Wednesday, 15 January 2025
GoodsVoice

BOI เปิดยอดลงทุน 3 ไตรมาสของปี 2567 ทุบสถิติรอบ 10 ปีทั้งจำนวนโครงการ-เงินลงทุน

(21 ต.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - กันยายน 2567) ตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีจำนวน 2,195 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ซึ่งเป็นยอดลงทุนที่สูงสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศไทย รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาลและมาตรการสนับสนุนของรัฐ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนเชิงรุกของรัฐบาลและบีโอไอ ได้ทำให้เกิดการลงทุนโครงการใหญ่ในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ จำนวนมาก เช่น เซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และพลังงานหมุนเวียน 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งพัฒนาระบบนิเวศและปัจจัยที่จะส่งผลต่อการลงทุนในห้วงเวลาสำคัญที่มีกระแสเคลื่อนย้ายฐานการผลิตโลก เช่น การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะรองรับเทคโนโลยีใหม่ กลไกจัดหาพลังงานสะอาดในราคาที่เหมาะสม พื้นที่รองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน เป็นต้น 

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 183,444 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ดิจิทัล มูลค่า 94,197 ล้านบาท ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 67,849 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 52,990 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่า 34,341 ล้านบาท โดยกิจการที่มีการลงทุนสูงและอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น

- กิจการ Data Center จำนวน 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 92,764 ล้านบาท โดยมีการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง และอินเดีย   

- กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, 
การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม จำนวน 15 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,856 ล้านบาท

- กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และวัตถุดิบสำหรับ PCB จำนวน 55 โครงการ เงินลงทุนรวม 61,302 ล้านบาท

- กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ จำนวน 13 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,973 ล้านบาท

- กิจการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติ และเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง จำนวน 117 โครงการ เงินลงทุนรวม 30,515 ล้านบาท

- กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 351 โครงการ เงินลงทุนรวม 85,369 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,449 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66 เงินลงทุนรวม 546,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 180,838 ล้านบาท จีน 114,067 ล้านบาท ฮ่องกง 68,203 ล้านบาท ไต้หวัน 44,586 ล้านบาท และญี่ปุ่น 35,469 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่บริษัทแม่สัญชาติจีนและสหรัฐอเมริกาในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และ Data Center นำบริษัทลูกที่จดจัดตั้งในสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก 408,737 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง 220,708 ล้านบาท ภาคเหนือ 35,452 ล้านบาท ภาคใต้ 25,039 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23,777 ล้านบาท และภาคตะวันตก 8,812 ล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ การขอรับส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมให้สามารถปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 287 โครงการ เงินลงทุนรวม 27,318 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน รองลงมาคือ ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต 

สำหรับการออกบัตรส่งเสริม ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 2,072 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุน 672,165 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 101 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการออกบัตรส่งเสริมเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด โดยปกติบริษัทต่าง ๆ จะเริ่มทยอยลงทุนภายใน 1 - 3 ปี หลังจากออกบัตรส่งเสริม 

“ทิศทางการลงทุนในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า ยังคงมีแนวโน้มเติบโต แต่สิ่งที่บีโอไอให้ความสำคัญมากกว่าตัวเลขเม็ดเงินลงทุน คือคุณภาพของโครงการ และประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับ ซึ่งตอนนี้เป็นจังหวะเวลาสำคัญของประเทศไทยที่จะสามารถสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ช่วยต่อยอดฐานอุตสาหกรรมเดิมให้มั่นคง สร้างมูลค่าจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างงาน สร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 จะมีการจ้างงานบุคลากรไทยเพิ่มกว่า 1.7 แสนคน จะใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศประมาณ 8 แสนล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มมูลค่าส่งออกของประเทศอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี” นายนฤตม์ กล่าว

‘อัครเดช’ ปลื้ม บรรลุ 4 ข้อตกลงประชุมสภาอาเซียน หนุนการพัฒนาทั่วทั้งภูมิภาค เกาะกระแสเทคโน-AI

(21 ต.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี ในฐานะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ ในรัฐสภาอาเซียน ได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 45 หรือ AIPA-45 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภานำสมาชิกรัฐสภาไทยเข้าร่วมประชุม 

นายอัครเดช ได้เปิดเผยว่า ในฐานะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ ของรัฐสภาอาเซียนที่ได้เข้าร่วมประชุมกับ 10 ชาติสมาชิกของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน 8 เรื่อง โดยมีเรื่องที่สำคัญ ๆ คือ 

เรื่องแรก คือ การเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ข้ามพรมแดน ซึ่งจะตอบโจทย์ของปัญหาที่ชาติสมาชิกต่างเผชิญร่วมกันคือ การหลอกลวงทางออนไลน์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นต้น  

เรื่องที่ 2 จากการที่ชาติสมาชิกได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ Artificial Intelligence หรือ AI ที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นชาติสมาชิกจึงตัดสินใจร่วมกันพัฒนา Asian Digital Master Plan เพื่อให้มีการพัฒนา AI ระหว่างชาติสมาชิกอย่างเป็นรูปธรรม  

