Monday, 6 May 2024
กรมสรรพากร

‘กรมสรรพากร’ รับนโยบาย ‘บิ๊กตู่’ คาดเกณฑ์เก็บภาษีคริปโตเสร็จเดือนนี้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรเตรียมหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  เพื่อกำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์การคิดภาษีจากกำไรการขายหรือการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี ให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนม.ค.นี้ หลังจากนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กรมสรรพากรเร่งสร้างความชัดเจน เกี่ยวกับแนวคิดคำนวณภาษีจากกำไร การขายหรือการลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี ให้แก่นักลงทุนและประชาชนทั่วไป  

ทั้งนี้ กรมสรรพากร ได้หารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น  ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อนำมาจัดทำแนวทางการปฏิบัติในการเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เกิดความเหมาะสมกับรูปแบบการลงทุนและบริบทในปัจจุบัน โดยยึดถือประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่นักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องจากการถือครองหรือได้รับผลประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัล

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ กรมสรรพากร เตือนภัยออนไลน์

เนื่องจากในรอบสัปดาห์ มีข่าวการแอบอ้างเป็นกรมสรรพากรหลอกลวงประชาชน และมีคดีออนไลน์ ที่เกิดขึ้นมาก ได้แก่ การซื้อสินค้าแล้วไม่ได้สินค้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง  ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน เป็นห่วงพี่น้องประชาชน ที่อาจจะตกเป็นเหยื่ออีก จึงได้ร่วมกับกรมสรรพากร โดย นาย วินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร แถลงข่าวเตือนภัย เมื่อวันที่ ๑ พ.ค.๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีรายละเอียดดังนี้

 
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (23-29 เม.ย.2566)  มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ  5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1. คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2. คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3. คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4. คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) และ 5. คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์

    
ภัยออนไลน์ที่น่าสนใจและเกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์ มีจำนวน 2 เรื่อง ดังนี้ 
1. “สรรหาวิธีแอบอ้างสรรพากร  หลอกเอาเงิน”  
1.1  คดีนี้รูปแบบแรก   แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาผู้เสียหายแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร  
และกล่าวหาผู้เสียหายว่ามีการกระทำผิด เช่น ติดค้างค่าภาษีจากการก่อตั้งบริษัท หรือถูกแอบอ้างเอาข้อมูลไปใช้เปิดบริษัท หรือมีคดีฟอกเงิน หรือเลี่ยงภาษี  แล้วให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อน LINE สถานีตำรวจที่ไกลจากบ้านผู้เสียหาย(LINE ปลอมของคนร้าย) แล้วส่งเอกสารปลอมข่มขู่ให้เชื่อ และหลอกให้โอนเงินอ้างว่าเป็นการตรวจสอบข้อมูล  จากนั้นให้เพิ่มเพื่อน LINE กับ ปปง. (LINE ปลอมของคนร้าย) แล้วหลอกให้โอนเงินเพิ่มอีก 
1.2 รูปแบบที่ 2 แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาผู้เสียหาย  แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร  
สามารถช่วยยกเลิกหรือสมัครโครงการต่างๆ ของ รัฐบาล เช่น ธงฟ้า คนละครึ่ง ถุงเงิน บัตรประชารัฐ หรือลดหย่อนภาษี หรือช่วยดำเนินการไม่ให้เสียภาษีย้อนหลัง แล้วให้ผู้เสียหายเข้าเว็บปลอมเพื่อกรอกและเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว จากนั้นให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพื่อเข้าควบคุมเครื่องโทรศัพท์ แล้วโอนเงินของผู้เสียหายออกไป

จุดสังเกต  
1)  ชื่อเว็บไซต์กรมสรรพากรปลอม  เช่น  https://www.rd-go-th.xyz, https://www.rd-go- 
th.co
, https://www.rd-go-th.top และ https://www.rd-go-th.org เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร ซึ่งมีจุดสังเกตหลายจุด  

2) หนังสือราชการที่ใช้ข่มขู่  ไม่เป็นไปตามแบบฟอร์มและภาษาของทางราชการ  

3) บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ  แบบอักษรที่ใช้ ชื่อ ยศ ตำแหน่ง  ไม่ถูกต้อง  

4) กรมสรรพากร สถานีตำรวจ และ ปปง. ไม่มีช่องทางติดต่อบัญชี LINE ส่วนตัวที่สามารถส่ง 
สติ๊กเกอร์ โทร วีดีโอคอล หรือดู LINE VOOM ได้ 
     

