Saturday, 5 July 2025
NewsFeed

ALL NEW MG3 HYBRID+ คว้ารางวัล Affordable Hybrid Car of the Year 2025 ด้วยระบบไฮบริด สมรรถนะเหนือชั้น!! ราคาคุ้มค่า และประหยัดน้ำมัน ยอดเยี่ยม

(5 ก.ค. 68) บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศ ไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย เผยความสำเร็จอันโดดเด่นของ ALL NEW MG3 HYBRID+ ที่สร้างชื่อเสียงอีกครั้งในตลาดยุโรป ด้วยการคว้ารางวัล Affordable Hybrid Car of the Year 2025 จากสื่อยานยนต์ชั้นนำแห่งสหราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยได้รับคำชื่นชมทั้งในด้านสมรรถนะอันทรงพลัง การขับขี่ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความคุ้มค่าเหนือราคา และความประหยัดน้ำมันที่เกินความคาดหมาย ซึ่งรุ่นที่จำหน่ายในตลาดโลกนี้เป็นรุ่นเดียวกับที่ผลิตและประกอบในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความเป็น “ไฮบริดตัวจี๊ด” ที่พร้อมตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วโลกอย่างแท้จริง

ตลาดรถยนต์ไฮบริดขนาดเล็กถือเป็นตลาดที่มีความท้าทาย ด้วยการแข่งขันที่สูงและมีตัวเลือกที่หลากหลาย โดย ALL NEW MG3 HYBRID+ ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน ด้วยแนวคิดในการออกแบบที่มุ่งเน้นทั้ง สมรรถนะและความคุ้มค่า ด้วยระบบขับเคลื่อนไฮบริดที่ประสานการทำงานระหว่างเครื่องยนต์เบนซินและมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างชาญฉลาด ALL NEW MG3 HYBRID+ มาพร้อมพละกำลังรวมสูงสุดถึง 192 แรงม้า อัตราเร่งจาก 0–100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในเวลาเพียง 8 วินาที ซึ่งถือเป็นระดับสมรรถนะที่เหนือกว่ามาตรฐานของรถในเซกเมนต์เดียวกันอย่างชัดเจน สมรรถนะนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่ 'ความแรง' หากแต่เป็นการออกแบบให้ แรงอย่างมั่นใจ เร้าใจอย่างมีสมดุล พร้อมตอบสนองได้อย่างคล่องตัวทั้งการใช้งานในเมือง รวมไปถึงบนถนนสายหลักที่ต้องการกำลังเครื่องที่ต่อเนื่องและนิ่งแน่น

หนึ่งในคุณสมบัติอันโดดเด่นที่ได้รับเสียงชื่นชมจากทั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและสื่อมวลชนสายยานยนต์ระดับแนวหน้าคือ “อัตราความประหยัดน้ำมันที่น่าทึ่ง ผสานความรู้สึกในการขับขี่ที่ใกล้เคียงกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100%” โดย ALL NEW MG3 HYBRID+ มาพร้อมระบบขับเคลื่อนไฮบริดที่ให้มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานเป็นหลัก จึงสามารถทำอัตราสิ้นเปลืองได้เฉลี่ยสูงถึง 26.2 กิโลเมตรต่อลิตร ทำระยะทางได้ไกลสูงสุดมากกว่า 800 กิโลเมตร การันตีด้วยการขับทดสอบโดยสื่อมวลชนในประเทศไทยและทั่วโลก สะท้อนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ผู้ใช้จริงในทุกมิติ ภายในห้องโดยสารถูกออกแบบอย่างพิถีพิถัน ให้ความกว้างขวางเหนือกว่ารถระดับเดียวกัน พร้อมพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลังที่รองรับได้มากถึง 1,037 ลิตร เติมเต็มฟังก์ชันความปลอดภัยและความสะดวกสบายด้วยอุปกรณ์มาตรฐานที่ครบครัน

ซึ่งก่อนหน้านี้ ALL NEW MG3 HYBRID+ ยังสามารถครองใจทั้งผู้บริโภคและนักวิจารณ์ในระดับสากล ด้วยการคว้ารางวัลอันทรงเกียรติอย่าง Affordable Car of the Year 2024 จาก Auto Express UK และ Best Value Car จาก The Business Car Awards ประเทศอังกฤษ ตอกย้ำความคุ้มค่าที่ไม่ใช่แค่คำพูด สำหรับประเทศไทย ALL NEW MG3 HYBRID+ ยังได้รับเกียรติสูงสุดด้วยการรับรางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมประจำปี 2567 (Thailand Car of the Year 2024) ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) ถือเป็นบทพิสูจน์อีกขั้นของคุณค่าทางผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านสมรรถนะและความคุ้มค่าจริงในสายตาผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ALL NEW MG3 HYBRID+ ไม่ได้เป็นเพียงยนตรกรรมรุ่นใหม่ในกลุ่มไฮบริดราคาประหยัด แต่ได้ก้าวลงแข่งขันในเกมการแข่งขัน Gymkhana GC Grid Competition Series 2025 ซึ่งแสดงให้เห็นสมรรถนะของรถยนต์ที่ลงตัว นี่คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์สำคัญของความมุ่งมั่นจาก เอ็มจี ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่การผลิตรถยนต์ แต่ยังเดินหน้าสร้างสรรค์อนาคตของการขับเคลื่อนผ่านนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าถึงได้จริงสำหรับผู้บริโภคในทุกระดับ ALL NEW MG3 HYBRID+ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการเป็น “ไฮบริดตัวจี๊ด” กับการเปลี่ยนผ่านที่ทรงพลัง สะท้อนภาพลักษณ์ใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย สมรรถนะเหนือชั้น และความคุ้มค่าเหนือความคาดหมายไว้ได้อย่างลงตัวในรถยนต์รุ่นเดียว การได้รับรางวัล “Affordable Hybrid Car of the Year 2025” จากสื่อยานยนต์ชั้นนำในสหราชอาณาจักรถือเป็นอีกหนึ่งรางวัลที่สะท้อนถึงความไว้วางใจระดับนานาชาติที่มีต่อแบรนด์ ทั้งนี้ เอ็มจี จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้จริงในราคาที่เข้าถึงง่าย พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตของยนตรกรรมอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป”

