Tuesday, 8 July 2025
GoodsVoice

โควิดทุบความเชื่อมั่นเอกชนหดตัว 2 เดือนติด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนพ.ค. 2564 ว่า ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 24.7 หลังจากภาคธุรกิจยังคงมีความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมถึงได้รับผลกระทบจากการที่ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรค ทำให้มีการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สั่งปิดกิจการหลายประเภท ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้นหรือมีการลดเงินเดือน 

ส่วนดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตปัจจุบันมีค่าดัชนี 27.7 ลดลงจากเดือนเม.ย. อยู่ที่ 30.6  ต่ำที่สุดในประวัติการณ์นับตั้งแต่สำรวจมาเดือน พ.ค. 49 หรือ 193 เดือน หรือ 16 ปี 1 เดือน สอดคล้องกับความคาดหวังความสุขในการดำเนินชีวิตในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (มิ.ย. – ส.ค.) ต่ำเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีความกังวลความไม่แน่นอนในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด -19 

“ภาคธุรกิจอยากเห็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในเรื่องของการกระจายวัคซีนในทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงเพื่อให้มีเพียงพอกับจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนไว้ ทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชนกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงเร่งการหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในคลัสเตอร์ต่างๆหลายพื้นที่ให้ได้โดยเร็ว และเร่งขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศเพื่อเพิ่มระดับการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมามีรายได้ทันทีเมื่อประชาชนได้รับวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ”

ก.แรงงาน ปล่อยกู้สูงสุด 1 ล้านบาทปลอดดอกเบี้ย เพิ่มทักษะแรงงานช่วยสถานประกอบกิจการ สู้วิกฤตโควิด-19 ระลอก 3

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ยต่อเนื่องถึงสิงหาคม 64 ช่วยสถานประกอบกิจการใช้หมุนเวียนในการพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้าง สู้วิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ กพร.ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เยียวยาความเดือดร้อนของกำลังแรงงานในประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่ต้องการพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานสามารถกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ปลอดดอกเบี้ย (ดอกเบี้ย 0%) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม หรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน

อธิบดี กพร. กล่าวต่อไปว่า กพร.ได้จัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่สถานประกอบกิจการกู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึง 31 สิงหาคม 2564 ในวงเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท ในปี 2564 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดสรรเงินจำนวน 30 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมไปใช้ในการพัฒนาทักษะ หรือนำไปใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่พนักงาน แบบไม่มีดอกเบี้ย ตั้งแต่ 16 กรกฎาคม 2563-31 สิงหาคม 2564 ซึ่งปัจจุบัน ณ 31 พฤษภาคม 2564 ได้อนุมัติให้เงินกู้ยืมไปแล้ว 28 บริษัท เป็นเงินกว่า 17 ล้านบาท และมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ให้บริการรับคำขอกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน

ด้าน คุณอัชฌารี บัวมี Training & Audit Manager บริษัท กรีน ลาเท็กซ์ จำกัด เป็นสถานประกอบกิจการที่ผลิตที่นอนยางพารา หมอน เบาะ ตุ๊กตา และเครื่องนอน กล่าวถึงเงินกู้ดังกล่าวว่า การให้เงินกู้ยืมเป็นประโยชน์มาก ต่อสถานประกอบกิจการ เป็นเงินก้อนช่วยเหลือ รักษาการจ้างงาน ทำให้สถานประกอบกิจการดำเนินการจัดอบรมต่อไปได้ตามแผนประจำปีอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพพนักงานได้รับการพัฒนาและมีความพร้อม กลับมาช่วยบริษัทสู้กับวิกฤตโควิด-19

ส่วน คุณธิดาทิพย์ จำปาแดง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนเชอรัลเอ็นเนอร์ยีเทค จำกัด ในนามศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเนเชอรัล เป็นศูนย์ทดสอบฯ เอกชนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 ได้กล่าวขอบคุณกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อนำมาปรับปรุงสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับ และรักษามาตรฐานให้เป็นไปตามที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนด และเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการทดสอบด้วย

