Monday, 12 May 2025
GoodsVoice

‘พีระพันธุ์’ เบรก ‘กกพ.’ ขึ้นค่าไฟ 4.68-5.95 บาท ต้นปี 67 ลั่น!! ต้องได้ 3.99 บาท ช่วยลดภาระประชาชนให้มากที่สุด

(21 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออก 3 ทางเลือกขึ้นค่าไฟหน่วยละ 4.68 - 5.95 บ. งวดมกราคม-เมษายน 67 

จากปัจจุบัน (กันยายน-ธันวาคม 66) อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. วันที่ 10 - 24 พฤศจิกายนนี้ ว่า 

ขณะนี้ได้สั่งการให้ทีมงานเข้าไปดูโครงสร้างต้นทุนค่าไฟเพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือประชาชน จะแยกต้นทุนรายตัว บางเชื้อเพลิงอาจปรับขึ้น

แต่คงไม่เท่าราคาที่ กกพ.ประกาศออกมา โดยจะพยายามทำให้ค่าไฟยังอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยต่อไป 

ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคมนี้ เพราะถือเป็นนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนให้มากที่สุด 

อย่างไรก็ดี หากต้นทุนเพิ่มจริงก็อาจขยับเล็กน้อยแต่คงไม่สูงตามที่ กกพ. ประกาศออกมา

"โครงสร้างค่าไฟปัจจุบันที่ กกพ. นำมาใช้ตนไม่พอใจ เพราะไม่เป็นธรรมกับประชาชน หน่วยงานรัฐต้องดูแลประชาชน ต้องลดภาระ ต้องพิจารณาราคาที่เป็นธรรม เวลานี้ค่าไฟจึงยังไม่สรุป ไม่ใช่ราคาที่ กกพ. ประกาศออกมาแน่นอน"

‘มาร์ส เพ็ทแคร์’ หนุนเกษตรกรปลูก ‘ข้าว-ข้าวโพด’ อย่างยั่งยืน หวังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำร่อง ‘นครราชสีมา-ลพบุรี’

(21 พ.ย. 66) นายปิยรัฐ อมรฉัตร ผู้อำนวยการด้านการจัดซื้อ ภูมิภาคเอเชีย บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการร่วมกับ 6 พันธมิตรทางการค้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิตผ่านโครงการเกษตรกรรมฟื้นฟู

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้กิจกรรม Climate Actions For A Better Tomorrow โดยจะนำร่องโครงการในการปลูกข้าวโพดและข้าวนำร่อง ที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ลพบุรี 

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายบริษัท ที่วางแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 

ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์และฟื้นฟูดินควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

“มาร์ส เพ็ทแคร์ ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงภายใต้กรอบความยั่งยืนและหนึ่งในเป้าหมายความยั่งยืน คือ การลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยดำเนินโครงการเกษตรกรรมฟื้นฟู มุ่งยกระดับสุขภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อจัดเก็บคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับปรุงคุณภาพของลุ่มน้ำ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งโครงการนี้จะเสริมสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งกับเกษตรกร เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก้าวไปสู่การเกษตรแบบเท่าทันภูมิอากาศ ( Climate Smart Agriculture) โดยทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์และเกษตรกรส่งเสริมวิธีการทำเกษตรที่ดียิ่งขึ้น และการสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพกระบวนการผลิตข้าวโพดและข้าวอย่างยั่งยืน” 

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นวาระสำคัญของทุกภาคส่วน โดยภาครัฐพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากกลุ่มภาคเกษตรกรรม เพราะเป็นอาชีพหลักของประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับ 6 พันธมิตรที่ร่วมดำเนินการ ประกอบด้วย ร้านตรงพานิช, บริษัท ส.วิริยะอินเตอร์เทรด จำกัด ,บริษัท พูลอุดม จำกัด, บริษัท วชาไล จำกัด (แสงตะวัน), ห้างหุ้นส่วนจำกัดกรแก้วพืชผล และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนลไรซ์ แอนด์โปรดักซ์ จำกัด

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ บุกเมืองคอน งัดบิ๊กอีเวนต์ จัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์ฯ’ จับคู่ธุรกิจ-เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ คาดเงินสะพัดกว่า 200 ลบ.!!

(21 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมผนึกกำลังภาครัฐและเอกชน เตรียมจัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเปิดเป็นพื้นที่ส่งเสริมสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม กิจกรรมจับคู่ธุรกิจและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งคาดว่าตลอดการจัดงานทั้ง 5 วันจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100,000 คน และเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านบาท

“เราจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจ และมอบเป็นของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีทั้งการจำหน่ายสินค้าคุณภาพ การจัดสัมมนาให้องค์ความรู้ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคใต้ และระยะต่อไปมีแผนในการขยายพื้นที่การจัดงานในภาคอื่น ๆ ในอนาคต” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ‘งานอุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ จะจัดภายใต้แนวคิด ‘การส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้’ (Southern Industrial Fair) โดยกิจกรรมภายในงานแบ่งออกเป็น 5 โซนต่าง ๆ ได้แก่ โซนที่ 1 การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าคุณภาพกว่า 300 บูธในราคาสุดพิเศษ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม สมุนไพรและเกษตรแปรรูป พร้อมโปรโมชันพิเศษเฉพาะภายในงาน เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ โซนที่ 2 นิทรรศการแสดงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย อาทิ การจัดแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกล การจัดแสดงต้นแบบรถยนต์ EV ต้นแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และนวัตกรรมต่าง ๆ

โซนที่ 3 การบริการให้คำปรึกษาแนะนำในด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โซนที่ 4 การสัมมนาองค์ความรู้ต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้การประกอบธุรกิจในยุคใหม่ และโซนที่ 5 กิจกรรมพิเศษอื่น ๆ อาทิ การบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ฟรี การเปิดรับสมัครงานในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น

นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้จัดสัมมนาให้ความรู้ด้านการมาตรฐาน (สมอ.) และมอบใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องบงกชรัตน์ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช

รวมถึง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ยังจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อสิ่งแวดล้อม ในกิจกรรม ‘Walk & Run for Ozone and Climate 2065 Net zero’ และ ‘จิตอาสาเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2566 ณ เขาพลายดำ จังหวัดนครศรีธรรมราช

‘อลิอันซ์ อยุธยา’ นำทีม ‘มาหามิตร’ กระตุ้นแยกขยะ-เลิกเทรวม ต่อยอดโครงการ ‘ปทุมวัน Zero Waste’ สู่งาน ‘THINK ทิ้ง..ชีวิต’

‘บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา’ นำทีม ‘มาหามิตร’ (Alliance for Sustainability) จัดกิจกรรม ‘THINK ทิ้ง ... ชีวิต’ ปลุกจิตสำนึกแยกขยะ เลิกเทรวม ทั้งระดับครัวเรือนและองค์กร ลดขยะไปสู่บ่อขยะฝังกลบให้น้อยที่สุด โชว์ผลงานรักษ์โลก 7 ศิลปินร่วมสมัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหา ‘ขยะ’ เกิดจากพฤติกรรมของเราทุกคน ก่อให้เกิดการสะสมของขยะมูลฝอย ขยะสารเคมีที่เป็นอันตราย ขยะพลาสติกทั้งถุงหูหิ้ว ขวดน้ำ แก้วพลาสติก กล่องโฟม เศษอาหาร และอื่นๆ กระจายอยู่ในพื้นที่บ่อขยะ พื้นที่ฝังกลบ พื้นที่ที่มีการนำขยะไปเทกองรวมกัน รวมทั้งแม่น้ำลำคลอง ชุมชน และพื้นที่เมือง ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน

‘กลุ่มมาหามิตร’ นำโดย อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ร่วมด้วย กรุงเทพมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โครงการ ‘Chula Zero Waste’ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง, เอ็ม บี เค, สยามพิวรรธน์, กลุ่มสยามกลการ, โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในฐานะกลุ่ม ‘มาหามิตร’ (Alliance for Sustainability) ส่งเสริมการแยกขยะ ‘เลิกเทรวม’ เพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดกิจกรรม ‘THINK ทิ้ง ... ชีวิต’ งานใหญ่กลางกรุง โดยหยิบแนวคิดการใช้ศิลปะมาร่วมสร้างแรงบันดาลใจสู่การตระหนักคิด สร้างจิตสำนึก และเปลี่ยนแปลงสู่พฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของคนเมือง

งานนี้จัดขึ้น เพื่อตะโกนดังดังบอกทุกคนว่า ‘เลิกมักง่ายเถอะ’, ‘แยกขยะกันเถอะ’ เพราะปัญหาขยะจะไม่มีวันแก้ได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ช่วยกัน อีกทั้ง การทิ้งของเราทุกคนมีผลต่อการเปลี่ยนชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งเสมอ ถ้าคิดก่อนทิ้งเราอาจเปลี่ยนชีวิตได้มากมาย ดังนั้น

เราจะทิ้งเพื่อ ‘สร้างชีวิต’
เราจะทิ้งเพื่อ ‘ปลูกชีวิต’
เราจะทิ้งเพื่อ ‘ช่วยชีวิต’
หรือเราจะ ‘ทิ้ง ... ชีวิต’ ก็ขึ้นอยู่กับตัวของเราทุกคน

นางสาวพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารงานลูกค้า บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ในฐานะตัวแทนกลุ่มมาหามิตร กล่าวว่า กลุ่ม ‘มาหามิตร’ เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาคสาธารณะในเขตปทุมวัน ร่วมแสดงเจตจำนง ตั้งเป้าหมายสู่ความยั่งยืนร่วมกัน ถือเป็นการสร้างความยั่งยืนจากภายในองค์กรเพื่อขยายผลสู่ภายนอก แต่ละองค์กรพันธมิตรอาจมีเป้าหมายธุรกิจที่ต่างกัน แต่เป้าหมายใหญ่ร่วมกัน คือ การสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกในมิติต่างๆ

โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวคือ เรื่องการจัดการขยะในองค์กร ซึ่งต่อมาเกิดเป็นโครงการ ‘ปทุมวัน Zero Waste’ ส่งเสริมการแยกขยะเพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่เขตปทุมวัน ที่มีเป้าหมายเพื่อลดขยะไปสู่บ่อขยะให้น้อยที่สุด และเพื่อเป็นการรณรงค์ให้เกิดการแยกขยะในวงกว้างขึ้น ปีนี้เราจึงต่อยอด สู่งาน ‘THINK ทิ้ง ... ชีวิต’ เพื่อสะท้อนสถานการณ์ขยะที่เกิดจากพฤติกรรมการทิ้งของพวกเรา และชี้ให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความสำคัญกับการ ‘แยกขยะ’ ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับองค์กร

