Tuesday, 13 May 2025
GoodsVoice

‘บุญรอดฯ - ปตท. - IRPC’ ร่วมพัฒนานวัตกรรมผลิตวัสดุหมุนเวียน มุ่งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า - ต่อยอดธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ลงนามความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมต่อยอดวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต สร้างผลิตภัณฑ์หมุนเวียน (Returnable Equipment) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เดินหน้าโครงการนำร่องรีไซเคิลพลาสติกผ่านผลิตภัณฑ์ต้นแบบอย่างลังน้ำและโซดาขวดเปลี่ยน ผลิตจาก rPET และ rHDPE พาเลท (Pallet) ผลิตจาก rHDPE และกากมอลต์  

นายปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า หนึ่งในแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ให้ความสำคัญ คือ การดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด ‘องค์กร ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมต้องมีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน’

ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในกลุ่มบริษัทบุญรอดฯ ทั้งหมด เช่น เสื้อยูนิฟอร์มพนักงานจากผ้าที่ผลิตจากขวด PET การแยกขยะ การใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนโครงการที่ทำกับชุมชนและสังคมอีกหลายโครงการ และล่าสุดได้ร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นของไทยที่เป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่นทั่วโลกอย่าง PIPATCHARA ดีไซน์กระเป๋ารุ่นพิเศษที่ผลิตจากผ้าที่ Upcycling มาจากขวดพลาสติก PET 100% 

ทั้งนี้ ในแต่ละปี เรามีวัสดุเหลือจากระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก น่าจะสามารถนำมาสร้างประโยชน์ต่อยอดได้อย่างคุ้มค่า จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือกับบริษัทฯ ปตท. และ ไออาร์พีซี ในครั้งนี้ เราเชื่อว่า ด้วยความรู้ความชำนาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัยของทั้งแต่ละบริษัทฯ จะสามารถร่วมกันพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่จากวัสดุในกระบวนการผลิตให้เป็นประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. ยึดมั่นในพันธกิจรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ผ่านการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 โดยส่วนหนึ่งได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานให้เกิดเป็นรูปธรรม มุ่งปฏิวัติรูปแบบการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณของเสียตลอดกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และรักษาสิ่งแวดล้อม 

ความร่วมมือในครั้งนี้ กลุ่ม ปตท. โดย PRISM (Petrochemical and Refining Integrated Synergy Management) แพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างบริษัทในกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ผลักดันให้เกิดการผสานองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรจากทั้ง 3 หน่วยงาน นำวัสดุเหลือใช้ ในกระบวนการผลิตมาต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพ และเจตนารมย์องค์กรชั้นนำของไทย ที่จะจุดพลังและขยายความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนอนาคตที่ดีให้แก่โลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า IRPC ดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์องค์กร “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว” ด้วยการใช้นวัตกรรมสร้างการเติบโต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้ เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างสูงสุด โดยบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้ว ประเภทใช้ครั้งเดียวสู่ผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ผ่านผลิตภัณฑ์แบรนด์ “POLIMAXX” สร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั้งในกลุ่มรีไซเคิลและพลาสติกที่มีพืชเป็นส่วนผสมหลักในการผลิต (Bio-Based) ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) 

นอกจากนี้ IRPC ยังได้ร่วมผลักดันการสร้างความสมดุลและความยั่งยืน หรือ ESG โดยตั้งเป้าหมายและกำหนดแนวทางองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2603 เพื่อก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน 

นับเป็นหมุดหมายสำคัญในการเดินหน้าธุรกิจภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนของบริษัทไทย ชั้นนำอย่าง บุญรอดบริวเวอรี่ ปตท. และ ไออาร์พีซี ที่จับมือพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์หมุนเวียนจากวัสดุเหลือใช้ภายในโรงงาน ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่กำหนดไว้ในปี 2608 ได้ต่อไป

