Sunday, 11 May 2025
GoodsVoice

‘การบินไทย’ ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าสู่ ‘Net Zero 2050’ ยก 3 หลักสำคัญ บริหารทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ไม่กระทบแผนฟื้นฟูองค์กร

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ‘TG’ เปิดเผยว่า การบินไทยกำลังเดินหน้าปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)

ภายใต้แนวคิด ‘Zero Waste Living’ ซึ่งประกอบด้วย หลักการหลัก 3 ประการได้แก่ FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม, FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การเดินหน้าแผนธุรกิจด้านความยั่งยืน จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น เทียบง่าย ๆ แค่การเปลี่ยนขวดนํ้าพลาสติก PET สู่วัสดุที่รีไซเคิลได้ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นราว 20% แล้ว เพราะฉะนั้น การทำงานของการบินไทย ต้องเดินหน้าภายใต้กรอบจำกัดเรื่องของแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยด้วย

“ถ้าเอาเงินมาใส่ตรงนี้ทั้งหมด มันไม่ได้ เราจะทำในสิ่งที่ไม่มีผลกระทบต่อบริษัท แต่ถ้าต้นทุนเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ เราต้องทบทวนก่อน มิฉะนั้นจะกระทบกับแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย” นายชาย กล่าว

จากแผนธุรกิจของการบินไทยปี พ.ศ. 2566-2570 ที่ประกาศไปล่าสุดว่า จะเดินหน้าลุยหาเงิน 1.2 แสนล้านบาท คืนเจ้าหนี้ทุกรายครบภายใน 8 ปี โดยมั่นใจว่า 2566 จะสามารถทำกำไรได้ 2 หมื่นล้านบาท มีเงินสดในมือ 50,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกสิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 การบินไทยมีเงินสดสะสมแล้ว 51,153 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิได้ 14,795 ล้านบาท

- ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน หลายอย่างการบินไทยได้ดำเนินการมานานแล้ว เช่น การบริหารจัดการขยะอาหารและขยะพลาสติก ที่เดินเน้นการคัดแยกแล้วส่งต่อให้ผู้รับซื้อ แต่ปัจจุบันการบินไทยเริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากร ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก

ล่าสุด ได้พัฒนาเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง ที่ผลิตมาจากวัสดุเหลือใช้ขวดนํ้าพลาสติกที่ให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเส้นใยพลาสติกผสมผสานกับเส้นใยไหมธรรมชาติในอัตรา 70:30 ซึ่งเครื่องแบบดังกล่าวใช้ขวด PET จำนวน 54 ขวด ต่อการผลิตชุดไทย 1 ชุด เริ่มใช้ 1 มกราคม 2567 กับพนักงานต้อนรับหญิงที่รับเข้ามาใหม่ และคาดว่าประมาณกลางปี 2567 จะปรับเปลี่ยนได้ครบทั้งหมด ซึ่งชุดเครื่องแบบใหม่นี้ นอกจากมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลแล้ว ยังมีความคงทน และไม่ต้องซักแห้งเหมือนชุดผ้าไหม ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มได้อีก

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดรับชุดยูนิฟอร์มเก่าจากพนักงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ได้ยูิฟอร์มเก่ามาเกือบ 10 ตัน จากเบื้องต้นตั้งเป้าเพียง 2 ตัน ทำให้สามารถนำไปปันเป็นเส้นใยใหม่ ผลิตเป็นยูนิฟอร์มใหม่ได้อีก โดยเสื้อ 1 ตัว ใช้ผ้าเก่า 2 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ได้เสื้อยูนิฟอร์มใหม่ 500 ตัว ซึ่งนำไปแจกจ่ายให้กับพนักงานการบินไทยทุกคน และอนาคตมีแผนที่จะต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ เพื่อลดขยะบนเครื่องบินให้ได้มากที่สุด

อีกหนึ่งแนวคิด เป็นการต่อยอดเศรษฐกิจหมุนเวียนของการบินไทย คือ การจับมือกับจิม ทอมป์สัน จัดทำ ‘Travel Kit Bag’ ที่นำอุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินทำมาจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (Biodegradable) ผลิตออกมาเป็นกระเป๋าผ้าพิมพ์ลายไทยพิเศษ 6 ลาย และในกระเป๋า ยังบรรจุอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้เช่นกัน อาทิ แปรงสีฟัน ถุงเท้า ลูกกลิ้งนํ้ามันหอมระเหย ลิปบาล์ม โลชั่นทามือ ยาสีฟัน ผ้าปิดตา และไม้ช้อนรองเท้า

นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินอื่น ๆ ที่คำนึงถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ช้อนส้อมอะลูมิเนียม ใช้ทดแทนช้อนส้อมพลาสติก แก้วนํ้า ถาดใส่อาหาร และอื่น ๆ

- ลุยเชื้อเพลิง SAF ปี 2030
ส่วนทางด้านการบิน ได้เปลี่ยนมาใช้รถบัสไฟฟ้าในการขนส่งพนักงานหรือลูกเรือจากศูนย์ปฏิบัติการไปยังสนามบิน รวมทั้งมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดภายใน 5 ปี และอีกหนึ่งโครการที่การบินไทยดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วและมีผลเป็นที่น่าพอใจคือ การใช้นํ้ามันอย่างมีประสิทธิภาพ หลักการคือ ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูล จากสถิติเก่า ๆ นำมาวิเคราะห์ จะได้ค่าตัวหนึ่ง ที่นำมาใช้งาน ไปใช้เป็นส่วนประกอบการวางแผนการบิน วางแผนการใช้นํ้ามัน และจัดเส้นทางการบิน เพื่อให้ใช้นํ้ามมันอย่างแม่นยำไม่น้อยหรือมากเกินไป

“เรื่องของวิธีการบิน เทคนิคการบิน เช่น เครื่องบินแลนดิ้ง เข้าหลุมจอด ไม่จำเป็นต้องติดเครื่องยนต์ทั้ง 2 เครื่อง เป็นการลดใช้นํ้ามันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ๆ และเครื่องยนต์ยุคใหม่ ที่ใช้นํ้ามันลดลง”

ส่วนนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) การบินไทยมีแผนที่จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการภายในปี ค.ศ. 2030 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในเครื่องบืนของการบินไทย ได้มีการใช้นํ้ามัน SAF อยู่บ้าง จากการบินเข้ายุโรป ที่เริ่มบังคับใช้กับผู้ผลิตและบริษัทนํ้ามันแล้ว

“การใช้นํ้ามัน SAF ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เราต้องมีการผลักดันในหลาย ๆ ภาคส่วน จะให้ผู้ใช้เป็นคนผลักดันฝั่งเดียวเกิดได้ยาก นโยบายการใช้ SAF ผู้คุมนโยบาย ผู้ใช้ ผู้ผลิต ก็ต้องมาคุยกัน มันไม่ใช่แค่การบินไทยบอกอยากจะใช้ มันต้องกลับไปดูถึงซัพพลายเชนว่า วัตถุดิบในการผลิต SAF มาจากไหน จะบริหารจัดการกันอย่างไร มีนโยบายอย่างไร”

‘ภูมิธรรม’ หารือ ‘ผู้ว่าฯ เกียวโต’ ร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการ-ศก. ยกระดับการเกษตร-สินค้า-ท่องเที่ยว ดัน Soft Power ระหว่างประเทศ

(26 พ.ย. 66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือกับ ‘นายนิชิวากิ ทากาโตชิ’ (NISHIWAKI Takatoshi) ผู้ว่าราชการจังหวัดเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่ห้องรับรองชั้น 11 กระทรวงพาณิชย์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ได้มีการหารือถึงแนวทางการผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือกับญี่ปุ่นในระดับท้องถิ่น แนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคคันไซ และแลกเปลี่ยนมุมมองสินค้าและบริการที่มีศักยภาพเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกัน และได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดงาน ‘Expo 2025 Osaka Kansai’ เนื่องในโอกาสที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพการจัดงาน

โดยในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้หารือกันถึงการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้กับหน่วยงานที่ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อปรับใช้กับการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย และสตาร์ตอัปของไทย ด้านการเกษตร ได้มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้เกี่ยวกับการนำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาผลผลิตทางการเกษตรของไทย และอาจมีการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาสินค้า อาทิ งานหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาด และด้านอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ได้หารือเรื่องความเป็นไปได้ที่จะให้ผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการจังหวัดเกียวโต มีโอกาสเชื่อมโยงและพัฒนาสินค้า ดีไซน์ร่วมกันให้สอดรับกับความต้องการของตลาดญี่ปุ่น

