Tuesday, 13 May 2025
GoodsVoice

งบประมาณ 3.48 ลลบ. ใต้ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ กับภารกิจกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีมังกร 

ต้อนรับศักราชใหม่ ปี 2567 เริ่มต้นปี กับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะผลักดันในเศรษฐกิจไทยใน ‘ปีมังกร’ ที่น่าจะได้เห็นฝีมือทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่รับบทบาท เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีก 1 ตำแหน่ง ว่าจะมีศักยภาพในการจัดการเศรษฐกิจของไทย หลังผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ทั้ง วิกฤติ Covid-19 ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนมาถึงสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ทีมเศรษฐกิจชุดนี้ จะมีประสิทธิภาพมากน้อย เพียงใด

การลงมติร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในวาระรับหลักการ มีผู้เห็นด้วย 311 เสียงไม่เห็นด้วย 177 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียงนั้น ก็เป็นไปตามคาดการณ์ ที่จะต้องรับร่างงบประมาณ เพื่อผลักดันการใช้จ่ายเงินตามโครงการต่าง ๆ ของแต่ละกระทรวงอย่างเร่งด่วน เนื่องจาก การทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้าจากเหตุกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหากไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน กว่าจะได้เบิกจ่ายเงินงบประมาณ ก็คงเริ่มเบิกจ่ายได้ เมษายน - พฤษภาคม 2567 ถือว่าล่าช้าไปกว่าครึ่งปี

มาดูกันต่อกับวงเงินงบประมาณ ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง…

ปี 2567 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.480 ล้านล้านบาท : รัฐบาล เศรษฐา

ปี 2566 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.185 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2565 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.100 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2564 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.285 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2563 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.200 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

กลับกลายเป็นว่า วงเงินงบประมาณ 2567 ถือเป็นประวัติการณ์กับวงเงินที่สูงถึง 3.480 ล้านล้านบาท เป็นวงเงินงบประมาณที่มากที่สุดเท่าที่รัฐบาลที่ผ่านมาเคยได้จัดทำ และยังมีอัตราส่วนที่สูงขึ้นกว่าปีงบประมาณที่แล้ว กว่า 9.3% และถือว่าเป็นการเพิ่มวงเงินในสัดส่วนที่มากที่สุดในรอบ 5 ปี อีกด้วย 

อีกประเด็นที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ของ พล.อ.ประยุทธ์ เคยถูกพิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่า ได้ตั้งงบกลางสูงมากเกินไป เพราะงบกลาง จะไม่มีรายละเอียดในการใช้งบประมาณ มีเพียงหัวข้อ และวงเงินของแต่ละโครงการ แต่เมื่อดูงบกลางของรัฐบาล เศรษฐา จะพบว่า วงเงินงบกลางกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2.8% โดยตั้งงบกลางไว้ที่ 6.06 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16,295 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2566

ปี 2567 วงเงินงบกลาง 6.067 แสนล้านบาท 

ปี 2566 วงเงินงบกลาง 5.904 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 3,000 ล้านบาท

ปี 2565 วงเงินงบกลาง 5.874 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 16,362 ล้านบาท

ปี 2564 วงเงินงบกลาง 6.146 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 40,326 ล้านบาท

ปี 2563 วงเงินงบกลาง 5.187 แสนล้านบาท 

และหากพิจารณาในหัวข้อรายการใช้จ่ายงบกลาง 5 ปี ย้อนหลัง (ปี 2563-2567) ก็พบว่า งบกลางที่มีการตั้งวงเงินที่สูงที่สุด ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการตั้งงบกลาง ในปี 2564 อยู่ที่ 6.146 แสนล้านบาท แต่สาเหตุที่ตั้งงบกลางไว้สูง เนื่องจาก มีหัวข้อค่าใช้จ่ายในการบรรเทา เยียวยา ผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 40,326 ล้านบาท หากไม่นับหัวข้อนี้มารวมในงบกลาง วงเงินงบกลางจะอยู่ที่ 5.74 แสนล้านบาท ซึ่งงบกลาง ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ไม่มีหัวข้อค่าใช้จ่ายด้านนี้ 

คงเริ่มเห็นภาพบางอย่าง ในยุคที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ที่บริหารจัดการโดย ‘นักการเมือง’ และภาพที่คนบางกลุ่มชอบเรียกว่า ‘รัฐบาลประชาธิปไตย’ กับเม็ดเงินงบประมาณ ที่จะใช้ในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับรายได้ ของประชาชนคนไทย 

