Friday, 17 May 2024
Digitalwallet

‘ชัยวุฒิ’ แจ้ง Google ปิดกั้นแอป Digital Wallet  สกัดมิจฉาชีพ ตุ๋นรับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท

(24 ส.ค. 66) นายชัยวุฒิ  ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพได้มีการโฆษณาชวนเชื่อและหลอกลวงให้ประชาชนดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Digital wallet เพื่อรับเงินดิจิทัล จำนวน 10,000 บาท กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ทำการตรวจสอบแอปพลิเคชันดังกล่าวแล้ว พบว่า เป็นแอปพลิเคชันปลอมที่มิจฉาชีพหลอกให้ประชาชนเข้าไปโหลดแอปพลิเคชัน จากนั้นจะใช้แอปพลิเคชันที่สามารถเข้าถึงมือถือจากภายนอกเข้ามาขโมยถอนเงินจากบัญชีของท่าน ซึ่งขณะนี้กระทรวงดิจิทัลฯ ได้แจ้ง google ให้ปิดกั้นแอปดังกล่าว โดยจะติดตามตรวจสอบต่อไป

ขอให้ทุกท่านงดเว้น ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Digital wallet ทุกกรณี หากมีข้อมูลที่ต้องการสอบถามหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าสงสัย หรือได้รับการแจ้งข้อมูลที่ผิดปกติผ่านเอสเอ็มเอส หรือทางโทรศัพท์ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และโทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง

ถ้าคุณมีเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ และสามารถใช้จ่ายอะไรตามใจตัวเองก็ได้ คุณอยากจะแลกเปลี่ยนเป็นอะไรกันบ้าง!! ✨💰

ถ้าคุณมีเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ และสามารถใช้จ่ายอะไรตามใจตัวเองก็ได้ คุณอยากจะแลกเปลี่ยนเป็นอะไรกันบ้าง!! ✨💰
 

‘บก.ลายจุด’ โชว์กึ๋นเศรษฐศาสตร์ ชำแหละ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ชี้!! หากแหล่งที่มาคือการสร้างหนี้ จะเกิดเงินเฟ้อ-ข้าวของแพงขึ้น

(27 ส.ค. 66) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ ‘บก.ลายจุด’ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ ระบุว่า…

เศรษฐศาสตร์ดิจิทัลลวอลเล็ต

- GDP ไทย 2022 อยู่ที่ 19.8 ล้านล้านบาท

- ดิจิทัลวอลเล็ต 540,000 ล้านบาท

- เพื่อไทยบอกว่าที่มาของเงินมาจากการบริหารงบประมาณ ตัดงบส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อมาทำโครงการ ในข้อเท็จจริง การใช้จ่ายภาครัฐเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหนึ่งที่สำคัญและมีผลต่อ GDP การชักเอาเงินออกจากการใช้จ่ายภาครัฐมาเป็นค่าใช้จ่ายของครัวเรือนผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จึงยังสงสัยว่า กำลังซื้อภาครัฐที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อ GDP อย่างไร และเมื่อเทียบกับการให้การใช้เงินอยู่ในมือประชาชนจะส่งผลดีกว่าการใช้จ่ายภาครัฐอยู่ที่เท่าใด และเมื่อคำนวณ GDP ก็ต้องไปตัดลดส่วนของค่าใช้จ่ายภาครัฐลงแล้วบวกด้วยค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือน

- การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ได้รับการอัดฉีดผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อถึงที่สุดแล้วจะส่งผลต่อปัจจัยการนำเข้ามากน้อยเพียงใด เมื่อห่วงโซ่การผลิตและสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีนกลายเป็นสภาพแวดล้อมสำคัญในการบริโภคในไทย ทั้งนี้รวมถึงการบริโภคพลังงานที่เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตีฟู ที่ต้องกล่าวถึงปัจจัยการนำเข้าเพราะจะมีผลต่อการคำนวณ GDP

- การพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนควรต้องพิจารณาถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือการปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการผลิตให้เพิ่มประสิทธิภาพและแข่งขันได้ คำถามคือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ใช้งบประมาณรัฐสูงขนาดนี้มีผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างไร อันจะเป็นการชี้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง

- การแจกเงินหมื่นให้ประชาชน หากตกอยู่ในมือประชาชนผู้มีรายได้น้อยพวกเขาย่อมใช้จ่ายเงินนั้นอย่างเต็มที่ในการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจะส่งผลอย่างเห็นได้ชัด แต่หากตกอยู่ในมือผู้มีรายได้ระดับหนึ่งที่ไม่มีความเดือดร้อน โอกาสที่ประชาชนเหล่านั้นจะใช้เงินหมื่นนี้ในการลดค่าใช้จ่ายประจำของตนเอง โดยเก็บเงินในบัญชีตนเองไว้แล้วใช้เงินในวอลเล็ตแทน เม็ดเงินดังกล่าวก็จะไม่ก่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและกลายเป็นเงินเก็บในบัญชีของคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามอาจโต้แย้งได้ว่าจำนวนคนที่มีกำลังทางเศรษฐกิจอยู่แล้วมีไม่มากนักเมื่อเทียบคนจนในประเทศ

