Monday, 12 May 2025
GoodsVoice

‘4 ค่ายยักษ์จากญี่ปุ่น’ จ่อลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าใน ‘ไทย’ รวมมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท หลัง ‘นายกฯ’ ลุยหารือ

(25 ธ.ค.66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีวิสัยทัศน์และนโยบายให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย-ญี่ปุ่น รวมทั้งร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องสันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการขยายการลงทุนในไทย และขับเคลื่อนให้ไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหลักในภูมิภาคอาเซียน 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้หารือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น 7 ราย เมื่อครั้งเดินทางร่วมการประชุม ASEAN-Japan ระหว่างวันที่ 14-18 ธันวาคม 2566 โดยจากการหารืออย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างนายกฯ และบริษัทยานยนต์นี้ ทำให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment (BOI) ได้ข้อสรุปว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น 4 รายที่พร้อมขยายการลงทุนสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ได้แก่ โตโยต้า 5 หมื่นล้านบาท ฮอนด้า 5 หมื่นล้านบาท อีซูซุ 3 หมื่นล้านบาท และมิตซูบิชิ 2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้บางบริษัทให้ความเห็นว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตรถกระบะไฟฟ้าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

โดยกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นทั้ง 7 ราย ยืนยันใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลไทยที่จะสนับสนุนค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ลดการปล่อยคาร์บอน ใช้พลังงาน EV และไฮโดรเจน ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นยังได้นำเสนอโมเดลของการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Swapping) สำหรับรถเชิงพาณิชย์ ซึ่งไทยพร้อมส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุนให้กับผู้ลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น โดยจะดำเนินการออกมาตรการยกเว้นวีซ่าให้นักธุรกิจญี่ปุ่นที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้น นายกรัฐมนตรีย้ำว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยให้เป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาคอาเซียน

ไทยจึงพร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นที่ต้องการขยายการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญนี้สู่ความสำเร็จ และประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ” นายชัย กล่าว

‘EA’ คว้ารางวัล ‘Entrepreneur of the Year 2023’ ในงาน Asia Corporate Excellence & Sustainability Awards

(26 ธ.ค.66) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด คว้ารางวัล Entrepreneur of the Year 2023 ในเวทีระดับสากล Asia Corporate Excellence & Sustainability Awards (ACES) แห่งปี 2023 เชิดชูเกียรติกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ในฐานะผู้ประกอบการที่เป็นเลิศด้านการบริหารงานและสร้างการเติบโตทางธุรกิจด้วยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ได้มีคัดเลือกจากผู้ประกอบการที่มีผลงานดีเด่นในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยมี ดร.อัครินทร์ สุวรรณรัตน์ Executive Vice President เป็นผู้เข้ารับมอบรางวัล ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแรกๆ ในประเทศไทยที่ได้เริ่มธุรกิจด้วย         การนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด เริ่มจากพลังงานทดแทนในการเพิ่มมูลค่า ให้แก่ปาล์มเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ต่อยอดเป็นสารเปลี่ยนสถานะ และกรีนดีเซล ด้านพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ และได้ต่อยอดธุรกิจในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โดยมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) กำลังผลิตเริ่มต้น 1 GWh ที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ต่อยอดสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครบวงจร ปัจจุบันสามารถส่งมอบรถโดยสารไฟฟ้า รถหัวลากไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้ากว่า 2,079 คัน อีกทั้งให้บริการสถานีชาร์จ EA Anywhere ที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ รางวัล Entrepreneur of the Year 2023 เป็นอีกหนึ่งรางวัลที่สะท้อนถึงการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีเลิศ มีพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงแข็งแกร่งและยั่งยืน การันตีความสำเร็จของกลุ่ม EA จากการขับเคลื่อนองค์กรด้วยการนำเทคโนโลยีพัฒนานวัตกรรมด้วยฝีมือคนไทยในด้านพลังงานสะอาดสู่เวทีระดับสากล โดยครอบคลุมในทุกมิติด้านพลังงานสะอาดทั้ง ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและสร้างนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EA’s EV Ecosystem) อย่างครบวงจรเป็นรูปธรรมต่อไป

'พีระพันธุ์' ยัน!! กฎหมาย 'เผื่อเหลือเผื่อขาด' ไม่ใช่เจตนาให้ขาย 'น้ำมัน' ไม่เต็มลิตร

(26 ธ.ค.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga’ ดังนี้...

