Sunday, 11 May 2025
GoodsVoice

MASTER ไขความลับ!! ปั้นธุรกิจสู่แนวหน้าศัลยกรรมความงามเมืองไทย ชู!! 'สวย-หล่อ' ไม่ตามปกคนดัง แต่ดูปังในแบบตัวเองจนใครก็ต้องมอง

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 25 พ.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณลภัสรดา เลิศภานุโรจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ในนามโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช Specialty Hospital ของอุตสาหกรรมด้านความงามอันดับต้นของประเทศไทยและเอเชีย เปิดเผยถึง อุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามของไทย ระบุว่า...

ปัจจุบันอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามของไทยมีมูลค่าตลาดประมาณ 71,000-72,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 2.3%-3.6% (YoY) ทยอยกลับมาฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย 

แต่มูลค่าดังกล่าวยังไม่กลับไปเท่าก่อนโควิด-19 และตัวเลขการเติบโตในภาพรวม อาจไม่ได้สะท้อนผลประกอบการที่ดีขึ้นของผู้ประกอบการทุกราย ขึ้นอยู่กับการตอบโจทย์ลูกค้า ทั้งในเรื่องของค่าบริการ รสนิยม คุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการ รวมถึงผลลัพธ์หรือความพึงพอใจในผลงานของแพทย์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคมีต่อการเลือกใช้บริการธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามที่แตกต่างกันออกไป (ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลกสิกรไทย)

ทั้งนี้จากภาพทั่วโลกคาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตที่ประมาณ 13.2% ในช่วงปี 2024-2032 เพราะมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านศัลยกรรมความงาม และมาตรฐานของอุตสาหกรรมดังกล่าวในระดับสูง คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของตลาดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

กลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงด้านศัลยกรรมความงามของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในเอเชียไทยเป็นรองแค่เพียงประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น โดยมีปัจจัยเอื้อคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์และความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของโซเชียลมีเดีย ทุกคนจึงสามารถเข้าถึงการทําศัลยกรรมความงามได้มากขึ้น (หมายเหตุ: ตลาดศัลยกรรมความของเกาหลีใต้มีมูลค่า 1.95 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2023 โดยได้รับแรงหนุนจากอิทธิพลของคนดังและมาตรฐาน K-beauty ที่สูง ตลาดคาดว่าจะเห็นการเติบโตต่อไปในช่วงคาดการณ์ของปี 2024-2032 โดยเติบโตที่อัตราการเติบโตประจำปีแบบทบต้น (CAGR)13.2%)

คุณลภัสรดา กล่าวอีกว่า จากสถิติมีการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะหัตถการที่โดดเด่นสองถึงสามอย่าง ได้แก่ การดึงหน้า ยกคิ้ว การทำตาสองชั้น การผ่าตัดปรับโครงสร้างหน้า ยุบโหนก ตัดกราม การเสริมจมูกโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างจมูกโอเพน

"ที่ผ่านมา MASTER ได้ปฏิวัติอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามในเมืองไทย ด้วยการวางมาตรฐานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมแพทย์ หรือการทำราคาเดียว ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกค้าที่ติดต่อผ่านมาทางช่องทางใดก็ตาม การปฏิวัติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ กระตุ้นให้ผู้คนจํานวนมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกเลือกทําศัลยกรรมความงามที่เมืองไทยเพื่อเพิ่มความงามของพวกเขา"

เมื่อถามถึงเทรนด์ในปีหน้า? คุณลภัสรดา เผยว่า จากข้อมูลของ Mintel บริษัทวิจัยระดับโลก ได้รายงานแนวโน้มข้อมูลเชิงลึกถึงเทรนด์ที่เริ่มส่งผลต่ออุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม และก้าวต่อไปในปี 2024 โดยเทรนด์แรกที่ Mintel ระบุไว้คือ NeuroGlow (กายงามใจฟู / ใจสุขกายฉ่ำ)

"ช่วงชีวิตต่อไปของสุขภาพที่ดี จะเป็นความงามด้านคุณค่าทางจิตใจและร่างกาย ซึ่งทั้งภายในและภายนอกมีความเชื่อมโยงถึงกัน นวัตกรรมนี้ได้ถูกใช้ประโยชน์แล้ว สำหรับกลุ่มความงาม และอาหารเสริม ที่มุ่งเน้นให้ทั้งคุณประโยชน์ด้านความงามและความรู้สึกดีเพิ่มขึ้น โดยความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพจิตที่ดี การมีสุขภาพกายที่ดี สภาวะของจิตใจส่งผลโดยตรงต่อสภาพผิวพรรณ ความงาม ซึ่งบริการของมาสเตอร์ เป็นมากกว่าแค่การทำหัตถการ เราต้องการให้ลูกค้าสัมผัสได้ว่า บริการของเราสามารถสร้างประสบการณ์ ความสุข ความภูมิใจ และปลอดภัย สุขภาพดี"

คุณลภัสรดา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความงาม x ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะเปลี่ยนอุตสาหกรรมความงาม โดยทำให้มีอัตลักษณ์เฉพาะบุคคล และมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากขึ้น ทั้งในแง่นวัตกรรมเทคโนโลยี และข้อมูลที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก ความรู้และทักษะจะก้าวกระโดดไปพร้อมกัน

"ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เครื่องสร้างความเป็นจริงเสมือน (VR) และเครื่องสร้างความเป็นจริงเสริม (AR) เป็นตัวสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคล พร้อมติดตามชี้วัดความเป็นอยู่ว่าดีจริงหรือไม่ และให้คำปรึกษาด้วยการวิเคราะห์แนวทางการมีสุขภาพที่ดีแบบเสมือนจริง ซึ่งตรงนี้จะเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมสุขภาพ การติดตามการรักษา การดูแลผู้ป่วย และผู้สูงอายุ"

