‘สรรพากร’ จี้กลุ่มค้าขายออนไลน์ - อินฟลูฯ ยื่นภาษีเงินได้ฯ ชี้! หากเลี่ยงภาษี - แจ้งเท็จ เสี่ยงเจอโทษหนักคุกสูงสุด 7 ปี
(10 ม.ค.68) นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่าภาพรวมกรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.- 31 ธ.ค. 2567 เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ โดยสามารถจัดเก็บได้ 4.7 แสนล้านบาท เกินเป้า 3.9 พันล้านบาท เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่เกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศ สามารถจัดเก็บได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนปัจจัยที่ทำให้การจัดเก็บภาษีลดลง ส่วนหนึ่งมาจากภาษีการนำเข้าลดลงประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน
โดยในไตรมาส 2/2568 คาดว่า การจัดเก็บภาษีจะเกินเป้า เพราะเป็นช่วงของการยื่นจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะเน้นย้ำใน กลุ่มค้าขายแบบซื้อมาขายไป ซึ่งรวมถึง ธุรกิจค้าขายแบบออนไลน์ และอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น ขณะที่ไตรมาสที่ 3/2568 เป็นฤดูกาลจัดเก็บภาษีนิติบุคคล ซึ่งยังต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
“กรมสรรพากร มีเป้าจัดเก็บรายได้ทั้งปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 2.37 ล้านล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 ถึง 5% จากจำนวนผู้ยื่นเสียภาษี จำนวนราว 11 ล้านคน ซึ่งมีการยื่นขอคืนเงินภาษี 4 ล้านคน และจ่ายภาษีเพิ่ม 7 ล้านคน โดยสรรพากรจะพยายามทำให้ได้ตามเป้าหมาย” นายปิ่นสาย กล่าว
ซึ่งข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ยื่นเสียภาษีมากกว่า 100,000 รายแล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้ยื่นขอคืนภาษีผ่านช่องทางออนไลน์สูงถึง 96%
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวอีกว่า สำหรับการยื่นเสียภาษีรูปแบบออนไลน์ จะทำให้ผู้เสียภาษีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคืนภาษีได้รวดเร็วขึ้น ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ใน 2-3 วัน ซึ่งผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 ผ่านระบบออนไลน์ได้จนถึงวันที่ 8 เม.ย. 2568
ทั้งนี้ กรมสรรพากร ได้ใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาตรวจจับข้อมูลของกลุ่มดังกล่าวด้วย ฉะนั้น จึงขอให้มายื่นไว้ก่อนถูกผิดไม่เป็นไร ซึ่งสามารถแก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม หากเกินระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นภาษี จะมีโทษทั้งทางเเพ่งและทางอาญา โดยทางเเพ่งต้องเสียเบี้ยปรับ 1 หรือ 2 เท่า ของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี บวกเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน หรือ 18% ต่อปี ส่วนทางอาญา เจตนาผู้ที่สร้างรายได้อันเป็นเท็จและมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอม มีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาท