Wednesday, 21 May 2025
Digitalwallet

'ศิริกัญญา' เฉลย!! เงินดิจิทัลกู้จากแบงก์ออมสิน ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ แต่เบียดบังงบพัฒนาชาติ

(25 ก.ย.66) นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียล โดยระบุว่า “ปริศนาทุกอย่างกระจ่างแล้ว ที่มาของงบ Digital Wallet จะมาจากการกู้แบงก์รัฐ (ออมสิน) โดยการขยายกรอบวินัยการเงินการคลังขึ้นไปเป็น 45% ของงบปี 67 จากเดิม 32% ไม่ได้มาจากงบประมาณตามที่ได้หาเสียง

ข้อดี : หนี้แบงก์รัฐจะไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย

ข้อเสีย :1) แต่เป็นหนี้ยังไงก็ต้องจ่ายคืน ทุกวันนี้ต้องจ่ายคืนปีละเกือบแสนล้านบาทให้กับ ธ.ก.ส. และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ อยู่แล้ว ถ้าจ่ายคืนออมสินปีละ 5 หมื่น ก็เป็นภาระไปอีก 10 ปี รวมแล้วงบประมาณต้องใช้คืนหนี้ทั้งหมดก็จะพุ่งไปราว 5 แสนล้าน เบียดบังงบประมาณที่ต้องใช้พัฒนาประเทศอื่นๆ

2) ใช้งบประมาณสูงมากโดยไม่ต้องผ่านสภา ใช้แค่มติ ครม. ก็สามารถกู้เงินได้ทันที ไม่ต้องมีการตรวจสอบใดๆ การกู้ผ่าน ม.28 ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทั้งจำนวน หน่วยงานเจ้าหนี้ และภาระการคืนเงินต้นและดอกเบี้ย

3) กระทบกรอบวินัยการเงินการคลัง ที่ต้องการจำกัดการใช้เงินนอกงบ และนโยบายกึ่งการคลังให้น้อยลง

4) สภาพคล่องของออมสินอาจมีปัญหา ทั้งจากการระดมทุนเวลานี้ และหากรัฐไม่ใช้คืนตามสัญญา (ธ.ก.ส.เจอมาตลอด) จะบริหารเงินสดได้ยากลำบาก

อยากถามนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการการเงินการคลังของรัฐว่าท่านรู้ตัวไหมว่ากำลังทำอะไร”

‘นายกฯ’ ยัน!! ไม่ยกเลิกแจกเงินดิจิทัล คาด ปลาย ต.ค.นี้ ชัดเจน เผย ลงพื้นที่มีแต่ชาวบ้านทวงถามเงินหมื่น ย้ำพร้อมรับฟังทุกฝ่าย

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กรณีประชาชนหลายพื้นที่เรียกร้องโครงการเงินดิจิทัลว่า มีประชาชนหลายพื้นที่แสดงเจตจำนงว่าอยากได้มาก ตนดีใจเพราะตลอด 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีนักวิชาการหลายท่านไม่เห็นด้วย เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการ ตนยืนยันตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกฯ รัฐบาลและคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำทั้งหลายจากทุกหน่วยงาน รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) ด้วย เราน้อมรับไปพิจารณา เพื่อปรับปรุงแต่งเติมให้ทุกอย่างดูดีขึ้น แต่ไม่มีการยกเลิก ยืนยันว่าโครงการเงินดิจิทัล ไม่ใช่โครงการหาเสียง ไม่ใช่โครงการที่มาโปรยเงินให้ประชาชนเลือกตั้งให้เรากลับมาใหม่ แต่เป็นโครงการที่เราตระหนักดีถึงความจำเป็นและความต้องการของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

“คนต่างจังหวัดไม่ได้มีเงินเยอะเหมือนคนที่อยู่บนฐานบนของสังคม ความเหลื่อมล้ำมีเยอะมากในสังคมไทย เขาไม่มีเงิน งบประมาณของโครงการนี้ประมาณ 5 แสนกว่าล้านบาท ไม่ใช่งบประมาณที่ทำทุกปี ขอทำความเข้าใจว่าทำแค่ครั้งเดียว ไม่ใช่ตั้งใจเอามาเพื่อซื้อเสียง เราทำออกมาเพื่อให้โดนใจประชาชนและมีเงินทุนในการประกอบอาชีพอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี”

“นักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ผมน้อมรับ แต่ท่านก็เป็นแค่หนึ่งเสียง พี่น้องประชาชนมีอีกหลายสิบล้านเสียงที่ต้องการเงินดิจิทัล เราน้อมรับฟังและนำไปปรับปรุงเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เสียภาษี ฝ่ายประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างมากที่หมักหมมมานาน ผมขอให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลนี้จะไม่ลุด้วยอำนาจ และจะฟังความคิดเห็น แต่เหนือสิ่งอื่นใดความลำบากของประชาชน การที่ประชาชนขาดเงินทุนที่จะไปดำรงชีพเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญที่สุด ยืนยันจะไม่มียกเลิกเงินดิจิทัล” นายเศรษฐา กล่าว