ทั้งนี้เมื่อถามถึงความมุ่งมั่นในการเป็นแบรนด์ศัลยกรรมความงามที่อยากให้ผู้คนจดจำมากที่สุด? คุณลภัสรดา กล่าวว่า MASTER 'เรา' ไม่ได้มาเปลี่ยนใครให้กลายเป็นคนอื่น เพราะสิ่งที่เรายึดมั่นเสมอคือ Be a Better You หรือ เป็นเราในแบบที่ดีกว่าเดิม ฉะนั้นการมาทำศัลยกรรมที่ รพ.มาสเตอร์พีช ลูกค้าก็จะยังคงเป็นตัวเองในนเวอร์ชันที่ดีที่สุด

เหตุผลเพราะเราต้องการช่วยให้เกิด…

1. ความพอเหมาะพอดี ไม่มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็น เสริม / ลด หรือ แก้ไข ปรับสภาพ ทุกอย่างจะมุ่งเน้นไปสู่ความไม่ใหญ่โต หรือแปลกแตกต่างจากธรรมชาติ เช่น การเสริมจมูกก็จะไม่แปลกแตกต่างจากโครงของเชื้อชาติกำเนิด หรือมากจนน่าตกใจ เสริมหน้าอกในความพอดี เหมาะกับสัดส่วนร่างกาย หรือแม้แต่การเสริมขนาดน้องชายด้วยฟิลเลอร์ของคนเอเชีย ก็พิจารณาให้พอเหมาะพอดีกับคู่ชีวิต หรือการปลูกผม คิ้ว หนวด เครา ก็ให้เหมาะกับลุคส์ เหมาะกับตัวตน และวิถีชีวิต

2. ความงามเฉพาะบุคคล ปรับให้เหมาะกับคนนั้น เพราะหมดยุคของการนำรูปมาปรึกษา แล้วบอกว่า เอาแบบนี้ เราต้องการเป็นอย่างเขา ศิลปิน คนดัง คนนั้นคนนี้ เพราะท้ายสุดความเข้าใจในสัดส่วน สรีระ โครงสร้างใบหน้า ร่างกาย เฉพาะบุคคลเป็นสิ่งสำคัญกว่า จะเป็นไปตามหลักสมดุล ของทั้งตัวผู้รับบริการ และเทคนิคที่เหมาะสม เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เพื่อเคสนั้น ๆ เท่านั้น เราจะไม่มี นางสาวเอ สิบคน นางสาวบี ยี่สิบคน แต่จะมี นางสาวเราคนนี้คนเดียว สวยเหมือนกัน แต่ไม่ซ้ำกัน

3. ความยั่งยืนของโลกศัลยกรรมความงาม ต้องมาจากความคุ้มค่า มาตรฐานและความปลอดภัย เพราะเราพบข่าวเศร้าและสะท้อนสังคมบ่อยครั้ง จากการรับบริการการศัลยกรรมความงามในสถานที่ที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัย โลกอุตสาหกรรมอื่น ๆ เชิงกายภาพ อาจลดการใช้ ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ สำหรับโลกธุรกิจบริการ คือการทำให้คุ้มค่า ซื้อเท่านี้ ได้เกินคุ้ม เกินคุ้มคือ ได้ของดี น่าพอใจ ไม่ต้องแก้

"เพราะทุก ๆ การแก้ศัลยกรรมมีค่าใช้จ่ายไม่แพ้กับการทำศัลยกรรม หรืออาจสูงกว่ามากหากอาการหนัก ฉะนั้นแล้วสังคมและผู้บริโภคจึงเริ่มตระหนักในข้อนี้ แต่ต้องไม่ตระหนก" คุณลภัสรดา ทิ้งท้าย

‘สศช.’ ชี้!! ส่งออก ‘ไทย’ โตต่อเนื่อง คาด ปี 67 บวกถึง 3.8% ตั้งเป้า ดันไทยสู่ฮับยานยนต์ ชิงส่วนแบ่งการตลาดมหาอำนาจ

(24 พ.ย. 66) นางสาวอานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของปริมาณการค้าโลก ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2% ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักที่มองว่าการส่งออกไทยปีหน้า จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง คาดการณ์บวกที่ 3.8% กลับมาเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโตระหว่าง 2.7-3.7% ได้ ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ประมาณ 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เป็นผลจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุลมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเห็นช่วงกลางปี 2567 เป็นต้นไป

นางสาวอานันท์ชนก กล่าวว่า ในเชิงการค้าระหว่างประเทศ หากมีการแบ่งขั้วประเทศระหว่างประเทศมหาอำนาจสหรัฐฯ และ จีนนั้น ต้องประเมินข้อมูลสัดส่วนการนำเข้าสินค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ที่ผ่านมาปรับลดลงในเชิงสัดส่วน แต่มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอาเซียนไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น อาทิ เกษตรแปรรูปจากสิงคโปร์ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มจากเวียดนาม ขณะที่ไทยเป็นยานยนต์และชิ้นส่วนอยู่ กุญแจสำคัญคือ ไทยจะทำอย่างไรในการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจได้ เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกไทยต่อไป

“ปัจจัยสนับสนุนในปี 2567 คือ การบริโภคภายในประเทศที่แม้เริ่มเห็นการชะลอตัวลง แต่ก็ยังบวกกว่า 3% เทียบกับฐานที่สูงกว่า 7% รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้จะมีต่างชาติเข้ามา 28 ล้านคน ขณะนี้สะสมแล้วเกือบ 24 ล้านคน ส่วนอีก 4 ล้านคนในช่วงที่เหลือของปีนี้ มองว่าน่าจะสามารถทำได้

ส่วนที่กังวลเป็นเรื่องคุณภาพของนักท่องเที่ยวมากกว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศที่กลับมาเป็นตลาดระยะใกล้ แต่ประเทศระยะไกลที่มีการใช้จ่ายสูง ยังต้องสนับสนุนต่อไป ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดเป็นเรื่องงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า หนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจ ภัยแล้ง ปริมาณน้ำฝนที่หากปี 2567 ความรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลกระทบกับสินค้าเกษตรได้ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาดไว้” นางสาวอานันท์ชนก กล่าว

