอยู่แล้วเราเรียนวิชาลูกเสือมา เรานึกถึงว่าในเวลายามค่ำคืน แสงสว่างที่มันจุดขึ้นมาเราจะเห็นในระยะไกลหลายกิโลเมตร ซึ่งอันนี้มันเป็นคำคมอะไรบางอย่างเท่านั้นเองครับ”

>> เราไม่ได้อิงการเมืองในตอนนี้ ?

“อิงในเรื่องธรรมชาติและพื้นป่าครับ (แต่คนก็เอาไปโยงเกี่ยวกับเรื่องการเมือง?) ผมว่าเรื่องของการโยงจะพูดแบบไหนก็แล้วแต่ มันสามารถโยงได้หมด ถ้าพูดถึงความเป็นประชาชนคนหนึ่งในสังคม ผมคิดว่าทุก ๆ คน สามารถพูดในเรื่องความคิดเห็นต่าง ๆ นี้ได้นะครับ

ต้องบอกว่าความรู้สึกของแต่ละคนมันมีความแตกต่างกันไป ผมว่าอยากให้มีการเปิดเสรีในการพูดเรื่องพวกนี้ โดยที่มันไม่ได้ทำให้เกิดความพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจกับใคร แต่ผมว่ามันคือแรงขับเคลื่อนที่จะทำให้สังคมและชีวิตการเป็นอยู่ต่าง ๆ รวมถึงองค์ภาพรวมต่าง ๆ ของเรา เคลื่อนไปในทิศทางที่ดี”

>> ตกใจไหมอยู่ ๆ เราก็มาเป็นประเด็นเรื่องนี้ ?

“เคยเจอมาบ่อยเหมือนกันครับ ผมว่าเราต้องไม่รู้สึกว่าการที่ใครออกมาพูดอะไรต้องโยงถึงเรื่องการเมืองเสมอ อยากให้มองมุมเปิดกว้าง ๆ และให้มองว่าเป็นเรื่องปกติของสังคม

>> เราอยากที่จะออกมาอธิบายไหมว่าสิ่งที่เราโพสต์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง ?

“ผมว่ามันไม่จำเป็นต้องอธิบาย ผมว่าเรื่องเหล่านี้มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ผมคิดอยู่เสมอว่าตราบใดที่เรายืนอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง และเราไม่ได้ทำอะไรผิดเราก็ไม่ต้องกลัวสิ่งใดบนโลกใบนี้”

>> ได้รับผลกระทบอะไรกับข่าวนี้ไหมทั้งตัวเราและครอบครัว ?

“ไม่มีครับ ทุกคนปกติไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป”

>> จากนี้เราจะระวังเรื่องการโพสต์มากขึ้นไหม การเมืองตอนนี้ค่อนข้างที่จะละเอียดอ่อน ?

“แน่นอนครับ ตอนนี้มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเปราะบาง ผมจะบอกว่าในบางแพลตฟอร์ม มันก็คือเรื่องของการที่ทำให้เราได้ ถ่ายทอดมุมมองต่าง ๆ ที่เรานึกคิด ณ ตอนนั้น ๆ มันก็อยู่ที่คนไปจับเรื่องนี้มาตีความครับ เราอยากให้ทุกคนได้เปิดใจให้กว้าง เปิดโอกาส มองเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น สาขา หรืองานอาชีพใด ๆ เราล้วนเป็น มนุษย์ซึ่งอยู่พื้นที่เดียวกันครับ”

ธปท.สภอ.จัดงานสัมมนาวิชาการ “ขับเคลื่อนภาคการเกษตรอีสานให้ ‘เปลี่ยนผ่าน’ สู่ความยั่งยืน”

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) จัดงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2566  เมื่อวันอังคารที่ 5 กันยายน 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้อง Convention 2-3 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ได้รับทราบทิศทางเศรษฐกิจการเงิน นโยบาย ธปท. รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจภาคอีสานในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อการวางแผนของภาคธุรกิจและครัวเรือน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อยกระดับและขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภาคธุรกิจ ภาคเกษตร สถาบันการเงิน การศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทางออนไลน์ (online) และ ณ สถานที่จัดงาน (onsite) โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 3 ช่วง