รวมถึงริเริ่ม Digital Integration Initiative ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างชาติสมาชิกของภูมิภาคในด้าน AI ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เรื่องที่ 3 เป็นการขนส่งระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยมีการหยิบกรณีตัวอย่างซึ่งประสบความสำเร็จจากการเชื่อมโยงการขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Seamless Transportation) ในอนุภูมิภาค(Sub Religion) ของภูมิภาคอาเซียน คือ กลุ่มประเทศ BIMP อันประกอบด้วย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

กลุ่มประเทศดังกล่าวนั้นสามารถเชื่อมต่อการขนส่งทั้งการขนส่งคน และการขนส่งของได้อย่างไร้รอยต่อเป็นอันสำเร็จ ซึ่งทาง AIPA จะได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่ง และกฎหมายร่วมกันเพื่อให้เกิดการขนส่งแบบไร้รอยต่อ(Seamless Transportation) ภายในภูมิภาคอาเซียน

ซึ่งการพัฒนากฎหมายนี้จะต้องมีการพัฒนาในเรื่องมาตรฐานการขนส่ง มาตรการในการลดอุปสรรคในการขนส่งคนและสิ่งของข้ามพรมแดน โดยการพัฒนากฎระเบียบดังกล่าวจะยึดหลักความปลอดภัยและความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

การพัฒนาการขนส่งแบบไร้รอยต่อนี้ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของภูมิภาคผ่านการระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และประเทศไทยจะได้รับผลดีทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จากข้อได้เปรียบทางยุทธศาสตร์จากการเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียน  

เรื่องที่สำคัญเรื่องที่ 4 เป็นเรื่องของตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Market) ที่เป็นกลไกสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืน ทางที่ประชุมจึงมีมติให้ส่งเสริมให้มียุทธศาสตร์หลักเพื่อจะเปลี่ยนให้เป็นการปฏิบัติจริง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศของโลก (Climate Changes Goals)

โดยยุทธศาสตร์นี้จะอำนวยความสะดวกให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงร่วมมือกันลดการใช้เชื้อเพลิงพลังงานจากฟอสซิล

นอกจากนี้ในที่ประชุมกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 45 หรือ AIPA-45 ยังได้มีการหยิบยกอีกหลายเรื่องขึ้นมาหารือ อาทิ การติดตามความร่วมมือการส่งเสริมการลงทุนทางด้านการเกษตรและอาหาร การติดตามความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน การสนับสนุนความร่วมมือด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีตาม ASEAN Connectivity 2025 ซึ่งเป็นแผนแม่บทของชาติสมาชิก และการส่งเสริมทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์(Eco and Culture Tourism)

‘Toyota’ เปิดตัวไอเดียตลับไฮโดรเจนพกพา เปลี่ยนแล้วไปต่อ แก้จุดอ่อน ชาร์จพลังงานนาน

(21 ต.ค. 67) Toyota จัดแสดงการพัฒนาอย่างยั่งยืนหลายชุดในงาน ‘Japan Mobility Bizweek’ โดยเฉพาะแนวคิด ตลับไฮโดรเจนพกพาแห่งอนาคต (portable hydrogen cartridge future) ซึ่งดูเหมือนว่าจะสามารถให้พลังงานแบบ “สับเปลี่ยน” ได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรุ่นต่อไป (FCEV)

เดิมที โปรเจกต์นี้เป็นของ Woven ซึ่งเป็นบริษัทลูกด้านเทคโนโลยีการเคลื่อนที่ของ Toyota (เดิมชื่อ Woven Planet) โดยทีมงานได้ผลิตต้นแบบตลับไฮโดรเจนที่ใช้งานได้จริงในปี 2022 แต่ตั้งแต่นั้นมาก็ได้พัฒนาแนวคิดดังกล่าวต่อไป… และดูเหมือนว่าจะดำเนินการตามนั้น ตลับหมึกรุ่นล่าสุดมีน้ำหนักเบากว่าและพกพาสะดวกกว่า โดยโตโยต้าอ้างว่าตลับหมึกรุ่นปัจจุบันได้รับการพัฒนาจากประสบการณ์ที่บริษัทได้รับจากการลดขนาดและน้ำหนักของถังไฮโดรเจนที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง

แนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับตลับหมึกไฮโดรเจนที่มีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบาพอที่จะถือด้วยมือ โดยนายแบบคนหนึ่งสวมสิ่งที่ดูเหมือนแบตเตอรี่ AA ขนาดใหญ่ในกระเป๋าเป้ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ

พูดอย่างง่ายๆ ก็คือ ตลับนี้จะช่วยให้ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงสามารถเปลี่ยนแหล่งพลังงานได้เมื่อระดับไฮโดรเจนต่ำ แทนที่จะต้องเติมที่สถานีเหมือนอย่างที่คุณมักจะทำกับรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล

โดยโตโยต้ายังรู้สึกว่าตลับหมึกที่เติมซ้ำได้และหมุนเวียนได้เหล่านี้สามารถใช้ได้ในสถานการณ์ต่างๆ มากมาย เช่น เพื่อสร้างไฟฟ้าในเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อจ่ายไฟให้บ้านหรือแม้แต่ให้ไฮโดรเจนสำหรับเผาไหม้เพื่อทำอาหาร

ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลับไฮโดรเจนสามารถถอดออกจากรถได้ และนำไปใช้จ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในกรณีที่ไฟดับ เป็นต้น