‘ธนกร’ หนุนเที่ยวไทยเชิงศรัทธา กระตุ้น ศก.หมุนเวียนในชุมชน เชื่อ!! ดึง นทท.จีนทะลักแน่นอน หลังยอดปี 66 ทำได้ตามเป้า

(7 ม.ค.67) นายธนกร วังบุญคงชนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อมูลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ‘ททท.’ เปิดตัวเลขการท่องเที่ยวไทย ที่เป็นจุดหมายปลายของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวสายศรัทธา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ ตนจึงสนับสนุนให้รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา เชื่อว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวสายบุญกลุ่มที่ชื่นชอบท่องเที่ยวไหว้พระขอพร ขอโชค สายมูเตลู ซึ่งจะสามารถสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน วัด แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากอยู่ทั่วประเทศ จะช่วยทำให้ทั้งเมืองหลักและเมืองรองเกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ จากที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยสะสมตลอดปี 66 (1 ม.ค.-24 ธ.ค. 66) มีกว่า 27 ล้านคน เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล โดย 5 ลำดับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย มาเลเซีย 4,439,480 คน, จีน 3,418,732 คน, เกาหลีใต้ 1,616,858 คน, อินเดีย 1,587,090 คน และรัสเซีย 1,428,985 คน

เมื่อถามว่าหากเริ่มนโยบายเปิดฟรีวีซ่า ‘ไทย-จีน’ ถาวรเริ่ม 1 มี.ค. 67 จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างไร นายธนกร กล่าวว่า หากยกเลิกการใช้วีซ่าระหว่างไทย-จีน ตนมั่นใจ ว่า จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนที่ชื่นชอบเที่ยวสายศรัทธา เข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เป็นไปตามเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ได้สำเร็จ

ซึ่งในปี 67 รัฐบาลและ ททท.ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทย ประมาณ 8.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่มา 3.4-3.5 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 67 การท่องเที่ยวภาพรวมจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย สร้างรายได้ ที่ 3.5 ล้านล้านบาท (จากเดิม 3 ล้านล้านบาท) ตนเชื่อว่า จะเป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างแน่นอน

‘พาณิชย์-ททท.’ ชูแคมเปญ ‘เที่ยว ฟิน กิน Thai SELECT’ เดินหน้าหนุนอาหารไทยสู่ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ทั้งใน-นอกประเทศ

(7 ม.ค. 67) นโยบายผลักดัน Soft Power ของไทยสู่ตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยใช้ ‘อาหาร’ เป็นสินค้า ‘Soft Power’ ของไทยที่สำคัญ เพราะอาหารไทยถือเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของคนทั่วโลก ซึ่งเห็นได้ชัดจากการจัดอันดับของเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับอาหารต่างๆ อาทิ CNN Travel ที่ได้จัดอาหารไทยเป็นอาหารที่ดีที่สุด อันดับที่ 8 ของโลก และ Taste Atlas Awards 2023/2024 ที่ได้ยกย่องให้ 5 เมนูอาหารไทย ได้แก่ ผัดกะเพรา, ข้าวซอย, แกงพะแนง, ต้มข่าไก่ และแกงมัสมั่น เป็นเมนูที่ดีที่สุดของโลกที่ติดอันดับ 100 เมนูแรก จากรายการอาหารทั้งหมด 10,927 เมนู

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ความนิยมอาหารไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในต่างแดน มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งตั้งแต่ปี 2002 รัฐบาลได้ยกระดับ ‘การทูตผ่านอาหาร’ หรือ ‘Gastrodiplomacy’ ผ่านโครงการ ‘Global Thai Restaurant Company’ ส่งผลให้จำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า จาก 5,500 ร้าน เป็น 15,000 ร้าน รวมทั้ง กระทรวงพาณิชย์ ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนความน่าเชื่อถือด้วยการมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เพื่อรับรองมาตรฐานร้านอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศ 

ปัจจุบันแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยเผยแพร่และขับเคลื่อน Soft Power ไทยสู่สากล และเป็นช่องทางการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ของไทย ซึ่งการเติบโตของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ จะส่งผลให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้รับอานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมตามไปด้วย

