Monday, 12 May 2025
GoodsVoice

‘DRT’ จ่อเพิ่มกำลังผลิต ‘อิฐมวลเบา’ 2.9 ล้านตร.ม. รับดีมานด์พุ่ง คาด พร้อมเดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์ ภายในไตรมาส 2/2568

(19 ธ.ค. 66) บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร หรือ ‘DRT’ ประกาศแผนการลงทุนรอบใหม่ ขยายกำลังการผลิตอิฐมวลเบาเพิ่ม 2.9 ล้านตารางเมตร ภายใต้งบลงทุนประมาณ 648 ล้านบาท แก้ปัญหากำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดฯ คาดใช้เวลาดำเนินโครงการ 14 เดือน แล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2 ของปี 2568 เสริมศักยภาพการแข่งขัน สร้างการเติบโตในระยะยาว

นายสาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) หรือ ‘DRT’ ผู้ผลิตและจำหน่ายระบบหลังคา ไม้สังเคราะห์และบอร์ดไฟเบอร์ซีเมนต์, บอร์ดตกแต่งผนัง, อิฐมวลเบา, ไม้บันได SPC-FC, ร้านกาแฟสำเร็จรูป (DIAMOND CAFE) และบริการติดตั้งโครงหลังคาและกระเบื้องหลังคา ภายใต้เครื่องหมายการค้า ‘ตราเพชร’ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 มีมติอนุมัติแผนการลงทุนในโครงการติดตั้งเครื่องจักรผลิตสินค้าอิฐมวลเบา (AAC-2) ซึ่งถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากฐานการผลิตอิฐมวลเบาทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานในจังหวัดสระบุรีและเชียงใหม่ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 5,800,000 ตารางเมตรต่อปี มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเกือบเต็ม 100% ดังนั้น การลงทุนครั้งนี้จะช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันของ DRT เพื่อตอบสนองความต้องการใช้อิฐมวลเบาในงานก่อสร้าง ที่เพิ่มขึ้นของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับโครงการติดตั้งเครื่องจักรสายการผลิตอิฐมวลเบา (AAC-2) มีขนาดกำลังการผลิตประมาณ 2,900,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็นประมาณ 163,200 ตันต่อปี ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 648 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาจัดซื้อเครื่องจักรและติดตั้งประมาณ 14 เดือน และจะสามารถดำเนินการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถลดปัญหาการผลิตสินค้าที่ไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า ในช่องทางร้านค้าวัสดุก่อสร้างรายย่อยและห้างค้าปลีกวัสดุก่อสร้างได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงนำเสนอผลิตภัณฑ์อิฐมวลเบาเพื่อเพิ่มปริมาณการขายสินค้า ให้แก่ลูกค้ากลุ่มโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้ดียิ่งขึ้น

“อิฐมวลเบา เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดีจากดีมานด์ในตลาดที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากได้รับความนิยมใช้ในการก่อสร้างผนังทดแทนการใช้อิฐมอญแบบเดิมๆ ด้วยคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความร้อนและระยะเวลาการก่อสร้าง จึงมั่นใจว่า เมื่อเครื่องจักรใหม่ติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องจักรแล้ว จะทำให้การผลิตอิฐมวลเบามีความยืดหยุ่น และสามารถบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตที่ดีให้แก่ DRT ต่อไปในอนาคต” นายสาธิต กล่าว

‘พีระพันธุ์’ เผยข่าวดี!! ครม.ไฟเขียวตรึงค่าดีเซล-ก๊าซหุงต้ม 3 เดือน พร้อมลดค่าไฟกลุ่มเปราะบาง 3.99 บ./หน่วย เป็นของขวัญปีใหม่

(19 ธ.ค.66) นายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ได้มีการนำเสนอมาตรการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน โดยจะมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ค่าก๊าซแอลพีจีและก๊าซหุงต้ม ตรึงไว้ที่ 423 บาทต่อ 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเคยเป็นมาตรการเดิมภัยที่เคยช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางไปแล้ว