ALL NEW MG3 HYBRID+ ไฮบริดคุณภาพที่ครบเครื่องและคุ้มค่า ด้วยราคาจำหน่ายเริ่มต้นเพียง 579,900 บาท พร้อมแคมเปญพิเศษ ดาวน์เริ่มต้นเพียง 8,888 บาท หรือ ผ่อนสบาย ๆ เริ่มเพียง 2,516 บาทต่อเดือน พร้อมการรับประกันตัวรถและระบบไฮบริดนาน 6 ปี หรือ 140,000 กิโลเมตร รวมถึง การรับประกันแบตเตอรี่ไฮบริดนาน 10 ปี โดยไม่จำกัดระยะทาง โดยผู้สนใจสามารถทดลองขับและเป็นเจ้าของได้แล้ววันนี้ที่โชว์รูมและศูนย์บริการคุณภาพ เอ็มจี ทั่วประเทศ 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ MG CALL CENTRE โทร. 1267 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมของเอ็มจี ได้ที่ 
Website: www.mgcars.com 
Line: @MGThailand
Facebook: www.facebook.com/MGcarsThailand
Twitter: @mg_thailand
Instagram: @mgthailand
Youtube: MG Thailand
TikTok: @mgthailand
Application: MG Thailand

คำใส่ร้าย!! ‘จีน’ จากชาติตะวันตก ไม่อาจขัดขวางการพัฒนาได้ ทันสมัย!! เจริญ เหมือนสวรรค์ ไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย

(5 ก.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘ลึกชัดกับผิงผิง’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ชาวต่างชาติคนหนึ่งไปเที่ยวจีน แล้วโพสต์ภาพจีนใหม่กับจีนเก่า และบอกว่า ถูกสื่อตะวันตกหลอกเป็นเวลานาน สหรัฐอเมริกาและตะวันตก มักจะใส่ร้ายจีนว่า เผด็จการ ยากจน ล้าหลัง โง่ ลัทธิฟาสซิสต์ ไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บังคับใช้แรงงาน กับดักหนี้จีน เป็นต้น 

กระทั่งมีคำโกหกที่น่าขันว่า “ชาวจีนไม่กล้าร้องไห้ในสถานที่สาธารณะ เพราะเป็นการแสดงอารมณ์ที่ไม่ดี จะถูกรัฐบาลจับไปติดคุก” ซึ่งคำพูดแบบนี้ ก็มีชาวต่างชาติส่วนหนึ่งหลงเชื่อด้วย 

อย่างไรก็ตาม แม้คำใส่ร้ายจีนอาจทำให้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของจีนสูญเสียไปบ้าง แต่ไม่สามารถขัดขวางการพัฒนาและความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วของจีน เพราะตอนนี้ยอดการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนมากกว่ายอดรวมของกลุ่มจี 7 

ปัจจุบัน จีนกำลังขยับขึ้นมาเป็นผู้นำโลก และโชว์ให้เห็นสังคมที่ทันสมัยที่มีอารยธรรมกว่า 5,000 ปี ที่มีเสรีภาพที่แท้จริงและมีระบอบประชาธิปไตยแบบจีน ที่ชาวจีนมีอำนาจตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้อย่างเปิดเผยตลอดเวลา เพื่อผลประโยชน์ที่แท้จริงของตน 

สังคมจีนปัจจุบัน ชาวบ้านจะเดินเล่นตามถนนหนทางตอนกลางคืนอย่างสบาย ไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย มือถือลืมที่ร้านอาหาร ไม่ต้องห่วง ไม่มีใครขโมยหรือหยิบไปใช้ กระเป๋าเดินทางลืมที่สถานีรถไฟหรือสนามบิน ไม่ต้องห่วง ไม่มีใครเอาไป 

นายโธมัส ฟรีดแมน (Thomas Friedman)คอลัมนิสต์ชื่อดังของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ ที่แต่ก่อนมักชอบเขียนบทความประณามจีน เมื่อเร็วๆ นี้ได้เดินทางมาเยือนจีน หลังไปเยี่ยมชมศูนย์วิจัยแห่งใหม่บริษัทหัวเหวยที่นครเซี่ยงไฮ้ ที่มีพื้นที่เท่ากับสนามฟุตบอลของสหรัฐอเมริกา 225 สนามแล้ว ก็ซื้อตั๋วรถไฟความเร็วเพื่อชมจีนต่อไป เขากล่าวว่า ในจีนปัจจุบัน ผมได้เห็นอนาคตของโลก มิใช่อยู่ในสหรัฐอเมริกา

ผู้บริหาร ARIP วิเคราะห์!! ความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์ ในยุคเทคโนโลยีแบ่งขั้ว โลก AI ไม่ได้วัดกันที่ใครเร็วที่สุด แต่ใครจะอยู่รอด ปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์

(5 ก.ค. 68) นายปฐม อินทโรดม กรรมการผู้จัดการ บมจ. เออาร์ไอพี (ARIP) ผู้จัดงานคอมมาร์ท ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

เมื่อ NVIDIA หายไป: ความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์ของ AI ไทยในยุคเทคโนโลยีแบ่งขั้ว

ประเทศไทยอาจถูกอเมริกาแบนการส่งออกเทคโนโลยีชั้นสูง โดยเฉพาะชิป GPU ของ NVIDIA ผู้ผลิตชิปกลุ่ม GPU (Graphic Processing Unit) โดยเฉพาะรุ่นเรือธงอย่าง A100, H100 และล่าสุดคือ Blackwell B200 ที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนโมเดล AI ตั้งแต่ OpenAI, Google ไปจนถึงบริษัทหน้าใหม่ทั่วโลก รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และสตาร์ตอัปด้าน DeepTech ความได้เปรียบของ NVIDIA ไม่ได้อยู่ที่แค่ 'ความแรง' แต่รวมถึง ecosystem ทั้งซอฟต์แวร์ (CUDA, TensorRT), เฟรมเวิร์ก, ไลบรารี และการสนับสนุนโมเดล AI ที่ครบวงจร จนถูกมองว่าใครไม่มี NVIDIA ก็เหมือนนักแข่ง F1 ที่ไม่มีเครื่องยนต์ หากเราถูกแบนจริงจะเกิดผลกระทบหลายด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…

1. การพัฒนาด้าน AI หยุดชะงัก
หน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย และสตาร์ตอัป AI ในไทย พึ่งพา GPU จาก NVIDIA ในการเทรนโมเดลและทดลองงานวิจัย หากไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวได้
• งานวิจัยจะต้องลดขนาดโมเดลหรือรันบนโครงสร้างที่ล้าหลัง
• ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในด้านความแม่นยำ ความเร็ว และนวัตกรรม
• ลดความสามารถในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์พื้นฐาน เช่น Natural Language Processing, Computer Vision, หรือ Generative AI

2. Cloud Provider ในไทยชะงัก
ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ในไทยต่างลงทุนใน GPU cluster สำหรับ AI Cloud ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ NVIDIA หากถูกแบน
• บริการ AI-as-a-Service จะไม่สามารถขยาย capacity ได้
• ลูกค้ารายใหญ่จะย้าย workload ไปยังต่างประเทศ เช่น AWS, Azure, Google Cloud ซึ่งยังเข้าถึง NVIDIA ได้
• ความมั่นคงของข้อมูลภาครัฐและองค์กรไทยจะเสี่ยงจากการย้ายศูนย์ประมวลผลออกนอกประเทศ

