Saturday, 18 May 2024
GoodsVoice

‘พีระพันธุ์’ สั่งติดตามการสู้รบในเมียนมาอย่างใกล้ชิด ยัน!! แหล่งก๊าซฯ 3 แห่งยังส่งก๊าซฯ มาไทยได้ตามปกติ

เมื่อวานนี้ (11 เม.ย. 67) แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานเฝ้าติดตามสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมาว่าจะส่งผลกระทบต่อการจ่ายก๊าซธรรมชาติในแหล่งยาดานา, เยตากุน และซอติก้า แปลง M9 มายังประเทศไทยหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้การสู้รบในประเทศเมียนมามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

เบื้องต้นขณะนี้ก๊าซฯ จากทั้ง 3 แหล่งดังกล่าว ยังส่งเข้าไทยได้ตามปกติ ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ได้มีการซ้อมแผนรองรับวิกฤติก๊าซธรรมชาติทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ว่าจะเกิดปัญหากับก๊าซฯ ในจุดใด กรม ชธ. ก็จะสามารถบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในประเทศให้ได้

อย่างไรก็ตามคาดว่าการสู้รบในเมียนมาจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งก๊าซฯ มายังไทย เนื่องจากการสู้รบเป็นคนละส่วนกับพลังงานที่จำเป็นต่อชีวิตประชาชนทั่วไป แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดและกระทบต่อการส่งก๊าซฯ มายังไทยจริง ก็อยู่ในวิสัยที่ไทยยังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ ในอ่าวไทยเริ่มกลับมาผลิตได้มากขึ้นแล้ว

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาเติมให้เต็มถัง เพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าและพลังงานในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้ด้วย

สำหรับข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เมื่อปี 2566 พบว่าไทยมีปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติรวมทั้งสิ้น 4,664 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งมาจากแหล่งในประเทศ 57% หรือ 2,653 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และนำเข้ามาจากต่างประเทศอีก 43% หรือ 2,010 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 31%  และก๊าซฯ จากเมียนมา 12%

สำหรับก๊าซฯ จากแหล่งในเมียนมาที่ส่งมายังไทย ได้แก่ ก๊าซฯ แหล่งยาดานา, แหล่งเยตากุน และแหล่งซอติก้า แปลง M9 ซึ่งทั้ง 3 แหล่งตั้งอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ ของสหภาพเมียนมา โดยปัจจุบันแหล่งยาดานาส่งก๊าซฯ มาไทยประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, ก๊าซฯ แหล่งเยตากุน ประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้า แปลง M9 ประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

'ไทย-มาเลย์' อ้าแขนรับ!! บ.ต่างชาติหนีค่าเช่าออฟฟิศแพงในสิงคโปร์ พร้อมชู 'นโยบาย-ภาษี' ดึงดูดใจ ช่วยให้เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ง่ายขึ้น

(12 เม.ย. 67) ค่าเช่าอาคารสำนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ ‘สิงคโปร์’ กำลังสูญเสียแต้มต่อในการเป็นฐานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ของบรรดาบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นและยุโรป ได้เริ่มมีการโยกย้ายบางแผนกออกจากสิงคโปร์ ไปตั้งฐานปฏิบัติการในประเทศใกล้เคียง เช่น ไทย และ มาเลเซีย เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และขยายโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ 

สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานว่า ไทยและมาเลเซีย น่าจะได้รับประโยชน์จากความเคลื่อนไหวนี้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม กระแสการโยกย้ายที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเพียงการย้ายพนักงานจากสำนักงานใหญ่ในบางแผนก เช่น แผนกขายหรือแผนกวางแผนองค์กร ออกจากสิงคโปร์ไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ไม่ได้เป็นการย้ายพนักงานออกไปทั้งหมด