ส่วนในด้านการท่องเที่ยว เห็นพ้องกันว่าความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย ญี่ปุ่นในภาพรวม และยินดีที่มีการฟื้นฟูการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเกียวโต เป็นจังหวัดที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และเห็นตรงกันว่า ไทยและเกียวโตมีโอกาสเพิ่มความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวสองทาง และส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม Soft Power ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ

ทางด้านญี่ปุ่น ได้แจ้งความคืบหน้าการจัดงาน World Expo ที่เป็นงานแสดงนิทรรศการระดับโลกที่จัดขึ้นทุก 5 ปี ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การนิทรรศการนานาชาติ (The Bureau International des Exposition : BIE) โดยไทยในฐานะประเทศสมาชิกได้เข้าร่วมงานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งต่อไปกำหนดจัด ‘Expo 2025 Osaka Kansai’ ระหว่างวันที่ 13 เมษายน-13 ตุลาคม 2568 รวมระยะเวลา 184 วัน ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น มีหัวข้อหลักในการจัดงาน คือ ‘Designing Future Society for Our Lives’ ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมแสดงนิทรรศการและนำผู้ประกอบการสินค้าและบริการในสาขา HEALTH & WELNESS เข้าร่วม

‘ภูมิธรรม’ หนุน ‘คนรุ่นใหม่’ สานต่อการเกษตรกรในอนาคต เชื่อ!! พลังของคนตัวเล็กเกิดได้ แค่มีใจรัก-กล้าคิด-กล้าฝัน

(27 พ.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความและภาพผ่านเพจ ‘Phumtham Wechayachai’ ระบุว่า

“ศักยภาพของเกษตรกรรุ่นใหม่

ผมเพิ่งกลับมาจากการตรวจราชการที่ อ.พาน จ.เชียงราย

มีเรื่องของเกษตรกรรุ่นใหม่ 2 ท่าน ที่ได้พูดคุย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลังของคนตัวเล็กเกิดขึ้นและเป็นจริงได้หากมีใจรัก กล้าคิด กล้าฝัน พร้อมองค์ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ และการเรียนรู้จากผู้อื่นทั้งเครือข่ายภายใน และภายนอกชุมชนของตน สุดท้ายคือความเชื่อมั่นและการกล้าที่จะทำในสิ่งใหม่ๆ

ท่านแรก คือ คุณอานู มัสจิต เจ้าของร้านดงดิบคาเฟ่ ซึ่งเคยเป็นพนักงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ กลับมาทำเกษตรอินทรีย์ บุกเบิกที่ดินของตัวเองเป็นนาข้าว พืชผักอินทรีย์ และคาเฟ่ ตั้งใจทำให้เป็นร้านกาแฟและร้านอาหารสายสุขภาพ โดยมีลูกชายที่เรียนจบเชฟจากเลอกอร์ดองเบลอช่วยเป็นที่ปรึกษา และที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้การทำปุ๋ย การทำน้ำหมัก คุณอานูบอกว่าอยากทำร้านนี้เป็นธุรกิจแบบ Social Enterprise

อีกท่าน คือ คุณนพดล ธัญวรรธนา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะแกะส่งออก ซึ่งเคยเป็นอดีตนายกองค์การศึกษา มช. และเคยเข้าร่วมกิจกรรม Young Leader พรรคไทยรักไทย วันนี้ได้นำความรู้และประสบการณ์จากการทำงานในบริษัทเอกชน กลับมาพัฒนางานเกษตรด้านปศุสัตว์ที่บ้านเกิด โดยวางแผนการทำโรงเชือดแพะแกะที่ได้มาตรฐานการส่งออก