นางสาวพัชรา กล่าวว่า ในส่วนของ บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา รณรงค์ให้พนักงาน 1,400 คน ของเราเข้าใจว่า “จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรเหลือเป็นขยะเลย มันสามารถบริหารจัดการได้ ถ้าแยกสิ่งที่ทิ้งให้มีที่ไป ซึ่งเราได้ทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว โดยแยกขยะออกเป็น 4 สเตชั่น ได้แก่ พลาสติกที่รีไซเคิลได้ ขวดแก้ว ขยะเศษอาหาร และขยะที่ไปต่อไม่ได้ ต้องเผาเช่น พลาสติก ฟรอยด์ ฯลฯ วันนี้เราสามารถลดขยะไปบ่อฝังกลับได้ดี เราจึงอยากขยายขอบเขตการตระหนักรู้ สู่สาธารณชน จึงเริ่มจากการไปดูชีวิตของคนเก็บขยะ มาตีแผ่ให้ทุกคนได้เห็นว่าเขาทำงานกันอย่างไร และคุณเคยเป็นคนหนึ่งไหมที่ทิ้งโดยไม่คิด ว่ามันไปสร้างความลำบากให้กับคนเก็บขยะมากแค่ไหน เราเชื่อว่าถ้าทุกคนมีประสบการณ์จากมาแยกขยะเอง อย่างน้อยถ้าเขาไม่แคร์โลก เขาก็จะแคร์คนที่เก็บขยะ ที่ต้องทำหน้าที่อยู่หน้างานอันเกิดจากการทิ้งแบบไม่คิดของเขา”

“การแยกขยะ เป็นความลำบากคนทุกคนที่มีความเห็นแก่ตัวเป็นพื้นฐาน แต่พอเรามาสร้างจิตสำนึก ให้คิดได้ว่าการช่วยเหลือจากเราเล็กๆ น้อย มันมีผลมหาศาลต่อสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อม ตอนนี้กรุงเทพมหานครใช้เงินหมื่นล้านบาทต่อปี ในการบริหารจัดการขยะ ถ้าเราทุกคนช่วยกัน ก็จะสามารถลดเงินตรงนี้ และมีเงินเหลือไปสร้างเมืองให้สวยงาม วัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้คือสร้างความตระหนักรู้ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคน” นางสาวพัชรา กล่าว

นางสาวพัชรา ยังบอกด้วยว่า งานนี้เราได้เชิญศิลปิน 7 คน มาร่วมสร้างงานศิลปะ โดยการใช้วัสดุเหลือใช้มาประกอบร่างเป็นงานศิลปะ ที่มีแนวคิดแตกต่างกันไป ซึ่งถ้าเราไม่เรียกเขาว่าขยะ เราสามารถเอามาสร้างต่อให้มีคุณค่าได้ เราเชื่อว่าการดึงศิลปินเข้ามา มันจะสร้างการรับรู้ในเรื่องของขยะ ให้เป็นวงกว้าง เป็นสิ่งที่เราอยากให้คนจำนวนมากได้รับรู้และตระหนักได้ถึงความสำคัญในการจัดการขยะของตัวเอง เราหวังว่ากิจกรรมนี้จะสร้างความตระหนักรู้ว่า ถ้าคุณเทรวมมา มันเสียเวลาแยก แต่ถ้าคุณแยกมามันไปต่อได้ เพราะมีหน่วยงานที่สามารถรับขยะของคุณได้เลยทั้ง วงษ์พาณิชย์ เซอร์พลัส ส่วนขยะเศษอาหาร ซึ่งเราเรียกมันว่าขยะอินทรีย์ ก็สามารถหมักเองที่บ้าน โดยการนำใบไม้มาคลุมแล้วเอาปุ๋ยขี้วัวมาใส่ หมักไว้มันก็จะเป็นปุ๋ยที่สามารถบำรุงต้นไม้ได้อย่างดี ซึ่งโดยส่วนตัวก็เริ่มแยกขยะจากที่บ้าน ทุกวันนี้ก็แทบไม่มีขยะที่จะส่งไปบ่อฝังกลบเลย

นางสาวพัชรา กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากให้หลายคนตระหนักคือ สินค้าแฟชั่นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างคาร์บอนฟุตปรินท์เยอะที่สุด เพราะการผลิตผ้าใช้พลังงานเยอะมาก เราจึงรณรงค์ ให้เอาเสื้อผ้ามารีไซเคิล มาแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันโดยไม่ต้องซื้อใหม่ เป็นการลดใช้พลังงาน โดยภายในงานก็มีกิจกรรมนี้ด้วย โดยมีเด็กสองคนที่มีหัวใจไม่สร้างคาร์บอนฟุตปรินท์ เพื่อสื่อให้คนเข้าใจว่า เสื้อผ้าใส่แล้วมันเบื่อก็เอามาแลกกัน โดยไม่ต้องซื้อ ลดการใช้พลังงาน

“อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ในฐานะผู้นำกลุ่มมาหามิตร มีความตั้งใจเป็นอย่างมากในการจัดงาน “THINK ทิ้ง...ชีวิต” ครั้งนี้ เพราะปัญหาขยะ คือ ปัญหาเร่งด่วน แต่เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ เมื่อทุกคนร่วมมือกัน” นางสาวพัชรา กล่าวย้ำ

สะท้อนชีวิต… คนเก็บขยะ
ด้าน ‘นายน้ำพุ โต๊ะกา’ พนักงานขับรถขยะประจำสำนักงานเขตคลองเตย กล่าวว่า ตนรักในอาชีพเก็บขยะ เพราะได้คลุกคลีกับอาชีพนี้มาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยคิดว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย แต่เป็นงานที่ต้องอาศัยความเสียสละ และอดทน ที่สำคัญเป็นงานสุจริตที่ทำให้พ่อมีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวให้มีกินมีใช้ และเมื่อตนโตขึ้น ก็เลือกที่จะทำอาชีพนี้ และได้เข้าทำงานตั้งแต่อายุ 22 เริ่มจากเป็นพนักงานท้ายรถ จนเลื่อนตำแหน่งเป็นพนักงานขับรถขยะประจำสำนักงานเขตคลองเตย