ขณะที่ค่าไฟฟ้า สำหรับกลุ่มเปาะบางที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 บาทต่อหน่วย ตรึงราคาค่าไฟที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะช่วยเหลือได้ 17 ล้านราย ทั้งนี้ ต้องขออภัยกลุ่มภาคครัวเรือน ไม่สามารถยืนอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยได้ แต่รัฐบาลได้พยายามเต็มที่ไม่ให้เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย

ส่วนจะได้ตัวเลขได้เท่าไร ขอดูตัวเลข 1 ม.ค. 67 ก่อน เพราะพบว่ามีแนวโน้มราคาก๊าซในตลาดโลกเริ่มลดลง ดังนั้น ณ วันที่ 1 ม.ค. อาจต่ำกว่าราคาในวันนี้ ซึ่งตอนแรกตนเองเตรียมราคาที่กำหนดไว้ แต่หากกำหนดไปแล้วยังลดค่าไฟลงไปได้อีก ซึ่งจะไม่เป็นไปตามมติ ดังนั้นจึงขอดูราคาสถานการณ์ก๊าซ ณ วันที่ 1 ม.ค. 67 ก่อน

ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาถือเป็นมาตรการระยะสั้น ภายใต้โครงสร้างเดิมที่ใช้มานานกว่า 40 ปี ซึ่งส่วนตัวคิดว่า ไม่เหมาะสม และตนเองได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารื้อระบบโครงสร้างราคาค่าไฟและน้ำมันแล้ว ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ และถือเป็นมาตรการระยะยาวที่ต้องใช้เวลา ระหว่างนี้ที่รอมาตรการระยะยาวสิ่งไหนทำได้ก็ทำก่อนภายใต้โครงสร้างแบบเดิม และทำให้ดีที่สุดทุกเรื่อง เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน

นายพีระพันธุ์ ยังชี้แจงที่ไม่สามารถกำหนดที่ชัดเจนได้ว่า การผลิตไฟฟ้ามีวัตถุดิบที่นำมาผลิตไฟฟ้า 3 อย่างหลักๆ คือ 1.ถ่านหิน ซึ่งไทยยังมีใช้อยู่ เป็นราคาที่ถูกที่สุดและมีการใช้พลังน้ำบ้างบางส่วน 2.ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งยังเป็นประเด็นใหญ่ในวันนี้ 3.พลังงานสะอาด จากพลังงานแสงแดด ลม ชีวมวลต่างๆ โดยทั้ง 3 อย่างคือวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าและมีต้นทุนแตกต่างกัน ที่สำคัญมีสัญญาเดิมที่ทำไว้กับผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น เมื่อหลาย 10 ปีที่แล้ว ตนเองกำลังแก้ไขอยู่ รวมถึงแก้ไขโครงสร้างของก๊าซที่ต้องปรับรูปแบบจะดำเนินการอย่างไร ให้หลุดบ่วงราคาตลาดโลก ซึ่งถือเป็นแนวโน้มในการวางระบบและโครงสร้างใหม่ของด้านวัตถุดิบที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งหากควบคุมตรงส่วนนี้ได้ ทำให้ราคาวัตถุดิบอยู่ภายใต้การควบคุมรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งสามารถทำให้ลดราคาไฟฟ้าลงมาได้โดยระบบของมันเอง ไม่ใช่แบบมติครม. แต่ต้องใช้เวลาในการศึกษารูปแบบ ผลกระทบ รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องต้องรับฟังความคิดเห็น ซึ่งตนเองจะพยายามทำให้เป็นรูปเป็นร่างภายในปี 2567 นี้