“เมื่อคืนผมมีโอกาสพบกับท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่งานแต่งงานบุตรสาวของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้หารือกันเรื่องปัญหาปั๊มน้ำมันเติมน้ำมันไม่เต็มลิตร ซึ่งท่านเองก็เป็นห่วงเรื่องนี้มากและได้สั่งการให้หน่วยงานของท่านทำงานจริงจังในเรื่องนี้ เราทั้งสองกระทรวงจะช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังต่อไป ต้องขอขอบคุณท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นอย่างยิ่งครับ

อีกเรื่องหนึ่งครับ ผมได้รับรายงานว่าปั๊มน้ำมันบางแห่งที่เรามีการออกตรวจตรากันนั้น มีเจตนาตั้งหัวจ่ายให้จ่ายน้ำมันไม่เต็มลิตรโดยอ้างกฎกระทรวงของกระทรวงพาณิชย์ที่ให้มีอัตรา ‘เผื่อเหลือเผื่อขาด’ ที่ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย

ผมเลยต้องขออธิบายเพื่อความเข้าใจกฎหมายที่ถูกต้องครับ

คือ กฎหมายมาตราชั่งตวงวัดและกฎกระทรวงที่อ้างถึงกันนั้นไม่ได้มีเจตนาให้ขายน้ำมันไม่เต็มลิตรนะครับ แต่กฎหมายเข้าใจว่าหัวจ่ายหรือเครื่องชั่งตวงวัดแต่ละเครื่องอาจมีความผิดเพี้ยนจากการวัดปริมาตรที่แท้จริงได้ ซึ่งเป็นไปตามปกติของเครื่องมือแต่ละเครื่อง จึงกำหนดค่า ‘เผื่อเหลือเผื่อขาด’ ไว้ ซึ่งหมายความว่าปริมาตรที่ขาดหายไปนั้นเป็นผลของความผิดเพี้ยนของหัวจ่ายหรือเครื่องตรวจวัดเอง ไม่ใช่โดยเจตนาจงใจปรับแต่งหัวจ่ายให้จ่ายน้ำมันไม่เต็มลิตร เช่นนี้จึงไม่เป็นความผิดครับ 

แต่หากตามกรณีที่เกิดขึ้นหรือปั๊มไหนจ่ายน้ำมันไม่เต็มลิตรโดยเจตนาจงใจปรับแต่งหัวจ่ายแล้ว จะมาอ้างกฎกระทรวงไม่ได้ และยังเข้าข่ายเป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงประชาชนที่มีโทษจำคุกถึง 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 อีกด้วยนะครับ

ผมจะดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ต่อครับ”

'รมว.ปุ้ย' เผย!! โอนเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดคุณภาพดีเข้าบัญชีวันนี้วันแรก  ภายใต้ความร่วมมือ 'ก.คลัง-ก.พาณิชย์-ก.อุตสาหกรรม'

(26 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีสิทธิ์ได้รับเงินสนับสนุน 125,139 ราย ปริมาณอ้อยสดคุณภาพดี 64.53 ล้านตัน เป็นเงิน 7,743.859 ล้านบาท โดยรัฐบาลเริ่มโอนเงินวันนี้เป็นวันแรก ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

"ในวันนี้มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับเงิน 105,411 ราย เป็นเงิน 6,918.02 ล้านบาท หรือคิดเป็น 84% ของเกษตรกรที่มีสิทธิ์ได้รับเงิน เกษตรกรที่ได้รับเงินสนับสนุนจะสามารถเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี รวมทั้งนำเงินไปปรับปรุงพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการเผาอ้อย ในอนาคตเราจะนำเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีมาบริหารจัดการในไร่อ้อย ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ การเพาะปลูก การบำรุง และการเก็บเกี่ยว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธาน Kick off โครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา ว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 7,990.60 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะดูแลและสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมีความสุขกับของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลได้มอบให้

