Tuesday, 13 May 2025
GoodsVoice

‘กรมราง’ เผย!! รถไฟฟ้าสาย ‘สีม่วง-สีแดง’ ปังไม่หยุด  ชี้!! ราคา 20 บาท ดันผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

(22 ต.ค. 66) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์แรกหลังจากมีนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท มีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,199,196 คน-เที่ยว จากเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคม มีจำนวน 1,124,698 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

1.) รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 75,524 คน-เที่ยว โดยเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคม มีจำนวน 72,634 คน-เที่ยว แบ่งเป็น ขบวนรถเชิงพาณิชย์ 30,072 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 45,452 คน-เที่ยว

2.) รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,123,672 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 71,608 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.81 เทียบเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคมมีจำนวน 1,052,064 คน-เที่ยว

โดยรถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 174 เที่ยววิ่ง จำนวน 54,703 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 22,317 คน-เที่ยว รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 12 คน-เที่ยว

รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 216 เที่ยววิ่ง จำนวน 44,417 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 324 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 9 เที่ยววิ่ง) จำนวน 367,629 คน-เที่ยว

รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,102 เที่ยววิ่ง จำนวน 594,520 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 217 เที่ยววิ่ง จำนวน 8,063 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองให้บริการ 216 เที่ยววิ่ง จำนวน 30,023 คน-เที่ยว

“จากข้อมูลข้างต้น พบว่าวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์แรก ภายหลังจากดำเนินการตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสายสีแดงและสายม่วงสูงสุด 20 บาท เมื่อเทียบกับวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา มีประชาชนมาใช้บริการสายสีแดง 22,317 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 5,946 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.32 ส่วนสายสีม่วงมีผู้ใช้บริการ 44,417 คน-เที่ยวเพิ่มขึ้น 6,880 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.33” นายพิเชฐกล่าว

นายพิเชฐกล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ใช้บริการสายสีน้ำเงิน367,629 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 32,909 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.83 เนื่องจากมีสถานีเชื่อมต่อกับสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน และมีการจัดกิจกรรมที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นี้ ได้แก่ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 28 งาน Thailand Gameshow 2023 และงาน Homepro Living Expo โดยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมสายสีน้ำเงินได้จัดขบวนรถเสริมรวม 9 เที่ยววิ่ง

นายพิเชฐกล่าวว่า สำหรับในวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม นี้ กรมได้ประสานผู้ให้บริการรถไฟฟ้า ติดตามสถานการณ์ผู้ใช้บริการระบบราง และพิจารณาเพิ่มความถี่ ขบวนรถเสริม รวมทั้งเพิ่มบุคลากรในการบริหารจัดการภายในสถานีรถไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น โดยเฉพาะช่วงเย็นถึงหัวค่ำ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่กรมสุ่มลงพื้นที่เพื่อติดตามและประสานการแก้ไขปัญหาหน้างานอีกด้วย

‘มือเศรษฐกิจจุลภาค’ ซาวเสียง!! คนส่วนใหญ่หวัง Digital Wallet แต่แอบห่วงที่มาเงิน ยกคำแนะ ‘ดร.กิตติ’ แจกบางส่วน หากกระตุ้น GDP ได้ +5% มุมหนี้สาธารณะจะลดลง

(23 ต.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Ta Plus Sirikulpisut’ เกี่ยวกับกรณีข้อดี-ข้อเสียของ ‘Digital Wallet’ ในปัจจุบันที่ได้ฟังจากเสียงประชาชนมากขึ้น ว่า...

วันนี้ขอแสดงความเห็นเรื่องเงิน Digital Wallet อีกครั้งครับ

หลายวันนี้ลงพื้นที่พบปะประชาชน ได้รับฟังความต้องการว่าอยากได้เงินแจก 10,000 บาท จริงครับ บางครอบครัวมีสมาชิก 4-6 คน จะได้รับแจกถึง 40,000-60,000 บาท นับเป็นเงินมากสำหรับคนตัวเล็กๆ หลายคนคิดว่าจะนำไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปั๊มน้ำ บางคนจะซ่อมหลังคา และหากเป็นกลุ่มเกษตรกรรวมตัวกัน เขาอยากได้เครื่องอบ เพราะช่วยไล่ความชื้น เวลาเอาของไปขายราคาจะดีขึ้น บางที่อยากรวมกันทำโรงสีขนาดเล็ก ไม่มีใครทราบเงื่อนไขว่าจะซื้ออะไรได้บ้าง แต่หากเราได้สามารถช่วยให้เขาซื้อ Durable goods หรือ อุปกรณ์เพิ่มการผลิต/คุณภาพจะยอดเยี่ยมไปเลยครับ

ข้อห่วงใย ผมเองก็ห่วงใย และได้คุยกะผู้ใหญ่หลายท่านก็ห่วงใยโดยเฉพาะด้านการคลังที่หากแหล่งที่มาของเงินดังกล่าวจะมาจากเงินกู้ ซึ่งเราติดตามได้ครับ อย่างน้อยรัฐบาลลุงตู่เองก็เก็บภาษีมาได้เกินเป้า รายสองแสนล้าน เกือบครึ่งทางของงบเงิน Digital ครับ หากแจกบางส่วนก่อนแล้วเอาภาษีที่หมุนได้มาแจกต่อ อย่างที่ท่าน ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ว่าไว้ก็ลดความเสี่ยงได้มาก และหากกระตุ้น GDP ได้ +5% หนี้สาธารณะก็ลดลงครับ