ซึ่งทั้งสองท่านได้แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่มีองค์ประกอบของ 3C ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเคยพูดถึง นั่นคือ C-Common หมายถึงประชาชน กลุ่มเป้าหมาย ทั้งสองท่านเริ่มต้นทำงานด้วยการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย รู้จักตลาด C-Connection การทำงานร่วมกับเครือข่าย ไม่ทำตัวคนเดียว เพราะเครือข่ายจะสร้างพลังในการขับเคลื่อนงานได้ในทุกมิติ และ C-Can Do ความเชื่อมั่นว่าทำได้ มีใจรักในงานที่ทำ รวมถึงการทำงานด้วยพื้นฐานของความรู้ทั้งที่มาจากประสบการณ์ จากผู้รู้ หรือจากข้อมูลตามหลักวิชาการ

ผมคิดว่าวันนี้ในสังคมต่างจังหวัด มีเกษตรกรรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่นำความรู้และประสบการณ์ที่เคยได้รับจากการทำงานในเมืองใหญ่ กลับไปพัฒนาต่อยอดงานด้านการเกษตรของรุ่นพ่อรุ่นแม่ ตามแนวทาง ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’

เกษตรกรรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นพลังขับเคลื่อน เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยในอนาคต

“พลังของคนตัวเล็ก

ยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์เสมอ”

‘สุริยะ’ เตรียมชง ครม. สร้างมอเตอร์เวย์ 2 สาย วงเงิน 8.7 หมื่นลบ. ช่วงรังสิต-บางปะอิน และบางขุนเทียน-บางบัวทอง คาด!! เปิดใช้ปี 71

(27 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าขณะนี้ได้เสนอโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์สายใหม่จำนวน 2 โครงการ ที่มีความพร้อม ไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้วเพื่อรอบรรจุวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป คือโครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5)  ระยะทาง 22 กม. และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทองระยะทาง 35.85 กม.

โดยจะมีการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือน คาดว่าจะนำเสนอ ครม.พิจารณาได้ในเดือนม.ค. 2567 

สำหรับ โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 31,280 ล้านบาท จะดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยเอกชนลงทุนในส่วนก่อสร้างงานโยธาและงาน O&M โดยรัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชน และรัฐใช้คืนค่าก่อสร้างภายหลัง ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ จะเริ่มจ่ายค่างานโยธาเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว การออกแบบรายละเอียด (Detail& Design) เสร็จแล้ว รายงาน EIA ได้รับอนุมัติแล้ว โดยคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชน ในปี 2567 ก่อสร้างในปี 2568-2570 และเปิดบริการในปี 2571

ปัจจุบันเส้นทาง ‘ดอนเมืองโทลล์เวย์’ ที่เปิดให้บริการจากดินแดง-อนุสรณ์สถาน-รังสิต ระยะทาง 25 กม. ซึ่งถนนพหลโยธินยังมีปัญหารถติด การต่อขยายเส้นทางออกไป เชื่อมไปถึง Junction บางปะอินซึ่งจะเป็นจุดตัดของทางหลวงและมอเตอร์เวย์มอเตอร์เวย์ 3 สาย จะช่วยแก้ปัญหาจราจรบนถนนพหลโยธิน

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท จะเป็นการก่อสร้างปรับปรุงเพื่อยกระดับการให้บริการวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกเต็มรูปแบบ เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร บริเวณเกาะกลางของถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นที่ กม.0 ที่ต่างระดับบางขุนเทียนและสิ้นสุดที่ กม.36 ต่างระดับบางบัวทอง มีทางขึ้น 8 จุด ทางลง 6 จุดและมีทางแยกต่างระดับ 5 แห่ง (บางขุนเทียน บรมราชชนนี ศรีรัชบางใหญ่ และบางบัวทอง) มีระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) คิดตามระยะทาง ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและก่อสร้างปี 2567-2570 แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2571

'พิมพ์ภัทรา' เผย!! นายกฯ รับ 'นิคมฯ สระแก้ว' เป็นพื้นที่ศักยภาพสูง เหมาะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เล็งหาแนวทางจูงใจนักลงทุนเพิ่มขึ้น

(27 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าจังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจอย่างมาก และชื่นชมที่ กนอ.จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วสำเร็จตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริม พัฒนา และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปสินค้าเกษตรรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าที่ครบวงจรสู่อาเซียน 