นายพีระพันธุ์ กล่าวถึง กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเตรียมพบหารือกับนายฮุน มาเนตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในปี 67 นี้ จะมีการหารือเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางพลังงานระหว่างไทยกับกัมพูชา หรือไม่ว่า เรื่องนี้ต้องดำเนินการต่อ เพราะเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขและผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว ซึ่งส่วนตัวมองว่า จะเอาเรื่องเขตแดนกับเรื่องพลังงานมารวมกันจะหาข้อยุติได้ยาก เพราะเรื่องเขตแดนเป็นเรื่องต้องใช้เวลา ซึ่งส่วนตัวมองว่า การเจรจาเรื่องเขตแดนไม่มีประเทศใดในโลกตกลงถอยหลังกันได้ง่าย แต่ไทยต้องมีความพยายามหาทางยุติลงให้ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงในเรื่องนี้และตนก็เป็นกังวล เนื่องจากอยากใช้พลังงานในพื้นที่ตรงนั้น เพราะก๊าซธรรมชาติที่ไทยมีก็หมดไปทุกวัน หากไม่มีแหล่งใหม่มาเสริมหรือรองรับก็จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ดังนั้นเรื่องนี้เป็นสำคัญในการเจรจา

‘EGCO Group’ ชูแผนขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน มุ่งเป้า ‘ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’

(19 ธ.ค. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ร่วมสนับสนุนการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 2023 (International Conference on Biodiversity: IBD 2023) พร้อมร่วมจัดบูธนิทรรศการ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในเวทีสัมมนา ในหัวข้อ ‘EGCO Group บนเส้นทางของความยั่งยืน สู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ เพื่อร่วมแสดงพลังกับเครือข่ายองค์กรทั้งในและต่างประเทศในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพและการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้จัดขึ้น ณ อาคารหอรัชมงคล สวนหลวง ร.9 กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมกว่า 600 คน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า ภายใต้การดำเนินธุรกิจบนวิสัยทัศน์ “เป็นบริษัทไทยชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยความใส่ใจที่จะธำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม” EGCO Group ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในทุกพื้นที่ที่ดำเนินกิจการรวม 8 ประเทศ ทั้งในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยความเชื่อขององค์กรที่ว่า ‘ต้นทางที่ดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี’ โดยมุ่งเน้นการควบคุมและลดผลกระทบเชิงลบจากกิจการและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งธุรกิจของ EGCO Group เป็นธุรกิจต้นทางที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ ‘Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth’ เพื่อสนองตอบและมีส่วนร่วมต่อเป้าหมายดังกล่าว และก้าวข้ามข้อจำกัดสู่ยุคเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นายวรพงษ์ สินสุขถาวร ผู้จัดการฝ่ายแผนงาน EGCO Group ในฐานะวิทยากรบรรยายพิเศษบนเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการภายในงานนี้ กล่าวว่า EGCO Group ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่สังคมคาร์บอนต่ำไว้ที่ 3 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะสั้น คือ การลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) ลง 10% และการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2030 เป้าหมายระยะกลาง คือ การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2040 และเป้าหมายระยะยาว คือ การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 

ภายใต้เป้าหมายดังกล่าวนี้ EGCO Group ได้วางโรดแมปการดำเนินกิจการจะต้องไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (No Net Loss) และมุ่งมั่นลดผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพจากกิจกรรมตลอดทั้งวงจรชีวิตของโครงการโรงไฟฟ้า รวมทั้งไม่ประกอบกิจการโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ใกล้กับพื้นที่ที่เป็นเขตป้องกันขององค์การระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature: IUCN) หรือเป็นพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (World Heritage areas) ตลอดจนหลีกเลี่ยงการตัดไม้ทำลายป่าสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด (No Gross Deforestation) และมุ่งดำเนินธุรกิจโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้สุทธิ (Net Zero Deforestation) โดย EGCO Group ได้ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทยผ่าน ‘มูลนิธิไทยรักษ์ป่า’ องค์กรสาธารณกุศลที่ EGCO Group ก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี

ปตท. ร่วมพัฒนาโรงเรียนแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ มอบอาคารเรียน 2 ชั้น ‘โรงเรียนวัดเปร็งราษฎร์บำรุง’