เนื่องจากสิงคโปร์ยังคงมีข้อได้เปรียบในเรื่องทำเลที่ตั้ง ความสามารถทางด้านภาษาของบุคลากร และบริการทางการเงิน จึงทำให้เชื่อว่า สิงคโปร์ไม่น่าจะเสียตำแหน่งศูนย์กลาง หรือ ‘ฮับ’ ของบรรดาสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบรรดาบริษัทข้ามชาติสัญชาติต่าง ๆ ไปได้ง่าย ๆ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของบริษัทที่มีแผนโยกย้ายบางแผนกหรือบางส่วนงานออกจากสิงคโปร์ ไทยและมาเลเซียถือเป็นทางเลือกในอันดับต้น ๆ โดยทั้งสองประเทศต่างมีนโยบายดึงดูดใจ ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ เช่น นโยบายให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เป็นต้น

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร (JETRO) ได้สำรวจความคิดเห็นของบริษัทญี่ปุ่นที่มีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในสิงคโปร์ ซึ่งผลปรากฏว่า นอกจากบริษัทเหล่านี้จะมีความต้องการย้ายพนักงานบางส่วนออกจากสิงคโปร์มากขึ้นแล้ว การสำรวจยังพบว่า ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทาง ที่บริษัทเหล่านี้เลือกมากที่สุดด้วย และที่รองลงมาคือประเทศมาเลเซีย

การสำรวจของ JETRO ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ชี้ว่า บริษัทญี่ปุ่นในสิงคโปร์ที่มีการโยกย้ายบางแผนกออกจากสิงคโปร์แล้วหรือกำลังมีแผนจะย้าย มี 19 บริษัทที่ตอบว่า ‘ประเทศไทย’ คือจุดหมายปลายทางที่อยากไปมากที่สุด ขณะที่อันดับสองคือ ประเทศมาเลเซีย มี 5 บริษัทที่ตอบว่าอยากย้ายบางแผนกไปที่นั่น 

นายเคสุเกะ อาซาคุระ รองกรรมการผู้จัดการประจำ JETRO สำนักงานสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า ไทยเป็นฐานการผลิตที่บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เชื่อว่าเมื่อค่าเช่าสำนักงานและต้นทุนอื่น ๆ ในสิงคโปร์สูงขึ้น การโยกย้ายบางแผนก เช่น ฝ่ายขาย มายังประเทศไทยก็จะมีมากขึ้นด้วย แต่ยังไม่ใช่การย้ายมาทั้งหมด 

นอกเหนือจากบริษัทญี่ปุ่นแล้ว บริษัทยุโรปเองก็มีความเคลื่อนไหวในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ โดยผลสำรวจของหอการค้ายุโรปเมื่อปีที่ผ่านมา (2566) พบว่า บริษัทผู้ตอบแบบสำรวจ 69% เล็งย้ายพนักงานบางส่วนออกจากสิงคโปร์เพื่อหนีต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้นเช่นกัน

15 เมษายน 2567 วันสำคัญที่ควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์พลังงานไทย ครั้งแรกที่ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน 'นำเข้า-ส่งออก' ต่อจากนี้ทุกเดือน

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย!! กับนโยบายกำกับควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาจำหน่ายเป็นไปตามต้นทุนจริงและให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทย ภายหลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 

โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายในวันที่ 15 ของเดือน ถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน โดยราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวเมื่อ 13 มีนาคม 2567 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

หมายความว่า ต่อจากนี้ ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และในกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันมีการปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลจะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและจะมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึงน้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติ, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง, ค่าประกันภัย, ค่าตอบแทนนายหน้า, ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน, ค่าภาษี, อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี

ทั้งนี้ ด้วยเพราะน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักของภาคธุรกิจในการประกอบกิจการ หากน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายภายในประเทศนั้น มีการค้ากำไรเกินสมควร มีปริมาณการจัดจำหน่ายที่ไม่เพียงพอ หรือไม่ได้คุณภาพแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบในทางลบและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 