- สภาวะทางเศรษฐกิจช่วงที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตดำเนินอยู่จะเป็นช่วงกระทิง ผู้คนจับจ่ายใช้สอยกันคึกคัก แต่หลังโครงการจบทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่้ภาวะใกล้เคียงก่อนหน้านั้น จมูกที่พ้นน้ำก็ต้องกลับมาอยู่ในระดับเดิม และอะไรคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะต่อจากนั้นเพราะนี่คือพลังบริโภคเทียม

- เราต้องไม่ลืมว่าไม่มีอะไรฟรี หากแหล่งที่มาของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้มาจากการสร้างหนี้ นี่คือการใช้เงินของคนไทยในอนาคต และการลงทุนนั้นมีหลักอยู่ว่าสิ่งที่ลงทุนไปควรได้รับประโยชน์กลับคืนมากกว่าหรือไม่น้อยกว่าที่ลงทุนไป ต่อให้ผู้ชำระเงินเป็นคนไทยในอนาคตก็ตามที และยังมีปัญหาเงินเฟ้อข้าวของแพงขึ้นแล้วจะไม่ลดลงโดยง่ายหลังสินค้าขึ้นราคา

ปล.คุณสามารถตำหนิผมได้ โดยการอธิบายและโต้แย้งหักล้างสิ่งที่ผมอธิบาย

‘เพื่อไทย’ เล็งแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ช่วงสงกรานต์ปีหน้า หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ-กระจายเงินหมุนเวียนสู่ชุมชนทั่วประเทศ

(29 ส.ค. 66) นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านนโยบาย พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์รายการข่าวค่ำ TNN Online เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566 กล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ต้องรีบเข้ามาดำเนินการ เช่น นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายด้านการท่องเที่ยว และนโยบายพักหนี้เกษตรกร

1.) นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต มีความมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายความเจริญไปทั่วประเทศ ทุกชุมชน ดังนั้น การใช้จ่ายภายในรัศมี 4 กม. จึงเป็นหลักพิจารณาให้เงินนั้นกระจายไปในชุมชนที่ผู้รับเงินอยู่อาศัย ซึ่งสามารถยืดหยุ่นได้ตามข้อจำกัดพื้นที่ห่างไกล แต่ประเด็นน่าสนใจคือ หลายหมู่บ้าน ประชาชนคิดรวมตัว สร้างร้านหาสินค้ามาลง เพื่อให้คนได้ใช้จ่าย และสร้างรายได้กับชุมชนตนเอง ประมาณการณ์ประชาชนได้ใช้เงินดิจิทัล ช่วงเมษายน-เทศกาลสงกรานต์ ให้ประชาชนเดินทางกลับบ้าน ใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

2.) นโยบายพักหนี้เกษตรกร 3 ปี และนโยบายช่วยเหลือเรื่องกลุ่มลูกหนี้ SME ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด พร้อมๆ กับการจัดการค่าพลังงาน น้ำมัน-ไฟฟ้า ทั้งหมดเพื่อลดภาระและบรรเทาทุกข์ เปิดโอกาสให้ประชาชนทำมาหากินและใช้เงินได้ประจำส่วนต่าง ลงทุนประกอบอาชีพหรือเพื่อใช้จ่ายสิ่งจำเป็นอื่นๆ

3.) นโยบายด้านการท่องเที่ยว เปิดประตูรับเงินนอกสร้างเศรษฐกิจไทย เป็นนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและลงพื้นที่ดูปมจริงที่จังหวัดภูเก็ตและพังงา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้หารือกับท่าอากาศยานรับทราบข้อติดขัดด้านการปฎิบัติรวมทั้งกฎระเบียบ ซึ่งมีหลายส่วนที่สามารถขยับคอคอดนั้นออก อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว และให้บริการประชาชนได้สะดวกยิ่งขึ้น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำที่ภูเก็ตและพังงาว่า รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นรายได้ในระยะสั้นที่หาได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การลงพื้นที่ครั้งนี้จึงมาเพื่อเตรียมความพร้อมภาคส่วนต่างๆ ก่อนถึงไฮซีซันช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

‘รมช.คลัง’ ยัน!! วิธีโอนเงิน เงินดิจิทัล 10,000 ใช้ระบบบล็อกเชน ไม่ได้โอนผ่านเป๋าตัง

(6 ก.ย. 66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีช่องทางการจ่ายเงินในโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยปฏิเสธข่าวที่ว่าจะโอนเงิน 10,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่เคยถูกใช้ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาก่อนหน้านี้นั้น

ยืนยันว่า นโยบายนี้ จะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) อยู่เบื้องหลัง ซึ่งถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากเทคโนโลยีแบบเดิม เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

