Wednesday, 21 May 2025
Digitalwallet

‘ศิริกัญญา’ ชี้!! ออก ‘พ.ร.บ.กู้’ สุ่มเสี่ยงมาก แนะทำแท้งร่าง กม.เงินกู้ เชื่อ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ถึงทางตัน ฟันธง!! สุดท้ายจะไม่มีใครได้เงิน

(10 พ.ย. 66) ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ว่า ขณะนี้ความชัดเจนเริ่มปรากฎแล้ว แต่เป็นความชัดเจนที่ไม่มีเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งนายกฯเลือกเส้นทางที่ยากที่สุด คือการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้าน เพื่อระดมทุนมาแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แม้วันนี้หลักเกณฑ์จะมีการพูดถึงคนที่รายได้ต่ำกว่า 7 หมื่นบาท แต่ท้ายที่สุดอาจไม่มีใครได้เงินจากโครงการนี้เลย เพราะเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงิน การคลัง มาตรา 53 ที่มีการระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ จะทำได้กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น แต่วันนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร เราไม่ได้อยากกดดันให้มีการร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราคิดว่านี่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริงที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้เด็ดขาด ว่ารัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ได้หรือไม่ โดยไม่ต้องไปถึงมือขององค์กรอิสระที่ไม่เป็นวิถีทางประชาธิปไตยสักเท่าไหร่

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ที่ต้องออกมาพูด เพราะการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มีความสุ่มเสี่ยงจริงๆ เหมือนกับกรณี พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท อย่างชัดเจน ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ ตนตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐบาลเลือกทางนี้ เพราะไม่ต้องการให้โครงการนี้สำเร็จ แต่ต้องการให้เข้าทางนักร้องต่างๆ เพื่อหาทางลงให้สวยงามของโครงการที่มาถึงทางตันโดยสมบูรณ์แล้ว ตนไม่ได้เห็นด้วยกับการร้องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ แต่ขอให้รัฐบาลได้แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองโดยการให้กฤษฎีกาตีความ

“รัฐบาลเองน่าจะเห็นแล้วว่าไม่มีทางที่จะไปได้จริงๆ ทางเลือกนี้เป็นการหาทางลงมากกว่าที่จะเดินหน้าโครงการนี้จริงๆ ถ้ากฤษฎีกาตีความเข้าข้างให้ผ่าน และ สส.ในสภาฯ ก็ให้ผ่าน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือภาระหนี้ในแต่ละปีงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของงบรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณอย่างใหญ่หลวง สิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้จะทำภาระดอกเบี้ยเกิน 10% ในงบประมาณปี 68 ทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้พูดถึงทั้งเรื่องภาระหนี้ และภาระดอกเบี้ย ความเสี่ยงนี้จะไม่เกิดขึ้นหาก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ถูกทำแท้งตั้งแต่ต้นโดยกฤษฎีกา” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

เมื่อถามว่า แบบนี้เหมือนเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอดหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ถ้าจะพูดแบบนั้นน่าจะได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาจากการที่ไม่ได้คิดนโยบายอย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่ก่อนหาเสียง เมื่อถึงทางตันจึงต้องหาทางลงแบบนี้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า เงื่อนไขต่างๆ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนลอยมาจากฟ้าโดยสิ้นเชิง หากตัดตามสัดส่วนผู้มีรายได้ 20% บนสุดต้องอยู่ประมาณ 6 หมื่นบาท แต่วันนี้เราไม่รู้ว่าตัวเลข 7 หมื่นบาท มาจากไหน จะตัดคน 4 ล้านกว่าคนได้จริงหรือไม่ ตนคิดว่ารัฐบาลต้องการตัวเลขกลมๆ ที่ 50 ล้านคน จึงไม่มีหลักเกณฑ์อะไรมากนัก

‘เศรษฐา’ โต้เดือด!! ‘ศิริกัญญา-หยุ่น’ ปมดิจิทัลวอลเล็ต ซัด!! อย่าเอาความคิดตัวเองมาสร้างความสับสนให้ ปชช.

