Sunday, 11 May 2025
Lite

17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 ประหารชีวิต ‘ชิต - บุศย์ - เฉลียว’ จำเลยคดีสวรรคต ในหลวง ร.8

วันนี้ เมื่อ 68 ปีที่แล้ว 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 ศาลฎีกาได้พิพากษา ลงโทษประหารชีวิต เฉลียว ปทุมรส, ชิต สิงหเสนีย์ และบุศย์ ปัทมศริน จำเลยในคดีประทุษร้ายต่อสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ เรือนจำกลางบางขวาง

ต่อหน้าคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง เป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายแพทย์เชื้อ พัฒนเจริญ และนายหลอม บุญอ่อน รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกควบคุมเรือนจำกลางบางขวางเป็นกรรมการ

จากเหตุการณ์ที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตอย่างมีเงื่อนงำ ด้วยพระแสงปืน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9.20 น. บนชั้นสอง พระที่นั่งบรมพิมาน พระบรมมหาราชวัง

สภาพพระศพมีบาดแผลกลางพระนลาฎ (หน้าผาก) บริเวณระหว่างพระขนง (คิ้ว) ข้างพระศพมีปืนพกโคลต์ตกอยู่ชิดข้อศอก ด้ามปืนหันออกจากตัว ในช่วงแรกมีการรบกวนพระบรมศพทำให้การพิสูจน์เกิดปัญหา ความเห็นของแพทย์ผู้ชันสูตรเกือบสามในสี่ลงมติเป็นการลอบปลงพระชนม์

รู้จัก 'มาม่า' เมนูเปี่ยมโภชนาการประจำวันที่ 1 และ 16 และสโลแกนที่ไม่เคยเปลี่ยนตลอด 50 กว่าปี

พุทธศักราช 2515 ผู้บริหารบริษัทในเครือ 'สหพัฒนพิบูล' มองเห็นโอกาสสร้างแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทย โดยตกลงร่วมทุนกับ 'ยูนิ - เพรสซิเดนท์' จากไต้หวัน ตั้ง 'ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์' ขึ้นเพื่อผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นมา โดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ตั้งต้นนั้นว่า 'มาม่า'

โดยชื่อ ‘มาม่า’ มีต้นกำเนิดจากคำว่า ‘แม่’ ด้วยเพียงสองเหตุผล คือ เป็นคำแรกที่เด็กเริ่มพูด (ในแทบทุกชาติ ทุกภาษา) และ 'แม่' คือคนทำอาหารอร่อย ๆ ให้เรากิน

ส่วนที่เรียกว่า 'บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป' ก็เพราะผู้บริโภคต้อง 'ปรุง' อีกนิดก็กินได้

แม้ 'มาม่า' จะมีแป้งและไขมันเป็นส่วนประกอบหลัก และหากรับประทานติดต่อกันป็นเวลานาน อาจขาดสารอาหารหลักได้ หรือเมื่อบริโภคติดต่อกันในปริมาณที่มากก็เสี่ยงต่อไตจะเป็นอันตราย เนื่องจากมีสารโซเดียมค่อนข้างสูง ยิ่งในผู้แพ้ผงชูรสยิ่งต้องระมัดระวัง จึงมักมีคำแนะนำให้ใส่ไข่ ผัก หรือเนื้อสัตว์เพิ่มลงไปด้วย เพื่อเพิ่มสารอาหาร และป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากจนเกินไป

แต่สำหรับสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน 'มาม่า' จึงมักเป็นชื่อที่ผู้คนโหยหากัน ด้วยราคาอันเป็นมิตรที่น่าคบหาได้ในยามยาก แถมเพียบพร้อมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองขนาด 60 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 300 กว่าแคลอรี เพียงพอสำหรับหนึ่งมื้อ เพราะพลังงานที่คนต้องการคือ 2000 - 2500 แคลอรีต่อวัน โดยได้รับสารอาหารทั้งคาร์โบไฮเดรท โปรตีน ไขมัน วิตามินเอ ธาตุเหล็ก และไอโอดีน

ชื่อ 'มาม่า' นั้น ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการสื่อสารกับลูกค้าอย่างสูง จนกลายมาเป็นชื่อเรียกแทนประเภทสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือ Generic Name ที่เราเรียก ‘มาม่า’ แทนบะหมี่กึ่งทุกยี่ห้อ และคำถามที่ต้องเจอต่อก็คือ “เอามาม่ายี่ห้อไหน?”

