Monday, 7 July 2025
GoodsVoice

ครม.ไฟเขียวแจกเงิน 1.4 แสนล้าน ทั้ง คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ บัตรสวัสดิการ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยมีโครงการเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.4 แสนล้านบาท มี 4 โครงการ คือ

1.) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 วงเงิน 16,380 ล้านบาท โดยเติมเงินให้เดือนละ 200 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ก.ค.-ธ.ค.64 ครอบคลุม 13.6 ล้านคน

2.) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ วงเงิน 3,000 ล้านบาท จำนวน 2.5 ล้านคน เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค. 64 ส่วนวันที่เงินจะเข้านั้นกระทรวงการคลังจะแจ้งอีกครั้ง

3.) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 วงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 31 ล้านคน ให้สิทธิ์ใช้จ่ายไม่เกิน 150 บาท วงเงิน 3,000 บาทต่อคน โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการในระยะที่ 1-2 ประมาณ 15 ล้านคนจะให้ยืนยันสิทธิในระยะที่ 3 โดยที่ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ส่วนอีก 16 ล้านคน จะเปิดให้ลงทะเบียนร่วมโครงการใหม่ต่อไป ซึ่งกระทรวงการคลังจะแจ้งวันลงทะเบียนอีกครั้ง ซึ่งเงินที่จะให้นั้นแยกเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 1,500 บาท คือ ก.ค.-ก.ย. 64 และ ต.ค.-ธ.ค. 64

4.) โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ วงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการ 4 ล้านคน โดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการ โดยจำกัดวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่ใช้คำนวณสิทธิ e-Voucher ไม่เกิน 6 หมื่นบาทต่อคน และไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งจะได้รับสิทธิ e-Voucher สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ซึ่งผู้เข้าโครงการจะได้รับการสนับสนุน E-Voucher จากภาครัฐในช่วง ก.ค.-ก.ย. 64 เพื่อไปใช้จ่ายในเดือน ส.ค.-ธ.ค. 64 ส่วนในรายละเอียดว่าจะสามารถใช้จ่ายสินค้าและบริการอะไรได้บ้างกระทรวงการคลังจะชี้แจงรายละเอียดต่อไป


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

มาสด้าปรับทัพการบริหารองค์กรรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล ดัน ‘ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์’ กำหนดกลยุทธ์การขาย การตลาด ดีลเลอร์และลูกค้า

มาสด้าปรับทัพผู้บริหารรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลที่กำลังรุกคืบเข้าสู่สังคมไทยอย่างรวดเร็ว โดยมอบหมายให้ นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ขยับขึ้นดำรงตำแหน่ง รองประธานบริหารอาวุโส เพื่อเข้ามากำกับดูแลในส่วนของการกำหนดกลยุทธ์การขาย การตลาด และการพัฒนาธุรกิจของมาสด้า เนื่องจากปัจจุบันโลกของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง เกิดโอกาสใหม่ เกิดความท้าทาย และความเป็นไปได้มากมาย มาสด้าต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นการปรับทัพในครั้งนี้จะทำให้องค์กรสามารถปรับตัวเข้ากับการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล และขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เร่งสร้างการเติบโตให้ยั่งยืนภายใต้การทำงานเป็นทีม หรือ One Mazda

ปัจจุบัน นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ดำรงตำแหน่ง รองประธานบริหาร กำกับดูแลรับผิดชอบในส่วนงานการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ ถูกแต่งตั้งให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง รองประธานบริหารอาวุโส เพื่อกำกับดูแลในส่วนสำคัญขององค์กรระหว่างประเทศ ทั้งสายงานด้านการขาย กลยุทธ์ด้านการตลาด การกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารงานองค์กร การพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ การสื่อสารการตลาด การตลาดดิจิทัล การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาธุรกิจและเครือข่ายผู้จำหน่ายทั่วประเทศ และรัฐกิจสัมพันธ์ ที่สำคัญคือการมุ่งมั่นเพื่อที่จะสร้างความพึงพอใจสูงสุดและสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป 