ดังนั้นประกาศกระทรวงพลังงานฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เกิดความถูกต้องเหมาะสม อันจะทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศนั้นมีความยุติธรรม ด้วยมีการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อมิให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่ไม่ถูกต้องและเป็นธรรม เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับให้มีขีดความสามารถอย่างเท่าเทียมสำหรับการแข่งขันทางการค้าในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น ในวันนี้ 15 เมษายน 2567 จึงเป็นวันแรกและครั้งแรกของประเทศไทยที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งข้อมูลต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทุกเดือน โดยประกาศฉบับนี้จะช่วยดำเนินการจัดการให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของราคาจำหน่ายของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องอิงกับราคาตลาดโลก 

เพราะทุกครั้งเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกขึ้นราคา ผู้ค้าน้ำมันทุกราย ก็จะประกาศขึ้นราคาตามราคาตลาดโลกทันที ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันในประเทศควรเป็นไปตามราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ณ เวลานั้นๆ 

งานนี้ ก็คงต้องขอบคุณตรงๆ ไปยัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าว ซึ่งนี่แหละที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนคนไทยและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมได้รับประโยชน์เต็มๆ จากประกาศฉบับนี้ ผ่าน...ราคาพลังงานที่เป็นธรรม!!

15 เมษา ถึงเวลา 'ปลดแอก' คนไทยจากราคาพลังงานแบบเดิมๆ เสียที...

คุ้มค่าหรือ? ‘รัฐบาล’ ทุ่ม 5 แสนล้านดัน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ‘นโยบายประชานิยม’ จะพาเศรษฐกิจไทยฟื้นหรือดิ่งเหว

ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ กับการแถลงข่าวเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 มีการ ‘ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) ครั้งที่ 3/2567’ ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการประชุม

ประเด็นที่น่าสนใจคงไม่พ้น ‘แหล่งที่มาของงบประมาณ’ ในโครงการ โดยนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแหล่งเงินของโครงการฯ 500,000 ล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยจะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 ส่วน ได้แก่

1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว

2. การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกมาตรา 28 ของงบประมาณปี 2568

3. การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 2567 เพิ่งเริ่มใช้ จึงมีเวลาที่รัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการใดที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง ก็อาจนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ รวมวงเงินส่วนที่ 1-3 เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท

นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ที่นายกฯ เศรษฐา ได้เคยแถลงเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ยืนยันว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทำได้แน่นอน และไม่มีการกู้เงินมาแจก ในวันนี้ได้เห็นแหล่งที่มาของการใช้เงินแล้ว คงพอรับรู้ได้ว่า เป็นการ ‘กู้เงิน’ หรือไม่ ?

การเดินหน้าโครงการนี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน ก็คงตัดสินกันในตอนนี้ไม่ได้ ถึงแม้นักวิชาการหลายท่าน รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เคยให้ความเห็นติติงกันมาพอควรมาแล้ว

ทีนี้ มาลองดูโครงการใหญ่ ๆ จาก 3 ประเทศ ในเอเชีย ที่ใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท ในช่วงนี้ มีเป้าหมายใช้งบประมาณในด้านใดบ้าง

เริ่มจาก ‘เกาหลีใต้’ ทุ่ม 2.5 แสนล้านเกาะกระแส AI หวังสร้างตำนานบทใหม่ สู่การเป็นมหาอำนาจเซมิคอนดักเตอร์ ประธานาธิบดี ยุน ซุก ยอล ของเกาหลีใต้ เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ว่ารัฐบาลจะลงทุน 9.4 ล้านล้านวอน (2.5 แสนล้านบาท) ในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ 1.4 ล้านล้านวอน (3.8 หมื่นล้านบาท) สำหรับส่งเสริมบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ด้าน AI ภายในปี 2027 เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำระดับโลกในด้านชิปเซมิคอนดักเตอร์ล้ำสมัย

โดยรัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนที่จะขยายการวิจัยและพัฒนาชิป AI เช่น หน่วยประมวลผลประสาทเทียม (NPU) และชิปหน่วยความจำแบนด์วิธสูงรุ่นต่อไป นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (AGI) และเทคโนโลยีความปลอดภัยแห่งอนาคตที่เหนือกว่ารุ่นที่มีอยู่ และตั้งเป้าที่จะทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นหนึ่งในสามประเทศชั้นนำในด้านเทคโนโลยี AI รวมถึงชิป และครองส่วนแบ่งในตลาด system semiconductor ทั่วโลกให้ได้ 10% หรือมากกว่าภายในปี 2030