“เป็นความใฝ่ฝันที่ผมมาจุดนี้ได้ เพราะมันมีสวัสดิการ มีความมั่นคงในชีวิต ผมทำอาชีพนี้มา 15 ปี วันนี้ผมมีเงินที่จะส่งลูก 4 คน ให้มีการศึกษา และเมื่อพ่อแม่ลูกเมียเจ็บป่วยก็สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ แม้ว่าในสายตาคนอื่นเป็นงานต่ำ แต่สำหรับผมถือเป็นเกียรติที่ทำงานนี้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนมาทำงานจุดนี้และจะอยู่ได้นานนะ บางคนมาแล้วก็ไป ลองทำแล้วไม่ชอบเขาก็ไป แต่ผมรักงานนี้และทำงาน 7 วัน โดยไม่รู้สึกเบื่อ แม้ว่าจะต้องทำงานในเวลากลางคืนก็ตาม เพราะนอกจากมีเงินเดือนประจำแล้ว ยังมีรายได้จากการแยกและขายขยะ นำเงินมาแบ่งปันให้กับลูกน้องได้ด้วย” นายน้ำพุ กล่าวด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย

นายน้ำพุ ยังได้กล่าวถึงความเข้าใจของหลายคนที่มีความคิดว่า จะแยกขยะทำไม เพราะ กทม.ก็นำไปเทรวมอยู่ดี โดยยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะในแต่ละวันเมื่อเก็บขยะแล้ว ก็ต้องนำไปแยกที่สำนักงานเขต ซึ่งถ้าคนแยกมาก่อนแล้ว งานก็จะเร็วขึ้น แต่ถ้าไม่แยกก็จะทำให้เสียเวลา นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดอันตรายจนถึงต่อคนเก็บขยะ แม้ว่าจะมีอุปกรณ์ป้องกันทั้งถุงมือยางถุงมือผ้าแล้วก็ตาม เพราะไม่มีอุปกรณ์ใดสามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

“ที่เราเจอบ่อยคือ ไม้แหลม ไม้ลูกชิ้น เข็ม ที่สามารถทะลุถุงมือยางได้ คนเก็บขยะทุกคนเจอปัญหานี้ บางคนทิ้งขวดแตก กระจกแตก โดยไม่แยก ก็จะเป็นความลำบากของเรา เพราะเราทำงานแข่งกับเวลา ไม่ได้ดูละเอียด จึงอยากให้ทุกคนช่วยกัน แยกขยะโดยถ้าเป็นเศษกระจก หลอดไฟ ที่แตกก็ให้ห่อกระดาษก่อนหรือเขียนไว้ ส่วนไม้แหลมก็ให้หักปลายหรือใส่ขวดก่อนทิ้งก็จะช่วยได้มาก ขยะบางอย่างเช่น แพมเพิร์ส บางคนไม้ห่อไม่มัด เราก็ต้องเจอแบบเต็ม ๆ มือ เหล่านี้คนทิ้งมันง่าย แต่คนเก็บเราต้องเจอกับเชื้อโรค แบบตรงๆ จึงอยากวิงวอนว่า ถ้าสิ่งไหนไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ขอให้ความร่วมมือ” นายน้ำพุ กล่าว

ต่อข้อถามที่ว่า การนำเข้าขยะจากต่างประเทศ มีผลกระทบกับประเทศไทยไหม นายน้ำพุ ยอมรับว่ามี ในฐานะที่คลุกคลีกับร้านรับซื้อขยะ ทำให้รู้ว่า ราคาการรับซื้อตกลง แต่ก็เข้าใจว่า เพราะเขานำเข้าขยะสะอาด ซึ่งถ้าประเทศไทยสามารถแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ การนำเข้าขยะก็จะลดลง และผลประโยชน์ก็จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศเรา

ผู้ร่วมจัดงานในกลุ่ม ‘มาหามิตร’ จึงขอเชิญชวน ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะนอกจากจะได้รับรู้ถึงการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีแล้ว ภายในงานยังมีการ การจัดนิทรรศการและกิจกรรมให้ความรู้มากมายที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย เพื่อมุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมทุกคนให้มีพฤติกรรมการทิ้งที่เปลี่ยนไป โดยมีการจำลองบ่อขยะ และเปิดประสบการณ์ชีวิตจริงของพนักงานเก็บขยะจากกทม. เริ่มจากห้องเปลี่ยนใจ ที่จะมาไขข้อข้องใจ ทลายความเชื่อ ว่าแยกขยะไปทำไม หากสุดท้ายนำไปเทรวม ต่อด้วย ‘กิจกรรมทิ้ง...ชีวิต’ ที่จะเปิดโอกาสให้คุณได้สวมบทบาทคนเก็บขยะ กับความท้าทายที่คุณไม่อาจเคยรู้ ต่อด้วยทางเลือกคนกรุง ตัวช่วยที่จะทำให้การแยกขยะของคุณมีค่า และชุมชนแลกเปลี่ยนแฟชั่น Swoop Buddy

นอกจากนั้น ยังได้นำเสนอผลงานของ 7 ศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของไทย ประกอบด้วยผลงานของ คุณวิชชุลดา ปัณฑุรานุวงศ์ คุณจิรายุ ตันตระกูล คุณเอก ทองประเสริฐ คุณพงษธัช อ่วยกลาง คุณปรัชญา เจริญสุข คุณปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ คุณปิยาภา วิเชียรสาร และคุณชโลชา นิลธรรมชาติ จาก A Thing that is Pieces ที่ร่วมกันรังสรรค์ผลงานศิลปะ จากวัสดุส่วนเกินที่หลายคนไม่ต้องการ

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ตั้งแต่ เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ลานใบบัวเชื่อมรถไฟฟ้า สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และ Meeting Point ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์