‘ผู้เชี่ยวชาญ’ แนะ ‘แอร์ไลน์’ เร่งใช้ SAF ลดปริมาณคาร์บอน หลังการบินทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว ชี้!! เป็นทางเลือกที่ทำได้เร็วที่สุด

(24 พ.ย.66) เมื่อวานนี้ (23 พ.ย.) หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ได้กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ ‘Pioneering Sustainable Aerospace: พลิกโฉมน่านฟ้า สู่การบินยั่งยืน’ ในงานสัมมนา Bangchak Group Greenovative Forum ครั้งที่ 13 ‘Regenerative Fuels: Sustainable Mobility’ จัดโดยกลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า…

ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจสำคัญต่อเศรษฐกิจและการเติบโตของโลก ถึงแม้ว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมา การบินชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งพอโควิดคลี่คลายกลับเติบโตขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่าจะยังไม่ฟื้น หรือเติบโตเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด แต่จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาอินเดียมีการสั่งเครื่องบินไปแล้วกว่า 500 ลำ ซึ่งจะส่งมอบประมาณปี 2030

“ผมมองว่าทิศทางของธุรกิจการบินจะเติบโตไปเรื่อย ๆ และมากกว่าที่เราเห็นในปัจจุบัน แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจการบินมีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง ซึ่งทางออกที่น่าจะเป็นไปได้และทำได้ทันทีคือการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF)”

ด้านนายยงยุทธ ลุจินตานนท์ Area Manager IATA Thailand, Laos, Cambodia and Myanmar กล่าวเสริมว่า “IATA เราทำงานร่วมกับสายการบินในการพัฒนาธุรกิจการบินให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเรามีสมาชิกกว่า 318 การบิน การเดินทางของผู้คนในปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดโควิดเมื่อปี 2019 มีการเติบโตถึง 80% แม้จำนวนการเดินทางจะยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด แต่จากการคาดการณ์พบว่าตัวเลขการเดินทางจะกลับมาเป็นปกติก่อนช่วงเกิดโควิดจะอยู่ที่ปี 2025 และหากเทียบสัดส่วนอีก 20 ปีข้างหน้า การเดินทางไปยุโรปจะโตระดับ 700 ล้านคน ขณะที่สหรัฐโต 500 ล้านคน

“ส่วนเอเชีย-แปซิฟิกตัวเลขอาจจะโตขึ้นมีจำนวนมากถึง 2,800 ล้านคน แปลว่าจะเห็นจำนวนประชากรที่เดินทางอย่างมากมายมหาศาล และหากมีการเดินทางมากขึ้น ความท้าทายคือ ธุรกิจการบินจะเพิ่มเที่ยวบินอย่างไร และจะผลิตเครื่องบินทันหรือไม่ รวมถึงการบริหารจัดการทางอากาศจะทำอย่างไรบ้าง

“นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึง AI จะมีบทบาทสำคัญกับภาคการบิน เพราะเมื่อการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ความปลอดภัยจึงต้องมาควบคู่กัน ขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงการปลดปล่อยคาร์บอน ถึงแม้ว่าธุรกิจการบินจะมีการปลดปล่อยคาร์บอนคิดเป็น 2% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่เมื่อดูปริมาณการปลดปล่อยก็ถือว่ามีปริมาณมหาศาล ดังนั้น ผมมองว่าการที่ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการใช้ SAF จะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุดในเวลานี้”

ด้านนายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญนอกจากการบินจะนำ SAF มาใช้แล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือ ผู้ใช้บริการรับรู้ และทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเรียกร้องว่า ทำอย่างไรให้สายการบินมีเที่ยวบินที่รักโลก และมีราคาที่สมเหตุสมผล เป็นธรรม

ขณะเดียวกัน การเดินทางแบบยั่งยืนถือเป็นเรื่องไก่กับไข่ที่กฎหมายจะนำหรือความต้องการจะนำ ดังนั้น ทั้งผู้ออกกฎเกณฑ์ นักธุรกิจ และผู้บริโภคจะต้องวิน-วินด้วยกัน เพราะคนทำธุรกิจจะต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนประชาชนจะต้องได้รับความปลอดภัยและราคาที่เป็นธรรม

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ชวนคนไทยสืบสานประเพณีลอยกระทง วอน!! อุดหนุนสินค้ามาตรฐานชุมชน กระตุ้น ศก.ท้องถิ่น

(24 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ร่วมสืบสานประเพณีไทย วอนเลือกใช้กระทงที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการอุดหนุนสินค้าไทย และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในระดับชุมชนด้วย

“กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ผลิตโดยผู้ผลิตชุมชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นสินค้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้การรับรองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความประณีต สวยงาม ไม่มีกลิ่นสารเคมี สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ สำหรับบางพื้นที่ที่มีประเพณีการปล่อยโคมลอยในเทศกาลลอยกระทง ก็ขอแนะนำให้ปล่อยโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ด้วย รวมทั้งให้ยึดถือปฏิบัติตามประกาศมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะควบคุมการปล่อยโคมลอยในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สนามบิน เพื่อไม่ให้โคมลอยเข้าไปติดในเครื่องบิน หรือลอยเข้าไปตกตามชุมชน รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมห่วงใยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่อยากให้เกิดความเสียหายในเทศกาลแห่งความสุขนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมฯ กล่าว

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตกระทงเปลือกข้าวโพดที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 7 ราย ได้แก่ 