วิธีป้องกัน  
1) ศึกษาช่องทางการติดต่อกรมสรรพากร ซึ่งมี 2 ช่องทาง คือ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาและ 
ทางออนไลน์ ผ่านระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร   
2) ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์ที่ถูกต้องของกรมสรรพากร คือ https://www.rd.go.th ก่อนกระทำการใดๆ  
3) สอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. ๑๑๖๑ 
4) สำหรับการดาวน์โหลดเว็บไซต์ของทางราชการหรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ  ควรดาวน์โหลดจาก Appstore และ Play Store กรณีมีความจำเป็นต้องกดลิงก์ดาวน์โหลด  ควรไปค้นหาใน Appstore และ Play Store เพื่อเป็นการกรองอีกชั้นหนึ่ง   
 
2. “ซื้อสินค้ามือสอง แต่ได้สินค้ามือเปล่า”คดีนี้มิจฉาชีพทำการสร้างเพจ หรือ โพสตามเพจต่างๆ เพื่อซื้อขายสินค้ามือสอง (โทรศัพท์,ไอแพด,ไอพอด ฯลฯ) หรือสินค้าทั่วไป   โดยใช้รูปโปรไฟล์เป็นผู้หญิงหน้าตาดีหรือสร้างเพจขึ้นมาโดยใช้ชื่ออื่น จนมีผู้ติดตามจำนวนมาก รวมถึงมีหน้าม้ากดเพิ่มเครดิต จนมีความน่าเชื่อถือ หลอกขายสินค้ามือสองหรือสินค้าทั่วไป โดยให้ผู้เสียหายจ่ายเงินมัดจำ หรือ จ่ายเงินก่อน เมื่อผู้เสียหายโอนเงินให้แล้ว จะไม่ส่งสินค้าให้ แล้วบล็อกผู้เสียหายไม่ให้ติดต่อได้  

ซึ่งสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่  อันดับ 1)  โทรศัพท์/Ipad โดยโทรศัพท์ส่วนใหญ่เป็น Iphone    โดยหลอกผ่านเพจ Facebook 2) ผลไม้หรือของกิน เช่น อาหารคลีน นมกล่อง    โดยหลอกผ่านเพจ Facebook 3) เสื้อผ้า ของแบรนด์เนม  โดยหลอกผ่านเพจ Facebook/IG 4) เกมส์ (จ้างอัพเลเวล หรือซื้อเกมส์)   โดยหลอกผ่านเพจ Facebook/IG และ 5) บัตรงาน บัตรคอนเสิร์ต  โดยหลอกผ่าน Twitter/IG  
     

ความเสียหายจากการหลอกขายสินค้าและบริการ ตั้งแต่ 1 มี.ค.65 ถึง 29 เม.ย.66 จำนวน 89,577 เคส   ความเสียหาย 1,308,527,198 บาท สำหรับเพจปลอมที่หลอกขายสินค้า ได้แก่ Smart Shop, พิมรี่พาย แม่ค้าออนไลน์,แซลมอน สายพันธุ์นอร์เวย์เจียน, Wholesale sashimi ส่งทั่วประเทศไทย และทุเรียนเขยจันทร์จากสวนคุณชาคริต ปลีก – ส่ง เป็นต้น  

‘สนธิ’ บุกสรรพากรยื่นสอบ ‘ชูวิทย์’ ปมหมกเม็ดโอนที่เลี่ยงภาษี ชี้!! เป็นนิติกรรมอำพราง ทำรัฐเสียรายได้เข้าแผ่นดินเกือบพันล้าน

(21 ส.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้เดินทางเข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ให้ตรวจสอบการเสียภาษีอากร กรณีการซื้อขายที่ดินบริเวณหลังโรงแรมเดอะเดวิส บางกอก

นายสนธิ กล่าวด้วยว่า ที่มายื่นเรื่องเพราะมีคนร้องเรียนมาว่าคุณชูวิทย์ ขายที่เลี่ยงภาษีให้ตระกูลตัวเอง โดยเป็นการขายจากบริษัทของตัวเองไปให้ลูกๆ และลูกๆ นำไปขายต่อให้อีกบริษัทที่เป็นของตัวเองเช่นกัน โดยคิดราคาที่ดินในการโอนทอดแรกแก่ลูกวาละ 2 แสนบาท และนำไปโอนต่ออีกทอดหนึ่งที่เป็นบริษัทของครอบครัวเหมือนกัน

