Sunday, 11 May 2025
Lite

หน่วยลาดตระเวนแถวหน้าสุดแห่งสมรภูมิโควิด19 ที่พกเพียง 'สเปรย์-เจล-หน้ากาก' และ 'หัวใจ'

ขณะที่ประเทศไทยเผชิญหน้ากับโควิด-19 จนมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คือส่วนสำคัญของระบบสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งร่วมรณรงค์ข้อมูลสุขภาพ รวมทั้งช่วยป้องกัน และควบคุมโรคในสถานการณ์ไม่ปกติ

หากเปรียบนายกรัฐมนตรี - ผู้นำประเทศ เป็นแม่ทัพบัญชาการรบพุ่งกับโควิด-19 บรรดาคณะแพทย์รอบโต๊ะศูนย์บริหารราชการฯ (ศบค.) เสมือน เสธ. ระดมสมองวางแผนหาหนทางสู้ หน่วยลาดตระเวนแถวหน้าสุดในสมรภูมิ ที่พกเพียงสเปรย์ และเจลแอลกอฮอล์ มีหน้ากากอนามัย และ Face Shield เป็นเกราะป้องกันตน ท่านเหล่านี้คือ อสม. ผู้ออกตรวจตรา (เคาะประตู) บ้าน ด้วยอาวุธอันจำกัดจำเขี่ย ทั้งรู้ดีแก่ใจว่าพวกตนมีสิทธิ์ติดเชื้อถึงตายตลอดเวลา โดยหากแม้นปราศจากแนวหน้านี้ ศึกคราที่ผ่านมานั้นคงจะพบเพียงความปราชัย

องค์กร อสม. เกิดจาก ‘งานสาธารณสุขมูลฐาน’ คือ ‘ชาวบ้าน’ ที่สนใจในทุกข์สุขของ ‘ชาวบ้าน’ ด้วยกัน ต่างคนต่างเคย ‘ร่วมมือ - ช่วยเหลือ’ งานสาธารณสุข เช่น จัดหาเด็กมาฉีดวัคซีน แนะนำคนไข้ให้มาพบเจ้าหน้าที่ที่สถานีอนามัยเพื่อรักษาพยาบาล จนกระทรวงสาธารณสุขได้นำเอาลักษณะงานดังกล่าว ปรับเป็นกลวิธีหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) โดยสนับสนุนงานสาธารณสุขมูลฐานครอบคลุมทั้งประเทศ และส่งเสริมชุมชนให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของชุมชนเอง

ย้อนรอยทฤษฎีสมคบคิดเพื่อหา ‘แพะ’ และความ ‘เสื่อม’ จนเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2

ทฤษฎีสมคบคิดเพื่อหา ‘แพะ’ กับ ความ ‘เสื่อม’ จนเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 

เมื่อคราวที่แล้วเรื่องของการเสียกรุงครั้งที่ 1 ที่ผมได้เล่าไปแล้วนั้น ภาพที่ฉายให้เราได้เห็นกันก็คือการขัดแย้งกันของฝ่ายโอนอ่อนและฝ่ายแข็งกร้าว ที่ยึดเอาราชตระกูลเป็นที่ตั้ง หักกันได้เพื่อผลประโยชน์ และมีภาพของ “ไส้ศึก” เช่น “พระยาจักรี” ที่เปรียบเสมือน “แพะ” จนทำให้เสียกรุงศรีฯ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2112 ในครั้งนี้ผมจะมาเล่าเรื่องราวของการเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 และ “แพะ” ที่ถูกตราหน้าว่าทำให้เสียกรุงกันบ้าง 

