Sunday, 11 May 2025
Lite

ต่างชาติยอมรับ ผ่าโมเดลเศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงโควิด แบบอย่างความสำเร็จ ที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก

'ยูเอ็น' ยก 'โมเดลความสำเร็จของประเทศไทย' เป็นแบบอย่างที่ประสบความสำเร็จในการสร้างชาติ และมีการนำรายละเอียดไปเผยแพร่ต่อประชาคมโลก

ประวัติศาสตร์การส่งออกไทย ปี 65 กันสักเล็กน้อย ชาติไทยเรามีตัวเลขบวก 5.5% คิดเป็นมูลค่าก็เฉียด 10 ล้านล้านบาท

สำนักข่าว 'Bloomberg' ประกาศให้ไทยอันดับ 1 ประเทศแนวโน้มจะเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่มีภาพรวมทางเศรษฐกิจดีที่สุดในปี 2564

ฝ่าวิกฤตสร้างเงินเข้าประเทศ ตั้งเป้าส่งออก 2566 บวก 1 - 2% เผยผ่านค้าชายแดนปี 65 ร่วม 1,029,837 ล้านบาท!

*** ที่ยกมาข้างต้น คือ สรุปข่าวจากสื่อชั้นนำทั่วโลกที่กล่าวถึงไทย

ถึงวันนี้เป็นที่ยอมรับกันว่า ปัจจัยโดดเด่นของไทยยังคงเป็น 'เศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ' รวมถึงภาคการเงินอันเข้มแข็ง และสวัสดิการด้านสุขภาพที่ดี ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของประเทศสามารถเข้าถึง นั่นคือ 3 เหตุผลหลัก ซึ่งทำให้บ้านเรายังคงมีกำลังการผลิตสูงตลอดมา ทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยสามารถอธิบายง่ายๆ ว่า "แม้ขณะที่ผู้คนหลบอยู่ในบ้าน ไร้ซึ่งการพบปะสังสรรค์ทั้งระดับท้องถิ่นและนานาชาติ แต่การบริโภคกลับไม่เคยลดลง" เพราะฉะนั้นการส่งออก โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม จึงเติบโตฉุดภาพรวมพลิกฟื้นยืนขึ้นอย่างสง่างาม

องค์การการค้าโลก (WTO) ทำรายงาน 'Trade Policy Review' สำหรับไทยบนฐานะสมาชิกฯ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุ "...ประเทศไทยช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2558 - 2562) มีอัตราขยายตัวเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 3.4% ปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก และยังมีโครงสร้างของภาคบริการ ซึ่งรวมถึงการก่อสร้าง ในสัดส่วนถึง 61% ต่อจีดีพี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 58%

และว่า “...ฐานะทางการคลังของไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 224.3 พันล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทแข็งค่า และกดดันต่อขีดแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ แม้เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงต้นปี จากการระบาดโควิดก็ตาม" พร้อมยังยกย่องรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า “...ต้องขอบคุณรัฐบาลไทยที่เคร่งครัดต่อสุขภาพทางการคลังตลอดเวลาที่ผ่านมา มีการออกกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางการคลัง หรือ Fiscal Responsibility Act (FRA) ซึ่งเข้มงวดเรื่องเป้าหมายหนี้ การใช้งบประมาณ และการลงทุนต่างๆ”

หันมาดูสถานะการส่งออกเดือนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่หมวดสินค้าเกษตร นำเม็ดเงินเข้าประเทศถึง 72,992 ล้านบาท โดยภาพรวมของสินค้าขยายตัวดี ได้แก่ ไก่สด (ทั้งแช่เย็น - แช่แข็ง) สับปะรดสด ทุเรียนสด (เฉพาะทุเรียนขายได้ 8,016 ล้านบาท แม้ผลผลิตจะน้อยกว่าปี 2564 เพราะฝนตกชุก)

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ‘จ่าคลั่ง’ ก่อเหตุกราดยิงที่โคราช หนึ่งในโศกนาฏกรรม ครั้งเลวร้ายที่สุดของไทย

