'วิษณุ' เคลียร์ชัดขอบเขต 'กัญชาเสรี' เริ่ม 9 มิ.ย.นี้ หวั่นเยาวชนเข้าถึงง่าย เล็งถกหาวิธีรับมือ
31 พ.ค.2565 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการสำหรับประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 ที่จะมีผลวันที่ 9 มิ.ย. แต่ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ยังไม่ประกาศใช้ว่า ยังไม่มีความชัดเจน โดยตนได้ให้การบ้าน แต่ละหน่วยงาน เช่น ตัวแทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม นักวิชาการ นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รวมถึงอาจารย์แพทย์ร.พ.จุฬาลงกรณ์ แพทย์จาก ร.พ.ศิริราช และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข ไปหาตัวเลขเพิ่มเติมในบางเรื่อง ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานได้มาบอกให้ที่ประชุมทราบว่า ในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ หากไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผลกระทบในด้านต่าง ๆ จะมีอะไรบ้าง แต่บังเอิญตัวเลขยังไม่ชัดเจน จึงให้ไปทำตัวเลขมาใหม่ แล้วมาหารือกันอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่าสิ่งที่หน่วยงานต่างๆมีความเป็นห่วงคืออะไร นายวิษณุ กล่าวว่า มีความเป็นห่วงเรื่องที่ครั้งก่อนเราทอดเวลา จากเดือนกุมภาพันธ์ มา 120 วัน ซึ่งจะมาครบในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ เพราะเราคาดหมายว่า จะมีกฎหมายเข้าสภา เราต้องไม่ลืมว่าการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จากนั้นสภาปิด ก็คิดว่าจนถึงวันนี้กฎหมายจะเข้าสภาได้ อย่างน้อยเข้าไปแล้วยังไม่เสร็จก็ไม่เป็นไร เพราะช่วงปิดสมัยประชุมกรรมาธิการก็ยังทำงานได้ ซึ่งเราก็จะสามารถไปพูดกับต่างประเทศที่เราเป็นประเทศสมาชิกได้ แต่บังเอิญกฎหมายยังไม่ได้เข้าสภา เพราะ โควิด-19 ประธานสภามีการสั่งงดประชุม กฎหมายจึงยังไม่ถูกนำเข้าสภา ดังนั้นวันที่ 9 มิถุนายนที่จะเปิดเสรี อาจเกิดความหวาดระแวงจากต่างประเทศ รวมถึงครู ผู้ปกครองก็อาจระแวงลูกหลาน จึงฝากให้กระทรวงสาธารณสุขไปคิดว่าจะมีมาตรการอย่างไร ซึ่งอันที่จริงเขาก็มีอยู่แล้ว แต่อาจยังไม่รัดกุม จึงขอให้ไปคิดอีกทีอย่างไรก็ตามในวันที่ 8 มิถุนายน กฎหมายจะเข้าสภาวาระ1 เราคงพอเห็นหน้าเห็นหลังบ้างแล้ว
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อทำการบ้านมาเสร็จแล้ว ก็จะได้หารือกันอีกครั้งในเร็วๆนี้ เพราะตนอยากให้ได้ความชัดเจนก่อนที่กฎหมายจะเข้าสภา และไม่ต้องการให้เกิดสุญญากาศ หรือถ้าจะเกิดสุญญากาศจริงๆ ก็เป็นสุญญากาศที่สามารถมีคำอธิบายให้กับประชาชนได้ ระหว่างนี้กระทรวงสาธารณสุขก็จะงัดกฎหมายทุกฉบับที่มี ขึ้นมาใช้ควบคุมก่อน เช่น กฎหมายกำหนดให้กลิ่นและควัน กัญชากัญชง หรือพืชอื่นใดในทำนองเดียวกัน เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. ... ซึ่งจะมีความผิดในเรื่องการก่อเหตุรำคาญ หรือใครนำไปผสมอาหาร ก็จะผิดพระราชบัญญัติอาหาร ใครนำไปผสมในยาก็จะผิดพระราชบัญญัติยา ใครนำไปทำน้ำมันกัญชาโดยไม่ขออนุญาต ก็จะผิดตามกฏหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขณะเดียวกันกรมสรรพสามิตก็จะตามเก็บภาษี เพราะการผลิตน้ำมันกัญชาต้องเสียภาษี