“การให้กู้ยืมดังกล่าวเป็นมาตรการจูงใจเพื่อให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานที่เป็นลูกจ้างของตนเองเพื่อให้มีทักษะฝีมือเพิ่มสูงขึ้น สถานประกอบกิจการที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้ยืมได้ที่ สพร. และ สนพ. ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยสามารถยื่นคำขอกู้พร้อมหลักฐานได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 15 กรกฎาคม 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สพร. และ สนพ.ทุกจังหวัด หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2643 6039” อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย
 

พาณิชย์ทำดัชนีวัดค่าครองชีพ หวังประชาชนวางแผนใช้จ่าย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจใหม่ 2 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มค่าบริการ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคบริการ เพื่อให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพด้านบริการมากยิ่งขึ้น เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าการศึกษา เพื่อให้ประชาชนใช้ประกอบการตัดสินใจในการใช้จ่ายและวางแผนดำเนินชีวิต รวมถึงให้หน่วยงานใช้ประกอบการกำหนดมาตรการและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการได้แม่นยำ มากยิ่งขึ้น

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มค่าบริการ เป็นดัชนีราคาที่คัดเลือกรายการค่าบริการจากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งมีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยมีทั้งสิ้น 87 รายการ จาก 430 รายการ จำนวน 14 หมวด โดยหมวดที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสูงสุด 5 อันดับแรก คือ หมวดกิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสูงที่สุด  54.93% ตามด้วยหมวดข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 15.88% หมวดการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 6.94% หมวดกิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 6.55% และหมวดการศึกษา  4.22% 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคบริการ เป็นเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่แสดงถึงความคิดเห็นของผู้ประกอบการภาคบริการที่มีต่อธุรกิจของตนเอง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเป็นประจำทุกปี อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับยอดขาย รายรับ และสินค้าคงเหลือ รวมทั้งสอบถามความคิดเห็นต่อการดำเนินธุรกิจ

แนะดันไทยสู่สังคมไร้เงินสด รัฐยังต้องพัฒนาอีกเพียบ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือเนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์ ว่า การทำธุรกรรมไร้เงินสดของไทยยังมีมูลค่าที่ไม่สูงมากนักหากไทยต้องการยกระดับให้เป็น สังคมไร้เงินสดมากขึ้น จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาขึ้นอีก แต่ก็ยังพบว่ามีช่องว่างหรือข้อจำกัดในทางปฏิบัติ เช่น ทักษะด้านดิจิทัลของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ เห็นได้จากจำนวนคนไม่น้อยที่ต้องเดินทางมาลงทะเบียนรับสิทธิ์ช่วยเหลือของรัฐที่ธนาคารเอง 

ขณะเดียวกันยังพบอีกว่า ในด้านโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุม และมีต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของกลุ่มผู้รายได้น้อย จึงเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงและการใช้เทคโนโลยี รวมถึงอาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกหลอกและการสูญเสียทางการเงินได้อีกด้วย 

ทั้งนี้ สศช. มีข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริม และแก้ไขข้อจำกัดเพื่อนำไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด คือ ภาครัฐควรสนับสนุนให้มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงที่ครอบคลุมและมีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงอาจมีการอุดหนุนช่วยเหลือการเข้าถึง อุปกรณ์และสัญญาณอินเทอร์เน็ตของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และการเสริมสร้างการมีทักษะความรู้ด้านการเงินและ ความรู้ดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่อาจเข้าไม่ถึงองค์ความรู้และตามไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เท่าทันและปูองกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภัยคุกคามทางดิจิทัล 

รวมทั้งการสนับสนุนและส่งเสริมให้มี ระบบธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลอย่างทั่วถึงและครอบคลุม โดยเฉพาะร้านค้ารายย่อยให้มีบริการ รับชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปสู่การใช้งานที่แพร่หลายของบริการทางการเงินรูปแบบดิจิทัลมากยิ่งขึ้น  เช่นเดียวกับการมีกลไกติดตามดูแลรักษาฐานข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีความรัดกุมทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในการใช้บริการ และการนำข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ประโยชน์ต่อยอด ทั้ง การพัฒนาเครื่องมือทางการเงินในการให้กู้ยืม รวมทั้งการนำข้อมูล มาใช้ประกอบการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ เพื่อลดการตกหล่นและคัดกรองกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว

คลังฟันร้านค้าหัวหมอโกงเราชนะอีกเป็นร้อยราย

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ตรวจพบธุรกรรมที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการเราชนะ จึงได้ทำการระงับสิทธิ์ชั่วคราวการเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการเพิ่มเติม จำนวน 120 ราย และขอให้ผู้ประกอบการที่ถูกระงับสิทธิ์ชั่วคราวดังกล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงมายังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ภายในวันที่ 25 มิ.ย.2564 ตามข้อความแนะนำที่ปรากฏขึ้นในแอปพลิเคชันถุงเงิน หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว กระทรวงการคลังจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะเข้มงวดในการติดตามตรวจสอบประชาชนและผู้ประกอบการที่กระทำการเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการอย่างใกล้ชิด โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผลการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดี และขอความร่วมมือจากประชาชนและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการของกระทรวงการคลังปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของแต่ละโครงการอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการหรือมาตรการอื่นของรัฐในอนาคต และถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

สำหรับความคืบหน้าของโครงการเราชนะ ณ วันที่ 11 มิ.ย. 2564 พบว่า มีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 267,113 ล้านบาท และมีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการเราชนะที่ใช้จ่ายจนครบวงเงินสิทธิ์แล้ว จำนวน 22.3 ล้านคน ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการเราชนะ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะ จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.3 ล้านกิจการ

รมว.สุชาติ เผย รัฐ-เอกชน จับมือเดินหน้ามาตรการป้องกันควบคุมโควิดแก่ลูกจ้างในโรงงาน ขับเคลื่อนธุรกิจโดยเร็ว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ประชุมหารือร่วมกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ช่วยภาคธุรกิจขับเคลื่อนต่อไปได้โดยเร็ว 

ที่ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conference) โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องแรงงานในสถานประกอบกิจการโรงงานจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งรัฐบาล โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงาน เป็นเจ้าภาพ ในการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานประกอบกิจการโรงงาน ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม 

นายสุชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน ซึ่งกระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมได้ตอบสนองนโยบายรัฐบาล โดยดำเนินการขอความร่วมมือให้นายจ้างในระบบประกันสังคมสำรวจ และกรอกข้อมูลความต้องการรับวัคซีนโควิด-19 ของผู้ประกันตนผ่านระบบ Web Service ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.-3 มิ.ย.64 ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวมีผู้ประกันตนมาตรา 33 แสดงความประสงค์ขอรับวัคซีนเป็นจำนวน 6,012,662 ราย คิดเป็นร้อยละ 77.5 และในวันนี้กระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีประชุมร่วมกันในวาระสำคัญพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรและแรงงานในสถานประกอบกิจการโรงงาน 

“กระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องแรงงานในสถานประกอบกิจการโรงงานจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือแนวทางเพื่อกำหนดมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรและแรงงานในสถานประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่แรงงาน ให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีการขับเคลื่อนต่อไปได้โดยเร็ว” นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

‘สุริยะ’ ยกเว้นค่าตรวจโรงงานกรณีขอ มอก. จนถึง 30 เม.ย. 65 คาดช่วยผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า 100 ล้านบาท พร้อมชงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มอก. และใบรับรองระบบงาน ISO เข้า ครม.