(11 พ.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความใน X หรือ ‘ทวิตเตอร์’ ตอบโต้นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

นายเศรษฐา ระบุว่า “อย่าเอามาตรฐานความคิดของตัวเองมาหวังว่าคนอื่นเขาจะเป็นเหมือนกัน อย่ามองความตั้งใจที่บริสุทธิ์ และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน มาเป็นมุมการเมืองที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนเลยครับ”

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ยังได้ตอบโต้นายสุทธิชัย หยุ่น ที่โพสต์ระบุว่า “นายกฯ ย้ำคำว่า ‘e-government’ หลายครั้ง คงต้องนิยามให้ชัด ๆ อย่าให้งงเหมือน soft power” โดยนายกฯ กล่าวว่า “ผมว่าทุกคนเค้าเข้าใจดีครับ ยกเว้นสื่อบางสื่ออาจจะพยายามบิดเบือนหรือสร้างความเข้าใจ เพื่อให้คุณเข้าใจผิด”

รู้จัก ‘e-Refund’ โครงการรองรับผู้ไม่เข้าข่ายรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ภาคต่อ ‘ช้อปดีมีคืน’ กระตุ้นการจับจ่าย-ลดหย่อนภาษี-มุ่งสู่ e-Government

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ได้ข้อสรุปแล้ว หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แถลงผลการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งมีมติเห็นชอบรายละเอียดและเงื่อนไขของโครงการเรียบร้อย

โดยปรับหลักเกณฑ์ของผู้ได้รับสิทธิเป็นประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป และมีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท คิดเป็นจำนวนประชากรผู้ได้รับจำนวน 50,000,000 คน ตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นั่นหมายความว่า ‘คนรวย’ หรือผู้มีรายได้สูง 4.8 ล้านคน จะไม่สามารถเข้าร่วมในโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ได้

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ไม่ได้นั้น นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า รัฐบาลจะออกโครงการ ‘e-Refund’ ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อสินค้าและบริการแทน

สำหรับโครงการ ‘e-Refund’ มีเงื่อนไข รายละเอียดสรุปได้ดังนี้
- ผู้เข้าร่วมโครงการต้องไม่ได้เข้าร่วมโครงการรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท
- ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และเฉพาะที่ออกใบกำกับภาษีในรูปแบบ electronics เท่านั้น
- โครงการ e-Refund เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป

“ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ได้ รัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้นำใบกำกับภาษี มาประกอบการยื่นภาษีบุคคลธรรมดา และรัฐฯ จะคืนเงินภาษีให้ท่าน เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้รับสิทธิ Digital Wallet ก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นด้วย” นายกฯ ระบุ

นายเศรษฐา กล่าวว่า โครงการ e-Refund นั้น ประชาชนจะได้รับภาษีคืนจากการจับจ่ายสินค้าและบริการ รวมมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท จากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และเฉพาะที่ออกใบกำกับภาษีในรูปแบบ electronics เท่านั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่จูงใจให้ร้านค้าเข้าสู่ระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้น มุ่งไปสู่การเป็น ‘e-Government’ ในอนาคต ซึ่งโครงการ e-Refund จะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป

‘เพื่อไทย’ ชี้!! ผลงาน ‘ครม.นิด1’ 60 วัน แก้ปัญหาสำเร็จหลายมิติ ปลื้มผลโพล ปชช.พอใจ พร้อมเดินเครื่องฟูลแพ็กเกจดิจิทัลวอลเล็ต

(11 พ.ย. 66) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการแถลงผลงานในรอบ 60 วัน ตามด้วยการแถลงฟูลแพ็กเกจนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ว่า เป็นการแถลงสรุปผลงานสำคัญในสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการในช่วง 60 วันแรกที่ครบถ้วน ลุยแก้ปัญหาในหลายมิติ แก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชน สอดคล้องกับผลการสำรวจความเห็นของประชาชนจากนิด้าโพล ที่ระบุชัดว่า ประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจในผลงานของรัฐบาลเศรษฐา

ส่วนฝ่ายค้านจะเห็นต่าง จะให้ผ่านหรือปรับตกอย่างไรก็ถือเป็นสิทธิ ในช่วง 60 วันแรกรัฐบาลได้ออกหลายมาตรการในลักษณะ ‘Quick wins’ ที่หวังผลระยะสั้น ทำทันที และจะเป็นฐานสนับสนุนในภารกิจที่เป็นเป้าหมายหลักในอนาคตของรัฐบาลด้วยการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ครม.เศรษฐา เข้ามา 2 เดือน หลายเรื่องที่เคยประกาศไว้ได้ทำจนประสบผลสำเร็จ ทั้งลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมัน นโยบายฟรีวีซ่ากระตุ้นการท่องเที่ยว ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ดันมาตรการเร่งด่วนด้านต่างประเทศ แก้ปัญหายาเสพติด แก้หนี้นอกระบบ