‘นายกฯ เศรษฐา’ ยัน!! แจกเงินดิจิทัลฯ ไม่ใช่การสงเคราะห์คนจน

‘นายกฯ เศรษฐา’ แถลง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ใช้จ่ายผ่าน ‘เป๋าตัง’ แจก 50 ล้านคน รายได้ไม่เกิน 7 หมื่นต่อเดือน เงินฝากทุกบัญชีรวมไม่เกิน 5 แสนบาท มีระยะเวลาการใช้ 6 เดือน พร้อมขยายพื้นที่การใช้ครอบคลุมระดับอำเภอ เตรียมตั้งงบ 600,000 ล้านบาท แต่ยังต้องผ่านขั้นตอนกฎหมาย 

(10 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เรียกประชุมนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่ โดยระบุในช่วงเช้าก่อนการแถลงว่า “คำพูดของตน ไม่ต้องจด ไม่ต้องอัด ตั้งใจฟังอย่างเดียว เพราะมี Press Release อย่างหนาให้”

จากนั้นเมื่อเวลา 14.00 น. นายกฯ เศรษฐา ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า... 

โครงการดังกล่าวจะเติมเงินในระบบเศรษฐกิจ รวม 600,000 ล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 100,000 ล้านบาทในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ และยังต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายก่อนที่จะสรุป และต้องมีมติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า ได้ปรับเงื่อนไขให้รัดกุมมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาทให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไปรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท และมีเงินฝากไม่ถึง 500,000 บาท พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า คนที่มีรายได้มากกว่า 70,000 บาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 50,000 ก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือรายได้น้อยกว่า 70,000 บาท แต่เงินฝากมากกว่า ก็จะไม่ได้รับสิทธิ

นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนการใช้จ่ายนั้น จะใช้จ่ายในระดับอำเภอ มีระยะเวลาใช้จ่ายก้อนแรกภาย 6 ในเดือน สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น ซื้อบริการไม่ได้ แลกเปลี่ยนเป็นเงินสดไม่ได้ ซื้อทอง เพชร พลอย เติมน้ำมัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กัญชา กัญชง หรือนำไปชำระหนี้ไม่ได้ ร้านค้าไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ร้านค้าที่สามารถขึ้นเป็นเงินสดได้ต้องเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อมีการถามถึงการใช้งาน ดิจิทัลวอลเล็ต ว่าจะใช้สิทธิ์ยากหรือไม่ และเข้าร่วมอย่างไรนั้น? นายกฯ ประกาศว่า “เราจะพัฒนาต่อยอดระบบ ‘เป๋าตัง’ ซึ่งมีประชาชนลงทะเบียน 40 ล้านคน ร้านค้าที่คุ้นเคยกว่า 1.8 ล้านร้านค้า ซึ่งเป๋าตัง มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีลดระยะเวลา งบประมาณ ซ้ำซ้อน”

หลังจากนั้น นายกฯ ยังได้เผยถึง โครงการลดหย่อนลดภาษี โดยกล่าวด้วยว่า รัฐบาลจะออกโครงการลดหย่อนภาษีให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคล จากการซื้อสินค้า-บริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยใช้ใบกำกับภาษีมาประกอบยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ ดังนั้นคนที่ไม่ได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต ก็สามารถเข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นอีกด้วย

“ยังยืนยันให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนไทยลดหย่อนภาษีมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท มาประกอบการยื่นภาษี” นายกฯ กล่าว

โดยสรุป นโยบายทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อประเทศ 2 ด้าน คือกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น โดยมีประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญ ผ่านการบริโภคและการลงทุน วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและ E-Government ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว

“นี่ไม่ใช่สงเคราะห์ ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจแทนสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ...