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีโอกาสได้พูดคุยกับนักวิชาการที่เห็นต่างเพื่อให้ไม่ให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดี นายเศรษฐากล่าวว่า ยืนยันตนคุยตลอด สัปดาห์ที่ผ่านมาก็คุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และทีมงานก็คุยกับนักวิชาการหลายท่าน ได้ไปพูดคุยและรับฟังตลอด

เมื่อถามว่า การที่ยังมีเสียงคัดค้านเป็นไปได้หรือไม่เพราะยังไม่เห็นรายละเอียด นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นไปได้ และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาจยังไม่เข้าใจ ดังนั้น ขอให้ตกผลึกทั้งหมดก่อนในแง่นโยบายว่ารายละเอียดมีอะไรบ้าง เช่น บางคนบอกว่าระยะทาง 4 ตารางกิโลเมตรอาจไม่พอ เพราะบางพื้นที่มองไปมีแต่ทุ่ง ไม่มีร้านค้าจะทำอย่างไร รัฐบาลรับฟังเดี๋ยวจะไปพิจารณาใหม่ คาดว่าน่าจะปลายเดือนตุลาคมน่าจะออกมาได้ทุกอย่าง ขอให้อดทนนิดหนึ่ง

‘กิตติรัตน์’ แจง 2 ข้อสงสัย ปม ‘เงินดิจิทัล’ ยัน!! ไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ เผย เหตุที่ไม่ให้เป็นเงินสด เพราะป้องกันการใช้เงินซื้อ ‘สิ่งไม่ดี-สิ่งผิด’

(8 ต.ค. 66) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กกรณีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล ระบุว่า…

ตอบ 2 คำถาม 1.) เงินดิจิทัล จะสร้างเงินเฟ้อไหม?
- ไม่มีใครสั่งให้ธนาคารกลาง พิมพ์เงินใหม่มาใส่ระบบ แต่ ‘เงินดิจิทัล’ ทุกบาท จะมาจากรายได้ของรัฐบาลเอง

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ‘อุปสงค์’ (Demand) ที่เพิ่มจากโครงการ ย่อมเพิ่มปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่จะไม่เป็นเหตุให้ ‘ราคาเฟ้อ’ เพราะอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่เพียงประมาณ 60%

อุปทาน (Supply) ย่อมเพิ่มได้โดยราคาไม่ขยับ และเมื่อผลิตเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าที่ผลิตถูกลงอีก ถ้าไม่ลดราคา รัฐบาลขอเก็บภาษีจากกำไรที่สูงขึ้น

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า 2.) ทำไมไม่ให้เป็น ‘เงินสด’ มีอะไรแอบแฝงรึเปล่า?
- ‘เงินสด’ ใช้ซื้อ ‘สิ่งดี’ ได้ และใช้ซื้อ ‘สิ่งไม่ดี/สิ่งผิด’ ก็ได้ ‘เงินดิจิทัล’ ที่มีค่าเท่ากัน บาทต่อบาท ใช้ซื้อ ‘สิ่งไม่ดี/สิ่งผิด’ ไม่ได้ ใช้ไม่หมดตามกำหนด แสดงว่าไม่จำเป็นนัก ก็ยกเลิกการให้ได้

‘สมศักดิ์’ ลั่น!! ‘เพื่อไทย’ พร้อมรับผิดชอบนโยบายเงินดิจิทัล เหน็บ นักวิชาการชอบวิจารณ์ฟรี แต่พอผลลัพธ์ดีกลับเงียบ

(10 ต.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ร่วมลงชื่อให้ทบทวนนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า เป็นเรื่องของการคิดและวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งสามารถทำได้ แต่ในเรื่องที่เราจะดำเนินนโยบายอะไรสักเรื่องเป็นการรับผิดชอบในนโยบายของพรรคการเมืองที่มีต่อประชาชน เราต้องคิดมาดีแล้วถึงดำเนินการ โดยหากทำแล้วออกมาดีก็ไม่มีอะไร ส่วนคนวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ขาดทุนหรือเข้าเนื้ออะไร ทุกเรื่องมีสองมุม จะดีหรือไม่ดี อย่าเพิ่งคิดว่ามันมีผลอย่างไร แต่ให้รอดูว่าเมื่อรัฐบาลดำเนินการออกมาแล้ว หากผลออกมาไม่ดีคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะมีผลต่อพรรคการเมืองที่นำเสนอ เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยรับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก ทำอะไรต้องรับผิดชอบในด้านนั้น 