เมื่อไม่นานมานี้ นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารเรียนโรงเรียนวัดเปร็งราษฎร์บำรุง ร่วมด้วย นายกรกฏ บุญญามิ่ง นายอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และ นางกฤติยา โพธิ์เสนา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 2 พร้อมด้วยผู้บริหาร ปตท. และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมเป็นสักขีพยาน

ปตท. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการส่งเสริมด้านการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่แนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยอาคารเรียนดังกล่าว เป็นอาคารเรียนสองชั้น ได้ดำเนินการก่อสร้างโดย ปตท. ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่และสร้างสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้เหมาะสมต่อการจัดการเรียนการสอน ซึ่งพร้อมส่งมอบให้โรงเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

‘ปตท.’ ผนึก ‘GISTDA’ มุ่งต่อยอดธุรกิจดาวเทียม เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 66 ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วย ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ. หรือ GISTDA) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านธุรกิจใหม่จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อแสวงหาโอกาสในด้านธุรกิจอวกาศทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream) อาทิ ระบบและบริการออกแบบและผลิตดาวเทียม การขนส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศ การสำรวจและวิจัยในอวกาศ การประยุกต์ใช้วัสดุคาร์บอนขั้นสูง (Advanced Carbon Material) จากกลุ่ม ปตท. เพื่อเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไปยังธุรกิจปลายน้ำ (Downstream) ที่ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับข้อมูลดาวเทียม 

ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ การประเมินคาร์บอนในพื้นที่สีเขียว เพื่อนำไปสู่การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมดาวเทียมเพื่อเทคโนโลยีพลังงานใหม่ สอดรับกับวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ของ ปตท.

‘ปตท.’ รับโล่เชิดชูเกียรติ ‘ANTI-CORRUPTION AWARDS 2023’ สะท้อนองค์กรยึดหลักธรรมาภิบาล ปฏิบัติงาน ‘โปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต’

เมื่อไม่นานมานี้ นางสาวศรีศุกร์ บุญเพ็ชร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาศักยภาพองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นผู้แทน ปตท. รับโล่เชิดชูเกียรติ ‘ANTI-CORRUPTION AWARDS 2023’ รางวัลส่งเสริมธรรมาภิบาล ประจำปี 2566 ประเภทองค์กร จากสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลฯ เพื่อยกย่องเชิดชูองค์กร หน่วยงาน และสื่อมวลชน รวมถึงบุคลากรที่ยึดหลักธรรมาภิบาลและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต สอดคล้องการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมการดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล มีการกำกับกิจการที่ดี ตลอดจนปลูกฝังวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ อันเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อต้านการคอร์รัปชัน และพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน

‘กสทช.’ ยัน!! ตรวจผลทำงาน ‘ทรู-ดีแทค’ ละเอียดยิบ พบ ‘คุณภาพสัญญาณ-ค่าบริการ’ ยังทำตามเงื่อนไข

(19 ธ.ค.66) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า จากการติดตามตรวจสอบหลังการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ทางสำนักงาน กสทช. ยืนยันว่าคณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบและประเมินตามมาตรการเยียวยาของการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC ได้มีการดำเนินการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการตรวจสอบจะต้องเสนอรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. รับทราบก่อนจึงจะมีการเปิดเผยได้ หลังรวมธุรกิจฯ ทาง TRUE ก็ได้มีการส่งรายงานมาแล้วและมีการจัดทำรายงานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากคณะอนุกรรมการฯ หมดวาระลงในวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นพบว่า TRUE ยังคงยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขภายหลังการรวมธุรกิจ TRUE-DTAC มาโดยตลอด แต่ปัญหาอาจเกิดจากการสื่อสารที่ออกไปยังสาธารณะ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดก่อให้เกิดความสับสนของผู้ได้รับข้อมูล อาทิ ประเด็นการลดเสาสัญญาณ ทำให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง ซึ่ง TRUE ได้มีการชี้แจงข้อมูลในประเด็นที่มีการร้องเรียนเรื่องของเสาสัญญาณที่มีจำนวนมาก โดยภายหลังการรวมธุรกิจรวม TRUE-DTAC จะต้องมีการสำรวจพื้นที่จุดซ้ำซ้อน และทำการโยกย้ายสถานีฐาน ไปในจุดที่สัญญาณดีกว่าไปรวมไว้กับเสาที่คงไว้ ก่อนจะยุบเสาเปล่าออกไป เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษทางสายตา และยืนยันว่าคุณภาพการส่งสัญญาณยังคงเดิม แต่ได้มีการตำหนิ TRUE เกี่ยวกับการแจ้งดำเนินการยุบเสาสัญญาณและย้ายสถานีฐานให้ผู้ใช้บริการรับทราบก่อน