“ผมขอให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิร่วมกันใช้จ่ายอย่างมีความภาคภูมิใจ โดยทุกคนร่วมเป็นผู้สร้างการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเรา” นายกฯ ทิ้งท้าย

สำหรับโครงการทั้งหมดที่ว่ามาจะสามารถใช้ได้เมื่อใดนั้น จะต้องผ่านการตีความโดยกฤษฎีกา ในช่วงปลายปีนี้ นำเข้าสู่สภาช่วงต้นปีหน้า จัดเตรียมงบประมาณและเปิดใช้ประชาชนใช้ พฤษภาคม ปีหน้า (2567) ช่วงก่อนหน้านั้นจะมี e-Refunds ตั้งแต่เดือนมกราคม และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ เริ่มได้เดือนมิถุนายน 67 ทั้งนี้ ต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ทำงานรัดกุม ก่อนเข้าครม. เพื่อได้รับการอนุมัติต่อไป 

'กูรูอีสาน' โชว์ภาพรวม ศก.ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 'เกษตรฯ-การลงทุน-นวัตกรรม' เฟื่องฟูไม่แพ้ถิ่นใด

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 11 พ.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณสุรวัช อริยฐากูร ผู้จัดการศูนย์ธุรกิจสินเชื่อ ธ.ก.ส. และที่ปรึกษาองค์กรภาคเอกชน ถึงประเด็น 'ภาพรวมของเศรษฐกิจในภาคอีสานในปัจจุบัน' โดยมีเนื้อหาดังนี้...

หากพูดถึงอีสาน สิ่งที่เราจะนึกถึง คือ วิถีชีวิตของคนถิ่นที่มีการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ซึ่งส่งผลต่อภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความหวือหวา โดยคนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก เช่น การปลูกข้าว ปลูกยางพารา ปลูกมันสำปะหลัง ฯลฯ ทำให้เศรษฐกิจในภาคอีสานต้องพึ่งพาด้านเกษตรกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคอีสาน ก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง อย่างในภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตชัด จะประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมแป้งมัน, มันสำปะหลัง 

ขณะที่ภาคเกษตรกรรมที่โดดเด่น คือ การเพาะปลูกข้าว ที่มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ 

ในด้านการปศุสัตว์ที่หล่อเลี้ยงภูมิภาคนี้ ก็จะเป็นหมวดของการขยายฟาร์มเลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ถ้าจัดลำดับสัดส่วนสินค้าที่เป็นยุทธศาสตร์หลักๆ ของภาคอีสาน ได้แก่ ข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา และข้าวโพด ถือเป็นพระเอก ส่วนปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นการทำฟาร์มสุกรขุน 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมโคนมก็ถือว่าเป็นสิ่งได้รับความนิยม โดยมีกลุ่มเกษตรกรการเกษตร คอยส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้ออยู่แล้วหันมาเลี้ยงโคนม หลังจากแถบวังน้ำเขียวเริ่มเข้ามาซื้อน้ำนมดิบมากขึ้น 

ส่วนธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจในภาคอีสานอีกด้านหนึ่ง คือ ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เนื่องจากภาคอีสาน มีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนมาก อีกยังเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มของแสงสูงเหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบัน บีโอไอ ได้มีนโยบายสนับสนุนกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จึงทำให้เกิดโซลาร์ฟาร์มขายคืนพลังงานให้กับการไฟฟ้า กลายเป็นธุรกิจใหม่พลังงานสะอาดตาม BCG โมเดลในผืนถิ่นนี้

ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภาคอีสานก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสอดคล้องกับลูกหลานคนอีสานที่ย้ายถิ่นฐานกลับมาอยู่ใกล้ครอบครัว ทำให้บ้านจัดสรรได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในอำเภอรองในจังหวัดใหญ่ๆ เนื่องจากเมืองเริ่มขยายตัว

ส่วนภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ใน 6 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ยโสธร, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นอยู่ในความรับผิดชอบของ 'บีโอไอโคราช' นั้น พบว่า มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน 38 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 36 และมีมูลค่าเงินลงทุน 15,063 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 373

เห็นภาพรวมเศรษฐกิจคร่าวๆ ในดินแดนแห่งนี้ ที่อาจจะยังไม่ถึงขั้นลงรายละเอียดเชิงลึกเป็นรายจังหวัดไปแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า การให้ความสำคัญในอีสานของภาครัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ช่วยทลายภาพอีสานแล้ง แล้วทดแทนด้วยความเจริญผนวกกับโอกาสที่เริ่มค่อยๆ เติมเข้ามามากขึ้นได้พอสมควรเลยจริง ๆ...

