Saturday, 10 May 2025
GoodsVoice

‘สุชาติ ชมกลิ่น’ เดินหน้าผลักดันโครงการ ITD ส่ง SMEs เกษตรไทยสู่โลกยั่งยืน พร้อมเปิดโอกาสศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ (16 ม.ค.68) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าในการผลักดันโครงการ 'Smart AgriTech to the Sustainability Business' เพื่อยกระดับ SMEs เกษตรไทย ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ ITD ซึ่งโครงการนี้มุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรรวมถึงเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

โดยในโครงการได้คัดเลือกผู้ประกอบการภาคเกษตรที่มีศักยภาพสูงจาก 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และ ภาคกลาง รวมทั้งหมด 8 ราย ที่จะได้รับโอกาสพิเศษในการศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 14-17 มกราคม 2568 เพื่อเรียนรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร ที่ทันสมัยจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรและการรักษาสิ่งแวดล้อม ให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้เติบโตและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยไปสู่ประเทศคู่ค้าที่สำคัญทั่วโลก 

นายสุชาติ กล่าวว่า “ความสำคัญของการศึกษาดูงานครั้งนี้ว่า จะเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการทั้ง 8 ราย ในการเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่ทันสมัยจากญี่ปุ่น พร้อมทั้งนำความรู้ที่ได้กลับมาปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญทั่วโลก

โดยโครงการนี้ไม่เพียงแค่ยกระดับ SMEs เกษตรไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้ แต่ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเกษตรและขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว”

“โดยโครงการ 'Smart AgriTech to the Sustainability Business' นอกจากจะช่วยยกระดับ SMEs เกษตรไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจเกษตรและการขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยไปสู่ประเทศคู่ค้าทั่วโลก โดยถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจเกษตรไทยเพื่อให้สามารถยืนหยัดได้ในตลาดโลกและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในระดับชาติอย่างยั่งยืน” นายสุชาติ กล่าว

กฟผ. ผนึกกำลัง ททท. ชวนสัมผัสที่พัก 8 เขื่อนทั่วไทย ตอบโจทย์เทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ - กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

กฟผ. จับมือ ททท. สานต่อโครงการ Workation Paradise Throughout Thailand Season 2 สนับสนุนเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ที่ผสานการทำงานและการท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน ชวนสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติที่เขื่อน 8 แห่งของ กฟผ. ทั่วประเทศ พร้อมมอบส่วนลดที่พัก 30% ตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อนอย่างยั่งยืน

(17 ม.ค.68) นายชวลิต กันคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เทรนด์ Workation หรือการทำงานพร้อมการพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานจาก Work from Home สู่ Work from Anywhere ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 กฟผ. จึงร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เดินหน้าสานต่อโครงการ Workation Paradise Throughout Thailand Season 2 เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้สัมผัสประสบการณ์การทำงานในบรรยากาศอันเงียบสงบและงดงามที่เขื่อน 8 แห่งทั่วประเทศ ของ กฟผ. ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ และเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม - 30 มีนาคม 2568

นายชวลิต กันคำ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฟผ. ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ Workation ของ ททท. มาตั้งแต่ปี 2563 โดยเริ่มจากการมอบส่วนลดค่าที่พัก และยกระดับคุณภาพบ้านพักรับรองด้วยมาตรฐาน SHA Plus ในพื้นที่เขื่อนและโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย โครงการ Workation Paradise Throughout Thailand Season 2 สะท้อนถึงความตั้งใจของ กฟผ. ในการเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของ ททท. เพื่อผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยมีหัวใจสำคัญคือชุมชนและธรรมชาติ ทุกการเดินทางไม่เพียงแต่สร้างความสุข แต่ยังช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“เขื่อนของ กฟผ. ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญของประเทศ แต่ยังเป็นจุดหมายปลายทางที่งดงาม ลองมาสัมผัสทิวทัศน์อันตระการตาของเขื่อนทั้ง 8 แห่ง ซึ่งมีเอกลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะตัว พร้อมเติมเต็มพลังชีวิต และดื่มด่ำกับความสวยงามของธรรมชาติที่เงียบสงบ การท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. จะไม่เพียงเปลี่ยนบรรยากาศการทํางาน แต่ยังช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตไปด้วยกัน กฟผ. ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่าน” นายชวลิต กล่าวเชิญชวน

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและจองสิทธิ์ได้ที่ www.tourismthailand.org/workationthailand โดยใส่คำค้นหา 'บ้านพักรับรองเขื่อน'

‘รสนา’ ชื่นชม!! ‘กกพ.’ ชงลดค่าไฟฟ้า แนะ!! เจรจาลด ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ด้วย

เมื่อวานนี้ (17 ม.ค. 68) นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า …

มาช้าดีกว่าไม่มา กกพ.จ่อชงนายกฯทบทวนค่าแอดเดอร์พลังงานหมุนเวียน หั่นค่าไฟลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาท

ข่าวสื่อมวลชนวันนี้ระบุว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนนโยบายรัฐที่ให้เงินส่วนเพิ่มไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่เรียกว่า แอดเดอร์ (Adder) ทำให้ราคารับซื้อเพิ่มสูง และมีการต่อสัญญาแบบอัตโนมัติทำให้ค่าไฟมีราคาสูงกว่าราคาที่เป็นจริงในปัจจุบันมาก หากมีการทบทวนราคารับซื้อตามต้นทุนจริง จะลดค่าไฟลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาท คาดประหยัดค่าไฟได้ 3.3 หมื่นล้านบาทต่อปี

