‘มือเศรษฐกิจจุลภาค’ ซาวเสียง!! คนส่วนใหญ่หวัง Digital Wallet แต่แอบห่วงที่มาเงิน ยกคำแนะ ‘ดร.กิตติ’ แจกบางส่วน หากกระตุ้น GDP ได้ +5% มุมหนี้สาธารณะจะลดลง

(23 ต.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Ta Plus Sirikulpisut’ เกี่ยวกับกรณีข้อดี-ข้อเสียของ ‘Digital Wallet’ ในปัจจุบันที่ได้ฟังจากเสียงประชาชนมากขึ้น ว่า...

วันนี้ขอแสดงความเห็นเรื่องเงิน Digital Wallet อีกครั้งครับ

หลายวันนี้ลงพื้นที่พบปะประชาชน ได้รับฟังความต้องการว่าอยากได้เงินแจก 10,000 บาท จริงครับ บางครอบครัวมีสมาชิก 4-6 คน จะได้รับแจกถึง 40,000-60,000 บาท นับเป็นเงินมากสำหรับคนตัวเล็กๆ หลายคนคิดว่าจะนำไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปั๊มน้ำ บางคนจะซ่อมหลังคา และหากเป็นกลุ่มเกษตรกรรวมตัวกัน เขาอยากได้เครื่องอบ เพราะช่วยไล่ความชื้น เวลาเอาของไปขายราคาจะดีขึ้น บางที่อยากรวมกันทำโรงสีขนาดเล็ก ไม่มีใครทราบเงื่อนไขว่าจะซื้ออะไรได้บ้าง แต่หากเราได้สามารถช่วยให้เขาซื้อ Durable goods หรือ อุปกรณ์เพิ่มการผลิต/คุณภาพจะยอดเยี่ยมไปเลยครับ

ข้อห่วงใย ผมเองก็ห่วงใย และได้คุยกะผู้ใหญ่หลายท่านก็ห่วงใยโดยเฉพาะด้านการคลังที่หากแหล่งที่มาของเงินดังกล่าวจะมาจากเงินกู้ ซึ่งเราติดตามได้ครับ อย่างน้อยรัฐบาลลุงตู่เองก็เก็บภาษีมาได้เกินเป้า รายสองแสนล้าน เกือบครึ่งทางของงบเงิน Digital ครับ หากแจกบางส่วนก่อนแล้วเอาภาษีที่หมุนได้มาแจกต่อ อย่างที่ท่าน ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ว่าไว้ก็ลดความเสี่ยงได้มาก และหากกระตุ้น GDP ได้ +5% หนี้สาธารณะก็ลดลงครับ

มีนักวิชาการบอกว่างานวิจัยจากที่ญี่ปุ่นบ้าง ไต้หวันบ้างบอกไม่ประสบความสำเร็จ โดยญี่ปุ่นได้ตัวทวีคูณน้อย และซื้อสินค้าได้เล็กน้อยครับ

ผมต้องเรียนว่าเทียบกันไม่ได้ ไทยเรามีคนมีรายได้น้อยกว่า การแจกแบบนี้จะได้ผลลัพธ์สูงกว่า แถมของเราหลายอย่างถูกกว่าจะซื้อของเพิ่ม Productivity ได้ดีกว่าครับ 

บางคนบอกว่าเราใช้ Government กระตุ้นมากไป ผมก็เรียนว่า การที่รัฐเก็บภาษีจากประชาชนมานี่ มาจากหลายทางครั้งส่วนหนึ่งมาจากเราบริโภคแล้วเสีย Vat นี่แหละครับ เป้าหมายการเก็บภาษี ก็เพื่อไปสร้างถนน จ่ายค่าเรียนฟรี รักษาฟรี และลงทุน ฯลฯ 

แต่อีกเป้าหมายคือการลดความเหลื่อมล้ำครับ คนรวยกำไรมากก็เสียภาษี เราก็เอามาให้คนด้อยกว่าใช้ การที่อยู่ๆ เราบอกประชาชนว่าที่ผ่านมารัฐเก็บภาษีแล้วไปตัดสินใจแทนประชาชนว่าจะเอาเงินไปทำอะไร คราวนี้รัฐยกเงินภาษีของท่านให้ท่านตัดสินใจแทน เป็นการกระจายอำนาจทางการคลัง ที่ผ่านมาก็เคยทำมาก่อน 

นโยบายดังกล่าวมีข้อดี และข้อเสียเราต้องรอบคอบครับเพื่อประเทศที่เรารัก และลูกหลานของเรา

ต๊ะ พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์
บทความวิชาการ ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัดข้าพเจ้า