‘JETRO’ ชื่นชม ‘ไทย’ ให้ความสำคัญด้านความร่วมมือทาง ศก. พร้อมยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ‘EV ไทย-ญี่ปุ่น’ อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เผยผลหารือกับ นายคุโรดะ จุน (Mr.KURODA Jun) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (Japan External Trade Organization : JETRO Bangkok) ว่า ประธานเจโทรชื่นชมนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการยกระดับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ

พร้อมกันนี้ ได้ขอบคุณในความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ทั้งบริษัทข้ามชาติและบริษัทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจะเป็นรากฐานสำหรับการต่อยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอื่นๆ โดยประธานเจโทรได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายการสนับสนุนการลงทุนของไทยเพื่อให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่บริษัท Startup และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

นางนฤมล กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นในฐานะมิตรประเทศสำคัญขนาดใหญ่ร่วมกับจีนและสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศที่มีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับไทยมาอย่างยาวนาน โดยหวังว่าจะสามารถกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โดยได้ชี้แจงถึงนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN EV hub) กองทุนสีเขียว (Green Fund)

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับ OECD โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีมีการดำเนินโครงการ Country PRogramme ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2568) ร่วมกับ OECD ที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพ และการพัฒนาขัดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย พร้อมทั้งสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส และการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 13 - 17 พ.ย. 66  จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 20 - 24 พ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากนักลงทุนเทขายทำกำไรและความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนผ่อนคลาย 

-ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนผ่อนคลาย ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 66 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden และประธานาธิบดีจีน นาย Xi Jinping ได้ตกลงที่จะฟื้นฟูการเจรจาทางทหารระดับสูงตลอดจนการหารือระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในการประชุม Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ

-สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Throughput) ในเดือน ต.ค. 66 ลดลงจากเดือนก่อน  2.8% MoM อยู่ที่ 15.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวและค่าการกลั่นลดลง ส่วนปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศลดลงจากเดือนก่อน 0.6% อยู่ที่ 4.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

-กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ซื้อน้ำมันดิบปริมาณรวม 1.2 ล้านบาร์เรล เพื่อเติมคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) โดยได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัท 2 ราย ด้วยราคาเฉลี่ย 77.57 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และจะออกประมูลซื้อเพิ่มเติมอย่างน้อยจนถึงเดือน พ.ค. 67

-รายงานฉบับเดือน พ.ย. 66 ของ OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน  2.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อน) และในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 104.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อน)

-คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ $80-85/BBL ติดตามบันทึกการประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐฯ วันที่ 20 พ.ย. 66 ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณว่า Fed ไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจับตาการประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ในวันที่ 26 พ.ย. 66 โดย ตลาดคาดการณ์ซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาอาสาลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติม 1 MMBD จากเดิมสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 66 (เริ่มต้นเดือน ก.ค. 66) ไปจนถึงอย่างน้อยไตรมาส 1/67 หรืออาจขยายถึงครึ่งแรกของปี 2567 และมองว่า OPEC+ จะมีมติคงนโยบายลดการผลิตน้ำมันดิบรวม 3.66 MMBD ไปจนถึงสิ้นปี 2567

‘รัฐบาล’ ชวนประชาชนเที่ยวงาน ‘OTOP City 2023’ กระตุ้นเศรษฐกิจ ชม-ชิม-ชอป สินค้าฝีมือคนไทย 16-24 ธค.นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

(22 พ.ย. 66) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาขุมชน กระทรวงมหาดไทย กำหนดจัดงาน OTOP City 2023 เพื่อจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมถึงเพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเพื่อสร้างการเรียนรู้แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

นายคารม กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย กำหนดเป้าหมายในการจัดงาน คือ ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP พี่ผ่านการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ปีพ.ศ 2565 ระดับ 3-5 ดาวจาก 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร และผู้ประกอบการ OTOP ชวนชิม เข้าร่วมจำหน่ายไม่น้อยกว่า 2,000 กลุ่ม/ราย และสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท สำหรับรูปแบบการจัดงานในครั้งนี้ จะมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP ระดับ 3-5 ดาว และอาหารชวนชิม กิจกรรมส่งเสริมการขายและการบริการ กิจกรรม Highlight ได้แก่ ศิลปิน OTOP นำเสนอผลงานที่มีอัตลักษณ์บ่งบอกถึงภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า ผ้าไทยใส่ให้สนุก ตลาดกลางเส้นไหมและเส้นใยธรรมชาติ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี OTOP Trader และหมู่บ้านคนรักษ์ช้าง

นายคารม กล่าวว่า รัฐบาลขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมสนับสนุนสินค้าจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ชม ชิม ช้อป และร่วมภาคภูมิใจไปกับสุดยอดสินค้า OTOP ทั่วไทย ที่สุดแห่งภูมิปัญญา ตั้งแต่ระหว่างวันที่ 16 - 24 ธันวาคม 2566 ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างโอกาส สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

 

‘สวทช. – จุฬาฯ’ พัฒนา ‘เส้นพลาสติกรักษ์โลก’ จาก ‘เปลือกหอยแมลงภู่’ คืนชีพขยะ PLA ย่อยสลายได้ 100% ขจัดปัญหาขยะในชุมชนอย่างยั่งยืน

‘นักวิจัยนาโนเทค สวทช.’ จับมือ ‘จุฬาฯ’ ต่อยอดไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจาก ‘เปลือกหอยแมลงภู่’ ผสมขยะพลาสติกชีวภาพ (PLA) พัฒนา ‘Re-ECOFILA เส้นพลาสติกรักษ์โลกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ’ ย่อยสลายได้ 100% คุณภาพเทียบเท่าของที่มีในท้องตลาดในราคาที่ถูกกว่า หวังทดแทนของนำเข้าราคาสูง สร้างโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติของนักเรียน นักศึกษาและคนทั่วไป ตอบ BCG เศรษฐกิจหมุนเวียน-สีเขียว ช่วยคืนชีพขยะ PLA จัดการขยะเปลือกหอยแมลงภู่ในชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