“บริษัทที่โอนมาเป็นของตัวเองแบ่งที่เป็น 4 แปลง โอนให้ลูก 4 คน หลังจากนั้นโอนต่อให้อีกบริษัทที่ลูกๆ เป็นเจ้าของ คนที่ส่งมาบอกว่าเป็นนิติกรรมอำพราง โอนครั้งแรกเสียภาษีแค่ 11 ล้าบาท แต่ถ้าเป็นนิติกรรมอำพรางคุณชูวิทย์ ต้องเสียภาษี 359 ล้านบาท ถ้าผิดจริงต้องโดนอีกเท่าตัว และรวมหมดตระกูลคุณชูวิทย์ต้องเสีย 900 กว่าล้าน ผมขี้เกียจทะเลาะกับคุณชูวิทย์ เขามั่นใจว่าเขาไม่ผิด เขาทำงานมาเขาเป็นนักบัญชี แต่ความจริงมีหนึ่งเดียว คนที่ชี้ขาดเรื่องนี้ได้น่าจะเป็นสรรพากร ผมจึงนำหลักฐานมาให้ และถ้าเป็นนิติกรรมอำพรางคุณชูวิทย์ ต้องเสียภาษี ถ้าไม่ใช่ก็จบไป ยุติธรรมมาก ไม่ต้องเถียงกัน นั่นคือสิ่งที่ผมมาวันนี้” นายสนธิ กล่าว

ทั้งนี้ ในหนังสือร้องเรียนมีการระบุว่า มีการสมรู้ร่วมคิดกันทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอากรอันถึงชำระ อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 มาตรา 37 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

สำหรับข้อมูลที่เข้าร้องเรียนในครั้งนี้ มีรายละเอียดบางส่วนระบุดังนี้

ข้าพเจ้า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ตรวจพบหลักฐานการทำนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและการชำระภาษีที่เกิดจากการซื้อขายที่ดินที่ผิดปกติและอาจมีการจงใจหลีกเสี่ยงการชำระภาษี กรณีการซื้อขายที่ดินบริเวณหลังโรงแรมเดวิส บางกอก โฉนดที่ดินเลขที่ 1778, 1779, 3538, 3539 ระหว่างบริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ผู้ขาย กับนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ นายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ ผู้ซื้อ และการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1778, 1779, 3538, 3539 ระหว่างนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ นายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ ผู้ขาย กับบริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้โฟร์ จำกัด หรือบริษัท เดวิส 24 จำกัด ในปัจจุบัน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 23 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2562 ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ช่วงปี 2542 บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัวนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้ครอบครองที่ดินบริเวณหลังโรงแรมเดวิส บางกอก จำนวน 2 แปลง เนื้อที่แปลงละ 278.5 ตารางวารวม 557 ตารางวา (ปัจจุบันเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 1778, 1779, 3538, 3539) ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1-4

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 เวลา 09.00 น. บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ได้ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2562 มีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมี น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ เข้าร่วมประชุมด้วย นายชูวิทย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทแต่เพียงผู้เดียว อนุมัติให้บริษัทฯ ขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 1778, 1779 ให้ผู้ถือหุ้นได้แก่ นายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ และนายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์

และในวันเดียวกัน คือวันที่ 23 กันยายน 2562 เวลา 11.00 น. บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ได้ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2562 มีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมีนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ และนายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ เข้าร่วมประชุมด้วย นายชูวิทย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทแต่เพียงผู้เดียว อนุมัติให้บริษัทฯ ขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 3538, 3539 ให้ผู้ถือหุ้นได้แก่ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 5-8

ภายหลังจากที่ทำสัญญาซื้อขายกับผู้ซื้อรายเก่า เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 อีก 3 วันถัดมา คือวันที่ 27 กันยายน 2562 บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายให้ลูกของนายชูวิทย์ 4 คน ได้แก่ นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล คนละ 1 แปลง ระบุราคาซื้อขายที่แปลงละ 27.86 ล้านบาท รวม 4 แปลง เป็นราคา 111.4 ล้านบาท คิดเป็นตารางวาละ 200,000 บาท รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 9-12