มีนักวิชาการบอกว่างานวิจัยจากที่ญี่ปุ่นบ้าง ไต้หวันบ้างบอกไม่ประสบความสำเร็จ โดยญี่ปุ่นได้ตัวทวีคูณน้อย และซื้อสินค้าได้เล็กน้อยครับ

ผมต้องเรียนว่าเทียบกันไม่ได้ ไทยเรามีคนมีรายได้น้อยกว่า การแจกแบบนี้จะได้ผลลัพธ์สูงกว่า แถมของเราหลายอย่างถูกกว่าจะซื้อของเพิ่ม Productivity ได้ดีกว่าครับ 

บางคนบอกว่าเราใช้ Government กระตุ้นมากไป ผมก็เรียนว่า การที่รัฐเก็บภาษีจากประชาชนมานี่ มาจากหลายทางครั้งส่วนหนึ่งมาจากเราบริโภคแล้วเสีย Vat นี่แหละครับ เป้าหมายการเก็บภาษี ก็เพื่อไปสร้างถนน จ่ายค่าเรียนฟรี รักษาฟรี และลงทุน ฯลฯ 

แต่อีกเป้าหมายคือการลดความเหลื่อมล้ำครับ คนรวยกำไรมากก็เสียภาษี เราก็เอามาให้คนด้อยกว่าใช้ การที่อยู่ๆ เราบอกประชาชนว่าที่ผ่านมารัฐเก็บภาษีแล้วไปตัดสินใจแทนประชาชนว่าจะเอาเงินไปทำอะไร คราวนี้รัฐยกเงินภาษีของท่านให้ท่านตัดสินใจแทน เป็นการกระจายอำนาจทางการคลัง ที่ผ่านมาก็เคยทำมาก่อน 

นโยบายดังกล่าวมีข้อดี และข้อเสียเราต้องรอบคอบครับเพื่อประเทศที่เรารัก และลูกหลานของเรา

ต๊ะ พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์
บทความวิชาการ ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัดข้าพเจ้า

‘พีระพันธุ์’ เปิดแผน ‘รื้อ-ทุบ-ปลด-สร้าง’ แก้กฎหมายเอื้อกำกับราคาน้ำมัน เร่งปรับโครงสร้างตั้งแต่ฐานราก พร้อมยัน!! ลดโซฮอล์ 91 ก่อน ชนิดอื่นต่อคิว

(23 ต.ค. 66) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงข้อเสนอแนะจากประชาชนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการลดราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 และเสนอลดโซฮอล์ 95 แทน ว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังยืนยันลดโซฮอล์ 91 อัตรา 2.50 บาทต่อลิตร เพราะการลดครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นลดน้ำมันเบนซิน หลังจากนั้นจะทยอยลดสูตรอื่น อาทิ โซฮอล์ 95 เป็นต้น ไม่ได้แปลว่าไม่ลดชนิดอื่นแล้ว

ทั้งนี้ มี 2 เหตุผลในการเลือกลดโซฮอล์ 91 เพราะ 1.) เป็นน้ำมันที่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ใช้กันมากสุด จึงจำเป็นที่ต้องเยียวยาไวกว่ากลุ่มอื่น 2.) เป็นน้ำมันที่ราคาหน้าโรงกลั่นถูกที่สุดคือ 22.21 บาทต่อลิตร ต้นทุนถูกกว่าทั้งน้ำมัน อี 20 และ อี 85 โดยนายพีระพันธุ์เข้าใจความเป็นห่วงของทุกฝ่าย แต่การลดราคาเชื้อเพลิงนั้นเป็นแค่มาตรการระยะสั้นที่จะทำให้พลังงานเป็นธรรมสำหรับทุกคน

นายพงศ์พลกล่าวว่า ขณะนี้นายพีระพันธุ์มีแผนลดราคาพลังงานทั้งระยะสั้น กลาง ยาว วางไว้ทุกสเต็ป โดยระยะสั้นคือ ลดค่าพลังงาน ชนิดไหนทำก่อนจะทำเลยอย่างน้อยได้ประวิงหนี้ ลดค่าใช้จ่ายค่าไฟน้ำมัน ต่อลมหายใจให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ขณะที่ระยะกลางจะเดินหน้าแก้กฎหมายอุปสรรค เรื่องนี้ใช้เวลาแต่จะเห็นผลชัดภายในปีนี้แน่นอน เพราะจะมีการรื้อ ทุบ ปลด สร้าง คือ แก้กฎหมายที่เอื้อให้มีการกำกับโครงสร้างราคาน้ำมันให้โปร่งใส ราคาไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เพิ่มกฎหมายใหม่น้ำมันราคาถูกเฉพาะทาง มี พ.ร.บ.น้ำมันเพื่อการเกษตรและการแก้กฎเรื่องมาตรฐานน้ำมัน ฯลฯ

ระยะยาวจะวางโครงสร้างเพื่ออนาคต เน้นปฏิวัติแบบแผนเพื่อความยั่งยืน จะวางรากฐานเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน อาทิ ระบบสำรองน้ำมันประเทศเพื่อความมั่นคงโดยกระทรวง การเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุคผลิตพลังงานสะอาดเต็มตัว ศึกษาระบบเน็ต-บิลลิ่ง ระบบกริดแบบใหม่