รวมถึงนโยบายเรือธงอย่างดิจิทัลวอลเล็ต ของพรรค พท.ก็มีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
สิ่งที่รัฐบาลเศรษฐาได้ดำเนินการ ไม่เพียงพูดแล้วทำตามนโยบายที่ได้หาเสียง หรือแถลงนโยบายไว้ แต่หลายเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ รัฐบาลก็พร้อมดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

วิเคราะห์!! วิบากกรรม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ชี้ชะตา ‘เศรษฐา’ บอกอนาคต ‘อุ๊งอิ๊ง’

ในที่สุดก็แจ่มแจ้งแดงแจ๋ไปแล้วว่า… โฉมหน้าค่าตานโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลเศรษฐา เป็นอย่างไร

ต้องยอมรับว่าทุกค่ายทุกสำนักพูดออกมาเป็นเสียงเดียวแทบจะพร้อมๆ กันว่า… ไม่ตรงปก!!

ครับ!! ‘เล็ก เลียบด่วน’ พูดด้วยใจนิ่งๆ เป็นกลางอย่างที่สุดว่า… ไม่ตรงปกจริงๆ… คำว่า ‘ไม่ตรงปก’ ในความหมายก็คือ ไม่ตรงกับที่ตัวเอง (พรรคเพื่อไทย) พูดตอนหาเสียงและยื่นเอกสารให้กับ กกต.

ไม่ตรงทั้งวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ ไม่ตรงทั้งรูปแบบและเนื้อหาว่างั้นเถอะ… หนำซ้ำที่บอกกับ กกต. ว่าจะใช้เงินจากระบบงบประมาณและรายได้ภาษีปกติ… 

แต่ที่สุดของเศรษฐา คือ ‘กู้’ ออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท พร้อมคำยืนยันว่าจะผ่อนใช้ทัน 4 ปีช่วงรัฐบาลนี้

เหนื่อยครับ… อยากเอาใจช่วย แต่อ่านและฟังที่ท่านนายกฯ แถลงเมื่อวันที่ 10 พ.ย.แล้วเหนื่อยแทน… เหนื่อยแทนพรรคเพื่อไทย เหนื่อยแทนประเทศไทย… 

‘เล็ก เลียบด่วน’ ไม่ขอลงรายละเอียดหน้าตาของโครงการ แต่จะแลไปข้างหน้าว่า นโยบายที่ไม่ตรงปกนี้จะต้องฝ่าหลุมขวาก เป็นวิบากกรรมอย่างไรบ้าง… 

ประการแรก - ต้องลุ้นกันระทึกว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะฝ่าข้าม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ไปได้หรือไม่… ไม่จำเพาะมาตรา 53 ที่พูดถึงกันเท่านั้น แต่มาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 3-4 มาตรา ก็เป็นกับดัก… ซึ่งก็ต้องให้กรรมการกฤษฎีกายืนยันออกมาดังๆ อีกทีว่า ‘โน พรอมแพลม’ ถึงจะยอมๆ กันไปได้บ้าง…

ประการที่สอง - โดยส่วนลึก เชื่อ ‘เล็ก เลียบด่วน’ เถอะว่า พรรคภูมิใจไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ได้แฮปปี้กับนโยบาย 5 แสนล้านบาทนี้ ยิ่งต้องมาร่วมยกมือผ่านกฎหมายด้วยแล้ว… งานนี้อย่าคิดว่าจะผ่านไปได้ง่ายๆ แม้ทั้งสองพรรคยังอยากจะเป็นรัฐบาลต่อไปก็เหอะ… 

ประการที่สาม - ต่อให้กฎหมายกู้เงินผ่านสองสภาฯ ไปแล้ว แต่เชื่อว่า ในที่สุดจะมีคนไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ… ดีไม่ดีอาจล้มคว่ำซ้ำรอย พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ล้านล้าน สมัยรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์’ ก็ได้ ทำเป็นเล่นไป… 

เอาแค่สามประการดังว่ามาก็พอ… พื้นที่ที่เหลือ ‘เล็ก เลียบด่วน’ ใคร่ขมวดปมสถานการณ์เหตุบ้านการเมืองที่เกี่ยวเนื่องมาเล่าสู่กันฟังว่า… 