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด แสดงวิสัยทัศน์ในการเข้ามาบริหารองค์กรระหว่างประเทศท่ามกลางวิกฤตที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ว่า ด้วยสปิริตและความมุ่งมั่นที่เป็นเสมือนดีเอ็นเอมาสด้ามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า การปรับทัพเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกการค้าเสรียุคดิจิทัลในครั้งนี้ จะสามารถนำพาให้องค์กรก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกยุคดิจิทัลมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทั้งในการเลือกซื้อรถและความพึงพอใจของลูกค้า ดังนั้นมาสด้าต้องเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ประกอบด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยจะนำเอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาสร้างบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่ออำนวยความสะดวกในทุกรูปแบบและตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็วต่อสถานการณ์

“การปรับกลยุทธ์ด้วยการผนวกรวมในส่วนของการขายและการตลาด รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายผู้จำหน่ายแบบครบวงจรในครั้งนี้ มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการภายในองค์กรให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยศักยภาพของคุณธีร์ ซึ่งมีประสบการณ์การบริหารธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ มีความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรภายใต้ Mazda Way และเป็นกำลังสำคัญช่วยขับเคลื่อนมาสด้ามาตลอด ผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับทัพในครั้งนี้จะทำให้มาสด้าสามารถพัฒนารูปแบบและกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ ประการสำคัญคือ มาสด้า เรามุ่งเน้นการสร้างทีมบริหารโดยให้คนไทยเข้ามามีบทบาทในทุกๆ ฟังก์ชั่น ภารกิจหลักคือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ “One Mazda” การจะประสบความสำเร็จได้นั้นอาจต้องใช้ทักษะส่วนบุคคล แต่การจะทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยทีมที่แข็งแกร่ง การหลอมรวมทุกหน่วยงานเข้าสู่รูปแบบการทำงานร่วมกันอย่างมืออาชีพและไร้รอยต่อในทุกภาคส่วน จะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทั้งมาสด้า เซลส์ ประเทศไทย มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น รวมถึงผู้จำหน่าย เพื่อจะได้นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า” นายชาญชัย กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับนายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ เริ่มต้นเข้าบริหารองค์กรกับมาสด้า ตั้งแต่ปี 2550 ในตำแหน่งผู้จัดการ กำกับดูแลด้านผลิตภัณฑ์การตลาด และขยับขึ้นเป็นผู้อำนวยการเมื่อปี 2555 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายตลิตภัณฑ์การตลาดและนโยบายรัฐกิจ ต่อมาในปี 2558 ก้าวขึ้นมากำกับดูแลสายงานด้านการตลาด การวางแผนผลิตภัณฑ์ การสื่อสารการตลาด งานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายการตลาด ล่าสุดเมื่อปี 2561 ได้รับการแต่งตั้งเป็น รองประธาน กำกับดูแลสายงานการตลาด กลยุทธ์การตลาด การวางแผนผลิตภัณฑ์ การสื่อสารการตลาด งานประชาสัมพันธ์ และรัฐกิจสัมพันธ์ ภายใต้ฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ มาจนถึงปัจจุบัน

THE STATES TIMES เปิดตัวไลน์แอด @THESHOPSTIMES เอาใจสาย Click...ปั้นธุรกิจ Digital Media Commerce ในคอนเซ็ปต์ โปรเด็ด ถูกคุ้ม แอดเลย แอดไลน์ @ THESHOPSTIMES ส่งดีลดีดี โปรโมชั่นเด็ด สินค้า ประเดิมเริ่มกลุ่ม ‘รถยนต์-อสังหาฯ’

สำนักข่าวออนไลน์ สำหรับคนรุ่นใหม่ THE STATES TIMES ขยายพอร์ตธุรกิจ ปั้นแนวคิดช้อปปิ้งออนไลน์คอนเทนต์ ด้วยการผสมผสานคอนเทนต์และช้อปปิ้งออนไลน์ไว้ด้วยกัน ภายใต้ชื่อ ‘THE SHOPS TIMES’

โดยตกผลึกไอเดียด้วยความเชี่ยวชาญของ THE STATES TIMES ที่มีทั้งทีมผลิตคอนเทนต์หลากสาย จนเกิดเป็นไอเดียในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้า/บริการต่างๆ มาถ่ายทอดให้กระชับ เข้าใจง่าย รวมถึงการอัดไฮไลต์โดนๆ เช่น โปรโมชั่นและดีลสุดคุ้มที่มีการพูดคุยกับเจ้าของสินค้า/บริการจำนวนมาก มานำเสนอต่อผู้ติดตามทั้งในแพลตฟอร์มของ THE STATES TIMES และ สำนักข่าวการศึกษา THE STUDY TIMES