18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ‘ไคลด์ ทอมบอห์’ ค้นพบดาวพลูโต อดีตดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะ

วันค้นพบดาวพลูโต ตรงกับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ถือเป็นอดีตดาวเคราะห์อันดับที่ 9 ของระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งถูกค้นพบโดย ไคลด์ ทอมบอห์

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 เป็นวันค้นพบ ดาวพลูโต อดีตดาวเคราะห์อันดับที่ 9 ของระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งถูกค้นพบโดย ไคลด์ ทอมบอห์

ดาวพลูโต (Pluto) เป็นอดีตดาวเคราะห์อันดับที่ 9 ในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ เป็นวัตถุแถบไคเปอร์ชิ้นแรกที่ถูกค้นพบ มีขนาดใหญ่และมีมวลมากที่สุดเป็นอันดับสองในบรรดาดาวเคราะห์แคระที่รู้จักในระบบสุริยะ และยังเป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 9 และมวลมากเป็นอันดับที่ 10 ในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์

ดาวพลูโตมีลักษณะเหมือนกับวัตถุอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกัน ประกอบด้วยหินและน้ำแข็งเป็นส่วนใหญ่ มีมวลและปริมาตรประมาณ 1 ใน 6 และ 1 ใน 3 ของดวงจันทร์ตามลำดับ ซึ่งวงโคจรของดาวพลูโตมีความเยื้องศูนย์กลางมาก อยู่ที่ 4.4 – 7.4 พันล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์ ดาวพลูโตมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 32.6 หน่วยดาราศาสตร์

ดาวพลูโตมีดาวบริวารที่ 5 ดวง ได้แก่ แครอน, สติกซ์, นิกซ์, เคอร์เบอรอส และไฮดรา ซึ่งในบางครั้งดาวพลูโตและแครอนถูกจัดเป็นระบบดาวคู่ เนื่องจากจุดศูนย์กลางมวลของวงโคจรไม่ได้อยู่ในดาวดวงใดดวงหนึ่งเฉพาะ ทำให้ไอเอยูยังไม่มีการให้คำนิยามของระบบดาวเคราะห์แคระคู่อย่างเป็นทางการ และแครอนกลายเป็นดาวบริวารของดาวพลูโตอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559

19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 ‘ไทย - ลาว’ หยุดยิงใน “สมรภูมิร่มเกล้า” ความขัดแย้งจากข้อพิพาทเส้นแบ่งดินแดน

วันนี้ เมื่อ 35 ปีก่อน ‘ไทย - ลาว’ ประกาศหยุดยิงใน “สมรภูมิร่มเกล้า” เหตุการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมาแล้วกว่าสามทศวรรษ!! 

ความขัดแย้งระหว่างไทยและลาวบริเวณชายแดน อันเนื่องมาจากข้อพิพาทในการกำหนดเส้นแบ่งดินแดนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารพรานไทยและลาวหลายครั้งตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2530 เมื่อทหารลาวได้เข้าทำลายรถแทรกเตอร์ของเอกชนไทย ทำให้คนงานเสียชีวิตหนึ่งราย ในพื้นที่ซึ่งลาวอ้างว่าอยู่ในเขตตาแสงของแขวงไชยะบุรี พร้อมระบุว่าบ้านร่มเกล้าอยู่เข้าลึกไปในเขตลาว 2 กิโลเมตร

ด้านกองทัพภาคที่ 3 ได้ส่งกองกำลังหลักเข้าผลักดันกองกำลังลาวที่เข้ามายึดพื้นที่ยุทธศาสตร์หลายแห่ง โดยวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า ยุทธการบ้านร่มเกล้า ได้เริ่มขึ้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เมื่อ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ. (ในขณะนั้น) ประกาศจะผลักดันกองกำลังต่างชาติที่เข้ามายึดครองพื้นที่ในเขตไทยทุกรูปแบบด้วยการใช้กำลังทหาร จึงทำให้เกิดการสู้รบอย่างดุเดือด

20 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันทนายความ’ หนึ่งในสถาบันด้านกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความทั่วประเทศถือเป็นวันทนายความ

วันนี้ในอดีต เมื่อปี 2500 เป็นวันที่ทนายความในขณะนั้นมีแนวความคิดริเริ่มที่ต้องการให้วิชาชีพทนายความ ควรจะมีสถาบันที่เป็นตัวแทนของวิชาชีพทนายความ และเป็นอิสระควบคุมดูแลกันเอง จึงได้ประชุมกันก่อตั้งสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยขึ้น โดยจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2500

ต่อมาสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันใช้ความเพียรพยายามเรียกร้องและผลักดันร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติทนายความเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งเมื่อปี 2528 จึงประสบผลสำเร็จออกประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2528 และมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้

นิยามสงครามคือความพ่ายแพ้

ไม่มีใครชนะได้ในสงคราม
แม้ในท่ามยามเจรจาอุตสาหะ
ซากศพที่ทบก่ายคือนัยยะ
กี่ตรรกะก็ไร้ค่าถ้าไม่ยั้ง

สิ่งปรักหักพังยังซ่อมได้
แต่ผู้ที่ล้มตายในหลุมฝัง
คงไม่ฟื้นคืนใหม่ได้กระมัง
เพลงศพดังทั้งโลก ณ ศกนี้

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้ ‘พุทธศักราช’ (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติ แทน ‘รัตนโกสินทร์ศก’ (ร.ศ.)

