คุ้มค่าหรือ? ‘รัฐบาล’ ทุ่ม 5 แสนล้านดัน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ‘นโยบายประชานิยม’ จะพาเศรษฐกิจไทยฟื้นหรือดิ่งเหว

ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ กับการแถลงข่าวเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 มีการ ‘ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) ครั้งที่ 3/2567’ ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการประชุม

ประเด็นที่น่าสนใจคงไม่พ้น ‘แหล่งที่มาของงบประมาณ’ ในโครงการ โดยนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแหล่งเงินของโครงการฯ 500,000 ล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยจะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 ส่วน ได้แก่

1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว

2. การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกมาตรา 28 ของงบประมาณปี 2568

3. การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 2567 เพิ่งเริ่มใช้ จึงมีเวลาที่รัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการใดที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง ก็อาจนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ รวมวงเงินส่วนที่ 1-3 เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท

นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ที่นายกฯ เศรษฐา ได้เคยแถลงเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ยืนยันว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทำได้แน่นอน และไม่มีการกู้เงินมาแจก ในวันนี้ได้เห็นแหล่งที่มาของการใช้เงินแล้ว คงพอรับรู้ได้ว่า เป็นการ ‘กู้เงิน’ หรือไม่ ?

การเดินหน้าโครงการนี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน ก็คงตัดสินกันในตอนนี้ไม่ได้ ถึงแม้นักวิชาการหลายท่าน รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เคยให้ความเห็นติติงกันมาพอควรมาแล้ว

ทีนี้ มาลองดูโครงการใหญ่ ๆ จาก 3 ประเทศ ในเอเชีย ที่ใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท ในช่วงนี้ มีเป้าหมายใช้งบประมาณในด้านใดบ้าง

เริ่มจาก ‘เกาหลีใต้’ ทุ่ม 2.5 แสนล้านเกาะกระแส AI หวังสร้างตำนานบทใหม่ สู่การเป็นมหาอำนาจเซมิคอนดักเตอร์ ประธานาธิบดี ยุน ซุก ยอล ของเกาหลีใต้ เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ว่ารัฐบาลจะลงทุน 9.4 ล้านล้านวอน (2.5 แสนล้านบาท) ในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ 1.4 ล้านล้านวอน (3.8 หมื่นล้านบาท) สำหรับส่งเสริมบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ด้าน AI ภายในปี 2027 เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำระดับโลกในด้านชิปเซมิคอนดักเตอร์ล้ำสมัย

โดยรัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนที่จะขยายการวิจัยและพัฒนาชิป AI เช่น หน่วยประมวลผลประสาทเทียม (NPU) และชิปหน่วยความจำแบนด์วิธสูงรุ่นต่อไป นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (AGI) และเทคโนโลยีความปลอดภัยแห่งอนาคตที่เหนือกว่ารุ่นที่มีอยู่ และตั้งเป้าที่จะทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นหนึ่งในสามประเทศชั้นนำในด้านเทคโนโลยี AI รวมถึงชิป และครองส่วนแบ่งในตลาด system semiconductor ทั่วโลกให้ได้ 10% หรือมากกว่าภายในปี 2030

ถัดมา ‘เวียดนาม’ ทุ่มลงทุน 9.6 แสนล้าน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกฯเวียดนาม เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ว่า เวียดนามเตรียมจัดสรรเม็ดเงินลงทุนภาครัฐราว 657 ล้านล้านดอง (กว่า 9.6 แสนล้านบาท) ในปี 2567 โดยมุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเป็นส่วนใหญ่ พร้อมเน้นย้ำว่า เมื่อโครงการด้านการคมนาคมเริ่มดำเนินการแล้ว จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และยกระดับศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับองค์กรต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การบริการ และชุมชนเมือง

และอีก 1 ประเทศ ที่มีการลงทุนหลักแสนล้าน ‘มาเลเซีย’ ทุ่มเกือบ 3 แสนล้านขยายท่าเรือใหญ่สุดในประเทศ สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า เวสต์พอร์ทส์ โฮลดิงส์ ผู้ให้บริการท่าเรือรายใหญ่สุดของมาเลเซียกำลังมองหานักลงทุนจากภายนอกเพื่อระดมเงินลงทุนขยายท่าเรือ 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 299,539 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ศักยภาพของท่าเรือขยายเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

ท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือใหญ่อันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การขยับขยายท่าเรือจะเพิ่มศักยภาพเป็น 27 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต จากปัจจุบันอยู่ที่ 14 ล้าน ตลอดอายุสัมปทานซึ่งจะอยู่จนถึงปี 2082

การขยายท่าเรือเวสต์พอร์ทส์สะท้อนความพยายามในการขยายท่าเรือของประเทศเพื่อนบ้านตามแนวช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก

การลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ดึงต่างชาติมาลงทุน เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของ 3 ประเทศข้างต้น เปรียบเทียบกับงบประมาณที่รัฐบาลไทย จะทุ่ม 500,000 ล้านบาท ตามนโยบายประชานิยมที่เคยหาเสียงไว้ คุ้มค่าหรือไม่? บางทีอาจเป็นคำถามที่ไม่ต้องการผลลัพธ์เพื่อตอบคำถามนี้ 

เรื่อง: The PALM