ครบรอบ 3 ปี เหตุการณ์ จ่าคลั่ง ก่อเหตุกราดยิงผู้บริสุทธิ์ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

เรียกว่ายังคงจำฝังใจคนไทย สำหรับเหตุการณ์ กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เป็นเหตุกราดยิงในจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 กรณีจ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชาและญาติถึงแก่ความตาย แล้วหลบหนีเข้ามาในตัวเมือง กราดยิงผู้คนตามรายทาง ก่อนเข้าไปซ่อนตัวหลบอยู่ในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จับบุคคลในห้างเป็นตัวประกัน 

สำหรับเหตุการณ์ในวันนั้นเริ่มขึ้น เวลาประมาณ 15.30 น. 8 กุมภาพันธ์ 2563 จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชา คือ พันเอก อนันต์ฐโรจน์ กระแสร์ อายุ 48 ปี ผู้บังคับกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 และนางอนงค์ มิตรจันทร์ อายุ 65 ปี แม่ยายของพันเอก อนันต์ฐโรจน์ ถึงแก่ความตายที่บ้านพักในตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ขณะที่นายหน้าวิ่งหนีไป จึงถูกไล่ยิงเข้าข้างหลังแต่ไม่เสียชีวิต

จากนั้น จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ไปชิงอาวุธสงครามออกมาจากคลังอาวุธกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ตำบลไชยมงคล โดยยิงทหารเวรกองรักษาการณ์ และทหารดูแลคลังอาวุธ มีพลทหารบาดเจ็บ 1 นาย เสียชีวิตอีก 1 นาย ต่อมา จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ขับรถฮัมวีหลบหนีออกไปทางด้านหลังค่าย มุ่งไปทางวัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล เพราะทราบว่าภรรยาของผู้บังคับบัญชาออกไปทำบุญที่วัดป่าศรัทธารวม ได้กราดยิงผู้คนตามรายทางถึงแก่ความตายรวม 9 คน คนร้ายกราดยิงกระสุนนับร้อยนัด โดยยิงคนในรถเสียชีวิตและบาดเจ็บ ยังยิงเด็กนักเรียนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์และยังเดินไปยิงซ้ำอีก จากนั้นมีตำรวจมา 2 นาย ไม่ทันลงจากรถก็ถูกยิงจนพรุนเสียชีวิต แต่ปรากฏว่า ได้ทราบว่า ภรรยาของผู้บังคับบัญชาไปกินข้าวที่เทอร์มินอล 21 โคราช

ส่องมาตรการช่วยเหลือยามโควิด19 ระบาด คำสัญญาว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จากบิ๊กตู่

ด้วยคำยืนยันจากปากของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ว่า "เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ซึ่งคือคำสัญญาอย่างดีที่มีต่อประชาชนชาวไทย โดยเห็นเป็นรูปธรรมที่สุดผ่านนโยบายต่าง ๆ ท่ามกลางวิกฤต ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลังจริง ๆ อย่างที่ลั่นวาจา

โดยอาจสรุปย่อ ๆ ได้ดังนี้ มาตรการดูแลค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ 20,000 เยียวยาผู้ประกอบการต่าง ๆ ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการดูแลเยียวยาอาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เช่น แรงงานนอกระบบประกันสังคม 16 ล้านคน ชดเชยรายได้เกษตรกร 10 ล้านคน เยียวยากลุ่มเปราะบาง 6.8 ล้านคน รวมถึงกลุ่มผู้ไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ อีก 1.16 ล้านคน

เฉพาะยอดรวมงบประมาณการดูแลและเยียวยา (รอบสอง) ก็ได้ใช้จ่ายเพื่อ 'ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง' ไปถึง 455,956 ล้านบาท ช่วยเหลือแรงงานคนไทยได้เกือบ 34 ล้านคน หรือมากกว่า 50% ของประชากรทั้งประเทศ พร้อมกับปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน สินเชื่อพิเศษ สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องฯ รวมถึงการยืดชำระ ลดหย่อน ยกเว้นภาษีแทบทุกรูปแบบ คิดเป็นรายได้ที่รัฐต้องแบกรับเกินกว่าสามพันล้านบาท