‘สุริยะ’ ยกเว้นค่าตรวจโรงงานกรณีขอ มอก. จนถึง 30 เม.ย. 65 คาดช่วยผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า 100 ล้านบาท พร้อมชงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มอก. และใบรับรองระบบงาน ISO เข้า ครม. หากผ่านความเห็นชอบจะช่วยผู้ประกอบการได้กว่า 10,000 ราย คิดเป็นเงินกว่า 110 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า ตนได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอมาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้สามารถฟื้นฟูกิจการได้เร็วขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการเดิมจากปี 2563 ที่ขยายเวลาต่อเนื่อง ล่าสุด ได้เห็นชอบให้ สมอ. ยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจโรงงานเพื่อการขออนุญาต มอก. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการยกเว้นค่าตรวจโรงงานเพื่อการขออนุญาต มอก. มีอัตราค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายให้ สมอ. 10,000 บาทต่อวัน ซึ่ง สมอ. มีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตกว่า 10,000 ราย ทั้งผู้ทำและผู้นำเข้า คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2564 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเยียวยาอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม. ได้แก่ มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มอก. และใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบรับรองระบบงาน ISO สำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง หาก ครม. มีมติเห็นชอบแล้ว สมอ.จะดำเนินการต่อทันที ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้กว่า 110 ล้านบาท

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าในขณะนี้ สมอ. จะปฏิบัติงานภายในที่พัก หรือ Work from Home กว่า 90% เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ขอให้เชื่อมั่นว่าจะไม่กระทบต่อการให้บริการผู้ประกอบการและประชาชน โดยท่านยังสามารถติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ภายใน สมอ. ได้ทุกกระบวนการและกิจกรรม ผ่านทางระบบออนไลน์ ทั้งการออกใบอนุญาตทำและนำเข้าสินค้าควบคุม การตรวจสอบพิกัดศุลกากร การตรวจติดตามสินค้าไม่ได้มาตรฐาน การตรวจสอบและรับรองระบบงาน การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และการสืบค้นข้อมูลมาตรฐาน รวมทั้งการจำหน่ายหนังสือ มอก. หรือหากต้องการแจ้งเบาะแสหรือติดต่อสอบถามรายละเอียดอื่นๆ ก็สามารถเข้าไปที่เฟซบุ๊กแฟนเพจของ สมอ. https://www.facebook.com/tisiofficial” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“จุรินทร์” ลั่น ปชป.เคาะผู้สมัคร 6 จังหวัดอันดามันครบแล้ว หลายจังหวัดมีโอกาสยกทีม เตรียมเสนอ ศบค.ยกระดับภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เป็น “อันดามัน แซนด์บ็อกซ์”

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังพบปะกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อําเภอคลองท่อม ณ เทศบาลตําบลคลองพนพัฒนา อําเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า ความพร้อมในทางการเมืองสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ซึ่งจะมาถึงเมื่อไหร่ก็สุดแล้วแต่ มาถึงวันนี้เรามีความพร้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมการเรื่องผู้สมัครในกรุงเทพเกือบจะครบทุกเขตแล้วได้ตัวผู้สมัครที่เคาะแล้วส่วนในภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดอันดามัน 6 จังหวัด ประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล มีที่นั่งทั้งหมดถ้าเป็นรัฐธรรมนูญปัจจุบัน 11 ที่นั่งพรรคประชาธิปัตย์เคาะผู้สมัครครบแล้วทั้ง 11 เขต

ยกเว้นถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญไปเป็นบัตรสองใบและปรับจาก 350 เขต เป็น ส.ส.เขต 400 เขต และบัญชีรายชื่อ 100 คน ตามร่างแก้รัฐธรรมนูญที่เตรียมเสนอเกิดประสบความสำเร็จ จะมีการขยายเขตเพิ่มเติม เช่นกระบี่อาจมีผู้แทนเพิ่มเป็น 3 คน พังงาอาจเพิ่มเป็น 3 คน ตรังอาจเพิ่มเป็น 4 คน เป็นต้น ได้มีการเตรียมการไว้ในใจแล้วเช่นเดียวกันซึ่งวันนี้ผู้สมัครเขตอันดามันในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ครบแล้ว

"โดยรายชื่อมีทั้งผู้ที่เป็น ส.ส.ในปัจจุบันและคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมอุดมการกับพรรคเมื่อเปิดชื่อแล้วผมคิดว่าจะเป็นที่ยอมรับของประชาชน และในอันดามันผมเชื่อว่าเราจะได้มากกว่าเดิม หลายจังหวัดก็มีโอกาสยกทีม" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