ในช่วงแรก เป็นช่วง Perspectives ในหัวข้อ “ชวนคุยทิศทางเศรษฐกิจ ชวนคิดปรับโครงสร้างภาคเกษตรอีสาน” โดย ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภอ. นำเสนอผลประมาณการเศรษฐกิจอีสาน (Gross Regional Product: GRP) เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจอีสานบางช่วงแตกต่างไปจากประเทศ รวมทั้งยังไม่มีการเผยแพร่ประมาณการไปข้างหน้า ทำให้การพิจารณาเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจประเทศอาจไม่สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจภูมิภาค ธปท.สภอ. จึงได้ศึกษาและจัดทำประมาณการเศรษฐกิจภูมิภาคที่ให้มุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งผลประมาณการเศรษฐกิจอีสานปี 66 คาดว่าหดตัวในช่วงร้อยละ -2.0 ถึง -1.0 โดยหดตัวเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ยกเว้นภาคก่อสร้าง และปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย อยู่ในช่วงร้อยละ 0.4-1.4 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับประเทศ โดยเฉพาะกิจกรรมหลักที่อีสานพึ่งพิงมากถึง 1 ใน 3 ได้แก่ ภาคเกษตรและการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรหดตัวจากสถานการณ์ภัยแล้ง เช่นเดียวกับด้านรายได้สุทธิของครัวเรือนในภาคอีสาน ปี 66-67 ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรที่มีมากถึง 4.3 ล้านครัวเรือน ทั้งนี้ GRP ที่ขยายตัวต่ำใน 2 ปีนี้ สะท้อนปัญหาเรื้อรังของโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรที่ผลิตภาพลดต่ำลงตลอดในช่วง 5 ปีหลังนี้ นอกจากนี้ ธปท. สภอ. ได้พัฒนาเครื่องชี้ Well-being Index สะท้อนความกินดีอยู่ดีของคนในอีสาน พบว่า แม้มิติด้านรายได้และการจ้างงานโดยรวมอีสานต่ำกว่าระดับประเทศ แต่ด้านความปลอดภัยและโครงสร้างพื้นฐานมีความโดดเด่นกว่าภาพรวมประเทศโดยเปรียบเทียบ สะท้อนถึงโอกาสในการยกระดับความเป็นอยู่ของคนในอีสานในระยะข้างหน้า ท้ายสุด ธปท.สภอ. ให้ความสำคัญยิ่งขึ้นกับการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินภาคอีสานในระยะยาว ทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน การสนับสนุนการแก้หนี้อย่างยั่งยืน และการร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาความเป็นอยู่ในพื้นที่

ช่วงที่สอง สนทนากับผู้ว่าการ เรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจการเงินไทย” ได้รับเกียรติจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ฉายภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาคการท่องเที่ยว แม้ว่า GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 66 ออกมาต่ำกว่าคาดจากอุปสงค์ต่างประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี แนวโน้มในปีนี้ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว จากการท่องเที่ยวและการบริโภคที่ขยายตัว ทั้งนี้ ธปท. จะเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่ในเดือน ก.ย. 66 โดยคาดว่าจะปรับลดลงจากภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด จากการชะลอของเศรษฐกิจจีนและ Global Electronic Cycle ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยว ภาพรวมยังเพิ่มขึ้นได้ตามคาด แม้นักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี คาดว่าอุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน รายได้ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรล่าสุดเดือน ก.ค. 66 ยังอยู่ในทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับเศรษฐกิจอีสานฟื้นตัวช้ากว่าประเทศและทุกภาค เนื่องจากประเทศและภาคอื่นมีภาคการท่องเที่ยวมาสนับสนุน ขณะที่อีสานยึดโยงกับภาคเกษตรซึ่งมีปัจจัยกดดันจากภัยแล้ง สำหรับทิศทางนโยบายการเงินมาถึงจุดเปลี่ยนจากดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่สะดุด (Smooth take off) มาเป็นมุ่งเน้นดูแลเศรษฐกิจโดยรวมให้สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อ (1-3%) และศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว (3-4%) ซึ่งมองว่ามีแนวโน้มเข้าใกล้จุดสมดุล (neutral) แล้ว