วันนี้ เมื่อ 110 ปีก่อน รัชกาลที่ 6 ประกาศ เปลี่ยนมาใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) แทนรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) หลังใช้มาได้เพียง 24 ปี (พ.ศ. 2432-2455) 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริให้ใช้ ‘พุทธศักราช’ (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติ แทน ‘รัตนโกสินทร์ศก’ (ร.ศ.) เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศต่างๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 (พ.ศ. 2455) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ‘พระพุทธศักราช’ ในราชการทั่วไป โดยถือเอาวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ข้อมูลจากสำนักข่าวสับปะรด ระบุว่า รัตนโกสินทร์ศก หรือ รัตนโกสินทร์ศักราช (ร.ศ.) ถูกกำหนดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยเริ่มนับจากปีที่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง คือ พ.ศ. 2325 นับเป็นรัตนโกสินทร์ศก 1 (ร.ศ. 1) แต่ในทางพระพุทธศาสนา ยังคงใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) ตามธรรมเนียมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

‘บวบ’ พืชฤทธิ์เย็น ‘ลดไฟธาตุ-กำหนัด’ ต้อนรับฤดูร้อนได้ดีนักแล

แรกเริ่มเดิมที ‘บวบ’ มีถิ่นกำเนิดจากแถบเอเชียกลาง (อินเดีย, บังคลาเทศ) ต่อมาจึงถูกขยายพันธุ์ในแถบอุษาคเนย์ รวมถึงประเทศไทย โดยบวบเป็นพืชผักตระกูลแตง (CUCURBITACEAE) อดีตคนไทยส่วนใหญ่นิยมปล่อยต้นบวบเลื้อยตามรั้ว หรือปล่อยพันไปกับต้นไม้ แล้วคอยเก็บผลอ่อนมารับประทานเป็นผัก ทำแกงเลียง ผัดกับไข่ หรืออาจลวกจิ้มกับน้ำพริกต่างๆ ผลอ่อนมีสรรพคุณแก้ร้อนใน ลดไข้ ขับน้ำนม ขับปัสสาวะ แก้เลือดออกตามทางเดินอาหาร แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ส่วนผลบวบที่ไม่ได้เก็บจะปล่อยจนแก่แห้ง เหลือแต่เส้นใยที่เรียกว่า ‘รังบวบ’ และถูกใช้อาบน้ำ ขัดถูภาชนะ บวบที่สามารถปลูกได้ในประเทศไทยมีหลายชนิด ได้แก่ บวบเหลี่ยม บวบงู บวบหอม

ข้อมูลทางโภชนาการระบุว่า คุณค่าทางอาหารของ ‘บวบหอม’ 100 กรัม ประกอบด้วย พลังงาน 85 กิโลแคลอรี น้ำ 93 กรัม โปรตีน 0.6-1.2 กรัม ไขมัน 0.21 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4-4.9 กรัม แคลเซียม 16-20 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 24-32 มิลลิกรัม เหล็ก 0.4-0.6 มิลลิกรัม และวิตามินซี 7-12 มิลลิกรัม

ประโยชน์หลักอีกด้านหนึ่งของ ‘บวบ’ ที่ทุกท่านรับรู้คือด้านสมุนไพร เช่น คนในประเทศจีนจะนำผลบวบแก่มาเผาจนเป็นเถ้า (นิยมบวบหอม) ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ และยาขับลม น้ำคั้นจากผลสดใช้เป็นยาระบาย เมล็ดแก่ใช้ทำให้อาเจียน และเป็นยาถ่าย และน้ำมันที่บีบจากเมล็ดยังใช้ทาแก้โรคผิวหนัง

การรับประทานบวบเป็นอาหารปริมาณที่พอเหมาะนั้น ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ (และหญิงช่วงให้นมบุตร) แต่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอในการรับประทานบวบเพื่อรักษาโรค และยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดพอจะระบุปริมาณการรับประทานบวบอย่างเหมาะสม ดังนั้นก่อนกินบวบ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากบวบ ผู้บริโภคควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น อายุ หรือปัญหาสุขภาพ

22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เปิดเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล

วันนี้ เมื่อ 37 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอเนกประสงค์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ตั้งอยู่ที่ ต.ช่อแล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เกิดจากความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับกรมชลประทาน โดยกรมชลประทานรับผิดชอบในการสร้างเขื่อนและอาคารประกอบต่างๆ ส่วน กฟผ. รับผิดชอบโรงไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนอเนกประสงค์อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เดิมชื่อว่า “เขื่อนแม่งัด” มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ด้านเหนือเขื่อนที่สามารถอำนวยประโยชน์ได้หลายด้าน อาทิ ด้านการชลประทาน การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ การบรรเทาอุทกภัยแก่พื้นที่เพาะปลูกท้ายอ่างเก็บน้ำ การประมงในอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายได้ร่วมมือกันดำเนินงานมาตั้งแต่เริ่มการศึกษาโครงการ จนกระทั่งการก่อสร้างงานต่างๆ ตามโครงการได้สำเร็จลงด้วยดี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top