“คนวิพากษ์วิจารณ์ก็พูดฟรีๆ ถึงจะผิดก็ไม่มีใครว่า ผมเห็นควรว่าต้องเดินหน้านโยบายนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ประกาศต่อสาธารณะแล้ว” นายสมศักดิ์ กล่าว

‘มือเศรษฐกิจจุลภาค’ ซาวเสียง!! คนส่วนใหญ่หวัง Digital Wallet แต่แอบห่วงที่มาเงิน ยกคำแนะ ‘ดร.กิตติ’ แจกบางส่วน หากกระตุ้น GDP ได้ +5% มุมหนี้สาธารณะจะลดลง

(23 ต.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Ta Plus Sirikulpisut’ เกี่ยวกับกรณีข้อดี-ข้อเสียของ ‘Digital Wallet’ ในปัจจุบันที่ได้ฟังจากเสียงประชาชนมากขึ้น ว่า...

วันนี้ขอแสดงความเห็นเรื่องเงิน Digital Wallet อีกครั้งครับ

หลายวันนี้ลงพื้นที่พบปะประชาชน ได้รับฟังความต้องการว่าอยากได้เงินแจก 10,000 บาท จริงครับ บางครอบครัวมีสมาชิก 4-6 คน จะได้รับแจกถึง 40,000-60,000 บาท นับเป็นเงินมากสำหรับคนตัวเล็กๆ หลายคนคิดว่าจะนำไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปั๊มน้ำ บางคนจะซ่อมหลังคา และหากเป็นกลุ่มเกษตรกรรวมตัวกัน เขาอยากได้เครื่องอบ เพราะช่วยไล่ความชื้น เวลาเอาของไปขายราคาจะดีขึ้น บางที่อยากรวมกันทำโรงสีขนาดเล็ก ไม่มีใครทราบเงื่อนไขว่าจะซื้ออะไรได้บ้าง แต่หากเราได้สามารถช่วยให้เขาซื้อ Durable goods หรือ อุปกรณ์เพิ่มการผลิต/คุณภาพจะยอดเยี่ยมไปเลยครับ

ข้อห่วงใย ผมเองก็ห่วงใย และได้คุยกะผู้ใหญ่หลายท่านก็ห่วงใยโดยเฉพาะด้านการคลังที่หากแหล่งที่มาของเงินดังกล่าวจะมาจากเงินกู้ ซึ่งเราติดตามได้ครับ อย่างน้อยรัฐบาลลุงตู่เองก็เก็บภาษีมาได้เกินเป้า รายสองแสนล้าน เกือบครึ่งทางของงบเงิน Digital ครับ หากแจกบางส่วนก่อนแล้วเอาภาษีที่หมุนได้มาแจกต่อ อย่างที่ท่าน ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ว่าไว้ก็ลดความเสี่ยงได้มาก และหากกระตุ้น GDP ได้ +5% หนี้สาธารณะก็ลดลงครับ

มีนักวิชาการบอกว่างานวิจัยจากที่ญี่ปุ่นบ้าง ไต้หวันบ้างบอกไม่ประสบความสำเร็จ โดยญี่ปุ่นได้ตัวทวีคูณน้อย และซื้อสินค้าได้เล็กน้อยครับ

ผมต้องเรียนว่าเทียบกันไม่ได้ ไทยเรามีคนมีรายได้น้อยกว่า การแจกแบบนี้จะได้ผลลัพธ์สูงกว่า แถมของเราหลายอย่างถูกกว่าจะซื้อของเพิ่ม Productivity ได้ดีกว่าครับ 

บางคนบอกว่าเราใช้ Government กระตุ้นมากไป ผมก็เรียนว่า การที่รัฐเก็บภาษีจากประชาชนมานี่ มาจากหลายทางครั้งส่วนหนึ่งมาจากเราบริโภคแล้วเสีย Vat นี่แหละครับ เป้าหมายการเก็บภาษี ก็เพื่อไปสร้างถนน จ่ายค่าเรียนฟรี รักษาฟรี และลงทุน ฯลฯ 

แต่อีกเป้าหมายคือการลดความเหลื่อมล้ำครับ คนรวยกำไรมากก็เสียภาษี เราก็เอามาให้คนด้อยกว่าใช้ การที่อยู่ๆ เราบอกประชาชนว่าที่ผ่านมารัฐเก็บภาษีแล้วไปตัดสินใจแทนประชาชนว่าจะเอาเงินไปทำอะไร คราวนี้รัฐยกเงินภาษีของท่านให้ท่านตัดสินใจแทน เป็นการกระจายอำนาจทางการคลัง ที่ผ่านมาก็เคยทำมาก่อน 

นโยบายดังกล่าวมีข้อดี และข้อเสียเราต้องรอบคอบครับเพื่อประเทศที่เรารัก และลูกหลานของเรา

ต๊ะ พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์
บทความวิชาการ ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัดข้าพเจ้า

