Tuesday, 13 May 2025
GoodsVoice

‘ESG Investing’ แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือไม่? ในวันที่ ‘การฟอกเขียว’ เพื่อลวงลงทุน ก็เริ่มแพร่หลาย

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ESG Investing แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือ?' เมื่อวันที่ 14 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เนื่องจากปัจจัยหลายประการบ่งชี้ว่าปี 2567 จะเป็นปีทองแห่งการลงทุนไทย จึงเป็นโอกาสอันเหมาะที่จะพิจารณาการลงทุน ESG ซึ่งเป็นกระแสการลงทุนที่กำลังมาแรงในขณะนี้ทั้งในตลาดโลกและตลาดไทย 

มีรายงานว่ากองทุน ESG ทั่วโลกมีทรัพย์สินภายใต้การบริหารอยู่ไม่น้อยกว่า 7.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวใน 6 ปี ที่ผ่านมา ขณะที่ในประเทศไทยก็มีการระดมทุนผ่านกองทุนรวม ESG เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และล่าสุดรัฐบาลได้ให้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นพิเศษสำหรับเงินลงทุน ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ในกองทุนรวมไทยยั่งยืน (Thailand ESG Fund) ซึ่งได้รับความสนใจพอสมควรจากนักลงทุน และคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนระยะยาว (8 ปี) ในหลักทรัพย์ ESG ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

โดยธรรมชาติแล้ว หลักการลงทุนและหลักการ ESG มีพื้นฐานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงธุรกิจลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนทางการเงิน ซึ่งหน้าที่ของบริษัทคือ การบริหารจัดการกิจการให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นภายใต้กรอบกฎหมายของสังคม แต่การดำเนินการดังกล่าวมักก่อให้เกิดผลกระทบภายนอก (Externalities) อันเป็นต้นทุนแก่สังคมหรือบุคคลที่สามที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อาทิเช่น การปล่อยคาร์บอนไปในอากาศ การละเมิดสิทธิของแรงงาน การไม่เหลียวแลชุมชนที่กิจการตั้งถิ่นฐานอยู่ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น 

กลับกันหลักการ ESG จะมุ่งที่การนำปัจจัยทางสังคม 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลให้ภาคธุรกิจมีความประพฤติดีทางด้านสังคม เพิ่มเติมจากการทำหน้าที่เพื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนปรัชญาของการลงทุนอย่างสิ้นเชิง ส่วนจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมหรือไม่ หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ น่าจะเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

อันที่จริงแล้ว ESG Investing ไม่ใช่เรื่องใหม่และเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 20 ปี ในตลาดสหรัฐฯ ส่วนประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ริเริ่มการพัฒนาแนวปฏิบัติ ESG ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเริ่มจาก... 

G (Corporate Governance) หรือบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นมูลเหตุพื้นฐานของการเกิดวิกฤต โดยได้กำหนดโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนให้มีกรรมการอิสระ (Independent Directors) การกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) การพัฒนาความรู้ด้าน CG โดยจัดตั้งสถาบันกรรมการ (Institute of Directors) การจัดทำมาตรฐาน ประเมินและให้รางวัล บริษัทจดทะเบียนเป็นต้น ต่อมาได้เริ่มวางมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติด้าน 

S (Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีการบริหารจัดการความสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า หรือแม้แต่ชุมชน รวมทั้งมีการประเมินและมอบรางวัลเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี ตัวแปรที่กำลังมาแรงคือ E (Environment) หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกสีเขียวที่มาพร้อมกับความวิตกกังวลกับปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ดังนั้น ตลท. และ ก.ล.ต. จึงได้กำหนดแนวทางให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างครบถ้วนโปร่งใส ที่เรียกว่า แบบ 56-1 One Report ทั้งนี้มิติด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเปิดเผย ได้แก่ การจัดการพลังงาน การจัดการน้ำ การจัดการขยะและของเสีย และการจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ตลอดจนมีการจัดทำการประเมินและดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index) เพื่อเป็นข้อมูลกับนักลงทุน

การนำมิติต่างๆ ทั้ง 3 ด้านมาประกอบการตัดสินใจลงทุน อย่างน้อยก็น่าจะทำให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มิติต่างๆ เหล่านี้มีความสลับซับซ้อนหลากหลายและมิใช่มิติทางการเงิน (Non-financial) จึงยากที่นำมาประกอบการตัดสินใจอย่างถูกต้องแม่นยำเมื่อเปรียบเทียบกับมิติทางการเงิน (Financial) ที่มีมาตรฐานการบัญชีรองรับ แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลพยายามจัดทำคู่มือ มาตรฐานรวมทั้งดัชนีในการประเมินความดีทางสังคม แต่การจัดอันดับ ESG (ESG Ratings) ก็ยังไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดอันดับเครดิต (Credit Ratings) 