“แพะ” คนแรกคือขุนนางที่ถูกตราหน้าว่าเป็นไส้ศึก เป็นตัวร้ายของการย้อนประวัติศาสตร์ทุกเรื่องนั่นคือ “พระยาพลเทพ” มีทินนามเต็มตามทำเนียบพระไอยการนาพลเรือนคือ “ออกญาพลเทพราชเสนาบดีศรีไชยนพรัตนกระเสตราธิบดี” เป็นตำแหน่งของเสนาบดีกรมนาหรือ “เกษตราธิการ” หนึ่งในเสนาบดีจตุสดมภ์ ศักดินา 10,000 ไร่ เสนาบดีกรมนาทุกคนจะมีตำแหน่งเป็น “พระยาพลเทพ” ในสมัยรัตนโกสินทร์ยกขึ้นเป็น “เจ้าพระยา” เสนาบดีกรมนาทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานผู้ดูแลไร่นา เก็บหางข้าวหรือข้าวจากนาของราษฏรสำหรับขึ้นฉางหลวง ตั้งศาลพิจารณาความที่เกี่ยวข้องกับที่นาและสัตว์ที่ใช้ทำนาอย่างโคกระบือ เป็นเจ้าพนักงานที่ชักจูงให้ราษฎรทำนา เวลามีศึกก็ต้องเตรียมเสบียงกรังให้พรักพร้อม เป็นหน่วยพลาธิการสำคัญของกระบวนรบ  

สำหรับ “พระยาพลเทพ” ผู้เป็นไส้ศึกให้พม่าในสงครามเสียกรุงนั้น ไม่ทราบประวัติชัดเจน เพราะถูกกล่าวถึงอยู่ในหลักฐานเพียงชิ้นเดียวคือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ซึ่งพม่าเรียบเรียงจากคำให้การของเชลยอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าเมื่อหลังสงครามเสียกรุง พ.ศ. 2310 มีเนื้อหาสั้นๆ ว่า... “คราวนั้นพระยาพลเทพ ข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาเอาใจออกห่าง ลอบส่งศัสตราวุธเสบียงอาหารให้แก่พม่า สัญญาจะเปิดประตูคอยรับ พม่าเห็นได้ทีก็ระดมเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุธยา ทำลายเข้ามาทางประตูที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้”... เรื่องพระยาพลเทพส่งเสบียงอาหารให้พม่า ตรงกับหน้าที่รับผิดชอบของพระยาพลเทพในจดหมายของหลวงอุดมสมบัติ จึงเข้าใจว่าพระยาพลเทพผู้นี้เป็นผู้รับผิดชอบตระเตรียมเสบียงในสงครามเสียกรุง และจากที่ระบุว่าเป็นผู้เปิดประตูรับพม่าเข้ามา จึงอนุมานได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในแม่ทัพที่ป้องกันพระนครในเวลานั้นด้วย

พงศาวดารไทยและพม่าไม่ได้กล่าวถึงพระยาพลเทพในฐานะไส้ศึกเลย มีแต่กล่าวถึงพระยาพลเทพ (พงศาวดารพม่าฉบับภาษาพม่าสะกดว่า ‘ภยาภลเทป’ ဘယာဘလဒေပ) ว่าเป็นหนึ่งในเสนาบดีอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนแต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าให้ความช่วยเหลือแก่พม่า แต่ด้วยปัจจัยเรื่องเสบียงที่ขาดแคลนเมื่อพม่าไม่ยกทัพกลับเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก จึงน่าจะทำให้ “พระยาพลเทพ” ผู้ดูแลเสบียงกรังกลายเป็น “ไส้ศึก” และน่าจะเป็นที่จดจำของชาวกรุงเก่าที่ให้การไว้กับพม่า แต่นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงพระยาพลเทพผู้นี้อีกเลย

คนที่สองหรือพระองค์ที่สอง ก็ได้ เพราะเป็นถึงกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่ได้รับเกียรติให้กลายเป็น “แพะ” ผมกำลังจะเล่าถึง “สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์” หรือ “สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์” กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาที่มี “ภาพจำ” จากพระราชพงศาวดาร, แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย, คำบอกเล่า ฯลฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เป็นกษัตริย์ที่ไม่ใส่ใจกิจการบ้านเมือง, ลุ่มหลงแต่สนมนางใน, กดขี่ข่มเหงข้าราชการและประชาชน, อ่อนแอ, ขี้ขลาดและเมื่อพม่าประชิดกรุงศรีอยุธยาพระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ยิงปืนใหญ่ ด้วยเกรงบรรดาพระสนมจะตกอกตกใจกัน ฯลฯ 

พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” กับพระอัครมเหสีองค์รองคือ “กรมหลวงพิพิธมนตรี” หรือ “พระพันวษาน้อย” พระนามเดิมเมื่อแรกประสูติคือ “เจ้าฟ้าเอกทัศน์” พ.ศ. 2275 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็น “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี” โดยมีพระอนุชามีรวมโสทรคือ “เจ้าฟ้าอุทุมพร” หรือที่พระชนกตั้งชื่อเมื่อแรกประสูติว่า “เจ้าฟ้าดอกเดื่อ” โดยทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็น “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต” ซึ่งในกาลต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็น “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” ก่อนจะสละราชย์ไปทรงผนวชถึง 2 คราว ด้วยเหตุจำเป็น จนชาวบ้านขนานนามพระองค์อย่างเป็นที่รู้จักกันว่า “ขุนหลวงหาวัด” 

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ “พระเจ้าเอกทัศน์” กลายเป็นตัวโกง ก่อนจะกลายเป็น “แพะ” คือการไม่ได้รับการยอมรับจากพระราชบิดาให้เป็น “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” หรือ “องค์รัชทายาท” แต่พระราชบิดากลับยกให้ “เจ้าฟ้าอุทุมพร” พร้อมด้วยแรงสนับสนุนจาก “กรมหมื่นเทพพิพิธ” ซึ่งเป็นพระโอรสชั้นผู้ใหญ่ กับบรรดาเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ คือเรียกว่าเพียบพร้อมกว่าพระเชษฐาว่างั้นเถอะ ทั้งยังมีพระราชโองการของ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า “กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้น โฉดเขลาหาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงฐานาศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชการกึ่งหนึ่งนั้นบ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติฉิบหายเสีย” และมีพระราชดำรัสสั่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีว่า “จงไปบวชเสียอย่าให้กีดขวาง” ถึงตรงนี้คนเล่าประวัติศาสตร์ก็ข้ามเรื่องราวการเคลียร์เส้นทางของ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต” ไปเลย 

ครั้นเมื่อ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” สวรรคต ได้เกิดกบฏเจ้า 3 กรม อันได้แก่ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดีซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่ได้ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี” เป็นผู้วางแผนและดำเนินการปราบกบฏเจ้า 3 กรม เพื่อกรุยทางให้ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต” ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา แต่หลังจากนั้นประมาณ 10 วัน ก็ทรงสละราชสมบัติให้ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี” แล้วพระองค์ก็ออกผนวช ซึ่งพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ก็ขยายความในเชิงว่า พระองค์ถูก “บีบ” แต่จะบีบด้วยอะไร ? แบบไหน ? กลับไม่มีใครบันทึกไว้ มีแต่บอกว่า “กรมขุนอนุรักษ์มนตรี” เสด็จ ฯ ขึ้นไปประทับที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เนื่องจากเป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นและดื้อแพ่งไม่ยอมย้ายหรือยกให้ใคร จน“สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” ต้องยอมยกราชบัลลังก์ให้ ซึ่งนี่คือข้อมูลเชิงปรักปรำที่ทำให้ “สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์” เป็นกษัตริย์ที่ “ดูแย่” อย่างสมบูรณ์แบบ แต่เป็นจริงแบบนั้นไหม ? ไปต่อกัน  

สำหรับการครองราชย์ของ “พระเจ้าเอกทัศน์” ตาม “คำให้การชาวกรุงเก่า” ปรากฏความว่า... "พระมหากษัตริย์พระองค์นี้” ทรงพระกรุณากับอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง แผ่เมตตาไปทั่วสารพัดสัตว์ทั้งปวง”... หรืออย่างใน “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ปรากฏความว่า "พระองค์ตั้งอยู่ในธรรมสุจริต บพิตรเสด็จไปถวายนมัสการพระศรีสรรเพชทุกเพลามิได้ขาด พระบาทจงกรมอยู่เป็นนิจ บพิตรตั้งอยู่ในทศพิธสิบประการ แล้วครอบครองกรุงขันธสีมา ทั้งสมณพราหมณ์ก็ชื่นชมยินดีปรีเปนศุขนิราชทุกขไภย ด้วยเมตตาบารมีทั้งฝนก็ดีบริบูรณภูลความศุกมิได้ดาล ทั้งข้าวปลาอาหารและผลไม้มีรสโอชา ฝูงอาณาประชาราษฎร์และชาวนิคมชนบทก็อยู่เยนเกษมสานต์ มีแต่จะชักชวนกันทำบุญให้ทาน และการมโหรสพต่าง ๆ ทั้งนักปราชผู้ยากผู้ดีมีแต่ความศุกที่ทุกขอบขันธสีมา" 