ทว่า ณ นาทีนี้ สถานการณ์ของตัวนายกฯ เศรษฐาที่มั่นคงแบบป้อแป้ แต่ก็ยังโชคดีที่ใครต่อใคร รวมทั้งนายห้างชั้น 14… ยังเห็นใจในความมุ่งมั่น ขยันทำงาน

สายข่าวในพรรคเพื่อไทยกระซิบให้ ‘เล็ก เลียบด่วน’ ฟังว่า… หลายวันก่อนโน้น นายห้างชั้น 14 ได้ส่งสัญญาณตรงๆ ถึง นายกฯ สูงยาวถุงเท้าแดงว่า ต้องปรับตัวให้เข้ากับ สส.ให้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะ สส.เหนือกับอีสาน ซึ่งขณะนี้ นายเศรษฐาได้ไหว้วานให้ ‘มาดามนครพนม’ อย่าง ‘มนพร เจริญศรี’ รมช.คมนาคม เป็นตัวช่วยประสานเรียบร้อยแล้ว… 

และช่วงปลายเดือน พ.ย. ต่อต้นเดือน ธ.ค. ‘วาระงาน’ ของนายกฯ ถุงเท้าแดงก็จะขึ้นเหนือ ไปอีสานแบบรัวๆ กันเลยทีเดียว!!

สำหรับ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ที่พักหลังออกงานบ่อย และปรากฏตัวที่ทำเนียบรัฐบาลถี่ขึ้น… ย่อมเป็นธรรมดาที่จะถูกจับจ้องมองว่า เห็นท่าจะหนีไม่พ้นปีหน้า 2567 จะย่างสามขุมขึ้นเป็นนายกฯ แน่นอนนั้น… 

ยังต้องยืนยันฟันธง ว่า นายห้างชั้น 14 ต้องการให้ลูกสาวเป็นนายกฯ แน่นอน แต่ไม่ได้ขีดเส้นว่าต้องเป็นภายในปีหน้า… 

ครึ่งเทอมหลัง หรือสมัยหน้าก็รอได้… ให้ ‘อุ๊งอิ๊ง’ บำเพ็ญบารมีไปก่อน เว้นแต่ว่า… เศรษฐาเดินสะดุดบันไดทำเนียบ เดินต่อไปไม่ได้จริงๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง… 

เป็นนายกฯ ไม่ยากเท่ากับอยู่ให้ได้ ไปให้เป็น… ให้ประชาชนยอมรับ… 

ถ้าไม่ดื้อด้านหน้ามืดตามัว… แค่ ดิจิทัลวอลเล็ต เรื่องเดียวก็คงทำให้ ‘อุ๊งอิ๊ง’ ในฐานะหัวหน้าพรรคคนใหม่ คงได้คิดและนำไปถอดรหัสเป็นกรณีศึกษาได้ไม่น้อยทีเดียว

'สรรเพชญ' ชี้!! รัฐบาลควรยึดโยง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังรัฐ แนะ!! นโยบาย Digital Wallet ถ้าทำต้องถูกต้องตามกฎหมาย

(10 ม.ค.67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา ได้ให้ความเห็น กรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาส่ง ความเห็นกรณี การออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อจัดทำนโยบาย Digital Wallet กลับมายังกระทรวงการคลัง ว่าตามที่ตนได้รับทราบข่าวกฤษฎีกาไม่ได้ฟันธงว่ารัฐบาลสามารถจัดทำนโยบาย Digital Wallet ได้หรือไม่ แต่กฤษฎีกาทำหน้าที่ส่งความเห็นในเชิงกฎหมายเพียงเท่านั้น โดยตนเห็นว่ากฤษฎีกากำลังบอกรัฐบาลว่าหากจะจัดทำนโยบาย Digital Wallet ต้องพิจารณาภายใต้กฎหมายใดเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ตนเห็นว่านโยบายรัฐบาล คือฉันทามติของสังคมที่ไม่สามารถหักล้างได้ ขณะเดียวกัน หากสุดท้ายมันผิดกฎหมายจริงๆ รัฐบาลจำเป็นรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและการเมืองเป็นอย่างน้อย เพราะมันคือนโยบายหาเสียงที่จำเป็นตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ก่อนจะประกาศหาเสียงเลือกตั้ง