‘ขนมแมวดำ’ เตรียมโบกมือลาสิ้นปีนี้ หลังอยู่คู่เด็กไทยมานานกว่า 67 ปี

(26 ธ.ค.66) เฟซบุ๊กเพจดัง โพสต์รูปพร้อมข้อความระบุ โบกมือลา ‘ขนมแมวดำ’ ปิดตำนานขนมที่อยู่คู่เด็กไทยมากว่า 67 ปี

เตรียมปิดตำนานลงในช่วงสิ้นปี 2023 สำหรับหมากฝรั่งชื่อดังจากยุค 90 ที่คนไทยเรียกติดปากว่า ‘ขนมแมวดำ’ หลังเฟซบุ๊กเพจ ผู้บริโภค โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า โบกมือลาสิ้นปีนี้ ปิดตำนาน 67 ปี ขนมแมวดำ และ ตำนานทรงแบ๊ด ย่อมมีวันสิ้นสุด #ผู้บริโภค ว่าไง…

โดย ขนมแมวดำ หรือ หมากฝรั่งแมวดำ เป็นหมากฝรั่งที่ผลิตโดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานลูกกวาดเทสตี้ เป็นหมากฝรั่งลักษณะทรงกระบอกเรียวยาวคล้ายบุหรี่ ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ลักษณะคล้ายซองบุหรี่ มีเนื้อสัมผัสนิ่ม รสหอมเย็นจากกลิ่นมิ้นต์และนม

โดยขนมแมวดำ เป็นหนึ่งในขนมที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานลูกกวาดเทสตี้ ผลิตสมัยที่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 1956 หรือกว่า 67 ปีมาแล้ว ร่วมกับขนมและของหวานชนิดอื่น ๆ 

จากโพสต์ดังกล่าว ทำให้มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นมากมาย เช่น "ชอบมากเลย เสียดายจัง", "แงงงงง เด็กๆ ชอบมาก", "ชอบกินมากตอนประถม", และ "รีบสะสมเลย ต่อไปหายาก" เป็นต้น

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 18-22 ธ.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 25-29 ธ.ค. 66

ตลาดน้ำมันกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลแดง

- Platts รายงานจำนวนเรือขนส่งผ่านช่องแคบ Bab el-Mandab ก่อนเข้าสู่ Red Sea (ทะเลแดง) ที่เชื่อมกับคลอง Suez วันที่ 19 ธ.ค. 66 อยู่ที่ 50 ลำ/วัน (ช่วง 1-14 ธ.ค. 66 เฉลี่ยอยู่ที่ 75 ลำ/วัน) หลังกองกำลัง Houthi ในเยเมนโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ทำให้ BP บริษัทพลังงานรายใหญ่หยุดการขนส่งทางเรือทั้งหมดในบริเวณดังกล่าว และบริษัทเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ใหญ่หลายราย เปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ ไปอ้อมแหลม Good Hope ใช้เวลาเพิ่มขึ้นกว่า 10 วัน และค่าใช้จ่ายสูงขึ้น กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

- ผู้ค้ายังคงกังวลต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก แม้สหรัฐฯ เปิดตัวกองกำลังนานาชาติ (10 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร บาห์เรน แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน และเซเชลส์) เพื่อปกป้องเส้นทางเดินเรือในทะเลแดง เนื่องจากแผนปฏิบัติการ และจำนวนเรือยังไม่ชัดเจน

- กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ซื้อน้ำมันดิบเพื่อเติมคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำหรับส่งมอบในเดือน ก.พ. 67 ปริมาณรวม 2 ล้านบาร์เรล ด้วยราคาเฉลี่ย 74.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

- 21 ธ.ค. 66 รมว.กระทรวงน้ำมันของแองโกลา นาย Diamantino Azevedo ประกาศยุติสมาชิกภาพในกลุ่ม OPEC ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 ทั้งนี้ แองโกลาเข้าร่วม OPEC ตั้งแต่ปี 2550 โดยในเดือน พ.ย. 66 ผลิตน้ำมันดิบ 1.08 MMBD และโควตาที่ OPEC กำหนดปีหน้า คือ 1.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำเกินไป อนึ่งแองโกลาเคยผลิตได้สูงสุด 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2551