ถัดมา ‘เวียดนาม’ ทุ่มลงทุน 9.6 แสนล้าน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกฯเวียดนาม เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ว่า เวียดนามเตรียมจัดสรรเม็ดเงินลงทุนภาครัฐราว 657 ล้านล้านดอง (กว่า 9.6 แสนล้านบาท) ในปี 2567 โดยมุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเป็นส่วนใหญ่ พร้อมเน้นย้ำว่า เมื่อโครงการด้านการคมนาคมเริ่มดำเนินการแล้ว จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และยกระดับศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับองค์กรต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การบริการ และชุมชนเมือง

และอีก 1 ประเทศ ที่มีการลงทุนหลักแสนล้าน ‘มาเลเซีย’ ทุ่มเกือบ 3 แสนล้านขยายท่าเรือใหญ่สุดในประเทศ สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า เวสต์พอร์ทส์ โฮลดิงส์ ผู้ให้บริการท่าเรือรายใหญ่สุดของมาเลเซียกำลังมองหานักลงทุนจากภายนอกเพื่อระดมเงินลงทุนขยายท่าเรือ 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 299,539 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ศักยภาพของท่าเรือขยายเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

ท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือใหญ่อันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การขยับขยายท่าเรือจะเพิ่มศักยภาพเป็น 27 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต จากปัจจุบันอยู่ที่ 14 ล้าน ตลอดอายุสัมปทานซึ่งจะอยู่จนถึงปี 2082

การขยายท่าเรือเวสต์พอร์ทส์สะท้อนความพยายามในการขยายท่าเรือของประเทศเพื่อนบ้านตามแนวช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก

การลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ดึงต่างชาติมาลงทุน เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของ 3 ประเทศข้างต้น เปรียบเทียบกับงบประมาณที่รัฐบาลไทย จะทุ่ม 500,000 ล้านบาท ตามนโยบายประชานิยมที่เคยหาเสียงไว้ คุ้มค่าหรือไม่? บางทีอาจเป็นคำถามที่ไม่ต้องการผลลัพธ์เพื่อตอบคำถามนี้ 

เรื่อง: The PALM

'เศรษฐา' เปิดทำเนียบฯ ต้อนรับนายกฯ นิวซีแลนด์ หารือ 8 ข้อตกลง  ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นสามเท่าภายในปี 2588

(17 เม.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับนายคริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยทันทีที่มาถึงนายกรัฐมนตรีได้นำนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ตรวจแถวกองทหารเกียรติยศผสม ณ บริเวณสนามหญ้า หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ด้านนอกห้องสีงาช้าง จากนั้นมีการหารือข้อราชการด้านในห้องสีงาช้าง 

จากนั้นนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ หารือร่วมภาครัฐ-เอกชน ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่จะเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง และแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ พร้อมทั้งแถลงข่าวร่วม ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) และเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ 

โดยประเด็นสำคัญภายใต้ร่างถ้อยแถลงร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้แก่...

1. การประกาศเป้าหมายการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันในปี 2569
2. การประกาศความคืบหน้า ของแผนความร่วมมือกลาโหมนิวซีแลนด์-ไทย 
3. การประกาศเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นสามเท่าภายในปี 2588 
4. การส่งเสริมความร่วมมือ ด้านพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิลและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  
5. เร่งรัดการหารือความตกลงด้านความร่วมมือด้านวัฒนธรรม 
6. ความร่วมมือด้านการศึกษาและการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันเพื่อเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระดับประชาชน
7. ความร่วมมือในระดับภูมิภาคโดยเฉพาะในกรอบอาเซียน รวมทั้งในลุ่มแม่น้ำโขงผ่านสถาบันความร่วมมือ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง และกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง 
8. การหารือเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์ในเมียนมา ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