‘ประชัย’ แนะรัฐบาล ออก ‘พรก.กู้เงินสาธารณะ’ ใช้แจกเงินดิจิทัล เงินหมุน 8 รอบ GDP อาจโตถึง 5% ยัน!! วิธีนี้เป็นประโยชน์ต่อชาติ 

(12 ก.ย. 66) ในช่วงรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำลังอยู่ระหว่างแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งประเดิมที่มีการพูดถึงกันมากที่สุด ก็คือนโยบายการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท

คำถามก็คือ รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน สถานะการเงินการคลังของประเทศจะเป็นอย่างไร เพราะการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น จะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท

มีความเห็นจากกกูรูเศรษฐกิจ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่าง ‘คุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์’ บอสใหญ่แห่งทีพีไอ ให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะถึงนโยบายนี้เอาไว้อย่างเฉียบคม ว่า…

“รัฐบาลต้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ‘แบงก์ชาติ’ ออกบัตร 500,000 ล้าน โดยรัฐบาลต้องออกเป็นพระราชกำหนดให้สามารถกู้เงินสาธารณะ เป็นหนี้สาธารณะได้มากกว่า 60% จากนั้นรัฐบาลก็สามารถกู้เงินจากแบงก์ชาติ โดยดอกเบี้ยอาจจะอยู่ที่ 0% หรือ จุด 1% เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ในการนี้โดยตรง”

คุณประชัย ยืนยันว่า ถ้ารัฐบาลเลือกตั้งใช้วิธีนี้ ก็จะถือเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมหาศาล

“เงิน 500,000 ล้านบาท จะหมุนไป 8 รอบ มูลค่าจะเพิ่มเป็น 4 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 280,000 ล้านบาท บวกภาษีเงินได้ของประชาชน บริษัท ห้างร้าน โรงงาน รวมแล้วได้มากกว่า 500,000 ล้านบาท รัฐบาลจึงไม่เสียหาย หนี้สาธารณะอาจไม่ถึง 60% ก็ได้ เพราะ GDP อาจเพิ่มจาก 3% เป็น 4%-5% ทำให้ไม่เสียวินัยการเงินการคลังเลยแม้แต่น้อย”

นอกจากนี้ คุณประชัย ยังย้ำเตือนว่า “ถ้ารัฐบาลยังยึกยักคิดหาช่องทางอื่น ก็อาจจะเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดขบวนการคอร์รัปชันโกงกินได้ เงินดิจิทัล 10,000 บาท เมื่อนำไปแลกค่าเงินอาจไม่ถึง 5,000 บาท… ระวังกันไว้”

‘กรณ์’ เตือน!! ‘แจกเงินดิจิทัล’ รัฐบาลต้องแบกดอกเบี้ยเพิ่ม ชี้!! กลไกเศรษฐศาสตร์ ทุกอย่างมีต้นทุน มี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’

(17 ก.ย. 66) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij’ ระบุว่า...

ว่าด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ กับ ภาระทางการคลัง

ระหว่างที่ถกเถียงกันเรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขอให้สังเกตประมาณการสถานะทางการเงินล่าสุดของประเทศให้ดีครับ

กระทรวงการคลังเสนอประมาณการชุดนี้ในการประชุมครม.แรกของ #รัฐบาลเศรษฐา สำหรับใครที่ไม่ชอบดูตารางข้อมูลแบบนี้ ผมขอสรุปประเด็นสำคัญให้ดังนี้…

1.) รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้น

2.) แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่า

3.) รัฐบาลเลยจะขาดดุลมากขึ้น (3% ของ GDP จากที่เดิมคาดว่าจะลดลงเหลือ 2.8% ในปีหน้า)

4.) ในขณะที่เศรษฐกิจโตช้ากว่าที่คาดไว้เดิม

5.) ดังนั้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จึงสูงขึ้นมาก (64% vs. เดิม 61.35%)

แล้วไง?

ประมาณการใหม่นี้กำลังสร้างความกังวลให้นักเศรษฐศาสตร์อย่างมาก เพราะอะไร?

เพราะทุกอย่างมีต้นทุน คือมี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ซึ่งราคาที่ว่านี้ปรากฏชัดเจนในส่วนของต้นทุนดอกเบี้ยของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น อย่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ทะลุ 3% ไปแล้ว เพิ่มขึ้นมากว่า 50bps ในช่วงไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา

… และประมาณการนี้ยังไม่ได้รวมนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งอย่างไรรัฐบาลก็ต้องกู้ หรือยืมรัฐวิสาหกิจมาแจก

วันนี้หนี้รัฐบาลมีอยู่ 11 ล้านล้านบาท

รัฐบาลต้องออกพันธบัตรใหม่มาชำระชุดเก่าตลอดเวลา ซึ่งต้นทุนก็จะมีแต่สูงขึ้น เป็นภาระต่องบประมาณมากขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยเราจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยหลากหลายปัจจัย เช่นการส่งออกที่ซบเซา ราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น รวมไปถึงรายจ่ายภาครัฐจากนโยบาย ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ ของรัฐบาลใหม่