กรณีตัวนโยบาย Digital Wallet 10,000 บาท เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศโดยนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ภายใต้ความฮือฮาก็มีข้อกังขาถึงความเป็นไปได้ของนโยบาย มาจนถึงวันนี้ ความชัดเจนของนโยบายก็ยังไม่คืบหน้า เพราะรัฐบาลไม่มีเงินที่จะมาทำนโยบาย อีกทั้งรัฐบาลเองก็มีความสับสนในช่วงแรกว่าจะกู้หรือไม่กู้ จะใช้เงินผ่าน Platform หรือ Application ซึ่งรัฐบาลเองก็ยังไม่มีความ โดยนโยบาย Digital wallet ที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นไว้กับ กกต. ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เรื่องของการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องให้จ่ายเงิน พบว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล วงเงิน 560,000 ล้านบาท ซึ่งที่น่าสังเกตคือที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการโดยจะมาจาก 4 แหล่ง คือ...

1) รายได้ที่รัฐจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 260,000 ล้านบาท
2) ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 100,000 ล้านบาท
3) การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท
4) การบริหารงบประมาณที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท

ซึ่งไม่มีเรื่องของการกู้ จึงหมายความว่า นโยบายนี้จะสามารถดำเนินการได้โดยใช้เงินที่มีอยู่แล้วโดยไม่ต้องสร้างภาระให้กับประเทศเพิ่ม

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าการทำนโยบาย Digital Wallet หากรัฐบาลจะดึงดันให้สามารถดำเนินการภายในปี 2567 เท่ากับรัฐบาลนายเศรษฐาจะต้องกู้เงินถึง 1.1 ล้านล้านบาท เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งในรายละเอียดไม่ปรากฎนโยบาย Digital Wallet และร่าง พ.ร.บ. งบ 67 มีการกู้เงินเพื่อชดใช้เงินคงคลังกว่า 600,000 แสนล้านบาท และหากจะดำเนินการ นโยบาย Digital Wallet รัฐบาลจะต้องกู้อีก 560,000 ล้านบาท รวมแล้วรัฐบาลนายเศรษฐา จะสร้างหนี้กว่า 1.1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ การกู้เงินของรัฐบาลจะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ที่ระบุไว้ว่า “คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

อีกทั้งหากพิจารณาเรื่องของหนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือน พฤศจิกายน 2566 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท ซึ่งหากต้องกู้เพื่อทำนโยบาย Digital Wallet ตนไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว การกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวมันมีอยู่หลากหลายแนวทาง หลายแนวทางมันนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ การฝึกทักษะใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ 

นายสรรเพชญ กล่าวในตอนท้ายว่า “ความท้าทายของรัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทย คือมาตรฐานนโยบายการเมืองกับความถูกต้องทางกฎหมาย และจำเป็นต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของนโยบายที่ให้ไว้เป็นสัญญาประชาคมว่า Digital Wallet จะเป็นนโยบายที่ไม่ต้องกู้เงิน ซึ่งรัฐบาลจะต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง”

‘นิด้าโพล’ เผย!! คนไทยส่วนใหญ่ไม่โกรธนายกฯ หากต้องยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

(28 ม.ค. 67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘วิกฤติเศรษฐกิจ กับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-24 มกราคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 63.51 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน, รองลงมา ร้อยละ 20.15 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ ต้องหาทางแก้ไขแต่ไม่เร่งด่วน, ร้อยละ 10.08 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ไม่น่าวิตกกังวลใดๆ, ร้อยละ 5.65 ระบุว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับการเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจของประชาชนในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.72 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน, รองลงมา ร้อยละ 31.91 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่สามารถรับมือได้ด้วยตนเอง, ร้อยละ 20.45 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ไม่เร่งด่วน และร้อยละ 10.92 ระบุว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจใดๆ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า

- ร้อยละ 34.66 ระบุว่า ควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว
- ร้อยละ 18.55 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อไปในปีนี้ แต่แจกเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ
- ร้อยละ 5.88 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2568
- ร้อยละ 4.58 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2568 แต่แจกเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ
- ร้อยละ 2.67 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนหากนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ตัดสินใจยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า

