ฝนหลวงพระราชทาน ‘ดับไฟ-ดับฝุ่น-ดับทุกข์’ ‘คิด-ทดลอง’ ซ้ำๆ ก่อนคนไทยได้รับประโยชน์

ท่ามกลางละอองฝุ่นควันมลพิษ PM 2.5 ปกคลุมจนคล้ายกับอาเพศ 'หมอกมุงเมือง' สะสมตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2566 ไล่เรื่อยตั้งแต่ภาคเหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลางตอนบน และวิกฤติสุดหยุด ณ กรุงเทพมหานคร โดยรอยต่อปลายเดือนมกราคมขึ้นกุมภาพันธ์ พบว่าภาพรวมปริมาณ PM 2.5 ในประเทศเกินค่ามาตรฐาน จนน่าเป็นห่วงปนวิตกต่อสุขภาพทางเดินหายใจประชาชนอย่างยิ่ง

รอคอยกันไปมาจนถึงเวลา 'นักรบฝนหลวง' ต้องออกมากอบกู้สถานการณ์

นอกเหนือจาก 'ฝนหลวง' จะช่วยป้องกัน แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ช่วยเติมน้ำให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สร้างความชุ่มชื้น ลดไฟป่า แถมยับยั้งการเกิดลูกเห็บได้ผลแล้ว 'ฝนหลวง' ยังช่วยสลายหมอกควัน ลดมลพิษทั้งทางน้ำและในอากาศอีกด้วย

ปริมาณฝนซึ่งตกทั่วกรุงเทพฯ และรอบเขตปริมณฑลช่วงนี้ (5 - 9 กุมภาพันธ์) มีที่มาจากการขึ้นทำฝนหลวงบริเวณอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้น้ำฝนตกใกล้พื้นที่เมืองหลวงมากที่สุด ด้วยไม่สามารถปฏิบัติการทำฝนหลวงในกรุงเทพฯ ได้ เพราะติดข้อจำกัดทางการบิน

ต่อมา 'กรมฝนหลวง' จะดำเนินการ 'ฝนเร่งด่วน' ต่อเนื่องติดต่อถึงห้าวัน โดยตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ขึ้นเฉพาะ เน้นพื้นที่ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคตะวันออก, ภาคกลาง ซึ่งพบว่ามีมวลความกดอากาศสูงแผ่ลงมา ทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์เกินกว่า 40 - 50% เอื้อต่อการก่อมวลเมฆได้ผลดี บวกกับสภาพลมช่วยพัดพาเมฆฝนมาตกบนพื้นที่เป้าหมาย

ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลผลิตเหลือใช้ทางเกษตรจำนวนมากของประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับแนวกระแสลมพัดพาเข้ามายังไทยเพิ่มขึ้น คือปัจจัยหลักของปริมาณฝุ่นละอองมลพิษเพิ่มสูง มากกว่าฝุ่นมลพิษที่เกิดจากไทยเราเอง แต่ด้วยการช่วยให้ฝนตกลงมาจะช่วยซับละอองหมอกควันในอากาศจนเจือจางลง

ตราบใดที่ยังแก้ปัญหาฝุ่นละอองมลพิษจากต้นเหตุไม่ได้ นักรบฝนหลวงก็จำเป็นต้องออกมาแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าวนซ้ำเรื่อยไปอย่างไม่เห็นหนทางสิ้นสุด

หลายท่านคงทราบดีว่า 'โครงการฝนหลวง' เกิดจากพระราชดำริส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร 15 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ 2 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489

จากวันนั้นเรื่อยมา ในหลวง ร.9 ได้ทรงศึกษาค้นคว้า วิจัย ทั้งทางเอกสารวิชาการ ทั้งด้านอุตุนิยมวิทยา การดัดแปรสภาพอากาศ จนทรงมั่นพระทัยแล้ว จึงพระราชทานแนวคิดนี้แก่ 'หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล' ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนกระทั่ง มรว.เทพฤทธิ์ เปรียบเสมือน 'พระหัตถ์ขวา' ของพระราชาผู้เนรมิตสายฝนชะโลมดิน

ในปี พ.ศ. 2516 ได้พระราชทาน 'หลักการทำฝนหลวง 3 ขั้นตอน' เพื่อผู้ปฏิบัติงานจะได้ดำเนินการรูปแบบเดียวกัน โดยง่ายต่อความเข้าใจของทุกฝ่าย ซึ่งก็คือ ขั้นตอนที่หนึ่ง 'ก่อกวน' สอง 'เลี้ยงให้อ้วน' และขั้นตอนที่สาม 'โจมตี' เพียงสามขั้นอันแสนเรียบง่ายแต่เข้าถึงหัวใจนักวิทยาศาสตร์ค่อนโลก

ขึ้นชื่อว่าอะไรเป็นของ 'พระราชทาน' แล้ว ก็ล้วนแลดูเหมือนห่างไกล คล้ายสร้างมาเพื่อให้ประชาชนเข้าไม่ถึง แต่ความจริงหาเคยเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะ 'สิ่งของพระราชทาน' หรือ 'ฝนหลวงพระราชทาน' คือสิ่งที่พระมหากษัตริย์ผู้เกรียงไกร ทรงคิดและทรงทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างดีที่สุด ก่อนพระราชทานต่อให้ชาวไทยได้ใช้และเข้าถึง อย่างไม่ยากเย็นเลย


เรื่อง: พรชัย นวการพิศุทธิ์

อ้างอิง: ตำราฝนหลวงพระราชทาน >>> http://rainmaking.royalrain.go.th/Story/Textbook

ขั้นตอนขอรับบริการฝนหลวง >>> http://rainmaking.royalrain.go.th/Service/Request