จุดแข็งของไทยเราคือ เราแทบไม่มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศ แต่อย่างไรเราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของโลก ไม่ระวังไม่ได้ครับ

‘นักวิชาการนิด้า’ แนะ ควรวางเงื่อนไขแจกเงินดิจิทัลให้คุ้มค่า ต้องเพิ่มทักษะอาชีพ-เน้น ศก.ฐานรากให้การหมุนเวียนเม็ดเงิน

‘นักวิชาการนิด้า’ แนะแนวทางแจกเงินดิจิทัลคนละ1 หมื่นบาท ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชี้ควรวางเงื่อนไขให้พัฒนาทักษะอาชีพรับทักษะใหม่ๆ เพื่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ แนะวางเงื่อนไขให้เกิดการทยอยใช้จ่ายในเศรษฐกิจชุมชน เน้นเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินหลายรอบ

รัฐบาล ‘เศรษฐา1’ ได้มีการบรรจุนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ถึงระดับฐานราก

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 66 นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่าการที่รัฐบาลออกมาตรการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยหวังให้เกิดการใช้จ่าย บริโภคของประชาชนเนื่องจากเห็นถึงข้อจำกัดในการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยที่มีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91.6% ซึ่งทำให้กำลังใช้จ่ายของคนไทยมีจำกัด

หากจะให้มีการใช้จ่ายเพิ่มรัฐบาลจำเป็นที่ต้องเอาเงินไปใส่มือประชาชนเพื่อให้ประชาชนไปใช้จ่าย แล้วรัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่าย และคาดหวังให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนคึกคักซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่มาของเงินจำนวนนี้เป็นเงินกู้ซึ่งอาจจะเป็นการกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจมาใช้ก่อนแล้วรัฐบาลตั้งงบประมาณใช้คืนภายหลัง การกู้ขาดดุลงบประมาณ รวมทั้งอาจมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกู้เงินเพิ่มเติมซึ่งจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)เพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ระดับ 61.7% ต่อจีดีพี ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดคือ “เงินมีต้นทุน” จะทำอย่างไรให้เงินจำนวนนี้มีความคุ้มค่ามากที่สุด สามารถหมุนเวียนและสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากที่สุด

“การกำหนดเทคโนโลยีที่จะมาใช้สำหรับการแจกเงินดิจิทัลไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเท่าไหร่สำหรับโครงการนี้เพราะหากจะใช้บล็อกเชน หรือใช้โครงการบาทดิจิทัลของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้เริ่มมีการทดลองไปแล้วระยะหนึ่งก็สามารถทำได้ แต่การหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบเนื่องจากหากให้มีการใช้เงินในร้านค้าสะดวกซื้อขนาดใหญ่ หรือซื้อของจากโมเดิร์นเทรดก็จะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช้า เนื่องจากเมื่อผู้ซื้อซื้อสินค้าจากร้านค้ารายใหญ่พวกนี้จะมีอำนาจต่อรองสูง กว่าที่จะเอาเงินที่ได้ไปให้ซัพพายเออร์ก็จะใช้เวลาถึง 3-4 เดือน ต่างจากที่มีการซื้อกันในกลุ่มลูกค้ารายย่อยก็จะทำให้เงินหมุนเวียนได้รวดเร็วกว่า

นอกจากนั้น บางสินค้าก็ไม่ได้มีซัพพายเชนในประเทศไทย แต่เป็นแค่มาประกอบในเมืองไทยทำให้สินค้าบางชนิดไม่ได้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยเท่าที่ควร หากรัฐบาลสามารถกำหนดเงื่อนไขลงไปถึงสินค้าที่มีซัพพายเชนในไทยยาวๆก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และการลงทุนเพิ่มขึ้น”

นายมนตรี กล่าวต่อว่าแนวทางของการแจกเงินดิจิทัลที่จะเกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุดก็คือการกำหนดเงื่อนไขว่าผู้ที่รับเงินดิจิทัลจากโครงการนี้ต้องเข้าโครงการฝึกอบรมเพิ่มทักษะ ปรับทักษะ (Upskills – Reskills) การทำงานให้สอดคล้องกับตลาดงานสมัยใหม่ที่ต้องการใช้ความรู้และทักษะใหม่ๆ เช่น ทักษะดิจิทัล และทักษะเรื่องการใช้ข้อมูล หากรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินให้ผู้รับเงินต้อง Upskills – Reskills ไปด้วยก็จะเป็นผลดีต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลที่ต้องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 และเพิ่มเงินเดือนให้กับแรงงานระดับปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570 ซึ่งค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น ต้องมาพร้อมกับความสามารถและทักษะของแรงงานที่เพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับอีกแนวทางที่สำคัญของการกำหนดเงื่อนไขในการใช้เงินดิจิทัลที่รัฐบาลควรกำหนดคือ ควรทำให้การใช้จ่ายเงินนั้นทยอยลงสู่ระบบเศรษฐกิจ คือให้เกิดการใช้ที่ต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปและเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร เช่น สมมุติว่ากำหนดให้การจ่ายใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทเป็นระยะๆ เช่น ไตรมาสละ 3,000 บาท 2 ไตรมาส และไตรมาสสุดท้ายให้ใช้ 4,000 บาท ก็จะทำให้เงินจำนวนนี้หมุนเวียนใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจได้นานทั้งปี