‘EGCO Group’ มีมติแต่งตั้ง ‘จิราพร ศิริคำ’  นั่ง ‘กรรมการผู้จัดการใหญ่’ มีผล 1 พ.ค. 67

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ประกาศแต่งตั้ง ดร.จิราพร ศิริคำ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการชุดย่อย ได้แก่ กรรมการลงทุน กรรมการกำกับความเสี่ยง และกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน แทนนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ที่ไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป การแต่งตั้งดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริษัท ในการประชุมครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา

ดร.จิราพร ศิริคำ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจไฟฟ้าและนวัตกรรมพลังงาน ตลอดจนการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจมาอย่างยาวนาน เคยดำรงตำแหน่ง รักษาการผู้ว่าการ กฟผ. และได้ดำรงตำแหน่งกรรมการ EGCO Group มาตั้งแต่ปี 2565 ทำให้มีความพร้อมในการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตลอดจนมีความเข้าใจในทิศทาง การดำเนินธุรกิจของ EGCO Group และเป็นผู้มีส่วนร่วมในโครงการเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตของ EGCO Group อย่างต่อเนื่อง 

ดร.จิราพร จะสานต่อการดำเนินธุรกิจของ EGCO Group ตามทิศทาง ‘Cleaner, Smarter and Stronger to drive sustainable growth’ โดยมุ่งเน้นการลงทุนและเดินเครื่องโรงไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งสนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งการขยาย Portfolio พลังงานหมุนเวียนให้เพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2573 โดยมีความได้เปรียบจากการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งใน 8 ประเทศที่มีฐานทางธุรกิจอยู่แล้ว ตลอดจนการบริหารโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 40 แห่ง รวมทั้งธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ดร.จิราพร เคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. และก่อนหน้านั้น ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ทำหน้าที่โฆษก กฟผ. ดร.จิราพร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก วิศวกรรมศาสตร์ (Industrial Engineering and Management) และปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ (Energy Planning and Policy) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (The Asian Institute of Technology - AIT) และปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมอุตสาหการ) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งยังผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย

‘บีโอไอ’ เผย!! ‘จีน’ สนใจลงทุนผลิตเซลล์แบตฯ อีวีในไทย คาด!! ปลายปี 67 ตอบรับ 2 ราย เงินลงทุนกว่า 3 หมื่น ลบ.

เมื่อไม่นานมานี้ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากการนำคณะเดินทางไปพบกับผู้บริหารของบริษัทผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำระดับโลกจากจีน 7 ราย ได้แก่ CATL, CALB, IBT, Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda และ SVOLT Energy Technology ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2567 ณ มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่า ทุกบริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในไทย และให้ความสนใจอย่างมากต่อ ‘มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน’ ที่บีโอไอเพิ่งออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อดึงให้ผู้ผลิตระดับโลกเข้ามาตั้งฐานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ ด้านเคมีและวัสดุศาสตร์ขั้นสูง ใช้เงินลงทุนสูง และเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

โดยมาตรการนี้จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนหลายด้านที่สำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันฯ เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาบุคลากร  

ผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั้ง 7 ราย มองว่าประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้าน โดยเฉพาะการที่รัฐบาล
มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนและต่อเนื่อง จะทำให้มีความต้องการใช้เซลล์แบตเตอรี่จำนวนมากในอนาคต จะเห็นได้จากตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งรถยนต์ BEV, PHEV และ HEV อีกทั้งภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนครอบคลุมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งรถกระบะ ไปจนถึงรถบัส รถบรรทุก และเรือไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่เป็นส่วนประกอบ 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เพิ่มสูงขึ้นมากในอนาคต ประกอบกับประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่รองรับการลงทุน บุคลากร และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ผู้ผลิตแบตเตอรี่จึงมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย และบางรายจะผลิตต่อเนื่องไปถึงขั้นปลายคือ โมดูลและแพ็ค 