1) กลุ่มแม่บ้านเกาะพิมูลพัฒนา 
2) นางสตรีรัตน์ ชูอินทร์ 
3) กลุ่มกระทงแฟนซีจากเปลือกข้าวโพด 
4) นางเตือนคนึง ราชา 
5) วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกระทงตำบลลานดอกไม้ตก 
6) กลุ่มกระทงเปลือกข้าวโพดบ้านลานดอกไม้ตกหมู่ที่ 1 
7) นางวิรัตน์ ทวนธง 
และมีผู้ผลิตโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 1 ราย ได้แก่ นางชไมพร วงศ์สถาน 

ดังนั้นจึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยร่วมกันสนับสนุนสินค้าไทย เพื่อกระจายรายได้ และสร้างความยั่งยืนให้กับสินค้าชุมชน เนื่องจากกระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน มผช. เป็นสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม มีความประณีต สวยงาม ไม่มีกลิ่นสารเคมี ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ตัวโคมจะใช้วัสดุจากธรรมชาติ ไม่ติดไฟหรือเกิดการลุกไหม้ มีปริมาณเชื้อเพลิงไม่เกิน 55 กรัม ใช้เวลาในการเผาไหม้ไม่เกิน 8 นาที ซึ่งเหมาะสมกับระยะเวลาที่โคมลอยอยู่ในอากาศ และเมื่อตกลงมาสู่พื้นก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้  มีการยึดตัวโคมด้วยวัสดุที่เป็นเชือกทนไฟ หรือลวดที่มีความยาวไม่เกิน 30 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรหากโคมลอยตกพาดบนสายไฟ อันเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ตามมาได้ 

ทั้งนี้ สามารถเลือกซื้อกระทงและโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ได้ตามรายละเอียดบนเว็บไซต์ สมอ. หรือจะสั่งซื้อทางแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์ต่างๆ ก็ได้

ปัจจุบัน สมอ. ได้กำหนดมาตรฐาน มผช. แล้วทั้งสิ้น 1,670 มาตรฐาน มีผู้ผลิตชุมชนได้รับการรับรองรวม 11,071 ราย แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ อาหาร 1,347 ราย เครื่องดื่ม 227 ราย ผ้าและเครื่องแต่งกาย 3,730 ราย สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 693 ราย และของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก 5,074 ราย สามารถดูรายชื่อผู้ที่ได้รับการรับรองได้ที่ https://tcps.tisi.go.th/public/certificatestandard.aspx หากผู้ผลิตชุมชนต้องการขอการรับรองมาตรฐาน มผช. สามารถยื่นขอได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ นายวันชัยฯ กล่าว

‘วีระศักดิ์’ ยกธุรกิจทั่วโลกเริ่มตื่นตัว ‘สังคม-สิ่งแวดล้อม’ ชูหลัก ‘5 P’ ช่วยภาคธุรกิจปรับประยุกต์ในงาน AFECA

เมื่อไม่นานนี้ ณ ห้องบอลรูม ที่ Bangkok Marriott Hotel The Surawongse ทางสหพันธ์สมาคมการจัดการประชุมและนิทรรศการแห่งเอเชีย ‘Asian Federation of Exhibition & Convention Associations’ หรือ ‘AFECA’ ได้เดินทางเข้ามาจัดการประชุมนานาชาติ ‘ASIA 20 BUSINESS EVENTS FORUM’ ที่ประเทศไทย โดยมีสมาชิกจากประเทศต่างๆ เดินทางมาร่วมงานประมาณ 170 คน

โดยงานนี้ได้เชิญ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตประธานบอร์ด TCEB เป็น Keynote Speaker ของการประชุมในหัวข้อ ‘Business Events & Future Implications’ ซึ่งนายวีระศักดิ์ได้กล่าวถึงความตื่นตัวของธุรกิจต่างๆ ในระดับโลกที่กำลังพยายามตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตั้งคำถามต่อการจัดการความยั่งยืนที่องค์กรและธุรกิจกำลังดำเนินการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมอย่างตื่นตัว

นายวีระศักดิ์ เสนอให้วงการธุรกิจปรับมุมมองจากการเป็น Business Community ที่มักมีไว้เพิ่มโอกาสธุรกิจระหว่างกัน ให้ยกระดับสู่การเป็น Business for Humanity ด้วยหลักการ 5 P ของสหประชาชาติ คือ ‘People - Planet - Peace - Partnership’ และสุดท้าย คือ ‘Prosperity’ ซึ่งแปลว่า ‘รุ่งเรือง’ ไม่ใช่เรื่องความร่ำรวย

พร้อมทั้งยกตัวอย่าง พระราชบัญญัติคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ภาคธุรกิจสามารถรับพนักงานผู้พิการให้อยู่ตามภูมิลำเนาบ้าน เพื่อปลูกป่าในนามของบริษัท ทำให้ได้ทั้งเรื่องของ ‘ESG’ (Environment Social Responsibility และ Good Governance) ไปในตัวด้วย

OR ปักธงครบ!! ขยายไลน์ธุรกิจ 'ออยล์-นอนออยล์' คลุมอาเซียน โฟกัส!! 'กัมพูชา' ผุดปั๊มเพิ่ม พ่วง 'ไลฟ์สไตล์-กาแฟ-สะดวกซื้อ'

ไม่นานมานี้ นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยแนวโน้มผลดำเนินงานในปี 2567 ว่า เป็นปีที่ดีของธุรกิจ โดยมียอดขายน้ำมันเติบโตกว่าการขยายตัว GDP +1% จากปีนี้ที่ไทยมีการเติบโต GDP ราว 2.8-2.9% ยอดการขายน้ำมันจะโตประมาณ 4% รวมทั้งบริษัทเน้นการบริหารสต๊อกน้ำมันให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้มีปัญหาการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน แต่จะเห็นการมีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน พร้อมนำเทคโนโลยี Dashboard มาใช้ทำให้รับรู้ผลกำไรขาดทุนได้ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจขยายการลงทุนธุรกิจ Food and Beverage (F&B) และเร็ว ๆ นี้จะมีการลงนามบันทึกช่วยจำ (MOU) กับบริษัทเกาหลีและญี่ปุ่นในธุรกิจ Health & Wellness ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นการลงทุนในไตรมาส 1/2567

