‘บวบ’ พืชฤทธิ์เย็น ‘ลดไฟธาตุ-กำหนัด’ ต้อนรับฤดูร้อนได้ดีนักแล
แรกเริ่มเดิมที ‘บวบ’ มีถิ่นกำเนิดจากแถบเอเชียกลาง (อินเดีย, บังคลาเทศ) ต่อมาจึงถูกขยายพันธุ์ในแถบอุษาคเนย์ รวมถึงประเทศไทย โดยบวบเป็นพืชผักตระกูลแตง (CUCURBITACEAE) อดีตคนไทยส่วนใหญ่นิยมปล่อยต้นบวบเลื้อยตามรั้ว หรือปล่อยพันไปกับต้นไม้ แล้วคอยเก็บผลอ่อนมารับประทานเป็นผัก ทำแกงเลียง ผัดกับไข่ หรืออาจลวกจิ้มกับน้ำพริกต่างๆ ผลอ่อนมีสรรพคุณแก้ร้อนใน ลดไข้ ขับน้ำนม ขับปัสสาวะ แก้เลือดออกตามทางเดินอาหาร แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ส่วนผลบวบที่ไม่ได้เก็บจะปล่อยจนแก่แห้ง เหลือแต่เส้นใยที่เรียกว่า ‘รังบวบ’ และถูกใช้อาบน้ำ ขัดถูภาชนะ บวบที่สามารถปลูกได้ในประเทศไทยมีหลายชนิด ได้แก่ บวบเหลี่ยม บวบงู บวบหอม
ข้อมูลทางโภชนาการระบุว่า คุณค่าทางอาหารของ ‘บวบหอม’ 100 กรัม ประกอบด้วย พลังงาน 85 กิโลแคลอรี น้ำ 93 กรัม โปรตีน 0.6-1.2 กรัม ไขมัน 0.21 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4-4.9 กรัม แคลเซียม 16-20 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 24-32 มิลลิกรัม เหล็ก 0.4-0.6 มิลลิกรัม และวิตามินซี 7-12 มิลลิกรัม
ประโยชน์หลักอีกด้านหนึ่งของ ‘บวบ’ ที่ทุกท่านรับรู้คือด้านสมุนไพร เช่น คนในประเทศจีนจะนำผลบวบแก่มาเผาจนเป็นเถ้า (นิยมบวบหอม) ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ และยาขับลม น้ำคั้นจากผลสดใช้เป็นยาระบาย เมล็ดแก่ใช้ทำให้อาเจียน และเป็นยาถ่าย และน้ำมันที่บีบจากเมล็ดยังใช้ทาแก้โรคผิวหนัง
การรับประทานบวบเป็นอาหารปริมาณที่พอเหมาะนั้น ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ (และหญิงช่วงให้นมบุตร) แต่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอในการรับประทานบวบเพื่อรักษาโรค และยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดพอจะระบุปริมาณการรับประทานบวบอย่างเหมาะสม ดังนั้นก่อนกินบวบ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากบวบ ผู้บริโภคควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น อายุ หรือปัญหาสุขภาพ
ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงอุณหภูมิสูงสุดในรอบปี ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมินี้เอง มีส่วนทำให้ร่างกายของเรา ‘ร้อน’ กว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการ หรือภาวะต่าง ๆ ตามมา จึงเป็นสาเหตุให้เราควรรักษาอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อเลี่ยงอาการ หรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ
เนื่องจาก ‘บวบ’ จัดอยู่ในกลุ่มผักซึ่งมีฤทธิ์เย็น เช่นเดียวกับฟักเขียว ตำลึง ใบเตย รางจืด แตงกวา มะรุม มะตูม และกระเจี๊ยบเขียว นักบวชหรือผู้ทรงศีลในสมัยโบราณ จึงนิยมบริโภคเพื่อ ‘ดับร้อน’ หรือลด ‘ไฟธาตุ’ ตามหลักแพทย์แผนโบราณ ด้านการบำรุงธาตุ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ซึ่งไฟธาตุนั้นผูกพันอยู่กับ ‘ความกำหนัดทางเพศ’ โดยกล่าวง่าย ๆ ก็คือ “...รับประทานพืชผักซึ่งมีฤทธิ์เย็นเพื่อดับหรือลดไฟธาตุ (กำหนัด)" นั่นเอง
นักบวชผู้เคร่งครัดยังนิยมบริโภค ‘บวบ’ จวบจนปัจจุบัน
ด้วยความที่ว่า ‘บวบ’ ถูกนำมาปลูกบนดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเนิ่นนาน จึงมีภาษาเรียกชื่อของตนเอง แต่สำเนียงก็จะคล้าย ๆ กัน อาทิ ภาษาลาวเรียก 'บวบ' (ບວບ) เหมือนไทย แต่ภาษาไทดำออกเสียงสูงขึ้นอีกนิดว่า 'บ้วบ' เช่นเดียวกับภาษาไทขาว ส่วนไทใหญ่ออกเสียงเหมือนกับกลุ่มภาษาเวียดนามว่า 'ม้วบ' (mướp)
เรื่อง: พรชัย นวการพิศุทธิ์