แม้ว่าตอนนี้จะยังเป็นเพียงแนวคิด แต่โตโยต้ารู้สึกว่าตลับไฮโดรเจนแบบพกพาที่มีน้ำหนักเบาเหล่านี้สามารถสร้างวิธีการที่ประหยัดกว่าและสะดวกสบายกว่าในการส่งไฮโดรเจนไปยังที่ที่ผู้คนอาศัยและทำงานได้ โดยไม่จำเป็นต้องวางท่อส่งขนาดใหญ่

วิสัยทัศน์ของโตโยต้าเกี่ยวกับตลับไฮโดรเจนแบบพกพามีศักยภาพในการจ่ายไฟให้กับยานพาหนะและสิ่งของในชีวิตประจำวันมากมาย ตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ที่มีความจุขนาดเล็กไปจนถึงรถยนต์และแม้แต่เครื่องใช้ในบ้าน

แนวคิดของบริษัทคือการจัดส่งตลับไฮโดรเจนสดควบคู่ไปกับอาหารและสิ่งของอื่นๆ โดยนำตลับไฮโดรเจนที่ใช้แล้วไปเติมใหม่ ด้วยเหตุนี้ โตโยต้าจึงกล่าวว่าขณะนี้กำลังมองหาการจับคู่กับเทคโนโลยีและแนวคิดจากบริษัทและสตาร์ทอัพในสาขาต่างๆ รวมถึงทั้งการให้บริการและการพัฒนาและการขายอุปกรณ์โดยใช้ตลับหมึก

แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันอย่างมากในพื้นที่ยานยนต์ แต่ไฮโดรเจนก็เป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่มีความยืดหยุ่น โดยมีความสามารถในการสร้างไฟฟ้าในเซลล์เชื้อเพลิงหรือใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการเผาไหม้

ไฮโดรเจนไม่ปล่อย CO2 ออกมาเลยเมื่อใช้งาน (น้ำเป็นผลพลอยได้เพียงอย่างเดียว) และสามารถช่วยสนับสนุนเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ได้หากผลิตขึ้นโดยใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมและแสงอาทิตย์

ด้วยความต้องการ EV ทั่วโลกที่ลดลง ดูเหมือนว่าไฮโดรเจนจะกลับมาอยู่ในวาระการประชุมอีกครั้ง โดยบริษัทต่างๆ เช่น Hyundai, BMW และ Honda ต่างก็สำรวจวิธีการทำให้เทคโนโลยีนี้มีความเหมาะสมในเชิงพาณิชย์

‘ตลาดประกันภัยไทย’ ยังเติบโตต่อเนื่อง อานิสงส์คนตื่นตัวหลัง ‘โควิด-19’ ระบาด

ประกันชีวิตในยุคนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนแทบจะขาดไม่ได้ เพราะประกันชีวิตก็เป็นเหมือนการวางแผนทางการเงินรูปแบบหนึ่งที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่าถ้ามีอะไรที่ไม่คาดเกิดขึ้นกับเรา คนที่เรารักก็จะไม่ต้องลำบากแถมยังมีเงินสำหรับใช้ในการรักษาพยาบาล ด้วยเหตุนี้เองตลาดประกันในไทยจึงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องค่ะ

โดยได้มีการคาดการณ์การเติบโตในปี 2024 ไว้ว่าตลาดประกันวินาศภัยจะเติบโตประมาณ 4.1% ในปีนี้ และมีเบี้ยประกันภัยรวมคาดว่าจะถึง 310.9 พันล้านบาท ส่วนตลาดประกันชีวิตก็มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.6% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ  

โดยการเติบโตนี้มาจาก
• Bancassurance หรือการขายผ่านธนาคารเป็นช่องทางที่มีการเติบโตสูงสุด คิดเป็น 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนตลาดอยู่ที่ 44.5% 
• ช่องทาง Broker มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 15.6% ส่วนหนึ่งมาจากการโยกย้ายกลุ่มประกันที่มีอยู่แล้วระหว่างบริษัทมากกว่าการได้ลูกค้าใหม่ 

ในส่วนของผลิตภัณฑ์มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนจาก แผนการออม ไปสู่ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ซึ่งมีการเติบโตของยอดขายที่ 48.5% ประกันสุขภาพ มีการเติบโตปานกลางที่ 4.1% ซึ่งอาจเกิดจากการตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพที่เพิ่มขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

และจากข้อมูลเดือนตุลาคม 2024 ตลาดประกันชีวิตในประเทศไทยเองยังคงมีการกระจุกตัวสูง โดยมีบริษัทประกันชั้นนำที่ครองส่วนแบ่งตลาดอย่างมีนัยสำคัญจะประกอบไปด้วย

1. AIA เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งประมาณ 25.6% โดยคงตำแหน่งนี้ไว้ได้จากเครือข่ายตัวแทนที่กว้างขวางมากกว่า 50,000 คน การเป็นพันธมิตรด้าน Bancassurance ที่แข็งแกร่ง และการเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์สำคัญ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันชีวิตแบบ Unit-Linked และการประกันภัยเสริม 

2. ไทยประกันชีวิต (TLI) ตามมาเป็นอันดับสองด้วยส่วนแบ่งตลาดอยู่ระหว่าง 20% ถึง 22% โดยจุดแข็งอยู่ที่ผลิตภัณฑ์การออมและการมีเครือข่ายตัวแทนที่มั่นคง รวมถึงการเป็นพันธมิตร Bancassurance ที่มีประสิทธิภาพ ความมั่นคงทางการเงินที่สูงของบริษัทช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันในตลาด

3. เมืองไทยประกันชีวิต มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 10-15% โดยได้รับความนิยมในด้านประกันสุขภาพและประกันกลุ่ม ด้วยเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งและการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

4. FWD ประกันชีวิต มีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกันที่ 10-15% โดยมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลและการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงลูกค้าเพื่อสร้างความแตกต่างจากผู้ให้บริการประกันภัยแบบดั้งเดิม 

5. กรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต และ กรุงเทพประกันชีวิต เป็นคู่แข่งสำคัญที่มีส่วนแบ่งตลาดเล็กกว่าแต่กำลังเติบโต โดยขยายตลาดผ่านผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเป้าหมายและการใช้ช่องทาง Bancassurance เพื่อลูกค้าเข้าถึงได้มากขึ้น

และนอกจากประกันชีวิตแล้ว กลุ่มที่มีความโดดเด่นอื่นๆก็ประกอบไปด้วย
• ประกันภัยรถยนต์: เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุด โดยคิดเป็นประมาณ 53.8% ของตลาดประกันวินาศภัย การเติบโตในกลุ่มนี้ได้รับแรงหนุนจากการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 

• ประกันสุขภาพ: การประกันภัยส่วนบุคคลและอุบัติเหตุซึ่งคิดเป็นประมาณ 17.3% ของตลาดกำลังเติบโตเนื่องจากการตระหนักถึงสุขภาพที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่สูงขึ้น คาดว่ากลุ่มนี้จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.2% ตั้งแต่ปี 2024 ถึง 2028 และ

• ประกันภัยทรัพย์สิน: โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 18.8% ประกันภัยทรัพย์สินกำลังเติบโต โดยได้รับการสนับสนุนจากการขยายตัวในโครงการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ คาดว่ากลุ่มนี้จะเติบโต 9.4% ในปี 2024  ค่ะ    

Equinix ประกาศตั้ง Data Center ในประเทศไทย ลงทุน 1.6 หมื่นล้าน เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค CLMVT

(29 ต.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา เราเห็นกระแสการลงทุนในไทยของบริษัทยักษ์ใหญ่ในกิจการ Data Center ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบันมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service รวม 47 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 173,000 ล้านบาท 

ล่าสุดบริษัท Equinix ผู้ให้บริการ Data Center แบบ Colocation อันดับ 1 ของโลก จากประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมี Data Center ให้บริการมากกว่า 260 แห่ง ใน 72 เมืองทั่วโลก ได้ประกาศแผนการลงทุน Data Center ในประเทศไทย มูลค่ารวมกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 16,500 ล้านบาท) ในระยะ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งบีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการในเฟสแรกมูลค่ากว่า 7,180 ล้านบาทแล้ว โดยจะเปิดให้บริการในปี 2570

เหตุผลที่ Equinix ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้ง Data Center แห่งใหม่ เพื่อรองรับลูกค้าในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (CLMVT) มี 3 เหตุผลสำคัญ คือ 

(1)ความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค โดยเฉพาะการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่ม CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน  

(2)ศักยภาพของตลาดในประเทศที่ขยายตัวสูง จากการเติบโตของเทคโนโลยี AI และความต้องการของภาคธุรกิจในการยกระดับองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) รวมทั้งนโยบายเชิงรุกด้าน Cloud First Policy ที่จะช่วยกระตุ้นดีมานด์จากการสนับสนุนให้ภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ใช้เทคโนโลยี Cloud ซึ่งจะส่งผลให้ตลาด Data Center ในไทยขยายตัวมากขึ้น  

(3) นโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนของรัฐบาลและบีโอไอ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีคุณภาพสูง ทั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครือข่าย 5G ระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร และสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 85 ของประชากรทั้งหมด 

“การประกาศลงทุนครั้งใหญ่ในไทยของ Equinix จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศไทย ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงโครงข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลคุณภาพสูง เพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ ๆ และช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การเงิน การค้า การท่องเที่ยว และ Digital Services ต่าง ๆ 

นอกจากนี้ Equinix ยังมีแผนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบุคลากรไทย โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเตรียมคนไทยให้พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคตด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

'EA' พร้อมระดมทุนก้าวฟื้นตัว ร่วมมือพันธมิตรจีน ลุยยานยนต์-แบตเตอรี่ กระแสเงินสดพลิกบวก 5,610 ล้านบาท

(8 ม.ค. 68) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) (EA) หนึ่งในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของไทย ล่าสุดเมื่อวานนี้ (7 มกราคม 2568) ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากผู้ถือหุ้นในการระดมทุนประมาณ 7,400 ล้านบาท ผ่านการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งบริษัทคาดว่าจะใช้ในการเสริมสร้างการฟื้นฟูธุรกิจ หลังจากการปรับโครงสร้างอย่างเข้มข้นภายในกลุ่มบริษัทในระยะเวลา 5 เดือน ที่ผ่านมา

การดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ EA ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดหาผลิตภัณฑ์และระบบที่ใช้ในการกักเก็บและจำหน่ายไฟฟ้า เช่น ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ ธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และรวมถึงธุรกิจประกอบยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถบรรทุกไฟฟ้า รสบัสไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า

นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีที่ได้จัดการธุรกิจจนสถานการณ์เริ่มนิ่งแล้ว ผ่านการตัดสินใจที่ยากลำบากบางอย่าง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคือ กระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง เป็นบวก และการสร้างกำไรอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่มีกำไรและปรับโครงสร้างธุรกิจที่ขาดทุน”

นายฉัตรพล กล่าวว่า "เรามีธุรกิจที่ทำกำไรจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่มีผลประกอบการเป็นบวก ธุรกิจเหล่านี้รวมกันคิดเป็น 60% ของรายได้ EA และเกือบทั้งหมดของกำไรของเรา เราเริ่มต้นธุรกิจเหล่านี้แทบจะก่อนใครในประเทศไทย และการตัดสินใจที่มีวิสัยทัศน์นั้นกำลังให้ผลตอบแทนอย่างงดงาม ด้วยกระแสรายได้ที่มั่นคงและอัตรากำไรที่นำหน้าในอุตสาหกรรม"

"อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของธุรกิจเหล่านี้ได้ถูกหักล้างด้วยธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ของเรา ซึ่งกำลังขาดทุนและดูดซับเงินสดของเราไป หลักๆ แล้วสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ ดังนั้น ในส่วนของการปรับโครงสร้าง เราจึงหยุดธุรกิจการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าชั่วคราว และปรับลดขนาดธุรกิจแบตเตอรี่ และการตัดสินใจทั้งสองอย่างนี้ได้ช่วยหยุดการไหลออกของเงินสดของเราได้สำเร็จ"

นายฉัตรพล กล่าวว่า "เรามองเห็นศักยภาพในการเติบโตและการทำกำไรอย่างมหาศาลสำหรับ EA ทั้งในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และธุรกิจแบตเตอรี่ แต่เพื่อที่จะฉวยโอกาสเหล่านี้ เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของเรา ก่อนอื่นเราต้องสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้เล่นขนาดใหญ่ในตลาดโลกในภาคธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้เรามีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นและสามารถขยายตลาดไปยังนอกประเทศไทยได้ และประการที่สอง เราจำเป็นต้องใช้เงินทุนของเราให้น้อยลง ในภาคธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีเวลาจำกัดในการคืนทุน เราได้ลงมือเดินหน้าขับเคลื่อนตามกลยุทธ์นี้แล้ว ซึ่งจะทำให้เรามีความคล่องตัวและฟื้นกลับมารับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น"

นายฉัตรพลรายงานว่า ตอนนี้ EA กำลังจัดตั้งการร่วมทุนกับหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ประเภทพิเศษรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ในการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษ โดยบริษัทร่วมทุนนี้คือ Chengli Special Automobile Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถประเภทพิเศษมากกว่า 30,000 คัน ไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

ในบันทึกข้อตกลงที่ได้ลงนามร่วมกับ EA ในเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาได้ตกลงกันว่า ยานยนต์จะถูกประกอบในโรงงานประกอบของ EA ที่มีพื้นที่ขนาด 65,000 ตารางเมตร (80 ไร่) ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยความสามารถในการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 3,000 - 9,000 คันต่อปี ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของยานยนต์ประเภทพิเศษที่ผลิต โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตในเดือนเมษายน 2568  โดยยานยนต์ไฟฟ้าที่โรงงานเราจะประกอบมีทั้ง รถพยาบาล รถขยะ และรถกระเช้า ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษเหล่านี้จะถูกประกอบขึ้นในประเทศไทยในระดับอุตสาหกรรม การร่วมทุนนี้คาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท สำหรับรายได้ปีแรกของการดำเนินการเต็มรูปแบบในปี 2569

EA ยังได้รายงานการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อจัดตั้งการร่วมทุนกับหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับแนวหน้าของประเทศจีน ซึ่งมีฐานลูกค้าสำคัญอยู่ในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยการร่วมทุนนี้จะเป็นการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และจะเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่แรกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แบตเตอรี่เหล่านี้จะถูกใช้งานหลักๆ ในด้านระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ การผลิตจะดำเนินการที่พื้นที่ผลิตแบตเตอรี่ของ EA ขนาด 80,000 ตารางเมตร (91 ไร่) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจะขยายกำลังการผลิตจาก 2 กิกะวัตต์ในปัจจุบันไปเป็น 4 กิกะวัตต์ การลงนามข้อตกลงการร่วมทุนคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยจะเริ่มการจัดเตรียมสถานที่และเครื่องจักรการผลิตในปี 2568 

นายฉัตรพลกล่าวเพิ่มเติมว่า "เรามีความยินดีที่ได้รับความไว้วางใจอย่างท่วมท้นในแผนธุรกิจที่นำเสนอ โดยได้รับการโหวตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น ถึง 99.9% ในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวานนี้ ผมขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่านที่เชื่อมั่นในการเดินหน้าตามแผนเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เรากำลังทำอยู่”

“เงินทุนใหม่ที่ได้รับจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการเงินของ EA และช่วยให้เราสามารถคว้าโอกาสที่น่าสนใจต่างๆ ในอนาคตได้ เมื่อเราเดินหน้าเข้าสู่ก้าวของการฟื้นตัว” นายฉัตรพลกล่าว

นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) (EA) กล่าวว่า “เงินทุนที่จะได้จากการเพิ่มทุนที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น ในวันที่ 7 มกราคม หลักๆ จะถูกนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ธนาคารและใช้ในการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด เราหวังว่าจะลดหนี้สินจาก 58,664 ล้านบาท ลงเหลือ 52,004 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยรายปีลงได้ประมาณ 300 ล้านบาทแล้ว จะช่วยปรับปรุงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ดีขึ้นด้วย และเป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพทางการเงินและความน่าเชื่อถือของบริษัท รวมทั้งจะช่วยในส่วนของเงินกู้ให้ได้รับเงื่อนไขที่ดีขึ้นส่งผลให้เราประหยัดดอกเบี้ยมากขึ้นด้วย"

ระยะเวลาในการสมัครเข้าร่วมการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน คือระหว่างวันที่ 17 - 23 มกราคม 2568

จากรายงานล่าสุดของ EA เปิดเผยว่า กระแสเงินสดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เป็นบวกดีมากอยู่ที่ 5,610 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกระแสเงินสดที่เดิมติดลบ 1,726 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และสูงกว่าเกือบสามเท่าจากปีก่อนหน้านี้ กำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 1,852 ล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 6,183 ล้านบาท จากรายได้ 14,397 ล้านบาท

‘แบงก์ชาติ’ สั่ง ธ.พาณิชย์คืนเงินผู้เสียหายทุกราย จากกรณีลูกค้าถูกขโมยบัตรเครดิต - เดบิตไปใช้

(10 ม.ค.68) นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีมีผู้เสียหายจากการถูกมิจฉาชีพขโมยบัตรเครดิตไปชำระค่าสินค้าและบริการนั้น ธปท. ได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการบัตรเครดิตเร่งตรวจสอบ ดูแล และชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ลูกค้าทุกรายในกรณีดังกล่าว โดยกรณีบัตรเครดิต ผู้ถือบัตรจะไม่ต้องชำระเงินและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น

ส่วนกรณีบัตรเดบิต ธนาคารจะคืนเงินให้ผู้ถือบัตรตามยอดที่ถูกตัดชำระภายใน 5 วัน นับแต่วันที่มีเหตุอันเชื่อได้ว่าไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ถือบัตรหรือผู้ถือบัตรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะต้องเข้มงวดในการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว

นอกจากนี้ ธปท. ได้กำชับให้ผู้ให้บริการติดตามร้านค้าที่มีความเสี่ยง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกใช้เป็นช่องทางรับชำระเงินของธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ให้บริการต้องมีกระบวนการรู้จักและพิสูจน์ตัวตน เพื่อคัดกรองร้านค้า ประเมินความเสี่ยง รวมทั้งติดตามความเสี่ยงและพฤติกรรมของร้านค้าอย่างต่อเนื่อง โดยต้องยุติการบริการทันทีเมื่อพบร้านค้าที่อาจเข้าข่ายให้บริการที่ไม่ถูกกฎหมาย รวมถึงพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามความเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อสอบถาม ขอคำปรึกษาและร้องเรียนปัญหาการใช้บริการทางการเงินได้ที่ BOT contact center 1213

‘สรรพากร’ จี้กลุ่มค้าขายออนไลน์ - อินฟลูฯ ยื่นภาษีเงินได้ฯ ชี้! หากเลี่ยงภาษี - แจ้งเท็จ เสี่ยงเจอโทษหนักคุกสูงสุด 7 ปี

(10 ม.ค.68) นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่าภาพรวมกรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.- 31 ธ.ค. 2567 เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ โดยสามารถจัดเก็บได้ 4.7 แสนล้านบาท เกินเป้า 3.9 พันล้านบาท เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่เกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศ สามารถจัดเก็บได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนปัจจัยที่ทำให้การจัดเก็บภาษีลดลง ส่วนหนึ่งมาจากภาษีการนำเข้าลดลงประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน

โดยในไตรมาส 2/2568 คาดว่า การจัดเก็บภาษีจะเกินเป้า เพราะเป็นช่วงของการยื่นจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะเน้นย้ำใน กลุ่มค้าขายแบบซื้อมาขายไป ซึ่งรวมถึง ธุรกิจค้าขายแบบออนไลน์ และอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น ขณะที่ไตรมาสที่ 3/2568 เป็นฤดูกาลจัดเก็บภาษีนิติบุคคล ซึ่งยังต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

“กรมสรรพากร มีเป้าจัดเก็บรายได้ทั้งปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 2.37 ล้านล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 ถึง 5% จากจำนวนผู้ยื่นเสียภาษี จำนวนราว 11 ล้านคน ซึ่งมีการยื่นขอคืนเงินภาษี 4 ล้านคน และจ่ายภาษีเพิ่ม 7 ล้านคน โดยสรรพากรจะพยายามทำให้ได้ตามเป้าหมาย” นายปิ่นสาย กล่าว

ซึ่งข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ยื่นเสียภาษีมากกว่า 100,000 รายแล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้ยื่นขอคืนภาษีผ่านช่องทางออนไลน์สูงถึง 96%

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวอีกว่า สำหรับการยื่นเสียภาษีรูปแบบออนไลน์ จะทำให้ผู้เสียภาษีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคืนภาษีได้รวดเร็วขึ้น ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ใน 2-3 วัน ซึ่งผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 ผ่านระบบออนไลน์ได้จนถึงวันที่ 8 เม.ย. 2568