ในการรับฟังความเห็นประชาชนเรื่องการปรับค่าFt ของกกพ.งวด มกราคม -เมษายน 2568 ระหว่างวันที่ 8-22 พฤศจิกายน 2567 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค)ได้เสนอแนวทางการปรับลดราคาค่าไฟไปทั้งหมด 6 ข้อ

หนึ่งใน6 ข้อเสนอของสภาผู้บริโภค ก็คือเสนอให้ยกเลิกนโยบายมาตรการสนับสนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่สูงเกินสมควรจนมีผลกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าทั้งระบบ ซึ่งกกพ. ควรเสนอให้ทบทวนนานแล้ว เอกชนได้ค่าไฟฟ้าส่วนเกินที่ไม่ควรได้รับปีละ 3.3 หมื่นล้านบาท เป็นค่ารับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ที่หมดอายุ 8-10 ปีไปแล้ว แต่กกพ.ก็ยังปล่อยให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติในราคาสูง โดยประชาชนตาดำๆ ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายนี้ให้เอกชนผ่านค่าไฟฟ้า เป็นภาระค่าไฟแพงของประชาชน แต่ไม่ปรากฎว่ากกพ.จะได้นำข้อเสนอนี้ของสภาผู้บริโภคไปพิจารณาเพื่อลดค่าไฟในงวด มกราคม- เมษายน 2568 แต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม มาช้าดีกว่าไม่มา ก็ต้องชื่นชมที่ กกพ.ตัดสินใจทำข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนการให้เงินส่วนเพิ่ม(Adder)ว่าควรยกเลิกได้แล้วเพราะปัจจุบันราคาพลังงานหมุนเวียนมีราคาลดลงมากแล้ว ซึ่งบริษัทเหล่านั้นได้คืนทุนและมีกำไรคุ้มไปนานแล้ว การต่อสัญญาอัตโนมัติจึงควรยกเลิก ซึ่งจะทำให้สามารถลดค่าไฟลงได้ 17 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟลดลงเหลือ 3.98 บาท/หน่วย จากที่กำหนดไว้เดิมที่ 4.15บาท/หน่วย และทำให้ประชาชนได้ปลดแอกบนบ่าถึงปีละ 3.3 หมื่นล้านบาทได้สักที

สิ่งที่กกพ.ควรเสนอนายกรัฐมนตรีเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 ข้อ คือให้เจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายสำหรับโรงไฟฟ้าที่ได้คืนทุนและมีกำไรพอสมควรแล้ว จากเอกสารของกกพ. ในงวด มกราคม-เมษายน 2568 ค่าความพร้อมจ่ายสูงถึง 19,875 ล้านบาท หากคำนวณทั้งปี จะเป็นเงิน 59,625 ล้านบาท/ปี หากนำมาเฉลี่ยกับหน่วยไฟที่ใช้ทั้งประเทศประมาณ 200,000 ล้านหน่วย/ปี เท่ากับจะลดลงได้ 29-30 สต./หน่วย หากตัดค่าความพร้อมจ่ายส่วนนี้ไปได้ น่าจะลดได้ค่าไฟลงไปได้อีกเกือบ30 สตางค์/หน่วย (ตัวเลขที่นำมาคำนวณจากเอกสารที่เผยแพร่โดย กกพ.ในการรับฟังความเห็นค่า Ft)

แม้ตามสัญญาค่าความพร้อมจ่ายอาจจะตัดไม่ได้ แต่รัฐบาลสามารถใช้ประเด็น ‘เหตุสุดวิสัย’ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐเพื่อลดค่าไฟ เปิดให้มีการเจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายในโรงไฟฟ้าที่คืนทุนแล้ว หรือไม่มีการผลิตแต่ยังได้ค่าความพร้อมจ่าย โดยแลกกับการขยายสัญญารับซื้อไฟต่อให้อีกสัก1-2ปีหลังหมดสัญญา และโรงไฟฟ้าใหม่ไม่ควรมีค่าความพร้อมจ่ายอีกแล้ว

กกพ.จึงควรถือเป็นหน้าที่ในการรีดไขมันที่ทำให้ค่าไฟแพงอย่างไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ซึ่งยังมีอีกหลายรายการที่สมควรพิจารณาต่อไปอย่างจริงจัง จะเป็นการช่วยลดภาระที่ประชาชนแบกจนหลังแอ่นมายาวนานมาก และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่มีราคาค่าไฟเหมาะสมจูงใจให้ธุรกิจต่างชาติสนใจจะมาลงทุน

รัฐบาลหัดคิดนโยบายประชานิยมเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมบ้าง ประชาชนจะได้เงยหน้าอ้าปากอย่างยั่งยืน เลิกใช้วิธีกู้เงินมาหว่านแจกซื้อเสียงแบบฉาบฉวยได้แล้ว!!