ทั้งนี้ ในส่วนของการประเด็นเกี่ยวกับอัตราค่าบริการที่เฉลี่ยลดลง 12% จะใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการแต่ละรายการส่งเสริมด้านการขายภายใน 90 วัน หลังจากที่ได้มีการรวมธุรกิจ ทาง TRUE ได้ส่งข้อมูลให้สำนักงาน กสทช.ตรวจสอบ โดย กสทช.ได้ทำการสุ่มตรวจสอบข้อมูล ซึ่งการลดราคาในการลดค่าเฉลี่ยว่าแพ็กเกจไหนประชาชนใช้เยอะ กสทช.จะนำมาเฉลี่ยผลลัพธ์ออกมา จากการตรวจสอบก็พบว่า TRUE ยังทำตามมาตรฐานที่ได้กำหนด

สำหรับการเฉลี่ยราคาโดยการถ่วงน้ำหนักจากแพ็กเกจที่มีผู้ใช้มาก ที่ว่าลดลง 12% นั้น ค่าเฉลี่ยนั้นคือราคาเท่าไหร่นั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ต้องเสนอ บอร์ด กสทช. รับทราบก่อน ขณะที่ประเด็นของแพ็กเกจราคา 299 บาท และมีแพ็กเกจอื่นๆ ที่หายไปยืนยันว่าปัจจุบันยังมีการให้บริการอยู่ เมื่อครบกำหนดใช้บริการ 30 วัน แพ็กเกจจะหมดอายุ ผู้ให้บริการจะให้ผู้บริโภคเลือกว่าจะต่อแพ็กเกจเดิม หรือใช้แพ็กเกจใหม่ที่กำหนดได้ไม่มีการบังคับการเลือกใช้แพ็กเกจ รวมถึงข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณที่ก่อนควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC มีจำนวน 944 เรื่อง แบ่งเป็นของ TRUE  637 เรื่อง และ DTAC 307 เรื่อง และหลังควบรวมธุรกิจมี 836 เรื่อง โดยมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณแค่ 17 เรื่อง

ด้าน พ.ต.อ. ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำประธาน กสทช. ด้านกฎหมาย กล่าวว่า หลังการรวมธุรกิจของ TRUE-DTAC นั้น จากข้อมูลได้มีการตรวจสอบที่ชัดเจนเริ่มที่กระบวนการติดตามการดำเนินการเรื่องควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC ตามเงื่อนไขหลังควบรวมทั้งสิ้น 19 ข้อ ซึ่งที่ผ่านมา TRUE ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขในระยะเวลาที่กำหนด มีเพียงเรื่องการว่าจ้างคณะที่ปรึกษามาประเมินเรื่องราคาและคุณภาพ ตามเงื่อนไข ซึ่งติดที่คณะอนุฯ หมดวาระและได้ขยายระยะเวลาการทำงานของคณะอนุฯ นี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้เป็นข้อมูลของประธานอนุกรรมการผู้บริโภค ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการติดตามฯ เป็นเหตุที่ทำให้บอร์ด กสทช.ทั้ง 4 ท่าน ทำเรื่องเสนอประธาน กสทช. นำเรื่องเข้าที่ประชุม โดยเรื่องการติดตามหลังควบรวมธุรกิจฯ ได้ถูกบรรจุในวาระการประชุมมาโดยตลอด แต่การประชุมครั้งที่ผ่านๆมา ยังไม่มีการพิจารณา ซึ่งในการประชุมบอร์ด กสทช. ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ จะมีการนำเรื่องนี้มาหารือ