สำหรับ THE SHOPS TIMES ได้มีการพัฒนาการซื้อการขายผ่าน ไลน์แอด @THESHOPSTIMES ภายใต้ไอเดีย Click on Goods โปรเด็ด ถูกคุ้ม ซึ่งใน ไลน์แอด ดังกล่าวจะมีการคัดเลือกสินค้าและบริการคุณภาพ, จากเทรนด์สินค้ากระแสในปัจจุบัน, ความต้องการของตลาด ภายใต้ความคุ้มค่าที่ต้องจ่ายไปอย่างสมเหตุสมผลให้มากที่สุด

ทั้งนี้ในช่วงแรกนี้ THE SHOPS TIMES ได้ดีลกับกลุ่มสินค้าในฝันของใครหลายๆ คน อาทิ เช่น ‘กลุ่มรถยนต์’ กับ Autogallary ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ชั้นนำของประเทศไทย นำเสนอโปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอเมร่า

‘กลุุ่มอสังหาริมทรัพย์’ กับ True Marketing Property ที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ นำเสนอ 2 คอนโดน่าซื้อ ย่านดอนเมือง และ สุขุมวิท 34 ในราคาเริ่มต้น 3 ล้านปลายๆ

ผู้สนใจ โปรเด็ด ถูกคุ้ม อย่างสมเหตุสมผล พร้อมรีวิวจากทีมคอนเท้น จาก THE STATES TIMES ที่จะมีสินค้า/บริการมาอัปเดตอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสามารถแอดไลน์สั่งซื้อได้ทันทีที่ Line@THESHOPSTIMES


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ดีพร้อม (DIPROM) ออกนโยบายเร่งด่วนสนับสนุนผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ รับมือวิกฤติสุขภาพและแนวโน้มความต้องการในไทยที่สูงขึ้น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เร่งขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อสอดคล้องกับแผนการพัฒนาระยะยาวของทางกระทรวงที่ต้องการยกระดับศักยภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เครื่องมือและการให้บริการทางการแพทย์ให้เทียบเท่ากับระดับสากล โดยเน้นการยกระดับการแพทย์ สร้างศูนย์ทดสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกในการตรวจและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของไทยให้กับผู้ประกอบการอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ในราคาที่เป็นธรรมเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ในประเทศไทยในปัจจุบันที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น จากปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องมือทางการแพทย์ มีเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญและเร่งการสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ในการพัฒนาและผลักดันให้พร้อมรับมือวิกฤติสุขภาพได้อย่างมีสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอวที่จะช่วยประเทศไทยผ่านวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ไปให้ได้

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดีพร้อม (DIPROM) เร่งดำเนินการปรับแผนและรูปแบบการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของงบประมาณประจำปี 2564 เพื่อให้สอดรับนโยบายทางกระทรวงอุตสาหกรรม และสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยหนึ่งในนั้นคือการเร่งสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์อย่างครอบคลุมในหลายมิติให้มีความสอดคล้องสถานการณ์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างความพร้อมในการเป็นรากฐานที่สำคัญรองรับต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันและอนาคต ด้วยการผลักดันให้เกิดความพร้อมในภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ผ่าน 4 มาตรการเร่งด่วน ดังนี้

1.) การส่งเสริมด้านบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้มีความพร้อมและองค์ความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย การนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม รวมไปถึงสร้างความรู้ความเข้าใจด้านกฎระเบียบและข้อบังคับของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

2.) การส่งเสริมด้านการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ เป็นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI และ IoT รวมถึงในกลุ่มของการบำบัดฟื้นฟู วินิจฉัย และการรักษา

โดยต้นแบบผลิตภัณฑ์ร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมนั้น จะครอบคลุมทั้งในด้านของการรองรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ ชุดอุปกรณ์จ่ายอากาศแบบต่อเนื่องสำหรับหน้ากากชนิดครอบเต็มใบหน้า (PAPR) เครื่องทวนสอบเครื่องช่วยหายใจ (Ventilator Tester) ระบบปรึกษาข้อมูลสุขภาพทางไกล ระบบ AI ในการวิเคราะห์โรคปอด และเครื่องดูดละอองฝอยน้ำลาย (เครื่องมือทันตกรรม)

ทั้งนี้ การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ดำเนินการโดยการบูรณาการร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ภาคการศึกษา และบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงสถาบันฯ และสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