...นอกจากหลักฐานทั้งสอง ยังได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าเอกทัศ เช่น ทรงออกพระราชบัญญัติเครื่องชั่ง ตวง วัดต่าง ๆ, มาตราเงินบาท สลึง เฟื้องให้เที่ยงตรง และโปรดให้ยกเลิกภาษีอากรต่าง ๆ เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้ง... "ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บ้านเมืองสงบ การค้าขายเจริญ ทรงบริจาคทรัพย์ให้แก่คนยากจนจำนวนมาก" ...คือมองแล้วพระองค์น่าจะเป็นกษัตริย์ที่ถนัดทางด้านการจัดการด้านเศรษฐกิจและกิจการภายใน ที่ดีทีเดียว
 

4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 ร.5 ทรงเปิดโรงกษาปณ์สิทธิการ แห่งที่ 3 พร้อมเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์ไฟฟ้าครั้งแรก

ความเจริญก้าวหน้าด้านการค้าของประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้ เหรียญกษาปณ์เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่เครื่องจักรแรงดันไอน้ำที่มีอยู่เริ่ม ชำรุดเนื่องจากใช้ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ถึง 25 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกษาปณ์สิทธิการแห่งใหม่ขึ้นในบริเวณอันเป็นที่ตั้งของวังเจ้านาย 6 พระองค์ ซึ่งเรียกสถานที่นี้ว่า ‘วังสะพานเสี้ยว’ ริมคลองหลอดด้าน ถนนเจ้าฟ้าทางทิศเหนือของท้องสนามหลวง โดยมีลักษณะเป็นอาคาร ก่ออิฐถือปูน สูง 2 ชั้น มีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตก เมื่อย้ายโรงกษาปณ์ไปอยู่สถานที่แห่งใหม่แล้ว กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติคือ ‘หอศิลป์แห่งชาติถนนเจ้าฟ้า’ ในปัจจุบัน

พิธีเปิดโรงกษาปณ์แห่งที่ 3 อย่างเป็นทางการมีขึ้น เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2445 และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น ‘กรมกษาปณ์ สิทธิการ’ ติดตั้งเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์เครื่องใหม่ ซึ่งทำงานด้วยกำลังไฟฟ้าสามารถผลิตเหรียญได้ประมาณวันละ 80,000 ถึง 100,000 เหรียญ โดยไม่ต้องทำการล่วงเวลา ส่วนเงินพดด้วงได้ โปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2451

เมื่อมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติมาตราทองคำ รัตนโกสินทร์ศก 127 (พ.ศ. 2451) ได้ทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 1 บาทตราพระบรมรูปตราไอราพต จากโรงกษาปณ์ปารีส จำนวน 1,036,691 เหรียญ แต่ไม่ทันได้ประกาศใช้ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน โดยตราไอราพตได้ใช้เป็นตราประจำแผ่นดินเรื่อยมาจนสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 โลหะที่ใช้ในการ ผลิตเหรียญกษาปณ์มีราคาสูงขึ้น จึงต้องลดส่วนผสมของโลหะเงินลงและผลิตธนบัตร ราคา 1 บาทออกใช้แทน เหรียญกษาปณ์

5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ถนนเจริญกรุง’

วันนี้ เมื่อ 162 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ถนนเจริญกรุง’ ถนนหลักสายแรกของประเทศไทย