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! พิษสงคราม สั่นคลอนระบบการเงินโลก เสนอใช้ Local Currencies แทนดอลลาร์ 'ชำระเงิน-ค้าขาย' แบบทวิภาคี

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ใครได้ใครเสีย?' เมื่อวันที่ 12 พ.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สงครามสั่นคลอนระบบการเงินโลก เสนอใช้ local currencies แทนดอลลาร์

ผลพวงจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความผันผวนทางการเงินอย่างไม่เคยมีมาก่อน 

อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เคยอยู่ที่ระดับ 0% กระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 5.5% และไม่มีแนวโน้มจะกลับสู่ระดับเดิมในเร็ววัน 

แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณใดๆ จากตลาดเงินตลาดทุนว่าสงครามที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จะลุกลามไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 แต่เชื่อว่าความผันผวนทางเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่ต่อไปและอาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธในการคว่ำบาตรประเทศที่เป็นศัตรูเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในระบบการเงินอีกด้วย

ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะร่วมกันผลักดันและสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currencies) ในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น ดังเช่นที่ประเทศไทยเคยมีบทบาทนำในการผลักดัน Asian Bond Market Initiative สมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 20 ปีที่แล้ว 

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารกลางของ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็ได้เซ็น MOU ที่จะสนับสนุนการใช้เงินบาท, ริงกิต และรูเปียะ ในการชำระเงินการค้าขายแบบทวิภาคี ซึ่งถือเป็นความพยายามที่ดีและน่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง

แน่นอนว่า การผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่น คงไม่ใช่เรื่องง่าย และดูจะฝืนธรรมชาติด้วยซ้ำ เพราะมีความเสี่ยงสูง และต้นทุน (Transaction Costs) ต่อผู้ประกอบการ โดยวัดจาก Spread ของธนาคารก็สูงกว่ามาก 

แต่สถานภาพปัจจุบันที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเป็นเงิน Reserve Currency สกุลเดียวของโลกมาเป็นเวลากว่า 80 ปี และมีสัดส่วนกว่า 80% ในการชำระเงินและในทุนสำรองระหว่างประเทศ จนมีพลังต่อรองในเวทีเศรษฐกิจโลกเสมอมานั้น คงถึงเวลาที่ภาครัฐของทุกประเทศ โดยเฉพาะกระทรวงการคลังและธนาคารกลาง จะต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้น ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น 

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินท้องถิ่น เครื่องมือบริหารความเสี่ยง ตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งในระยะปานกลาง/ยาว ต้องจัดตั้งกลไกเชื่อมโยงอัตราแลกเปลี่ยนทำนองเดียวกับ European Monetary System (EMS) และการมุ่งไปสู่เงินสกุลเดียวทำนองเดียวกับเงินยูโร ต้องคิดไว้ได้บ้างแล้ว...

'รมว.พิมพ์ภัทรา' ต้อนรับคณะ 'ผู้ว่าฯ ไซตามะ' ขยายความร่วมมือ 'เศรษฐกิจ-การลงทุน' ทุกระดับ