สำหรับอีกเรื่องที่น่าสนใจของ OR คือ แผนกลยุทธ์ และทิศทางการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทฯ ต่อจากนี้ ซึ่งในเบื้องต้นนั้น จะมุ่งขยายธุรกิจไปยังประเทศที่ OR ดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา ซึ่งทางบริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์ไว้ให้เป็นบ้านหลังที่ 2 โดยจะเพิ่มความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงแสวงหาโอกาสร่วมกับพันธมิตรทั้งจากประเทศไทยและพันธมิตรในพื้นที่ รวมไปถึงการขยายธุรกิจไปในประเทศใหม่ ๆ

"กลุ่มธุรกิจ Global ของ OR วางงบลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2567-71) เอาไว้ที่ราว 8,007.4 ล้านบาทเพื่อขยายสถานีบริการ PTT Station และ Cafe Amazon และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่มีศักยภาพ โดยเน้นการลงทุนในประเทศกัมพูชาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพมาก โดยมีการเติบโต GDP ที่ 5% มีค่าการตลาดเสรี รวมทั้งการเมืองมีเสถียรภาพ ส่วนเมียนมาคงต้องชะลอไปก่อนเนื่องจากมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ส่วนลาว ก็มองโอกาสการทำธุรกิจใหม่ โดยวางเป้าเป็นแหล่งซัปพลายเม็ดกาแฟให้ประเทศต่าง ๆ ในอนาคต" นายดิษทัต กล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ OR ดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะประเทศกัมพูชานั้น ทาง OR ได้เตรียมทุ่มงบลงทุนราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.7 พันล้านบาท เพื่อลงทุนขยายสถานีบริการ PTT Station ในกัมพูชาอีก 27 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 172 แห่ง คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีเพิ่มเป็น 175 แห่ง มีมาร์เก็ตแชร์ 15% เป็นอันดับ 2 รองจากอันดับ 1 คือ Tela ที่มีแชร์เกือบ 30%

ส่วนการขยาย Cafe Amazon คาดขยายเพิ่มอีก 31 สาขา โดยปัจจุบันมีสาขา 231 สาขา ซึ่งหากมองมาร์เก็ตแชร์แล้วจะคิดเป็น 23% หรือเป็นอันดับ 1

ในส่วนของการสร้างคลัง LPG ในกัมพูชา ความจุ 2,200 ตัน ทาง OR จะใช้งบลงทุนรวม 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าต้นปีหน้าจะเริ่มเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และเปิดดำเนินการในปี 2568 และเบื้องต้นจะขาย LPG ให้กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักก่อน

ไม่เพียงเท่านี้ OR ยังได้ร่วมทุนในบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) ให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จไตรมาส 3/2567 รวมถึงยังแสวงหาโอกาสธุรกิจพลังงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Battery Swapping และสถานีชาร์จไฟฟ้า EV station PluZ และกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ที่มี Cafe Amazon, ร้านสะดวกซื้อ และร้านสะดวกซัก Otteri Wash & Dry เป็นตัวชู

"สำหรับประเทศอื่น ๆ OR ยังคงมองโอกาสอย่างต่อเนื่อง เช่น เมียนมา แต่ก็คงต้องชะลอไปก่อน เนื่องจากมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ส่วนลาว ก็มองโอกาสการทำธุรกิจใหม่ โดยวางเป้าเป็นแหล่งซัปพลายเมล็ดกาแฟให้ประเทศต่าง ๆ ในอนาคต ส่วนเวียดนาม OR จับมือกับเซ็นทรัล กรุ๊ปเข้าสู่ธุรกิจ Food and Beverage เนื่องจากเวียดนามยังไม่เปิดให้ต่างชาติลงทุนเปิดสถานีบริการน้ำมัน ขณะที่ฟิลิปปินส์ ยังคงเดินหน้าจำหน่ายน้ำมันเครื่องบิน และขายให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่อไป" นายดิษทัต ทิ้งท้าย

'บอย-อิทธิพัทธ์' คลาย 5 ข้อสงสัย Landbridge 'ระนอง-ชุมพร' ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ที่ 'สิ่งแวดล้อม-วิถีชีวิต' ไม่สะเทือน

(25 พ.ย.66) คุณบอย อิทธิพัทธ์ เศรษฐยุกานนท์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีที่มีกลุ่มไอ้โม่งนำชาวบ้านไปคัดค้านการก่อสร้างแลนด์บริดจ์ โดยไขข้อสงสัยสำคัญ 5 ข้อดังนี้ ว่า...

1. ความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนที่จะสูญเสีย รวมถึงผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน 

ตอบ : ทางรัฐบาล ได้ทำการประชาพิจารณ์ทุกหมู่บ้านและผู้เข้าร่วมเห็นด้วยกับโครงการ Landbridge แต่อาจจะมีบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมจึงอาจจะยังไม่เข้าใจจึงมีการตั้งคำถามกันขึ้นมา ส่วนค่าเวนคืนทางกระทรวงคมนาคมเวนคืนตามหลักของกฎหมายการเวนคืนซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กันทั่วไปในทุกพื้นที่ของประเทศไทยไม่ได้มีการเอารัดเอาเปรียบแต่อย่างใดและสามารถ อุทธรณ์เรื่องค่าเวนคืนหากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมได้

2. ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้รับผลพลอยได้ด้วยหรือไม่ มีอุตสาหกรรมอะไรใหม่ๆ หรือจะมีกิจกรรมเชิงพาณิชย์อะไรเกิดขึ้นเพิ่มเติมบ้าง