3. อุตสาหกรรม AI ด้านสุขภาพ เกษตร และโลจิสติกส์ ได้รับผลกระทบ
ประเทศไทยกำลังใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในภาคเศรษฐกิจที่เป็นจุดแข็ง เช่น
• วิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ด้วย Deep Learning
• ตรวจวัดคุณภาพดินหรือพืชผ่านภาพถ่ายดาวเทียม
• วางแผนเส้นทางขนส่งแบบ Real-time ด้วย AI
การขาดชิปที่แรงพอจะทำให้โมเดลเหล่านี้ไม่สามารถพัฒนาและนำมาใช้งานได้ในระดับที่ควรจะเป็น

4. กระทบเป้าหมายการเป็น AI Nation ของไทย
รัฐบาลไทยตั้งเป้าให้ AI เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยสนับสนุนทั้งแผนยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติ และการจัดตั้งศูนย์ประมวลผล AI ภายในประเทศ หากถูกตัดการเข้าถึงชิป NVIDIA
• แผนงานต่าง ๆ จะล่าช้า
• ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติใน ecosystem AI ไทยจะลดลง
• เราอาจตกขบวน Digital Transformation ครั้งสำคัญของโลก
ทางเลือกที่อาจต้องพิจารณา: พึ่งพาจีน?

เมื่อไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีจากตะวันตกได้ ทางเลือกหนึ่งคือหันไปพึ่งพา เทคโนโลยีจากจีน ซึ่งพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น:

Huawei Kunlun & Ascend AI chips
• Huawei ได้พัฒนา Kunlun และ Ascend series ซึ่งรองรับ AI workload และมี framework ของตัวเองชื่อ MindSpore
• แม้ยังตามหลัง NVIDIA อยู่หลายปี แต่กำลังเร่งความเร็วในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
• เริ่มมีผู้ให้บริการคลาวด์ในจีนและตะวันออกกลางใช้งานแล้ว

สถาปัตยกรรมอื่น เช่น Alibaba T-Head, Biren, หรือ Loongson
• แม้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนอกจีน แต่ในแง่ของ “เอาตัวรอด” ก็อาจเป็นทางเลือกที่ต้องเริ่มศึกษา
• ความท้าทายอยู่ที่ ecosystem และการหานักพัฒนาที่เข้าใจ tools เหล่านี้

ความมั่นคงทางเทคโนโลยีคือความมั่นคงของชาติ
ประเทศไทยไม่ควรผูกอนาคตไว้กับผู้ขายรายเดียว แม้ NVIDIA จะยังเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เราควรวางแผนสำรองไว้ เช่น
• ลงทุนใน Open Source AI Model ที่ไม่ต้องการทรัพยากรมาก
• สนับสนุนการศึกษาและ R&D ด้าน RISC-V, ARM-based AI, และ Edge Computing
• วางยุทธศาสตร์ร่วมกับพันธมิตรในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย หรือสิงคโปร์ เพื่อสร้าง AI Resilience

โลกในยุค AI ไม่ได้วัดกันที่ใครเร็วที่สุด แต่ใครจะ 'อยู่รอด' และปรับตัวได้เร็วกว่าในทุกสถานการณ์และการเตรียมพร้อมทางเทคโนโลยีก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป

(สุรินทร์) มณฑลทหารบกที่ 25 เปิดบ้านทหารใหม่ ผลัดที่ 1/68 'Open House อบอุ่นใจ ประทับใจ' 

(4 ก.ค.68) ที่หน่วยฝึกทหารใหม่ ร้อยมณฑลทหารบกที่ 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ พลตรี ไชยนคร กิจคณะ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 มอบหมายให้ พันเอก นรินทร์ นิตยสุทธิ์  เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 25 เป็นประธานในพิธีเปิดบ้านทหารใหม่ (Open House) ผลัดที่ 1/68 เพื่อต้อนรับญาติทหารใหม่ 

โดยมี คุณ ปาริฉัตร ปะกิระตา รองประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขา มณฑลทหารบกที่ 25 และสมาชิกสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขามณฑลทหารบกที่ 25 พันเอก พรพิเชษฐ์ เกตุพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน, พันโท บรรลือ พูดเพราะ ผู้บังคับหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร เข้าร่วมพิธี โดยมีกิจกรรม ประกอบไปด้วย การชี้แจงด้านสิทธิกำลังพลแก่ทหารใหม่ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ทราบ ชมการแสดงของทหารใหม่ มณฑลทหารบกที่ 25 ศิลปะแม่ไม้มวยไทย 

เพื่อให้ญาติทหารใหม่ได้รับชมพัฒนาการ และความภาคภูมิใจในการเป็นทหารรับใช้ชาติ  และกิจกรรมพบปะญาติทหารใหม่ การแนะนำการรับสมัครทหารออนไลน์ การสอบเข้ารับราชการชั้นประทวนและสัญญาบัตร และขอขอบคุณครอบครัวทหารใหม่ ที่ไว้วางใจให้มณฑลทหารบกที่ 25 ได้ดูแลฝึกฝนทหารใหม่ ต่อจากนี้คุณคือทหารเต็มตัวพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติ พิทักษ์รักษาราชบัลลังก์ และช่วยเหลือประชาชน อย่างสุดความสามารถต่อไป


 

ผบช.สตม. ตรวจเยี่ยมและติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ ตม.จว.จันทบุรีและสระแก้ว

เมื่อวานนี้ (4 ก.ค.68) พล.ต.ท.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ ผบช.สตม. พร้อม พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ รอง ผบช.สตม. พล.ต.ต.ชัยฤทธิ์ อนุฤทธิ์ ผบก.ตม.3 และ พล.ต.ต.วริศร์สิริภ์ ลีละสิริ ผบก.ตม.4 ได้เดินทางตรวจเยี่ยม ตม.จว.จันทบุรี และ ตม.จว.สระแก้ว ในพื้นที่ บก.ตม.3 เพื่อมอบนโยบายและติดตามผลการปฏิบัติงาน พร้อมสร้างขวัญกำลังในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ข้าราชการตำรวจ ตม.ในพื้นที่  นอกจากนี้  ยังได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง ตม.จังหวัด ฝ่ายทหาร และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อติดตามและวางแผนรับมือต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา

พล.ต.ท.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ ผบช.สตม. ได้เน้นย้ำการปฏิบัติงานภายในสถานการณ์ชายแดนในปัจจุบัน ขอให้เข้มงวดในการตรวจบุคคลและยานพาหนะในการเข้า-ออกราชอาณาจักรตามกฎหมายและมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติของ สตม. ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือและบูรณาการการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวทางการปฏิบัติของศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) ในการข้ามผ่านแดนกรณีเพื่อการศึกษาหรือเจ็บป่วยที่มีความจำเป็นต้องรักษาพยาบาล ให้พิจารณาดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยธรรมสากล พร้อมทั้งประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