ไขรหัส-มองไทม์ไลน์ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ ภายใต้แนวคิด ‘Future Ready True’ กับการพิชิตเป้าหมาย ‘บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี’ สู่องค์กรแห่งอนาคต

นับเป็นครั้งแรกสำหรับ ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ได้มีการจัดงาน Capital Markets Day ณ ทรูดิจิทัลพาร์ค นับเป็นเวลาราว 7 เดือนหลังจากที่ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการสำเร็จ ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุน นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินไทยและต่างชาติเข้ารับฟังทิศทางธุรกิจ ตัวชี้วัดทางการเงิน เป้าหมาย และกลยุทธ์อย่างคับคั่ง

ในโอกาสนี้ True Blog ได้เข้าร่วมรับฟังข้อมูลจากคณะผู้บริหาร โดยขอย่อยข้อมูลให้เห็นกันชัดๆ พร้อมกับอธิบายถึงนัยสำคัญของความเคลื่อนไหวจากงาน Capital Markets Day ต่อทิศทางธุรกิจในอนาคต

Capital Markets Day (CMDs) ถือเป็นโอกาสอันดีให้บริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนได้พบปะกัน อัพเดทข้อมูลทางธุรกิจเชิงลึก ภาพรวมธุรกิจและเป้าหมายระยะยาว นอกฤดูรายงานข้อมูลการเงินต่อสาธารณะ (off-season) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของบริษัทจดทะเบียน สอดรับกับเทรนด์การลงทุนที่นักลงทุนให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบ ESG ซึ่งในที่นี้ มีความเกี่ยวข้องกับมิติธรรมาภิบาล (Governance) ในแง่การส่งเสริมความโปร่งใสการรายงานข้อมูลต่อนักลงทุน นำมาซึ่งชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในบริษัทจดทะเบียน

เปิดไทม์ไลน์ ‘Telecom-Tech Company’
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ด้วยวิสัยทัศน์ในการเป็น ‘ผู้นำเทคโนโลยีโทรคมนาคมของไทย ที่จะเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตคนไทย และขับเคลื่อนธุรกิจ ให้ก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก’ ทำให้การรวมพลังทั้งกำลังเงินและกำลังคน มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด” โดย ทรู ได้เผยผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) 2.5 แสนล้านบาท

ทรัพยากรการเงินมูลค่าดังกล่าว จะช่วยเดินหน้าโครงการเชิงกลยุทธ์ต่างๆ ให้ถึงฝั่งฝัน ซึ่งสามารถเเบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1.) Growth การเติบโตที่มากกว่าบริการโทรคมนาคม รวมถึงพัฒนาบริการต่างๆ ที่ช่วยให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าองค์กร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

2.) Value Creation พัฒนาโครงข่ายให้เหนือระดับด้วยการรวมโครงสร้างเสาสัญญาณด้วย ‘ระบบโครงข่ายเดียว’ (Single Grid) ตั้งเป้าสู่การเป็นผู้นำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ตลอดจนกำหนดมาตรฐานการบริการให้เกิดประสบการณ์เหนือระดับ

3.) Organization เพื่อให้องค์กรมีความแข็งแกร่ง ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและพฤติกรรมลูกค้า จึงได้กำหนดให้ทรูเป็นองค์กรแห่งอนาคตที่พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้ทันสมัย เท่าทันเทคโนโลยีด้วยมิชชั่น Future Ready True

4.) Sustainability เพราะการประกอบธุรกิจมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชุมชนและสังคม ด้วยเหตุนี้ ทรู จึงยึดถือแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยหลักความยั่งยืนตามแนวคิด ESG โดยกำหนดเป้าหมายดังต่อไปนี้

- ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment: E) ไว้ 3 ด้าน ได้แก่ ลดการฝังกลบขยะให้เป็นศูนย์และพิชิตความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 พร้อมทั้งตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593

- ด้านสังคม (Social: S) ตั้งเป้าขยายโครงข่าย 4G และ 5G ให้ครอบคลุมอย่างน้อย 99% และ 97% ของประชากรไทยในปี 2569 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังวางเป้าเพิ่มพูนทักษะให้คนไทยผ่านการเรียนออนไลน์ 34 ล้านคน และสร้าง 2,700 สตาร์ทอัพผ่านอีโคซิสเต็มของทรูดิจิทัลพาร์ค

- ด้านธรรมาภิบาล (Governance: G) ได้สร้างการตระหนักรู้และพนักงานทุกคนจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรธรรมาภิบาล ขณะที่ความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงทางไซเบอร์ได้พัฒนาให้สอดรับกับมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับการกำกับคู่ค้าที่จะต้องมีแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานของทรู โดยคู่ค้าระดับที่ 1 จะต้องผ่านการตรวจสอบด้าน ESG ส่วนคู่ค้าโครงข่ายทุกรายจะต้องปฏิบัติตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมตามฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science Based Target initiative: SBTI)

ไขกลยุทธ์ ‘Beyond Connectivity’
นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น อธิบายเพิ่มเติมโครงการ Single Grid ว่า “โปรเจ็คดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงโครงข่ายและระบบไอทีให้ทันสมัยยิ่งขึ้น (Network and IT Modernization) ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรโครงข่ายและสรรพกำลังอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างเสริมและพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าด้วย นอกจากนี้ ยังได้ก้าวออกจากบริการโทรคมนาคมสู่ vertical services ต่างๆ เช่น API Enablement ระบบไอทีที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงทางไซเบอร์ ตลอดจนบริการที่เกี่ยวข้องกับคลาวด์คอมพิวติ้ง อันมีความสำคัญอย่างมากในยุคดิจิทัล ถือเป็นการเปิดฉากทรานสฟอร์มสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี”