ตอบ : โครงการ Land bridge เป็น Mega Project ทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น ช่วยให้พัฒนาเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน เม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท จากภาคเอกชนที่ประมูลได้จะมาลงทุนทำท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 จังหวัด สร้างมอเตอร์เวย์ สร้างทางรถไฟ และทำท่อส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซ ซึ่งเมื่อสำเร็จอุตสาหกรรมหลังท่าที่จะเกิดขึ้นนั้นจะเน้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้นและจะไม่สร้างโรงกลั่นน้ำมันมาแข่งกับทาง EEC และจะเพิ่มอัตราการจ้างงานมากกว่า 200,000 อัตรา ยกระดับคุณแรงงานและความเป็นอยู่ของคนภาคใต้ และสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน พลิกโฉมภาคใต้และประเทศไทยแน่นอน 

3. มีผลกระทบต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลก จะไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการและการเงินจากยูเนสโก อาจกระทบต่อการท่องเที่ยว การกระจายรายได้ถึงชุมชน รวมถึงป่าชายเลนซึ่งเป็นระบบนิเวศที่กักเก็บก๊าซคาร์บอน

ตอบ : รัฐบาลไม่หยุดเตรียมคำขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างแน่นอน และจะใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการจัดการพื้นที่รอบท่าเรือ ให้เหมือนประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่มีท่าเรือขนาดใหญ่และสามารถอนุรักษ์ที่อยู่อาศัยของสัตว์และพันธุ์พืชหายากได้ ส่วนพื้นที่ที่จะสร้างท่าเรือเป็นพื้นที่ใกล้ป่าชายเลนซึ่งไม่เหมาะกับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือสร้างประโยชน์อะไรได้มากและพื้นที่ตรงนั้นมีความลึกที่เพียงพออาจขุดลงไปอีกไม่มากไม่กระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน 

4. การพัฒนาระบบท่อส่งน้ำมัน ทุกวันนี้เรายังเห็นปัญหาน้ำมันรั่วไหลทางทะเลเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องตั้งคำถามว่า หากเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลขึ้นในโครงการนี้ รัฐบาลได้วางแผนระบบการกำจัดคราบน้ำมันที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม และจะมีกองทุนเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือไม่

ตอบ : Mega Project อย่าง Land bridge จะต้องมีการเตรียมการ มีการศึกษาเชิงลึก และวางปัญหาที่จะเกิดขึ้นเอาไว้ตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น ผู้ประมูลที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก จะไม่เสี่ยงที่จะทำงานให้ผิดพลาดเพราะในสัญญาการประมูล จะมีเพียงผู้ชนะการประมูลเพียงเจ้าเดียว เพื่อให้เป็น One port two sides ที่มีระบบการจัดการทั้งหมดเป็นAutomation รวมเป็นศูนย์เดียว และเป็นจะต้องถูกออกแบบและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดหากมีข้อผิดพลาดบริษัทผู้ชนะประมูลต้องรับผิดชอบ

5. การขนส่งทางบกและทางรางซึ่งต้องผ่านพื้นที่ป่า ก็ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงสัตว์ป่าด้วยการสร้างทางเดินให้สัตว์ป่าด้วย

ตอบ : แน่นอนว่าการทำถนน เจาะอุโมงค์ ต้องกระทบกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วไม่มากก็น้อย แต่การพัฒนาโครงการ Land bridge จากการศึกษามีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยเพราะฉะนั้นแผนการก่อสร้างต่างๆ จะออกแบบให้เกิดผลกระทบที่น้อยสุด และตรงจุดที่้เลี่ยงไม่ได้ก็จะสร้างพื้นที่ป่าทดแทนให้เท่าเทียมหรือมากกว่าเดิมเพื่อให้เป็นบ้านของสัตว์ป่า 

‘MK’ บุกตลาด ‘น้ำจิ้มสุกี้’ ไร้ ‘ผงชูรส’ ปลอด ‘สารกันเสีย’ ชู!! เก็บได้นาน 1 ปี ชาวเน็ตแห่ดีใจ เชียร์ให้ขายน้ำชาด้วย

(25 พ.ย.66) หนุ่มเมืองจันท์ หรือ สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่าร้านเอ็มเคสุกี้ เปิดขายน้ำจิ้มสุกี้อย่างเป็นทางการวันนี้เป็นวันแรก ระบุว่า เมื่อวาน คุณฤทธิ์ ธีระโกเมน เจ้าของ ‘เอ็มเคสุกี้’ ส่งรูปนี้มาทางไลน์ ‘ขออนุญาตเป็น presenter เองเลย’ คาดว่าคุณฤทธิ์คงจะบุกตลาด ‘น้ำจิ้มสุกี้’ อย่างจริงจัง หลังจากทดลองขายมาได้พักหนึ่ง

แต่ครั้งนี้มีการใช้เทคโนโลยีให้เก็บได้นานถึง 1 ปี จากเดิมเก็บได้นานแค่ 7 วัน โดยที่ ‘ไม่ใส่ผงชูรส’ และ ‘ไม่ใส่สารกันเสีย’ เหมือนเดิม จะเริ่มขายวันนี้ที่ร้าน ‘เอ็มเคสุกี้’ ทุกสาขา ดูเหมือนว่าคุณฤทธิ์จะบุกตลาด ‘น้ำจิ้มสุกี้’ อย่างจริงจัง เพราะการเพิ่มอายุสินค้าได้นานถึง 1 ปี เป็นจุดเปลี่ยนของเกม

อย่าลืมว่าตลาดน้ำจิ้มสุกี้ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านค้าปลีกต่างๆ มีมูลค่าน่าจะหลายพันล้านบาท นึกเล่นๆ ว่าถ้ามีน้ำจิ้มสุกี้ ตรา ‘เอ็มเคสุกี้’ เข้าไปวางแข่ง ตลาดคงสะเทือน ผมตอบคุณฤทธิ์ไปสั้นๆ ด้วยความเป็นห่วง “ระวังรายได้จะมากกว่าร้านเอ็มเคนะครับ“ เป็นห่วงจริงๆ ครับ