‘EVme Plus’ ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการแท็กซี่  หวังการขนส่งไทยใช้รถ EV มากขึ้น หนุนสังคมคาร์บอนต่ำยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVme Plus) ผู้ให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในไทย ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น AION ES (ไอออน อีเอส) ให้แก่บริษัท สุขสวัสดิ์แท็กซี่ จำกัด สหกรณ์แท็กซี่สหมิตร และสหกรณ์อาสาสมัคร ทดแทนรถยนต์รุ่นเก่าที่กำลังจะปลดระวาง และเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถโดยสารสาธารณะ มุ่งลดมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ AION ES ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 100% พร้อมสมรรถนะการขับขี่สูง และประหยัดค่าพลังงาน เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ผู้ขับแท็กซี่ และบุคคลทั่วไป โดยมีอัตราค่าสิ้นเปลืองพลังงานเฉลี่ยเพียง 0.75 - 1 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่ง AION ES จำหน่ายโดย EVme มาพร้อมระบบแท็กซี่อัจฉริยะ (Smart Taxi) มีระบบติดตามรถ กล้องถ่ายภาพนิ่ง เครื่องระบุตัวตนผู้ขับขี่ และปุ่มฉุกเฉิน เพิ่มความปลอดภัยทั้งผู้ขับและผู้โดยสาร ตามมาตรฐานของกรมขนส่งทางบก นอกจากนี้ EVme ยังได้ร่วมมือกับศูนย์บริการยานยนต์ และผู้ให้บริการด้านการเงินจากบริษัทชั้นนำ เพื่อรองรับการดูแลแบบครบวงจร ทั้งการซ่อมบำรุง และด้านสินเชื่อ

ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า ปตท. ยึดมั่นภารกิจหลักสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ โดยตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นวาระสำคัญของโลก จึงเร่งขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด และเสริมสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) โดยสนับสนุนการใช้ EV ในภาคการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวที่สอดรับกับการใช้ชีวิตของผู้คน อีกทั้งจากสถิติ รถสันดาป 1 คัน มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เฉลี่ยปีละ 6 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่าต่อคัน ปัจจุบันมีรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนในระบบขนส่งกว่า 85,000 คัน ทำให้ภาคส่วนนี้มีการปล่อยก๊าซฯ มากกว่าปีละ 500,000 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่า นอกจากนี้ต้นทุนค่าพลังงานของผู้ใช้รถแท็กซี่ยังมีอัตราสูง ดังนั้นการส่งเสริมการใช้ EV ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าพลังงาน ยังช่วยสนับสนุนการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำและเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ของประเทศ โดย ปตท. พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่และเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทย 

นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด หรือ ARUN PLUS กล่าวว่า อรุณ พลัส ในฐานะบริษัทในกลุ่ม ปตท. ยังคงเดินหน้าสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการขยายตัว EV อย่างต่อเนื่องตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจาก ปตท. ในการสร้างนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ EV (EV Value Chain) เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) โดยอรุณ พลัส ได้ส่งมอบคุณค่าผ่านบริษัทในกลุ่มอรุณ พลัส ในการพัฒนาธุรกิจต่าง ๆ อาทิ การจัดหาชิ้นส่วนสำคัญและการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แพลตฟอร์มสำหรับการตลาดและการขาย การผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า การจัดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมไปถึงการให้บริการด้าน EV แบบครบวงจรผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของ EVme ที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งความร่วมมือกับผู้ประกอบการแท็กซี่โดยสารในวันนี้ ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนผ่านระบบขนส่งสาธารณะไปสู่การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการสร้างนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขับเคลื่อนแห่งอนาคตอย่างแท้จริง

นายจิระพงศ์ เลาห์ขจร ประธานเจ้าหน้าที่การพาณิชย์ บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด เผยว่า EVme ส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะอย่างจริงจัง โดยเริ่มให้บริการแพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2563 ได้ทดสอบและเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้ EV อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาการบริการ EV ไม่ใช่แค่เพียงรถยนต์ส่วนบุคคล แต่ยังครอบคลุมรถยนต์สาธารณะ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ EVme จึงไม่หยุดที่จะพัฒนาการบริการใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ EV มากขึ้น และช่วยลดปัญหาด้านมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากการใช้ยานพาหนะ บริษัทฯ มุ่งมั่นนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้บริการด้านยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องง่ายและสะดวกมากขึ้น ให้ประชาชนทุกคนรวมถึงผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