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมายังมีปัญหาอุปสรรคในด้านสิทธิประโยชน์ด้านภาษี อัตราค่าเช่าที่ดินระยะยาวที่สูง และข้อจำกัดด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EIA ที่กำหนดไม่ให้มีปล่อง อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีรับทราบถึงปัญหาดังกล่าว และมีนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้พื้นที่ที่มีศักยภาพนี้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้มากขึ้นตามนโยบายที่รัฐบาลได้วางไว้

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการในปี 2562 มีพื้นที่ 660 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สาธารณูปโภค พื้นที่สีเขียว 64 ไร่ มีพื้นที่ขายเช่า 433 ไร่ สามารถขายได้ 26 ไร่ มีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนแล้ว 4 ราย ได้แก่ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก เสื้อผ้า 3 ราย อุตสาหกรรมทำเบาะรถ ชิ้นส่วนยานยนต์ 1 ราย และที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ อีก 2 ราย โดยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสระแก้วมุ่งเน้นกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว (EIA) จึงไม่อนุญาตให้โรงงานที่มีปล่องมาตั้งในนิคมฯ ได้ ส่งผลให้ประเภทอุตสาหกรรมที่สามารถตั้งได้นั้นมีจำกัด ซึ่ง กนอ. มีแนวคิดที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วต่อไป เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดดังกล่าว 

นอกจากนี้ ยังพบว่าหากสามารถเปิดกว้างสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ทุกประเภทกิจการที่มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วได้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคที่พบคือ ที่ดินราคาค่าเช่าสูง เพราะเป็นที่ของกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นผู้กำหนดค่าเช่า กนอ.จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจรจากับกรมธนารักษ์ ให้ช่วยพิจารณาลดอัตราค่าเช่า เพื่อจูงใจนักลงทุนในพื้นที่ โดยล่าสุดทราบว่า นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับทางกรมธนารักษ์แล้ว คาดว่าจะทราบผลการหารือได้ในเร็วๆ นี้ 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำด้วยว่า นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีความเหมาะสมที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะจะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังจะส่งผลให้เศรษฐกิจชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชานั้นกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศกลับมาแน่นแฟ้นมากขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าที่ครบวงจรในกลุ่มประเทศอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง CLMVT ได้อีกด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้กับด่านศุลกากรอรัญประเทศ (ป่าไร่) และด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชาได้

"ผมเชื่อว่า หากนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้สำเร็จ จะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างมาก" ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวปิดท้าย

‘WHA’ ผนึก ‘บ.จีน’ ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มบนหลังคาโรงงาน จ.ชลบุรี ช่วยลดปล่อยคาร์บอน 3 หมื่นตัน-การใช้ถ่านหิน 1.5 หมื่นตัน/ปี

(27 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานจากจังหวัดชลบุรี ระบุว่าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของไทยตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ (WHA) ในจังหวัดชลบุรี ร่วมก่อสร้างโดยผู่หลิน เฉิงซาน บริษัทของจีน และดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป (WHA Group) นักพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทย

กำลังการผลิตติดตั้งของโครงการฯ ระยะที่ 1 อยู่ที่ 19.44 เมกะวัตต์ เริ่มต้นดำเนินงานเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2022 ส่วนระยะที่ 2 คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสิ้นภายในปีหน้า โดยกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดจะอยู่ที่ 24.24 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไฟฟ้ารายปีสูงเกิน 30 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ทั้งนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของไทยแห่งนี้จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 30,000 ตัน และการใช้ถ่านหินมาตรฐาน 15,000 ตัน ในแต่ละปี หลังดำเนินงานและเชื่อมต่อกับโครงข่ายการไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ

‘นายกฯ’ รับเรื่อง ‘รมว.ปุ้ย’ ชงลดค่าเช่าที่ดินจูงใจนักลงทุน ช่วยดัน!! ‘นิคมฯ สระแก้ว’ ผงาด!! สู่เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่

สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเจ้าบ้านรับการมาเยี่ยมเยือนของ นายกฯ นั้น 

ผู้สื่อข่าวเผยถึงสาระสำคัญที่ ‘นายกฯ นิด’ ได้หารือกับ ‘รมว.ปุ้ย’ ในหลายประเด็น แต่หนึ่งในประเด็นที่ทั้งคู่ต่างมองเห็นเป็นนัยเดียวกัน คือ ทิศทางและศักยภาพของจังหวัดสระแก้ว ที่สามารถพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอนาคตได้ต่อจากนี้