หลังจากข้อความนี้ถูกเผยแพร่ออกไป มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่แสดงความยินดี อาทิเช่น “ควรทำนานแล้วคับ รอซื้อเลย”, “ส่งต่างประเทศ​ไหมเนี่ยคืออยู่แคนาดา​แต่อยากกินบ้าง”, “น่าจะทำตั้งนานแล้วนะครับ” เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหลายคนอยากให้ทำน้ำชาของเอ็มเคขายด้วย

'นักวิเคราะห์' หวั่น!! 'แลนด์บริดจ์' สะเทือนมาเลเซีย เชื่อ!! อาจทำ 'ท่าเรือกลัง' ยอดให้บริการวูบ 20%

(25 พ.ย.66) หลังจากที่ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางไปนำเสนอโครงการ Land Bridge (แลนด์บริดจ์) ต่อกลุ่มนักลงทุนต่างชาติในการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ที่จะกลายเป็นเส้นทางการค้าทางเลือกผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรูปแบบการขนส่งเชื่อมสองท่าเรือให้โยงถึงกันอย่างไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ 

เนื่องจากโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ นี้จะสร้างข้ามมาจากภาคใต้ของไทย เพื่อเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะเป็นการค้าทางเรือที่เลี่ยงผ่านมาเลเซียและสิงคโปร์ไป โดยที่เรือไม่ต้องแล่นลงไปตามปลายสุดของสิงคโปร์ผ่านช่องแคบมะละกา หนึ่งในท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก

มุมมองและความคิดเห็นของนักวิเคราะห์และนักวิชาการ Free Malaysia Today หรือ FMT ในมาเลเซียรายงานว่า แลนด์บริดจ์ของไทยอาจทำให้ท่าเรือมาเลเซียพ่ายแพ้ทางการเงินได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า

สายการเดินเรือจะได้รับประโยชน์จากเส้นทางลัดระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตามที่นักวิเคราะห์ระบุ ท่าเรือกลังมีแนวโน้มที่จะประสบกับความพ่ายแพ้ทางการเงินที่สำคัญ แต่ท่าเรือปีนังอาจได้รับผลประโยชน์จากสะพานแลนด์บริดจ์ทางภาคใต้ของประเทศไทย 

Karisma Putera Rahman แห่งสถาบันวิจัย Bait Al-Amanah กล่าวว่า อาจเห็นท่าเรือกลังที่ทำหน้าที่เป็น ‘ผู้เฝ้าประตู’ ของช่องแคบมะละกา และเป็นช่องทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก อาจมีการลดบริการจัดการสินค้าลงถึง 20% แต่ในทางกลับกัน นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) รองประธานหอการค้าออสเตรเลีย-อาเซียน กล่าวว่า ปีนังอาจได้รับประโยชน์จาก ‘ทางลัด’ ระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับประเทศไทย 

อีกทั้งจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ว่า ประเทศไทยกำลังพิจารณาข้อเสนอใหม่ในการฟื้นฟูโครงการที่มีอายุหลายศตวรรษ พร้อมกล่าวปราศรัยกับนักลงทุนนอกรอบการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ว่า เส้นทางภาคพื้นดินนี้จะสามารถลดเวลาการเดินทางของเรือได้ถึง 4 วัน และลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 15%

>> ย้อนอดีตเชื่อมสองฝั่งทะเล

แนวคิดเรื่องการทำเส้นทางตรงระหว่างผืนน้ำทั้งสองที่ประกบกับคลองกระ ซึ่งเป็นแถบแผ่นดินที่เชื่อมต่อกับคาบสมุทรมลายู เคยถูกเสนอมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2220 แต่แทนที่จะทำเพื่อการค้าขาย กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางทหาร เพื่อให้สามารถเคลื่อนกำลังทหารได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่มีการรุกรานโดยอาณาจักรพม่า (เมียนมา) ที่อยู่ใกล้เคียง

ทั้งนี้ ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ชาวฝรั่งเศสและชาวอังกฤษยังพิจารณาแนวคิดนี้ด้วยเหตุผลทางการค้า แต่มุ่งเน้นไปที่การขุดคลองมากกว่าการสร้างเส้นทางบก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งสิ้น

Karisma Putera Rahman คาดว่า ช่องแคบมะละกาจะเต็มความจุภายในปี 2573 สะพานแลนด์บริดจ์จะทำหน้าที่เป็นเส้นทางทางเลือกในอุดมคติสำหรับการจราจรทางทะเล อย่างไรก็ตาม มันจะเป็นการเปลี่ยนเส้นทางสินค้าส่วนใหญ่ออกจากท่าเรือกลัง (Klang Port) ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียสายการเดินเรือในท้องถิ่น และเป็นอันตรายต่อสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วของท่าเรือนี้

ทั้งยังคาดการณ์ว่า 15-20% ของการขนส่งสินค้าจะถูกเปลี่ยนเส้นทางจากมาเลเซียและสิงคโปร์ทันทีที่สะพานแลนด์บริดจ์เปิดใช้งาน พร้อมเสริมว่า “จากปริมาณปี 2565 ของท่าเรือกลัง อยู่ที่ 13.22 ล้านหน่วยเทียบเท่า (TEU) ซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 2.4 พันล้านริงกิตนั้น คาดว่ารายรับจะลดลงจาก 360 ล้านริงกิต ถึง 480 ล้านริงกิต” 

>> ข้อได้เปรียบสำหรับปีนัง มาเลเซีย

นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) รองประธานหอการค้าออสเตรเลีย-อาเซียน กล่าวว่า หากท่าเรือปีนังดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ขนส่งในการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขนส่งทางรถไฟมายังประเทศไทย “แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าท่าเรือในประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และความสามารถในการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” เขากล่าวเสริม 