3.) การส่งเสริมสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ การปรับปรุง และพัฒนากระบวนการผลิตให้สามารถที่จะลดต้นทุน ลดของเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิต รวมถึงสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อการใช้งานในปัจจุบัน อีกทั้งส่งเสริมในเรื่องการวางแผนการตลาด เพิ่มมูลค่า และยอดขายอีกครั้ง

4.) การส่งเสริมการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้รวมถึงวิสัยทัศน์ร่วมกัน การสร้างและรวบข้อมูลเครือข่ายหน่วยทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ให้เกิดความพร้อมทุกมิติ อีกทั้งยังร่วมกันพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สอดคล้องต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ ดีพร้อม ได้ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการวิจัยและนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการ ผ่านการเชื่อมโยงหน่วยงานอื่นๆ อาทิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) อีกทั้ง ยังช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทยและบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นอีกหนึ่งช่องทางหนึ่งในการสร้างความน่าเชื่อถือและสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจอีกด้วย

ทั้งนี้ ดีพร้อม ตั้งเป้าว่าภายในปี 2564 ต้องสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์ได้กว่า 100 ผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559 – 2563 ดีพร้อม สามารถยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์กว่า 400 ราย อาทิ การพัฒนาชุดอุปกรณ์จ่ายอากาศแบบต่อเนื่องสำหรับหน้ากากชนิดครอบเต็มใบหน้า บริษัท ทีเอ็มดีดี จำกัด โดยทางดีพร้อมได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านวัสดุในการผลิต ระบบในการปรับอัตราการไหลของอากาศ แบตเตอรี่ในการใช้งาน และการใช้งานร่วมกับชุดกรองเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ฯลฯ นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

แบงก์ชาติเปิดผลสำรวจโควิดระลอกใหม่ทำธุรกิจไทยทรุด

ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทย ในเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ในเดือนพฤษภาคม 2564 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ซึ่งถูกกดดันจากกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ และผลของการแพร่ระบาดของโควิดระลอกเดือนเมษายนที่ขยายวงกว้าง ขณะที่ภาคก่อสร้างเริ่มได้รับผลจากการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในแคมป์คนงาน แต่อย่างไรก็ดีภาคการผลิตยังสามารถฟื้นตัวได้ตามคำสั่งซื้อที่ทยอยกลับมา

ทั้งนี้แต่ละธุรกิจมีมุมมองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกเดือนเมษายนแตกต่างกัน โดยภาคท่องเที่ยว คาดว่า จะถูกกระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการค้า ขณะที่ภาคการผลิตได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สอดคล้องกับการปรับตัวที่ทำได้มากกว่าธุรกิจอื่น โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในไทยที่มีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้น ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่มีการใช้นโยบายสลับกันมาทำงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนธุรกิจในภาคที่ไม่ใช่การผลิตมีการใช้นโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ ลดชั่วโมงทำงาน และ หยุดงานชั่วคราวโดยไม่รับเงินเดือน รวมถึงปลดคนงานเพิ่มในบางธุรกิจ

ขณะเดียวกันจากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับลดลงต่อเนื่อง ตามการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่รุนแรงขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังเชื่อมั่นว่าสถานการณ์จะปรับดีขึ้นในอีก 3 เดือน จากผลของการเร่งกระจายวัคซีน

สำหรับประเด็นพิเศษในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคแย่ลงจากเดือนก่อนค่อนข้างมาก จากการระบาดที่รุนแรงและยืดเยื้อที่ส่งผลต่อทั้งรายได้ และความกังวลของผู้บริโภค รวมถึงมาตรการสาธารณสุขที่เข้มงวดในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ 41% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ได้ปรับลดการจ้างงานลงและมีแนวโน้มที่รายได้ลดลงตามชั่วโมงการทำงานและค่าธรรมเนียมขายลดลง และ 39% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีสภาพคล่องไม่เกิน 6 เดือน

ประกันสังคม สรุปผลดูแลผู้ประกันตนตรวจโควิด-19 เชิงรุก ภาพรวม 10 จุด ล่าสุด 31 พ.ค. 64 ช่วยคัดกรองฯ ไปแล้วกว่า 2.35 แสนคน