‘สุชาติ’ เผย!! 'อาเซียน - แคนาดา’ เร่งขับเคลื่อนเจรจา FTA ตั้งเป้า!! ปิดดีล ขยายโอกาสทางการค้า ภายในปี 2568

(18 ม.ค. 68) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แคนาดาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-แคนาดา (ACAFTA TNC) รอบที่ 11 ระหว่างวันที่ 15-17 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาในประเด็นต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2568 สำหรับการประชุม ACAFTA TNC ในรอบนี้ยังได้มีการจัดการประชุมของคณะทำงานเจรจาอีก 7 กลุ่ม ได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า แนวปฏิบัติที่ดีด้านการออกกฎ การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายและสถาบันควบคู่ไปด้วย  

"ไทยพร้อมสนับสนุน FTA อาเซียน-แคนาดา ให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2568 ซึ่งจะเป็น FTA แรกของไทยกับประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ รวมถึงขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงทั้งสองภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน แคนาดาก็ให้ความสำคัญกับการสรุปผลการเจรจา ACAFTA โดยเร็ว เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสองฝ่าย โดยเฉพาะการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มพูนโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน" นายสุชาติ กล่าว 

ด้านนางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการประชุมครั้งนี้ว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการติดตามความคืบหน้าการเจรจาของคณะทำงานภายใต้ ACAFTA ทั้ง 19 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังมีความล่าช้าและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงเรื่องการค้าสินค้าที่จะต้องเร่งเจรจารูปแบบการลดภาษี (modality) ระหว่างประเทศสมาชิก การค้าบริการและการลงทุนที่จะต้องเร่งสรุปเรื่องโครงสร้างของข้อบทและรูปแบบการเปิดตลาด และเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งอาเซียนจะต้องพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้าแบบเฉพาะ (Product Specific Rule: PSR) ที่แคนาดาเสนอมาทั้งหมด 5,612 รายการ รวมทั้งเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนที่อาเซียนจะต้องเร่งสรุปร่างข้อเสนอของอาเซียนให้แคนาดาพิจารณาเพื่อจัดทำร่างข้อบทร่วมในการเจรจาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้แนวทางขับเคลื่อนการเจรจากับคณะทำงานกลุ่มต่างๆ อาทิ เร่งหาข้อสรุปในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่คล้ายคลึงกัน สำหรับประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่แตกต่างกันมาก ให้เน้นการหารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและแสดงความยืดหยุ่นเพื่อหาแนวทางที่ยอมรับร่วมกันได้ และหยิบยกประเด็นที่ติดขัดให้คณะกรรมการ TNC ให้แนวทางแก้ไข พร้อมทั้งผลักดันให้มีการประชุมทั้งในรูปแบบออนไลน์ และ in-person เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้ทันตามเป้าที่กำหนดไว้ 

สำหรับในปี 2566 การค้ารวมของไทยและแคนาดา มีมูลค่า 2,933.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.41 โดยไทยส่งออกไปยังแคนาดา มูลค่า 1,903.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.07 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่ไทยนำเข้าจากแคนาดา มูลค่า 1,030.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 11.03 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ

ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือน (ม.ค. –พ.ย.) ของปี 2567 การค้ารวมของไทยและแคนาดา มีมูลค่า 2,955.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออก 1,946.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้า 1,008.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 937.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

‘แพทองธาร’ นำคณะ!! บินดาวอส ประชุม ‘World Economic Forum’ โชว์!! วิสัยทัศน์รัฐบาล ย้ำ!! ศักยภาพประเทศไทย ขับเคลื่อนไปสู่ยุคดิจิทัล

(19 ม.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ประจำปี 2568 (WEF Annual Meeting 2025: WEF AM25) ระหว่างวันที่ 20-25 ม.ค. 2568 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส

โดยมีผู้แทนรัฐบาลไทยที่ได้รับเชิญและร่วมคณะ ได้แก่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ นางนลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย และนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ

การประชุม WEF AM25 จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 55 ภายใต้หัวข้อหลัก “Collaboration for the Intelligent Age” เพื่อหารือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดคุณประโยชน์สูงสุดในการสนับสนุนการค้าการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ในบริบทของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกในปัจจุบันที่สลับซับซ้อนและท้าทาย

โดยนายกฯ จะใช้เวที WEF แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ย้ำศักยภาพและความพร้อมของไทยที่จะขับเคลื่อนไปสู่ยุคดิจิทัล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และขยายโอกาสของภาคเอกชนไทยในตลาดโลก

เนื่องจากการประชุม WEF นับเป็นเวทีที่มีอิทธิพลสูงมากต่อความตระหนักรู้ของสาธารณชนและสื่อมวลชนชั้นนำระดับโลก ทั้งยังจะมีการพบหารือทวิภาคีกับระหว่างผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ และผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของโลก โดยเฉพาะจากภูมิภาคยุโรป

ทั้งนี้นายกฯ จะเดินทางจากไทย ในวันที่20 ม.ค.นี้ ถึงท่าอากาศยานนครซูริก สมาพันธรัฐสวิส ในจันทร์ที่ 20 ม.ค. เวลา 14.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ซึ่งเวลาที่นครซูริกช้ากว่ากรุงเทพฯ 6 ชั่วโมง) และจะปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 20-25 ม.ค. 2568 และจะเดินทางกลับถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันเสาร์ที่ 25 ม.ค.

‘อลงกรณ์’ เสนอแนวคิด ‘ธีม พาร์ค คอมเพล็กซ์’ ทางเลือกใหม่ของไทย ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

(19 ม.ค. 68) นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์
(FKII Thailand) และอดีตประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้นำเสนอแนวคิด การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของประเทศไทย โดยได้ระบุว่า ...

ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังมองหาวิธีในการเสริมสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งการพัฒนาธีม พาร์ค (Theme Park)ระดับโลก เช่น ดิสนีย์แลนด์ (Disneyland)ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ(Universal Studios) ซีเวิลด์(Sea World)หรือ ธีม พาร์คอื่นผสมผสานกับเอนเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์(Entertainment Complex)ที่มีหลากหลายกิจกรรมสันทนาการ เป็นแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์(Creative Economy)ที่น่าสนใจและมีศักยภาพมากกว่าแนวทางอื่น

เหตุผลที่ควรพิจารณาการพัฒนา Theme Park ร่วมกับ Entertainment Complex ในประเทศไทย

1. จุดขายใหม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและการลงทุนสร้างรายได้ให้ประเทศและประชาชน
การมี Theme Park ขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงจะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเต็มไปด้วยกิจกรรมและเครื่องเล่นที่ไม่เพียงแต่สนุกสนาน แต่ยังสร้างประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร ผู้เข้าชมจะมีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศที่หลากหลาย และทำให้การมาเยือนประเทศไทยน่าจดจำยิ่งขึ้น

2. การมอบประสบการณ์ที่หลากหลาย
Entertainment Complex ที่รวม Theme Park ที่มีธีมจากวัฒนธรรมและภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง สามารถเพิ่มกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร บาร์ และพื้นที่สำหรับการแสดงดนตรี ทำให้ผู้เข้าชมมีตัวเลือกที่หลากหลายในการใช้เวลาในสถานที่เดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการเข้ามาของนักท่องเที่ยว

3. สร้างงานและพัฒนาเศรษฐกิจของชาติและท้องถิ่น
การพัฒนา Theme Park และ Entertainment Complex จะสร้างงานใหม่ให้กับคนในชุมชน ทั้งในด้านการดำเนินงาน การบริการ การตลาด การออกแบบ และการก่อสร้าง นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดเล็กในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า และบริการท่องเที่ยว จะได้รับประโยชน์จากการมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น

4. ส่งเสริมการศึกษาและการอนุรักษ์วัฒนธรรม
การออกแบบ Theme Park โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น สามารถสร้างโอกาสในการจัดแสดงวัฒนธรรมไทย เช่น การแสดงศิลปะการแสดงพื้นบ้าน โครงการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การมีพื้นที่การศึกษาภายใน Entertainment Complex จะช่วยให้ผู้เข้าชมสามารถเรียนรู้และมีประสบการณ์ที่มีคุณค่า

5. เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับครอบครัวและนักท่องเที่ยวคุณภาพ
Theme Park และ Entertainment Complex สามารถออกแบบมาเพื่อให้เข้ากับทุกกลุ่มวัย มีการจัดกิจกรรมและสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ครอบครัวสามารถร่วมใช้เวลาและสร้างความทรงจำดี ๆ ร่วมกันได้

6. ปลอดภัยและสร้างสังคมที่มีสุขภาพดี
การพัฒนา Theme Park และ Entertainment Complex พลิกโฉมสังคมในทางที่ดี โดยมีคุณค่าประสบการณ์และความสนุกสนาน เปิดโอกาสให้เกิดกิจกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์และปลอดภัยมากขึ้น

ตัวอย่างธีม พาร์คในประเทศต่างๆ

1. Disneyland  & DisneySea
Magic Kingdom (ฟลอริดา, สหรัฐอเมริกา)
สวนสนุกในรูปแบบของเทพนิยาย มีตัวละคร Disney ที่เป็นที่รู้จักและเครื่องเล่นที่หลากหลาย
Disneyland (แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา)
สวนสนุกแห่งแรกที่เปิดในปี 1955 ที่มีโซนธีมต่าง ๆ เช่น Adventureland, Tomorrowland, Fantasyland
Tokyo Disneyland & Tokyo DisneySea (ญี่ปุ่น)
มีการออกแบบที่แตกต่างและเสริมสร้างประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกับที่อื่น ๆ
Shanghai Disneyland (จีน)
สวนสนุกที่ใหม่และทันสมัย มีธีมที่แตกต่างให้สำรวจ

 2. Universal Studios
Universal Studios Orlando (ฟลอริดา, สหรัฐอเมริกา)มีทั้งสวนสนุก Universal Studios และ Islands of Adventure มีเครื่องเล่นและฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่อิงจากภาพยนตร์และโชว์
Universal Studios Hollywood (แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา)รวมเอาสวนสนุกและการท่องเที่ยวในสตูดิโอภาพยนตร์
Universal Studios Singapore มีเครื่องเล่นที่เป็นเอกลักษณ์และธีมที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์

3. SeaWorld
SeaWorld San Diego (แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา)
สวนสนุกที่เน้นการศึกษาและอนุรักษ์สัตว์น้ำ พร้อมทั้งมีการแสดงสัตว์น้ำต่าง ๆ
SeaWorld Orlando (ฟลอริดา, สหรัฐอเมริกา) มีเครื่องเล่นและสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับสัตว์น้ำ

4. Legoland
Legoland California (แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา)
สวนสนุกที่สร้างขึ้นจาก LEGO มีเครื่องเล่นที่เน้นการสร้างสรรค์
Legoland Billund (เดนมาร์ก)
สวนสนุกแห่งแรกที่เปิดในปี 1968 โดยมีความน่าสนใจจากเลโก้เป็นหลักที่มาเลเซียก็มี