ไทยเราบอบช้ำกับการระบาดรอบสองอย่างแสนสาหัสที่สุด

กล่าวโดยย่อ คือ รัฐบาลใช้เงินจำนวนมหาศาลมากกว่า 2.8 ล้านล้านบาท ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อดูแลความเดือดร้อนไม่ให้ตกอยู่กับประชาชนจนมากเกินไปนั่นเอง

หากพวกอยู่ไม่สุขอยากทราบว่างบประมาณเท่านี้ซื้อเรือดำน้ำได้กี่ลำ? ก็อยากให้ลองเอาตัวเลข 11,250 ล้านบาทหารดู โดยที่ไทยยังติดอยู่ใน 4 ประเทศอาเซียนที่ยัง 'ไม่มีเรือดำน้ำ' เหมือนกับฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว แต่ยังรักษาแสนยานุภาพทางทหาร เป็นลำดับสามของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

11 ต.ค.2564 'ไทย' การประกาศชัยชนะเหนือโควิด พร้อมรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว

ถ้าปักหมุดที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563 คือจุดเริ่มต้นเผชิญหน้ากับโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2564 จึงอาจถือเป็นเส้นชัยสำคัญต่อการประกาศชัยชนะต่อเชื้อโรคระบาดที่ปกคลุมทั่วราชอาณาจักรผืนนี้ก็ได้

"...หากไม่นับช่วงศึกสงคราม นี่ถือเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย จากการแพร่ระบาดของโควิด-19" คือบทขึ้นต้นของแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี - เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ณ ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา

เพราะเหตุใด? ผู้นำรัฐบาลจึงเลือกทางเสี่ยงรับนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประตูเมือง ทั้งที่ยังมีโอกาสสูงที่พวกเขาอาจมาพร้อมเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ จนเกิดแพร่ระบาดใหญ่บนแผ่นดินไทยอีกระลอก

ด้วยข้อมูลท่องเที่ยวของ 'Global Travel' ซึ่งระบุว่าปี 2019 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.06 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งประเทศ นั่นคือวิสัชนาอันชัดเจน

จริงอยู่ที่ไทยเราเป็นประเทศผลิตและส่งออกอาหารแหล่งสำคัญของโลก ที่ถึงแม้ปิดตายประเทศ ปิดการส่งออกทุกด่านชายแดนและน่านฟ้า เราคนไทยก็ยังสามารถดำรงชีพอยู่ร่วมกันได้อีกหลายปี หรืออาจตลอดกาลนาน แต่เราก็จำเป็นต้องพึ่งพิงเม็ดเงินจากต่างแดนเข้ามาพัฒนาต่อยอดในรูปของการท่องเที่ยวมานานเนิ่นเฉกเช่นเดียวกัน

ถึงเป็นมาตการ 'กินบุญเก่า' อันมีบรรพบุรุษรุ่นก่อนสร้างสมไว้ให้จนเกิด 'อัตลักษณ์' ซึ่งต่อยอดสู่ 'ซอฟท์ พาวเวอร์' (Soft Power) ผ่านการโฆษณาขายอย่างมีกุศโลบายที่แบยบยลอีกทีหนึ่ง

ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางหมุนเวียนถึง 40 ล้านคนต่อปี จากหลากหลายสัญชาติ โดยแต่ละสัญชาติล้วนมีพฤติกรรมใช้จ่ายต่างกันไป นักท่องเที่ยวชาวจีนผู้มักมาเป็นกลุ่มใหญ่ (ทัวริ่งกรุ๊ป) พกเงินช็อปปิ้งและยอดซื้อของฝากกลับบ้านสูงกว่าชาติอื่น ๆ ขณะชาวยุโรปต้องการมาพักผ่อนหนีหนาว กลับชอบเดินทางด้วยตนเอง หรือเพียงกลุ่มเล็ก ๆ แต่กลับพักค้างอ้างแรมที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลานาน พร้อมกิน ดื่ม ท่องเที่ยวยามค่ำคืนชนิดไม่อั้นความสำราญ