‘จุลพันธ์’ ยัน!! ไม่ได้ลอกดิจิทัลวอลเล็ตจาก ‘ญี่ปุ่น’ ชี้ บริบทต่างกัน เผย กำลังเร่งพิจารณา ถ้าไม่ทันขยับเวลาแจก ย้ำ สัปดาห์นี้ชัดเจนแน่

(23 ต.ค. 66) ที่ลานพระบรมราชวัง ราชานุสรณ์ พระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดเผยข้อมูลว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต มีต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่นว่า ต้นแบบไม่ใช่แต่มีกระบวนการที่เขาเคยดำเนินการลักษณะคล้ายคลึงกันในปี 1999 ซึ่งเป็นเรื่องของการแจกคูปอง ซึ่งตนเห็นแล้วและได้ไลน์ไปขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก น.ส.ศิริกัญญา เป็นของประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน และเราก็ได้นำมาศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อที่จะได้นำข้อดีและข้อเสียของสิ่งที่ประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันเคยใช้ เรานำมาศึกษาก็ไม่ได้มีอะไรเสียหาย

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า ส่วนการเปรียบเทียบนั้น ตนคิดว่าทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่าบริบทมีความแตกต่างในปี 1999 และในปัจจุบัน ขณะเดียวกันประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นก็มีความแตกต่างกัน จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้

เมื่อถามถึง กรณีเลื่อนประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ประชาชนสงสัยว่าได้รับเงินจากนโยบายนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า เป้าหมายยังคงอยู่ที่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 แต่หากมีการประชุมคณะอนุกรรมการในสัปดาห์นี้ จะมีความชัดเจนมากขึ้น ขอให้อดใจรอนิดหนึ่ง

เมื่อถามย้ำว่า จะยังคงเป็นในกรอบเวลาเดิมหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า “จะพยายามครับ จะพยายาม”

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการระบุว่า หากไม่ทันจริงๆ จะมีการรายงานนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอปรับกรอบเวลาของโครงการ เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง จะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องมั่นใจว่าเมื่อเปิดใช้บริการจะต้องมีความปลอดภัย ข้อมูลของประชาชนมีการรักษาความปลอดภัย ทั้งเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่สามารถละเลยได้ หากมีอะไรที่ยังเป็นข้อติดขัด เราต้องค่อยๆ หาทางสอบถามและแก้ไข ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการสั่งการหรือกำชับอะไรเป็นพิเศษ และยังตอบไม่ได้ว่าการประชุมคณะอนุกรรมการจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

เมื่อถามว่า หากจำเป็นต้องเลื่อนจริงๆ จะเลื่อนไปเป็นช่วงใด นายจุลพันธ์กล่าวว่า ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่จะมีความชัดเจนในสัปดาห์นี้

เมื่อถามว่า ปัจจัยอะไรที่จะทำให้มีไม่ทันกรอบเวลา นายจุลพันธ์กล่าวว่า เยอะแต่ยังไม่มีความชัดเจนและไม่ได้หมายความว่าเราจะเลื่อน เรายังยึดมั่นในกรอบเดิมตามที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ แต่อย่างไรก็ตามเราก็จะมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน

เมื่อถามว่า แหล่งที่มาของเงิน หรือแอพพลิเคชั่น ถือเป็นปัจจัยหลักที่อาจจะต้องทำให้เลื่อนการแจกเงินใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า แหล่งที่มาของเงินเป็นปัจจัยหลักแน่นอน ทุกอย่างถือเป็นปัจจัยหลักไม่มีปัจจัยสำรอง ทุกเรื่องมีความสำคัญเท่ากันหมด เราต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมมีการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เรามีความระมัดระวังมากขึ้นเป็นเท่าตัวเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องเงินกู้กับธนาคารออมสิน

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมารัฐบาลยืนยันตลอดว่าที่มาของเงินดำเนินโครงการไม่มีปัญหาแต่ตอนนี้กลับไม่มีความชัดเจนติดปัญหาในส่วนใด นายจุลพันธ์กล่าวว่า เนื่องจากต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย เมื่อคณะอนุกรรมการมีการประชุมและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาข้อมูลและรวบรวมรายงานส่งมายังคณะอนุกรรมการ ขณะนี้จึงต้องรอรายงานเพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นตามกฎหมายไม่สามารถลัดวงจรได้ ไม่สามารถดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยที่ยังไม่มีมติจากคณะกรรมการได้

‘ศิริกัญญา’ มอง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่น’ อาจถึงทางตัน เหตุกู้ออมสินไม่ได้ ชี้!! ขัดต่อ พ.ร.บ.ก่อตั้งธนาคาร

(23 ต.ค. 66) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมกันอย่างต่อเนื่อง ที่ทิศทางของโครงการอาจจะไปสู่ทางตัน ว่า…

[หรือว่า Digital wallet จะถึงทางตัน...?]