- ร้อยละ 68.85 ระบุว่า ไม่โกรธเลย
- ร้อยละ 12.37 ระบุว่า ค่อนข้างโกรธ
- ร้อยละ 9.39 ระบุว่า โกรธมาก
- ร้อยละ 8.85 ระบุว่า ไม่ค่อยโกรธ
- ร้อยละ 0.54 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำรวจผลโพล ‘วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต’ ประเด็นนโยบายรัฐ ‘แลนด์บริดจ์’ ฉลุย!! คนอยากให้เดินหน้า ส่วน ‘แจกเงินดิจิทัล’ อยากให้ระงับ

(3 ก.พ. 67) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดตัวโครงการ ‘Leadership Poll’ ภายในงานมีการแถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นลีดเดอร์ชิพโพล ครั้งที่ 1/2567 โดย รองศาสตราจารย์ ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ รองคณบดีฝ่ายวิชาการวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ในฐานะหัวหน้าลีดเดอร์ชิพโพลล์ นำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ 

สำหรับ Leadership Poll หรือ โพลผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง จัดทำโดยวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ธุรกิจและการเมือง ต่อนโยบายภาครัฐที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการในปัจจุบัน 

โดยมีการเก็บข้อมูลทั้งสิ้น 543 ตัวอย่างในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 จากกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ธุรกิจและการเมือง โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ...

1.) ผู้นำภาคธุรกิจ : ตัวแทนนักธุรกิจที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
2.) ภาคประชาสังคม : ตัวแทนภาคประชาสังคม NGO และมูลนิธิต่างๆ ในประเทศไทย
3.) ภาคการเมือง : นักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี นายกและรองนายก อบจ. นายกและรองนายก อบต. ในทุกภูมิภาคของประเทศ
4.) ภาคการศึกษา : นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี รองคณบดี ในมหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน

สำหรับสาระสำคัญในการสอบถามความคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาล ประกอบไปด้วยประเด็นดังต่อไปนี้...

1.) ความคิดเห็นต่อนโยบาย ‘เงินหมื่นดิจิทัล’ ของรัฐบาล ผลการสำรวจพบว่า...
- 62.20 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
- 21.30 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
- 13.00 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
- 3.50 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น)
(ไม่แน่ใจ)
(ไม่ค่อยสนใจ)

2.) ความคิดเห็นต่อโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ ของรัฐบาล ผลสำรวจพบว่า...

- 36.70 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
- 29.60 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
- 28.00 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
- 5.70 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ไม่ทราบรายละเอียด)
(ต้องการข้อมูลที่ศึกษา)
(ไม่แน่ใจ)

3.) ความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของรัฐบาล ผลสำรวจพบว่า...
- 41.10 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
- 37.30 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการจัดสรรงบประมาณอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
- 14.50 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
-1.40 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ไม่ทราบรายละเอียด)
(เห็นด้วยเป็นบางอย่าง)
(ยังเข้าใจไม่ชัดเจน)

4.) ความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลสำรวจพบว่า...
- 52.40 % เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา
- 28.8 % เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
- 14.5% ไม่เห็นด้วย
- 4.3% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112)
(แก้ไขบางมาตราที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนจริงๆ)
(นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้และพิจารณาปรับปรุงหลักการในบางมาตรา)

5.) ความคิดเห็นต่อความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผบ.สำรวจพบว่า...
- 51.20 % ยังคงขาดความมุ่งมั่นในการดำเนินการ
- 34.90 % มีความมุ่งมั่นแต่ยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
- 9.40 % มีความมุ่งมั่น
- 4.50 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น)
(ไม่ทราบแน่ชัด)
(ไม่แน่ใจ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งยังน้อยเกินกว่าที่จะประเมิน)

>> สำหรับข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่ได้จากการสำรวจ...
1.) เท่าที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร อย่างน้อยนโยบายที่ใช้หาเสียงก็ควรมีการดำเนินการตามที่เคยพูดไว้ยังมองไม่ออกว่าอะไรที่ทำไปแล้ว และอะไรที่ยังไม่ได้ทำก็ควรชี้แจง

2.) รัฐบาลต้องเคารพกฎหมาย เป็นตัวอย่างของการรักษาความยุติธรรม ไม่ให้อภิสิทธิ์ใครให้อยู่เหนือกฎหมาย

3.) การพัฒนาประเทศควรใช้สิ่งที่ไทยได้เปรียบเป็นสารตั้งต้นสำคัญ นโยบายสาธารณะที่ดีบางครั้งเกิดจากนวัตกรรมทางกระบวนการ แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการก็อาจมีผลดีอย่างมีนัยสำคัญ ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล
 