โดยเงินจำนวนนี้แม้จะเป็นอีกกระเป๋าของรัฐที่ให้ประชาชนใช้จ่ายแต่เป็นเงินกู้ที่กู้มาทำโครงการที่คาดหวังให้เศรษฐกิจโต ดังนั้นความเสี่ยงก็คือหากโครงการออกไปแล้วเศรษฐกิจไม่โต หรือเศรษฐกิจคึกคักแค่สั้นๆ ก็จะทำให้จีดีพีโตได้น้อย และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะเพิ่มสูงขึ้นซึ่งก็เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไปเมื่อหนี้สาธารณะสูงขึ้น

“การแจกเงินดิจิทัลจะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจนั้นตนไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะพายุหมุนอาจจะเป็นไต้ฝุ่นที่พัดให้บ้านเรือนพังได้ ถ้าหากทำให้เป็นพายุดีเปรสชั่นอาจจะดีกว่าเพราะฝนจะตกแบบเรื่อยๆค่อยๆสม่ำเสมอ เหมือนเงินที่จะลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปก็จะทำให้เกิดผลดีกับระบบเศรษฐกิจ แล้วหากสามารถทำให้เกิดการหมุนเวียนในระดับฐานรากของปิรามิดของสังคม ก็จะทำให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น” นายมนตรี กล่าว

‘พาณิชย์’ เตรียมหาวิธีสร้างตลาดรัศมี 4 กม. รับมาตรการเงินดิจิทัล 10,000 บ. หวังงัด ‘ร้านธงฟ้า-รถพุ่มพวง’ อุดช่องว่าง สร้างจุดกระจายสินค้าให้ปชช.เข้าถึง

(23 ก.ย.66) การเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital wallet เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจของประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง กลายเป็นนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลตอนนี้ โดยรัฐบาลตั้งเป้าที่จะ ‘ใส่เงิน’ เข้าไปในระบบเศรษฐกิจทั่วประเทศให้ถึงรากหญ้าในรัศมี 4 กม. ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐบาลทุกหน่วยงานจะต้องสนับสนุนและร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นจริงภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

>> เร่งด่วน Digital Wallet

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ ว่า ได้ให้นโยบาย ‘เติมเงิน 10,000 บาท’ กับข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นนโยบายใหญ่ของรัฐบาลที่จะใช้กระตุ้น และเป็นเครื่องมือช่วยกระตุกเศรษฐกิจของประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ช่วยเรื่องของกำลังซื้อให้มีความแข็งแรงขึ้น เมื่อมีกำลังซื้อที่แข็งแรงก็จะนำไปสู่เรื่องของการผลิต และให้ผู้ประกอบการได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ในเรื่องของการนำวัตถุดิบเข้ามาเสริม เพื่อรองรับความต้องการของตลาด

“เมื่อนโยบายนี้เกิดขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนได้หลายรอบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของการตัดสินใจ โดยใช้งบประมาณก้อนใหญ่ถึง 570,000 ล้านบาท ให้เกิดการหมุนเวียนภายในระยะเวลา 6 เดือน ถ้าเกิดการกระตุ้นจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจพอสมควร หากเงินที่ให้ไปใช้ไม่หมดก็นำกลับคืน หากใช้หมดก็หมดไป

เพราะเท่ากับว่าเป็นการจับจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะหากงบประมาณนี้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จะเกิดการหมุนเวียนและก่อให้เกิดรายได้หลายทาง และรายได้นี้ก็จะนำไปสู่การดูแลในนโยบายอื่น เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียน ธุรกิจก็จะเกิดการขยายตัว เพราะภายใน 4 ปีสามารถดำเนินการได้ก็จะก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชน” นายภูมิธรรมกล่าว

>> ฟื้นธงฟ้า-รถพุ่มพวง

เรื่องนี้กรมการค้าภายในจะต้องเตรียมการ ซึ่งได้มอบนโยบายไปว่า รัฐบาลจะมีงบประมาณออกมา และเกิดการกระจายรายได้ โดยมีข้อผูกพันว่า ต้องใช้ภายในพื้นที่ 4 กิโลเมตร แต่หากผู้ได้รับอยู่ในพื้นที่นอกเขต หรือชาวเขา รัฐบาลก็สามารถยืดหยุ่นขยายพื้นที่ออกไปได้ “ไม่เป็นไร เราไม่ได้กำหนดว่า 4 กิโลเมตรแล้วทำให้ประชาชนไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้”