ถนนเจริญกรุง ถูกดำริให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยเหตุที่มีชาวต่างชาติ ได้เข้ามาทำธุรกิจห้างร้าน รวมถึงที่ทำการกงสุลต่าง ๆ ก็ถูกก่อสร้างขึ้นในย่านนี้ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ได้ขอให้สร้างถนนสายสำหรับขี่ม้า หรือนั่งรถม้า พระองค์จึงทรงดำริให้มีการสร้างถนนที่มีมาตรฐานขึ้น แล้วเสร็จเมื่อราวปี พ.ศ. 2407

แรกเริ่มเดิมที ผู้คนเรียกถนนสายนี้ว่า ‘ถนนใหม่’ ส่วนฝรั่งเรียกว่า ‘นิวโรด’ (New Road) และชาวจีนเรียกว่า ซินพะโล้ว แปลว่า ถนนตัดใหม่ เช่นกัน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า ‘ถนนเจริญกรุง’ ซึ่งมีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง

6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘วันมวยไทย’ มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าเสือ ‘พระบิดาแห่งมวยไทย’

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถือเป็น ‘วันมวยไทย’ เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าเสือ ‘พระบิดาแห่งมวยไทย’ พระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระปรีชาสามารถด้านมวยไทย ส่งต่อภูมิปัญญามาจวบจนปัจจุบัน

‘มวยไทย’ เป็นศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวของชนชาติไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมล้ำค่า ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เพื่อให้มรดกภูมิปัญญานี้ได้รับการยกย่อง ส่งเสริม และเชิดชูให้คนในชาติให้ความสำคัญต่อศิลปะการป้องกันตัวของชาติไทย ได้รับการสืบสาน รักษาพร้อมต่อยอด เป็น Soft Power พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืน 

น้ำใจจากชุมชน ความดีงามแห่งสยาม ปันทุกข์เพื่อคนยากช่วยคนอิ่มท้อง จนแม้แต่ WHO ยังชื่นชม

ส่วนหนึ่งจากงานวิจัย ‘ตู้ปันสุข: วิถีปกติใหม่ ยุคโควิด-19’ ของ ‘อุษณีย์ พรหมศรียา’ กับ ‘อัปสร อีซอ’ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ระบุว่า “...การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งมาตรการปิดเมือง หรือ ล็อคดาวน์ (Lockdown) การหยุดกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้มีคนจำนวนมากต้องขาดรายได้ หรือตกงาน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตที่ยากลำบาก”

“...มีรูปแบบการช่วยเหลือซึ่งได้รับความนิยม คือ 'โครงการตู้ปันสุข’ ที่มุ่งช่วยเหลือคนในชุมชน ด้วยการให้คนที่มีกำลังช่วยเหลือ ร่วมแบ่งปันของต่าง ๆ นำมาใส่เอาไว้ให้กับคนที่ต้องการมาเปิดตู้กับข้าวนี้ เพื่อไปหยิบใช้ได้ฟรี โดยมุ่งหวังช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนให้ผ่านวิกฤตจากโควิด-19 ไปด้วยกัน”

จะมีสักกี่ประเทศบนโลกซึ่งผ่านเผชิญหน้ากับเชื้อมหันตภัยไวรัสเดียวกัน โดยมีสิ่งซึ่งเรียกว่า 'ตู้ปันสุข' เช่นไทยเรา สิ่งนี้คือความดีงามของน้ำใจ แม้ผู้ให้ไม่เคยรู้จักกันกับผู้รับมาก่อน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อันมีมาแต่โบราณ ถูกส่งต่อมายังยุคปัจจุบัน อย่างที่ใครหน้าไหนก็ 'ด้อยค่า' ลงมิได้ นี่คือแนวคิดแบบ "หยิบใส่ตู้อิ่มใจ หยิบออกไปอิ่มท้อง" อย่างไทยแท้ คือเอกลักษณ์ที่องค์กรระดับโลก WHO ยังต้องสรรเสริญสดุดี

‘บียอนเซ่’ ราชินีเพลงป็อป ชาวอเมริกัน คว้ารางวัล ‘Grammy Awards’ มากที่สุดตลอดกาล