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานทรานส์ฟอร์มแล้ว ถือเป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มธุรกิจจะได้ประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตผลในการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และนี่ถือเป็นเครื่องจักรแห่งการเติบโต (Growth Engine) ในยุค 5G โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2569 รายได้จากกลุ่มธุรกิจจะเพิ่มขึ้น ‘เท่าตัว’ จากบริการอื่นๆ ที่ต่อยอดจากโทรคมนาคม เช่น โซลูชันด้านโครงข่าย ไอโอที ความมั่นคงทางไซเบอร์ และสมาร์ทโซลูชันต่างๆ ที่ต่อยอดกับอุตสาหกรรมแนวดิ่ง (Vertical Industries) เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และการเกษตร นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการต่อยอดบริการใหม่ๆ ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น เศรษฐกิจ API แพลตฟอร์มสำหรับเอสเอ็มอี ระบบคลาวด์รุ่นใหม่ และโซลูชันที่พัฒนาจาก Generative AI

ซินเนอร์ยี่มูลค่า 2.5 แสนล้าน
นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวเสริมว่า มากกว่า 100 ปัจจัยจะช่วยสร้างผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการมูลค่าราว 2.5 แสนล้านบาท โดย 15 อันดับแรกจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการคิดเป็น 85% ของมูลค่ารวม ส่วนค่าใช้จ่ายหลักในการควบรวมจะเกิดขึ้นภายในปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทบรรลุผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการสุทธิเป็นบวกในปี 2568 และมีกำไร โดยทรู คอร์ปอเรชั่นคาดว่าจะสามารถรับรู้การประหยัดกระแสเงินสดได้ในระดับคงที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

มูลค่าเพิ่มจากรวมพลัง 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1.) เทคโนโลยีและไอที รวมถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินการโครงการ Single Grid ด้วยประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นและการบรรลุเป้าหมายจากการลงทุน CAPEX การรวมเครือข่ายสองระบบร่วมกัน รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างระบบไอที

2.) ผสานองค์กรและการดำเนินงานรวมกัน โดยมุ่งถึงประโยชน์สูงสุดจากการปรับปรุงองค์กรและรูปแบบการดำเนินงานผ่านระบบออโตเมชั่น ดิจิทัล และการลดความซ้ำซ้อน เช่นศูนย์บริการที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน การใช้อัตราค่าคอมมิชชั่นที่ดีที่สุดระหว่างดีแทค และทรู รวมถึงแนวทางการดำเนินงานที่ดีที่สุด สำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคลและการบริหารงานสำหรับการลดความซ้ำซ้อนของสถานที่ทำงาน ลดพื้นที่ และค่าใช้จ่าย รวมถึงยุติการใช้งานแพลตฟอร์มที่ซ้ำซ้อน

3.) การจัดซื้อจัดจ้างด้วยสเกลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ได้ราคาที่ดีที่สุดของดีแทคและทรู รวมถึงการเจรจากับผู้จำหน่ายหลัก (vendors) โดยได้จากประโยชน์ของขนาดและปริมาณการสั่งซื้อของบริษัทใหม่เอีกทั้ง ประโยชน์จากข้อตกลงผู้ผลิตตามข้อเสนอที่ดีที่สุดจากพันธมิตรระดับโลก เช่น เทเลนอร์กรุ๊ป

4.) ปัจจัยอื่นๆ จากผสานรวมกัน โดยปัจจัยหลักมาจากรายได้ที่เพิ่มโอกาสการนำเสนอการขายแบบ cross-selling ให้กับลูกค้าดีแทคและทรู สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มยิ่งขึ้น

ด้วยกลยุทธ์ทางการเงินที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงโครงสร้างของต้นทุนอย่างต่อเนื่อง การใช้สินทรัพย์เพื่อให้ก่อประโยชน์สูงสุด และการเติบโตแบบมีกำไร EBTIDA จะเติบโตเร็วกว่ารายได้จากการให้บริการ โดยคาดว่าอัตรา EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการจะดีขึ้น 11 จุด (Percentage point) ภายในปี 2570 ทั้งนี้ ด้วยผลประโยชน์จากการรวมการจัดซื้อจัดจ้าง และระบบโครงข่ายเดียว (Single Grid) รวมถึงการรวมคลื่นความถี่ และความมีวินัยในการบริหารจัดการเงินลงทุนซึ่งฝังอยู่ในวิถีการทำงานของเรา ค่าใช้จ่ายการลงทุน CAPEX ของทรู คอร์ปอเรชั่นหลังจากการรวมเครือข่ายเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะลดลงครึ่งหนึ่งจากช่วงก่อนควบรวม ทั้งนี้ ในฐานะผู้นำในการให้บริการด้าน เทคโนโลยีที่มีจุดแข็งจากผู้ถือหุ้นของเรา ทรู คอร์ปอเรชั่นพร้อมที่จะผลักดันประเทศไทยให้เข้าถึงโอกาสใหม่และส่งมอบคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกคน

นับหนึ่งเส้นทางแห่งการทรานส์ฟอร์ม
นางสาวศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น อธิบายเพิ่มเติมว่า “ด้วยเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ทำให้วาระด้านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่และการทรานส์ฟอร์ม (Culture and Transformation) ถือเป็นพันธกิจหลักของทรู โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยผลงาน (Performance Driven Culture) และการพัฒนาศักยภาพของพนักงานอย่างก้าวกระโดด (Leapfrogging people capability)”

โดยปัจจุบัน มีการดำเนินตาม 4 เสากลยุทธ์ ได้แก่
1.) ขนาดและโครงสร้างองค์กรที่สอดคล้องกับการทิศทางและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

2.) องค์กรแห่งอนาคตผ่านโมเดลการปฏิบัติงานรูปแบบใหม่ ได้แก่ Modernization, Simplification และ Automation โดยเน้นกระตุ้นการทำงานแบบ Cross Functional

3.) พัฒนาศักยภาพพนักงานให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดผ่านโปรแกรมปรับและเพิ่มพูนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการ

4.) เพิ่มความแข็งแกร่งของ talent ผ่านการวางแผนผู้สืบทอด (Succession Plan) การรักษาบุคลากร (Retention) ให้สอดรับกับภูมิทัศน์ด้านแรงงานแห่งอนาคต (Future Workforce)

ทั้งนี้ การทรานส์ฟอร์มองค์กรนั้นจะเป็นลักษณะของการ ‘ร่วมสร้าง’ (Co-Creation) จากล่างขึ้นบน (Bottom-up) กล่าวคือ พนักงานทุกคนมีส่วนในการกำหนดวัฒนธรรมองค์กร พฤติกรรม โดยมีเป้าหมายการเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีแถวหน้าของภูมิภาค โดยดำเนินงานผ่านโปรแกรมต่างๆ เช่น Organization Health Survey, Mirror Workshop และ Value Workshop นอกจากนี้ การประเมินความพึงพอใจของพนักงานจะยึดความโปร่งใสเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้ได้ยินเสียงความต้องการของพนักงานอย่างแท้จริง พร้อมกับการมีส่วนร่วมของพนักงานต่อกิจกรรมภายใน

จะเห็นได้ว่า มูฟของทรูฯ หลังการควบรวมกิจการมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งด้านความเร็วและประสิทธิภาพ การมีมาสเตอร์แพลนที่ชัดเจน รวมถึงคุณค่าและวัฒนธรรมจากล่างขึ้นบน รับฟังและให้โอกาสในการพูด แนวทางการทำงานที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การเปลี่ยนแปลงจากฐานรากนี้ใม่ง่ายเลยสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ แต่ด้วยความแข็งแกร่ง ศักยภาพ และความเชี่ยวชาญของผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฝ่าย คือเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มเทเลนอร์ ได้ทำให้ทรู คอร์ปอเรชั่น บทใหม่นี้ก้าวสู่ความพร้อมในฐานะองค์กรแห่งอนาคต Future Ready True เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม–เทคโนโลยีแถวหน้าของภูมิภาคต่อไป

‘ทิพานัน’ ชี้!! ผลงาน ‘บิ๊กตู่’ 9 ปี มีเพียบ ยกผลงานเจรจาการค้าเด่น หนุนเปิดประเทศ-เปิดโอกาส ชู ‘ศักยภาพผู้นำที่ดี’ พาไทยแกร่งรอบด้าน

‘ทิพานัน’ ติงนักวิชาการ ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ยกผลงานเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยุค ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ผลงานเพียบ เปิดประเทศ เปิดโอกาส และเปิดแนวทางใหม่การลงทุนในภูมิภาคสุดปัง ชู ‘ภาวะผู้นำที่ดี’ ทำทีมไทยแกร่ง 6 ด้าน

(23 ต.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘อ้น ทิพานัน ศิริชนะ’ ถึงกรณีที่นักวิชาการแสดงความเห็นเปรียบเทียบ การเจรจาการค้าระหว่างประเทศระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า…

ลุงตู่มีวิสัยทัศน์ที่ดี ทั้งเปิดประเทศ เปิดโอกาส เปิดแนวทางใหม่การลงทุนในภูมิภาค

ที่สำคัญเพราะ ‘ภาวะผู้นำที่ดี’  จึงมีดังนี้

#รัฐบาลลุงตู่ มีผู้แทนการค้าไทยที่แข็งแกร่ง

#รัฐบาลลุงตู่ มีทูตทางการค้าที่เข้าใจลูกค้า

#รัฐบาลลุงตู่ มีนโยบายจากBOIที่ชวนมาลงทุนโดยเฉพาะ

#รัฐบาลลุงตู่ มีกฎหมายอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะ

#รัฐบาลลุงตู่ เดินหน้าเจรจาการค้ากับต่างประเทศมาตลอด 9 ปี

#รัฐบาลลุงตู่ พัฒนาทุกมิติไม่ใช่แค่หิ้วกระเป๋าไปขายของ

สิ่งเหล่านี้คือ ‘รากฐาน’ สำหรับการไปขายของในอนาคต

บทความตอนหนึ่งที่กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จาก รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2566 ว่า…

“เพราะถ้ามีการเปรียบเทียบทั้งสองคน ในแง่การไปเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สมัย พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องการเจรจาพูดคุยอะไรต่างๆ กับต่างชาติติดลบ”

“และการเดินสายต่างประเทศคงเป็นความพยายามหลังจากที่ขาดหายไปนานในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จึงถือเป็นความพยายามอีกอย่างหนึ่งท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่หลากหลาย”