นอกจากนี้ การนำเอาตัวแปรจำนวนมากใน 3 กลุ่มรวมกันเป็นดัชนีตัวเดียวน่าจะไม่ถูกต้องในทางทฤษฎี เพราะตัวแปรแต่ละกลุ่มอาจขัดแย้งกันเอง (Tradeoff) เช่น ธุรกิจที่มี CG ไม่ดีอาจจะเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมการลดคาร์บอนก็เป็นไปได้ ตัวแปรหลายตัวก็มีปัญหาในการวัดเชิงปริมาณและจำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจในการให้คะแนน โดยเฉพาะตัวแปรด้านความรับผิดชอบทางสังมและด้าน CG ตัวแปรที่น่าจะวัดเชิงปริมาณได้ง่ายที่สุดน่าจะเป็นตัวแปรด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก

โดยหลักการแล้ว การลงทุน ESG จะให้ผลตอบแทนทางการเงินต่ำกว่าการลงทุนทั่วไป เนื่องจากธุรกิจจะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากการจัดการภารกิจทางสังคม กิจกรรมทางสังคมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือชุมชนหรือการควบคุมมลพิษ ล้วนนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และยังอาจนำมาซึ่งการแทรกแซงจากภายนอกอันเป็นการบิดเบือนภารกิจหลักของธุรกิจในการสร้างผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะไม่มีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหาร 

อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้านการลงทุน ESG ก็เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา อย่างในสหรัฐฯ ถึงขั้นมีการออกกฎหมายในบางรัฐ เช่น ฟลอริดา ห้ามมิให้นำปัจจัย ESG มาใช้ในการตัดสินใจลงทุนของกองทุนภาครัฐ กรณีการฟอกเขียว (Greenwashing) ซึ่งหมายถึงการหลอกลวงนักลงทุนโดยใช้กฎเกณฑ์ ESG เป็นเครื่องบังหน้า จนมีการจับกุมผู้บริหารกองทุนหลายแห่ง ซึ่งเห็นอยู่บ่อยครั้งทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ การกดดันธุรกิจโดยใช้กลไกตลาดทุนมาจัดระเบียบทางสังคม อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด และอาจทำให้สังคมละเลยบทบาทของรัฐบาลในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งๆ ที่รัฐบาลถืออำนาจรัฐที่จะจัดการกับผู้สร้างมลพิษ การแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ดีที่สุดคือ การลดการปล่อยคาร์บอน โลกได้พัฒนาเครื่องมือที่อิงกลไกตลาดที่ตั้งอยู่บนหลักการ Polluters Pay Principle กล่าวคือ ผู้ปล่อยมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตน 

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่รัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะจัดกลไกกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) และจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งสะท้อนต้นทุนทางสังคมอย่างแท้จริง 

การเก็บภาษีคาร์บอนต้องอาศัยความกล้าหาญทางการเมือง แต่จะเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตรงประเด็นกว่าการใช้กลไกตลาดทุน

ESG Investing ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะบิดเบือนการทำงานของตลาดทุน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

‘นายกฯ’ พร้อมตั้ง ‘สำนักงานส่งเสริมอาหารฮาลาล’ รองรับการพัฒนา-ส่งออกฮาลาลไทย กระตุ้น ศก. ปี 67

(5 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่าน X ระบุว่า… “ไทยมีศักยภาพสูง และพร้อมส่งออกอาหารฮาลาล โดยรมว.อุตสาหกรรม, เลขาธิการ BOI, รองผู้ว่าการนิคมแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นำเสนอแผนการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยปี 67 โดยตั้งสำนักงานส่งเสริมอาหารฮาลาล (องค์กรมหาชน) เพื่อทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ และพัฒนาด้านอาหารฮาลาลอย่างจริงจัง”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “จากนั้นพูดคุยถึงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากประเทศใกล้เคียง อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ซาอุดีอาระเบีย และกระทรวงอุตสาหกรรมเล่าถึงความคืบหน้าเรื่องการปลูก และการแปรรูปโกโก้ ที่ผมได้สั่งการไป เพราะเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก กระทรวงฯ ได้เริ่มโครงการนี้แล้วที่ จ.สระแก้ว เพื่อเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดต่าง ๆ”

‘จิรวัฒน์’ เลคเชอร์!! โครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย 67 ความคืบหน้า ‘เส้นทางรถไฟ-รถไฟฟ้า’ เดินหน้าน่าพอใจ

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ คุณจิรวัฒน์ จังหวัด เจ้าของเพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.67 ถึงความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในปี 2567 โดยช่วงหนึ่งของรายการ คุณจิรวัฒน์ ได้อัปเดตเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของระบบโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟไทย ไว้อย่างน่าสนใจว่า...

ตอนนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดใช้ทางคู่สายใต้ ตั้งแต่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายใต้ สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน รวมถึงสามารถขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทุกภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย 

ทั้งนี้การรถไฟฯ ได้ตรวจสอบความพร้อมของโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนในเส้นทางสายใต้ ‘ช่วงนครปฐม-หัวหิน’ และ ‘ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์’ รวมถึง ‘ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร’ โดยพบความก้าวหน้าใกล้จะแล้วเสร็จทั้งหมด พร้อมกำหนดเปิดใช้ทางคู่ในช่วงแรก ระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตรในช่วงเมษายนนี้ เพื่อช่วยลดเวลาในการเดินทาง เพิ่มความเร็วและความปลอดภัยในการเดินขบวนรถ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง และถึงจุดหมายปลายทางเร็วขึ้น ประมาณ 1.30 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเดินรถ ทำให้การรถไฟฯ สามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า 

“ตรงนี้ จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์ ที่สำคัญรถไฟทางคู่ยังช่วยกระจายโอกาสทางสังคมการเติบโตทางเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย เป็นการพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียน” คุณจิรวัฒน์ กล่าว

ส่วนรถไฟสายใหม่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ คุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า ตอนนี้ได้มีการออกแบบสถานี เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ล้านนาอย่างโดดเด่นสวยงาม สอดคล้องบริบทท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยว ขณะเดียวกันเส้นทางนี้ ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมโยงภูมิภาค และประเทศเพื่อนบ้าน ในการขนส่งสินค้า ฉะนั้นการพัฒนาโครงสร้างอาคารสถานีดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นอันดีต่อการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ ในแง่ของการสร้างความประทับใจแรกเห็น (First Impression) แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างมาก 

คุณจิรวัฒน์ ขยายความต่ออีกว่า นอกจากนี้ในส่วนของสถานีเชียงของ ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า ที่จะเชื่อมโยงระหว่างประเทศ เชื่อม ‘ไทย-ลาว-พม่า-จีน’ โดยการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารต่อเนื่องระหว่างประเทศจะเชื่อมโยงผ่านสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 4 รวมถึงยังเป็นสถานีรถไฟโดยสาร และ โรงซ่อมบำรุง ไว้ในที่เดียวกันด้วย ซึ่งถือเป็นจุดประสงค์หลักของโครงการรถไฟสายใหม่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ สายนี้ 

ส่วนความคืบหน้าของรถไฟความเร็วสูง ‘สายกรุงเทพ-โคราช’ คุณจิรวัฒน์ เผยถึงความคืบหน้าว่าอยู่ที่ประมาณ 28% โดยอาจจะมีบางส่วนช้าอยู่ในเรื่องของพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน แต่ที่สระบุรี และปากช่องก็เริ่มมีขุดเจาะวางเสาเข็มกันบ้างแล้ว ส่วนการก่อสร้างที่พระนครศรีอยุธยา ยังคงต้องรอข้อสรุปกันอยู่ 

สำหรับ ‘เส้นทางมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี’ นั้น ในปี 2567 น่าจะได้เริ่มใช้จาก ‘นครปฐม’ ไป ‘กาญจนบุรี’ ก่อน ส่วนเส้นทาง ‘กรุงเทพ-โคราช-บางปะอิน-นครราชสีมา’ นั้น หากมองในส่วน ‘โคราช-ปากช่อง’ ได้เปิดใช้งานมาก่อน และตอนนี้จะเปิดให้บริการแบบ 100% ฟรี เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี 

ในส่วนของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ คุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า สายสีม่วงใต้ ‘เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ’ ซึ่งทำเป็นอุโมงค์เสียส่วนใหญ่ และประมาณ 60% วิ่งเข้าเกาะรัตนโกสินทร์ (จะมีการลอดแม่น้ำเจ้าพระยาตรงวงเวียนใหญ่ สะพานพุทธ) มีระยะดำเนินการมาประมาณ 2 ปี พบความคืบหน้าอยู่ที่ประมาณ 22% ซึ่งถือว่าคืบหน้าพอสมควร คาดว่าปี 2570-2571 น่าจะแล้วเสร็จ ส่วนอีกเส้นหนึ่ง คือ สายสีชมพู เปิดบริการ 100% วิ่งผ่าน ‘แจ้งวัฒนะ-มีนบุรี’ 

ทิ้งท้ายกับ แผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP2 ก็ได้มีการวิเคราะห์ลงรายละเอียดไปถึงบ้านเรือนของประชาชนกับที่ทำงาน ว่าจะมีการเดินทางอย่างไร โดยมีการมองภาพกว้างที่ไม่ใช่จำกัดแค่ในกรุงเทพฯ แต่จะครอบคลุมไปถึงปริมณฑลด้วย เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป

'อ.พงษ์ภาณุ' กระตุก 'แบงก์ชาติ' ถึงเวลาลดดอกเบี้ย เตือน!! หยุดดื้อรั้น ก่อนพาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ความเสี่ยง

(7 ม.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นดอกเบี้ยในเมืองไทยที่ควรถึงเวลาลดลงได้แล้ว ว่า...