(6 ก.พ. 66) บียอนเซ่ ราชินีเพลงป๊อปชาวอเมริกันทำลายสถิติตลอดกาลของการประกาศผลรางวัลแกรมมี ที่เป็นรางวัลด้านเพลงที่สำคัญของโลก หลังจากที่เธอกวาดรางวัลไปได้ 4 สาขาในปีนี้ ส่งผลให้เธอกลายเป็นศิลปินที่ได้รับรางวัลแกรมมีไปครองมากที่สุดรวมทั้งสิ้น 32 รางวัล

‘บียอนเซ่’ มาร่วมงานประกาศรางวัลแกรมมี่ ครั้งที่ 65 ที่นครลอสแอนเจลิส เมื่อค่ำคืนวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐฯ โดยเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลทั้งหมด 9 สาขา แต่ได้รับรางวัลไปครอง 4 สาขา ได้แก่ รางวัลอัลบัมเพลงแดนซ์/อิเล็กทรอนิกยอดเยี่ยม (Best Dance/Electronic Music Album) จากอัลบั้ม ‘เรอเนสองส์’ (Renaissance), รางวัลบันทึกเสียงเพลงแดนซ์-อิเล็กทรอนิกยอดเยี่ยม (Best Dance/Electronic Recording) จากเพลง ‘เบรค มาย โซล’ (Break My Soul), รางวัลเพลงอาร์แอนด์บียอดเยี่ยม (Best R&B Song) จากเพลง ‘คัฟ อิท’ (Cuff It) และรางวัลการแสดงเพลงอาร์แอนด์บีแบบเทรดิชันนอลยอดเยี่ยม (Traditional R&B Performance) จากเพลง ‘พลาสติก ออฟ เดอะ โซฟา’ (Plastic Off the Sofa)

‘สหพรรค’ รบ.วิบากกรรมของ ‘หม่อมคึกฤทธิ์’ ดั่งถูก ‘สหบาทา’ จากผลประโยชน์อันมิลงรอย

ณ ปัจจุบันนี้ เราจะเห็น ส.ส. ในพรรคต่าง ๆ ย้ายพรรคกันอย่างสนุกสนาน เพื่ออนาคตหลังการเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนต่างก็หวังจะได้มีโอกาสเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฟากฝั่งของรัฐบาล โดยเฉพาะได้อยู่ในพรรคอันดับหนึ่งที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล หรือพรรคใหญ่อันดับรอง ๆ ที่มีโอกาสต่อรองสูง 

แต่หากย้อนกลับไปในอดีต มีพรรคขนาดเล็กที่มี ส.ส.เพียง 18คน ที่สามารถเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่ ส.ส. ทั้งสภามีที่นั่งรวม 296 คน 

ผมนั่งเขียนเรื่องนี้แล้วก็คิดตามว่า...มันต้องมีพลังในการประสานประโยชน์เบอร์ไหนถึงทำได้ ว่าแล้วก็ลองไปติดตามกันดูครับ 

ในการเลือกตั้งเมื่อ วันที่ 26 มกราคม 2518 เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 10 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการปกครองของระบอบเผด็จการทหาร พร้อมเปลี่ยนจากการเลือกตั้งจากเขตจังหวัด มาเป็นหลายอำเภอรวมกันเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง และมีจำนวน ส.ส. ได้เขตละ 3 คน 

การเลือกตั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้ประชาธิปไตยมีความเบ่งบานอย่างมาก จึงทำให้มีพรรคเข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเป็นประวัติการณ์ และผลจากการเลือกตั้งก็ได้พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. เข้าสภาฯ ถึง 22 พรรค โดยชัยชนะตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค โดยได้ ส.ส. ไป 72 คน ตามมาด้วยพรรคธรรมสังคม 45 คน, พรรคชาติไทย 28 คน, พรรคเกษตรสังคม 19 คน, พรรคกิจสังคม 18 คน ทั้งนี้มีพรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าพรรคต่ำสิบอีก 13 พรรค และมีพรรคที่ได้เพียง 1 คน อีก 5 พรรค ซึ่งหากจะตั้งรัฐบาลได้จะต้องมี ส.ส. 135 คน จาก ส.ส. ทั้งหมด 269 คน 