ด้านปัญหาหนี้ครัวเรือน ภาคอีสานมีภาระหนี้เฉลี่ยที่ต้องจ่ายต่อเดือนมากที่สุด โดยเฉพาะหนี้ภาคเกษตรที่โตเร็วมากที่สุดในรอบ 6 ปี เมื่อเทียบกับภาคอื่น และมีโอกาสจะกลายเป็นหนี้เรื้อรัง ที่ไม่สามารถปิดจบได้ รวมทั้งภาพรวมหนี้อีสานที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือน (P-loan) สูงกว่าภาคอื่น ซึ่ง ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุดและยั่งยืน อาทิ หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อปรับพฤติกรรมเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผ่านการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อตลอดวงจรหนี้ นอกจากนี้ จะมีการกำหนดแนวทางให้เจ้าหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ

สำหรับแนวทางการยกระดับภาคอีสาน ควรผลักดันนโยบายจากพื้นที่ (Bottom-up) ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และประชาชนในพื้นที่ ในระยะยาวเห็นโอกาสของภาคอีสานที่มีศักยภาพจาก (1) การเติบโตของเมืองที่มากกว่าภาคอื่น ๆ เช่น จากข้อมูลดาวเทียมพบว่ามีการขยายตัวของพื้นที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะในเมืองรอง (2) การค้าชายแดน ที่ระยะยาวคาดว่าจะดีขึ้น และ (3) ความได้เปรียบด้านประชากรที่มากกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรผลักดันการเติบโตในอนาคต

ในช่วงสุดท้าย เป็นการเสวนาภายใต้หัวข้อ “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน” ผ่านการเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณมานพ แก้วโกย ผู้บริหาร หจก. เนเจอร์ฟูดโปรดักส์แอนด์มาร์เก็ตติ้ง และ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ดำเนินรายการ จากการเสวนาสรุปประเด็นสำคัญได้ 4 ข้อ ดังนี้ (1) ทำไมภาคเกษตรอีสานถึงต้องปรับเปลี่ยน โดยปัจจุบันแรงงานภาคเกษตรเผชิญปัญหาสังคมสูงอายุ ทำให้ผลิตภาพ (Productivity) ต่ำ 

อีกทั้งเป็นอาชีพที่เสี่ยงสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ (High Risk Low Return) กอปรกับสภาพอากาศที่ผันผวนมากขึ้น เช่น สถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน ส่งผลให้ดินจะอุ้มน้ำได้น้อยลงกระทบต่อผลผลิต รวมถึงกิจกรรมการเกษตรส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น ๆ (2) อะไรเป็นอุปสรรคในการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน นโยบายภาครัฐส่วนใหญ่เน้นการแก้ปัญหาระยะสั้น และอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข ส่งผลให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปรับตัว นำมาซึ่งผลิตภาพภาคเกษตรที่ลดลงมาโดยตลอด และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ภาคเกษตรที่ยังเรื้อรังทำให้เกษตรกรยังทำเกษตรรูปแบบเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการปรับเปลี่ยน (3) แนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน การปรับตัวของเกษตรกรเหมือนคนทั่วไปมองความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและแรงจูงใจเป็นอันดับแรก โดยปกติการปรับเปลี่ยนอาจนำมาซึ่งต้นทุนและความเสี่ยงที่สูงขึ้น แต่หากทำให้เกษตรกรเห็นว่าผลดีที่จะเกิดขึ้นมีอะไรและช่วยลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรผ่านรูปแบบประกันความเสียหาย จะเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดีมากขึ้น และ (4) ใครต้องปรับตัว ผู้ร่วมเสวนาให้ความเห็นในทางเดียวกันว่าในการขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน จำเป็นต้องปรับตัวทั้งเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน โดยภาครัฐควรทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การมี Platform รายงานคุณภาพดินแบบเรียลไทม์ ให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม ทั้งนี้ ภาครัฐทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านข้อมูล (Big Data) และภาคเอกชนเป็นผู้จัดทำ Platform และโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ โดยเฉพาะระบบการจัดการน้ำให้ทั่วถึง

‘เท่ง เถิดเทิง’ เผย อยากเกิดเป็นมือถือของลูกๆ 

ความในใจของพ่อคนหนึ่งถึงลูกที่รัก

‘เท่ง เถิดเทิง’ นักแสดงตลกชื่อดังที่มีความสามารถรอบตัวอย่าง เคยเปิดใจในบทบาทของการเป็นพ่อคนในรายการ Piano & i EP.24