ในส่วนของการส่งเสริมอาหารไทยเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) ประเทศ จำเป็นต้องอาศัยร้านอาหารไทยเป็นช่องทางหลักในการรับรู้ กระทรวงพาณิชย์ ได้มีนโยบายและแผนงานในการผลักดันให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศได้รับตราสัญลักษณ์ ‘Thai SELECT’ จะเป็นเครื่องมือช่วยการันตีคุณภาพความเป็นไทย ให้แก่ร้านอาหารไทยที่เปิดขายในต่างแดน และรวมถึงร้านอาหารไทยในประเทศด้วย ซึ่งจะเป็นจุดขายให้ต่างชาติได้ทำความรู้จักคุ้นชิน รวมทั้งจัดให้ร้านอาหารไทยเป็นเหมือนศูนย์จัดแสดงสินค้า (Showroom) และถ่ายทอดผลงานสะท้อนภูมิปัญญาของไทย อีกทั้งสนับสนุนการตกแต่งร้านอาหารที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย เพื่อส่งเสริม Soft Power ในทุกมิติ

สำหรับ ‘Thai SELECT’ เป็นตราสัญลักษณ์ที่กระทรวงพาณิชย์ มอบให้กับร้านอาหารไทย และผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูป ที่ให้บริการและจำหน่ายอาหารไทยรสชาติไทยแท้ ผ่านกระบวนการและขั้นตอนของการปรุงอาหารด้วยส่วนผสมตามตำรับอาหารไทย จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศพบว่า ปัจจุบันมีจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศรวม 17,478 ร้าน ทั่วโลก โดยสหรัฐอเมริกามีจำนวนร้านอาหารไทยมากที่สุดในโลก รวมทั้งสิ้นราว 6,850  กระจายตัวอยู่ทั่วสหรัฐฯ คิดเป็น 39% ของจำนวนร้านอาหารไทยในต่างแดนทั้งหมด ส่วนร้านอาหารไทย Thai Select ทั่วโลกมีจำนวน 1,546 ร้าน

ขณะที่ในประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประแทศไทย (ททท.) จัดโครงการ ดัน ‘อาหารไทย Thai SELECT’ เป็น Soft Power ประเทศ ด้วยแคมเปญส่งเสริมการตลาดร่วมกัน ทั้งการส่งเสริมร้านอาหาร Thai SELECT ผ่านแคมเปญ ‘เที่ยว ฟิน กิน Thai SELECT’ กิจกรรมร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในแต่ละท้องถิ่น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไป ณ ชุมชนมากขึ้น

และเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในทุกๆ วัน ที่จะช่วยส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ชุมชน ร้านอาหารไทย Thai SELECT ในพื้นที่ ผ่านกิจกรรม ‘ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น’ เพื่อสร้างจุดเด่นและความแตกต่างรวมทั้ง จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรองร้านอาหาร Thai SELECT ในทุกภูมิภาค

การชู ‘อาหารไทย’ เป็น Soft Power ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะเป็นจุดขายสำคัญให้กับประเทศ และสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ตามนโยบายของรัฐบาล

‘โลเคชันไทย’ สุดฮอต!! ตปท.ยกกองมาถ่ายหนัง-โฆษณา-รายการเพียบ ปี 66 ถ่ายไป 466 เรื่องจาก 40 ประเทศทั่วโลก โกยรายได้ 6.6 พันล้าน!!

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 67 น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมกับข้อความ #NewRecord โดยแชร์ข้อมูลเรื่องสถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2566 มีคณะถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศเดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย จำนวน 466 เรื่อง จาก 40 ประเทศทั่วโลก คาดการณ์รายได้จำนวนกว่า 6,600 ล้านบาท ถือเป็นสถิติจำนวนรายได้สูงสุดนับแต่มีการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยข้อมูลดังกล่าว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566

จากสถิติปี พ.ศ. 2566 คณะถ่ายทำภาพยนตร์จาก ‘สหรัฐอเมริกา’ เข้ามาลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยมากที่สุด มีเงินลงทุนกว่า 3,184 ล้านบาท จากจำนวนภาพยนตร์ 34 เรื่อง ตามมาด้วยคณะถ่ายทำจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเงินลงทุนกว่า 707 ล้านบาท ตามด้วยประเทศนจีน, เยอรมนี และเกาหลีใต้ ตามลำดับ

1.) กองถ่ายโฆษณาถ่ายทำมากที่สุด จำนวน 203 เรื่อง รายได้จำนวน 955.03 ล้านบาท

2.) สารคดี จำนวน จำนวน 81 เรื่อง รายได้จำนวน 56.90 ล้านบาท

3.) รายการโทรทัศน์ จำนวน 58 เรื่อง รายได้จำนวน 172.46 ล้านบาท

4.) ภาพยนตร์เรื่องยาว จำนวน 35 เรื่อง รายได้จำนวน 1,256.74 ล้านบาท

5.) มิวสิควิดีโอ จำนวน 34 เรื่อง รายได้จำนวน 105.99 ล้านบาท

6.) รายการเรียลลิตี้ จำนวน 30 เรื่อง รายได้จำนวน 668.76 ล้านบาท

7.) ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ (ซีรีส์) จำนวน 17 เรื่อง รายได้จำนวน 3,365.00 ล้านบาท