9 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถือเป็น ‘วันพิซซ่า’ ร่วมฉลองอาหารอิตาลีที่โดนใจคนทั่วโลก

วันพิซซ่า (Pizza) ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ร่วมเฉลิมฉลองพิซซ่า อาหารอิตาลีชื่อดังที่คนทั่วโลกต่างหลงใหล ซึ่งมีลักษณะเป็นแป้งแผ่นกลมแบนราดด้วยซอสมะเขือเทศ แล้วทำให้สุกโดยการอบในเตาอบ

รู้หรือไม่ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันพิซซ่า (Pizza) วันแห่งการร่วมเฉลิมฉลองพิซซ่า อาหารอิตาลีชื่อดังที่คนทั่วโลกต่างหลงใหล

พิซซ่า (Pizza) เป็นอาหารอิตาลีและอาหารจานด่วนประเภทหนึ่งที่ชาวอิตาลีเป็นผู้คิดค้น มีลักษณะเป็นแป้งแผ่นกลมแบนราดด้วยซอสมะเขือเทศ แล้วทำให้สุกโดยการอบในเตาอบ โดยในประเทศอิตาลีจะมีการเสิร์ฟพิซซ่าในโอกาสที่เป็นทางการ เช่น การทานในภัตตาคาร ซึ่งจะเสิร์ฟโดยไม่หั่นและจะรับประทานโดยใช้มีดและส้อม ในขณะที่ชาวอิตาเลียนโดยทั่วไป เมื่อรับประทานพิซซ่าในโอกาสที่ไม่เป็นทางการ เช่น ทานกันเองที่บ้าน พิซซ่าจะถูกหั่นให้เป็นชิ้นพอดีคำและนิยมทานโดยใช้มือ

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ พบว่า พิซซ่า ได้รับการบันทึกครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 10 ในบันทึกเอกสารภาษาละติน ณ เมืองกาเอตา (Gaeta) ทางตอนใต้ของอิตาลีในแคว้นลัตซีโอ บนพรมแดนติดกับกัมปาเนีย โดยพิซซ่าสมัยใหม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นในเนเปิลส์ และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา

โศกนาฏกรรมตุรเคีย-ซีเรีย

สะเทือนฟ้ามหาวิปโยค
ความเศร้าโศกบรรเลงเพลงงานศพ
รายเรี่ยเสียชีวิตทุกทิศทบ   
จุดจบกลบกลายสู่วายชนม์

อาคารโค่นทรุดทับลงกับพื้น   
หยิบยื่นความตายในห้วงหน
ผู้สูญหายในท่ามความมืดมน   
แขวนบนเส้นแดงแห่งความตาย

รำลึก 9 กุมภา สุขสันต์วันเกิดบนสรวงสวรรค์ 'กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' นักเขียนหนุ่มแห่งกลุ่มนาคร ในวัยครบ 57 ปีเต็ม

ในหมู่ชาวตะวันตก (ฝรั่ง) ยังคงธรรมเนียมอวยพรวันคลัายวันเกิดแก่ผู้วายชนม์ไปแล้วว่า “Happy Heavenly Birthday” ประมาณ “สุขสันต์วันเกิดบนสรวงสวรรค์” อันคล้ายกับคติบ้านเราเกี่ยวแก่การนับ 'ชาตกาล' โดยครบกี่ปีก็ว่าต่อไป เพื่อยกย่องคุณงามความดีของผู้นั้นเสมือนยังคงชีวิตหลังความตาย

ว่ากระนั้นแล้ว กระผมก็เห็นดีงามในวันที่ '9 กุมภาพันธ์' ที่ต้องขอกล่าว “Happy Heavenly Birthday” แก่นักเขียนหนุ่มตลอดกาล 'กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' โดยหากเขายังดำเนินชีวิตต่อจนปัจจุบัน ก็จะมีอายุ 57 ปีเต็ม