การนำเสนอตรงนี้อาจไม่ครบถ้วน ตรงตามหลักวิชาการ และคนอาจเชื่อตามข้อมูลนั้นไปแบบไม่ครบถ้วน จึงขอนำเสนอข้อมูลให้ครบถ้วนอีกด้าน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วนทุกมิติ ที่ทำให้เห็นว่า ลุงตู่วางรากฐานการลงทุนที่จับต้องได้ ไม่ขายฝัน และ #มีคนทำงานแต่ละด้านที่เป็นมืออาชีพ จนสำเร็จลุล่วง และเดินหน้าพบปะกับต่างชาติทั่วโลกมาตลอดระยะเวลา 9 ปี และมีผลงานโดดเด่นมากมาย เช่น ซาอุฯ จีน เป็นต้น

การเดินทางพบผู้นำและประชุมระดับโลกและอาเซียน ของลุงตู่ เพื่อการค้าและการลงทุน และมิติอื่นๆ มีอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างดังนี้

- 12-15 ธ.ค. 65 ประชุมสุดยอดอาเซียน–สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ที่บรัสเซลส์ เบลเยียม

- 25-27 พ.ค. 65 ประชุมInternational Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27 ที่โตเกียว ญี่ปุ่น

- 12-13 พ.ค. 65 การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ที่ วอชิงตันดี.ซี สหรัฐอเมริกา

- 25 ม.ค. 65 เยือนซาอุดีอาระเบีย เป็น ‘ความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย - ซาอุดีอาระเบีย’ ให้กลับมาอยู่ใน ‘ระดับปกติ’ อย่างสมบูรณ์ ถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน และเป็นก้าวแรกของ ‘โอกาสอันมากมายมหาศาล’ 9 ด้าน คือ

1.) การท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

2.) พลังงาน (เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ชาติของ 2 ประเทศ) ร่วมลงทุน-วิจัยพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน

3.) แรงงานไทย สนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ใน ‘วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030’ (Saudi Vision 2030)

4.) อาหาร ผลิต-ส่งออกอาหารฮาลาลให้แก่ซาอุดีฯ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง GCC

5.) สุขภาพ-การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความร่วมมือทางการแพทย์ของไทย

6.) ความมั่นคง ไทยจะได้รับประโยชน์จากซาอุดีฯ ประเทศมหาอำนาจในกรอบองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) เช่น ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย

7.) การศึกษาและศาสนา ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิม

8.) การค้าและการลงทุน ลู่ทางธุรกิจและหุ้นส่วนทางการค้าในซาอุดีฯ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และการดึงดูดซาอุดีฯ ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ของไทยด้านพลังงาน นวัตกรรม โทรคมนาคม อวกาศ เทคโนโลยีสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

9.) กีฬา เช่น มวยไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง

- 1 พ.ย. 64 เข้าร่วมประชุม ‘UN Climate Change Conference’ (COP 26) ครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ อังกฤษ และประกาศคำมั่นสัญญาใหม่ของไทยอย่างเป็นทางการในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ภายในปี 2065 #จนเป็นที่มานโยบายด้านนี้ในไทย ที่ขับเคลื่อนจริง และนักลงทุนสนใจมาลงทุน

- 24 ก.ย. 64 เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 76 ที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

- 24-27 พ.ย. 62 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกหลีใต้ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับเกาหลีใต้ ครั้งที่ 1 ที่ปูซาน เกาหลีใต้

- 21-27 ก.ย. 62 เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 74 ที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

- 28-29 มิ.ย. 62 ในฐานะประธานอาเซียน เข้าร่วมประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2562 ที่โอซากา ญี่ปุ่น

- 25 มิ.ย. 61 หารือทวิภาคีกับนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ฝรั่งเศส

- 20 มิ.ย. 61 หารือทวิภาคีกับนางเทรีซา เมย์ นายกฯ อังกฤษ ที่อังกฤษ

- 2-4 ต.ค. 60 หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สหรัฐอเมริกา

- 14-16 ต.ค. 59 เข้าร่วมการประชุมผู้นําเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting - ASEM) ครั้งที่ 11 ที่อูลานบาตอร์ มองโกเลีย

- 16-18 มิ.ย. 59 เยือนอินเดีย เพื่อความร่วมมือด้านการค้า-ความมั่นคง

- 17-21 พ.ค. 59 เยือนรัสเซีย ฟื้นความสัมพันธ์ในรอบ 11 ปี

- 9-11 พ.ย. 57 เข้าร่วมประชุมเอเปค ครั้งที่ 22 ที่ปักกิ่ง จีน

- 16-17 ต.ค. 57 เข้าร่วมการประชุมผู้นําเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting - ASEM) ครั้งที่ 10 ที่มิลาน อิตาลี

รัฐบาลลุงตู่ต้อนรับผู้นำที่มาเยือนไทย แสดงให้ต่างชาติเห็นศักยภาพบ้านเมืองไทยที่เจริญ และน่าลงทุนจริงๆ

- 14 ก.พ. 66 นายกฯ มาเลเซีย

- 10 ก.ค. 65 รมว.ต่างประเทศของอเมริกา และไทยและสหรัฐฯ ลงนามร่วมกันในแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

- 4-5 ก.ค. 65 มนตรีแห่งรัฐ และ รมว.ต่างประเทศของจีน

- ส่งเสริมการลงทุนใน EEC

- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยง

- รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวกับระบบรางและรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนของไทย

- ปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ

- ลงนาม MOU ด้านการรรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

- 13 มิ.ย. 65 รมว.กลาโหมของอเมริกา

- 1-2 พ.ค. 65 นายกฯ ญี่ปุ่น

- 20-23 พ.ย. 62 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

- 8 ส.ค. 60 รมว.ต่างประเทศของอเมริกา

- 27 ม.ค. 60 ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศของอังกฤษ

ความสำเร็จที่โดดเด่น และปังที่สุด คือ

- 18-19 พ.ย. 65 ลุงตู่ เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเอเปค ‘APEC2022’ ต้อนรับผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจ และได้รับคำชมเชยจาก ผอ.เลขาธิการเอเปค ยกย่องไทย จัดประชุม APEC2022 ได้ยอดเยี่ยม ระดับ world class และผลักดัน “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” สำเร็จในเวทีโลก

- 15 พ.ย. 63 ไทยร่วมก่อตั้งและลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค #RCEP กับ 14 ประเทศ (บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้) ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน (30% ของ GDP โลก) เพิ่มโอกาสและศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยให้ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 65

- 16 ธ.ค. 62 ‘ประเทศแรกในเอเชีย’ ไทยประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

- ปี 61-66 ไทยคงสถานะอันดับสูงสุดในอาเซียน 5 ปีซ้อน สำหรับดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index)

- ปี 58-61 ไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับ EU
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ รัฐบาลลุงตู่ วางรากฐานความเชื่อมั่น เปิดประเทศและไปแนะนำประเทศ ให้คนทั่วโลกรู้จักและมาลงทุนในไทย

ดังนั้น อาจมีใครหลายคนที่อาจจะยังไม่ทราบข้อมูลและวิจารณ์บนพื้นฐานไม่รู้… จะได้รู้เพิ่มเติมค่ะ

ข้อมูลจาก https://www.soc.go.th/?page_id=10338

รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ (1) ปีที่ 1-4 และ (2) ปีที่ 1-3 
#ลองหาอ่านดูเผื่อใครสนใจค่ะ

23 ตุลาคม 2566
Cr. เพจ อ้น ทิพานัน ศิริชนะ

‘พาณิชย์ฯ’ เผยตัวเลขส่งออกไทย ก.ย.66 พลิกบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง

(24 ต.ค.66) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกันยายน 2566 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 25,476 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 2.1 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากตลาดคาดว่า หดตัวร้อยละ 1.75-2.00

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,383 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 8.3 ส่งผลให้เดือนกันยายน ไทยเกินดุลการค้า 2,093 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.66) การส่งออก มีมูลค่ารวม 213,069 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 3.8 การนำเข้า มีมูลค่ารวม 218,902 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 5,833 ล้านดอลลาร์

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกของไทย ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ขยายตัวต่อเนื่อง ยังคงเป็นสินค้าที่เติบโตตามเมกะเทรนด์ เช่น โซลาร์เซลล์ และโทรศัพท์มือถือ

‘บีไอจี’ ผนึกกำลัง ‘น้ำมันกุ๊ก’ ร่วมลดปล่อยคาร์บอน ตัดวงจรก่อมลพิษในกระบวนการผลิตน้ำมันพืช

(24 ต.ค.66) นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี (BIG) เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชกุ๊ก ในการวัดและวิเคราะห์แนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตน้ำมันพืชและกากพืชน้ำมันด้วย Carbon Accounting Platform ที่พัฒนาโดยบีไอจี

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการพลังงานในอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืน ตอบรับเป้าหมายของประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีพ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2608

“ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการมุ่งเน้นในการพัฒนานวัตกรรมจาก Climate Technology ในการตรวจสอบและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการกระบวนการผลิตน้ำมันพืชและกากพืชน้ำมัน เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน โดยที่ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดการใช้ Carbon Accounting Platform ไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร และร่วมผลักดันในพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ร่วมกัน”

นายอดุลย์ เปรมประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด กล่าวว่า การนำนวัตกรรมรวมถึง Platform ที่เกี่ยวกับการสังเกตและวางแผนการผลิตเพื่อช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบ Carbon Accounting Platform ที่บีไอจีพัฒนาขึ้น โดยมาใช้ในกระบวนการผลิตน้ำมันพืชและกากพืชน้ำมันที่เป็น Green Industry จะช่วยบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืนและช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเร่งผลักดัน ตอบรับกับกลยุทธ์ของน้ำมันพืชกุ๊กที่จะมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปีพ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608

‘MK’ ประกาศเปลี่ยนโลโก้บริษัท มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนการดำเนินงานทุกอย่าง ย้ำ!! ยังเหมือนเดิมทุกประการ

(24 ต.ค.66) บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศเปลี่ยน โลโก้ (Corporate Logo) ของบริษัท เป็นดีไซน์ใหม่

สำหรับสาเหตุของการตัดสินใจครั้งนี้ เอ็มเคฯ ระบุในหนังสือที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงโลโก้นี้เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยจะมีผลตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ยักษ์ร้านสุกี้ยังย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงโลโก้ใหม่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและบริหารทางธุรกิจของบริษัท โดยทั้งชื่อย่อ เว็บไซต์ ที่อยู่สำนักงาน และหมายเลขติดต่อ ยังคงเดิมทุกประการ