(22 พ.ย. 66) ดร.ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ นักวิจัยจากทีมวิจัยการวินิจฉัยระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ‘Re-ECOFILA’ มาจากงานวิจัย ‘เส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ ผลิตจากขยะเปลือกหอยแมลงภู่และขยะพลาสติกชีวภาพ’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ‘สวทช.’ โดย ‘นาโนเทค’ และ ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ โดยศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ ที่มีแนวคิดการใช้ประโยชน์ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ที่ได้ทำงานวิจัยมาก่อนหน้านั้น จากความเป็นไปได้สำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ โดยจะไปแทนที่แคลเซียมคาร์บอเนตจากหินปูน ที่ใช้ในกระบวนการผลิตพอลิเมอร์

ข้อมูลจากกลุ่มสถิติการประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ประเทศไทยผลิตหอยแมลงภู่เฉลี่ยมากกว่า 50,000 ตันต่อปี โดยน้ำหนักมากกว่าครึ่งเป็นน้ำหนักของเปลือกหอย ทำให้เกิดขยะเปลือกหอยสะสมเป็นจำนวนมาก ตามพื้นที่ชุมชนที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยและแกะเนื้อหอยขาย ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ปัจจุบัน วิธีการเดียวที่จะนำเปลือกหอยแมลงภู่ไปใช้ประโยชน์คือ การรับซื้อในราคาถูกเพื่อนำไปถมที่

“แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ถูกใช้เป็นสารเติมแต่ง (additive) ในอุตสาหกรรมพอลิเมอร์ เพื่อลดต้นทุน โดยเติมแคลเซียมคาร์บอเนตจากหินปูนที่มีราคาถูกกว่า แต่เมื่อเรามีขยะจากเปลือกหอยแมลงภู่จำนวนมาก ซึ่งเปลือกหอยเป็นแหล่งแคลเซียมคาร์บอเนตที่มีความบริสุทธิ์สูง นอกจากจะสามารถใช้ทดแทนแคลเซียมคาร์บอเนตจากหินปูนได้แล้ว ยังช่วยในมิติของสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อีกด้วย ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาวิธีการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่เป็นไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตและนำไปใช้เป็นสารเติมแต่งใน PLA เพื่อฉีดเป็นเส้นพลาสติกสำหรับใช้ขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ” ดร.ชุติพันธ์ กล่าว

ปัจจุบัน ‘พอลิแลกติกแอซิด’ (polylactic acid : PLA) ซึ่งเป็นพลาสติกชีวภาพผลิตจากพืชนั้น มีการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการพิมพ์สามมิติ (3D printing) จากคุณสมบัติของ PLA ที่เหมาะสมสำหรับการฉีดขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ได้แก่ มีจุดหลอมเหลวที่ต่ำ, มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างต่ำ (dimension stability) และมีค่าการไหลที่เหมาะสำหรับการฉีดขึ้นรูป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการพิมพ์สามมิติด้วยเทคนิค FDM (Fused Deposition Modeling) ซึ่งจะเป็นการหลอมเส้นพลาสติกให้กลายเป็นของไหลแล้วฉีดออกมาเป็นเส้นด้วยหัวฉีด โดยเครื่องพิมพ์จะฉีดเส้นพลาสติกตามแนวระนาบและฉีดซ้อนทับเป็นชั้นไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นชิ้นงาน

ทีมวิจัยนาโนเทค-จุฬาฯ เริ่มจากพัฒนาวิธีการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่เป็นไบโอแคลเซียมคาร์บอเนต โดยไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตที่ได้มีรูปร่างกลมและมีขนาดเฉลี่ยประมาณ 109 นาโนเมตร มีความบริสุทธิ์สูงโดยจากผลการวิเคราะห์ด้วย TGA พบว่า ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตมีความบริสุทธิ์มากกว่าร้อยละ 98 โดยน้ำหนัก และจากผลการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค Raman spectroscopy พบว่า ไบโอแคลเซียมมีอัญรูปเป็นอะราโกไนต์

ในช่วงแรก ทีมวิจัยได้นำพลาสติกชีวภาพหรือ PLA มาผสมกับไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ที่เตรียมขึ้นมา จากนั้น นำไปแล้วฉีดขึ้นรูปเป็นเส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ ผลที่ได้คือ เส้นพลาสติกที่มีคุณภาพดีมีคุณภาพเทียบเท่ากับเส้นพลาสติกที่มีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สามารถใช้งานได้กับเครื่องพิมพ์สามมิติระบบ FDM ได้ทันที นับเป็นโอกาสทางการตลาดที่ใหญ่ ในขณะเดียวกันก็มองเห็นโอกาสในการนำขยะพลาสติกจากการพิมพ์สามมิติมาคืนชีพ ใช้ทดแทน PLA

ดร.ชุติพันธ์กล่าวว่า เมื่อศึกษาข้อมูลด้านการพิมพ์สามมิติ ก็พบว่า ปริมาณขยะพลาสติกจากการพิมพ์สามมิติทั้งชิ้นส่วนที่ไม่ใช้แล้วและการเกิดขยะจากการกระบวนการพิมพ์ (การพิมพ์ support และการพิมพ์ที่ผิดพลาด) สืบเนื่องจากปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีราคาถูกลง การใช้ที่ไม่ซับซ้อน สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์อย่างรวดเร็ว (fast fashion) ทำให้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติถูกนำไปใช้ในวงกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะการขึ้นรูปต้นแบบอีกต่อไป เช่น การพิมพ์วัสดุสามมิติสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