8.) ละครโทรทัศน์/รายการละเอียดอ่อน/อื่น ๆ จำนวน 8 เรื่อง รายได้จำนวน 21.90 ล้านบาท

58 จังหวัด ที่มีกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้าไปถ่ายทำ โดย 10 อันดับจังหวัดที่มีคณะถ่ายทำเดินทางเข้าไปถ่ายทำในพื้นที่มากที่สุด ได้แก่

1.) กรุงเทพมหานคร จำนวน 282 เรื่อง โดยมีสถานที่ถ่ายทำ อาทิ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร สถานีรถไฟหัวลำโพง ตึกคิง พาวเวอร์ มหานคร เป็นต้น

2.) จังหวัดชลบุรี จำนวน 77 เรื่อง โดยมีสถานที่ถ่ายทำ อาทิ ถนนเลียบชายหาดพัทยา เกาะล้าน เกาะสีชัง เป็นต้น

3.) จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 60 เรื่อง โดยมีสถานที่ถ่ายทำ อาทิ เมืองโบราณ The Studio Park ท่าเรือศุภนาวา เป็นต้น

4.) จังหวัดปทุมธานี จำนวน 52 เรื่อง โดยมีสถานที่ถ่ายทำ อาทิ ACTS Studio มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น

5.) จังหวัดภูเก็ต จำนวน 47 เรื่อง โดยมีสถานที่ถ่ายทำ อาทิ หาดพาราไดซ์ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี เป็นต้น

6.) จังหวัดนนทบุรี จำนวน 41 เรื่อง โดยมีสถานที่ถ่ายทำ อาทิ อิมแพคอารีน่า ถนนบอนด์สตรีท เมืองทองธานี เป็นต้น

7.) จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 39 เรื่อง โดยมีสถานที่ถ่ายทำ อาทิ หมู่บ้านแม่กำปอง ปางช้างแม่สา อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นต้น

8.) จังหวัดนครปฐม จำนวน 27 เรื่อง โดยมีสถานที่ถ่ายทำ อาทิ ตลาดน้ำดอนหวาย มูวีโอ้ ทาวน์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นต้น

9.) จังหวัดกระบี่ จำนวน 26 เรื่อง โดยมีสถานที่ถ่ายทำ อาทิ หาดพระนาง หาดต้นไทร อ่าวไร่เล เป็นต้น

10.) จังหวัดราชบุรี จำนวน 25 เรื่อง โดยมีสถานที่ถ่ายทำ อาทิ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก อุทยานเขาหินงู วัดเขาช่องพราน เป็นต้น

อัปเดต!! งบฯ 67 ถอด 'สายสีแดงส่วนต่อขยาย' กลับไปศึกษาใหม่ หวังลุย 'นครปฐม-อยุธยา' ทีเดียว แต่ที่ศึกษาแล้วก่อนหน้า น่าทำก่อน

(8 ม.ค.67) เพจ 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย ระบุว่า...

สายสีแดงส่วนต่อขยาย มันจบแล้วครับนาย ถูกถอดออกจากงบประมาณ ปี 2567 กลับไปศึกษาใหม่... รมช. จะขยายทีเดียว นครปฐม-อยุธยา ก็ดีนะ แต่ที่ศึกษาแล้วทำก่อนได้ไหม?

หลังจากอ่านงบประมาณประจำปี 2567 ที่เพิ่งเข้าสภาไป ซึ่งผมไปค้นดูในรายละเอียดงบประมาณประจำปี 2567 ของการรถไฟฯ 

มีงบประมาณที่ถูกถอดออกเมื่อเทียบกับปี 2566 ที่สำคัญคือโครงการส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีแดง ทั้งหมด คือ...

- รังสิต - ธรรมศาสตร์
- ตลิ่งชัน - ศาลายา
- บางซื่อ - หัวลำโพง - หัวหมาก

มีรายละเอียดอยู่ใน งบประมาณ 2567 เล่มบูรณาการ 2 ตามลิงก์นี้ >> https://www.bb.go.th/topic-detail.php?id=16289&mid=544&catID=0 

สอดคล้องกับที่ คุณสุรพงษ์ ปิยะโชติ - Surapong Piyachote รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า...