ธนาคารออมสินที่ยืนหนึ่งเป็นแหล่งที่มาของงบที่จะใช้สำหรับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ 5.6 แสนล้าน อาจจะใช้ไม่ได้เสียแล้ว

ไม่ใช่แค่ว่าออมสินมีสภาพคล่องไม่พอ แต่เป็นเรื่องข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ออมสินปล่อยกู้ให้รัฐบาลได้

ตามมาตรา 7 ของ พรบ.ออมสิน กำหนดวัตถุประสงค์เอาไว้ว่าให้ทำกิจการใดบ้าง ซึ่งก็เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ รับฝากเงิน ปล่อยกู้ ซื้อขายพันธบัตร ลงทุน ไม่มีข้อไหนที่ให้รัฐบาลกู้เงินได้ แต่หากจะทำกิจการอื่น ต้องตราเป็น พรฎ.

ซึ่งเมื่อไปดูใน พรฎ. กำหนดกิจการพึงเป็นงานธนาคาร ระบุกิจการไว้ 13 ข้อ ลงรายละเอียด ไปจนถึงธุรกิจเงินตราต่างประเทศ การออกบัตรเครดิต ที่ปรึกษาการเงิน แต่ก็ไม่มีข้อไหนเลยที่เข้าข่ายจะตีความว่านำเงินให้รัฐบาลกู้ยืมได้ ถ้าไม่เชื่อลองถามกฤษฎีกาดูก็ได้ค่ะ

ความหวังที่จะใช้เงินออมสินมาเป็นแหล่งเงินของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็คงต้องจบลงแค่นี้ ยกเว้นแต่ว่าจะมีการแก้กฎหมาย ซึ่งไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียว แต่ก็ไม่ควรทำ

สมัยประยุทธ์ทำรัฐประหารใหม่ๆ ก็เคยออกคำสั่ง คสช. แก้ พรบ.กสทช. ว่าด้วยวัตถุประสงค์ กองทุนวิจัยและพัฒนา ของ กสทช. ให้เพิ่มว่ากองทุนสามารถให้กระทรวงการคลังกู้ยืมเงินได้ ซึ่งต่อมากระทรวงการคลังก็มากู้ไปจริงๆ 14,300 ล้านบาท (ที่ตลกก็คือ มีการออกคำสั่ง คสช.อีกฉบับเพื่อแก้ พรบ.กลับไปเป็นเหมือนเดิม พร้อมยกหนี้หมื่นล้านนี้ให้กระทรวงการคลังด้วย) 
เราก็ต้องมาวัดใจกันดูว่าจะถึงขั้นแก้กฎหมายเพื่อให้รัฐฯ สามารถกู้เงินออมสินได้หรือไม่

**ถ้าไม่แก้กฎหมาย เหลือทางเลือกอะไรอยู่บ้าง**

เหลือแค่ใช้เงินงบประมาณ กับออก พรก.กู้เงิน เหมือนช่วงโควิด

Update ข้อมูลงบ 67 ที่ปรับปรุงใหม่ ตามภาพที่ 2 ถึงจะขยายงบเป็น 3.48 ล้านล้าน แต่ก็ต้องจ่ายหนี้เพิ่ม ลงทุนเพิ่มตามไปด้วย เมื่อหักรายจ่ายที่ยังไงก็ต้องจ่าย ทั้งเงินเดือนสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ งบใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เงินชดใช้เงินคงคลัง งบท้องถิ่น และสวัสดิการตามกฎหมาย

งบที่เหลือมาจัดสรรใหม่ได้จริงเพิ่มมาเป็น 476,000 ล้าน ก็จริง แต่ขอย้ำว่านี่คือรายจ่ายประจำที่ต้องแชร์กับพรรคร่วมรัฐบาล 20 กระทรวง ถ้าใช้หมดนี่ก็หมายความว่า แต่ละกระทรวงได้เงินแค่พอจ่ายเงินเดือน กับงบลงทุนโครงการอื่นๆ ไม่ต้องทำกันแล้ว จะตั้งกองทุน Soft Power ก็ไม่ได้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพิ่มงบไม่ได้ งบอุดหนุนบรรเทาภัยแล้งก็ไม่ได้ งบอุดหนุนดับไฟป่าแก้ PM 2.5 ก็ไม่ได้ โครงการฝึกอบรม Upskill-reskill อะไรก็ทำไม่ได้ทั้งหมด ไม่ต้องพูดถึงค่าตอบแทน อสม. กำนันผู้ใหญ่บ้าน ก็หายหมดเช่นเดียวกัน ซึ่งเท่ากับว่าทางเลือกนี้ก็คงเป็นไปไม่ได้เหมือนเดิม

หรือ... จะให้ผู้ประกอบการเก็บเหรียญดิจิทัลไว้ ยังไม่ให้แลกคืน รออีกซักปี 2 ปี ให้มีงบประมาณพอ ก็อาจเป็นอีกทางเลือก แต่ก็เสี่ยงที่จะทำให้ไม่มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ

ทางเลือกสุดท้าย คือออกเป็น พรก.เงินกู้แบบที่ทำช่วงโควิด ก็จะถือเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองชัดๆ ซึ่งก็ทำไม่ได้อีกเพราะไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนตาม รธน.

