'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! พิษสงคราม สั่นคลอนระบบการเงินโลก เสนอใช้ Local Currencies แทนดอลลาร์ 'ชำระเงิน-ค้าขาย' แบบทวิภาคี

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ใครได้ใครเสีย?' เมื่อวันที่ 12 พ.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สงครามสั่นคลอนระบบการเงินโลก เสนอใช้ local currencies แทนดอลลาร์

ผลพวงจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความผันผวนทางการเงินอย่างไม่เคยมีมาก่อน 

อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เคยอยู่ที่ระดับ 0% กระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 5.5% และไม่มีแนวโน้มจะกลับสู่ระดับเดิมในเร็ววัน 

แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณใดๆ จากตลาดเงินตลาดทุนว่าสงครามที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จะลุกลามไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 แต่เชื่อว่าความผันผวนทางเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่ต่อไปและอาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธในการคว่ำบาตรประเทศที่เป็นศัตรูเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในระบบการเงินอีกด้วย

ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะร่วมกันผลักดันและสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currencies) ในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น ดังเช่นที่ประเทศไทยเคยมีบทบาทนำในการผลักดัน Asian Bond Market Initiative สมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 20 ปีที่แล้ว 

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารกลางของ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็ได้เซ็น MOU ที่จะสนับสนุนการใช้เงินบาท, ริงกิต และรูเปียะ ในการชำระเงินการค้าขายแบบทวิภาคี ซึ่งถือเป็นความพยายามที่ดีและน่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง

แน่นอนว่า การผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่น คงไม่ใช่เรื่องง่าย และดูจะฝืนธรรมชาติด้วยซ้ำ เพราะมีความเสี่ยงสูง และต้นทุน (Transaction Costs) ต่อผู้ประกอบการ โดยวัดจาก Spread ของธนาคารก็สูงกว่ามาก 

แต่สถานภาพปัจจุบันที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเป็นเงิน Reserve Currency สกุลเดียวของโลกมาเป็นเวลากว่า 80 ปี และมีสัดส่วนกว่า 80% ในการชำระเงินและในทุนสำรองระหว่างประเทศ จนมีพลังต่อรองในเวทีเศรษฐกิจโลกเสมอมานั้น คงถึงเวลาที่ภาครัฐของทุกประเทศ โดยเฉพาะกระทรวงการคลังและธนาคารกลาง จะต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้น ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น 

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินท้องถิ่น เครื่องมือบริหารความเสี่ยง ตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งในระยะปานกลาง/ยาว ต้องจัดตั้งกลไกเชื่อมโยงอัตราแลกเปลี่ยนทำนองเดียวกับ European Monetary System (EMS) และการมุ่งไปสู่เงินสกุลเดียวทำนองเดียวกับเงินยูโร ต้องคิดไว้ได้บ้างแล้ว...