เงินบาทแข็งจากอานิสงส์รัฐปูพรมฉีดวัคซีนโควิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินค่าเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวในกรอบที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยเงินบาทได้รับแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับมีปัจจัยบวกตั้งแต่ในช่วงต้นสัปดาห์จากข่าวการปูพรมเร่งฉีดวัคซีนทั่วประเทศ 

ขณะที่เงินดอลลาร์ ทยอยอ่อนค่าลงตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐ อายุ 10 ปี ร่วงลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 1.50% เนื่องจากตลาดประเมินว่า แม้เงินเฟ้อสหรัฐ จะขยับขึ้น แต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็อาจจะยังไม่รีบส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินในเร็วๆ นี้ ทำให้ปิดตลาดในวันศุกร์ (11 มิ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.06 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 31.28 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 มิ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.90-31.30 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินและ Dot Plot ชุดใหม่ของเฟด รวมถึงสถานการณ์และแผนการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ในประเทศด้วย

ผู้ประกอบการร้านอาหารไทย โร่ขอคำแนะนำ “กรณ์-วรวุฒิ” ก่อนตัดสินใจกู้เงินจาก มาตรการช่วยเหลือกระทรวงพาณิชย์ หวั่นเผาเงินตัวเองหากรัฐมุ่งแก้ปัญหาระยะสั้น แนะรัฐเป็นหนี้ทางเดียว ประเทศชาติเดินได้ แต่ถ้าโยนหนี้มาภาคประชาชน อนาคตตายหมู่

สมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ดรวมตัวกัน จัดคลับเฮาส์เพื่อขอความเห็นและข้อเสนอแนะจาก นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และ นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค ในฐานะกูรูทางการเงิน และกูรูด้านอีคอมเมิร์ส ที่สร้างธุรกิจเอสเอ็มอี สู่ธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรง ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร ก่อนยื่นกู้เงินจากกระทรวงพาณิชย์ที่มี

โดยนายกรณ์ กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็น รมว.คลัง ก็พยายามผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายเท่าที่เราจะทำได้ ที่ผ่านมาพยายามสื่อสารไปถึงฝ่ายบริการงบประมาณ งบประจำหรืองบเงินกู้ ที่ต้องหันมาช่วยผู้ประกอบการโดยตรงมากขึ้น ปีที่แล้วที่มา พรก เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำออกมา แต่โครงสร้างเงื่อนไขไม่เอื้อต่อคนตัวเล็ก มาครั้งนี้แบงค์ชาติ ได้ปรับเป็นโครงการ “จับคู่กู้เงิน” ที่ดูเหมือนมีความหวังมากขึ้นในการเข้าถึงการกู้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ อย่างไรก็ตามสถาบันการเงินก็ต้องทำหน้าที่ของเขาตามกฎเกณฑ์พิจารณาถึงแผนธุรกิจ กระแสเงินสด รวมไปถึงโอกาสการสร้างรายได้ ตรงนี้ก็ยังเป็นประเด็นที่ท้าทายกับร้านอาหารซึ่งมีเกือบ 3 แสนล้านแห่งทั่วประเทศ บางร้านอาจจะยังเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก ซึ่งต้องมาดูว่ามีประเด็นอะไรที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเรื่องเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ และลดค่าใช้จ่าย เพราะตอนนี้ข้อจำกัดก็มีมาก ทั้งเรื่องจำกัดการนั่งกินในร้าน ไม่เกิน 25% เวลาเปิดไม่เกิน 21.00 และการห้ามขายแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการหารายได้ 