สตม. ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดในด้านต่างๆ รวมถึงการเฝ้าระวังบุคคลทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติอื่นๆ ที่มีหมายจับ และการเดินทางเข้า - ออกประเทศไทย หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระชนมพรรษา 60 พรรษา เลขที่ 904 หมู่ที่ 6 ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จว.นนทบุรี 11120 หรือติดต่อตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในพื้นที่ หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

ทัพเรือภาคที่ 1 จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่และการเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ

ระหว่างวันที่ 3 - 4 กรกฎาคม 2568 ทัพเรือภาคที่ 1 จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่และการเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ณ โรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์  ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หน่วยบริการบางสะพาน ธนาคารปูม้า บ้านปากคลอง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน ให้สามารถร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายชาวประมง ผู้นำชุมชน โรงเรียน และประชาชนในพื้นที่ทุกภาคส่วน

โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การพัฒนาโรงเรียน การปรับปรุงภูมิทัศน์ เลี้ยงอาหารกลางวันนักเรียนเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและบกพร่องทางสติปัญญา เก็บขยะชายหาด และทาสีอาคาร ซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ให้กับ ธนาคารปูม้า บ้านปากคลอง

เชียงใหม่- 'พิธีปิดการฝึกทหารใหม่ และ การฝึกทหารใหม่เฉพาะหน้าที่ รุ่นปี 2568 ผลัดที่ 1 และกิจกรรมวันเปิดบ้านทหารใหม่ (Open House)'

เมื่อวานนี้ (4 ก.ค.68) เวลา 09.00 น.  พล.ต. ธีระ ผดุงสุนทร ผบ.มทบ.33 เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกทหารใหม่ และการฝึกทหารใหม่เฉพาะหน้าที่ รุ่นปี 2568 ผลัดที่ 1 และกิจกรรมเปิดบ้านทหารใหม่ (Open House) ของหน่วยฝึกทหารใหม่ มทบ.33 และหน่วยฝึกทหารใหม่ พัน.มทบ.33 ในการนี้ได้กรุณามอบเกียรติบัตรแก่กำลังพลดีเด่นของทั้ง 2 หน่วยฝึก จำนวน 12 นาย และได้กรุณากล่าวให้โอวาทกับทหารใหม่ และกล่าวต้อนรับญาติทหารใหม่ ในโอกาสมารับทหารใหม่จบการฝึกฯ โดยมีญาติทหารใหม่ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 150 คน

การจัดกิจกรรมเปิดบ้านทหารใหม่ (Open House) รุ่นปี 2568 ผลัดที่ 1 หน่วยได้ จัดชุดการแสดง ดังนี้
- ชุดการแสดงท่าอาวุธประกอบดนตรี Fancy Drill
- ชุดการแสดงยิงปืนฉับพลัน
- การช่วยเหลือผู้ประสบภัย
- ชุดการแสดงของหมวดสุนัขทหาร ในการค้นหาสารเสพติด
พร้อมทั้งหน่วยได้จัดชุดเสนารักษ์และรถครัวสนามให้บริการกับญาติทหารใหม่ ณ หน่วยฝึกทหารใหม่ มทบ.33 และหน่วยฝึกทหารใหม่ พัน.มทบ.33 ค่ายกาวิละ ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 

พล.อ.ณัฐพล ชี้แจง!! กรณีให้สัมภาษณ์คลาดเคลื่อน ยัน!! ไม่ได้เอ่ยถึง ‘พล.อ.เตีย เซ็ยฮา’ ของกัมพูชา

(5 ก.ค. 68) จากกรณีที่ถ้อยคำการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 68 ถูกตีความคลาดเคลื่อนและสร้างความเข้าใจผิดในสังคม พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศบ.ทก.) ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง

พล.อ.ณัฐพล ย้ำว่าการพูดคุยดังกล่าวเป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อหาทางออกร่วมกันด้วยความจริงใจ และยืนยันว่า

ไม่ได้กล่าวถึง พล.อ.เตีย เซ็ยฮา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา แต่อย่างใด

"ขอความเชื่อมั่นและไว้ใจว่าผมในฐานะ ผอ.ศบ.ทก. จะดำเนินการอย่าง 'รอบคอบ รอบด้าน ใช้สติ สร้างสันติ' นำความสงบสุขกลับคืนมาสู่แผ่นดินไทย และก้าวสู่กลไกการพูดคุยที่มีศักยภาพบนพื้นฐานของความจริงใจและไว้เนื้อเชื่อใจกันต่อไป" พล.อ.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ ฟาด!! รีไซเคิล EEC เถื่อน นำเข้ากากขยะพิษ อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ ลุย!! ธุรกิจรักษ์โลกจอมปลอม ทำลายสิ่งแวดล้อม ลั่น!! ไม่หยุดจนกว่าจะสุดซอย

(5 ก.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีการลักลอบนำเข้ากากอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการที่กระทำอย่างผิดกฎหมาย โดยมีใจความว่า

‘ปิดประตูตีมาร’

ที่ผ่านมาประเทศไทยปล่อยปละละเลยการควบคุมภาคอุตสาหกรรม จนถูกโลกมองว่าเป็นทางผ่านของสินค้าสวมสิทธิ์ เป็นที่ดั๊มสินค้าเถื่อนด้อยคุณภาพ เป็นกองขยะ เป็นสวรรค์ของอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญที่ไร้ความรับผิดชอบ

โดยเฉพาะในพื้นที่โซน EEC ที่มีการออกใบอนุญาตโรงงานรีไซเคิลสะสมมาหลายปีจนล้นความต้องการ ฉากหน้าเป็นธุรกิจรักษ์โลก แต่ของจริง กลับเป็นธุรกิจรับกำจัดกากแบบเถื่อน ๆ ไม่จัดการของเสียในประเทศอย่างถูกต้อง แถมไปร่วมขบวนการนำเข้ากากพิษผิดกฎหมายมาเพิ่ม

ผมและทีม #สุดซอย ยิ่งขุดยิ่งพบ ล่าสุดพบว่ามีการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมไปฝั่งใต้ดินปริมาณมหาศาลประมาณ 50,000 ตัน ใน อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ทั้งๆที่ในบริเวณใกล้เคียงมีโรงงานที่ได้รับอนุญาตในกลุ่มรีไซเคิลกว่า 40 โรงงาน