ในฐานะพรรคอันดับ 1 พรรคประชาธิปัตย์ได้สิทธิ์รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่ประชาธิปัตย์สร้างไว้เองคือ คำสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงว่าพรรคจะไม่จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ ‘อดีตสมาชิกพรรคสหประชาไทย’ ซึ่งเคยเป็นพรรคของ จอมพล ถนอม กิตติขจร โดยเด็ดขาดเพราะเป็นพรรคเชื้อสายทรราช (คุ้น ๆ อีกแล้ว) ด้วยเงื่อนไขนี้ทำให้ไม่สามารถจับมือกับพรรคธรรมสังคมซึ่งมี ส.ส. 45 คน รวมไปถึงพรรคสังคมชาตินิยมอีก 16 คน นอกจากนี้ ยังไม่สามารถตกลงจับมือกับพรรคชาติไทยซึ่งนำโดย พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร ได้ เพราะพรรคชาติไทยเรียกร้อง 3 กระทรวงใหญ่คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ถ้ามองกันรวม ๆ แล้ว ที่การตกลงกันไม่ได้นั้น น่าจะเกิดจากความไม่ตั้งใจจริงที่จะเจรจากันมากกว่า รวมถึงความไม่สนใจที่จะไปเจรจาจับมือกับกลุ่มพรรคต่ำสิบ 

ทำให้สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ต้องไปรวมกับพรรคเกษตรสังคมที่มี 19 คน และพรรคแนวร่วมสังคมนิยม รวมมีคะแนนเสียงสนับสนุน 103 คน ซึ่งไม่ถึงครึ่งของสภาที่ต้องมี 135 คน เลยต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างน้อยขึ้น แต่ก็ล้มเหลว เพราะเมื่อ เมื่อถึงวันแถลงนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจในการจัดตั้งรัฐบาลต่อสภา ในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2518 ปรากฏว่า รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 111 เสียง ไม่ได้รับการไว้วางใจให้จัดตั้งรัฐบาล จึงต้องสละสิทธิ์การจัดตั้งรัฐบาลไป แม้ประชาธิปัตย์จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แต่ก็ล้มเหลวในการรวมเสียงตั้งรัฐบาล แท้งตั้งแต่ก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นช่องที่ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมี ส.ส.เพียง 18 คน ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ‘สหพรรค’ ขึ้น

หลังความล้มเหลวของ ‘หม่อมพี่’ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แห่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้ ก็ถึงคิวของ ‘หม่อมน้อง’ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม โดยเริ่มต้นการเจรจาไปที่พรรคการเมืองที่มีอดีตสมาชิกพรรคสหประชาไทย (ซึ่งหม่อมพี่ไม่เอา) รวมกลุ่มกันในชื่อ ‘กลุ่มรวมชาติ’ เป็นแกนนำของ ‘พรรคธรรมสังคม’ ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 มี ส.ส. 45 คน ได้เจรจากับพรรคกิจสังคม โดยหวังใช้ชื่อเสียงและบารมีของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มาช่วยเรื่องภาพลักษณ์ในอดีตของกลุ่มตน

แม้พรรคกิจสังคมจะมี ส.ส. เพียง 18 ที่นั่งในสภา แต่ด้วยกลวิธีการเจรจาต่อรอง สร้างแรงจูงใจจากความสามารถของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรค ทำให้สามารถตั้งรัฐบาลได้ !!! โดยมีพรรคหลัก ๆ อย่าง พรรคกิจสังคม พรรคไท พรรคพลังประชาชนและพรรคอื่น ๆ ที่เรียกกันอย่างสุภาพว่า ‘รัฐบาลสหพรรค’ หรือฉายาที่มีคนตั้งให้ว่า ‘รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่’ เพราะเป็นรัฐบาลผสมที่เกิดขึ้นจาก 12 พรรค ได้ 135 เสียง เท่ากับครึ่งหนึ่งพอดี (ก่อนจะดึงพรรคอื่นมารวมเบ็ดเสร็จไม่ต่ำกว่า 16 พรรค) 

ที่สุดแล้วการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2518 ผลการลงมติออกเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2518 ปรากฏว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียง ส.ส. 135 คน และ พ.อ. สมคิด ศรีสังคม ได้ 59 คน งดออกเสียง 88 คน และคณะรัฐบาลได้รับการไว้วางใจไปด้วยคะแนน 140 ต่อ 124 เสียง ไม่มาก ไม่น้อย 