นายกรณ์ กล่าวว่า มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำหนดมากเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ดังนั้นจึงมีความพยายามปลดล็อควัคซีนเพื่อให้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งแม้จะเริ่มฉีดกันบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งต้องทนสถานการณ์แบบนี้ไปอีกประมาณ 2-3 เดือน เมื่อถึงจุดที่มีประชาชนฉีดวัคซีนมากพอ จนสถานการณ์ดีขึ้น มาตรการต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย ดังนั้นผู้ประกอบการแต่ละราย ก็จะต้องประเมินสถานการณ์ว่า เราจะเปิดช่วงนี้คุ้มหรือไม่ หรือควรรอไปอีก 2-3 เดือน  อีกด้านคือมาตรการในการลดค่าใช้จ่าย ที่เชื่อว่ารัฐสามารถเข้ามามีบทบาทได้อีกมาก โดยเฉพาะเรื่องภาษีที่รัฐควรยื่นมีเข้ามาช่วยในจังหวะนี้ การช่วยผู้ที่เคยเสียภาษีให้รัฐ ซึ่งรัฐมีตัวเลขที่ชัดเจนว่า ผู้ประกอบการเคยมีรายได้และเสียภาษีเท่าไร และลดลงมาเท่าไร คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ก็จะสามารถคำนวณส่วนชดเชยได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ 

“ผมอยากเห็นรัฐบาลมีการจัดสรรงบ โดยเฉพาะงบเงินกู้ก้อนใหม่ 5 แสนล้าน อยากเห็นการจัดสรรส่วนหนึ่งมาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เคยเสียภาษี ซึ่งการช่วยเหลือนี้ควรเป็นการช่วยเหลือนอกเหนือเงินกู้ เพราะการกู้ในภาวะนี้กับบางรายอาจเป็นการสร้างและสะสมปัญหาใหม่ซึ่งไม่ใช่การรอดอย่างยั่งยืน รัฐควรพิจารณาในการลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาระค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งคือการจ่ายให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว รัฐสามารถช่วยลดภาระส่วนนี้ได้หรือไม่ รวมถึงข้อเสนอการเข้าถึงเงินประกันสังคม หรือการลดภาระการจ่ายเบี้ยประกันสังคม ทั้งหมดนี้ต้องคิดให้ครบถ้วนทั้งเงินก้อนมาชดเชย รวมไปถึงการสนับสนุนลดค่าใช้จ่ายและในส่วนของเงินกู้ที่กำลังจะเกิดขึ้น” หัวหน้าพรรคกล้ากล่าว

ด้านนายวรวุฒิ รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า วิกฤตโควิดรอบนี้ ผู้ประกอบการทุกคนกำลังดิ้นรน หนีตาย คนที่ไม่เคยเป็นหนี้ก็ต้องเป็น มาถึงขั้นนี้ที่ไหนมีหนทางผู้ประกอบการไปหมด ซึ่งครั้งนี้นับเป็นปรากฎการณ์ที่ดี ที่ทั้งธนาคารพาณิชย์  หน่วยงานภาครัฐ เอกชนมาช่วยกัน ตอนนี้คนที่รอดคือคนที่ปรับตัวมากที่สุด หลายธุรกิจต้องจากไป มาตรการของรัฐต้องเข้ามาช่วยกิจการพวกนี้เพราะมันกระทบในวงกว้าง ดูได้จากมาตรการที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน ออกมาอุ้มธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นธุรกิจบริการสังคม ถ้าร้านอาหารอยู่ไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบภาคสังคมหลายส่วน ดังนั้นธุรกิจร้านอาหารต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และเราก็อยากเห็นรัฐบาลดูแลเป็นพิเศษเช่นกัน แต่ขณะนี้ยังไม่เป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตามก็ยังมีหวังในช่วงโค้งสุดท้ายของการแพร่ระบาด เนื่องจากมีการทยอยฉีดวัคซีนกันแล้ว เราอดทนอีกนิด 

“ในมุมธุรกิจอยากแนะนำว่าคนที่จะรอดคือคนที่ปรับเปลี่ยนมากที่สุด รวมถึงสามารถวิเคราะห์ว่าทางไหนใช่ ทางไหนไม่ใช่ อาจต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ทำทุกทางให้รอด ถ้าปรับน้อยโอกาสรอดในภาวะวิกฤตก็จะยาก ภาวะวิกฤตขนาดนี้ บางรายปรับตัวไม่ทัน นั่นเป็นเหตุที่มีการเรียกร้องความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งลดค่าใช้จ่าย ลดภาษี และการเข้าถึงแหล่งทุน กลุ่มธุรกิจพวกนี้คือคนที่ดำเนินการตามมาตรการภาครัฐทั้งเว้นระยะห่าง จำกัดที่นั่ง 25% หรือจำกัดเวลาเปิด เขาได้รับผลกระทบโดนตรงจากการเป็นคนดีของรัฐบาล รัฐบาลควรหาทางชดเชยในการลดค่าใช้จ่ายให้พวกเขาด้วย” นายวรวุฒิ กล่าว 