ภายในปีนี้ คาดว่าผู้ผลิตรายใหญ่อย่างน้อย 2 ราย จะมีความชัดเจนในการเข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย โดยแต่ละรายจะมีขนาดกำลังการผลิตในเฟสแรกประมาณ 6-10 GWh มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรกรวมกันกว่า 30,000 ล้านบาท 

สำหรับรายอื่น ๆ บางส่วนกำลังเจรจาธุรกิจกับผู้ร่วมทุนฝั่งไทย และบางรายอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากเดิมวางแผนลงทุนผลิตเฉพาะโมดูลและแพ็ค แต่เมื่อทราบว่าประเทศไทยออกมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมการผลิตเซลล์ จึงให้ความสนใจและจะพิจารณาแผนการลงทุนใหม่ ซึ่งบีโอไอจะติดตามอย่างใกล้ชิด

“ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดึงการลงทุนจากบริษัทผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าให้เข้ามาสร้างฐานการผลิตในประเทศ แต่การผลักดันให้ไทยเป็นฐานยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร แบตเตอรี่ถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะเซลล์ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของแบตเตอรี่ และเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพและระยะทางวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้า จากการตอบรับอย่างดีของผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ครั้งนี้ เชื่อว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ขนาดใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มซัพพลายเชนและทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยมีฐานที่มั่นคงในระยะยาว” นายนฤตม์กล่าว 

ปัจจุบันประเทศจีนเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของโลก ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์จากจีนมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่าร้อยละ 60 โดย CATL มีส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ 37 บริษัทเหล่านี้มิได้ผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนเท่านั้น แต่ล้วนมีเครือข่ายระดับโลก และผลิตป้อนให้กับค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกด้วย เช่น CATL ผลิตแบตเตอรี่ให้กับ Tesla, Ford, BMW, Mercedes-Benz, Volkswagen, Kia และเป็นพันธมิตรกับ Toyota 

ขณะที่ Gotion มี Volkswagen เข้าไปถือหุ้นใหญ่ เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในอนาคต ส่วน EVE Energy ผลิตป้อนให้กับ BMW และ SVOLT มีลูกค้าเป็นแบรนด์รถยนต์ชั้นนำ เช่น BMW และ Stellantis สำหรับ Sunwoda ก็ผลิตแบตเตอรี่ให้กับแบรนด์ชั้นนำจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Renault, Nissan, Volkswagen, Volvo

บริษัทเหล่านี้อยู่ในห้วงเวลาที่กำลังพิจารณาขยายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากทั่วโลก รวมทั้งลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างขั้วมหาอำนาจที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งผู้ผลิตบางส่วนได้เริ่มลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในโซนยุโรป และสหรัฐอเมริกาแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ ภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเร่งดึงการลงทุนและสร้างความร่วมมือกับบริษัทกลุ่มนี้โดยเร็วที่สุด 

‘รัดเกล้า’ โชว์ผลสำเร็จจัดงาน ‘เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์’ 5 วัน ปลื้ม!! สร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน แถมโกยภาษีเข้ารัฐ 742 ลบ.

(18 เม.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าภาพรวมการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567 ที่ถนนราชดำเนินกลางและพื้นที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ระหว่าง 11-15 เมษายน 2567 พบว่า รัฐบาลสามารถมีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 742 ล้านบาท เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวงานเป็นจำนวนมาก จนทำให้มีกระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 2,886.82 ล้านบาท พร้อมพบว่า มีการสร้างรายได้ต่อชุมชน (พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย) รอบนอกบริเวณงานกว่า 500 ร้าน มีการจ้างงานและเพิ่มรายได้กับอาชีพรับจ้าง กว่า 2,000 คน

ทั้งนี้ ททท.ระบุว่า 8-14 เมษายน 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อร่วมเทศกาลสงกรานต์ ที่มีการจัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรม และบันเทิงในหลายพื้นที่ สำหรับในสัปดาห์ถัดไป (15-21 เมษายน 2567) คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยส่งเสริมการเดินทาง ได้แก่ การสิ้นสุดเทศกาลถือศีลอด ที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียออกเดินทาง การลงนามยกเว้นวีซ่าระหว่างไทย-จีน และกระตุ้นให้สายการบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบินรวมทั้งการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (วีซ่าฟรี) ให้แก่นักท่องเที่ยวอินเดีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน

“นับจากนี้รัฐบาล นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว. คลัง พร้อมที่จะดูแลนักท่องเที่ยว ให้มีความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ทั้งคนไทยและต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และประทับใจในการท่องเที่ยวเมืองไทย พร้อมกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ตามที่ประกาศไว้ ใน IGNITE THAILAND” รองโฆษกฯ​ กล่าว

'คมนาคม' ขีดเส้น พ.ค.นี้ ลุยสร้างไฮสปีด  หาก 'ซีพี' พลาดบัตรส่งเสริม BOI

(18 เม.ย. 67) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย โดยระบุว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างก่อสร้างรวม 12 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา และยังมั่นใจว่าจะแล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2571

ส่วนอีก 2 สัญญาที่เหลือ ประกอบด้วย สัญญาที่ 4 - 1 ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง และสัญญาที่ 4 - 5 ช่วงบ้านโพ - พระแก้ว อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญา โดยเฉพาะสัญญาที่ 4 - 1 ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนคู่สัญญาในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เพื่อรับงานก่อสร้างส่วนของพื้นที่ทับซ้อนบริเวณนี้ ซึ่งทราบว่า ร.ฟ.ท.ยังอยู่ระหว่างเจรจารายละเอียด

“ทราบว่าตอนนี้การรถไฟฯ กำลังเจรจากับเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน และโครงการนี้ก็อยู่ในการดูแลของอีอีซี ซึ่งกำลังเจรจาเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โดยเงื่อนไขในนั้นจะมีการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ - ดอนเมืองด้วย และขณะนี้ทางเอกชนก็อยู่ระหว่างขอบัตรส่งเสริม BOI ครั้งสุดท้าย ซึ่งต้องได้รับภายในเดือน พ.ค.นี้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็น่าจะกระทบต่อสัญญาไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินด้วย”

อย่างไรก็ดี นโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีกรอบดำเนินงานว่าหากเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินไม่สามารถออกบัตรส่งเสริมการลงทุน BOI ได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ แน่นอนว่าจะทำให้การแก้ไขสัญญาโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินล่าช้าออกไปอีก ในส่วนของรถไฟไทยจีนที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องอยู่ในเงื่อนไขงานก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน ก็จำเป็นต้องตัดสินใจดำเนินการเพื่อไม่ให้โครงการรถไฟไทยจีนต้องล่าช้าออกไปด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีเป้าหมายว่าหากภายในเดือน พ.ค.นี้ เอกชนยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ก็จะมอบหมายให้ ร.ฟ.ท.เริ่มดำเนินการเปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการตามแผนงานของรถไฟไทยจีน โดยงานส่วนนี้ประเมินวงเงินก่อสร้างราว 9 พันล้านบาท และก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.มีกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติในก่อสร้างสร้างงานอยู่แล้วราว 4 พันล้านบาท ดังนั้นจะเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีกราว 5 พันล้านบาท เพื่อเริ่มดำเนินการทันที ไม่ให้กระทบต่อภาพรวมโครงการรถไฟไทยจีน

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า รถไฟไทยจีนตอนนี้เดินหน้างานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นอีก 2 สัญญาที่เหลืออยู่ควรต้องมีทางออกโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนเปิดให้บริการในปี 2571 โดยจากการประเมินภาพรวมในตอนนี้ยังเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผน ในเดือน พ.ค.นี้ จะเป็นกรอบเวลาสุดท้ายของการรอความชัดเจนงานก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง เพราะรัฐบาลก็มีเงินในการลงทุนก่อสร้างเองให้เป็นไปตามแผนงานอยู่แล้ว อีกทั้งโครงการนี้ก็มีความพร้อมทั้งแบบก่อสร้างสามารถเริ่มงานได้ทันที