(10 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับคณะของนายโอโนะ โมโตฮิโระ (Mr.OHNO Motohiro) ผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะ พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้แทนสถาบันการเงินประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสการเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงาน Saitama-Thai Network Exchange Meeting 2023 โดยหลังการต้อนรับได้มีการหารือทั้งสองฝ่ายเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการลงทุนในอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยข้อมูลภายหลังการหารือว่า ภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจในการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเอกชนญี่ปุ่นให้ความสนใจขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลที่ได้จากการหารือขณะนี้พบว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นให้ความสนใจเป็นลำดับแรก จากศักยภาพความพร้อมในด้านทรัพยากร, การท่องเที่ยว, โลจิสติกส์ และความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของทั้งสองประเทศ 

"ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นเข้าลงทุนในประเทศไทยแล้ว 262 บริษัท กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับรัฐบาลกลางญี่ปุ่น 4 แห่ง และรัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่น 24 แห่ง ซึ่งถือเป็นหน่วยงานแรกที่ประสานความร่วมมือกับส่วนท้องถิ่น (Local to Local) ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับจังหวัดไซตามะ ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรของทั้งสองประเทศ"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวด้วยว่าได้มีการจัดตั้งโต๊ะญี่ปุ่น (DIPROM Japan Desk) แลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ของทั้งไทยและญี่ปุ่นเข้าปฏิบัติงานเพื่อประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกผสานความร่วมมือการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับพันล้านและยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย 

กระทรวงอุตสาหกรรม ประเทศไทย และผู้องค์กรธุรกิจภาคเอกชนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นและด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ จะสามารถยกระดับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนในทุกมิติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่สนใจลงทุน เสริมสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกัน 

สำหรับจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนประชากรกว่า 7.3 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการเติบโตด้านอุตสาหกรรมสูงสุดมูลค่า 5.7 ล้านล้านบาท ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ผลพวงความผิดพลาดเชิงนโยบายของแบงก์ชาติ

(10 พ.ย.66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับประเทศไทย ไว้ว่า...

ขณะนี้สัญญาณเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) ดังที่ผมมักจะพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ไว้เสมอ โดยได้เคยส่งสัญญาณเตือนไว้กว่า 6 เดือนมาแล้ว ว่า...

ไทยอาจจะตามจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนตุลาคม ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาที่ -0.31% น่าจะถือเป็นการตบหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อ้างเงินเฟ้อสูงในการปรับดอกเบี้ยขึ้นจาก 2.25% เป็น 2.50% เมื่อเดือนที่แล้ว ท่ามกลางความตกใจและถือเป็นการกระทำที่สวนทางกับการคาดการณ์ของตลาด 

ดังนั้นเงินฝืดที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงมิใช่เป็นผลกระทบจากโลก แต่มีสาเหตุมาจากความผิดพลาดทางนโยบายเป็นหลัก และเป็นความผิดพลาดที่สร้างความเสียหายสูงมากกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบและน่าจะยังความจำเป็นให้รัฐบาลต้องมี Fiscal Stimulus ออกมาแก้ไขความผิดพลาดของแบงก์ชาตินี้

‘พีระพันธุ์’ เข้าร่วมประชุม-แสดงวิสัยทัศน์ ตามคำเชิญจีนที่ยูนนาน กร้าว!! จุดยืนไทย มุ่งมั่นพลังงานสะอาด สอดรับทิศทาง BRI

‘พีระพันธุ์’ นำผู้บริหารพรรครวมไทยสร้างชาติร่วมประชุม ‘ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง’ ตามคำเชิญของจีน ย้ำความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา และสร้างความยั่งยืนของพลังงานสะอาดของประเทศสมาชิกและของโลก

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พร้อมด้วยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค, พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร สส.นครปฐม, นายพงษ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรค และ นายปรากรมศักดิ์ ชุณหะวัณ เหรัญญิกพรรค เข้าร่วมการประชุม Communist Party of China (CPC) in Dialogue with Political Parties from Southeast and South Asian Countries (ในหัวข้อ Enhancing the Pillars of High-quality Development, Embracing a Brighter) โดยมี นายหลิว เจี้ยนชาว รมว.วิเทศสัมพันธ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน และ นายหวาง หนิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และผู้แทนจากพรรคการเมืองหลายประเทศ เข้าร่วมประชุมด้วย ณ WYNDHAM GRAND Plaza Royale Colorful Yunnan Kunming ประเทศจีน