เราคงปล่อยให้ความผิดถูกซุกไว้แบบนี้ต่อไปไม่ได้ กรณีนี้ ผมได้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและขยายผล ให้ทางบก.ปทส. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ DSI เข้ามาร่วมดำเนินคดี

และอย่าคิดว่าจะรอดพ้นไปได้…

ดูตัวอย่างบริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด ขาใหญ่ที่พบหลักฐานการร่วมขบวนการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ถูกออกคำสั่งให้ปิดและเพิกถอนใบอนุญาต ใช้อำนาจรัฐมนตรีพิจารณายกอุทธรณ์และทำหนังสือแจ้งผลถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัดไฟ ยกระดับเป็นคดีพิเศษ ส่งคดีให้ DSI ขยายผลไปถึงเครือข่ายอิทธิพล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งปัจจุบัน อัยการได้ส่งฟ้องต่อศาลแล้ว

ถึงเวลาแล้ว…

ในโซน EEC ที่มีการออกใบอนุญาตเกินความต้องการ และพบว่ามีการลักลอบประกอบกิจการผิดกฎหมายอย่างแพร่หลาย 

ผมให้นโยบาย #ปิดประตูตีมาร ระงับการออกใบอนุญาต ปูพรมตรวจการประกอบกิจการของโรงงานที่ได้ใบอนุญาตไปทั้งหมด หากพบว่าไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง ก็ต้องหยุด ปรับปรุง ไม่ก็ปิด เพิกถอนใบอนุญาต ดำเนินคดีตามลำดับ

เราต้องเร่งคืนพื้นที่ปลอดภัย บังคับใช้กฎหมายกับทุนเทา เพื่อสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมสีเขียวในไทย ได้เกิดใหม่ ทุกวันเวลา ทุกวินาทีมีค่า… ผมจะไม่หยุดจนกว่าจะสุดซอยครับ

‘รัสเซีย’ สร้างแรงสั่นสะเทือน!! รับรอง ‘ตอลิบาน’ การเคลื่อนไหวทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ท้าทายโลกตะวันตก

เมื่อวันที่ (3 ก.ค. 68) รัสเซียได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับระบบระเบียบโลกอีกครั้งด้วยการกลายเป็นประเทศแรกที่ประกาศรับรองรัฐบาลตอลิบานของอัฟกานิสถานอย่างเป็นทางการท่ามกลางกระแสการปฏิเสธและความลังเลจากประชาคมโลก ท่าทีของเครมลินในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการติดต่อทวิภาคีทั่วไปหากแต่คือการประกาศจุดยืนอันชัดเจนว่ารัสเซียพร้อมเดินสวนทางกับค่านิยมเสรีนิยมของตะวันตกและเลือกเดิมพันทางภูมิรัฐศาสตร์กับ "รัฐที่โลกเสรีพยายามลืม" นี่คือการเดินหมากของมหาอำนาจที่ถูกกดดัน ถูกโดดเดี่ยวและถูกปิดล้อมทางการทูตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่บุกยูเครนในปี ค.ศ. 2022 รัสเซียไม่ได้เพียงรับรองรัฐบาลตอลิบานเท่านั้นแต่ยังส่งสัญญาณถึงโลกว่ากำลังจัดวางพันธมิตรใหม่ภายใต้ตรรกะแห่งประโยชน์และอำนาจ มากกว่าจะผูกติดกับคุณค่าสากลที่ตะวันตกยกย่อง ท่ามกลางฉากหลังของสงคราม ความอดอยาก การก่อการร้าย และการแสวงหาอำนาจในเอเชียกลาง รัสเซียมองว่าตอลิบานไม่ใช่กลุ่มหัวรุนแรงหากแต่คือ "หุ้นส่วนที่เป็นไปได้" ซึ่งสามารถต่อรองอิทธิพลกับตะวันตกและถ่วงดุลการครอบงำในภูมิภาค คำถามจึงไม่ใช่ว่า "รัสเซียควรรับรองตอลิบานหรือไม่" แต่คือ "โลกจะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางระเบียบภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อย่างไร" การยอมรับตอลิบานคือการเคลื่อนไหวที่สั่นคลอนหลักการเดิมของความชอบธรรมและสิทธิมนุษยชนและกำลังลากโลกเข้าสู่ยุคแห่งการทูตแบบดิบๆ (raw diplomacy) ที่ผลประโยชน์และอำนาจกลับมาครองเวทีอีกครั้ง บทความนี้มุ่งสำรวจพลวัตเบื้องหลังการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ของรัสเซีย โดยวางกรอบวิเคราะห์ผ่านเลนส์ของภูมิรัฐศาสตร์ ดุลอำนาจ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการตอบโต้ระเบียบโลกฝ่ายเดียว (unipolarity) ที่ครอบงำมานานกว่าสามทศวรรษ

นับตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2021 ที่กลุ่มตอลิบานบุกยึดกรุงคาบูลและโค่นล้มรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก โลกก็เผชิญกับคำถามทางศีลธรรม การเมือง และความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างหนักหน่วง การกลับมาสู่อำนาจของกลุ่มตอลิบานไม่เพียงพลิกฟื้นความทรงจำอันขมขื่นในยุคก่อนปี ค.ศ. 2001 แต่ยังเปิดฉากการทดสอบครั้งใหญ่ต่อระเบียบโลกเสรีนิยม การกลับมาของตอลิบานไม่ใช่แค่การโค่นล้มรัฐบาลเก่า แต่มันคือการฉีกหน้าระเบียบโลกที่วางอยู่บนค่านิยมเสรีนิยมตะวันตก การศึกษาสำหรับสตรี? ถูกห้าม เสรีภาพในการแสดงออก? ถูกกด สิทธิมนุษยชน? กลายเป็นวาทกรรมที่ไร้ความหมายในแดนที่กฎหมายถูกตีความผ่านอุดมการณ์ทางศาสนาแบบสุดโต่ง ในช่วงเวลากว่า 3 ปีที่ตอลิบานปกครองประเทศ กลุ่มผู้ปกครองนี้ได้พยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของตนในฐานะ "รัฐบาลแห่งเสถียรภาพ" ที่สามารถฟื้นฟูความสงบได้ดีกว่ารัฐบาลที่ตะวันตกสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันก็กลับไปใช้นโยบายแบบอนุรักษนิยมสุดโต่งซึ่งจำกัดสิทธิสตรีอย่างรุนแรง เช่น การห้ามผู้หญิงเรียนหนังสือต่อเกรด 6 การสั่งปิดมหาวิทยาลัยสำหรับผู้หญิง และการกีดกันผู้หญิงจากแรงงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนระดับนานาชาติ หลายประเทศจึงเลือก "เปิดช่องทางสื่อสาร" แต่ไม่ให้การรับรองทางการทูตอย่างเป็นทางการ