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายให้ความสำคัญกับการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน จึงได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ให้กับผู้ประกันตนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ภายใต้โครงการ “แรงงาน...เราสู้ด้วยกัน” เป้าหมายเพื่อดูแลผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 โดยเพิ่มช่องทางบริการตรวจเชื้อให้กับผู้ประกันตนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 10 จุดที่อยู่ในพื้นที่ในกรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ สมุทรสาคร ภูเก็ต ระยอง และพระนครศรีอยุธยา เพื่อลดปัญหาความแออัดการตรวจคัดกรองในโรงพยาบาล และให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคเอกชน และโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมดำเนินการตรวจโควิดเชิงรุกเป็นไปอย่างเรียบร้อย สามารถช่วยเหลือและบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายความแออัดจากการเข้ารับบริการตรวจคัดกรอง ลดการกระจายของโรคป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ในสถานประกอบได้เป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก

นายทศพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับภาพรวมในการดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุกให้กับผู้ประกันตน ณ 31 พ.ค. 64 ยอดรวมสะสมทั้งสิ้น ของการเปิดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.-31 พ.ค.64 จุดตรวจอาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชน กรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง มีผู้มาตรวจจำนวน 89,921 คน ที่จังหวัดปทุมธานี จุดตรวจวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี มีผู้มาตรวจจำนวน 15,862 คน ตรวจเชิงรุก ในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจ จำนวน 25,416 คน รวมทั้งสิ้น 41,278 คน ที่จังหวัดสมุทรปราการ จุดตรวจสถาบันฝีมือแรงงาน ภาค 1 มีผู้มาตรวจจำนวน 9,453 คน ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการมีผู้มาตรวจจำนวน 23,727 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 32,680 คน ที่จังหวัดนนทบุรี จุดตรวจเทศบาลเมืองพิมลราช มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 3,369 คน ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจจำนวน 12,494 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 15,863 คน ที่จังหวัดชลบุรี ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 23,000 คน ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้น จำนวน 10,777 คน ที่จังหวัดสมุทรสาคร ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 11,413 คน ที่จังหวัดภูเก็ตมีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 690 คน ที่จังหวัดระยอง ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 6,675 คน และที่จังหวัดอยุธยา ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 3,211 คน โดยภาพรวมทั้ง 10 จุด ในการตรวจโควิด-19 เชิงรุกให้กับผู้ประกันตน มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 235,508 คน

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักงานประกันสังคม พร้อมร่วมขับเคลื่อน การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงที่รอการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนต่อไป

ประเมินตลาดที่อยู่อาศัยครึ่งหลังปีนี้ยังซม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 พบว่า กิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 อาจมีโอกาสขยับเพิ่มขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก หลังจากยอดจองซื้อที่อยู่อาศัยที่หดตัวถึง 24.2% หรือมีจำนวนเหลือเพียง 2.1 หมื่นหน่วย ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี และการเปิดโครงการใหม่ของผู้ประกอบการก็มีเพียง 2 หมื่นหน่วย หดตัว 35% โดยกลุ่มที่มีกำลังซื้อและมองหาที่อยู่อาศัยน่าจะกลับมาได้บ้าง และผู้ประกอบการน่าจะกลับมาทำกิจกรรมการตลาดกระตุ้นการขายได้มากขึ้น แต่ยังนับว่าต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยภาพรวมยังไม่ฟื้น โดยเฉพาะกลุ่มระดับล่าง-กลางล่าง ที่เป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มหลัก 

“ตลาดอาจจะฟื้นตัวในระดับต่ำ จากปัจจัยหลายอย่างที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 และการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ประเมินว่า หากประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ในช่วงเดือนก.ค. พร้อมๆ กับการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผน เช่นเดียวกับการออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจและเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในประเทศได้”

ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ทั้งปี 64 จะมีเพียง 1.76-1.82 แสนหน่วย หรือติดลบ 10.5- 7.4% ต่อเนื่องจากปี 63 ส่วนการลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 64 ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยยังคงเจอโจทย์ท้าทาย เพราะนอกจากความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่ยังอ่อนแอแล้ว ยังมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้ง ความท้าทายในการระบายสินค้าคงเหลือ ทำให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันทำตลาดเพื่อชิงกลุ่มผู้บริโภคที่มีจำนวนจำกัดด้วย

คลังทำหนังสือแจ้งเจ้าหนี้พิโกไฟแนนซ์ ช่วยรายย่อย

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ออกหนังสือขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้กับลูกหนี้ตามความเหมาะสมและตามสมควรที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์แต่ละรายจะสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ของตนเองได้

สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบ แบ่งเป็น

1.) ลดค่างวดหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้

2.) เปลี่ยนประเภทหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว

3.) พักชำระค่างวดหรือพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน หรือพักเงินหรือพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย หรือวิธีการอื่นใดที่จะสามารถช่วยบรรเทาภาระหนี้กับลูกหนี้ได้ นอกจากนี้ ยังได้ขยายระยะเวลาการส่งรายงานงบการเงินสำหรับรอบปีบัญชี พ.ศ. 2563 ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2564

ทั้งนี้ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เป็นลูกหนี้ของกลุ่มธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบให้กับประชาชนได้ เพราะที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เริ่มกลับมาแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนธ.ค. 2563 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ยังไม่บรรเทาเบาบางลง รวมทั้งยังได้มีการแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ การจ้างงาน และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยในวงกว้าง 

ประกันชีวิตโตรับโควิดระบาด 4 เดือนฟันเกือบ 2 แสนล.

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจประกันชีวิต 4 เดือนแรก ปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 195,544 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3.25% โดยแยกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 56,227 ล้านบาท เติบโต 10.38% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 139,316.51 ล้านบาท เติบโต 0.63% อัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 81%

“การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และโรคร้ายแรงยังอยู่รอบตัวเรา ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ภาคธุรกิจจึงได้มีการปรับปรุงรูปแบบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้สอดรับกับสถานการณ์มากขึ้น ทั้งในรูปแบบเหมาจ่ายหรือเพิ่มความคุ้มครองให้ครอบคลุมรอบด้าน ตลอดจนบริการเสริมในด้านต่างๆ ซึ่งผู้เอาประกันภัยสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองอย่างดีที่สุดตามเงื่อนไขกรมธรรม์ไม่ว่าจะป่วยด้วยโควิด หรือโรคร้ายอื่นๆ ก็ตาม”

ทั้งนี้พบว่าช่องทางตัวแทนประกันชีวิตยังคงเป็นช่องทางหลัก ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 91,040 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 0.94% มีสัดส่วน 46.56% รองลงมาเป็นการขายผ่านธนาคาร เบี้ยประกันภัยรับรวม 83,587 ล้านบาท เติบโตขึ้น 6.71% มีสัดส่วน 42.75% ตามด้วยช่องทางนายหน้าประกันชีวิต เบี้ยประกันภัยรับรวม 10,355 ล้านบาท ลดลง 1.56% มีสัดส่วน 5.30% 

ช่องทางอื่นๆ เบี้ยประกันภัยรับรวม 5,565 ล้านบาท ลดลง 0.92% มีสัดส่วน 2.85 ช่องทางโทรศัพท์ เบี้ยประกันภัยรับรวม 4,778 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 6.41% มีสัดส่วน 2.44 ช่องทางดิจิทัล เบี้ยประกันภัยรับรวม 202 ล้านบาท ลดลง 3.59% มีสัดส่วน 0.10% และ ช่องทางไปรษณีย์ เบี้ยประกันภัยรับรวม 13 ล้านบาท ลดลง 15.22% มีสัดส่วน 0.01%

‘เฉลิมชัย’ เดินหน้าพัฒนาทะเลสะอาดอย่างยั่งยืนภายใต้โครงการ ‘ทะเลปลอดอวน-ขยะคืนฝั่ง’ กรมประมง ผนึกกำลัง ประมงพื้นบ้าน-ประมงพาณิชย์ แปลงขยะทะเลเป็นทุนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) เพื่อสร้างรายได้ชุมชนประมง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการ ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงไทย แถลงวันนี้ (2 มิ.ย.) ว่า หลายปีที่ผ่านมาทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของการ ป้องกันและจัดการปัญหาขยะทะเล โดยประเทศไทย ติดอันดับต้นๆ ของโลกที่มีการทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม หลายหน่วยงานในประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญและได้มีการกำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณขยะ สอดคล้องกับวาระแห่งชาติภายใต้แผนแม่บทการจัดการขยะแห่งชาติฉบับที่ 2559-2564 ว่าด้วยการต่อต้าน ขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ตามมติที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในการร่วมมือมุ่งมั่นฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต ของเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานสู่มิติใหม่ ภายใต้ ‘5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย’ คือ

1.) ยุทธศาสตร์ตลาดนาการผลิต

2.) ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0

3.) ยุทธศาสตร์ ‘3’s’ (Safety-Security-Sustainability-เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน)