“มีนโยบายให้ต่อขยายเส้นทางสายเหนือออกไปถึง 'อยุธยา' และสายตะวันตกถึง 'นครปฐม' โดยระบุว่า เพื่อใช้เป็นระบบรางหลักรองรับการขยายตัวของเมืองและชุมชนใหม่ๆ รอบกทม.” ... ลิงก์ที่มาข่าว >> https://mgronline.com/business/detail/9660000115263#google_vignette

เท่ากับว่าโครงการเดิมที่ศึกษา มีแผน และ EIA อนุมัติแล้ว ถูกกลืนเข้าไปในโครงการใหญ่ ที่จะขยายปลายทางรถไฟฟ้าสายสีแดงไป นครปฐม และ อยุธยา ระยะทางรวมกว่า 150 กิโลเมตร

มูลค่าการลงทุนจากการศึกษาเดิม...
- รังสิต - อยุธยา - บ้านภาชี 35,000 ล้านบาท
- ตลิ่งชัน - นครปฐม 24,000 ล้านบาท

ถ้ามันเป็นแบบนี้จริงๆ โครงการนี้จะช้าไปอีกอย่างน้อย 3 ปี เพื่อที่จะ Update EIA, เตรียมงบประมาณ และเตรียมการก่อสร้าง 

ส่วนตัวผมอยากให้ขยายไปที่ 'อยุธยา' และ 'นครปฐม' ตามนโยบายรัฐมนตรีช่วย 

แต่!! ช่วยเร่งมาทำในส่วนที่ทำได้เลยทันทีก่อนได้ไหม!! นักศึกษาและบุคลากร มหาวิทยาลัยที่โครงการผ่าน จะได้ใช้ไประหว่างขยายโครงการทั้งเส้น!!

>> รายละเอียดโครงการส่วนต่อขยายสายสีแดงที่ ครม. อนุมัติแล้ว

1. บางซื่อ - หัวลำโพง - หัวหมาก (Missing Link)

ครม. อนุมัติไปแล้วในปี 59 แต่อยู่ระหว่างปรับรายละเอียดโครงการ และให้โครงการรถไฟฟ้า 3 สนามบิน เป็นผู้ก่อสร้างให้ในช่วงทับซ้อน บางซื่อ-มักกะสัน ในรูปแบบคลองแห้ง

รายละเอียดตามโพสต์นี้ >> https://www.facebook.com/491766874595130/posts/756066624831819?sfns=mo

https://www.facebook.com/491766874595130/posts/756658528105962?sfns=mo

2. ธนบุรี (ศิริราช) - ตลิ่งชัน - ศาลายา

ครม. เพิ่งอนุมัติไปตอนต้นปี 62 คาดว่าจะเปิดประมูลในปี 63

รายละเอียดในโพสต์นี้ >> https://www.facebook.com/491766874595130/posts/626617247776758?sfns=mo

https://www.facebook.com/491766874595130/posts/624977717940711?sfns=mo

3. รังสิต - ธรรมศาสตร์ (รังสิต)

ครม. เพิ่งอนุมัติไปตอนต้นปี 62 คาดว่าจะเปิดประมูลในปี 63

รายละเอียดในโพสต์นี้ >> https://www.facebook.com/491766874595130/posts/622993761472440?sfns=mo
 

ที่มา: https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0vXFjQgpmgWJyf39MWHFBF8GkYcWxPKKhM3YwhN5EHa3Tz8BVLq2BshVFwU655XbZl&id=100067967885448&mibextid=Nif5oz 

‘นายกฯ เศรษฐา’ ย้ำ!! ไม่เห็นด้วย ‘แบงก์ชาติ’ ขึ้นดอกเบี้ย เหตุสวนทางเงินเฟ้อ - ห่วงกระทบราคาพืชผลการเกษตร

(8 ม.ค.67) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติงหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยติดลบติดต่อกันหลายเดือน และหลังจากนี้จะไปพูดคุยอย่างไรบ้าง ว่า ความจริงแล้วเราก็พูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ และเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จุดยืนของตนก็ชัดเจนว่า ‘ผมไม่เห็นด้วย’ แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น ซึ่งนัยที่ตนได้โพสต์ข้อความไปเมื่อคืนนี้ มันเกี่ยวกับเรื่องสินค้าการเกษตร พืชผลต่างๆ ที่ตนอยากให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลไม่ให้ต่ำลงไป เพราะถ้าต่ำเกินไปก็จะลำบาก