 5. Europa-Park (เยอรมนี)
เป็นหนึ่งในสวนสนุกที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มีโซนธีมประเทศต่าง ๆ และเครื่องเล่นที่ยอดเยี่ยม

6. Alton Towers (สหราชอาณาจักร)
สวนสนุกที่มีเครื่องเล่นที่ขึ้นชื่อ โดยเฉพาะการออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์ที่มีบรรยากาศที่สวยงาม

7. Six Flags
Six Flags Magic Mountain (แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา) มีเครื่องเล่นที่รวดเร็วและเร้าใจ
 มีสวนสนุกในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกาที่เน้นการผจญภัยและเครื่องเล่นที่มีความสูง

8. Busch Gardens
Busch Gardens Williamsburg (เวอร์จิเนีย, สหรัฐอเมริกา) สวนสนุกที่ผสมผสานระหว่างสวนสัตว์และเครื่องเล่น
Busch Gardens Tampa Bay (ฟลอริดา, สหรัฐอเมริกา) มีการแสดงทางวัฒนธรรมและเครื่องเล่นที่ยอดเยี่ยม

9. Everland (เกาหลีใต้)
สวนสนุกที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี มีเครื่องเล่นที่น่าตื่นเต้นและสวนดอกไม้ที่สวยงาม

10. Studio Ghibli Museum (ญี่ปุ่น)
แม้ว่าจะไม่ใช่สวนสนุกแบบดั้งเดิม แต่เป็นสถานที่ที่เน้นการทำความเข้าใจโลกแห่งการ์ตูนและอนิเมชั่นของ Studio Ghibli

สรุป
ในฐานะที่ผมเป็นประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์
(FKII Thailand)และเคยเป็นประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผมคิดว่า

การมี Theme Park เช่น ดิสนีย์แลนด์ ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ หรือธีม พาร์คอื่นๆผสมผสานกับ Entertainment Complexในประเทศไทย เป็นแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเป็นทางเลือกของการพัฒนาประเทศที่สามารถสร้างประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ทั้งยังทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถเป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยสร้างประสบการณ์ที่หลากหลาย ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีความสุขและเหมาะสมกับทุกกลุ่มวัย จึงเป็นแนวทางที่ควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทยและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

‘เอกนัฏ’ เผย ‘ฉางอาน’ พร้อมลงทุนในไทยเพิ่ม รองรับยอดใช้รถยนต์ EV ทั่วโลกพุ่ง

(20 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีสเอเชีย จำกัด ได้นำคณะผู้บริหารบริษัท ฉางอานฯเข้าพบ เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่ตนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมหารือแนวทางในการดำเนินกิจการของบริษัท ฉางอานฯ โดยมี นายณัฐพล รังสิตพลปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้าร่วมหารือด้วย

สำหรับการเข้าพบหารือในครั้งนี้ คณะผู้บริหารบริษัท ฉางอานฯ ให้ความสำคัญกับประเทศไทย โดยมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงสำหรับการลงทุน เนื่องจากเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และเป็นประเทศที่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน สามารถที่จะรองรับการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV โมเดลใหม่ของบริษัท ฉางอานฯ เป็นอย่างดีซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสอดรับกับตลาดของผู้ซื้อทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่นิยมใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

นายเอกนัฏ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและตน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัท ฉางอานฯ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งในด้านของโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบสนับสนุนต่างๆ ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนจากทุกประเทศ รวมถึงบริษัทฉางอานฯ ด้วย เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของประเทศไทย

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการออกใบอนุญาต โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ร่วมกับสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AIEI) เพื่อหารือเรื่องนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเพื่อการยื่นขอใบอนุญาต และเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถคัดกรองใบอนุญาต เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกกระบวนงาน

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากเรื่องร้องเรียนถึงระยะเวลาของการดำเนินการออกใบอนุญาต ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่และระบบที่จำกัด ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทราบถึงปัญหาและพร้อมที่จะแก้ปัญหา ด้วยการพัฒนาระบบออกใบอนุญาตด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่จะช่วยลดเวลา และเพิ่มความโปร่งใสในทุกขั้นตอน เพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ จึงได้เชิญสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AIEI) ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และมีความร่วมมือกับ 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ เข้ามาร่วมทีมในคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการออกใบอนุญาต โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI)

โดยการประชุมในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปสู่การพัฒนาการยื่นขอและคัดกรองใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงานและการขยายกิจการโรงงาน ใบอนุญาตวัตถุอันตราย ใบอนุญาตกากอุตสาหกรรม การศึกษาการตอบโต้ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และผู้ประกอบการ การกำหนดจุดพิกัดโรงงานที่แม่นยำ รวมถึงแนวทางการพัฒนาระบบติดตามและตรวจสอบ (Track and trace) ของกระทรวงอุตสาหกรรมในอนาคตอีกด้วย

“การประชุมดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligence : AI) ในการออกในอนุญาต เพื่อลดระยะเวลา สร้างความโปร่งใส พร้อมสร้างความร่วมมือเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบ แก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพของกระทรวงอุตสาหกรรมสู่ Industrial 5.0 ต่อไป” นายพงศ์พล กล่าว