แม้ไม่มีประเทศใดก่อนหน้ารัสเซียให้การรับรองตอลิบานในฐานะรัฐบาลโดยชอบธรรม แต่อัฟกานิสถานกลับกลายเป็น “จุดยุทธศาสตร์เงียบ” ที่หลายรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมผ่านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การเจรจาความมั่นคง และผลประโยชน์ทางทรัพยากร โดยเฉพาะจีน ปากีสถาน กาตาร์ อุซเบกิสถาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ล้วนมีช่องทางการสื่อสารกับรัฐบาลตอลิบาน แม้จะไม่มีสถานะทางการทูตเต็มรูปแบบก็ตาม องค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับสถานะของรัฐบาลตอลิบานได้อย่างเป็นเอกภาพ โดยแม้ตอลิบานจะเรียกร้องให้ได้รับที่นั่งประจำในเวทีสหประชาชาติ แต่กลับถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยคณะกรรมการรับรอง (UN Credentials Committee) ภายใต้ข้ออ้างว่ายังไม่แสดงหลักฐานของการปกครองอย่างครอบคลุมและเคารพสิทธิมนุษยชน กล่าวโดยสรุป ตอลิบานดำรงอยู่ในสถานะ “รัฐเงา” (shadow state) ที่ครองอำนาจจริงแต่ไม่มีความชอบธรรมตามกรอบของประชาคมโลก เป็นรัฐบาลที่ไม่ถูกรับรอง แต่ไม่สามารถถูกมองข้าม เป็นผู้เล่นที่ไม่มีชื่อในเวที แต่มีบทบาทในภาคสนาม ทั้งในเรื่องความมั่นคง ชายแดน การค้ายาเสพติด และการอพยพข้ามพรมแดน รัฐบาลรัสเซียจึงเห็นโอกาสทางการทูตเชิงยุทธศาสตร์ในความ "ไร้ตัวตนแต่ทรงอิทธิพล" นี้ของตอลิบาน และเลือกลงมือก่อนใครด้วยการรับรองในทางเปิดเผย

ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอัฟกานิสถานมีรากฐานที่ย้อนกลับไปถึงยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะในช่วงที่สหภาพโซเวียตเข้ายึดครองอัฟกานิสถานระหว่างปี ค.ศ. 1979–1989 เพื่อสนับสนุนรัฐบาลฝ่ายซ้ายที่กำลังเผชิญการต่อต้านจากกลุ่มมุญาฮิดีน ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐอเมริกา ปากีสถาน และพันธมิตรตะวันตก ผลลัพธ์คือสงครามที่ยืดเยื้อ สูญเสียทางทหาร และผลกระทบภายในที่เร่งเร้าให้เกิดการล่มสลายของโซเวียตในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันรัสเซียไม่ได้วางตัวในฐานะ "คู่ขัดแย้ง" กับอัฟกานิสถานอีกต่อไป หากแต่ปรับบทบาทเป็นผู้มีส่วนร่วมเชิงสร้างสรรค์ในภูมิภาค โดยเฉพาะหลังการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานในปี ค.ศ. 2021 รัสเซียแสดงบทบาทที่โดดเด่นในฐานะเจ้าภาพการประชุม “Moscow Format” ซึ่งรวบรวมประเทศต่าง ๆ ในเอเชียกลาง จีน ปากีสถาน และอิหร่าน เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางสร้างเสถียรภาพในอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตอลิบาน แม้ในขณะนั้นรัสเซียจะยังไม่รับรองรัฐบาลตอลิบานอย่างเป็นทางการก็ตาม ในทางภูมิรัฐศาสตร์อัฟกานิสถานมีความสำคัญต่อรัสเซียในฐานะรัฐกันชนที่อยู่ติดกับภูมิภาคเอเชียกลางซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัสเซียต้องการรักษาอิทธิพลเชิงประวัติศาสตร์และเชิงยุทธศาสตร์ไว้ให้ได้ นอกจากนี้ความกังวลเรื่องการแทรกซึมของกลุ่มหัวรุนแรงอย่าง ISIS-K เข้าสู่รัฐอดีตโซเวียต เช่น ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถานยิ่งกระตุ้นให้รัสเซียมองตอลิบานในฐานะพลังที่จำเป็นต่อการรักษาเสถียรภาพ แม้จะขัดแย้งกับค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชนของประชาคมโลกก็ตาม การตัดสินใจของรัสเซียในการรับรองตอลิบานในปี ค.ศ. 2025 จึงสะท้อนการเปลี่ยนผ่านจากประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งสู่ความพยายามสร้างพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมทางความมั่นคง ภูมิรัฐศาสตร์ และการต่อต้านอิทธิพลของชาติตะวันตกในภูมิภาคที่ยังไร้เสถียรภาพแห่งนี้

การตัดสินใจของรัสเซียในการรับรองรัฐบาลตอลิบานในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2025 ไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวทางการทูตเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น หากแต่สะท้อนถึงการคำนวณทางยุทธศาสตร์ที่มีมิติซับซ้อนและครอบคลุมทั้งด้านความมั่นคง ภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในบริบทของโลกหลังสงครามยูเครนซึ่งรัสเซียจำเป็นต้องแสวงหาพันธมิตรทางเลือกและช่องทางสร้างอิทธิพลนอกเหนือจากขั้วตะวันตก

ประการแรก รัสเซียมองว่าอัฟกานิสถานภายใต้การนำของตอลิบาน แม้จะไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล แต่สามารถมีบทบาทในฐานะ "รัฐกันชน" (buffer state) ที่ช่วยสกัดกั้นการแพร่กระจายของแนวคิดสุดโต่งและกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่ม Islamic State – Khorasan Province (ISIS‑K) ซึ่งมีประวัติการโจมตีผลประโยชน์ของรัสเซีย ทั้งในเอเชียกลางและในกรุงมอสโก รัสเซียจึงให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์กับตอลิบานเพื่อสร้างช่องทางการประสานงานด้านความมั่นคง แม้จะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตเต็มรูปแบบมาก่อนหน้านี้

ประการที่สอง ในมิติทางภูมิรัฐศาสตร์ รัสเซียพยายามขยายขอบเขตอิทธิพลของตนในเอเชียกลางและเอเชียใต้ โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่เหล่านี้เป็นจุดตัดสำคัญของมหาอำนาจหลายฝ่าย ทั้งจีน อินเดีย อิหร่าน และชาติตะวันตก การสถาปนาความสัมพันธ์กับตอลิบานจึงเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการรักษาอิทธิพลของตนในภูมิภาค และตอบโต้ความพยายามของสหรัฐฯ ที่เคยใช้การแทรกแซงในอัฟกานิสถานเป็นเครื่องมือสร้างดุลอำนาจในภูมิภาคนี้