น่าคิดนะคะ ว่าอาจจะถึงทางตันจริงๆ

‘กิตติ์ธัญญา’ ชี้ ดิสเครดิต ‘เงินดิจิทัล’ เป็นเรื่องปกติ เหน็บคนไม่เห็นด้วย คงหวั่น ปชช.จะชื่นชอบ ‘พท.’ มากขึ้น

(23 ต.ค. 66) น.ส.กิตติ์ธัญญา วาจาดี สส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีเสียงท้วงติงและบางส่วนอาจมีการด้อยค่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ในฐานะพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของนโยบายว่าเป็นการดิสเครดิตหรือไม่ ว่า เป็นธรรมดาของการเมืองที่จะมีการดิสเครดิตกัน แต่อยากให้คนที่คอยดิสเครดิตนโยบายต่างๆ ฟังเสียงประชาชนด้วย ทั้งนี้ จากที่ตนได้ลงพื้นที่ไม่มีใครไม่อยากได้ มีแต่คนบอกว่าอยากได้ให้เร็วที่สุด ซึ่งเงินจำนวน 10,000 บาท หากรวมคนในครอบครัว บางครอบครัวก็อาจจะสามารถตั้งตัวได้ และเราไม่ทราบเลยว่าส่งผลเสียตรงไหน

น.ส.กิตติ์ธัญญากล่าวต่อว่า คนที่มาด้อยค่าเงินดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ถามว่าเขามีเงินเดือนหลักแสน หลักห้าหมื่น หกหมื่นต่อเดือน เขาเคยลำบากหรือไม่ว่าวันนี้หางานหาเงิน กินพรุ่งนี้ คำที่บอกว่าหาเช้ากินค่ำ วันนี้ใช้ไม่ได้แล้วเพราะหาเช้าวันนี้กินเช้าวันพรุ่งนี้ ทุกวันนี้ชาวบ้านโดยเฉพาะคนที่มีหนี้นอกระบบ เขาหาเงินตัวเป็นเกลียว หากมีเงิน 10,000 บาทมาซัพพอร์ตเขาบ้าง แม้จะไม่ใช่เงินที่ยิ่งใหญ่ที่อาจจะไม่ได้ทำให้เขารวยเป็นมหาเศรษฐี แต่มันสามารถทำให้เขายืดระยะเวลาในการอดมื้อกินมื้อได้

“เหตุผลหลักที่เขาต่อต้านเป็นเพราะเขากังวลว่าจะเป็นนโยบายที่ประชาชนชอบ แล้วจะดึงความสนใจของประชาชนกลับมาที่นายกรัฐมนตรีและพรรคการเมือง แต่คนที่จำเป็นต้องใช้ไม่มีใครต่อต้านเลย มีแต่ถามว่าแค่นี้หรือ ขยายการซื้อได้หรือไม่ เรื่องนี้มีประเด็นเดียวคือประเด็นเรื่องการเมือง กลัวว่าเราเป็นพรรคที่ประชาชนชื่นชมอยู่แล้ว ประชาชนจะยิ่งเครซี (crazy) ในนโยบายพรรคเพื่อไทยที่จะทำได้มากยิ่งขึ้น” น.ส.กิตติ์ธัญญากล่าว

เมื่อถามว่า กังวลว่าจะกระทบกับความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อพรรค พท.หรือไม่ น.ส.กิตติ์ธัญญากล่าวว่า คนที่กังวลไม่ใช่เราแต่เป็นชาวบ้านที่เขารอความหวังจะใช้เงินนี้ ชาวบ้านเขาพูดว่าเห็นคนรวยมาบอกไม่ให้แจก แล้วถ้าคนรวยไม่ยอมให้แจก ส.ส.กับนายกรัฐมนตรีจะกลัวคนรวยไม่เลือกหรือไม่ แล้วจะยังมองเห็นคนจนอยู่หรือไม่ คนจนอยากได้ อย่าฟังแต่เสียงคนรวย ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็มองว่าไม่สามารถแบ่งคนรวยกับคนจนได้ เพราะเงินที่นำมาให้ก็เป็นเงินภาษีของทุกคน ย้ำว่าเราไม่กังวลเพราะเป็นนโยบายที่เราจะทำ