โดยในช่วงหนึ่งที่ เท่ง ได้เผยว่าเคยแต่เขียนเพลงหนึ่งไว้ให้ลูก ๆ ตั้งชื่อเพลงว่า ‘อยากเป็นมือถือในมือเธอ’ พร้อมเล่าบทสนทนากับลูก ๆ ที่เป็นที่มาของเพลงนี้ให้ไว้ว่า

"คุยกับเขาว่า ถ้าหนูเลือกเกิดได้ หนูอยากเกิดเป็นลูกใคร ทุกคนตอบ เกิดเป็นลูกคุณพ่อ แล้วคุณพ่อล่ะถ้าเลือกเกิดได้อยากเกิดเป็นอะไร คุณพ่ออยากเกิดเป็นมือถือหนูอะ เพราะหนูไม่เคยห่างมันเลยเนอะ มันนอนด้วย มันคุยกับหนูทั้งคืนเลยอะ

เราได้เจอะเจอกันน้อยนะลูกนะ นี่คือสิ่งที่พ่ออยากเกิดเป็นมือถือหนู พ่อไม่มีคำคมอะไร พ่อพูดจากความรู้สึกของพ่อ มือถือแบตจะหมด หนูตามหาสายชาร์จอยู่ไหน แต่พ่อไม่ต้องชาร์จลูก แค่รอยยิ้มลูก พ่อชาร์จอยู่ตลอด เขานั่งร้องไห้ เลยเขียนเพลงขึ้นมา อยากเป็นมือถือในมือเธอ"

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 28 ส.ค. - 1 ก.ย. 66 จับตาปัจจัย 'บวก-ลบ' ชี้แนวโน้ม 4 - 8 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงทุกชนิด เฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุด 1 ก.ย. 66 เพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดคาดว่าซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาอาสาลดการผลิตน้ำมันดิบ (ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ออกไปถึงเดือน ต.ค. 66 จากเดิมช่วง ก.ค.- ก.ย. 66 ขณะที่รัสเซียจะขยายเวลาลดการส่งออกน้ำมันดิบออกไปถึง ต.ค. 66 เช่นกัน (ก่อนหน้ารัสเซียประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 66 ปริมาณ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเดือน ก.ย. 66 ปริมาณ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และอาจจะอาสาลดการผลิตจนสิ้นปีนี้

พายุเฮอริเคน Idalia (ระดับ 3: ความเร็วลมสูงสุด 179 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เคลื่อนผ่านรัฐ Florida ของสหรัฐฯ ทำให้บริษัท Chevron อพยพพนักงานออกจากแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม (Platforms) แถบ Gulf of Mexico (GoM) บางส่วน โดย Reuters คาดว่าจะกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 0.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ GoM ผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 15% ของการผลิตในสหรัฐฯ

ด้านเศรษฐกิจ ดัชนีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐฯ (Core Personal Consumption Expenditure: PCE) ที่ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งใช้วัดเงินเฟ้อ ในเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ +3.3% จากปีก่อน ต่ำกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์จาก Reuters คาดว่าจะอยู่ที่ +4.2 จากปีก่อน ทำให้ FedWatch Tool ของ CME Group ประเมินว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 19-20 ก.ย. 66 นักลงทุนให้น้ำหนัก 88% ที่ FOMC จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% และให้น้ำหนัก 12% ที่จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

ภาคอุตสาหกรรมของจีนยังคงชะลอตัว โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index: PMI) ภาคการผลิตของรัฐวิสาหกิจและบริษัทขนาดใหญ่ ในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 49.7 จุด รัฐบาลจีนมีแนวโน้มจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่อง

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 85-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

‘ปตท.’ ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ ประลองไอเดียขายสินค้าชุมชน  ในโครงการ ‘Young Influencer Challenge Thailand 2023’

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 66 นางกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานปฐมนิเทศ โครงการ ‘Young Influencer Challenge Thailand 2023 : ชวน U สร้างรอยยิ้ม’ กิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงพลังและไอเดียความคิดสร้างสรรค์ แข่งขันจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนใน ‘โครงการชุมชนยิ้มได้ โดย กลุ่ม ปตท.’ ผ่าน 30 ทีมเยาวชนจาก 10 มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นด้วยความร่วมมือของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยอง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด โดยมีคณาจารย์ และนิสิตนักศึกษา กว่า 200 คน ร่วมงาน ณ ปตท. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