ถนนงานเขียนของกนกพงศ์เริ่มจากการสนใจ 'อ่าน' ตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะมีบิดารักการอ่านและท่านยังบอกรับหนังสือทุกประเภทเข้าบ้าน จนเมื่อเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษา กนกพงศ์มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดกับนักเขียนชาวใต้นาม 'กลุ่มนาคร' จนจุดประกายงานเขียนเขาขึ้น กระทั่งมีผลงานบทกวีชิ้นแรก 'ความจริงที่เป็นไป' ตีพิมพ์ใน 'สยามใหม่' ขณะศึกษาเพียงชั้นมัธยมต้น (พ.ศ. 2523) เท่านั้น

จนเมื่อลาออกจากรั้วมหาวิทยาลัย กนกพงศ์จึงหันหน้าสู่งานประพันธ์อย่างเต็มเวลา โดยเริ่มงานด้านสำนักพิมพ์ช่วงสั้น ๆ แล้วจึงเดินทางบ่ายหน้าสู่เทือกเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช ถิ่นนักเขียนเปี่ยมพลังในกลุ่มนาคร (ซึ่งวิวัฒน์ต่อเป็น - สำนักพิมพ์นาคร) เขาท่องเที่ยวเดินทางยังสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเขตปักษ์ใต้ เพื่อศึกษาและทำงานเขียนหนังสืออย่างเอาจริงเอาจัง จนมีงานตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่องกว่าสามสิบปี

โดยนับต่อจากเรื่องสั้นแรก 'ดุจตะวันอันเจิดจ้า' ใน 'มติชนสุดสัปดาห์' แล้ว ก็มีเรื่องสั้นทยอยรวมชุดออกมาถึง 7 ชุด จาก พ.ศ. 2534 - 2549 อันไอ้แก่ สะพานขาด (ชุดที่ 1) คนใบเลี้ยงเดี่ยว (2) แผ่นดินอื่น (3) โลกหมุนรอบตัวเอง (4) นิทานประเทศ (5) รอบบ้านทั้งสี่ทิศ (6) คนตัวเล็ก (7) และ กวีตาย (เรื่องสั้นเล่มเล็ก) คั่นก่อนปิดท้าย

พี่ลอง 'จำลอง ฝั่งชลจิตร' เจ้าของนามปากกา 'ลอง เรื่องสั้น' ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ บนฐานะพี่ใหญ่ของนักเขียนเมืองนครฯ เคยยกย่องนักเขียนรุ่นน้องนาม 'กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' ในวันที่ปราศจากเขาไว้ว่า "...นักเขียนตัวจริง ที่มีความจริงจัง ทุ่มเทชีวิตในการทำงานเขียน รวมถึงมีความพิถีพิถันต่อการทำงานอย่างสูง พยายามพัฒนาหามุมมอง และวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้งานออกมาอยู่ในระดับที่เยี่ยมยอด"

นอกจากรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2539 ที่เขาได้รับจากผลงานรวมเรื่องสั้น 'แผ่นดินอื่น' รวมถึงรางวัลช่อการะเกดอีกสองครั้งจากเรื่องสั้น 'สะพานขาด' และ 'โลกใบเล็กของซัลมาน' แล้ว กนกพงศ์ยังมีความสามารถทางกวีนิพนธ์อันเยี่ยมยอดไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ซึ่งงานรวมเล่ม ป่าน้ำค้าง (2532) ในหุบเขา (2549) หมื่นปีกนก (2552) กวีนิพนธ์ทั้งสามเล่มคงยืนยันได้ดี

'ชีวี ชีวา' หรือ 'จตุพล บุญพรัด' บรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์ เพื่อนรักอีกคนผู้เคยร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกันจาก 'กลุ่มนกสีเหลือง' ก็เคยกล่าวถึงกนกพงศ์ด้วยความคำนึงและชื่นชม “...กนกพงศ์มีอิทธิพลกับนักเขียนรุ่นน้อง และคนรุ่นหลัง ในการใช้ชีวิตเพื่อเขียนหนังสือ และผลิตงานที่ดี ๆ ออกมา เขาพยายามเป็นแกนหลักและเป็นตัวประสานงานอยู่เสมอในกิจกรรมพวกนี้"

10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ครบรอบ 69 ปี วันคล้ายวันสถาปนา ‘กองอาสารักษาดินแดน’

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันอาสารักษาดินแดน’

‘กองอาสารักษาดินแดน’ มีฐานะเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 นับเป็นเวลายาวนานถึง 69 ปี มาแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีกำลังสำรองในการช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ ทั้งในยามปกติ และในยามสงคราม โดยการรับสมัครจากราษฎรชายหญิงที่สมัครใจอาสาเข้ามาเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ภายใต้สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยแบ่งส่วนราชการกองอาสารักษาดินแดนออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนกลาง มีกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (บก.อส.) รับผิดชอบการบริหารงานในส่วนกลาง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ

ส่วนภูมิภาค มีกองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (บก.อส.จ.) รับผิดชอบการบริหารงานในส่วนภูมิภาค โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ (กองร้อย อส.อ.) โดยนายอำเภอเป็นผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชา  

ปัจจุบันกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีจำนวนสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) สั่งใช้ทั่วประเทศทั้งสิ้น 25,925 นาย ประจำทั้ง 971 กองร้อยทั่วประเทศ มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ดังนี้

(๑) บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทําของข้าศึก

(๒) ทําหน้าที่ตํารวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ

เจ้าฟ้าสุดอินดี้ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา พระราชอนุชาในรัชกาลที่ ๑ เจ้าของวังที่ปัจจุบันเหลือแต่ 'ประตู-เศษรั้ว-ศาลบูชา'

ตอนผมยังเด็ก ๆ ผมชอบเดินเลียบถนนฝั่งตรงข้ามชุมชนบางลำพู (ฝั่งตรงข้ามวัดสังเวช) เดินเลาะมาเรื่อยๆ จนไปพบ ศาลบูชาขนาดย่อม ๆ อยู่ภายในซุ้มประตูวังก่ออิฐถือปูน ย่อมุม ซึ่งดูเคร่งขรึม ซึ่งผมสงสัยมาตลอดว่าคือศาลอะไร ? และเป็นกำแพงวังของใคร? จนโตขึ้น จึงทราบว่านั่นคือประตูวังของ 'สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา' พระนามเดิมว่า 'เจ้าฟ้าลา' พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา 'มา' ในปี พ.ศ. 2303 ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 7 เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กใน “สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก” 

ซึ่งพระประวัติของท่านนั้นมีบันทึกอยู่ไม่มากนัก ที่พอจะปรากฏและเล่าถึงประวัติตอนทรงพระเยาว์ของพระองค์ได้นั้นอยู่ใน 'หนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ' ความว่าเมื่อครั้งทรงพระเยาว์นั้น พระองค์ทรงติดเล่น ทรงชอบเล่นทอยกอง ขว้างหลุม และเล่นว่าว ถ้าได้เล่นอะไร แล้วก็เพลิดเพลินจนลืมเวลาเสวยทุกครั้งไป เจ้าจอมมารดา 'มา' พระมารดา หรือใครก็ตามที่จะเชิญเสด็จฯ ในเวลาเล่นอยู่ ต้องพูดล่อว่า จะให้เป็น 'เจ้า' ถึงจะรีบเสด็จฯ ไปตามคำบอกนั้นๆ ว่ากันว่าพระองค์มีพระทัยอยากเป็น 'เจ้า' เป็นอย่างยิ่ง