‘ปตท. - กองทัพเรือ’ ชูนวัตกรรมโซลาร์ลอยน้ำ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด มุ่งสู่ความยั่งยืน 

เมื่อไม่นานมานี้ พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ และประธานกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ และดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนานวัตกรรมพลังงาน และระบบการบริหารจัดการน้ำ ระหว่าง กองทัพเรือ และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาและพัฒนานวัตกรรมพลังงานทดแทน การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำและการใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกของกองทัพเรือ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า ยังเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของกองทัพเรือด้านการสร้างความมั่นคงของประเทศและการช่วยเหลือดูแลประชาชนอีกด้วย

ปักธง!! 'เมืองรอง 10 จังหวัด' จาก 5 ภูมิภาค นายกฯ พร้อมเปิดตัว ม.ค.67 ลุยกระตุ้น ศก.ไทย

(27 ธ.ค.66) แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ ผลักดันเมืองรองที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ ทั้งมิติการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ให้เป็นเมืองหลัก

ล่าสุดได้ข้อสรุปรายชื่อ 10 จังหวัด จากทั้ง 5 ภูมิภาคที่ได้รับการคัดเลือกจากหอการค้าไทยกับ ททท. ที่จะร่วมกันโปรโมตนำร่องแล้ว ได้แก่

1. แพร่
2. ลำปาง
3. นครสวรรค์
4. นครพนม
5.  ศรีสะเกษ
6. จันทบุรี
7. ราชบุรี
8. กาญจนบุรี
9. นครศรีธรรมราช
10. ตรัง

แม้บางจังหวัดอย่างกาญจนบุรีจะเป็นเมืองหลักอยู่แล้ว แต่มองว่าควรส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีกำหนดเปิดตัวในเดือน ม.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นประธานในการแถลงข่าว สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยว 4 ด้าน ดึงศักยภาพของทุกจังหวัดสู่สากล เพื่อกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศให้คึกคัก ผลักดันรายได้จาก 4 ด้าน ซึ่งล้วนเป็นโจทย์สำคัญในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของไทย ดังนี้

1.ส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง
2.ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายไฮซีซันตลอดทั้งปี
3.เร่งพัฒนาการบริการด้านข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น
4.เพิ่มค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อทริป และเพิ่มระยะเข้าพักเพื่อให้นักท่องเที่ยวพำนักนานขึ้น

‘วิชัย ทองแตง’ ชี้ ‘อาหารสัตว์’ เป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงสุด ย้ำ!! นี่คือเรื่องใหญ่ของประเทศ ถ้าผู้ประกอบการโตในทิศทางนี้ได้

(27 ธ.ค.66) จากช่องติ๊กต็อก ‘GodfatherofStarup’ ได้โพสต์คลิปการประชุมหารือหัวข้องานวิจัย ‘Selected Topic’ ที่มีผลกระทบสูง โดยมีผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ มาแชร์มุมมองของตนเองเกี่ยวกับภาคการเกษตร ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้…

เปิดด้วย คุณวิชัย ทองแตง นักธุรกิจและอดีตนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า “อาชีพหลักของผมคือ ‘การต่อยอด’ หากพวกคุณเดินไปความสำเร็จแล้ว มี 2G แล้ว เดี๋ยวผมปั้นเข้าตลาดให้ สิ่งนี้คืออาชีพของผม…”

นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสํานักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กล่าวว่า “สวก.เป็นหน่วยบริการทุนวิจัย ซึ่งจะได้รับเงินแต่ละปีประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งจะโฟกัสไปที่การซัปพอร์ต เรื่องของงานวิจัยภาคการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีความสําคัญกับทางเศรษฐกิจ”