“ดิฉันมองว่าแม้แต่พระพุทธเจ้ายังถูกวิพากษ์วิจารณ์ แล้วนับประสาอะไรกับพรรคการเมือง นายกรัฐมนตรี หรือนักการเมืองที่จะไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียดสี แต่ทั้งนี้หากเรามองแค่คนกลุ่มหนึ่ง แล้วไปแคร์แค่กลุ่มเดียว คนอีกล้านๆ คนที่เขาต้องการ เราจะไม่แคร์เขาหรือ คนที่กังวลในการที่ด้อยค่าหรือบูลลี่ในเงินหมื่นบาท ไม่ใช่เรา ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี แต่เป็นประชาชนตาดำๆ ที่เขารอคอยความหวังกับเงินนี้ เราแคร์และเราฟังทุกเสียง ทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่อะไรที่มีข้อเสียน้อยที่สุด และเราจะทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์มากที่สุดให้กับประชาชน” น.ส.กิตติ์ธัญญา กล่าว

เมื่อถามว่า อยากสื่อสารอะไรถึงประชาชนที่ทั้งเห็นด้วยและอาจมีเสียงท้วงติงหรือไม่ น.ส.กิตติ์ธัญญากล่าวว่า ปัจจุบันถามว่าระหว่างสุขภาพดีกับมีเงินจะเลือกอะไร ฉะนั้น พรรค พท.เราทำควบคู่กันไป เรารื้อเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อจะให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้เรายังพยายามลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสให้ประชาชน

‘เศรษฐา’ เคาะ!! 10 พ.ย.นี้ แถลงดิจิทัลวอลเล็ตชัดเจน แย้มใช้ ‘แอปฯ เป๋าตัง’ ร่วม เพิ่มความสะดวกให้ประชาชน

(4 พ.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ระหว่างนั่งรถไฟขบวนพิเศษ 995 จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ไปยังสถานีรถไฟแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ถึงความคืบหน้าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า วันที่ 10 พ.ย.นี้ รู้เรื่องทุกอย่าง อย่างที่ตนเรียนแล้วไม่ได้ไปว่าใครที่ไปพูดอะไรทั้งสิ้น วันนี้การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ วันที่ 10 พ.ย.นี้ จะรู้ที่มาที่ไปทุกอย่าง มีขั้นตอนไทม์ไลน์กฎกติกาที่ชัดเจนและต้องให้เกียรติคณะกรรมการด้วย

ซึ่งตนอยากให้เป็นไปตามขั้นตอน เพราะเดี๋ยวจะเกิดความสับสน อย่างที่บอกเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องสำคัญ อาจจะมีความเห็นต่างบ้าง แต่ทุกคนก็ยอมรับว่าจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ลักษณะหรือขอบเขต หรือปริมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไหร่อย่างไรก็ต้องมาพูดคุยกัน อย่างที่ตนยืนยันตลอดเวลาว่าหากใครมีข้อเสนอแนะก็รับฟังตลอด และการรับฟังก็ไม่ใช่การรับฟังเฉยๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่านโยบายนี้ดูเหมือนจะเป็นการเดิมพันฝีมือก้าวต่อไปของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนคิดว่าให้ประชาชนเป็นคนตัดสินจะดีกว่า ทุกนโยบายสำคัญ และกรณีที่สื่อบางสำนักได้ทำโพลสำรวจมา เห็นว่าเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเป็นสิ่งสำคัญ ดิจิทัลวอลเล็ตก็เป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องหนี้ครัวเรือน ซึ่งตนก็ได้ประชุมไปแล้วในเรื่องของหนี้ครัวเรือน เรียกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาหารือ และตนก็เป็นรมว.คลังด้วย เพราะเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ รวมไปถึง 30 บาทรักษาทุกโรค มีหลายเรื่องสำคัญ และเห็นว่าทุกเรื่องเป็นเดิมพันหมด แม้แต่เรื่องการบริหารจัดการน้ำก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกษตรกร 30-40 ล้านคน รอเรื่องนี้อยู่ ภาคอุตสาหกรรมและเรื่องอีอีซีก็เป็นเดิมพันด้วย ไม่มีเรื่องอะไรที่ตนจะด้อยค่า ซึ่งต้องทำเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง

วันนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ก็ทำงานหนัก แต่เวลามีไมค์มาจ่อปากท่านก็ต้องตอบ แต่ก็เป็นเรื่องที่เราอยู่ระหว่างการทำงาน ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง พูดวันนี้อย่างแต่ก็อาจจะมีการเปลี่ยน แต่มาหาว่าท่านพูดกลับไปกลับมามันไม่ใช่ เพราะมันอยู่ระหว่างการคุย เวลาไปคุยกับแบงก์ชาติเขามีข้อเสนอกลับมา ก็กลับมาบอก เมื่อสื่อเอาไมค์จ่อปากเขาก็พูดว่ารับฟังแบงก์ชาติรับฟังสภาพัฒน์ฯ ก็มาบอกว่าพูดจาไม่รู้เรื่อง