เมื่อถามถึงการขึ้นดอกเบี้ยอยู่ในสถานการณ์เงินเฟ้อที่ต่ำมาก นายกรัฐมนตรีมีความกังวลอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า "บอกว่าต่ำมากครับ ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย ตนก็ฝากไว้" เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะไปคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "มีอยู่แล้วครับ”

‘EXIM’ ผุด 3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจเพื่อความยั่งยืน หนุนธุรกิจ ‘SMEs-ส่งออก’ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

(8 ม.ค. 67) เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มุ่งมั่นเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาโลกสีเขียว (Green Development Bank) จึงทำงานสานพลังกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจ รวมถึงคนตัวเล็กหรือ SMEs เข้าถึงบริการด้านความรู้ โอกาส และเงินทุน เพื่อปรับทิศทางการดำเนินงานให้สามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจสู่เวทีโลกได้อย่างยั่งยืน

นำไปสู่การจัดเต็มแพ็คเกจของขวัญปีใหม่ 2567 เพื่อผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG ด้วยการเปิดตัว 3 ผลิตภัณฑ์ ‘สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ดอกเบี้ยต่ำ 2.99% ต่อปี นาน 3 เดือน และยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า ‘สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่เริ่มต้นส่งออก’ วงเงินหมุนเวียนสูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย สำหรับผู้ประกอบการไทย Size S ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจเริ่มต้นส่งออกหรือนำเข้าเพื่อส่งออก และ ‘มาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องแก่กลุ่ม SMEs ที่เป็น NPLs จากช่วงโควิด-19’ ปรับลดดอกเบี้ยและพักชำระดอกเบี้ย-เงินต้นตามเงื่อนไขของธนาคาร

‘กมธ.วิสามัญฯ’ โครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ ลงพื้นที่ จ.ชุมพร  เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

(8 ม.ค.67) จากเพจเฟซบุ๊ก Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้ โพสต์คลิปเกี่ยวกับ กมธ.วิสามัญฯ รับฟังความคิดเห็น ‘แลนด์บริดจ์’ ชุมพร-ระนอง โดยระบุว่า…

‘โครงการแลนด์บริดจ์’ ที่จังหวัดชุมพร ทางคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการนี้ได้ไปลงพื้นที่ตรวจสอบรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อําเภอพะโต๊ะ ปรากฏว่า…ประชาชนนั้นแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเขาบอกว่ามันกระทบกับอาชีพที่มั่นคงอยู่แล้ว

ซึ่งผู้ร่วมรับฟังความเห็นได้มีการนําป้ายคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง มาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ภายในหอประชุมองค์การบริหารส่วนตําบลพะโต๊ะ อําเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร โดยวันนี้ทางคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนราษฎรก็ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น และความกังวลของชาวอําเภอพะโต๊ะ ซึ่งก็คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต โดยเฉพาะการประกอบอาชีพเกษตรที่มีรายได้มั่นคงจากการทําสวนทุเรียน ทําสวนปาล์มอยู่แล้ว

“ท่านโฆษณาว่าเป็นโครงการระดับโลก…แต่ผมคิดว่าเป็นโครงการอธิมหาวินาศภัยครั้งยิ่งใหญ่จริงไหมครับ แล้วยิ่งใหญ่ยังไง ยิ่งใหญ่เพราะแลนด์บริดจ์มาแล้วเกลี้ยง!” ชาวอำเภอพะโต๊ะ จ.ชุมพร ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้

ส่วนเวทีรับฟังความคิดเห็นที่อําเภอหลังสวน ประชาชนก็มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน โดยเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบจากการถมทะเลบริเวณแหลมริ้ว เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในฝั่งทะเลอ่าวไทย คนที่เห็นด้วยบอกว่าแลนด์บริดจ์จะเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่และจะเป็นจุดเปลี่ยนที่นําไปสู่ความเจริญเข้าพื้นที่และประเทศไทย 

นายชัยภัฎ จันทร์วิไล เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ กล่าวว่า “ถ้าพูดในแง่ภูมิศาสตร์มันเหมาะสมในการที่จะ ‘ทรานสปอร์’ หรือมาตั้งโรงกลั่นน้ำมัน เอาน้ำมันดิบมากลั่นออกไปอีกทาง ญี่ปุ่นใช้น้ำมัน จีนใช้น้ำมัน ทุกคนก็ใช้น้ำมัน มันจึงเกิดระบบโลกใหม่ ผมถึงคิดว่าแลนด์บริดจ์เป็นโปรเจกต์ เป็น Game Changer ซึ่งในวันนี้ทางภาครัฐก็พยายามที่จะผลักดัน”