ความอยากเป็น 'เจ้า' ของ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา นั้นถูกทดสอบจากพระมารดาว่าอยากเป็นขนาดไหน โดยเป็นเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่ง พระมารดาได้หยิบเบี้ยใส่โถลงไว้ 10 เบี้ย เสร็จแล้วก็ร้องเรียกเด็กที่เล่นกันอยู่กับรวม 'กรมหลวงจักรเจษฎา' เข้ามาหา แล้วใช้ให้เด็กที่เล่นอยู่นั้นไปซื้อน้ำปลาโดยสำทับว่า “ใครรีบมาก่อนจะให้เป็นเจ้า” ไม่ต้องเดาเลยครับท่านผู้อ่าน กรมหลวงจักรเจษฎา คว้าเอาโถน้ำปลา (น้ำมีตัวปลาจริง ๆ อยู่ในโถคล้ายปลาร้าแต่ไม่เป็นถึงแบบนั้น) วิ่งตื๋อออกไปหน้าบ้านซึ่งขายน้ำปลาอยู่ เจ้าของร้านก็สงสัยว่าทำไม ? บุตรชายคนเล็กของ 'พระอักษรสุนทรศาสตร์' ('สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก' เมื่อครั้งรับราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยา) จึงออกมาซื้อน้ำปลาด้วยตัวเอง เป็นถึงลูกคุณพระ บ่าวไพร่ก็มี ทำไมถึงไม่ใช้ออกมาซื้อ เป็นผม ผมก็สงสัย แต่ก็คงเป็นเรื่องดีนะครับ เพราะเจ้าของร้านน้ำปลานั้น ได้ตักน้ำปลาใส่โถมากกว่าทุก ๆ ครั้ง พอเรียบร้อยแล้ว กรมหลวงจักรเจษฎาก็รีบถือโถน้ำปลามาส่งให้พระมารดา อยากเป็น 'เจ้า' อะไรก็ทำได้ 

เคสต่อเนื่องครับท่านผู้อ่าน ดูพระมารดาจะวัดใจสุด ๆ พอเห็นลูกชายกลับเข้ามาพร้อมโถน้ำปลา พระมารดาจึงแกล้งพูดว่า ถ้าอยากเป็น 'เจ้า' ก็ซดน้ำปลาที่ถือมาให้หมด กรมหลวงจักรเจษฎาเมื่อครั้งยังเป็น 'คุณลา' ก็ซดจนหมดโถ คุณพระ !!! อยากเป็น 'เจ้า' ขั้นสุด 

จนเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระองค์ได้ติดตามพระชนกไปกับพระมารดาขึ้นไปอยู่เมืองพิษณุโลก ครั้นพระชนกสวรรคต ได้ปลงพระศพแล้ว เชิญพระอัฐิมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก่อนจะได้รับสถาปนาเป็น 'สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา' และรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในพระนคร

เมื่อท่านได้เป็น 'เจ้า' สมใจแล้ว ว่ากันว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา นั้นมีความดุเฉพาะพระองค์ที่อาจจะเรียกว่า 'แรง' ทีเดียว คือ ถ้าผู้ใดเดินลอยชายผ่านหน้าวัง หรือขึ้นไปเล่นบนกำแพงพระนครด้านคลองรอบกรุง หรือผู้ใดไปเป่าขลุ่ย หรือส่งเสียงดัง หน้าวังของพระองค์ ก็จะรับสั่งให้ข้าหลวงในกรมไปจับตัวมาเฆี่ยน 30 ที (โหดแท้) แต่จะจริงหรือไม่จริงอันนี้ผมไม่ยืนยันนะครับ เขาแค่บันทึกไว้แบบนี้ แต่เห็นกำแพงวังแล้วผมว่าไม่น่าจะได้ยินหรือได้เห็นใครมาเดินลอยชายง่าย ๆ หรอกครับ แต่ก็มีความย้อนแย้งอีกอย่างที่บันทึกไว้ซึ่งตรงข้ามกับ “ความดุ” เลยคือ ถ้าเกิดมีใครมาเล่นว่าวที่หน้าวัง ถ้าพระองค์ทอดพระเนตรเห็น ก็จะเสด็จ ฯ ออกมาชักเล่นด้วยไม่กริ้วกราดแต่อย่างใด เอ้า!!! ชอบเล่นไปซะอย่างนั้น

ไหน ๆ ก็ออกนอกวังมาแล้ว เขาบันทึกไว้อีกว่าทุกครั้งที่พระองค์เสด็จ ฯ ออกมานอกวัง เมื่อทรงพระเสลี่ยงผ่านตลาด เห็นสิ่งใดน่าเสวยก็จะรับสั่งขอชาวตลาด ชาวตลาดก็นำไปถวายถึงบนเสลี่ยง แหม่!!! ก็ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายของเจ้านาย ได้หน้าได้ตากันไป ของไม่ต้องมาก ไม่ต้องแพง เพราะพระองค์เป็น 'เจ้า' ที่ค่อนข้างติดดิน ทรงชอบกล้วยน้ำว้ามากกว่าสิ่งอื่น ๆ สามารถเสวยได้จนหมดหวี พอได้ของเสวย เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ก็เสวยบนเสลี่ยงมาตามทางนั่นแหละ เป็นไงล่ะครับ อินดี้ไหมล่ะ 