4.) ยุทธศาสตร์การบริหาร เชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโมเดล ‘เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย’ และ

5.) ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืน ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ซึ่งสอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เห็นชอบในโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเกิดการนำขยะมารีไซเคิลหมุนเวียนให้เกิดรายได้ใช้พัฒนาชุมชน ภายใต้ ‘โครงการทะเล ปลอดอวน’ และ ‘โครงการขยะคืนฝั่ง’ โดยมีกรมประมงในฐานะหน่วยงานที่ดูแลด้านประมง ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดีในปี 2562 โดยทางกรมประมง ได้ร่วมกับพี่น้องชาวประมงทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลโดยตรง ริเริ่มนำแนวคิดการไม่สร้างขยะในท้องทะเล และการเก็บขยะในท้องทะเล มาแปลงเป็นทุน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ภายใต้การบริหารจัดการของชุมชนประมง สร้างรายได้นำไปพัฒนาชุมชน

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า “สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะในทะเลนั้น ได้ดำเนินงานภายใต้นโยบายของ เจ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เน้นย้ำในเรื่องของ การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม โดยกรมประมง ผู้ประกอบการและชาวประมง บูรณาการงานร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ช่วยลดโอกาสในการ ปนเปื้อนของมลพิษในสัตว์น้ำ ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยเริ่มต้นจากชาวประมงพาณิชย์ขยายผลไปสู่ ชาวประมงทุกกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินโครงการในการกำจัดขยะทะเล ภายใต้การขับเคลื่อนของ อธิบดีกรมประมง มาแล้ว จำนวน 2 โครงการ คือ…

1.) โครงการ Net Free Seas หรือเรียกว่า โครงการทะเลปลอดอวน ซึ่งกรมประมงได้ร่วมกับมูลนิธิความ ยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ในการพยายามจัดการและแก้ไขปัญหาขยะที่ เกิดจากเศษอวนประมง โดยการนำเศษอวนเอ็นจากเรือประมงพื้นบ้าน กลับมารีไซเคิลแปรสภาพใช้ประโยชน์และสร้าง รายได้ให้แก่ชุมชน โดยปัจจุบันได้มีการนำร่องจัดทำโครงการ Net Free Seas ในพื้นที่ชุมชนชายฝั่งทะเลในจังหวัด ทางภาคตะวันออกและภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ ระยอง จันทบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และพังงา โดยมีชุมชนประมง พื้นบ้านที่จัดตั้งเป็นองค์กรประมงท้องถิ่น ทั้งหมด 47 ชุมชน มีชาวประมงเข้าร่วมโครงการกว่า 700 คน

โดยชุมชนประมงท้องถิ่นในพื้นที่สามารถรวบรวมนำเศษอวนที่กลายเป็นขยะในพื้นที่แล้ว ส่งขายให้กับโรงงาน ในราคา 10 บาท/กิโลกรัม เพื่อนำมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก และแปลงไปเป็นของใช้ต่างๆ ได้มากกว่า 12 รายการ เช่น ที่เปิดขวด ที่รองแก้ว ที่กดลิฟท์ ส่วนประกอบของกระดานโต้คลื่น พรมปูพื้น ฯลฯ ซึ่งถูกนำไปจำหน่ายทั้งภายในประเทศและ ต่างประเทศแล้วกว่า 100,000 ชิ้น สามารถลดขยะที่เกิดจากเศษอวนไปได้มากถึง 14,000 กิโลกรัม ซึ่งชุมชนจะมี รายได้ตอบแทน โดยการดำเนินโครงการจะถูกปรับให้เหมาะสมกับวิถีชุมชน แต่ละชุมชนมีส่วนร่วมและมีสิทธิ์ในการให้ คำแนะนำและตัดสินใจในรูปแบบการบริหารจัดการรายได้ที่ได้รับจากการขายเศษอวนผ่านโครงการและระบบการ จัดการ รีไซเคิลขยะจากอวนที่ไม่ซับซ้อนชาวบ้านสามารถดาเนินการเองได้ เอื้อให้เกิดการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ ชุมชนได้ในระยะยาว