‘คมนาคม’ ถกแนวทางช่วยเหลือ ‘แท็กซี่-รถโดยสารประจำทาง’ บูรณาการทุกภาคส่วน แก้ปัญหา ‘ค่าโดยสาร-ก๊าซ’ ให้เหมาะสม

(19 ธ.ค. 66) ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมหารือและรับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการ สมาคม สหกรณ์ ผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่ และรถโดยสารประจำทางเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมี นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ผู้แทนกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ 

จากกรณีที่กลุ่มผู้ประกอบการ สมาคม สหกรณ์ ผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่ และกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ยื่นหนังสือเพื่อทวงถามความคืบหน้าแนวทางการให้ความช่วยเหลือในประเด็นต่าง ๆ สรุปดังนี้

1) กรณีผู้ประกอบการและผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่ ขอปรับอัตราค่าโดยสารนั้น กระทรวงคมนาคมมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือ แบ่งเป็นระยะสั้น จะประสานข้อมูลให้ TDRI พิจารณาวิเคราะห์อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ขับรถแท็กซี่ และในระยะยาว กรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการจ้างศึกษาโครงสร้างค่าโดยสารใหม่และรูปแบบมาตรค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อไป

2) กรณีค่าขอให้ช่วยเหลือด้านราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) และแก๊สแอลพีจีที่ใช้กับรถแท็กซี่นั้น กระทรวงพลังงานจะพิจารณาความช่วยเหลือเรื่องต้นทุนค่าพลังงานของผู้ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะ และแจ้งผลให้กระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบกทราบ เพื่อร่วมพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาในภาพรวมร่วมกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมในการกำกับดูแลของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินการด้วยความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาล และกฎหมาย รวมถึงให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน

'ทุนอินเดีย' ทุ่ม 4.5 พันล้าน ซื้อ RD แฟรนไชส์ KFC ในไทย มั่นใจ!! ตลาดบริโภคสัตว์ปีกในไทย 'แข็งแกร่ง-เติบโต'

(19 ธ.ค.66) RD หรือ Restaurants Development หนึ่งในผู้บริหารแฟรนไชส์ของ KFC ในประเทศไทย ซึ่งมีสาขา 274 สาขา ประกาศผนึกพันธมิตรใหม่ Devyani International DMCC บริษัทในเครือ Devyani International Limited หรือ DIL หวังช่วยสปีดสาขา

โดย RD ระบุว่า กลุ่มบริษัท DIL ในประเทศอินเดียเป็นกลุ่มบริหารจัดการขนาดใหญ่ในสายธุรกิจ QSR/LSR ให้กับแบรนด์ระดับโลก อย่าง KFC, Pizza Hut, Costa Coffee และกลุ่มธุรกิจในเครือ โดยมีเครือข่ายสาขามากกว่า 1,350 แห่งทั่วโลก ในความร่วมมือนี้ Devyani International DMCC บริษัทในเครือ Devyani International Limited (DIL) เซ็นสัญญาลงทุนในบริษัท RD เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจ QSR ในประเทศไทย

หลังจากนับตั้งแต่ปี 2559 ซึ่ง RD เริ่มเข้ามาเป็นแฟรนไชส์ร้าน KFC จำนวน 127 สาขา ภายในระยะเวลา 7 ปี RD สามารถขยายร้าน KFC ได้ถึง 274 สาขาในเดือนกันยายน 2566

ทั้งนี้ RD ย้ำว่า การทำธุรกรรมดังกล่าวยังอยู่ภายใต้การอนุมัติตามกฎระเบียบและการอนุมัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน เดือนมีนาคม 2567