4.) รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหา ในเรื่องของยาเสพติด ควบคู่กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเร่งด่วน

5.) รัฐบาลควรลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการทุจริต การศึกษาและการทำงานของข้าราชการที่ล่าช้าและไม่สอดคล้องกับสภาวะการปัจจุบัน

6.) รัฐบาลยังคงกังวลเรื่องคะแนนเสียงมากกว่าการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและจริงใจ

7.) โครงการแลนด์บริดจ์ ที่ดูไม่ได้รับความสนใจ เพราะต้องขนของจากเรือที่ฝั่งอ่าวไทย ขนขึ้นรถไฟ แล้วขนลงเรืออีกครั้งที่ฝั่งอันดามัน ไม่สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติจริง ควรเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่น ที่ไม่ต้องขนของขึ้นๆลงๆ จากเรือ คือให้เรือทั้งลำแล่นผ่านไปได้เลย

8.) ควรให้ความสนใจปัญหาโครงสร้างทางสังคมและการศึกษาในระดับแรกๆ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อนาคตของประเทศไทยดูแล้วมีแต่ถอยหลังเพราะเยาวชนของชาติไม่มีคุณภาพ คนไทยไม่ชอบใช้เหตุผล ใช้อารมณ์และความชอบส่วนตัวในการตัดสินใจปัญหา สนใจไสยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์

9.) เข้าใจว่าผู้นำหลายท่านกังวลกับวิกฤติเศรษฐกิจ แต่วิกฤติความขัดแย้งที่เป็นผลเรื้อรังมานับสิบปีก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งหากไม่มีแผนการดำเนินงานดังกล่าว ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะตกอยู่ในภาวะ Burnout และเลือกที่จะชะลอการสร้างผลผลิต (Productivity) หรือเลือกที่จะไม่พัฒนาศักยภาพ (Capacity) ซึ่งจะเกิดปัญหาเรื้อรังต่อไปในอนาคต โดยอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศของการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ หรือสร้างความภูมิใจร่วมที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้

10.) เรื่องการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ประเทศเกิดภาวะที่จะเรียกว่าวิกฤตหรือไม่ อย่างไร ถ้าจะแจก ควรกำหนดกลุ่มผู้เดือดร้อนให้ชัดเจน และเมื่อเป็นเงินกู้ เหตุใดจึงต้องจ่ายเป็นเงินดิจิทัล ทำไมไม่จ่ายเป็นเงินบาท ใครเป็นผู้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการแลกเปลี่ยน และมีค่าใช้จ่ายในการแปลงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร

‘นายกฯ’ เผย!! ยังรอข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. ปมดิจิทัลวอลเล็ต ลั่น!! ประชาชนคอยไม่ได้ สัปดาห์หน้าจะสอบถามว่าต้องการอะไร

(3 ก.พ. 67) ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการแจกเงินประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า จะมีการพูดคุยกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องยอมรับว่าจะต้องรอคำเสนอแนะจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งก็รอมานานแล้ว ตนคิดว่าต้องมีวิธีการอื่นรองรับ เพราะคำเสนอแนะยังไม่มาสักที พี่น้องประชาชนเขาคอยไม่ได้

เมื่อถามว่าทาง ป.ป.ช.รอการดำเนินการความชัดเจนจากรัฐบาล และรัฐบาลก็รอข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. จะทำให้ไทม์ไลน์ขยับไปมากหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนไม่ค่อยแน่ใจว่า ป.ป.ช. รอรัฐบาลเรื่องอะไร จึงต้องขอสอบถามก่อนดีกว่า อย่าให้พูดไปโดยไม่มีข้อมูล ขอเป็นต้นสัปดาห์หน้า

สรุป 8 ข้อท้วงติงจาก ป.ป.ช. ส่อ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' เสี่ยง 'ทุจริต-ผิดกฎหมาย'

‘นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต’ ถือเป็นนโยบายเรือธงของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ ด้วยการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยการใช้จ่ายใกล้บ้านด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัล นอกจากนี้ยังเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน และเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว

แต่ดูเหมือนว่าจะติดขัดในเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งทางด้าน ป.ป.ช. ก็ได้ออกมาท้วงติง และชี้ให้เห็นช่องโหว่หลาย ๆ ด้าน วันนี้ THE STATES TIMES ได้รวบรวม 8 ข้อท้วงติงมาให้แล้ว จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top