ยกกรณีติดดินอีกอย่างของพระองค์ก็คือ ถ้าปวดลงพระบังคนหนักก็จะรับสั่งร้องบอกคนหามพระเสลี่ยงให้รอไว้ แล้วท่านก็กระโดดลงมานั่งผินพระขนอง (หลัง) เข้ากำแพงเมืองหรือกำแพงพระราชวัง ผินพระพักตร์ออกมาทางถนน มหาดเล็กก็จะเชิญพระกลดกั้นถวายจนเสร็จ แล้วเสด็จ ฯ ขึ้นพระเสลี่ยงไปต่อ เอาสิ เป็นไงล่ะ 

ส่วนงานราชการนั้น 'สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา' ได้สนองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยพระองค์มีความสามารถในด้านการทัพ (อันนี้น่าจะยืนยันความดุ และความกล้าได้พอควร) โดยทรงรับราชการเป็นยกกระบัตรทัพในสงครามเก้าทัพเมื่อปี พ.ศ. 2328 และร่วมตีเมืองเชียงใหม่กับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เรียกว่าถ้าไม่เก่งจริงคงไม่สามารถไปร่วมรบกับ 'วังหน้าพระยาเสือ' ได้เป็นแน่ 

สนามกีฬาแห่งชนชาติสยามที่คุ้นกันในชื่อ... 'สนามศุภชลาศัย'

พุทธศักราช 2478 นาวาโทหลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก ต้องการจัดหาสถานที่ตั้งสนามกีฬากลางกรมพลศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษากลาง และสโมสรสถานลูกเสือ กระทั่งได้ทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเช่าที่ดินขนาด 77 ไร่ 1 งาน ที่ตำบลหอวัง บริเวณวังวินด์เซอร์เดิม เป็นระยะเวลา 29 ปี

โดยเมื่อวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 จึงมีพระราชพิธีก่อพระฤกษ์ (วางศิลาฤกษ์) จากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เริ่มลงมือก่อสร้างจนสำเร็จลุล่วงเป็น 'กรีฑาสถานแห่งชาติ' (The National Stadium of Thailand) สนามกีฬาแห่งชาติของประเทศไทยจวบทุกวันนี้

การใช้งานกรีฑาสถานแห่งชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี พ.ศ. 2481

สนามศุภชลาศัย (ชื่อลำลอง - จากผู้ดำริสร้าง 'หลวงศุภชลาศัย') มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ 'อาร์ตเดโค' หรือ 'อลังการศิลป์' ที่เน้นการออกแบบเล่นกับเส้นสายแนวตั้งที่ชัดเจน กันสาดแผ่นบาง ๆ หน้าต่างเข้ามุมอาคาร หรือการออกแบบแนวเสาอิงให้แสดงออกถึงเส้นแนวตั้ง มีซุ้มประตูทางเข้าใหญ่ มีอาคารรูปทรงเรขาคณิตหนักแน่นเป็นมวลทึบ

สนามกีฬาแห่งชาตินี้เคยถูกใช้เพื่อการกีฬาทุกระดับ อาทิ กีฬาเอเชียนเกมส์ 3 ครั้ง (พ.ศ. 2509, 2513 และ 2521) กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2502 กับ ซีเกมส์ ครั้งที่ 13  พ.ศ. 2528 หรือฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพและควีนสคัพ รวมถึงฟุตบอลโลกหญิง รอบคัดเลือกโซนเอเชีย / ฟุตบอลในกีฬามหาวิทยาลัยโลก (2550) และงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ กับฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ซึ่งจัดประจำทุกปี เช่นเดียวกับพิธีทบทวนคำปฏิญาณตนและสวนสนาม ของลูกเสือและเนตรนารี เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ (1 กรกฎาคม)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top