โดยได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในไปเตรียมข้อมูลมาว่า หากประชาชนไม่สามารถเข้าถึง “สินค้า” กรมการค้าภายในจะมีเครือข่ายอะไร เช่น ‘ร้านธงฟ้า’ สามารถที่จะกระจายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้หรือไม่ ปัจจุบันมีข้อมูลพื้นฐานร้านธงฟ้ามีจำนวนเท่าไหร่ ในกี่จังหวัด จะสามารถรองรับนโยบาย Digital wallet ได้อย่างไร ซึ่งร้านจะขายสินค้าแบบเดิมก็สามารถดำเนินการได้ Digital wallet กำลังจะเกิดขึ้น

คุณต้องคิดว่าตลาดใหม่กำลังมา คุณจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการและสินค้าได้อย่างไร ซึ่งโครงการนี้สามารถเข้าไปดำเนินการส่งเสริมธุรกิจร้านธงฟ้าได้ด้วย ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่ได้แสวงผลกำไร แต่ทำอย่างไรให้เกิดการเติบโตและกระตุ้นการจับจ่าย ผมก็ได้มอบนโยบายให้กรมการค้าภายในไปพิจารณาเรื่องนี้แล้ว” นายภูมิธรรมกล่าว

นอกจาก ‘ร้านธงฟ้า’ แล้ว digital wallet อาจจะขยายไปในส่วนของ ‘รถพุ่มพวง’ นำสินค้าไปขาย จะสามารถที่จะสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่รับสินค้าต่าง ๆ และไปกระจายสินค้าได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการสร้างจุดกระจายสินค้าให้ประชาชนสามารถเข้าถึง โดยกรมการค้าภายในอาจจะต้องคิดอะไรใหม่ ๆ ไม่ใช่เพียงว่าปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นล้นตลาดและก็เทกระจาด แล้วคุณเข้าไปรับซื้อ

แต่มันยังมีวิธีการหรือช่องทางอื่น ๆ เพิ่มการกระจายสินค้า การเจรจากับสถานีบริการน้ำมันนำสินค้าไปกระจาย หน่วยงานที่ดูแลก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว หากสามารถเจรจาและกระจายสินค้าได้มันก็ก่อให้เกิด ‘ตลาดใหม่’ ขึ้นได้

“ผมอยากให้คิดนอกกรอบ ผมรู้ว่าการคิดนอกกรอบมันเสี่ยงที่จะผิดขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้เราก็จะต้องมีการพิจารณาและคิดให้รอบคอบ แต่ก็มองว่าเป็นการลงทุนในเรื่องของการทำงานเพื่อประเทศชาติ แต่ก็ต้องดูให้รอบคอบ หากเราจะดำเนินการทำได้ ก็อยากให้คิดพิจารณา”

>> สร้างตลาดในรัศมี 4 กม.

สำหรับพื้นที่ 4 กิโลเมตรนั้น ความหมายก็คือ ต้องการให้เศรษฐกิจพื้นฐานรากเกิดการเติบโตได้ทั้งหมด ถ้าหากไม่มีก็จะต้องคิดว่ามีเงินจำนวนมากขนาดนี้แล้วจะจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ ดังนั้น ‘การสร้างตลาด’ จึงเป็นจุดสำคัญที่จะเกิดการกระจายและกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วน ‘โครงการร้านค้าประชารัฐ’ ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา “ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง”

แต่ผมขอดูในรายละเอียด มองว่าหากประชาชนสบายใจที่จะเข้ามาซื้อสินค้าในร้านก็จบ ก็เดินหน้าโครงการต่อไป ผมไม่ได้คิดที่จะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเพื่อกลบ หากสิ่งที่ดีมีอยู่แล้วก็เดินหน้าต่อไปไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม Digital wallet 10,000 บาท ร้านค้าทุกแห่งสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ‘ไม่น่าจะมีปัญหา’ สามารถที่จะเข้าสู่ระบบได้ ปัญหาอยู่ที่การสร้าง ‘บล็อกเชน’ หากประเทศไทยสามารถสร้างบล็อกเชนขึ้นมาก็สามารถกำหนดเงื่อนไขว่า จะดำเนินการอย่างไร จ่ายที่ไหน จ่ายเมื่อไหร่ มันทำได้หมด

โดยเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องดูในรายละเอียด ซึ่งอาจจะมีปัญหาและได้ประโยชน์ แต่หากจะก่อให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องดี และเท่ากับเกิดการสร้างงาน สามารถกระจายรายได้ไปด้วย แต่ก็ต้องดูว่าทุกอย่างจะต้องโตอย่างสมดุล