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ทุเรียนไทย ออกก่อนชาวบ้านเขา เพราะฉะนั้นในตลาดจีน ยังไงก็คิดว่าซีซั่นแรกเราครองตลาดได้แน่นอน ปลอกแล้วเก็บได้นาน ยืดอายุได้นาน จะไปถึงปลายทางแล้วคุณภาพยังดี ส่วนของ สวก.ก็ได้ให้ทุนวิจัยไปส่วนหนึ่ง อย่างเครื่องวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน ซึ่งความแม่นยําจะอยู่ที่ประมาณ 60 ยังไม่ได้ถึง 90”

คุณทรงสมร สุขบุญทิพย์ บริษัท ไทย ไฮไซแพค จำกัด กล่าวว่า “ระบบ Tracking ซึ่งจริง ๆ แล้วถามว่า QR Code สามารถระบุอะไรได้บ้าง เช่น ID Product, Product Type, วันที่เก็บเกี่ยว/สวนที่เก็บเกี่ยว, ผลวิเคราะห์คุณภาพ, รหัสการติดตาม, คำแนะนําการเก็บรักษา เป็นต้น และถ้าเกิดมี Egap ขึ้นมา ที่กรมวิชาการเกษตรเขาอยากทําในส่วนตรงนั้น คิดว่าเอามาปลั๊กอินกันได้ และตรงนั้นเราสามารถประเมินได้เลยว่า สวนไหน ออกดอกเมื่อไหร่ มี Output เท่าไหร่ และเราจะต้องให้อะไรมากขึ้นที่เท่าไหร่ ซึ่งเราคุมตั้งแต่ต้นน้ำเลย ตั้งแต่สวน มือตัด มี QC และมาตรฐานที่จะเช็กแต่ละอย่าง”

ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ กรรมการบริหาร สวก. กล่าวว่า “เห็นด้วยกับในเรื่องของการที่ไม่อ่อนไม่หนอน ก็คือขายแต่ ‘เนื้อ’ ซึ่งเขาไปขายทั้งผลเป็นทุเรียนสดแช่เย็น แล้วก็ขายเฉพาะเนื้อแช่เย็น นั่นคือสิ่งที่ สวก. กําลังให้ทุนดําเนินการอยู่เช่นกัน ส่วนเปลือกสามารถเอากลับมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยได้”

คุณวิชัย ทองแตง Godfather of startup กล่าวเสริมว่า “เปลือกสามารถเอามาทําอะไรได้หลายอย่าง ทั้งกระบวนการสามารถเอาไปจัดการได้หมด เป็น Zero waste ได้ และจะเป็นสตอรี่ที่ทางการตลาดให้ความสําคัญ”

คุณสุภาลักษณ์ กมลธรไท บริษัท สารัชมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า “เสียงที่เราเคยพูดเกี่ยวกับ ‘มะขาม’ มันยังดังไม่พอ…และก็เป็นความหวังลึกๆ… เพราะมีการคุยกันตลอดเรื่องปัญหามะขาม ที่มันเยอะ อีกทั้งมะขามคุณภาพต้องมะขามเพชรบูรณ์ และส่วนตัวที่มีปัญหาเรื่องเชื้อรามากที่สุด ก็คือมะขามที่มันหวาน โดยมันต้องเริ่มตั้งแต่การปลูกถ้าจะไม่ให้มีรา ซึ่งปุ๋ยบางตัวที่ใส่ไปแล้วก็จะทําให้เกิดราน้อย”

คุณอรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล บริษัท ทีเอสซีจี กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “มะขามหวานเป็นเชื้อราจริง ๆ ซึ่งมันเกิดจากดิน ทั้งนี้ ‘ดินเบา’ เป็นแร่ชนิดหนึ่งที่สามารถดูดซับกลิ่นแล้วก็ทําเป็นปุ๋ยได้ ไปเพิ่มประสิทธิภาพในธาตุดินให้มันมีเอ็นพีเคได้ และยังทําเป็นซีโร่เอสได้ในขณะที่มันเอาไปดูดซับน้ำมัน แล้วส่งเข้าโรงไฟฟ้าได้ จึงอยากให้ทางสวก.ช่วยในเรื่องรับรองผลว่า มันสามารถปราบพวกศัตรูพืชต่าง ๆ ได้จริง”