นายพีระพันธุ์ ได้รับเกียรติให้ขึ้นกล่าวบนเวทีว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้มาร่วมประชุมพร้อมกับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรคและคณะผู้บริหารพรรค และให้โอกาสตนกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมร่วมของพรรคการเมืองจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ในหัวข้อเรื่อง ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (One belt one road initiative – BRI)

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการดำเนินการข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มาตั้งแต่สมัยที่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางในความเป็นจริงคือการเชื่อมโลกเชื่อมประเทศต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาความเจริญของแต่ละประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ให้เดินหน้าไปพร้อมกัน โดยมีประเทศจีนเป็นแกนกลาง

ทั้งนี้ ในอดีตประเทศจีนก็เป็นผู้นำในด้านนี้มาก่อนตามที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘เส้นทางสายไหม’ แต่ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางในครั้งนี้ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่าเส้นทางสายไหมในอดีตเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเชื่อมประเทศ เข้าต่างๆ ด้วยกันกว่า 100 ประเทศ ทั้งประเทศในทวีปเอเชีย, ยุโรป และแอฟริกาโดยเฉพาะ เมื่อมีการนำเอาเรื่องพลังงานสะอาดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางด้วย ยิ่งทำให้ข้อริเริ่มนี้มีความยิ่งใหญ่และมีความสำคัญต่อโลกมากยิ่งขึ้น 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่าความจริงใจและเป็นมิตรของจีนจะเป็นแรงผลักดันให้ทุกโครงการของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางในทุกประเทศสมาชิก ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายทุกโครงการได้

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ตนรับผิดชอบดูแลภารกิจด้านพลังงานของประเทศไทยจะเดินหน้าพัฒนาพลังงานสะอาดของประเทศไทยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างมั่นคงและประสบความสำเร็จตามเป้าหมายโดยเร็ว 

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนและประเทศสมาชิก จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาและความยั่งยืนของพลังงานสะอาดของโลกไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้น ผมในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมผู้บริหารพรรคที่มาร่วมงานในวันนี้ ขอขอบคุณพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ให้โอกาสมาร่วมงานในครั้งนี้” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ พร้อมคณะได้เดินทางไป ศึกษาดูงานด้านพลังงานที่ Yunnan Energy Investment ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน ถือเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ของมณฑลยูนนาน อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐของรัฐบาลมณฑลยูนนาน (State-owned Assets Supervision and Administration Commission of Yunnan Provincial People's Government) ได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งใน ‘บริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับแรกของจีน’ ติดต่อกัน 7 ปี

นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมหารือทวิภาคีก่อนการประชุม ‘ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง’ ร่วมกับนายหวาง หนิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำมณฑลยูนนาน ประธานสภาประชาชนมณฑลยูนนาน และเลขาธิการพรรค คอมมิวนิสต์จีน ประจำสภาประชาชนมณฑลยูนนาน

‘นลินี’ บิน ‘ญี่ปุ่น’ ดึง ‘SHARP’ ชวนลงทุน-ขยายฐานผลิตมาไทย ย้ำ!! ภาครัฐพร้อมหนุน เสริมข้อได้เปรียบ แถมสิทธิประโยชน์อื้อ!!