นางกนกพร เปิดเผยว่า ปตท. เล็งเห็นถึงศักยภาพและพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ที่สามารถช่วยสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น จึงจัดโครงการ ‘Young Influencer Challenge Thailand 2023 : ชวน U สร้างรอยยิ้ม’ เพื่อเฟ้นหาทีมสุดยอดนักขายผลิตภัณฑ์ชุมชน ผ่าน  www.ชุมชนยิ้มได้.com ซึ่งนิสิต นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับประสบการณ์จริง จากการนำทักษะความรู้มาใช้ในการจัดทำแผนการตลาดและเทคนิคการขายสินค้าชุมชนออนไลน์ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเจ้าของสินค้า อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายอินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนให้เติบโตต่อไป

อนึ่ง ‘โครงการชุมชนยิ้มได้ โดย กลุ่ม ปตท.’ เป็นหนึ่งในโครงการ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ชุมชนมีความยากลําบากด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ปตท. จึงพัฒนา Platform www.ชุมชนยิ้มได้.com ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และยังคงเปิดช่องทางจําหน่ายนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และเปิด ‘ร้านชุมชนยิ้มได้ Official Store’ แห่งแรก ณ ปตท. สำนักงานใหญ่ เพื่อเป็นจุดจำหน่ายสินค้าชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

ตลอดระยะเวลา 45 ปี ปตท. มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

‘เปาะเปี๊ยะข้าวยำหมูย่าง’ เมนูสุดเด็ดเชฟส์เทเบิ้ล ของดีเมืองตรัง ได้รสสัมผัสข้าวยำปักษ์ใต้ หอมกลิ่นสมุนไพร ลองแล้วจะติดใจ!!

เปิดสูตรเด็ด ‘เปาะเปี๊ยะข้าวยำหมูย่าง’ อาหารกินเล่นสุดว้าว จากเชฟส์เทเบิ้ล ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว จนเป็นเมนูยอดฮิตของรีสอร์ทหนึ่ง ในจังหวัดตรัง

‘ข้าวยำไส้หมูย่างทอดกรอบ’ เมนูสุดว้าวจากเชฟส์เทเบิ้ล อร่อย 1 คำ จะได้รสสัมผัสของข้าวยำปักษ์ใต้ ที่หอมคละคลุ้งไปด้วยสมุนไพร และในขณะเดียวกันก็จะได้กินหมูย่างเมืองตรังไปด้วย

แม้ข้าวยำจะเป็นอาหารประจำถิ่นที่นิยมรับประทานใน 3 จังหวัดชายแดนได้ และล่าสุด ‘กรมส่งเสริมวัฒนธรรม’ (สวธ.) ประกาศรายชื่อผลคัดเลือก 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ภายใต้โครงการการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย ‘รสชาติ...ที่หายไป’ (The Lost Tasts) ประจำปี 2566 ซึ่งจังหวัดได้รับการคัดเลือก ‘ข้าวยำโจร’ นั้นข้าวยำโจร ก็มีลักษณะเป็นข้าวยำคลุกด้วยเครื่องสมุนไพร ก็ไม่ต่างกับข้าวยำคลุกในจังหวัดอื่นในภาคใต้

แต่ที่จังหวัดตรัง นายจิรวัฒน์ วิระพรสวรรค์ หรือมิก อายุ 28 ปี หนุ่มสถาปนิก จากรั้วสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับบ้านช่วยครอบครัวบริหารรีสอร์ท และเป็นผู้ที่ชื่นชอบการทำอาหาร จนนับได้ว่าเป็น เชฟส์เทเบิ้ล แนวหน้าคนหนึ่งของจังหวัดตรัง โดยการคิดและค้นหาวัตถุดิบในชุมชนมารังสรรค์เป็นอาหารสุดว้าว ที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านเมนูจานอาหารที่เชฟรังสรรค์ขึ้น โดยแต่ละเมนูนั้นจะมีความพิเศษทั้งในเรื่องของวัตถุดิบและเรื่องราวมากมายที่เกิดจากชุมชน มานำเสนอในจานอาหาร