ธนาคารกลางเป็นสถาบันที่มีความสำคัญที่สุดสถาบันหนึ่ง ทุกคนเห็นตรงกันว่าธนาคารกลางควรจะเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองในการดำเนินนโยบายการเงิน หากธนาคารกลางมีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ

วันนี้ น่าจะต้องทบทวนความคิดดังกล่าวแล้ว เพราะช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดมาโดยตลอด ก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ในลักษณะวัฏจักรธุรกิจการเมือง (Political Business Cycle) 

เริ่มตั้งแต่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของโลกรอบที่แล้ว ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ที่ FED ปรับดอกเบี้ยขึ้นจากระดับเกือบศูนย์มาเป็น 5.5% แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับรีรอไม่ยอมปรับดอกเบี้ยในประเทศ ด้วยความเกรงใจรัฐบาลที่แล้ว จนเงินเฟ้อของไทยพุ่งสูงขึ้นเป็นกว่า 6% ในปี 2565 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก พอการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นและมีการตั้งรัฐบาลใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมาเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบและหลุดกรอบล่างของ Inflation Targeting ไปเสียแล้ว ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2566 ก็น่าจะติดลบเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เป็นการสร้างความผันผวนทางการเงินและต้นทุนทางเศรษฐกิจแก่ประเทศอย่างไม่จำเป็น

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% เงินเฟ้อติดลบส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest) ของไทยสูงเป็นประวัติการณ์และสูงกว่าประเทศอื่นๆ เงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น ระบบธนาคารในประเทศตึงตัวและสินเชื่อหดตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย ประกอบกับดอกเบี้ยตลาดพันธบัตรก็ปรับตัวลดลง 

ภายใต้ภาวะเช่นนี้ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดึงดันคงดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง เพราะจะเป็นการสร้างความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นแก่เศรษฐกิจไทย และนโยบายของรัฐบาลที่กำลังประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ขอชื่นชมท่านนายกรัฐมนตรีที่ออกมาเตือนแบงก์ชาติให้พิจารณาความเสี่ยงต่างๆ อย่างรอบคอบ ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือน, การชะลอตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ธปท. อย่ามัวแต่ไปด่าคนอื่น เอาเรื่องเงินเฟ้อเงินฝืดของตัวเองให้รอดเสียก่อน แล้วก็หยุดดื้อรั้นเถิดครับ หันกลับมาทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมืออาชีพ ก่อนที่ประชาชนจะทวงคืนความเป็นอิสระของท่าน

‘Finstable’ ผนึกภาครัฐ จัดงาน ‘B2GC’ ที่ภูเก็ต 17-19 ม.ค.นี้ หารือแนวทางใช้ประโยชน์ ‘บล็อกเชน’ ยกระดับ ‘ไทย’ หลากมิติ

(5 ม.ค. 67) บริษัท ฟินสเตเบิ้ล จำกัด (Finstable) ผู้นำด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนในประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), Thai Blockchain Services Infrastructure (TBSI), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) ผนึกกำลังจัดการประชุม Blockchain to Government Conference (B2GC) โดยจังหวัดภูเก็ตจะเป็นเจ้าภาพ ในระหว่างวันที่ 17 - 19 มกราคม 2567 นี้

สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่นำรัฐบาลและผู้นำด้านบล็อกเชนระดับโลกมาพบกัน เพื่อเป็นการประชุมและหารือเกี่ยวกับแนวทางในโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐานของระบบบล็อกเชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นประตูที่จะนำไปสู่ประเทศที่มีการพัฒนาและรวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น พร้อมทำให้เกิดประโยชน์ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริงแก่ประชาชนชาวไทย 

ในขณะเดียวกันที่ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ บล็อกเชนเป็นระบบปฏิบัติการอัจฉริยะที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของความเชื่อมั่น ความปลอดภัย และรวมไปถึงการกระจายอำนาจสู่หน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชน นับเป็นเทคโนโลยี ที่ได้รับการยอมรับในความแข็งแกร่งของระบบบันทึกข้อมูลที่โปร่งใสและยังสามารถกระจายอำนาจไปสู่ภายในระบบของประเทศไทย ที่สามารถเดินหน้าทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ โดยได้รับรองความถูกต้องของข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นในโครงสร้างฐานเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงกลยุทธ์เทคโนโลยีบล็อกเชนจะสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก พร้อมยกระดับเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เช่น บริการสาธารณะของประเทศไทย จะสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การประชุม B2GC ครั้งนี้ จะจัดขึ้นที่ Blockchain Technology Center (BTC) จังหวัดภูเก็ต โดยเนื้อหาการประชุมจะเน้นบทบาทของบล็อกเชนในการยกระดับความสามารถภาครัฐและผลประโยชน์ต่อประชาชน โดยมีวิทยากรระดับโลกทั้งในและต่างประเทศมาเข้าร่วมงานด้วย รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง นักวิชาการ และแขกคนสำคัญระดับ VIP อาทิ คุณประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, คุณโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าการจังหวัดภูเก็ต, ศ.(พิเศษ)ธงทอง จันทรางศุ และ คุณวิชัย ทองแตง 

โดยงานประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีชื่อเสียง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านบล็อกเชนระดับโลก อาทิ Dr. Xiao Feng (CEO) Hashkey Group, Dr. Xinxi Wang (Co-Founder) Litecoin Foundation, Zack Gall (Co-founder & CCO) EOS Network, Alex Blagirev (Strategic Initiatives Officer) SingularityNET, และ Sebastian R. Cabrera (VP of Product, National ID) Polygon Labs

พร้อมกลุ่มผู้นำทางด้านบล็อกเชนไทย อาทิ คุณชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ประธานบริษัท Velo Labs, คุณสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีบริษัท Bitkub Blockchain Technology, คุณกัญญารัตน์ แสงสว่าง Head of Growth (Thailand) จาก The Sandbox, คุณสถาพน พัฒนะคูหา ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท SmartContract Blockchain Studio และพ.ญ. นวพร นะลิตา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท Crypto City Connext

สำหรับเนื้อหาการประชุม B2GC ทั้ง 3 วันนั้น ในวันที่ 1 จะกล่าวถึงการทำงานของบล็อกเชนและการประยุกต์ใช้ ตามด้วยการประชุมในวันที่ 2 ซึ่งมุ่งเน้นหัวข้อการประชุมที่ถูกเลือกโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลและคณะกรรมการจัดงาน และวันสุดท้ายจะมีการหารือครั้งสำคัญ รวมถึงการปราศรัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เกี่ยวกับการดำเนินงานของกระทรวง ภายใต้แผนงาน ‘The Growth Engine of Thailand’ โดยโฟกัส 3 ด้านสำคัญคือ การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ, การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศรวมถึงการพัฒนาบล็อกเชนระดับโลกอีกด้วย

ผู้ที่สนใจร่วมงาน สามารถส่งคำถามหรือลงทะเบียนรอรับสิทธิ์เข้าร่วมงานได้บนเว็บไซต์ https://B2GC.finstable.co.th

'รมว.ปุ้ย' เตรียมร่วมประชุมโต๊ะกลมเรื่องแร่ธาตุที่ซาอุฯ พร้อมหารือดันอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ศูนย์กลางอาเซียน

(5 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีกำหนดการร่วมคณะกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เพื่อหารือความร่วมมือในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในการประชุมฟอรั่มแร่ธาตุแห่งอนาคต (Future Minerals Forum หรือ FMF) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติคิง อับดุล อาซิซ (King Abdul Aziz International Conference Center) ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย

นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า การประชุม FMF เป็นเวทีหารือเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญด้านแร่ธาตุในระดับพหุภูมิภาค โดยหัวข้อสำคัญของการหารือในปีนี้ จะเน้นไปที่การพัฒนากรอบยุทธศาสตร์และการกำหนดเป้าหมายระดับภูมิภาคในการจัดหาแร่ธาตุที่สำคัญ (Critical minerals) การสร้างห่วงโซ่คุณค่าหรือซัพพลายเชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของโลก การสร้างขีดความสามารถผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านแร่ (Centers of Excellence) และการกำหนดแนวทางสนับสนุนการผลิตแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจากกว่า 70 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังมีเวทีการประชุมย่อยในระดับเจ้าหน้าที่อีกกว่า 75 เรื่อง 

ด้าน นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและสังคมคาร์บอนต่ำ เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ต้องใช้แร่จำนวนมากในการผลิต การขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้ความต้องการแร่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้ไทยต้องเตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในประเทศ ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มของความต้องการใช้แร่เหล่านี้เพิ่มขึ้นภายใต้นโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน 

ดังนั้น การหารือความร่วมมือในครั้งนี้เป็นโอกาสในการเชื่อมโยงการลงทุนในระดับพหุภูมิภาคเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเชิงวัตถุดิบแก่ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้

“นอกจากการเข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมเรื่องแร่ธาตุแห่งอนาคตแล้ว นางสาวพิมพ์ภัทราฯ ยังมีกำหนดร่วมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรณีของซาอุดีอาระเบีย เพื่อผลักดันความร่วมมือในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ รวมทั้งร่วมหารือกับ Saudi Standards, Metrology and Quality Organization หรือ SASO หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องมาตรฐานต่างๆ ของซาอุฯ ซึ่งเป็นตลาดสินค้าฮาลาลขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค (Halal Hub) ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและแถบตะวันออกกลาง ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย” นายอดิทัตฯ กล่าวทิ้งท้าย

'ก.อุตฯ' หนุนดัดแปลงรถน้ำมันเป็น EV นำร่อง 4 แสนคัน หวังประคอง 'ช่าง-อู่' ช่วงเปลี่ยนผ่านไม่ให้ล้มหาย

(5 ม.ค.67) นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยกับสำนักข่าว ในฐานะฝ่ายเลขาฯ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion)

ขณะนี้ได้มีการทบทวนคณะกรรมการใหม่ จาก 29 หน่วยงาน เหลือ 16 หน่วยงาน เช่น สภาพัฒน์ ซึ่งจะดูเรื่องของงบประมาณ รวมถึงดึงหน่วยงานมันสมองของประเทศอย่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โดยได้เสนอชื่อให้กับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแต่งตั้งและนำเสนอบอร์ด EV และคาดว่าเดือน ม.ค. 2567 จะได้เห็นแนวทางการทำ EV Conversion จากคณะอนุกรรมการชัดเจนขึ้น