‘เอ็มเค’ เปลี่ยนโฉมชื่อสาขาในรอบ 39 ปี สู่ ‘มงคล เรสเรสโตรองต์’ นำร่อง 4 สาขา

(21 ม.ค. 68) จัดใหญ่ เอาฤกษ์รับเทศกาลตรุษจีน เอ็มเคสุกี้ เปลี่ยนโฉมชื่อสาขาสู่ 'มงคล เรสเรสโตรองต์' (MongKol’ restaurants) นำร่องใน 4 สาขา ร่วมต้อนรับเทศกาลใหญ่แห่งปี

มูมาร์เก็ตติ้งร้อนแรงในไทย  “เอ็มเค กรุ๊ป” กับแบรนด์ เอ็มเค สุกี้ ร่วมต้อนรับเทศกาลตรุษจีนปีมะเส็ง 2568 แบบจัดใหญ่ แปลงโฉมชื่อสาขา ไปสู่ "มงคล เรสเรสโตรองต์" (MongKol’ restaurants) เสริมความมงคลรับเทศกาลตรุษจีน นำร่องใน 4 สาขาแล้ว  

สามย่านมิตรทาวน์
เซ็นทรัล เวสต์เกต
เซ็นทรัล พระราม 9
เซ็นทรัล พระราม 3

สำหรับการเปลี่ยนชื่อร้านสู่ MongKol’ restaurants จึงนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบริษัทในรอบ 39 ปีเลยทีเดียว

อีกทั้งในเทศกาล ตรุษจีน ได้ออกชุดพิเศษกับ 5 เซตไหว้เสริมมงคล เพิ่มความเฮง ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นครอบครัว เนื่องจากในปีก่อนได้ออกชุดพิเศษรับตรุษจีน สามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 40,000 ชุด เพิ่มขึ้น 25% โดยประเมินในปีนี้ 2568 จะมียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน

สำหรับชุดพิเศษ 5 เซตไหว้ ในปี 2568 ประกอบด้วย

เซต 1 ชุดเป็ดไหว้มงคล มาพร้อมชุดเป็ดย่าง MK เป็ดย่าง กำหนดราคา 750 บาท
เซต 2 ชุดเป็ดไหว้มหามงคล โดยเป็นชุดเป็ดย่าง MK ครบชุดพร้อมเครื่องใน มาพร้อมติ่มซำสุดฮิตทั้งทอดและนึ่ง ทั้งขนมจีบหมู ฮ่อยจ๊อปูจักรพรรดิ เผือกทอด ข้าวอบจักรพรรดิ และซาลาเปาส้มมงคล ซาลาเปาพิเศษเฉพาะเทศกาลตรุษจีน กำหนด ราคา 1,528 บาท

เซต 3 ชุดไหว้ซาแซหมูแดง โดยเป็นชุดซาแซที่เนื้อสัตว์ 3 ชนิดครบถ้วน ทั้งเป็ดย่าง MK พร้อมเครื่องใน, ไก่ต้มมงคลพร้อมเครื่องใน จากข้าวมันไก่ทองคำ ทานกับน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวสูตรไหหลำ และหมูแดงสูตรฮ่องกง สูตรพิเศษย่างแบบฉบับ MK  กำหนด ราคา 1,568 บาท

เซต 4 ชุดไหว้ซาแซหมูกรอบ โดยมีทั้งเป็ดย่าง MK และเครื่องใน, ไก่ต้มมงคลพร้อมเครื่องใน พร้อมหมูกรอบหนาพิเศษที่เป็นเมนูใหม่ล่าสุด  เพื่อเทศกาลตรุษจีนนี้โดยเฉพาะ กำหนดราคา 1,698 บาท

เซต 5 ชุดไหว้พรีเมียมมหามงคล โดยเป็นชุดไหว้พรีเมียม ทั้งเป็ดย่าง MK และเครื่องใน, ไก่ต้มมงคลและเครื่องใน, หมูแดงสูตรฮ่องกง,ขนมจีบหมู, เผือกทอด, ซาลาเปาส้มมงคล, บะหมี่หยกกลาง, ข้าวอบจักรพรรดิ, ฮ่อยจ๊อปูจักรพรรดิ เนื้อปูสูตรเฉพาะ พร้อม ซาลาเปาซิ่วท้อ มาในราคา 2,599 บาท 

นอกจากนี้ได้จัดทำ ‘ชุดสุกี้โชคลาภมั่งมีมังกรมงคล’ เสิร์ฟวัตถุดิบคุณภาพพร้อมความหมายมงคลแบบอลังการบนบัลลังก์มังกร กำหนดราคา 1,099 บาท

ไทม์ไลน์การเปลี่ยนแปลงใหญ่ของเอ็มเค 

ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา "เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป" มีการปรับโฉมธุรกิจและเปลี่ยนแปลงองค์กรในหลายด้าน ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2566 ได้เปลี่ยนแปลงโลโก้บริษัท (Corporate Logo) เหลือเพียง “M” เพื่อให้สอดคล้องวิสัยทัศน์ธุรกิจที่มุ่ง “เติมเต็มความสุขให้ทุกครอบครัว” หรือ Nourish Happiness in every Family

พร้อมได้แปลงธุรกิจครอบครัว (Family Business) สู่การเป็น “มหาชน” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รองรับการขยายพอร์ตธุรกิจให้มากกว่า ร้านอาหารเอ็มเค สุกี้ เท่านั้น และขยายแบรนด์ในเครือหลากหลาย