แน่นอนว่า ในสายตาของนายกฯ ที่ได้ลองสำรวจและศึกษาข้อมูลพื้นที่ ก็ดูจะเข้าใจแบบเชิงลึกได้ทันทีที่ว่า จังหวัดสระแก้วนี้ มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจที่สูงมากขนาดไหน

“นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีความเหมาะสมที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะจะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังจะส่งผลให้เศรษฐกิจชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชานั้นกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศกลับมาแน่นแฟ้นมากขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าที่ครบวงจรในกลุ่มประเทศอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง CLMVT ได้อีกด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้กับด่านศุลกากรอรัญประเทศ (ป่าไร่) และด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชาได้” นายกฯ กล่าว

หลังจากนั้น รมว.ปุ้ย ได้กล่าวเสริมให้ นายกฯ ทราบอีกด้วยว่า นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ถือเป็นหนึ่งในโครงการของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone: SEZ) ที่มีการวางไว้ 10 จังหวัดชายแดนต้นแบบได้แก่ ตาก, มุกดาหาร, ตราด, สงขลา, หนองคาย, นครพนม, กาญจนบุรี, นราธิวาส, เชียงราย และ สระแก้ว โดยรัฐบาล ได้สนับสนุนกลไกการอำนวยความสะดวกทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น การนิคมอุตสาหกรรม ด่านศุลกากร ถนนหนทาง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่สำคัญคือสิทธิประโยชน์การลงทุน เพื่อเป็นการจูงใจนักพัฒนานักลงทุน โดยมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และมีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการพัฒนา

“ที่นี่มีความโดดเด่นในเชิงของทำเลที่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจ รวมถึงมีการพัฒนาด้านการค้าขายและด้านการท่องเที่ยว ที่ปีหนึ่งๆ มีมูลค่าสะพัดมากกว่า 1 แสนล้านบาทกันเลยทีเดียว” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

แน่นอนว่าจากการสนทนาของ นายกฯ นิด และ รมว.ปุ้ย ในครั้งนี้ ดูจะทำให้นายกฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่แห่งนี้มากขึ้น แต่ก็มิใช่ว่าจะราบรื่นเสียทั้งหมด โดยช่วงหนึ่ง รมว.ปุ้ย ได้เผยให้เห็นถึงอุปสรรคปัญหาที่กำลังเป็นกำแพงขวางโอกาสในด้านการลงทุนอยู่ด้วย ว่า…

“หากพิจารณาถึงศักยภาพของพื้นที่และโอกาสที่จะเอื้อต่อภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในสระแก้วนี้ ดูจะมีพร้อมมาก แต่ติดอยู่ที่ สิทธิประโยชน์ด้านภาษี อัตราค่าเช่าที่ดินระยะยาวที่สูง และข้อจำกัดด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EIA ที่กำหนดไม่ให้มีปล่อง กำลังเป็นเงื่อนไขที่จะบีบรัดให้การเติบโตของนิคมฯ สระแก้วมีโอกาสไปต่อแบบไม่ราบรื่น”

พูดแบบนี้มา ‘นายกฯ’ ก็สวนกลับอย่างไว โดย ‘เศรษฐา’ ได้บอกกับ รมว.ปุ้ย ไปว่า…“หากสามารถเปิดกว้างสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ทุกประเภทกิจการที่มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วได้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในเรื่องของ ‘ที่ดินราคาค่าเช่าสูง’ เพราะเป็นที่ของกรมธนารักษ์นั้น เดี๋ยว นายกฯ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะไปเจรจากับกรมธนารักษ์ ให้ช่วยพิจารณาลดอัตราค่าเช่า เพื่อจูงใจนักลงทุนในพื้นที่ ซึ่งผลลัพธ์คงได้ทราบในเร็ว ๆ นี้ 

ทำงานแบบนี้ ถือเป็นมิติใหม่ คนหนึ่งชงปัญหา อีกคนรับลูกปัญหา แก้ได้แก้ ส่งเสริมได้ส่งเสริม เดี๋ยวผลบวกต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ก็จะค่อย ๆ ประจักษ์ชัดโดยเร็วเอง...