“เราได้ทดลองนำขยะพลาสติกชีวภาพ หรือ ‘Recycled PLA’ จากกระบวนการพิมพ์สามมิติมาใช้ โดยบดผสมกับไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ แล้วฉีดขึ้นรูปเป็นเส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ โดย Re-ECOFILA หรือ ‘เส้นพลาสติก’ ที่ผลิตได้มีคุณภาพเทียบเท่ากับเส้นพลาสติกที่มีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สามารถใช้งานได้กับเครื่องพิมพ์สามมิติระบบ FDM ได้ทันที อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องสีของเส้นพลาสติกที่แตกต่างจากของทั่วไป แต่ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสทางการตลาด ด้วยข้อมูลจาก HSSMI ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านการผลิตที่ด้วยกระบวนการที่ยั่งยืน พบว่า มีการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติชนิด FDM ที่ต้องใช้เส้นพลาสติกโดยเฉพาะเส้นพลาสติกผลิตจาก PLA ถึง 66% ของจำนวนเครื่องพิมพ์สามมิติทั่วโลก” ดร.ชุติพันธ์ กล่าว

เส้นพลาสติกที่ผลิตได้จากงานวิจัยนี้ ดร.ชุติพันธ์ เผยว่า เป็นเส้นพลาสติกที่มีราคาไม่แพง คุณภาพเทียบเท่ากับเส้นพลาสติกที่มีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สามารถใช้งานได้กับเครื่องพิมพ์สามมิติระบบ FDM ได้ทันที ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อชิ้นต่ำลง สามารถใช้นวัตกรรมนี้เพื่อผลิตเส้นพลาสติกราคาถูกสำหรับการใช้งานที่ไม่ต้องใช้ PLA คุณภาพสูง เพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง ด้วยเป็นวัสดุทางเลือกที่สามารถลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายในการขึ้นรูปต้นแบบผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาและบุคคลทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติได้ง่ายขึ้นจากวัสดุที่ราคาถูกลง เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและการพัฒนาโครงงานและงานนวัตกรรมสำหรับนักเรียน นักศึกษา

นอกจากนี้ นวัตกรรมเส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติผลิตจากขยะเปลือกหอยแมลงภู่และขยะพลาสติกชีวภาพ ยังเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) สร้างมูลค่าให้กับขยะจากการพิมพ์สามมิติ และขยะจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล (Waste-to-Wealth) ส่งเสริมการจัดการของเสีย (waste management) ทั้งขยะเปลือกหอยสะสมในแหล่งชุมชนและขยะพลาสติก PLA ที่ไม่มีวิธีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่า ส่งผลให้มีการวางแผนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ กำจัดขยะเก่า และลดการสร้างขยะใหม่

“ที่สำคัญ ผลงานนี้ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการขายเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งจากการแปรรูปอาหารทะเลให้ภาคธุรกิจโดยการแปรรูปเบื้องต้น เช่นเดียวกับองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้ ก็สามารถถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการไทยมีเทคโนโลยีการผลิตเส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ ลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้สารเติมแต่งไบโอแคลเซียมคาร์บอเนต และเทคโนโลยีการนำขยะพลาสติก PLA กลับมาใช้ใหม่ ผลิตภัณฑ์สามารถจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์กลางน้ำเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ หรือผลิตเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายได้เชิงพาณิชย์ได้” นักวิจัยนาโนเทคกล่าว พร้อมชี้ว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีมีระดับความพร้อมอยู่ที่ TRL 6 เส้นพลาสติกที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้กับเครื่องพิมพ์สามมิติ และสามารถพิมพ์ชิ้นงานสามมิติได้ โดยคุณภาพของชิ้นงานเทียบเท่ากับชิ้นงานที่ถูกพิมพ์จากเส้นพลาสติกที่มีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยทีมวิจัยอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโมเดลธุรกิจ เพื่อทำให้นวัตกรรมเส้นพลาสติกที่พัฒนาขึ้น ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมงานวิจัย

นอกจากนี้ ดร.ชุติพันธ์ แย้มว่า เตรียมต่อยอดการวิจัย เพื่อเพิ่มแอปพลิเคชันการใช้งานที่มีความต้องการทางการตลาดอีกมุมหนึ่ง จากนวัตกรรมรักษ์โลก ย่อยสลายได้ 100% ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่ม CRS เราจะเปลี่ยนมาใช้พลาสติก ABS หรือ ‘Acrylonitrile Butadiene Styrene’ ที่มีความแข็งแรง ทนทาน นิยมใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างแพร่หลาย ผสมกับสารตัวเติมที่มีคุณสมบัติหน่วงไฟ (flame retardants) ที่เตรียมขึ้นใช้เองโดยมีสารตั้งต้นเป็นไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ พัฒนาเป็นวัสดุที่มีสมบัติหน่วงไฟ สามารถประยุกต์ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เคสคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์สามมิติ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นอีก 1 ตลาดใหญ่ที่จะต่อยอดใช้ประโยชน์จากขยะเปลือกหอยแมลงภู่ในอนาคต

เส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติผลิตจากขยะเปลือกหอยแมลงภู่ และขยะพลาสติกชีวภาพ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จาก Korea Invention Promotion Association สาธารณรัฐเกาหลี ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในเวที ‘Taiwan Innotech Expo 2023’ (TIE 2023) เมื่อวันที่ 12 - 14 ตุลาคม 2566 ณ กรุงไทเป ไต้หวัน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

‘เอ็นอาร์พีที’ ลุยตลาดสุขภาพ เปิดโรงงาน Plant & Bean ผลิตอาหารโปรตีนจากพืช ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน

เมื่อไม่นานมานี้ ‘เอ็นอาร์พีที’ (NRPT) บริษัทร่วมทุน อินโนบิก-เอ็นอาร์เอฟ ลุยตลาดโภชนาการเพื่อสุขภาพ เปิดโรงงานแพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) ผลิตอาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based food) ด้วยเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจากประเทศอังกฤษ ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน กำลังผลิตสูงสุด 2.5 หมื่นตัน พร้อมดันไทยเป็นฐานการผลิตอาหารแห่งอนาคตของโลก

ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า จากการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นความท้าทายและเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม รองรับการขยายตัวของตลาดอาหารแห่งอนาคต กลุ่มผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของการพัฒนา โดยโรงงาน แพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) จะเป็นฐานการผลิตให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยมาตรฐานฮาลาลและมาตรฐานความปลอดภัยอาหารสากลจากสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (The British Retail Consortium : BRC) ซึ่งอยู่ระหว่างการรับรอง และโรงงานแห่งนี้ เป็นโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืช 100% แห่งแรกในประเทศไทย และมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 25,000 ตัน โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการในระยะแรกที่กำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี 

“โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มอาหารพร้อมปรุง (Ready to cook) เช่น เนื้อสับ มีทบอล และกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) เช่น ไส้กรอก นักเก็ต และเกี๊ยวซ่า ซึ่งนอกจากจุดแข็งด้านประสิทธิภาพการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับโลก ให้ผลิตภัณฑ์มีเนื้อสัมผัส รสชาติ และรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง อร่อย ทานง่ายแล้ว ผลิตภัณฑ์ยังมาจากพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (Non-GMO) และมีโปรตีนสูง 

ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมอาหารให้เหมาะแก่การดูแลสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชมากขึ้น ขณะเดียวกันโรงงานดังกล่าวใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ในกระบวนการผลิต ลดต้นทุน และลดการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และ NRPT ยังได้มีความร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคตของไทย ในการพัฒนานวัตกรรมอาหาร อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการเป็นตัวสร้างความต้องการให้เกิดปริมาณการผลิตจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการดึงเอาวัตถุดิบในประเทศมาต่อยอดการผลิตในอนาคต เพิ่มศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารอนาคต เพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพของคนไทย” ดร. บุรณิน กล่าว

‘ปตท.’ ได้รับยกย่อง ‘หุ้นยั่งยืน’ ระดับสูงสุด AAA พร้อมคว้า 3 รางวัลเกียรติยศจาก ‘SET Awards 2023’

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. ได้รับรางวัล SET Awards ประจำปี 2023 ที่จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ วารสารการเงินธนาคาร รวม 3 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านความยั่งยืน (Sustainability Awards of Honor) รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านนวัตกรรม (Innovative Company Awards of Honor) และรางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านนักลงทุนสัมพันธ์ดีเด่น (Outstanding Investor Relations Awards) สะท้อนความมุ่งมั่นของ ปตท. ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอย่างยั่งยืน ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ตลอดจนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างสมดุล

รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability Awards of Honor นับเป็นปีที่ 3 ที่ ปตท. คว้ารางวัลสุดยิ่งใหญ่นี้ซึ่งเป็นผลจากการรักษาความยอดเยี่ยมจนได้รับ Best Sustainability Awards ติดต่อกันมาอย่างยาวนาน รวมถึงได้รับผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ในระดับสูงสุด AAA แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของ ปตท. ในการก้าวข้ามผ่านความท้าทายต่าง ๆ พร้อมเป็นผู้นำสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ในปี 2050 ตามแนวทางการดำเนินงาน 3P (Pursuit of Lower Emissions, Portfolio Transformation และ Partnership with Nature and Society) โดยในปีที่ผ่านมา ปตท. ได้กำหนดทิศทางกลยุทธ์ที่ชัดเจน ทั้งการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้นักลงทุนมาลงทุนใน ปตท. 

สำหรับ รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านนวัตกรรม หรือ Innovative Company Awards of Honor ที่ ปตท. ได้รับในครั้งนี้ สืบเนื่องจากได้รับ Best Innovative Company Awards ต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน จากผลงานการพัฒนานวัตกรรม ‘ตัวเร่งปฏิกิริยา PTT SCR’ (Selective Catalytic Reduction) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการกำจัดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen oxide, NOX) ในไอเสียจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นก๊าซพิษที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมทั้งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดฝนกรดและ PM2.5 ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรถึง 3 รายการ มีประสิทธิภาพการใช้งานได้นาน 10 ปี สามารถใช้ได้ที่อุณหภูมิต่ำ และความร้อนที่เหลือไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้  ช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพิ่มโอกาสในการสร้างธุรกิจด้านตัวเร่งปฏิกิริยา ปัจจุบันได้ถูกนำไปใช้งานที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท. มากกว่า 2 ปี และอยู่ระหว่างต่อยอดเชิงพาณิชย์ขยายผลการใช้งานไปยังกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในและนอกกลุ่ม ปตท.

นอกจากนี้ ปตท. ได้คว้ารางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านนักลงทุนสัมพันธ์ดีเด่น หรือ Outstanding Investor Relations Awards กลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ถือเป็นความสำเร็จในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนไทยที่ได้รับการยอมรับจากนักวิเคราะห์และนักลงทุนในประเทศอีกด้วย

“ปตท. ขอขอบคุณนักวิเคราะห์ นักลงทุน ผู้ถือหุ้น และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้ ปตท. ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่าในครั้งนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจ ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย ปตท. พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม รุกสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในอนาคต เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมใหม่และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมไปด้วยกัน” นายอรรถพล กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top