โดยนำ ‘ข้าวเบายอดม่วง’ ข้าวพื้นเมืองชื่อดังที่กำลังอยู่ระหว่างการผลักดันให้ได้รับ GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นข้าวพื้นเมืองของจังหวัดตรัง มาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นเมนูที่หลากหลาย โดยเฉพาะข้าวยำไส้หมูย่างทอดกรอบ นอกจากนี้มีการวิจัยพบว่าข้าวเบายอดม่วงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีโปรตีนสูง แต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ รับประทานแล้วไม่อ้วน และข้าวเบายอดม่วง มีลักษณะเนื้อข้าวที่เหนียวหนึบนุ่ม คล้ายกับข้าวญี่ปุ่น เหมาะต่อการนำมาทำข้าวยำไส้หมูย่างทอดกรอบ เวลาม้วนข้าวจะมาแตก เกาะตัวกับไส้ได้เป็นอย่างดี

เพิ่มความอร่อยด้วยการนำหมูย่างเมืองตรัง ที่ได้รับการคุ้มครองเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ในปี พ.ศ. 2548 มาเป็นส่วนผสมในข้าวยำไส้หมูย่างทอดกรอบด้วย เมื่อรับประทานข้าวยำไส้หมูย่างทอดกรอบ 1 คำจะได้รสสัมผัสของข้าวยำปักษ์ใต้ ที่หอมคละคลุ้งไปด้วยสมุนไพร และในขณะเดียวกันก็จะได้กินหมูย่างเมืองตรังไปด้วย เปรียบได้กับกินจังหวัดตรังไปเลยที่เดียว

การทำเปาะเปี๊ยะข้าวยำหมูย่าง ทางนายจิรวัฒน์ ก็ได้นำสมุนไพรที่ปลูกไว้ในสวนของรีสอร์ท มาเป็นส่วนผสมไม่ว่าจะเป็น ตะไคร้ ในมะกรูด ใบชะพลู ดอกดาหลา ถั่วฝักยาว มะม่วงเบา มะพร้าวคั่ว และที่ต้องซื้อหาเพิ่มเติม เช่น กุ้งแห้งป่น พริกป่น น้ำบูดู ขั้นตอนการทำก็เริ่มจากนำเครื่องข้าวยำ ที่เตรียมไว้ใสลงไปในถ้วยแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน เติมน้ำบูดูลงไป คนให้เข้ากัน จากนั้นนำใบชะพลูมาเรียงก่อนที่จะตักข้าวยำที่คลุกเคล้าแล้ว ลงไปวางบนใบชะพลูตามด้วยการใส่หมูย่างลงไป ก็ทำการม้วนให้แน่น

ก่อนนำไปชุบแป้งทอดกรอบ และนำไปทอดในน้ำมันร้อนๆ ประมาณ 5-10 นาที ตักขึ้นมาพักให้เย็นจึงจะหันมาเป็นชิ้นๆ รับประทานเปาะเปี๊ยะข้าวยำหมูย่าง 1 คำ จะได้รสสัมผัสที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นตรัง เพราะมีทั้งความเป็นข้าวยำ น้ำบูดู แบบฉบับของปักษ์ใต้ หอมหวานด้วยหมูย่างเมืองตรัง ความกรอบนอกนุ่มในของแป้งและใบชะพลู อร่อยไปอีกแบบ

ส่วนใครสนใจ ลิ้มลองเมนู ‘เปาะเปี๊ยะข้าวยำหมูย่าง’ ไปกันได้ที่ห้องอาหาร กะช่องฮิลล์ รีสอร์ท 45 หมู่ 7 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง โทรศัพท์ : 075-573-513 ส่วนใครจะนำไปทำรับประทานเองก็ไม่หวงสูตร

‘ชลน่าน’ ยัน พร้อมยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค  รื้อระบบให้ ปชช. เข้าถึงการรักษาได้ทุกที่ ทุกเวลา

(6 ก.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายแรกด้านกระทรวงสาธารณสุขที่จะดำเนินการว่า จะเป็นไปตามนโยบายที่เราจะแถลงต่อรัฐสภา เป็นเรื่องแรกที่เราจะต้องทำ