คุณปวีณา ว่านสุวรรณา บริษัท สกลนครนวกิจ จำกัด กล่าวว่า “สามารถเอา ‘ดินเบา’ ของเราไปทดลองใช้ได้ ด้วยการเอาไปโรยในแปลงหญ้า จากนั้นหนอนที่ขึ้นมากัดกินใบไม้ตอนช่วงกลางคืน พอถูกดินเบาติดตามผิวหนัง ก็จะถูกดินเบาดูดซับน้ำหล่อเลี้ยงในตัว ดังนั้นพอตื่นเช้ามา เราจะเห็นเขาตายตามร่องน้ำ และนี่ก็เป็นการใช้งานจริง”

คุณพงศ์ศักดิ์ จิระพันธ์พงศ์ กล่าวว่า “วันนี้ที่ได้มีการเอามาโชว์เป็นพิเศษ ก็จะเป็นตัวน้ำที่เป็นอัลคาไลน์ เป็นซิลิกา (Silica) ซึ่งมาจากดินเบาตัวนี้ ซึ่งมีซิลิกา (Silica) สูงมาก โดยมีถึง 74-76% และมันจะต่อยอดกับทางการเกษตรได้อีกเยอะมาก อีกทั้งข้อดีของดินเบาตรงนี้สามารถเอาไปเผาเป็นพลังงานได้”

คุณชาญวิทย์ เอนกสัมพันธ หญ้าเนเปียร์ในอาหารสัตว์ กล่าวว่า “หญ้าเนเปียร์ปลูกได้ปีนึงประมาณ 4-6 ในการตัดต่อครั้ง ซึ่งกระทรวงเกษตรเคยได้รับการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่นั้นปลูกหญ้าในเปียร์ แต่พอปลูกไปปลูกมาหายไปเลย เกษตรกรก็งงส่งเสริมให้เราปลูกแต่ทําไมคุณไม่มาทําอะไรต่อ…”

คุณชนเมศ เจนสถิตวงศ์ บริษัท มิดแลนเน็กซื จำกัด กล่าวว่า “เรามีการทดลองเอา ‘วัวที่ไม่ได้กิน’ กับ ‘วัวที่กิน’ มาเปรียบเทียบกัน ปรากฏว่าน้ำนมวัวเพิ่มขึ้นทุกตัวเลยในส่วนที่อัตราเฉลี่ย 1.6 กิโลต่อวัน”

อีกทั้งยังมีความคิดเห็นของผู้บริหารท่านอื่นที่ต่างแชร์มุมมองกัน ดังนี้

- “เนเปียร์จริง ๆ แล้วเป็นหญ้าที่ต้องมีน้ำเยอะ ๆ เพราะปัญหาของการเกษตรเราก็คือว่าหลังจากทําไปแล้วก็ถ้าขายไม่ได้ก็หยุด”
- “การปลูกเนเปียร์มันดีอย่างหนึ่ง เพราะมันใช้เครื่องจักรห่ออ้อยได้เลย กระบวนของการดูแลรักษาให้ปุ๋ยอะไรต่าง ๆ สามารถใช้เครื่องจักรอ้อยได้ ซึ่งถ้าหากเราจะทําเป็นแมสก์ เป็นอุตสาหกรรมมันจะไม่ยาก”
- “คําว่า ‘Zero Waste’ คํานี้เป็นคําที่ใหญ่มาก ๆ ถ้าเราดูในเรื่องของกระบวนการทั้งหมด มันคือการเพิ่มมูลค่าทั้งวงจรของการผลิตทางด้านการเกษตร ถ้าเราจะมาทํางานวิจัยที่เป็นชุมชน หมู่บ้าน หรือตําบล ภาคการเกษตร ก็จะมีรายได้มากขึ้น”

และปิดท้ายด้วย คุณวิชัย ทองแตง “ธุรกิจอาหารสัตว์ คือธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงที่สุด และนี่คือเรื่องใหญ่ของประเทศ ถ้าหากว่าคุณสามารถโตไปในทางเรื่องอาหารสัตว์ได้ คุณจะสามารถไปสู่เป้าหมายและประเทศไทยจะยิ่งใหญ่ได้…”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top