ต่อมาในช่วงปลายปี 2567 เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จึงประกาศอย่างเป็นทางการกับการแต่งตั้ง “ทานตะวัน ธีระโกเมน” และ “ธีร์ ธีระโกเมน” ทายาทของ "ฤทธิ์ ธีระโกเมน" ผู้ก่อตั้งแบรนด์ โดยให้สองทายาท ดำรงตำแหน่งสู่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม 2 คน พร้อมทำงานที่ต้องรายงานตรงต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กับ “ฤทธิ์” กุนซือธุรกิจ อีกทาง

ล่าสุดในปีนี้ 2568 ได้เรียกความสนใจกับการ เปลี่ยนชื่อรับช่วงเทศกาลตรุษจีน สู่ "MongKol’ restaurants" ใน 4 สาขา

ภาพรวมของสาขาของธุรกิจร้านอาหารในเครือ เอ็มเค มีสาขาในประเทศไทย 450 สาขา แหลมเจริญ 45 สาขา และ ยาโยอิ 200 สาขา

MASTER บุกอินโดนิเซีย ปักธงรุกตลาด SEA ผนึกพันธมิตรเสริมความแข็งแกร่งระดับภูมิภาค

MASTER เยือนอินโดนิเซีย ขึ้นเวทีแนะนำธุรกิจ ชี้โอกาส และศักยภาพในความร่วมมือ พร้อมอัปเดตแผนรุกตลาดศัลยกรรมความงามผ่านตัวแทน ตั้งเป้ารุกตลาด SEA ร่วมกับ Lumeo Health 

เมื่อวันที่ (16 ม.ค. 68) ที่ผ่านมา ณ ร้าน Huta Pataran เมือง จาการ์ตาประเทศอินโดนิเซีย นางสาวลภัสรดา เลิศภานุโรจ CEO บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ในนามโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช ผู้นำอันดับต้นของอุตสาหกรรมด้านความงามในไทยและเอเชียในฐานะ Regional Company ยกทัพเยือนอินโดนิเซีย หลังจับมือเป็นพาร์ตเนอร์ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อพฤศจิกายน ปี 2024 ณ โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช กรุงเทพฯ ประเทศไทย เพื่อตอกย้ำการขยายตลาดภูมิภาค เสริมศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมมุ่งเน้นนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เดินหน้าขยายเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจต่อเนื่อง พร้อมเปิดแผนและเป้าหมาย การผลักดันอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงาม และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ร่วมกับ Lumeo Health โดย Dr.Queencha Chaidy Chief Executive Officer Lumeo Health นำทีมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมร่วมแถลงข่าวตอกย้ำการปักธงรุกตลาดอินโดนิเซียร่วมกัน

“ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในด้านศัลยกรรมความงามและการแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงมีการเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อ และความนิยมในหัตถการความงามในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ความต้องการบริการขยายตัวอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินโดนิเซีย ที่มีสัดส่วนประชากรสูงเป็นอันดับต้นของ SEA และมีความสนใจในด้านศัลยกรรมความงาม จาก 35 ล้านบาท(1 million USD) ในปี 2023 มาสู่ 175 ล้านบาท (5 million USD) ในปี2024 ที่ผ่านมามาสเตอร์พีชรับลูกค้าอินโดนิเซียมีสัดส่วนเป็น 38% จากลูกค้าต่างประเทศทั้งหมด

“ต่อจากนี้จะเริ่มเห็น MASTER ก้าวเข้าสู่การเป็น "Regional  Company" โดยจะมีความร่วมมือกับ MASTER PARTNER ในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความแข็งแกร่งของบริษัทไปยังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแรกสุดที่ผ่านมา MASTER ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ หรือ MOU กับ Lumeo Health ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีความโดดเด่นในฐานะที่ปรึกษาศัลยกรรมความงามและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่ครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Dr. Queencha Chaidy กล่าวว่า MASTER ดำเนินธุรกิจด้านศัลยกรรมความงามมาต่ออย่างเนื่อง 12 ปี ด้วยมาตรฐานโรงพยาบาล และการบริการมืออาชีพเป็นเบอร์ต้นของประเทศไทย ทั้งยังเป็นแบรนด์ที่ดำเนินกิจการในตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET และการันตีด้วยรางวัลด้านการบริหารจัดการ การบริหารด้านการเงิน จริยธรรมองค์กรอย่างต่อเนื่อง

ด้านศักยภาพเกี่ยวกับศัลยกรรมความงาม ของ รพ.มาสเตอร์พีช น่าจับตา เพราะมอบผลลัพธ์ที่น่าชื่นชม พิสูจน์จากการบอกเล่าและส่งต่อรีวิวจากคนดังหลากหลายวงการ รวมถึงข่าวสารการเติบโตด้านการทำธุรกิจและการตลาดอย่างต่อเนื่องจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนความเชื่อมั่นใจ ต่อความสถานะความมั่นคง มีมาตรฐาน สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการศัลยกรรมความงามในประเทศไทย และระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างยิ่ง

สำหรับการเติบโตภายในประเทศของ MASTER ถือว่าแข็งแกร่ง โดย MASTER GROUP มีจุดให้บริการมากกว่า 90 แห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่สำคัญๆ ในทุกภูมิภาค โดยให้บริการที่ครอบคลุมความต้องการในทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งด้านศัลยกรรมความงาม และการแพทย์เฉพาะทาง ถือเป็นจุดแข็งของเราในการตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลาย และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