เมื่อถามถึงการยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค? นพ.ชลน่าน กล่าวว่า "เราใช้คำว่ายกระดับ เพราะเป็นโครงการเดิมแล้วปรับตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งเดิมมีลักษณะของคนที่มีรายได้ เมื่อเข้ารับบริการจะเสียค่าธรรมเนียม 30 บาท แต่เมื่อมีการปรับมาเรื่อย ๆ ตรงนี้ก็หายไป ตัดออกไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีรายได้ก็ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเมื่อเข้ารับการรักษา

"ส่วนโครงการใหม่ที่เราจะทำนั้นไม่ได้พูดถึงเรื่องการจ่าย แต่เราพูดถึงเรื่องยกระดับขึ้นมาเพื่อที่จะให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยใช้บัตรประชาชนสามารถเข้ารักษาได้ทุกที่ เป็นการครอบคลุมเรื่องของคุณภาพและประสิทธิภาพ ถ้าระบบเราสมบูรณ์จะสามารถใช้ได้ทุกที่"

เมื่อถามว่า ระบบดังกล่าวจะใช้เวลานานหรือไม่? นพ.ชลน่าน กล่าวว่า "ก็ต้องใช้เวลาในการพัฒนา ส่วนจะนานหรือไม่นั้นตนต้องขอดูในรายละเอียด"

‘หัวเว่ย’ เปิดตัวสมาร์ตโฟน ‘Mate 60 Pro’ ใช้ ‘ชิป 7 นาโนเมตร’ ผลิตในจีน เร็วกว่า 5G!!

‘หัวเว่ย’ (Huawei) เปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ Mate 60 Pro ที่สร้างเสียงฮือฮาอย่างมากในหมู่ผู้ใช้งาน โดย TechInsights บริษัทวิเคราะห์ระบุว่า สมาร์ตโฟนรุ่นล่าสุดของหัวเว่ยใช้ชิป 7 นาโนเมตร ที่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งผลิตขึ้นเองในจีนทั้งหมด

TechInsights เผยว่า สมาร์ตโฟน Mate 60 Pro ใช้ชิป Kirin 9000 ที่ผลิตขึ้นในจีนโดยบริษัท Semiconductor Manufacturing International Corp (SMIC) ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการใช้เทคโนโลยี 7 นาโนเมตรที่ทันสมัยที่สุดของ SMIC ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจีนกำลังมีความก้าวหน้าในความพยายามที่จะสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการพัฒนาชิปภายในประเทศ

การเปิดตัวสมาร์ตโฟนดังกล่าว ได้สร้างความคลั่งไคล้ขึ้นในผู้ใช้โซเชียลมีเดียของจีน และสื่อของรัฐฯ โดยผู้ซื้อโทรศัพท์มือถือ Mate 60 Pro ของหัวเว่ยได้โพสต์วิดีโอแบบแยกส่วน และแชร์ข้อมูลของการทดสอบความเร็วในโซเชียลมีเดีย ซึ่งพวกเขาบอกว่า Mate 60 Pro มีความเร็วในการดาวน์โหลดสูงกว่าโทรศัพท์มือถือชั้นนำที่ใช้ระบบ 5G

บางคนตั้งข้อสังเกตว่า กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการเดินทางเยือนจีนของจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่ง ‘แดน ฮัตชิสัน’ นักวิเคราะห์จาก TechInsights บอกกับรอยเตอร์ว่า พัฒนาการที่เกิดขึ้นดังกล่าวเหมือนกับการ ‘ตบหน้า’ สหรัฐฯ เพราะไรมอนโดเดินทางมาจีน เพื่อหาทางทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น แต่ชิปตัวนี้เหมือนจะพูดว่า “ดูสิ่งที่เราสามารถทำได้สิ เราไม่ต้องการคุณ”

ตั้งแต่ต้นปี 2019 เป็นต้นมา สหรัฐฯ จำกัดไม่ให้หัวเว่ยเข้าถึงเครื่องมือสร้างชิปที่จำเป็นสำหรับสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ที่มีความทันสมัยที่สุด ซึ่งทำให้บริษัทเปิดตัวมือถือรุ่น 5G ได้เพียงจำกัดโดยใช้ชิปที่มีเก็บไว้เท่านั้น