แม้ว่าผลกระทบของสะพานแลนด์บริดจ์อาจก่อให้เกิดความกังวลในมาเลเซีย แต่ก็มีบางคนที่ไม่กังวลมากนัก

Alvin Chua รองประธานสมาพันธ์ผู้ขนส่งสินค้าแห่งมาเลเซีย กล่าวว่า ต้นทุนเพิ่มเติมในการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือไทยทั้งสองแห่ง น่าจะช่วยในเรื่องความประหยัดจากระยะเวลาเดินทางที่สั้นลงได้พอๆ กัน พร้อมเสริมว่า “การขนถ่ายสินค้ามีราคาแพง โดยอาจมีราคาอยู่ที่ 125,000 ถึง 150,000 เหรียญสหรัฐต่อลำ ต่อวัน” นอกจากนี้ กระบวนการใหม่นี้จะต้องใช้เรือสองลำแทนที่จะเป็นลำเดียวในการส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทาง

Karisma Putera Rahman เห็นด้วยว่า กระบวนการเทียบท่า การขนส่งสินค้าทางถนนเป็นระยะทางมากกว่า 100 กม. จากนั้นก็บรรจุลงเรืออีกลำหนึ่งนั้น อาจลดปริมาณการใช้งานสะพานแลนด์บริดจ์ลงได้ “ดังนั้น ผลกระทบที่แท้จริงทางเศรษฐกิจของโครงการดังกล่าวต่อมาเลเซีย จึงยังคงไม่แน่นอน จับต้องไม่ได้” Karisma กล่าวเสริม

>> ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์
โครงการดังกล่าวยังคงทำให้เกิดข้อกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ในวงกว้างมากขึ้น เส้นทางภาคพื้นดินจะช่วยให้เรือของจีนสามารถเลี่ยงท่าเรือของมาเลเซียได้ ซึ่งถือเป็นการประนีประนอมกับชิปต่อรองที่มาเลเซียมีในความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีน 

Karisma Putera Rahman กล่าวอีกว่า “นี่อาจทำให้ความสามารถในการสร้างสมดุลความสัมพันธ์ที่มีระหว่างมหาอำนาจทั้งสองของมาเลเซียเกิดความซับซ้อนมากขึ้น และอาจทำให้ความสามารถในการดำเนินการตามกลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศมีความซับซ้อน เนื่องจากมาเลเซียมีบทบาทในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมสำหรับสหรัฐฯ และจีน”

ด้าน นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) มองว่านี่เป็น ‘การเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาด’ ของไทย ในการรับประกันการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในและรอบๆ ท่าเรือทั้งสองแห่ง และกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการหลายอย่าง เพื่อปรับปรุงภาวะเศรษฐกิจในภาคใต้ แต่ตอนนี้ได้แต่หวังเพียงว่าจะสามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว” 

หลังจากได้มีการเสนอโครงการนี้ให้กับนักลงทุนจากประเทศจีนและซาอุดิอาระเบีย นายกฯเศรษฐา กล่าวว่า โครงการนี้จะสามารถสร้างงานได้ 280,000 ตำแหน่ง และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้ถึง 5.5%

‘นายกฯ’ ลุยสงขลา เร่งหารือทางการค้า ‘นายกฯ มาเลเซีย’ ส่องความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย

(26 พ.ย. 66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ในวันที่ 27 พ.ย. เพื่อสำรวจความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย และมีกำหนดการหารือทวิภาคีกับ ‘ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม’ (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพื่อผลักดันในประเด็นที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้หารือกันไว้

โดยนายกฯ จะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และไปถึงด่านสะเดาแห่งใหม่ เวลา 11.00 น. เพื่อให้การต้อนรับนายกฯมาเลเซีย พร้อมหารือทวิภาคี และรับฟังความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย และสถานการณ์การค้าและการท่องเที่ยวบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ ผู้นำไทย-มาเลเซีย จะร่วมกันสำรวจเส้นทางเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่โรงแรม Vista

นายชัย กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย สืบเนื่องมาจากการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้นำไทยและมาเลเซีย เห็นพ้องในการผลักดันการค้าชายแดน การแก้ปัญหาความแออัดของด่านสะเดา รวมถึงการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย และประเด็นความร่วมมืออื่น ให้มีผลคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

นายชัย กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในทุกด้าน โดยเฉพาะการค้าการลงทุน และความสัมพันธ์ระดับประชาชน ซึ่งมาเลเซียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทย และเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของไทยในอาเซียน โดยตั้งเป้าจะเพิ่มมูลค่าการค้าให้บรรลุเป้าหมายที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (30 billion USD) ภายในปี 2568 โดยการค้าระหว่างกันส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดนและผ่านแดน โดยการค้าชายแดนไทย - มาเลเซีย ในปี 2565 มีมูลค่า 336,125 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.76 ของมูลค่าการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยส่วนใหญ่ผ่านด่านศุลกากรสะเดา ปาดังเบซาร์ เบตงและสุไหงโก-ลก ตามลำดับ นอกจากนี้ ในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวมาเลเซียมาเยือนไทยมากเป็นอันดับที่ 1 ทั้งปีมากกว่า 2.9 ล้านคน คิดเป็นลำดับ 1 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ทำให้มาเลเซียนับเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญและมีความสัมพันธ์หลากหลายมิติกับไทย
 
“การพบหารือของนายกฯและมาเลเซีย สะท้อนความตกลงร่วมกันของรัฐบาลทั้งสองในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทยและมาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มความเชื่อมโยงในการเดินทาง รวมถึงการค้าขายบริเวณชายแดนระหว่างกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลเพื่อประโยชน์โดยตรงของประชาชนไทยและมาเลเซีย ทั้งการค้า ลงทุน การท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ และทางด้านสังคม การไปมาหาสู่ระหว่างกัน” นายชัย กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top