และในวันเดียวกันนั้น นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกนายชูวิทย์ทั้ง 4 คน โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายต่อให้บริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้ โฟร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตั้งไว้รอการร่วมทุนระหว่างครอบครัวกมลวิศิษฏ์ กับบริษัทไรมอน แลนด์ (มหาชน) จำกัด ระบุราคาขายที่แปลงละ 502,388,500 บาท รวม 4 แปลง ราคา 2,009,554,000 ล้านบาท คิดเป็นราคาตารางวาละ 3.6 ล้านบาทเศษ รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 14-17 ซึ่งบริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้ โฟร์ จำกัดมีนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ นายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูลกมลวิศิษฏ์ เป็นผู้ถือหุ้น รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 18-19 การซื้อขายที่ดินดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามูลค่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินเป็นการโอนที่ดิน 2 ทอดในวันเดียวกันแต่กลับซื้อขายในราคาที่ต่างกันถึง 18 เท่าตัว โดยการโอนที่ดินทอดแรกจาก ‘บริษัทกงสี’ ให้ ‘ทายาท’ ในราคา ‘ต่ำเป็นพิเศษ’ ซึ่งในวงการอสังหาฯ รู้ดีว่าเป็น ‘นิติกรรมอำพราง’ เพื่อเลี่ยงภาษีเงินได้ของบริษัทจำกัด ในที่นี้คือ บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด บริษัทกงสีของตระกูลกมลวิศิษฏ์ ซึ่งตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากร ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิ(4) ที่เกี่ยวกับ ‘ภาษีเงินได้นิติบุคคล’ สาระสำคัญความว่า บริษัทจำกัดจะต้องโอนขายทรัพย์สินในราคาไม่ต่ำกว่าราคาตลาด มิฉะนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ‘ตามราคาตลาดในวันที่โอน’ ได้ตาม ‘ข้อเท็จจริง’ จึงถือว่าราคา 2,009 พันล้านบาทเศษ เป็น ‘ราคาตลาดในวันโอน’ ทำให้บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ต้องถูกประเมินให้มีกำไรในทางภาษีราว 1,900 ล้านบาท (หักจากราคาที่ขายให้กับนายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกๆ นายชูวิทย์ 111.4 ล้านบาท) และต้องเสียภาษีเงินได้ 380 ล้านบาท หรือ (1,900x20%) ซึ่งไม่สามารถยึดราคาขายให้แก่นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกๆ ของ นายชูวิทย์ 4 คน เพื่อชำระภาษีเพียง 11.4 ล้านบาทเศษได้ รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 20

ซึ่งหากคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ต้องชำระตาม "ข้อเท็จจริง" คือ ภาษีเงินได้ 380 ล้านบาท บวกด้วยเบี้ยปรับ 1 เท่าตัว หรือ 380 ล้านบาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (ตั้งแต่ มิถุนายน 2563-กรกฎาคม 2566) หรือราว 205 ล้านบาท รวมภาษีที่นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกทั้ง 4 คนของชูวิทย์ ต้องจ่ายรวมประมาณ 965 ล้านบาท หัก 11.4 ล้านบาทที่ได้ชำระไปแล้ว เท่ากับว่าการโอนที่ดินกรณีดังกล่าวอาจมีการหลบเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน และทำให้รัฐเสียรายได้เข้าแผ่นดินถึง 954 ล้านบาท รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

‘นายกฯ’ สั่ง ‘กรมสรรพากร’ ศึกษากฎหมาย แก้ภาษี ‘มรดก-ที่ดิน’ หวังเพิ่มรายได้-ลดความเหลื่อมล้ำ ชี้!! ต้องปรับให้สอดคล้องปัจจุบัน

(9 ต.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสรรพากรไปพิจารณา การปรับปรุงกฎหมายการจัดเก็บภาษีการรับมรดก เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมองว่า กฎหมายการจัดเก็บภาษีการรับมรดกในปัจจุบันนั้น ถูกมองว่า เป็นกฎหมายที่มีขึ้นในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่สามารถจัดเก็บได้จริง

“ผมได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสรรพากรไปพิจารณาแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยกฎหมายจะต้องมีผลบังคับใช้ได้จริงทั้งในมุมการจัดเก็บรายได้และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย” นายเศรษฐา กล่าว

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเผยว่า หลักในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายภาษีการรับมรดกนั้น ต้องพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก คือ