ในส่วนของที่มาของชื่อและโลโก้เอ็มเคนั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ mkrestaurant.com ระบุว่า ที่มาของคำว่า ‘เอ็มเค’ มาจากชื่อของเจ้าของเดิมคือ มาคอง คิงยี (Makong King Yee) ชาวฮ่องกง ก่อนที่ คุณป้าทองคำ เมฆโต จะซื้อกิจการต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2505

ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เจ้าของเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป ได้ชักชวนคุณป้าทองคำ มาเปิดร้านอาหารไทยในเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในชื่อร้าน ‘กรีน เอ็มเค’ ตามด้วยร้านสุกี้เอ็มเค สาขาแรกในห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในปี พ.ศ. 2529

‘กรมราง’ ตรวจงาน ‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ ช่วงแคราย-มีนบุรี คืบหน้าแล้วกว่า 98.37% คาด!! พร้อมให้บริการ 18 ธ.ค.นี้

(25 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ร่วมกับ รฟม. บริษัทที่ปรึกษาโครงการ (PCPK) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ให้บริการเดินรถ เพื่อติดตามความพร้อมก่อนเปิดให้บริการประชาชนในเดือนธันวาคม 66

รถไฟฟ้าสายสีชมพู หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘น้องนมเย็น’ เป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลสายที่สองของไทย ถัดจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีแนวเส้นทางเริ่มจากศูนย์ราชการนนทบุรี วิ่งผ่านถนนสำคัญหลายเส้น ได้แก่ ถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา และถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงมีนบุรี รวมระยะทาง 34.50 กิโลเมตร 30 สถานี

มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น ได้แก่ สายสีเชียว สายสีแดง สายสีม่วง ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่า 98.37%

การลงพื้นที่ครั้งนี้ เริ่มต้นจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีวัดพระศรีมหาธาตุของรถไฟฟ้าสายสีเขียว จุดเด่นของสถานีนี้ คือ ชานชาลาและทางวิ่งจะถูกแยกเป็น 2 ฝั่ง และมีสะพานรถยนต์ข้ามแยกวงเวียนบางเขนคั่นอยู่ตรงกลาง

โดยจะมี Skywalk ให้ผู้ใช้บริการสามารถเดินทะลุจากชานชาลาของรถไฟฟ้าสายสีชมพูไปที่บริเวณขายตั๋วของรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้เลย โดยไม่ต้องแตะบัตรเข้า-ออกอีกครั้ง ทำให้เดินทางสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
.
ต่อมาได้ร่วมทดสอบการเดินรถ จากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุไปยังสถานีหลักสี่ (PK14) สถานีนี้มี Skywalk เชื่อมต่อไปที่สถานีหลักสี่ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และศูนย์การค้าไอทีสแควร์ ซึ่งอยู่คนละฝั่งของถนนวิภาวดีรังสิตได้

นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีชมพูยังมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) โดยมี Skywalk แห่งแรกในไทย ที่มีทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ความยาว 340 เมตร ในอนาคตสถานีนี้จะมีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย - ลำสาลีได้อีกด้วย

สำหรับสถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK 11) - สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK 13) ที่เริ่มการก่อสร้างทางขึ้น - ลงได้ล่าช้า ปัจจุบันก่อสร้างเสาตอม่อและโครงสร้างเหล็กแล้ว อยู่ระหว่างก่อสร้างหลังคา ราวกันตก ติดตั้งและทดสอบการใช้งานบันไดเลื่อนและลิฟต์

ในส่วนของการเชื่อมต่อ สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ จะมี Skywalk เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ปฏิบัติงานในบริเวณศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติกว่าแสนราย รวมถึงทยอยคืนพื้นผิวจราจรตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางได้สะดวกปลอดภัย

ซึ่ง รฟม. ได้เร่งรัดผู้รับจ้างในการเปิดให้บริการเร็วขึ้นจากเดิม เดือนมิถุนายน 2567 เบื้องต้นผู้รับจ้างคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 โดยให้บริการในช่วง 06.00 - 24.00 น. อย่างไรก็ตาม รฟม. จะต้องตรวจสอบงานและความปลอดภัยให้เป็นไปตามสัญญาก่อนเปิดให้บริการต่อไป

'อิทธิพัทธ์' เชื่อ!! 'พีระพันธุ์' เตรียมนโยบายระยะยาวช่วย ปชช. หลังแก้ปัญหาพลังงานระยะสั้น ลด 'ค่าไฟ-น้ำมัน' ราบรื่น

(25 ต.ค. 66) นายอิทธิพัทธ์ เศรษฐยุกานนท์ หรือ ‘บอย’ อดีตผู้สมัคร สส.กทม พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

อีกผลงานของท่านพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ช่วยลดภาระของประชาชน ผลักดันให้ลดราคาน้ำมันเบนซิน โดยการเสนอผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 สุดท้ายมีมติร่วมกันให้ลดราคาน้ำมันเบนซินโซฮอลล์ 91 ลง 2.50 บาท ต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งคาดว่ามีผลบังคับใช้ในช่วงสัปดาห์หน้า

ผมต้องขอขอบคุณท่านพีระพันธ์ุ และคณะรัฐมนตรีทุกท่านที่ช่วยลดภาระของพี่น้องประชาชนคนไทย จากนี้ไปเราคงเห็นนโยบายที่ช่วยลดภาระพี่น้องประชาชนอีกหลายเรื่องครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top