อย่างไรก็ดี บริษัทวิจัยบอกกับรอยเตอร์เมื่อเดือนกรกฎาคมว่า พวกเขาเชื่อว่าหัวเว่ยกำลังวางแผนที่จะกลับเข้าสู่อุตสาหกรรมสมาร์ตโฟน 5G ภายในสิ้นปีนี้ โดยใช้ความก้าวหน้าของตนเองในการออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ ควบคู่กับการผลิตชิปจาก SMIC

‘อินเดีย’ ส่งซิกอาจเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ‘ภารัต’ ในเวทีประชุม G20 ส่วนทางด้านรัฐบาลยังไม่ออกมายืนยันหรือปฏิเสธเกี่ยวกับเรื่องนี้

(6 ก.ย. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า อินเดียอาจกำลังพยายามจะเปลี่ยนชื่อประเทศจากอินเดีย เป็น ‘ภารัต’ ซึ่งเป็นชื่อประเทศอินเดียในภาษาฮินดี

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมา เมื่อหลายคนพบเห็นป้ายคัตเอาท์ที่มีข้อความต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม จี 20 ที่อินเดียเป็นเจ้าภาพที่กรุงนิวเดลี ระหว่างวันที่ 9-10 ก.ย. นี้ โดยใช้ชื่ออินเดียในภาษาอังกฤษ และ ภารัต หรือภารตะในภาษาฮินดี

นอกจากนี้ ในบัตรเชิญเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ที่ประธานาธิบดีดรูพาดี มูร์มู ของอินเดีย ส่งให้ผู้นำต่างชาติ ได้ระบุว่าเธอเป็นประธานาธิบดีแห่งภารัต ยิ่งทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลอินเดียกำลังดำเนินความพยายามที่จะเปลี่ยนชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ จากอินเดีย เป็นภารัต อันเป็นภาษาฮินดีที่หมายถึงประเทศอินเดีย และมีที่มาจากชื่อกษัตริย์ภารตะที่เคยครอบครองดินแดนในแถบอินเดียทั้งหมด

รัฐบาลอินเดียยังไม่ยืนยันหรือปฏิเสธเรื่องนี้ ขณะที่เว็บไซต์ของทางการยังคงใช้ชื่อประเทศอินเดียอยู่ ด้านสมาชิกพรรคภารติยะ ชนตะหรือบีเจพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอินเดียพากันยกย่องและแสดงท่าทีเห็นด้วย เพราะมองว่าคำว่า ภารัต เป็นความภาคภูมิใจของชาวอินเดีย เป็นชื่อประเทศอินเดียแท้ๆ ไม่ใช่คำว่าอินเดียที่ถูกนำมาใช้ในยุคที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ และเป็นสัญลักษณ์แห่งระบบทาส ภายใต้การปกครองของอังกฤษนาน 200 ปี จนกระทั่งได้รับอิสรภาพในปี พ.ศ.2490 ขณะที่ พรรคฝ่ายค้านอินเดียวิพากษ์วิจารณ์ และแย้งว่าควรใช้ชื่ออินเดียและภารัตไว้ในฐานะชื่อทางการต่อไป

ด่วน!! ออกหมายจับ ‘อิทธิพล คุณปลื้ม’ หลังเบี้ยวนัดศาล คดีอนุมัติสร้างคอนโดหรู บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา

(6 ก.ย. 66) นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 จังหวัดระยอง ได้ออกหมายจับ นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟรอนท์ฯ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ไม่ถูกต้องตามกฎหมายว่า…

เรื่องดังกล่าวได้ทราบจาก นายคำนึง วงษ์ทวีทรัพย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ว่าพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ได้นัดให้ ป.ป.ช. นำตัวนายอิทธิพลมาพบพนักงานอัยการ เพื่อยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่นายอิทธิพลไม่เดินทางมาตามนัด พนักงานอัยการจึงแจ้งให้ ป.ป.ช.ผู้ร้องไปดำเนินการขอศาลออกหมายจับ และศาลออกหมายจับเมื่อวันที่ 5 ก.ย. พนักงานอัยการมีหน้าที่ประสานให้นำตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องตามกฎหมายต่อไป

“คดีนี้ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้อัยการเมื่อวันที่ 3 ส.ค. อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้อง 30 ส.ค. คดีอยู่ที่อัยการไม่ถึงเดือน” นายโกศลวัฒน์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top