‘นายกฯ เศรษฐา’ ยัน!! แจกเงินดิจิทัลฯ ไม่ใช่การสงเคราะห์คนจน

‘นายกฯ เศรษฐา’ แถลง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ใช้จ่ายผ่าน ‘เป๋าตัง’ แจก 50 ล้านคน รายได้ไม่เกิน 7 หมื่นต่อเดือน เงินฝากทุกบัญชีรวมไม่เกิน 5 แสนบาท มีระยะเวลาการใช้ 6 เดือน พร้อมขยายพื้นที่การใช้ครอบคลุมระดับอำเภอ เตรียมตั้งงบ 600,000 ล้านบาท แต่ยังต้องผ่านขั้นตอนกฎหมาย 

(10 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เรียกประชุมนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่ โดยระบุในช่วงเช้าก่อนการแถลงว่า “คำพูดของตน ไม่ต้องจด ไม่ต้องอัด ตั้งใจฟังอย่างเดียว เพราะมี Press Release อย่างหนาให้”

จากนั้นเมื่อเวลา 14.00 น. นายกฯ เศรษฐา ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า... 

โครงการดังกล่าวจะเติมเงินในระบบเศรษฐกิจ รวม 600,000 ล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 100,000 ล้านบาทในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ และยังต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายก่อนที่จะสรุป และต้องมีมติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า ได้ปรับเงื่อนไขให้รัดกุมมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาทให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไปรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท และมีเงินฝากไม่ถึง 500,000 บาท พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า คนที่มีรายได้มากกว่า 70,000 บาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 50,000 ก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือรายได้น้อยกว่า 70,000 บาท แต่เงินฝากมากกว่า ก็จะไม่ได้รับสิทธิ

นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนการใช้จ่ายนั้น จะใช้จ่ายในระดับอำเภอ มีระยะเวลาใช้จ่ายก้อนแรกภาย 6 ในเดือน สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น ซื้อบริการไม่ได้ แลกเปลี่ยนเป็นเงินสดไม่ได้ ซื้อทอง เพชร พลอย เติมน้ำมัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กัญชา กัญชง หรือนำไปชำระหนี้ไม่ได้ ร้านค้าไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ร้านค้าที่สามารถขึ้นเป็นเงินสดได้ต้องเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อมีการถามถึงการใช้งาน ดิจิทัลวอลเล็ต ว่าจะใช้สิทธิ์ยากหรือไม่ และเข้าร่วมอย่างไรนั้น? นายกฯ ประกาศว่า “เราจะพัฒนาต่อยอดระบบ ‘เป๋าตัง’ ซึ่งมีประชาชนลงทะเบียน 40 ล้านคน ร้านค้าที่คุ้นเคยกว่า 1.8 ล้านร้านค้า ซึ่งเป๋าตัง มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีลดระยะเวลา งบประมาณ ซ้ำซ้อน”

หลังจากนั้น นายกฯ ยังได้เผยถึง โครงการลดหย่อนลดภาษี โดยกล่าวด้วยว่า รัฐบาลจะออกโครงการลดหย่อนภาษีให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคล จากการซื้อสินค้า-บริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยใช้ใบกำกับภาษีมาประกอบยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ ดังนั้นคนที่ไม่ได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต ก็สามารถเข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นอีกด้วย

“ยังยืนยันให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนไทยลดหย่อนภาษีมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท มาประกอบการยื่นภาษี” นายกฯ กล่าว

โดยสรุป นโยบายทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อประเทศ 2 ด้าน คือกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น โดยมีประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญ ผ่านการบริโภคและการลงทุน วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและ E-Government ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว

“นี่ไม่ใช่สงเคราะห์ ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจแทนสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ...

“ผมขอให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิร่วมกันใช้จ่ายอย่างมีความภาคภูมิใจ โดยทุกคนร่วมเป็นผู้สร้างการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเรา” นายกฯ ทิ้งท้าย

สำหรับโครงการทั้งหมดที่ว่ามาจะสามารถใช้ได้เมื่อใดนั้น จะต้องผ่านการตีความโดยกฤษฎีกา ในช่วงปลายปีนี้ นำเข้าสู่สภาช่วงต้นปีหน้า จัดเตรียมงบประมาณและเปิดใช้ประชาชนใช้ พฤษภาคม ปีหน้า (2567) ช่วงก่อนหน้านั้นจะมี e-Refunds ตั้งแต่เดือนมกราคม และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ เริ่มได้เดือนมิถุนายน 67 ทั้งนี้ ต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ทำงานรัดกุม ก่อนเข้าครม. เพื่อได้รับการอนุมัติต่อไป