เชื่อมต่อรถไฟฟ้า 'สีม่วง-แดง' 20 บาทตลอดสาย  ดีเดย์ 30 พ.ย.นี้ เบื้องต้นใช้ผ่านระบบบัตร EMV

เมื่อวานนี้ (27 พ.ย.66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมร่วมขับเคลื่อนนโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ของ รฟม. และรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะได้รับสิทธิชำระค่าโดยสารร่วม 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาทเท่านั้น เมื่อใช้บัตรโดยสาร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นี้ จะลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทดลองใช้ระบบ EMV Contactless เดินทางข้ามสาย ระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง พร้อมๆ กับประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อติดตามตรวจสอบความเรียบร้อยในการให้บริการด้านการเดินทางแก่ประชาชน โดยนโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย’ เป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win ของรัฐบาล ในด้าน “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนในด้านการเดินทาง และการให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง

ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดที่ดำเนินงานด้านระบบรางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนของ รฟม.และ รฟท. ที่เป็น 2 หน่วยงานนำร่องนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท มาใช้ในการให้บริการรถไฟฟ้าของภาครัฐ ตั้งแต่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ให้มีการติดตามประเมินความคุ้มค่าด้านจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมาในระบบเปรียบเทียบกับรายได้ เพื่อรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบเป็นระยะ พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในการศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในระยะต่อๆ ไป ที่สามารถสานต่อนโยบายดังกล่าวได้ และต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระทางการเงินของหน่วยงานภาครัฐในอนาคตด้วย ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้เพิ่มเติมของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า ในระยะ 1 เดือนกว่าๆ ที่รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ได้เริ่มให้บริการด้วยอัตราค่าโดยสาร สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารในวันทำงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,274 คน-เที่ยวต่อวัน คิดเป็น 6.07% และในวันหยุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,789 คน-เที่ยวต่อวัน คิดเป็น 13.33% และ รฟม.คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จะเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปใช้อัตราค่าโดยสารร่วมระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟชานเมือง สายสีแดง สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป รวมถึงการที่รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ และผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนถ่ายระบบได้โดยสะดวกที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้ รฟม.พร้อมสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดทดแทน ในระยะยาวย่อมจะช่วยลดมลพิษทางอากาศและบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลลงได้ โดย รฟม.มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยไม่จำกัดการดำเนินงานเฉพาะในรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเท่านั้น แต่จะศึกษาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกับ ขร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถต่อยอดนโยบายนี้ไปใช้กับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ในความรับผิดชอบของ รฟม.ได้อีกด้วย

ประกอบกับ รฟม.ได้พัฒนาระบบรับการชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ไว้รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT ทุกสาย กับระบบขนส่งอื่นๆ อย่างครบครันแล้ว จึงมีความมั่นใจว่า หากมีแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบใหม่ในอนาคต รฟม.จะสามารถให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

'พิมพ์ภัทรา' ต้อนรับ 'ฉางอาน' บิ๊กอีวียักษ์ใหญ่จากจีน ปักธงสร้างฐานผลิตพวงมาลัยขวาในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 พ.ย.66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานในกิจกรรมการเปิดตัว 'ฉางอาน' ยานยนต์ อีวี หรือรถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ชื่อดังจากสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งยังเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังผลิตออกสู่ตลาดชั้นนำของโลกอย่างต่อเนื่อง โดย รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณดีอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยในขณะนี้ กำลังเป็นดาวรุ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์อีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นฐานการผลิตแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ภายใต้ค่ายผู้ผลิตชั้นนำมากมายที่ต่างสนใจเข้ามาลงทุน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะกับค่ายผู้ผลิตในประเทศจีน ถือเป็นผู้เล่นที่ก้าวหน้าล้ำสมัยอย่างมาก ภายใต้ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นเดียวกับแบรนด์อื่น ๆ ทั่วโลก จนส่งผลให้ตลาดอีวีขยายตัวกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกใช้ยานยนต์ชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเสริมว่า สำหรับประเทศไทยในเวลานี้นั้น มุ่งให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานใหม่ให้เดินหน้าไปด้วยกันได้กับอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมที่ยังมีอยู่

"ในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ นั้นจะมีความเกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศต่าง ๆ มากมาย จนเกิดเป็นเม็ดเงินทางเศรษฐกิจที่หมุนเวียนอยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การขนส่ง, การผลิต, ทรัพยากร, วัตถุดิบ, แรงงาน และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เฉกเช่นเดียวกันกับประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ลำดับ 10 ของโลก ก็ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศของรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ในไทยเกิดการหมุน ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่ท้าทาย แต่กระทรวงอุตสาหกรรมก็มีความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ อุตสาหกรรมที่กำลังเป็นอนาคตของโลก"

ในโอกาสนี้ ทาง รมว.พิมพ์ภัทรา ยังได้กล่าวขอบคุณทางผู้บริหารของ 'ฉางอาน' ด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมต้องขอชื่นชมและขอบคุณการตัดสินใจของคุณจู หัวหรง และคณะ ผู้บริหาร บริษัท ฉางอาน ออโต้โมบิล จำกัด ที่ได้ใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ลงทุน ภายใต้มูลค่าการลงทุนกว่า 8,860 ล้าน และยังทราบว่าต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรองรับความต้องการในภูมิภาค และส่งไปยังอีกหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศใช้รถพวงมาลัยขวา...

"ดิฉันในฐานะเจ้ากระทรวงฯ ขอกล่าวคำขอบคุณและขอต้อนรับอย่างเป็นทางการ ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์รักษ์สิ่งแวดล้อมของไทย โดยหนึ่งในย่างก้าวสำคัญนี้จากฉางอานจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ประเทศไทยก้าวไปสู่หมายเลข 1 ของภูมิภาคในด้านการผลิตและส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงทะยานสู่เป้าหมายการเบอร์ต้นๆ ของอุตสาหกรรมนี้ในโลกต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา ทิ้งท้าย

'โฆษก รทสช.' ขอบคุณ 'นายกฯ' สานต่อนโยบาย 'ลุงตู่' อนุมัติช่วยชาวนาไร่ละ 1 พัน เชื่อ!! ช่วยลดภาระได้มาก

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 66 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อราย จะมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.66) ว่า ขอขอบคุณรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน แทนชาวนาทั้งประเทศ ที่รัฐบาลเห็นชอบจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวถือเป็นนโยบายที่ดี ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับชาวนา เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องจากขณะนี้ต้นทุนการผลิตสูงมาก ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย หรือยาฆ่าหญ้า 

ดังนั้น การที่รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 1,000 บาท ต่อไร่ จึงถือเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับชาวนาคลายความเดือดร้อนได้บางส่วน แม้จะเป็นเงินจำนวนน้อยก็ตาม แต่ในปีต่อไปก็อยากจะให้เดินหน้าโครงการนี้ต่อช่วยเหลือชาวนาให้ได้มากกว่าไร่ละ 1,000 บาท ขอเป็นไร่ละ 2,000 บาท ถือเป็นสิ่งที่ชาวนาเรียกร้องมา จากการที่ตนได้ลงพื้นที่มีเสียงสะท้อนกลับมาขอไร่ละ 2,000 บาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสม ในการช่วยเหลือชาวนา เพื่อลดภาระให้กับเกษตรกร

สำหรับนโยบายดังกล่าวนี้ ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 14 พ.ย.66 ภายหลังจากที่ นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือชาวนาค่าเก็บเกี่ยวข้าว ว่า ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในฐานะที่ตนรับผิดชอบ โดยเรื่องข้าวทางคณะกรรมการนโยบายข้าวได้ประชุมและให้ส่วนที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หลังคุยได้สรุปและนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในวันเดียวกัน โดยเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จำนวนทั้งหมดไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครัวเรือน ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเรียบร้อยแล้วให้ดำเนินการนับตั้งแต่มติ ครม.ออก รอเพียงให้ ธ.ก.ส.เคลียร์รายละเอียดประชุมบอร์ด จากนั้นเกษตรกรก็จะได้รับเงินตรงนี้ต่อเนื่องไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top