“ทุกร้านเข้าได้หมด ทุกระดับ ร้านหมูปิ้ง ร้านขายของ แต่ว่าเอาให้ชัด ตอนนี้อยู่ระหว่างของการสร้างบล็อกเชน เพื่อกำหนดกฎกติกาให้สามารถเข้ามาได้ ถ้าเราสามารถนำร้านธงฟ้าเข้ามาอุดช่องว่าง ซึ่งอาจจะไม่มีความจำเป็นในการขยายพื้นที่จาก 4 กม. เป็น 6 กม. แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเป็นจริง ว่าจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน

แต่ได้ชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นโอกาสของผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถเข้าไปสร้างกลไกของตลาดเพื่อรองรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เป้าหมายไม่ใช่ในเรื่องของกำไร แต่คือเรื่องของการกระจายธุรกิจ การพยุงราคา ให้ประชาชนได้รับบริการและเข้าถึงได้มากที่สุด” นายภูมิธรรม กล่าว

>> ลดทันที ข้าว-หมู-ไข่-มาม่า

นายภูมิธรรมกล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะดำเนินการให้ได้อย่างนั้น แต่ก็ต้องรับฟังฝ่ายปฏิบัติด้วย แต่หัวใจหลักของเรื่องนี้คือ “ต้นทุนราคาสินค้า” โดยสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้ประกอบการเข้ามาพูดคุยและหารือ ต้องรับฟังถึงปัญหาของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก (SMEs) ก่อนที่จะนำไปหารือและพิจารณาตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร ที่ผ่านมาก็ได้มีการรับฟังหารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ไปบ้างแล้ว เปิดรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย และยืนยันว่าจุดยืนในเรื่องของราคาสินค้าก็คือการสร้างจุดสมดุลของทุกส่วน

สินค้าเป้าหมายที่จะลดราคาที่มองเห็นและจะลดได้ทันทีก็คงเป็นกลุ่มสินค้าที่อยู่ในชีวิตประจำวันทั้งหมด เช่น ข้าวถุง, ไข่ไก่, หมู, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งสินค้าเหล่านี้จำเป็นจะต้องมาดูในรายละเอียด ส่วนสินค้าอื่น ๆ ก็อาจจะต้องมีการติดตามต่อไป โดยการดำเนินการเฉพาะหน้า เราต้องการจัดการให้สามารถลดราคาสินค้าได้

“แต่จะลดมากหรือลดน้อย ก็ไม่เป็นไร ขอเพียงแค่มีการลดราคา” เพราะรัฐบาลเองได้ดำเนินการให้มีการลดราคาพลังงานลงไปแล้ว ซึ่งเรารู้ว่าราคาพลังงานมีผลกระทบต่อการขนส่ง กระทบต่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยขบวนการต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องมาดูในรายละเอียดเพิ่มเติม

ส่วนจะกระทบต่อ “เงินเฟ้อ” หรือไม่นั้น เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีความระมัดระวัง ทางกระทรวงการคลังเองและหน่วยงานหลายส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการพิจารณาและประสานดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ โดยรัฐบาลชุดนี้ทำงานแบบบูรณาการและวางแผนร่วมกัน และชี้ให้เห็นว่าปัญหาจะเกิดขึ้นตรงไหน ใครที่เกี่ยวข้อง และจะวางแผนให้สอดรับกันอย่างไร

>> สินค้าขึ้นได้แต่ต้องพยุงราคาก่อน

นโยบายของผมก็คือ ‘อะไรที่จำเป็นที่ต้องขึ้นก็ต้องยอมรับความเป็นจริง’ แต่ว่าอาจจะต้องมีช่วงเวลาที่จะ ‘พยุงราคา’ เพื่อให้มีการปรับตัวได้ทันเพราะถือว่าเป็นปัจจัยและต้องสมเหตุสมผล หรือบางอย่างถ้าต้นทุนสินค้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก หรือการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นก็ถือว่าเข้าใจได้

แต่หากต้นทุนบางอย่างที่ลดลงเยอะ แล้วสินค้าไม่ลดเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเวลาผู้ประกอบการมีการปรับขึ้นราคาก็มีการปรับขึ้นทันที แต่หากมีการปรับลดราคาลง ท่านไม่สามารถดำเนินการได้ หากเราสามารถช่วยลดต้นทุนในส่วนของต้นทุนการผลิต ท่านก็อาจจะสามารถดำเนินปรับลดราคาลงได้

“แต่ก็ยังมีปัจจัยในเรื่องของต้นทุนการผลิต หรือเครื่องมืออื่น ๆ เช่น อาจจะต้องรับฟังผู้ประกอบการ แต่ก็พร้อมที่จะรับฟังจากทุกฝ่ายและจะทำให้เต็มที่ แต่วันนี้หากเราเข้าใจถึงนโยบายคนตัวใหญ่จับมือคนกลาง เพื่อจะพยุงคนตัวเล็ก มีความหมายว่า อาจจะได้รับกำไรลดลง แต่ปริมาณการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบที่ท่านจะได้รับ”