1.) ฐานในการจัดเก็บ ซึ่งปัจจุบัน จัดเก็บมรดกในส่วนที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทต่อราย ซึ่งประเด็นนี้ ก็ต้องมาดูว่า รัฐบาลต้องการปรับเพิ่ม หรือ ลดลงหรือไม่อย่างไร
2.) รายการทรัพย์สินมรดกที่เข้าข่ายการเสียภาษี
3.) ข้อยกเว้นในการเสียภาษีดังกล่าว โดยภรรยาหรือสามีตามกฎหมายเมื่อได้รับมรดกจะได้รับการยกเว้นภาษี

ทั้งนี้ กรณียกเว้นการจัดเก็บภาษีการรับมรดกที่มีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อรายนั้น ก็ถือเป็นช่องที่จะหลีกเลี่ยงภาษีได้ ยกตัวอย่าง บิดาซึ่งเสียชีวิตมีมรดกอยู่ 300 ล้านบาท แบ่งให้ภรรยา 100 ล้านบาท และ ลูก 2 คนๆละ 100 ล้านบาท มรดกดังกล่าว จะไม่มีภาระภาษีเลย เนื่องจาก ได้รับมรดกไม่เกิน 100 ล้านบาท กรณีภรรยานั้น ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว เนื่องจาก กฎหมายให้ยกเว้นเฉพาะคู่สามีภรรยา

สำหรับภาษีการรับมรดก เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่ามรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับจากกองมรดก โดยผู้ที่ได้รับมรดกเป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีและมักจะมีการกำหนดค่าลดหย่อนและอัตราภาษีที่เป็นประโยชน์กับผู้รับมรดกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย ทำให้ผู้รับมรดกที่มีความใกล้ชิดกับผู้ตายมีภาระภาษีที่น้อยกว่าผู้รับมรดกแต่ละคนมากกว่า เพราะรับภาระภาษีตามสัดส่วนมูลค่าของมรดกที่ได้รับ

“ภาษีการรับมรดกนั้น เกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละรายได้รับมรดกสุทธิมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้าของมรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับมรดกหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดจากการรับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท” นายเศรษฐา กล่าว

ส่วนทรัพย์สินมรดกที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี อาทิ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น เงินฝาก ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน สำหรับการยกเว้นภาษีการรับมรดกนั้น อาทิ บุคคลผู้ที่ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนา หรือเห็นได้ว่า มีความประสงค์ให้ใช้มรดกเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ หรือ หน่วยงานรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือ กิจการสาธารณประโยชน์ หรือ บุคคล หรือองค์การระหว่างประเทศ ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีต่อองค์กรสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติกันกับนานาประเทศ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ภาษีมรดกนั้น เคยถูกนำมาใช้เมื่อปี 2476 แต่ได้ยกเลิกไป เนื่องจาก จัดเก็บได้น้อย ต่อมาในปี 2558 รัฐบาลได้ตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาใหม่ โดยยอดการจัดเก็บภาษีในแต่ละปีจะอยู่ในหลักร้อยล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่า น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนมรดกที่ถูกส่งต่อมาให้ผู้รับมรดก เนื่องจาก วัฒนธรรมของประเทศไทย คือ การสะสมความมั่งคั่งเพื่อส่งต่อให้ลูกหลาน ซึ่งประเด็นการสะสมความมั่งคั่งเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานนั้น ถือเป็นละเอียดอ่อนสำหรับสังคมไทยเช่นกัน เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำมาหากิน และในระหว่างที่ได้ทรัพย์สินมา ทางผู้มีทรัพย์สินก็ได้ชำระภาษีให้กับรัฐบาลมาก่อนหน้านี้แล้ว

‘สรรพากร’ แจง ปมยื่นภาษีออนไลน์แล้วมีรายได้ปริศนาโผล่ ยัน!! เกิดจากปรับปรุงระบบ ตอนนี้ใช้งานได้ตามปกติแล้ว

(17 ก.พ. 67) นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงถึงกรณีมีกระแสการยื่นภาษีทางออนไลน์ แล้วมีช่องแสดงรายได้แปลก ๆ โผล่ขึ้นมา ซึ่งมีการตั้งคำถามกันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์

โดยโฆษกกรมสรรพากร ระบุว่า เนื่องจากกรมสรรพากรมีการปรับปรุงระบบใหม่ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ตั้งแต่ 18.00 น. ทำให้มีข้อมูลบางรายการคลาดเคลื่อนบนระบบ myTax Account ขณะนี้กรมสรรพากรแก้ไขเรียบร้อยแล้ว และผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบได้ตามปกติ กรมสรรพากรจึงต้องขออภัยมา ณ ที่นี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top