คณะกรรมการวิสามัญได้ลงพื้นที่ไปดูสถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย บริเวณแหลมริ้ว อําเภอหลังสวน รวมถึงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งในอําเภอพะโต๊ะและอําเภอหลังสวน ซึ่งประธานคณะกรรมาธิการวิมัญบอกว่าการลงพื้นที่ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นการตัดสินใจว่าจะมีการเดินหน้าโครงการนี้หรือไม่ เพราะว่าต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อน 

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ปธ.คณะกรรมาธิการฯ ศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ กล่าวว่า “เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นจึงลงมาฟัง ถ้าเราฟังทุกทีอาจจะเชิญผู้ว่าฯ รองผู้ว่านายกอบจ. หรือ อุตสากรรมต่างๆ ไปพูดคุยเรื่องการท่องเที่ยว ก็จะได้ข้อมูลอีกมุมหนึ่ง โดยวันนี้เราทุกคนตั้งใจทั้งหมด เพื่อมารับฟังจากพี่น้องประชาชนจริงๆ ซึ่งก็ดีครับ ได้ฟังหลายบรรยากาศ ได้เข้าใจพ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดชุมพรมากขึ้น” 

ส่วนทางนายประเสริฐพงษ์ สอนนุวัฒน์ กรรมาธิการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์จากพรรคก้าวไกลได้บอกว่าโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบหลายด้าน รวมถึงผลการศึกษาจากหลายหน่วยงานก็ระบุว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า และไม่ใช่เส้นทางเดินเรือที่เป็นความต้องการของผู้ประกอบการเดินเรือ หากจะเดินหน้าโครงการทางสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่ง
และจราจร หรือ สนข. จะต้องมีคําอธิบายที่ชัดเจนว่าคุ้มค่ากับสิ่งที่จะต้องสูญเสียหรือไม่…

‘นายกฯ’ เล็งลงพื้นที่ดูแล ศก. 3 จว.ชายแดนใต้ สิ้นเดือน ก.พ. หาทางพัฒนา-ยกระดับ ‘ของดีพื้นถิ่น’ ให้มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้น

(9 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สิ้นเดือน ก.พ. ตนจะลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่ใช่ไปดูเรื่องความมั่นคง แต่ไปดูเรื่องเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อไปดูเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร ซึ่งหลายอย่างเชื่อว่ามีของดีอยู่มากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

รัฐบาลนี้ใส่ใจ หลาย ๆ อย่างจะถูกนำขึ้นมา อย่างเมืองยะลา เป็นเมืองที่มีผังเมืองสวยที่สุดในประเทศและพร้อมรับนักท่องเที่ยว อาหารใต้มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ แต่ขาดการโปรโมตในเวทีโลก ดังนั้น หากผู้ใหญ่ในรัฐบาลลงพื้นที่และสนับสนุนต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าสิ่งดี ๆ เหล่านี้จะนำเงินเข้าประเทศได้จำนวนมาก ทำให้พี่น้องประชาชนภาคใต้มีกินมีใช้ขึ้นอีก

“อย่างประเทศฝรั่งเศส หลายท่านดื่มไวน์ก็รู้ว่าองุ่นกิโลกรัมละไม่กี่ร้อย แต่ถ้านำไปทำเป็นสินค้าที่มี Value added จริง ๆ กลายเป็นไวน์ขวดหนึ่งก็เป็นหลายหมื่นได้ ตัวอย่างมีอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผมจะลงไปดูในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปลาหน้าตก หรือ ปลานิลสายน้ำไหล ที่เลี้ยงโดยว่ายสวนน้ำขึ้นไปที่มีราคาสูงถึงตัวละ 3,000 บาท ไม่มีใครทราบ ไม่มีใครโปรโมต แต่ผมเชื่อว่า หลังจากสิ้นเดือนหน้าแล้ว รัฐบาลนี้ลงไปจะสร้างตลาดให้กับสินค้าประเภทนี้และอีกหลายประเภท ซึ่งยังไม่มีใครสร้าง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

‘นายกสมาพันธ์ฯ’ เตือน!! ‘ชาวสวน’ อย่านิ่งนอนใจ ชี้ ควรเร่งปรับตัว หลัง ‘เวียดนาม’ จี้ติด!! ส่ง 'ทุเรียน' ไปจีน เกือบครึ่งหนึ่งของไทยแล้ว