(11 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผย ภายหลังเข้าร่วมพิธีเปิดงาน SHARP Tech-Day เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 111 ปี ของการก่อตั้งบริษัทชาร์ป และพบหารือกับนายโรเบิร์ต วู ประธานกรรมการบริษัท ชาร์ป คอร์ปอเรชัน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ว่า นายโรเบิร์ตเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทชาร์ป ไทย เป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะได้รับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทชาร์ป เคยมีผลงานสำคัญ เช่น การจัดทำวิดีโอโปรโมทการท่องเที่ยวไทยร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อประชาสัมพันธ์บนโทรทัศน์ Sharp Aquos 8K ในหลายประเทศทั่วเอเชีย

ชาร์ปให้ความสำคัญกับไทย เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งในด้านที่ตั้ง และมีกำลังซื้อที่เติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโรงงานตั้งอยู่ในไทย 3 แห่ง คือ โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โรงงานผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร และโรงงานผลิตโทรทัศน์ และยังสนใจจะพัฒนา AI Center และ Data Center เนื่องจาก ประเทศไทยมีบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมได้ในอนาคต โดยต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐของไทย เพื่อให้การดำเนินธุรกิจและขยายการลงทุนเป็นไปได้ด้วยดี

นอกจากนี้ การก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ชื่อ HORIZON+ ของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ที่ร่วมลงทุนกับบริษัท ปตท. ในไทยนั้น คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2567 โดยชาร์ปจะมีส่วนร่วมในการผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แผงวงจร หน้าจอรถยนต์

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ตนยังได้พบกับนายเคอิโซะ ฟูจิโมโต ผู้แทนบริษัท Kaneka Corporation ผู้ผลิตนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโฟมชั้นนำของญี่ปุ่น มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น โพลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

ปัจจุบัน Kaneka มีสำนักงานตั้งอยู่ใน 3 เมืองหลักของญี่ปุ่น คือ โตเกียว โอซากา และนาโกยา และร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ เช่น อังกฤษ เยอรมนี จีน และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังมีโรงงานผลิตอยู่ที่ จ.ระยอง ของไทยอีกด้วย โดย Kaneka เล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดอาเซียนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

ที่ผ่านมามีการลงทุนในมาเลเซีย แต่พบปัญหาเรื่องความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม จึงต้องการหันไปลงทุนในประเทศอื่น ซึ่งตนได้เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และไทยยังมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนทั้งภายใต้ BOI และ EEC ความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปอย่างภูมิภาคอื่นได้ และยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่ไทยมีกับประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย เพื่อช่วยเพิ่มความได้เปรียบทางด้านการค้าการลงทุนให้กับ Kaneka ได้เป็นอย่างดี

“แนวคิดหลักของการจัดงาน SHARP Tech-Day ครั้งนี้ คือ ‘Be a Game Changer’ หรือ เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคต โดยนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นแรงผลักดัน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน มีการจัดแสดงสินค้านวัตกรรมที่น่าสนใจ เช่น Super Silent Cleaner เครื่องดูดฝุ่นที่มีเสียงเบาแต่มีประสิทธิภาพสูง, High Speed Oven เครื่องอบความเร็วสูงที่สามารถอบเนื้อสัตว์ให้สุกได้ภายใน 5 นาที, Driver Monitoring Camera กล้องติดหน้ารถที่ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยประเมินประสิทธิภาพของคนขับรถเพื่อป้องกันการหลับใน เป็นต้น ซึ่งสามารถนำแนวคิดมาต่อยอดการพัฒนาในประเทศไทยต่อไปได้” นางนลินี กล่าว

‘สุริยะ’ เยือน ‘สหรัฐฯ’ ร่วมประชุมเอเปค เตรียมโรดโชว์ ‘แลนด์บริดจ์’ ดึงต่างชาติมาร่วมลงทุน หวังดัน ‘ไทย’ เป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคเอเชีย

(11 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และตน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะเดินทางไปจัดงาน ‘Thailand Landbridge Roadshow’ วันที่ 13 พ.ย.นี้ ที่โรงแรม Ritz Carlton เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ในระหว่างเดินทางไปประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30

โดยนายกฯ และตน ในฐานะเจ้าภาพจัดงานจะร่วมกันให้ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นานาประเทศรู้จักโครงการเพิ่มมากขึ้น อาทิ โอกาสทางธุรกิจ รูปแบบการลงทุน ศักยภาพทำเลที่ตั้งของพื้นที่โครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ โดยมีนักลงทุนภาคธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งสายการเดินเรือ ผู้บริหารท่าเรือ กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มผู้ลงทุนด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน

โดยกลุ่มนักลงทุนให้ความสนใจประเด็นโอกาสในการลงทุนของโครงการ ทั้งนี้ ในอนาคตโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ จะเป็นช่องทางการค้าแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าหลักระดับภูมิภาคและจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย และช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล รวมถึงลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง อีกทั้ง จะช่วยให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการค้า ประกอบด้วย เขตการค้า เมืองท่าและเขตอุตสาหกรรม และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มีนักลงทุนจากหลายประเทศให้ความสนใจโครงการเป็นอย่างมาก อาทิ ฝรั่งเศส ประเทศฝั่งตะวันออกกลาง และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

‘อ.พงษ์ภาณุ’ หวั่น!! หากภาวะ ‘เงินฝืด’ เกิดขึ้นในเมืองไทย ก่อผลกระทบ ‘รุนแรง-กว้างขวาง’ แก้ไขได้ยากกว่า ‘เงินเฟ้อ’

(11 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับประเทศไทย ภาคต่อ ไว้ว่า…

‘ภาวะเงินฝืด’ (Deflation) เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะเรามักคุ้นเคยกับ ‘เงินเฟ้อ’ (Inflation) มากกว่า แต่เมื่อเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นแล้ว จะก่อเกิดผลกระทบรุนแรง กว้างขวาง และแก้ไขได้ยากกว่า 

เนื่องจากผู้บริโภคจะชะลอการจับจ่ายใช้สอยและธุรกิจชะลอการลงทุน เพราะภาระหนี้ที่แท้จริงจะสูงขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเป็นเวลากว่า 20 ปี และที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีนขณะนี้ หรือในประเทศตะวันตกหลังวิกฤตการเงินแฮมเบอร์เกอร์ ธนาคารกลางต้องใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% ร่วมกับ Quantitative Easing (QE) เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเป็นเวลากว่า 10 ปี

อาจจะเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าไทยเริ่มเข้าภาวะเงินฝืด แต่ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากปีที่แล้วที่มีเงินเฟ้อสูงสุดในโลกประเทศหนึ่ง จนกลายเป็นอัตราเงินเฟ้อติดลบเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

แน่นอนไทยได้รับผลกระทบจากจีนที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย แต่ภาวะเงินฝืดในไทยมีสาเหตุอีกส่วนหนึ่งจากการดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะได้มีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่ล่าช้ากว่าประเทศอื่นในระยะที่เงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาลงแล้ว ซึ่งเป็นการซ้ำเติมวัฏจักรธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ขณะนี้รัฐบาลได้เริ่มทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะต้องมีการก่อหนี้เพื่อระดมเงินมาใช้จ่าย แต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายครั้งเดียวจบและไม่ผูกพันงบประมาณแผ่นดินในอนาคต 

อีกทั้งขนาดและความเร็วในการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ภาคเศรษฐกิจจริงๆ เหล่านี้ ก็จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นภาวะเงินฝืดได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่แม้จะใช้ได้จริงก็เป็นเดือนพฤษภาคมปีหน้า แต่ความชัดเจนจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี ย่อมสร้างผลที่เรียกว่า Announcement Effect ในทันที และกระตุ้นให้ภาคธุรกิจลงทุนเพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครองรับการใช้จ่ายที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในปีหน้าด้วยความมั่นใจต่อไป...

อ่านบทความเกี่ยวเนื่อง : ‘เงินฝืดจ่อไทย’ >> https://www.facebook.com/100064606066871/posts/pfbid02UjG5nDK1oHfcZqdWee1KWQp963cCQoZ7K29Z5W5tsfz4ShNBBq5qhHKeUdXy4xM4l/


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top