ส่วนในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นไตรมาสนี้ เชื่อว่าน่าจะดี โดยเฉพาะในตัวเลขหลาย ๆ ตัว แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ดี แต่ว่าเราก็ปลดล็อกหลายอย่าง เพื่อก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง แม้ digital wallet ยังไม่เกิด แต่การเปิดฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน-คาซัคสถานเข้ามาประเทศไทย เชื่อว่าเป็นการก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ กำลังซื้อภายในประเทศได้ดีและมีการเติบโต

‘ภูมิธรรม’ เดินหน้าลดราคาสินค้า-ดึงร้านธงฟ้ารับดิจิทัลวอลเล็ต หนุน ปชช.ได้สินค้าราคาถูก-ลดค่าครองชีพ คาด ต.ค.นี้ ชัดเจน

‘ภูมิธรรม’ ย้ำลดราคาสินค้าได้เห็นแน่ หลังทำการวิเคราะห์ต้นทุนรายตัว เริ่มเห็นสัญญาณดี แม้จะลดไม่ได้ทั้งหมด แต่มีแน่ คาดต้น ต.ค.นี้ ชัดเจน ส่วนการเปิดจุดจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด จะเดินหน้าต่อไป เพื่อดูแลพี่น้องประชาชน ให้สามารถซื้อสินค้าราคาประหยัด และลดภาระค่าครองชีพ เผยจะดึงร้านธงฟ้า เข้าร่วมใช้จ่ายในโครงการดิจิทัล วอลเล็ตด้วย

(24 ก.ย. 66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมชมการจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด ที่วัดบำเพ็ญเหนือ/วัดบางเพ็งใต้ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังติดตามการลดราคาสินค้า หลังจากที่ต้นทุนการขนส่งได้ปรับลดลง จากการปรับลดราคาน้ำมันดีเซล โดยได้ทำการคำนวณต้นทุนสินค้าแต่ละรายการแล้ว แม้จะลดไม่ได้หมด แต่จะพยายามเอาส่วนต่างๆ มาลดให้ได้ โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชน ตัวไหนลดได้ จะลดทันที ตัวไหนที่ลดไม่ได้ จะพยายามตรึงราคาไว้ และมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน และถ้าหากมีปัจจัยเงื่อนไขอื่นที่สามารถลดราคาได้อีก ก็จะพยายามให้ปรับลดลง โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2566 นี้

ส่วนการเปิดจุดจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัดนี้ เป็นโครงการที่กระทรวงพาณิชย์ทำคู่ขนานไป จากที่จะดูแลประชาชนในวงกว้าง ก็ทำการเปิดจุดจำหน่ายเจาะลึกไปยังแหล่งชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 100 จุด โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ นำสินค้าราคาประหยัดถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 50-60% มาจำหน่ายให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่คนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็ก โดยสินค้าที่นำมาลดราคา เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช หมูเนื้อแดง ไก่ นม อาหารต่างๆ ซองปรุงรส อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น และยังมีผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งตอนนี้เป็นมังคุด และลองกอง

สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปดูแล เพื่อให้มีจุดจำหน่ายสินค้าให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ได้ โดยร้านธงฟ้า จะผลักดันให้เข้าในโครงการเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยที่กังวงเรื่องการเก็บภาษี มองว่าอย่าไปกังวล เพราะไม่ใช่เป้าหมายของรัฐบาล เป้าหมายของรัฐบาลคือ จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ได้ประโยชน์ คือทุกคนทั่วหน้าทุกฝ่าย ทั้งพี่น้องประชาชน ซึ่งถ้าเศรษฐกิจดีก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้น การจับจ่ายใช้สอยก็จะดีขึ้น การจ้างงานต่างๆ จะเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง ก็จะได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย หวังว่า 6 เดือนที่ใช้เงินจำนวนนี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมให้มันดีขึ้น ประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและการสร้างงาน

ส่วนกรณีนายทุนใหญ่มาฮุบตลาด ทำให้ผู้ค้ารายย่อยได้รับผลกระทบ จากการขายหมูถูกจากนายทุนใหญ่ และนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า จะมีการพูดคุยกับกระทรวงพาณิชย์ ในเรื่องของการกำหนดราคาให้มีเสถียรภาพมากขึ้น

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ตอนนี้เท่าที่ดูราคาหมูก็ได้มาตรฐานตามกลไกตลาดอยู่แล้ว ทางกระทรวงพาณิชย์เฝ้าดูอย่างใกล้ชิด ในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือกระทบกับผู้ประกอบการรายเล็ก ถ้ากระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นต้นทางที่อยู่กับผู้ผลิตเสนอมาตนก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร ยินดีร่วมมือและช่วยเหลือ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เองก็ได้มีการพูดคุยกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ถือเป็นต้นทุนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งตนจะพยายามลดราคาปุ๋ย และพยายามจะเพิ่มราคามันสำปะหลังและข้าวโพด ถ้าสิ่งเหล่านี้มีการประสานงานกันสิ่งที่คาดหวังก็อาจจะเกิดขึ้นได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top