(9 ม.ค. 67) นายชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการสำรวจราคาค้าส่งทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนาม ที่ตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 1-31ธ.ค.2566 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ว่า ราคาทุเรียนหมอนทองของไทย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมาอยู่ประมาณ 1,000-1,200 หยวนต่อกล่องบรรจุ 6 ลูก 

ส่วนราคาทุเรียนหมอนทองของประเทศเวียดนาม 1 กล่อง 6 ลูกอยู่ที่ 900-1,000 หยวน (1 หยวนประมาณ 5 บาท) ขณะที่ทุเรียนก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 400 หยวน

และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการส่งออกทุเรียนไปตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนการส่งออกทุเรียนไปตลาดดังกล่าวที่มีประมาณ 49 ตู้ต่อครั้ง เป็นทุเรียนไทยจำนวน 27 ตู้ ส่วนทุเรียนเวียดนาม จำนวน 22 ตู้

ส่วนการเปรียบเทียบการส่งออกทุเรียนจากไทยไปตลาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา พบว่าราคาส่งออกทุเรียนหมอนทองไทย 1 กล่อง กล่องละ 6 ลูก ลดลงเหลือเพียง 950-1,100 หยวน เช่นเดียวกับทุเรียนหมอนทองเวียดนาม 1 กล่องละ 6 ลูก ราคา 500-520 หยวน ส่วนก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 380-400 หยวน

โดยปริมาณการส่งทุเรียนไปตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในวันดังกล่าวที่มีจำนวนรวม 39 ตู้ เป็นทุเรียนไทยจำนวน 25 ตู้ ส่วนทุเรียนเวียดนาม 14 ตู้

นายชลธี เผยว่า หากพิจารณาข้อมูลการส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปตลาดจีน จะเห็นว่าสัดส่วนการส่งออกเติบโตเกือบถึงครึ่งหนึ่งของการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนแล้ว จึงแสดงให้เห็นว่า เวียดนามมีการพัฒนาคุณภาพทุเรียนส่งออกที่ได้มาตรฐานมากขึ้น

ขณะที่ภาครัฐของเวียดนามเอาใจใส่กับผลผลิตทางการเกษตร และยังเร่งส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกร สอดรับกับข้อได้เปรียบของเวียดนามที่มีชายแดนติดกับประเทศจีน จึงทำให้เกษตรกรสามารถตัดทุเรียนคุณภาพ (แก่) เพื่อส่งออกได้ทันที

“สิ่งที่เกษตรกรไทยต้องเร่งปรับตัว คือ ทำทุเรียนคุณภาพตั้งแต่ขั้นตอนการตัด คัด ส่งออก ซึ่งในทุกขั้นตอนต้องสัมพันธ์กันทั้งหมด และหากเกษตรกรยังไม่คำนึงถึงคุณภาพทุเรียนส่งออก สุดท้ายจะทำให้ตลาดปลายทางเสียหาย และผลกระทบจะย้อนกลับมาที่ตัวเกษตรกรเอง”

นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก อดีตมือปราบทุเรียนอ่อน ยังบอกอีกว่าที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการรณรงค์ให้เกษตรกรทำทุเรียนคุณภาพ และไม่ตัดทุเรียนก่อนกำหนดอย่างต่อเนื่อง

เพราะหากต้นฤดูมีทุเรียนไม่ได้คุณภาพออกสู่ตลาด จะทำให้ทุเรียนทั้งภาคตะวันออก และทั่วประเทศ ตลอดไปจนถึงหน้าทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้มีคำสั่งซื้อน้อยลง

ส่วนการจัดทำโครงการหมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน นำร่องในพื้นที่ จ.ตราด เป็นพื้นที่แรกนั้น นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก บอกว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชาวสวนทุเรียนไทยต้องหันมามองเรื่องการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับของตลาด และกระบวนการผลิตจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงที่มาของแหล่งผลิตนั้น

“วันนี้ยังคงยืนยันได้ว่าทุเรียนไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ซึ่งหากเกษตรกรสามารถทำผลผลิตได้ตามคุณภาพตามที่ตลาดปลายทางต้องการจะทำให้ตลาดทุเรียนไทยเติบโตแบบยั่งยืน ขณะเดียวกัน ภาครัฐของไทยต้องเข้มงวดในเรื่องกระบวนการตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งออกไปต่างประเทศด้วยเช่นกัน” นายชลธี กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top