โครงการดังกล่าว นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาขยะจากเศษอวนประมงเพื่อเป็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเลและ ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลในระยะยาวแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากขยะ ช่วยสร้างช่องทางการเพิ่ม รายได้ให้แก่ชุมชนชาวประมง และเป็นการริเริ่มการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาใช้แก้ปัญหาและเพิ่มคุณภาพ ชีวิตในชุมชนให้ดีขึ้น ที่สำคัญยังช่วยสนับสนุนความพยายามของชุมชนในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลผ่านการ อนุรักษ์อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านโครงการเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์และปลูกฝังพฤติกรรมการแก้ปัญหาขยะทะเลและการรีไซเคิลให้เป็นวิถีชุมชนที่ยั่งยืน และในอนาคตมีแผนจะขยายผลไปยังชุมชน ในจังหวัดใกล้เคียงในฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนประมงในพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนชุมชนประมงท้องถิ่นชายฝั่งกับ กรมประมงทั้งหมดแล้ว จำนวน 751 ชุมชน

2.) โครงการ ‘ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา’ โดยกรมประมงร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รณรงค์ให้ชาวประมงดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่เขตทะเลและชายฝั่งให้สะอาด นำขยะ ทะเลคืนฝั่ง ภายใต้กรอบแนวคิด ‘รับรู้ต้นตอปัญหา เกิดจิตสำนึกตระหนัก ให้ความเห็นร่วม สมัครเข้าทำกิจกรรม สร้าง สัมพันธ์ ให้ความร่วมมือ ยึดปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง’ ซึ่งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) ของกรมประมง จำนวน 30 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนกิจกรรมฯ ดังกล่าว ปัจจุบันมีชาวประมงเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 4,328 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564) มีขั้นตอนการดำเนินการโดยผู้ควบคุมเรือประมงทุกลำที่เข้าร่วมกิจกรรมฯ จะต้องจดบันทึกรายงานขยะที่เก็บมาแต่ละครั้ง แนบพร้อมการส่งสมุดบันทึกการทำประมง (LB) เพื่อให้ศูนย์ PIPO ตรวจสอบและบันทึกปริมาณขยะลงในระบบ

นอกจากนี้ยังได้ประสานงานไปยังท่าเทียบเรือทุกแห่งที่จดทะเบียนกับ กรมประมง ให้จัดจุดรวบรวม คัดแยกขยะจากทะเล และประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงที่ออกเรือ ลดการใช้ภาชนะหรือ บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ยาก ไม่เทเศษสิ่งของเหลือใช้ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ ของใช้ในเรือประมงลงสู่ทะเล ซึ่งจาก ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี ได้มีการสรุปรายงานผลปริมาณขยะ คืนฝั่งที่เก็บมาได้ปัจจุบันทั้งหมด จานวน 182,876 กิโลกรัม (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564) แบ่งเป็นขยะที่เก็บในเรือประมงจานวน 139,682 กิโลกรัม ขยะจากทะเล 43,194 กิโลกรัม ซึ่งส่วนใหญ่ประเภทขยะที่พบมากที่สุดคือ เศษอวน รองลงมาเป็นขวด พลาสติก ขวดแก้ว และขยะอื่นๆ ทั้งนี้ขยะที่รวบรวมไว้จะมีการส่งต่อไปสู่กระบวนการนากลับมาใช้ซ้ำเพื่อให้คุ้มค่าที่สุด หรือนำกลับมาใช้ใหม่ หรือกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้อง

“จากการดำเนินการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมประมงได้มุ่งผลักดันกิจกรรมฯ ดังกล่าว ในด้านการดูแล รักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง จนประสบความสำเร็จเห็นผลเชิงประจักษ์ โดยล่าสุดกรมประมงได้ส่งผลงาน กิจกรรมฯ ดังกล่าว เข้าร่วมชิงรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2564 ประเภทรางวัล การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม เพื่อแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐ และพี่น้องชาวประมง ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและ สิ่งแวดล้อม ท้ายนี้ กรมประมงขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงในความตระหนักรักษ์สิ่งแวดล้อม และช่วยกันเก็บขยะจาก ทะเลคืนฝั่ง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นต้นแบบและขยายผลไปสู่ชาวประมงทุกกลุ่มให้ปรับเปลี่ยน วิถีการทำประมงใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเนื่องในโอกาสวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก กรมประมง และพี่น้องชาวประมง ขอแสดงเจตจำนงว่าพวกเราพร้อมที่จะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้คืนความอุดมสมบูรณ์ ดังเดิม” อธิบดีกรมประมง กล่าว


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top