ฝนหลวงพระราชทาน ‘ดับไฟ-ดับฝุ่น-ดับทุกข์’ ‘คิด-ทดลอง’ ซ้ำๆ ก่อนคนไทยได้รับประโยชน์

ท่ามกลางละอองฝุ่นควันมลพิษ PM 2.5 ปกคลุมจนคล้ายกับอาเพศ 'หมอกมุงเมือง' สะสมตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2566 ไล่เรื่อยตั้งแต่ภาคเหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลางตอนบน และวิกฤติสุดหยุด ณ กรุงเทพมหานคร โดยรอยต่อปลายเดือนมกราคมขึ้นกุมภาพันธ์ พบว่าภาพรวมปริมาณ PM 2.5 ในประเทศเกินค่ามาตรฐาน จนน่าเป็นห่วงปนวิตกต่อสุขภาพทางเดินหายใจประชาชนอย่างยิ่ง

รอคอยกันไปมาจนถึงเวลา 'นักรบฝนหลวง' ต้องออกมากอบกู้สถานการณ์

นอกเหนือจาก 'ฝนหลวง' จะช่วยป้องกัน แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ช่วยเติมน้ำให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สร้างความชุ่มชื้น ลดไฟป่า แถมยับยั้งการเกิดลูกเห็บได้ผลแล้ว 'ฝนหลวง' ยังช่วยสลายหมอกควัน ลดมลพิษทั้งทางน้ำและในอากาศอีกด้วย

ปริมาณฝนซึ่งตกทั่วกรุงเทพฯ และรอบเขตปริมณฑลช่วงนี้ (5 - 9 กุมภาพันธ์) มีที่มาจากการขึ้นทำฝนหลวงบริเวณอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้น้ำฝนตกใกล้พื้นที่เมืองหลวงมากที่สุด ด้วยไม่สามารถปฏิบัติการทำฝนหลวงในกรุงเทพฯ ได้ เพราะติดข้อจำกัดทางการบิน

ต่อมา 'กรมฝนหลวง' จะดำเนินการ 'ฝนเร่งด่วน' ต่อเนื่องติดต่อถึงห้าวัน โดยตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ขึ้นเฉพาะ เน้นพื้นที่ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคตะวันออก, ภาคกลาง ซึ่งพบว่ามีมวลความกดอากาศสูงแผ่ลงมา ทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์เกินกว่า 40 - 50% เอื้อต่อการก่อมวลเมฆได้ผลดี บวกกับสภาพลมช่วยพัดพาเมฆฝนมาตกบนพื้นที่เป้าหมาย

ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลผลิตเหลือใช้ทางเกษตรจำนวนมากของประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับแนวกระแสลมพัดพาเข้ามายังไทยเพิ่มขึ้น คือปัจจัยหลักของปริมาณฝุ่นละอองมลพิษเพิ่มสูง มากกว่าฝุ่นมลพิษที่เกิดจากไทยเราเอง แต่ด้วยการช่วยให้ฝนตกลงมาจะช่วยซับละอองหมอกควันในอากาศจนเจือจางลง

7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ ทรงเปิด ‘เขื่อนเจ้าพระยา’ เขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกของไทย

7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จทำพิธีเปิด ‘เขื่อนเจ้าพระยา’ เขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ที่ทำประโยชน์ให้พื้นที่เกษตรภาคกลาง

วันนี้เมื่อ 66 ปีมาแล้ว เป็นวันสำคัญเมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการทำพิธีเปิด ‘เขื่อนเจ้าพระยา’ ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย

กล่าวถึงเขื่อนเจ้าพระยา เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2495 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2500 โดยเป็นเขื่อนทดน้ำ ที่ไม่ใช่สำหรับกักเก็บน้ำ สร้างขวางแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่ยกระดับน้ำให้สูงขึ้น +16.50 เมตร จากระดับน้ำทะเล เพื่อส่งน้ำเข้าไปยังลำคลอง ในพื้นที่การเกษตร ทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top