ประการที่สาม ในด้านเศรษฐกิจ รัสเซียมองเห็นศักยภาพของอัฟกานิสถานในฐานะแหล่งแร่หายาก (rare earth minerals) และทรัพยากรธรรมชาติที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา รวมถึงการเป็นจุดผ่านของโครงการโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาค เช่น โครงการท่อส่งก๊าซ TAPI หรือเส้นทางขนส่งสินค้าสายเหนือ–ใต้ ที่อาจเชื่อมโยงรัสเซียกับเอเชียใต้ผ่านอัฟกานิสถาน การเปิดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการจึงเป็นกลไกสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยสรุปรัสเซียมิได้มองการรับรองรัฐบาลตอลิบานในกรอบของความถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน หากแต่มองผ่านแว่นของผลประโยชน์แห่งรัฐ (raison d'état) และความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของนโยบายต่างประเทศรัสเซียในยุคหลังยูเครนที่เน้นการสร้างพันธมิตรนอกกระแส ตอบโต้การโดดเดี่ยวจากตะวันตกและขยายขอบเขตของระเบียบโลกทางเลือก

การที่รัสเซียประกาศรับรองรัฐบาลตอลิบานอย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 2025 นับเป็นจุดเปลี่ยนเชิงสัญลักษณ์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สะท้อนถึงพลวัตของโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากระเบียบโลกแบบเสรีนิยม (liberal order) ไปสู่ระเบียบโลกแบบพหุขั้ว (multipolarity) ที่คุณค่าและความชอบธรรมไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดจากศูนย์กลางตะวันตกแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป ปฏิกิริยาของโลกต่อการตัดสินใจของรัสเซียแบ่งออกอย่างชัดเจนตามแนวรอยร้าวทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดำรงอยู่ในช่วงหลังสงครามยูเครน โดยกลุ่มประเทศตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และแคนาดา ต่างแสดงความผิดหวังอย่างเปิดเผย โดยชี้ว่าการรับรองตอลิบานคือการมอบความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลที่ยังคงละเมิดสิทธิสตรี ปราบปรามเสรีภาพ และขาดกลไกตรวจสอบภายในทางการเมือง ปฏิกิริยาเหล่านี้สะท้อนจุดยืนที่ยังยึดโยงกับกรอบคุณค่าของสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งยังคงเป็นแกนกลางของนโยบายต่างประเทศของชาติตะวันตก 

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มประเทศในเอเชียกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และบางประเทศในแอฟริกา กลับเลือกแสดงท่าทีแบบรอดูท่าทีหรือส่งสัญญาณในเชิงบวกต่อการรับรองของรัสเซีย โดยเฉพาะประเทศที่มีผลประโยชน์เชื่อมโยงกับอัฟกานิสถาน เช่น จีน ปากีสถาน อิหร่าน และกาตาร์ ต่างมีความสัมพันธ์ในทางปฏิบัติกับตอลิบานมาอย่างต่อเนื่อง และอาจใช้กรณีรัสเซียเป็นจุดตั้งต้นในการขยับสถานะของความสัมพันธ์ทางการทูตในอนาคต ที่น่าสนใจคือบางประเทศในโลกมุสลิม เช่น ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้จะยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนแต่ก็เลือกหลีกเลี่ยงการประณามรัสเซียในลักษณะเดียวกับชาติตะวันตก สะท้อนให้เห็นถึงความระมัดระวังเชิงยุทธศาสตร์ในการรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์กับมอสโก และภาพลักษณ์ของตนในเวทีระหว่างประเทศ สำหรับองค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ หรือองค์การเพื่อความร่วมมืออิสลาม (OIC) ยังไม่มีท่าทีอย่างเป็นทางการต่อการรับรองของรัสเซีย แต่การเคลื่อนไหวของประเทศสมาชิกอย่างรัสเซีย 

ย่อมเพิ่มแรงกดดันให้เกิดการหารือในระดับระหว่างประเทศเกี่ยวกับสถานะของรัฐบาลตอลิบานในอนาคต กล่าวโดยสรุป การตัดสินใจของรัสเซียได้กลายเป็นหมุดหมายที่เร่งให้เกิดการ “จัดตำแหน่งทางการเมือง” (political realignment) ที่แบ่งขั้วของโลกออกอย่างเด่นชัดขึ้นระหว่างฝ่ายที่ยึดมั่นในคุณค่าตะวันตก กับฝ่ายที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ ความมั่นคง และอำนาจรัฐเป็นหลัก ซึ่งแนวโน้มนี้สอดคล้องกับกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากระเบียบเดิมสู่ความไม่แน่นอนของระเบียบใหม่ที่ยังอยู่ระหว่างการต่อรอง

การที่รัสเซียกลายเป็นประเทศแรกที่รับรองรัฐบาลตอลิบานอย่างเป็นทางการจึงมิได้เป็นเพียงการแสดงออกเชิงนโยบายต่างประเทศระดับทวิภาคีเท่านั้น หากแต่เป็นการเคลื่อนไหวที่สั่นคลอนโครงสร้างอำนาจของระเบียบโลกยุคหลังสงครามเย็น โดยเฉพาะในบริบทที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบขั้วเดียวภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา สู่ระบบพหุขั้วที่กลุ่มอำนาจใหม่พยายามสถาปนา "ระเบียบโลกทางเลือก" (alternative world order) ขึ้นมาท้าทายศูนย์กลางเดิม ในมุมมองของรัสเซียการรับรองตอลิบานคือการใช้ “การทูตกับรัฐนอกกระแส” (pariah state diplomacy) เป็นเครื่องมือในการขยายอิทธิพลและโต้กลับการกีดกันจากโลกตะวันตก ท่าทีนี้สอดคล้องกับแนวโน้มที่รัสเซียกำลังเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรใหม่กับประเทศที่ถูกคว่ำบาตรหรือไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก เช่น อิหร่าน ซีเรีย เกาหลีเหนือ และเวเนซุเอลา 