ทั้งนี้ กรมสรรพากร ได้ใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาตรวจจับข้อมูลของกลุ่มดังกล่าวด้วย ฉะนั้น จึงขอให้มายื่นไว้ก่อนถูกผิดไม่เป็นไร ซึ่งสามารถแก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม หากเกินระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นภาษี จะมีโทษทั้งทางเเพ่งและทางอาญา โดยทางเเพ่งต้องเสียเบี้ยปรับ 1 หรือ 2 เท่า ของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี บวกเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน หรือ 18% ต่อปี ส่วนทางอาญา เจตนาผู้ที่สร้างรายได้อันเป็นเท็จและมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอม มีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาท

สอน. หวังทุบสถิติรับอ้อยสด 90% สูงสุดในประวัติศาสตร์ ชี้!! หาก รง.น้ำตาล งดรับอ้อยเผาจะช่วยคุมฝุ่น PM 2.5 ถาวร

(13 ม.ค. 68) นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (ลอน.) เปิดเผยสถิติการรับอ้อยเผารายวันของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 11 มกราคม 2568 พบว่า โรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ให้ ความร่วมมือในการรับอ้อยเผาน้อยกว่า 10% จำนวน 22 แห่ง โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผาเกิน 10-25% จำนวน 32 แห่ง และยังมีโรงงานน้ำตาลที่ไม่ให้ความร่วมมือ ที่ยังคงรับอ้อยเผาเกิน 25% จำนวน 4 แห่ง เฉลี่ยการรับอ้อยเผารายวันทั่วประเทศ คิดเป็น 14.89% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

โดยภาพรวมเฉลี่ยโรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผาสะสมตั้งแต่เปิดหีบอ้อยจนถึงปัจจุบันคิดเป็น 19.57% ซึ่งสะท้อนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือร่วมกับโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศงดรับอ้อยเผาเข้าหีบในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2568 จวบจนถึงวันเด็กแห่งชาตินี้ มีประสิทธิผลและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยตัวเลขสถิติรับอ้อยเผาเข้าหีบในปัจจุบันที่ลดต่ำลงกว่า 20% ส่งผลให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index หรือ AQI) ในหลายพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ 

นายใบน้อยฯ กล่าวว่า แม้ว่าปริมาณการรับอ้อยเผาเข้าหีบจะลดลงทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น แต่ยังพบว่า มีโรงงานน้ำตาลใน จ.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่ให้ความร่วมมือ และยังคงมีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสูงเกิน 25% มาตั้งแต่วันเปิดหีบ ทำให้คุณภาพอากาศโดยรวมยังไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สอน. จึงย้ำมายังผู้บริหารและเจ้าของโรงงานน้ำตาลใน จ.อุดรธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างจริงจัง เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชนให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงภาคการผลิตภายในประเทศให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงักจากสภาวะฝุ่นพิษเกินเกณฑ์มาตรฐาน

นายใบน้อยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของ สอน. พบว่า ถ้าโรงงานน้ำตาลรับอ้อยสดเข้าหีบได้กว่า 90% หรือสามารถลดการรับอ้อยเผาเฉลี่ยทั่วประเทศให้ไม่เกิน 10% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมดตลอดฤดูการผลิต 2567/68 จะทำให้สามารถลดการเผาอ้อยจากฤดูกาลผลิตที่แล้วลงได้กว่า 22 ล้านตัน หรือเทียบเท่าลดการเผาป่ากว่า 2.2 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังลดการปลดปล่อย PM2.5 ได้อีกกว่า 5,500 ตัน เมื่อเทียบปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพอากาศทั่วประเทศดีขึ้นเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ในฤดูการผลิตปี 2567/68 หากโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้ความร่วมมือในการรักษาระดับการรับอ้อยเผาเข้าหีบให้ไม่เกิน 10% ซึ่งเทียบเท่ากับการเผาไร่อ้อยไม่เกิน 10,000 ไร่ต่อวัน จะส่งผลให้ค่า AQI ของอากาศในภาคกลางภาคตะวันออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพมหานคร อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ไม่ส่งกระทบกับสุขภาพคนไทย ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในช่วงฤดูหีบอ้อย 4 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมีนาคมของทุกปีได้อย่างแท้จริง และจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ อย่างที่ควรจะเป็น

“พวกเรา อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะร่วมกัน คืน “ฟ้าใส ไร้ฝุ่น PM 2.5” ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ ยกระดับศักยภาพการผลิตสู่การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตลอดห่วงโซ่อุปทานให้สอดรับกับกติกาสากล ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ได้อย่างยั่งยืน” นายใบน้อยฯ กล่าวทิ้งท้าย

OPPO-Realme ยอมรับไม่ได้ขออนุญาต ธปท. ปมติดตั้ง “แอปเงินกู้” อ้างเพิ่มความสะดวกระบบแตะจ่ายอัตโนมัติ

OPPO-Realme เผย “แอปเงินกู้” ถูกติดตั้งในเครื่องตั้งแต่โรงงาน เพิ่มความสะดวกในการใช้งานระบบแตะจ่ายอัตโนมัติ (NFC) ไม่ได้ขออนุญาต ธปท.