“จากการเยือนไทยในครั้งก่อน Lumeo Health บรรลุข้อตกลงร่วมกันในฐานะพาร์ตเนอร์ เอเจนซี่ และการเยือนอินโดนิเซียของ MASTER ในครั้งนี้ เพื่อแถลงความร่วมมือ ชี้ภาพสะท้อนโอกาส และศักยภาพในตลาดศัลยกรรมความงาม และขยายการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมอัปเดตแผนรุกตลาดศัลยกรรมความงามผ่านตัวแทน

“Lumeo Health มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมทำงานกับ บมจ. มาสเตอร์ สไตล์ ในนาม โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช และได้รับโอกาสสู่ความร่วมมือด้านตัวแทนขาย รวมถึงการมาเยือนอินโดนิเซีย เพื่อหารือแผนงานในปี 2025 และกระชับความสัมพันธ์ในครั้งนี้ โดยเชื่อมี่นเป็นอย่างยิ่งว่า แผนงานทุกส่วนที่ได้ทำข้อตกลงเดินหน้าร่วมกัน จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ในฐานะมืออาชีพของทั้งสองประเทศ และก้าวสู่การเป็นหนึ่งในระดับภูมิภาค” Dr. Queencha Chaidy กล่าวสรุป

โดยหลังงานแถลงข่าวความร่วมมืออย่างเป็นทางการจบลง Dr.Queencha Chaidy, Mr.Wilson Yanaprasetya และ Mr.Nayoko Wicaksono เป็นเจ้าภาพในการจัดเลี้ยงรับประทานอาหารค่ำ เพื่อสังสรรค์กระชับสัมพันธ์กับ MASTER โดยในงานร่วมด้วยอินฟลูเอนเซอร์ของไทย ไนท์ - ปิยพงษ์ คำมีสว่าง Mister International Thailand 2023 เฟม - ชุติพงศ์ พุทธรักษ์ Mister International Thailand 2024 Top 15 Mister International 2024 เอิร์ธ - กรประภา พลเขต Miss Universe Roi Et 2023 และอินฟลูเอนเซอร์ชั้นนำในแวดวงสังคม และความงามของอินโดนิเซียเข้าร่วมนับร้อย

กองทุนน้ำมันฯ กลับมาชดเชยอีกครั้งในรอบ 6 เดือน หวังตรึงดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร หลังราคาน้ำมันโลกพุ่ง

(21 ม.ค.68) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กลับมาชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอีกครั้งในรอบ 6 เดือน หลังราคาน้ำมันโลกขยับขึ้น ต้องชดเชยอยู่ 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อพยุงราคาจำหน่ายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ขณะที่เงินกองทุนน้ำมันฯ ยังติดลบรวม -73,545 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการติดลบต่ำสุดในรอบ 2 ปี

รายงานสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุดว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา ให้กองทุนน้ำมันฯ กลับมาชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอีกครั้งที่อัตรา 50 สตางค์ต่อลิตร (ยอดการใช้ดีเซลทั้งประเทศอยู่ที่ 66.66 ล้านลิตรต่อวัน) เนื่องจากราคาน้ำมันโลกผันผวนปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้กองทุนฯ ได้หยุดชดเชยราคาดีเซลมาตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2567 และเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ มาโดยตลอด และเคยเรียกเก็บเงินสูงสุดที่ 4.20 บาทต่อลิตร ขณะที่มาตรการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ 31 ต.ค. 2567 แล้ว ดังนั้นในขณะนี้ กบน. จึงทำหน้าที่พิจารณาราคาดีเซลเอง โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ บริหารจัดการราคาจำหน่ายปลีกภายในประเทศ

อย่างไรก็ตามการกลับมาชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอีกครั้ง เนื่องจาก กบน. ยังคงพยายามไม่ให้ราคาดีเซลสูงขึ้นเกิน 33 บาทต่อลิตร โดยปัจจุบัน (20 ม.ค. 2568) ราคาดีเซลขายปลีกอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร ทั้งนี้หากไม่ชดเชยราคาดีเซลอาจส่งผลให้ต้องปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลีกเกิน 33 บาทต่อลิตรได้ เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น

ล่าสุดราคาน้ำมันโลก ณ วันที่ 20 ม.ค. 2568 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 80.74 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 77.88 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.03 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 80.56 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.23 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล    

ส่งผลให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 20 ม.ค. 2568 เปลี่ยนแปลงดังนี้ ค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 4.08 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.15 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.23 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.93 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 7.64 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 1.60 บาทต่อลิตร  โดยเฉลี่ยค่าการตลาดระหว่าง 1-20 ม.ค. 2568 อยู่ที่ 2.21 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 1.5-2 บาทต่อลิตร)

ดังนั้น หากค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมันสูงเกินควร ทาง กบน. อาจพิจารณากลับมาเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ อีกครั้งก็ได้

สำหรับปัจจุบัน กบน. ได้เรียกเก็บเงินเฉพาะผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน และดีเซลเกรดพรีเมียม ส่งเข้ากองทุนฯ ดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ส่งเข้ากองทุนฯ 10.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ส่งเข้าถึง 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร และดีเซลเกรดพรีเมียม เรียกเก็บ 1.50 บาทต่อลิตร

ส่วนสถานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 19 ม.ค. 2568 ปรากฏว่า เงินกองทุนฯ ติดลบลดลงต่อเนื่องเหลือ -73,545 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบน้อยลงเหลือ -26,876 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบเหลือ -46,669 ล้านบาท และยังนับเป็นยอดเงินติดลบต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีอยู่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top