โดยแนวทางดังกล่าว จะเริ่มที่ทำการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยจะเริ่ม 1.ศึกษาและทดลองการดัดแปลงรถบรรทุก รถสาธารณะ รถขนส่งน้ำ รถขยะ ให้วิ่งในระยะสั้น จำกัดระยะทาง เพื่อดูความปลอดภัย ดูโครงสร้างตัวรถ ดูสถิติว่ามีการกลับมาชาร์จบ่อยเพียงใด

2.ความสามารถในการใช้ รวมถึงการดีไซน์รถ เช่น รถบรรทุกต้องใช้แบตเตอรี่ใหญ่ขนาดใด ความจุเท่าไร ตำแหน่งของแบตเตอรี่ต้องห่างจากกันชนหน้า กันชนข้างเท่าไร เพราะจะมีผลต่อความปลอดภัยทั้งตัวผู้ขับและคนทั่วไปเมื่อมีการชนเกิดขึ้น

“เราได้มีการเสนอมาตรการไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งได้จัดทำเกือบครบแล้ว โดยเฉพาะมาตรฐานของส่วนที่สำคัญ ๆ อย่างแบตเตอรี่และสายไฟ แต่ในบอร์ด Conversion จะดูว่า หลังจากมีการ Convert จากรถ ICE มาเป็น EV แล้ว ทำอย่างไรมันถึงจะปลอดภัยและคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ล่าสุดอยู่ระหว่างการทบทวนรายชื่อคณะกรรมการใหม่ จากนั้นจะเริ่มประชุมแนวทางกันต่อไป”

นายปริพัตร บูรณสิน คณะทำงานการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า บอร์ด EV ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ขึ้นเมื่อต้นปี 2566 เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในประเทศ หรือกลุ่มรถยนต์สันดาป

โดยเฉพาะรถกระบะ ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนที่สูงมาก อย่างที่ทราบกันว่าการนํารถเก่าที่ใช้น้ำมันมาเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใหม่มาเป็นระบบไฟฟ้า 100% จะเปลี่ยนทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ จํานวนชิ้นส่วน จาก 30,000 ชิ้น เหลือเพียง 3,000 ชิ้นเท่านั้น

ดังนั้น หัวใจสําคัญของ EV Conversion อยู่ที่ EV Kit หรือชุดมอเตอร์และระบบไฟฟ้า ซึ่งมีราคา 400,000-800,000 บาท ถือว่าสูงมาก หากรัฐมีการสนับสนุนรถ EV Conversion สามารถลดราคาเหลือ 300,000 บาทต่อคัน

โดยเฉพาะรถกระบะ เพราะรถกระบะทั่วประเทศมี 7 ล้านคัน ส่วนที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป มีถึง 4 ล้านคัน หากดึงส่วนนี้มาดัดแปลงแค่ 10% หรือ 4 แสนคัน จะทำให้มีเงินหมุนในประเทศกว่า 120,000 ล้านบาท ไปที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอู่ในประเทศ

“รถเก่าเรามีมากและมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเป็นฐานการผลิตใหญ่ การจะไป EV ก็จะนานหน่อย ดังนั้นอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าดัดแปลงจะช่วยคงอาชีพช่าง อู่ พวกกลุ่มชิ้นส่วนไว้ก่อน เพราะหากรัฐทิ้งรถสันดาปแบบฉับพลันไป อู่กว่า 2 หมื่นแห่งจะหายไปด้วย เราต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ไม่พร้อม ซัพพลายเชนไม่พร้อม แต่ทั้งโลกต้องเดินไปในเรื่องของ EV ดังนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จึงสำคัญมาก”

แหล่งข่าวจากสถาบันยานยนต์กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอให้มีมาตรการทางการเงินและมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน เพื่อสนับสนุน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ทำการดัดแปลงน้ำมันให้เป็นไฟฟ้า เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้า ยกเว้นภาษีสรรพสามิต ในระยะ 5 ปี สนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนของแบตเตอรี่ที่ใช้ในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง

2.กลุ่มผู้ใช้ยานพาหนะและผู้เดินรถ เช่น มาตรการช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการประกันภัย อุดหนุนค่าใช้จ่ายทางด่วน 3.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสายส่งและระบบอัดประจุไฟฟ้า เช่น สนับสนุนค่าไฟฟ้าในการอัดประจุ สนับสนุนค่าติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าประจำบ้าน สนับสนุนให้หน่วยงานเอกชนติดตั้งสถานีอัดประจุบนพื้นที่จอดรถและผู้ให้บริการ

ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่ทางการเงิน เช่น การเปิดอู่รถดัดแปลงจะได้ลดหย่อนภาษี ภาครัฐสนับสนุนการฝึกอบรม โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ 200% อนุญาตให้ข้าราชการที่ใช้รถไฟฟ้าดัดแปลงมาอัดประจุได้ที่หน่วยงานตนเอง