(13 ม.ค. 68) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ OPPO และ บริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ Realme เข้าชี้แจงปมแอปเงินกู้ที่ในตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ ซึ่งโดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Office of the Personal Data Protection Commission – PDPC) และตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เข้าร่วมรับฟัง

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยภายหลังการหารือกับ OPPO และ Realme ว่า วันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาด้วย ได้แก่ กสทช.ตรวจอุปกรณ์โทรศัพท์ว่าคลื่นความถี่ที่แพร่สัญญาออกมาจากตัวเครื่องเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และกำลังไฟในเครื่องปลอดภัยต่อประชาชนหรือไม่ ในส่วนของแอปพลิเคชัน กำลังพูดคุยกับ สคส. และ สกมช. ว่ามาตรฐานของการใช้แอปฯ ใครควรจะเป็นผู้ดูแล ซึ่งในวันนี้ได้ข้อมูลไปเป็นข้อมูลส่วนบุคคลจากแอปฯ Fineasy ซึ่งทางคณะกรรมการสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคส่วนบุคคลได้ขอให้ OPPO และ Realme ส่งข้อมูลภายในวันที่ 16 ม.ค.68 ว่าข้อมูลที่ได้ไปมีทั้งหมดเท่าใด และนำไปใช้อย่างไรบ้าง และ OPPO และ Realme ยืนยันว่าในโทรศัพท์รุ่นถัดไปจะไม่มีการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าวแล้ว

มาตรการระยะเร่งด่วนที่ทำได้ทันที เครื่องใหม่ที่จำหน่ายในท้องตลาด ถ้ามีแอปฯ Fineasy หรือสินเชื่อมีสุข จะงดจำหน่ายทั้งหมด ถ้าพบว่ายังมีการจำหน่าย เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์จะที่จะแจ้งให้ลบทิ้ง ถือว่าเป็นการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยผิดวัตถุประสงค์โทรศัพท์มือถือ เพราะโทรศัพท์มือถือไม่มีมีวัตถุประสงค์กู้เงินหรืออะไรต่างๆ และสามารถร้องเรียนมาที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 3 ล้านบาท

สำหรับการเรียกชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 16 มกราคม 2568 นั้น สืบเนื่องจากการดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในการจำหน่ายโทรศัพท์อาจจะมีข้อบกพร่อง คือ

1. ในการจำหน่ายโทรศัพท์ถือว่าเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลลูกค้า ดังนั้นหน้าที่แรกจะต้องขอความยินยอมในการที่จะดูรายละเอียดในโทรศัพท์ให้ลูกค้าทราบ ทาง กสทช.จึงแจ้งให้ OPPO-Realme ได้ชี้แจงว่าที่ผ่านมาได้ทำหรือไม่ อย่างไร

2. เมื่อลูกค้านำโทรศัพท์ไปใช้แล้ว เห็นว่ามีแอปพลิเคชันหรืออะไรที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ก็มีสิทธิ์ที่จะแจ้งให้ลบหรือทำลายได้ ในประเด็นนี้ในการประชุมได้ข้อสรุปว่าทาง OPPO-Realme จะจัดทำช่องทางที่ให้ลูกค้าใช้สิทธิ์เข้ามาได้เลย โดยกำหนดระยะเวลาไว้ไม่เกิน 1 เดือน ทาง กสทช. เห็นว่านานเกินไป จึงให้บริษัททั้งสองกลับไปทบทวนว่าสามารถดำเนินการได้เมื่อใด

3. เครื่องยังไม่ได้จำหน่ายแต่มีแอปฯนี้ติดตั้งแล้ว ทาง กสทช.แจ้งให้ทั้งสองบริษัททราบแล้วว่าถ้าจำหน่ายไปถือว่าผิดวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์ที่จะแจ้งให้ลบ ซึ่งทางด้านทั้งสองบริษัทแจ้งว่าจะไม่มีการจำหน่าย เพราะหากมีการจำหน่ายจะไม่สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

4. ไม่แน่ใจว่าการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลผ่านแอปฯ ที่ดำเนินการไปแล้ว เกิดความเสี่ยงหรือผลกระทบอะไรบ้าง ให้ทั้งสองบริษัทรายงานข้อมูลโดยละเอียดทั้ง 2 แอปฯ

เมื่อทั้งสองบริษัทมีการรายงานข้อมูลมาแล้ว สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะตรวจสอบ ถ้ามีประเด็นที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หากสามารถแก้ไขเยียวยาได้ จะแจ้งให้ดำเนินการทันที แต่ถ้าเป็นความผิดและมีความเสียหาย มีผู้ร้องเรียน จะรายงานต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะพิจารณาโทษทางปกครองต่อไป

ด้านตัวแทนทั้งสองบริษัท กล่าวว่า แอปพลิเคชัน Fineasy ถูกติดตั้งมาในเครื่องตั้งแต่โรงงานก่อนผ่านการอนุมัติมาตรฐานมือถือจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานระบบแตะจ่ายอัตโนมัติ (NFC) และช่วยยกระดับการใช้งานของมือถือ ให้สามารถรองรับฟังก์ชันนี้ได้ดียิ่งขึ้น คล้ายกับแอปพลิเคชัน True Wallet โดยยอมรับว่าไม่ได้ขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำหรับการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าว อย่างไรก็ตามบริษัทต้องการตรวจสอบเรื่องนี้อีกครั้ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top