ต่างชาติยอมรับ ผ่าโมเดลเศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงโควิด แบบอย่างความสำเร็จ ที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก
'ยูเอ็น' ยก 'โมเดลความสำเร็จของประเทศไทย' เป็นแบบอย่างที่ประสบความสำเร็จในการสร้างชาติ และมีการนำรายละเอียดไปเผยแพร่ต่อประชาคมโลก
ประวัติศาสตร์การส่งออกไทย ปี 65 กันสักเล็กน้อย ชาติไทยเรามีตัวเลขบวก 5.5% คิดเป็นมูลค่าก็เฉียด 10 ล้านล้านบาท
สำนักข่าว 'Bloomberg' ประกาศให้ไทยอันดับ 1 ประเทศแนวโน้มจะเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่มีภาพรวมทางเศรษฐกิจดีที่สุดในปี 2564
ฝ่าวิกฤตสร้างเงินเข้าประเทศ ตั้งเป้าส่งออก 2566 บวก 1 - 2% เผยผ่านค้าชายแดนปี 65 ร่วม 1,029,837 ล้านบาท!
*** ที่ยกมาข้างต้น คือ สรุปข่าวจากสื่อชั้นนำทั่วโลกที่กล่าวถึงไทย
ถึงวันนี้เป็นที่ยอมรับกันว่า ปัจจัยโดดเด่นของไทยยังคงเป็น 'เศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ' รวมถึงภาคการเงินอันเข้มแข็ง และสวัสดิการด้านสุขภาพที่ดี ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของประเทศสามารถเข้าถึง นั่นคือ 3 เหตุผลหลัก ซึ่งทำให้บ้านเรายังคงมีกำลังการผลิตสูงตลอดมา ทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยสามารถอธิบายง่ายๆ ว่า "แม้ขณะที่ผู้คนหลบอยู่ในบ้าน ไร้ซึ่งการพบปะสังสรรค์ทั้งระดับท้องถิ่นและนานาชาติ แต่การบริโภคกลับไม่เคยลดลง" เพราะฉะนั้นการส่งออก โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม จึงเติบโตฉุดภาพรวมพลิกฟื้นยืนขึ้นอย่างสง่างาม
องค์การการค้าโลก (WTO) ทำรายงาน 'Trade Policy Review' สำหรับไทยบนฐานะสมาชิกฯ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุ "...ประเทศไทยช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2558 - 2562) มีอัตราขยายตัวเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 3.4% ปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก และยังมีโครงสร้างของภาคบริการ ซึ่งรวมถึงการก่อสร้าง ในสัดส่วนถึง 61% ต่อจีดีพี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 58%
และว่า “...ฐานะทางการคลังของไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 224.3 พันล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทแข็งค่า และกดดันต่อขีดแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ แม้เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงต้นปี จากการระบาดโควิดก็ตาม" พร้อมยังยกย่องรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า “...ต้องขอบคุณรัฐบาลไทยที่เคร่งครัดต่อสุขภาพทางการคลังตลอดเวลาที่ผ่านมา มีการออกกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางการคลัง หรือ Fiscal Responsibility Act (FRA) ซึ่งเข้มงวดเรื่องเป้าหมายหนี้ การใช้งบประมาณ และการลงทุนต่างๆ”
หันมาดูสถานะการส่งออกเดือนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่หมวดสินค้าเกษตร นำเม็ดเงินเข้าประเทศถึง 72,992 ล้านบาท โดยภาพรวมของสินค้าขยายตัวดี ได้แก่ ไก่สด (ทั้งแช่เย็น - แช่แข็ง) สับปะรดสด ทุเรียนสด (เฉพาะทุเรียนขายได้ 8,016 ล้านบาท แม้ผลผลิตจะน้อยกว่าปี 2564 เพราะฝนตกชุก)
ตัวเลขหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร (ธันวาคม 2565) เช่น ไขมัน และน้ำมันจากพืช (และสัตว์) สร้างเงินให้ประเทศ 4,153 ล้านบาท นมและผลิตภัณฑ์จากนม 932 ล้านบาท อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 11,635 ล้านบาท
ไม่นับรวมถึงสินค้าหมวดอุตสาหกรรม ที่สร้างรายได้เข้าประเทศ 616,549 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าหลัก ๆ ก็มี อิรัก ไอร์แลนด์, บรูไน, อิหร่าน, โมซัมบิก, ซาอุดีอาระเบีย, สหราชอาณาจักร, สวีเดน, อิตาลี และเม็กซิโก ล้วนแต่เป็นตลาดที่กำลังซื้อขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งสิ้น
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ยังเพิ่มเติมอีกว่า “...เหตุผลที่การส่งออกปี 2565 ยังขยายตัวสูงเพราะ ประการที่หนึ่ง มีการผลักดันการส่งออกเชิงรุกและเชิงลึก ในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงร่วมกับเอกชน สอง ผลักดันให้ประเทศเพื่อนบ้านเร่งเปิดด่านชายแดน หลังปิดทำการชั่วคราวเนื่องจากโควิด-19 ทำให้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น สาม ปัจจัยหาแหล่งสำรองอาหารจากผู้ซื้อทั่วโลกยังคงมีอยู่ และสี่ ระบบการขนส่งสินค้าเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ 'ราชอาณาจักรไทย' กับ 'ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย' ที่เป็นปัจจัยหลักของตลาดการค้าด้านตะวันออกกลางอันมีมูลค่ามหาศาล