ILINK เฮ!! สถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ที่เชียงใหม่เลือกใช้แบรนด์ LINK ตอกย้ำ 'ผู้นำด้านสายสัญญาณ-อุปกรณ์ส่งสัญญาณ' แห่งอาเซียน

(5 ม.ค.67) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK เปิดเผยถึงแบรนด์ 'LINK' ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Networking Solution มาตรฐานจากสหรัฐอเมริกา หลังได้บิ๊กโปรเจกต์จากสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ที่เชียงใหม่ ประเทศไทย ของสหรัฐอเมริกา สถานกงสุลที่ทุ่มงบกว่า 9,000 ล้านบาท

โดยทางกงสุลฯ ได้เลือกติดตั้งระบบสายสัญญาณทั้งหมด ด้วยแบรนด์ 'LINK AMERICAN' ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าและจัดจำหน่าย โดยบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านสายสัญญาณและอุปกรณ์ส่งสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

งานนี้จึงถือเป็นการตอกย้ำคุณภาพสายสัญญาณ แบรนด์ LINK ภายใต้การบริหารจัดการของ ILINK ที่เลือกสรรสินค้ามาตรฐานโลกมาเสิร์ฟแก่ตลาด จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้างและกระชากบิ๊กโปรเจกต์หนนี้ไปครองได้เป็นผลสำเร็จ

‘นายกฯ’ ชี้!! กระแสตอบรับฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีนเริ่มมา พบยอดคำค้นหา ‘ประเทศไทย’ เพิ่ม 90% ส่วน ‘เที่ยวบิน’ เพิ่ม 40%

(6 ม.ค. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศว่า รัฐบาลไทยและจีนอยู่ระหว่างร่วมกันดำเนินมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าไทย (Visa Exemption) แบบถาวร แก่นักท่องเที่ยวชาวจีน โดยเชื่อว่าจะมีการลงนามภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเชื่อว่าจะเริ่มมาตรการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 นั้น 

กระแสตอบรับจากชาวจีนต่อมาตรการดังกล่าวดีมาก ทำให้ยอดการค้นหาประเทศไทยบนแพลตฟอร์มท่องเที่ยวจีน เพิ่มขึ้นมากกว่า 90% เพียง 1 ชั่วโมง ยอดการค้นหาคำว่า “ประเทศไทย” บนแพลตฟอร์มของ ‘ซีทริป กรุ๊ป’ ผู้ให้บริการด้านการเดินทางท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นมากกว่า 90% และยอดการค้นหาเที่ยวบินเส้นทางเซี่ยงไฮ้ – กรุงเทพฯ และปักกิ่ง – กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% 

นอกจากนี้ ยอดจองการเดินทางสู่ไทยระหว่างวันที่ 2 มกราคม 2567 จนถึงเทศกาลตรุษจีน เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า ททท. คาดการณ์ว่ามาตรการดังกล่าวจะนำไปสู่การเพิ่มเที่ยวบินระหว่างสองประเทศมากขึ้น และทำให้ราคาค่าโดยสารเที่ยวบินลดลง ซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนให้เดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยได้ตามเป้าหมาย 8 ล้านคน ในปี 2567 

ทั้งนี้ รัฐบาลเดินหน้ากระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ด้วยมาตรการวีซ่าฟรีแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 60 ประเทศ/ดินแดน เชื่อมั่นส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวไทยปี 2567

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยจัดการโรงงานทิ้งกากขยะ-ตั้งกองทุนเยียวยาคนในพื้นที่ ย้ำ!! ตนมาจาก สส.เขต ย่อมเข้าใจความต้องการของประชาชน

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 67 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า ขอบคุณสมาชิกที่ให้ความสนใจงบประมาณของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นพิเศษ กระทรวงอุตสาหกรรมแม้จะดูว่าเป็นกระทรวงใหญ่ แต่งบที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมีเพียง 4,559 ล้านบาทเท่านั้น แต่ต้องทำงานภายใต้การบริหาร 6 กรม มีทั้งกรมที่ส่งเสริม กรมที่ใช้ในการควบคุมภายใต้พันธกิจ การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน แม้ว่างบจะได้อย่างจำกัด แต่ข้าราชการในกระทรวงทุกคน เดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่เพื่อดูแลประชาชน

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลของสมาชิกคือ การจัดการกากขยะอุตสาหกรรม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ และนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มีความกังวลห่วงใย ซึ่งวันนี้สาเหตุของปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากมีการลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม โดยมีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง เพราะทุกคนจะมุ่งมาที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมในการรับผิดชอบ ทางกรมโรงงานฯ เรา มีหน้าที่ออกใบอนุญาตในการตั้งโรงงาน ในการควบคุมการดูแลเรื่องกากอุตสาหกรรม เราสามารถจัดการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำอยู่เรามีทั้งทำแล้วทำอยู่ทำต่อ