เจาะกลยุทธ์ ISC สู่ Cash Management ชั้นนำของไทย ‘เทคโนโลยีคุณภาพ-บริการทันใจ’ ดันยอดโตปีนี้แตะ 500 ล้าน

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM 93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับคุณศลีนา ศักดิ์เสรี ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อินติเกรต ซิสเต้ม (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ ISC ซึ่งเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการจัดหา-นำเข้า และจำหน่ายอุปกรณ์นวัตกรรม ด้าน Cash Management มากว่า 35 ปี เมื่อวันที่ 20 เม.ย.67

เริ่มบทสนทนา คุณศลีนา เล่าให้ฟังว่า นวัตกรรมด้าน Cash Management ในระดับโลกนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากยุโรป ส่วนประเทศไทยเริ่มได้รับความนิยมเมื่อ 10 ปีก่อน โดยในส่วนของอุตสาหกรรม Cash Management ในไทย ณ ตอนนี้นั้น ยังถือเป็นการทำตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Marketing) เสียมาก

เมื่อถามถึงการเผชิญหน้ากับยุค Digital Disruption ที่ธนาคารเปลี่ยนมาให้บริการผ่าน Online, Mobile Application ทำให้การใช้ธนบัตร เหรียญกษาปณ์ลดลง? คุณศลีนา กล่าวว่า “ในอีก 5 ปีข้างหน้า เชื่อว่าธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ จะยังคงอยู่กับคนไทยอยู่กับโลก แต่เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีของ Cash Management มีการพัฒนาสอดคล้องกับสังคมไร้เงินสดมากขึ้น (Cashless Society) แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่จำเป็นต้องใช้เงินสดอยู่ เช่น ผู้สูงอายุ เกษตรกร นักท่องเที่ยว เป็นต้น ฉะนั้นอะไรก็ตามที่จะเข้ามาทดแทนเงินสดได้แบบ 100% คงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เนื่องจากยังมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเป็นตัวแปรอยู่”

ทั้งนี้ คุณศลีนา ได้เผยถึงการทำตลาดของ ISC ซึ่งไม่ได้เจาะกลุ่มสถาบันการเงินเหมือนในอดีต แต่ขยายไปยังกลุ่ม Startup และ SME ที่เริ่มหันมาใช้เครื่องนับธนบัตร เครื่องนับเหรียญ ตู้เซฟเก็บเงินอัจฉริยะ (Cash Box) กันมากขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error) และป้องกันการทุจริต 

ส่วนยอดขายของบริษัทฯ เมื่อปี พ.ศ. 2566 ประมาณ 200 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายปีนี้คาดแตะ 500 ล้านบาท เติบโตขึ้น 20% เนื่องจากบริษัทฯ ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่และได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีในช่วง Q1 ที่ผ่านมา  

เมื่อถามถึงจุดเด่นที่ทำให้ ISC ครองใจลูกค้ามาอย่างยาวนาน? คุณศลีนา กล่าวว่า “เราให้บริการหลังการขายอย่างรวดเร็ว และกล้ารับประกันสินค้าถ้าเครื่องมีปัญหาเราพร้อมบริการภายใน 24 ชั่วโมง (กทม.) และ 48 ชั่วโมง (ต่างจังหวัด) ซึ่งถ้าต้องหยุดใช้งานจริง ๆ ทางบริษัทฯ มีเครื่องใหม่ทดแทนให้ทันที ปัจจุบันเรามีทีมบริการหลังการขายกว่า 100 คนทั่วประเทศ” 

ส่วนหลักการบริหารองค์กร คุณศลีนา กล่าวว่า “เรามองพนักงานและลูกค้าเป็นคนสำคัญเสมอ เหมือนเป็นคนในครอบครัวของเรา ทุกวันนี้พนักงานในบริษัทฯ ตั้งแต่ระดับผู้จัดการถึงแม่บ้าน เรามีเงินส่วนแบ่งให้ด้วย (Commission) ในวันที่ดีเราแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม ในวันที่แย่เราก็ไม่เคยทิ้งกัน เพราะบุคลากรมีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนมากว่า 35 ปี www.isc.co.th”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top