“พันธมิตรทางธุรกิจระหว่าง DIL และ RD ต่างมีจุดมุ่งหมายในการขยายเครือข่ายสาขาในประเทศไทยผ่านความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการทางธุรกิจของทั้งสองบริษัท ยกระดับประสบการณ์ที่ดีของลูกค้ารวมไปถึงชุมชนต่าง ๆ”

ทั้งนี้ รอยเตอร์ รายงานว่า ข้อตกลงดังกล่าว มีมูลค่า 128.9 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4,500 ล้านบาท และคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2567 โดยการเข้าซื้อนี้ ได้ดำเนินการผ่านหน่วยงานในดูไบ ที่ถือหุ้นอยู่ 51% ในขณะที่บริษัท เทมาเส็ก เป็นเจ้าของส่วนที่เหลือ

แถลงการณ์ของ DIL ระบุว่า ประเทศไทยเป็นตลาดสัตว์ปีกที่แข็งแกร่ง ในด้านการบริโภคเนื้อสัตว์ และเชื่อว่ามีโอกาสสำหรับตลาดที่จะเติบโต การซื้อกิจการครั้งนี้ จะเพิ่มสาขา KFC ในอินเดีย เนปาล และ ไนจีเรีย รวม 500 แห่ง และยังดำเนินธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน (QSR) อื่นๆ ในอินเดีย เช่น Pizza Hut และ Costa Coffee

สำหรับ Restaurants Development มีพนักงานในเครือมากกว่า 4,500 คน 

‘พิซซ่า ฮัท' เปิดตัว ‘Super Limo’ ยาวถึง!! 1.2 เมตร ราคา 1,200 บาท เอาใจสายปาร์ตี้ช่วงเทศกาลปีใหม่

(20 ธ.ค.66) พิซซ่า ฮัท 1150 แบรนด์พิซซ่าที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรมเมนูอาหาร เปิดตัวพิซซ่า ‘Super Limo (ซูเปอร์ ลิโม่)’ ที่รวมเอาพิซซ่าหน้า Best Seller 8 หน้า รวมพิซซ่ากว่า 48 ชิ้น ขนาดความยาวถึง 1.2 เมตร คุ้มกว่า เยอะกว่า ของแท้จากอเมริกา แถมด้วยเมนูของทานเล่นจุกๆ อีก 5 อย่าง ในราคาเพียง 1,200 บาท เท่านั้น (จากปกติ 2,416 บาท) เอาใจสายปาร์ตี้ช่วงเทศกาลปีใหม่ กับแก๊งเพื่อนหรือกับแฟมมิลี่ เติมเต็มประสบการณ์ความอร่อยแบบฟินไม่รู้จบ โดยพิซซ่า ฮัท เปิดรับพรีออร์เดอร์ล่วงหน้า 3 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 จนถึง 15 มกราคม 2567

เมนู Super Limo (ซูเปอร์ ลิโม่) Fulfill Party Experience ให้สนุกยิ่งขึ้น อร่อยจบครบในกล่องเดียว รวมความอร่อยทั้งพิซซ่าหน้า Best Seller มาให้ถึง 8 หน้า พิซซ่า 48 ชิ้น และของทานเล่นจุกๆ อีก 5 อย่าง

>> พิซซ่า 48 ชิ้น 8 หน้าฮิต

- Pepperoni and Hawaiian
- Ham&Cheese and New Orleans&Sausage
- Hokkaido Super Cheese and Island Delight
- Seafood Extreme and Super Supreme

>> ของทานเล่น 5 อย่าง

- Cheesy Garlic Toast 4 ชิ้น
- Fish Donut 6 ชิ้น
- Curly Fries 1 เซ็ท
- Chicken Pop 18 ชิ้น
- Cheesy Pop 8 ชิ้น
- ซอส BBQ
- ซอสเทาซันด์ไอแลนด์

ทั้งนี้ พิซซ่า ฮัท เปิดรับพรีออร์เดอร์ Super Limo สามารถสั่งได้ผ่านช่องทางโทร 1150


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top