โดยอาศัยความไม่สมดุลของระเบียบโลกเดิมเป็นช่องทางแสวงหาความชอบธรรมใหม่ในหมู่ประเทศที่รู้สึกว่าถูกกีดกันจากระบบโลกที่มีลำดับชั้นทางการเมือง ในขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวของรัสเซียยังสะท้อนแนวคิดที่ว่าความชอบธรรมของรัฐในเวทีระหว่างประเทศไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่บน “ค่านิยมสากล” เพียงอย่างเดียว หากแต่สามารถตั้งอยู่บน “ข้อเท็จจริงเชิงอำนาจ” (power-based legitimacy) กล่าวคือรัฐใดก็ตามที่สามารถควบคุมอำนาจรัฐในทางปฏิบัติได้อย่างมั่นคงย่อมมีสิทธิได้รับการยอมรับจากประเทศอื่นโดยไม่จำเป็นต้องผ่านการรับรองจากองค์กรระหว่างประเทศหรือเคารพหลักการประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมเสมอไป ในภาพรวมการตัดสินใจของรัสเซียจึงควรตีความในกรอบของการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างของระเบียบโลกที่ประเทศมหาอำนาจกำลังวางรากฐานของ "ระบบคู่ขนาน" (parallel system) ในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้การยอมรับรัฐบาลที่โลกตะวันตกไม่รับรองเป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ในการส่งสารว่า "กฎของเกมเก่าไม่สามารถผูกขาดเวทีโลกได้อีกต่อไป" ในขณะที่ชาติตะวันตกยังพยายามรักษาอิทธิพลผ่านกลไกสากลเดิม รัสเซียรวมถึงจีนกลับหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างระเบียบใหม่ผ่านกลุ่มความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ เช่น BRICS, Shanghai Cooperation Organization (SCO) และ Eurasian Economic Union (EAEU) ที่เน้นอำนาจอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ของรัฐ มากกว่าการกำหนดมาตรฐานจากภายนอก

การที่รัสเซียประกาศรับรองรัฐบาลตอลิบานไม่เพียงเป็นเหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์ หากแต่ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 ระยะอย่างชัดเจน: ระยะสั้นที่เน้นการเปลี่ยนแปลงในระดับยุทธศาสตร์และการทูต และระยะยาวที่อาจส่งผลต่อโครงสร้างอำนาจและบรรทัดฐานในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผลกระทบระยะสั้น ได้แก่ 1) เสริมบทบาทของรัสเซียในเอเชียกลาง การรับรองตอลิบานช่วยให้รัสเซียมีอำนาจต่อรองในภูมิภาคเอเชียกลางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในมิติความมั่นคงและการต่อต้านลัทธิหัวรุนแรง ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับรัฐชายแดนอย่างทาจิกิสถานและอุซเบกิสถาน 2) เพิ่มแรงกดดันต่อชาติตะวันตกชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ตอลิบานได้รับความชอบธรรมทางการทูตจากประเทศมหาอำนาจอื่น 

ซึ่งอาจทำให้กลไกการโดดเดี่ยวที่ตะวันตกใช้มาตลอด 3 ปีสูญเสียประสิทธิภาพ 3) สร้างแนวโน้มของการยอมรับเชิงปฏิบัติ (de facto recognition) ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในโลกมุสลิมหรือกลุ่มที่มีผลประโยชน์ในอัฟกานิสถาน อาจเริ่มปรับนโยบายของตนให้ใกล้เคียงกับรัสเซีย ทั้งในเชิงการทูตและเศรษฐกิจ แม้จะยังไม่ถึงขั้นรับรองในทางนิติก็ตาม ในขณะที่ผลกระทบระยะยาว มีดังนี้ 1) การเปลี่ยนแปลงของบรรทัดฐานทางการทูต ความเคลื่อนไหวของรัสเซียอาจนำไปสู่การสั่นคลอนบรรทัดฐานที่ผูกโยงความชอบธรรมกับสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และการเลือกตั้ง หากรัฐมหาอำนาจเลือกยอมรับรัฐบาลที่ “มีอำนาจจริง” มากกว่ารัฐบาลที่ “ชอบธรรมตามคุณค่า” บรรทัดฐานการรับรองในเวทีโลกก็อาจเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง 2) เสริมสร้างระเบียบโลกแบบพหุขั้ว การรับรองตอลิบานโดยรัสเซียตอกย้ำแนวโน้มที่ประเทศนอกขั้วตะวันตกเริ่มดำเนินนโยบายต่างประเทศที่อิงกับผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าการเดินตามแนวทางของโลกเสรีนิยม ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดวาง “ระบบคู่ขนาน” ทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง 3) การลดบทบาทขององค์การระหว่างประเทศ ซึ่งหากกระบวนการรับรองรัฐบาลเริ่มเกิดขึ้นผ่านกลไกทวิภาคีโดยไม่ขึ้นกับการพิจารณาขององค์การสหประชาชาติ หรือองค์กรระดับภูมิภาค ก็อาจนำไปสู่การลดทอนความน่าเชื่อถือและบทบาทของกลไกพหุภาคีในระยะยาว

บทสรุป การที่รัสเซียกลายเป็นประเทศแรกที่รับรองรัฐบาลตอลิบานในปี ค.ศ. 2025 ถือเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่ทรงพลังในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระเบียบโลกในยุคที่อำนาจกำลังแปรผันจากศูนย์กลางเดิมสู่การกระจายตัวอย่างซับซ้อนและท้าทาย นัยสำคัญของเหตุการณ์นี้มิได้จำกัดอยู่เพียงในระดับทวิภาคีระหว่างรัสเซียกับอัฟกานิสถานเท่านั้น หากแต่ยังเปิดเผยถึงความพยายามของรัสเซียในการสร้างระเบียบโลกทางเลือกที่ยึดโยงกับผลประโยชน์ ความมั่นคง และอำนาจอธิปไตย มากกว่าการดำเนินนโยบายตามหลักการสากลที่กำหนดโดยตะวันตก ภายใต้บริบทนี้ “การรับรอง” จึงกลายเป็นเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ใช้ในการจัดวางพันธมิตร ขยายอิทธิพล และตอกย้ำภาพของรัสเซียในฐานะรัฐมหาอำนาจที่ยังคงมีบทบาทเชิงรุกในภูมิภาคเอเชียกลางและโลกมุสลิม ในขณะเดียวกันปฏิกิริยาที่แตกต่างกันของนานาประเทศต่อท่าทีของรัสเซียยังสะท้อนถึงการแบ่งขั้วของโลกอย่างชัดเจน โดยฝ่ายหนึ่งยังคงยึดมั่นในค่านิยมแบบเสรีนิยม ขณะที่อีกฝ่ายเริ่มปรับนโยบายตามความจำเป็นของบริบทภูมิรัฐศาสตร์มากกว่ากรอบคุณค่าดั้งเดิม แนวโน้มนี้อาจนำไปสู่การจัดรูปแบบใหม่ของบรรทัดฐานสากลในอนาคต ซึ่งไม่จำเป็นต้องอิงกับฉันทามติของมหาอำนาจตะวันตกเสมอไป กล่าวโดยสรุปการรับรองรัฐบาลตอลิบานโดยรัสเซียไม่ได้เป็นเพียงการยอมรับรัฐบาลหนึ่งเท่านั้น แต่คือสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนผ่านในระดับโครงสร้างของอำนาจโลก ที่กำลังเคลื่อนจากความเป็นเอกภาพ สู่ภาวะพหุขั้วที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน การต่อรอง และการจัดตำแหน่งทางการเมืองใหม่อย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top