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิ่มความรับผิดชอบ โดยแก้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมในการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จากเดิมโรงงานใดต้องการปล่อยน้ำทิ้งหรือทิ้งกากอุตสาหกรรมมีหน้าที่แค่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐาน หลังจากนั้นจะใช้บริษัทจำกัด หรือรับผิดชอบก็ได้ แต่วันนี้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะมีบางบริษัทประมูลในราคาที่ต่ำแล้วลักลอบนำไปทิ้งในที่ต่างๆ โดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งมาตรฐานไว้ เราจึงมีการปรับปรุงประกาศของกระทรวง พ.ศ.2566 ได้บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566 โดยเพิ่มความรับผิดชอบอย่างเต็มรูปแบบ

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ได้มีการกำหนดให้โรงงานที่ก่อมลพิษ ต้องรับผิดชอบกับกากอุตสาหกรรมนั้นด้วย ไม่ใช่เพียงให้บริษัทที่รับช่วงไปทิ้งอย่างไรก็ได้ แต่บริษัทต้องรับผิดชอบโดยต้องนำไปทิ้งอย่างถูกต้อง มาตรการที่เรากำลังทำอยู่และรอบังคับใช้คือเรื่อง การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กรมโรงงานฯ ด้วยการเพิ่มบทลงโทษจากเดิมโรงงานใดทำผิดอาจจะมีโทษแค่ปรับจำคุก 1 ปี แต่ได้เพิ่มโทษจำคุกเป็น 5 ปี ดังนั้น บริษัทใดทำผิดกฎหมาย จะยื้อเวลาในการขึ้นโรงขึ้นศาลไม่ได้แล้ว ต่อไปบทลงโทษมีมากขึ้น

“สิ่งที่กังวลที่สุดคือ ‘การฟื้นฟู’ มีบางบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Project นำร่องของกรมโรงงานที่ทำอยู่คือ โรงงานที่จังหวัดราชบุรี ปัญหาแบบนี้ไม่ใช่เกิดที่จังหวัดราชบุรีเพียวจังหวัดเดียว แต่ยังเกิดที่ จังหวัดปราจีน จังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา และตามเขตอุตสาหกรรมต่างๆ โครงการนี้กรมโรงงานฯ มีงบแค่กว่า 450 ล้านบาทเท่านั้น เงินที่ใช้ในการบริหารกากอุตสาหกรรมมีแค่ 10 ล้านบาท การจัดการกากที่มีปัญหาที่ประชาชนร้องเรียน ทุกครั้ง เราต้องของบกลางจากทางรัฐบาล ดังนั้น จะหาวิธีแทนที่จะหางบกลางจากรัฐบาลจะต้องให้โรงงานช่วยกันรับผิดชอบ จึงมีการตั้งกองทุนฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรม ถ้าสมาชิกที่ร้องเรียนว่า มีโรงงานที่ลักลอบทิ้งกากแล้วเกิดปัญหากับประชาชนในพื้นที่ ถ้ามีเงิน สิ่งแรกที่ทำได้คือ เรามีเงินเข้าไปเยียวยาในพื้นที่ ไม่ต้องไปขอการสนับสนุนจากงบกลาง สิ่งนี้คือเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรม” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า มีสมาชิกห่วงใยเรื่องแบตเตอรี่ที่เกิดจากรถ EV วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้น ตั้งแต่ EV 3 มาถึง EV 3.5 ก่อนหน้านี้ เราได้ทำแล้วคือการส่งเสริมการใช้ ขณะนี้สิ่งที่กำลังทำอยู่ คือการส่งเสริมการลงทุนให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่เรากำลังทำต่อคือดูแลทั้งระบบไม่ใช่ดูแลแค่การลงทุนหรือสร้าง Local Content แต่เราต้องดูแลเรื่องแบตเตอรี่ที่ติดมากับรถ รวมถึงแบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศไทย อยากให้คลายความกังวลว่า สุดท้ายจะต้องดูแลทั้งระบบ เพราะผลกระทบคือคนไทยทั้งประเทศ

สำหรับ สิ่งที่นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติถามเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่อยากให้ยกระดับครอบคลุมถึงพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จะได้ดูแลนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องเชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ด้วย เรื่องระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาคนั้น ได้ทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ที่มาทำเพื่อส่งเสริมนักลงทุน จะช่วยทั้งเกษตรกร นักลงทุน ครบทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ สิ่งที่เห็นคือจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมันได้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรมากขึ้น ไม่รวมถึงโครงการดีๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังทำขึ้น คืออุตสาหกรรมฮาลาล ไม่ใช่ทำแค่เรื่องของอาหาร แต่จะรวมถึงเครื่องสำอาง การท่องเที่ยว ที่สำคัญที่สุดเราจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน

“ดิฉันมาจากประชาชน มาจาก สส.เขต เข้าใจถึงความต้องการของประชาชนดี ขอขอบคุณที่ได้ชี้แนะและแนะนำ ขอให้มั่นใจในการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีว่า ทุกๆ วัน ทุกๆ กระทรวงที่ทำงานก็ล้วนทำงานให้กับประชาชน” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top