ทั้งนี้ ในช่วงที่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ก็มีการนำเสนอว่า ความสำคัญอยู่ที่การวางแผนเรื่องกระแสเงินสดเพื่อคาดการณ์อนาคตว่าการกู้ครั้งนี้เราสามารถชำระคืนได้หรือไม่ ต้องดูการวางแผนธุรกิจและดูกันยาวๆ เพราะการกู้ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่กู้มาเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น ต้องอยู่ได้ระยะยาว และต้องไปต่อได้ ไม่เช่นนั้นก็เหมือนเผาเงินตัวเองไป และหากมองในฝั่งของรัฐบาล ครั้งนี้เป็นเรื่องของโรคระบาด ไม่ใช่ความผิดของใคร รัฐบาลก็หนี้สูง กู้มาหากช่วยไม่ถูกจุด เอกชนก็หนี้สูงเพื่อให้ตัวเองรอด จริงๆ ควรเลือกหนี้อันเดียว คือรัฐบาลต้องมีหนี้ต่อ GDP สูง แล้วเอามาดูแลเอกชนที่จะอยู่รอดผ่านวิกฤตได้ อย่างที่คุณกรณ์ กล่าวไว้ว่ารัฐมีตัวเลขภาษีในระบบ รัฐช่วยเหลือตามสัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคลที่เคยจ่ายมาอย่างถูกต้องก็ควรดูแลเขา รวมไปถึงส่วนของประกันสังคมที่รัฐควรดูแล ส่วนร้านค้าที่ไม่อยู่ในระบบเอาตรงๆ ต่อไปก็ต้องเข้ามาในระบบมากขึ้น อาจจะช่วยได้ไม่เท่าคนที่อยู่ในระบบ ในวันนี้แต่เขาคือฟันเฟืองหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ เรื่องที่ช่วยง่ายสุดตอนนี้คือเรื่องการดูแลเรื่องของแรงงาน เงินเดือนเพื่อให้มีการจ้างงาน เพราะช่วยให้เศรษฐกิจเดิน มีเงินเดือนเกิดการบริโภค เศรษฐกิจก็เดินต่อ รัฐบาลจะมาอุ้มคนตกงานมันไม่ใช่ 

“เราเห็นด้วยกับทางพรรคกล้ามาตลอดที่ตั้งใจช่วยคนตัวเล็ก เพราะเอสเอ็มอี เกิดยากตายง่าย ถ้าตายแล้วเกิดใหม่ไม่ได้ เขาสะสมทุนมาทั้งชีวิตมันยากมากมีพลังก็ไม่มีทุน อย่าให้เขาตายไป จึงอยากเสนอว่าภาครัฐอย่าสร้างสองหนี้พร้อมกัน อย่าบังคับให้ภาคประชาชนเป็นหนี้เป็นสิน ควรให้รัฐบาลเป็นหนี้คนเดียวไปเลยดูแลทั้งระบบ เพราะรัฐบาลสามารถสร้าง economic modeling และคาดการณ์ว่าจะกลับมาเก็บภาษีได้เมื่อไหร่มีแผน 5 ปี 7 ปี วางแผนไปว่าถ้าเศรษฐกิจรอด พยายามให้ทุกคน เข้าระบบ ก็ได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ภาษีนิติบุคคลเอามา จ่ายชำระหนี้ได้”

ทั้งนี้ นายกรณ์ กล่าวแสดงความเห็นด้วยต่อความคิดเห็นดังกล่าว ว่ารัฐควรแบกรับภาระหนี้ เครดิตรัฐบาลดีกว่าของพวกเราทุกคน ความสามารถในการกู้ยืมของรัฐบาลได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าเราทุกคน รัฐบาลยังมีศักยภาพในการช่วยเหลือเราได้อีกเยอะ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top