นายเศรษฐากล่าวว่า เมื่อมีคำเตือนมาตนก็รับฟัง สื่ออาวุโสหลายท่านก็เตือนมา ผู้ว่าฯแบงก์ชาติก็บอกไม่ได้ติดอะไรแต่ให้ระวังในเรื่องนี้ ให้เขียนภาพระยะยาว เวลาที่ออกมาแล้วจะกระทบกับเศรษฐกิจในเชิงบวกอย่างไร รวมถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้นเวลาที่จะแถลงก็ต้องแถลงให้ครบทั้งหมด เมื่อเวลามีคำถามอะไรตนจะได้ตอบได้ แต่ก็เห็นใจนายจุลพันธ์ ทำงานหนักมาก ในฐานะที่ดูแลเรื่องนี้และไปคุยกับทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันก็ยังมีกฤษฎีกาด้วย เยอะแยะเต็มไปหมด รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย ที่เราได้หาเสียงและพูดอะไรไป ก็ต้องไปปรึกษาเมื่อมีข้อคิดเห็นมาเราก็ต้องฟัง

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีมาจากนักธุรกิจประชาชนก็คาดหวังสูงในเรื่องเศรษฐกิจปากท้องจะดีขึ้น นายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจแบบนั้นหรือไม่ว่าภายในกี่เดือนประชาชนจะยิ้มอย่างมีความสุข นายเศรษฐากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ความตั้งใจของตนอยากให้ยิ้มทุกวัน อยากให้ยิ้มเร็วๆ ตนกระตือรือร้น มีความอยากจะทำ แต่ไม่ได้หมายว่าจะทำไม่ได้ นิสัยของตนไม่ใช่คนแบบนั้น ตนก็อยากทำให้ได้ ทุกคนก็รู้ดีมันไม่ได้อยู่ที่ตนคนเดียว ซึ่งก็มีปัญหาต่างๆเข้ามาและมีปัจจัยภายนอกรุมเร้าเยอะ

เมื่อถามว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเดินหน้าต้องระวัง ถอยหลังก็ไม่ได้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถ้าพูดอย่างนั้นก็หมายความว่าตนมีความคิดที่จะถอยหลัง ตนไม่ได้คิดจะถอยหลังเลย ฉะนั้นจะต้องทำ และต้องทำออกไปให้ดีที่สุด ให้ถูกต้องตามกฎหมายที่สุด ให้คนได้รับผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งสาธารณชนต้องเข้าใจด้วยว่าระบบนี้วิธีการนี้ ไม่มีการคอร์รัปชัน ในเชิงปฏิบัติไม่มีที่ให้ประชาชนต้องสงสัยว่าใครได้อะไร เป็นเรื่องที่ธรรมดา เรื่องทุจริต ประพฤติมิชอบ ตนก็ไม่สบายใจ แต่ไม่ต้องห่วง 

ส่วนแอปพลิเคชันเป๋าตังมีส่วนร่วมแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของการให้ความสะดวกและง่ายให้กับประชาชนใช้นโยบายนี้ได้อย่างสบายใจ

ส่วนการกำหนดพื้นที่การใช้ หรือการระบุให้ถอนใช้เป็นเงินสด แล้วไปใช้ที่จังหวัดอื่น ตนบอกว่าไม่ได้ อย่างที่ จ.เชียงใหม่หรือ กทม. เมืองเหล่านี้มันเขียวอยู่แล้ว ตนอยากให้ไปใช้ในเมืองที่มีจีดีพีรายได้ต่อหัวต่ำ อยากให้หญ้าพื้นที่ตรงนั้นเขียว ก็จะทำให้ชุมชนและเศรษฐกิจพื้นที่เหล่านั้นเฟื่องฟูลืมตาอ้าปากได้ ส่วนที่มีการบอกว่าให้ไปซื้อของออนไลน์ได้นั่น ตนตอบไม่ได้หมดตรงนี้

นายเศรษฐา กล่าวว่า “มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำเรื่องใหญ่ๆ พวกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้มีความรู้ต่างๆมากมายที่ให้คำแนะนำ ซึ่งรัฐบาลเองก็ต้องรับฟังทุกส่วนและเป็นคนตัดสินว่าตรงไหนมีความเหมาะสมมากที่สุด ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะไม่ทำ ไม่รับฟังหรือดื้อที่จะทำ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่คณิตศาสตร์เพราะคณิตศาสตร์ 1+1 เป็น 2 ส่วนเศรษฐศาสตร์เขามีมุมมองแต่ละคนอย่าง ที่ตนคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เราคุยกันแบบผู้ใหญ่ เราคุยกันด้วยความเข้าใจที่ตรงกัน ถามว่าเห็นตรงกันทุกเรื่องไหมก็ไม่ใช่ ตนก็ยอมรับ แต่เราคุยกันด้วยดี และมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน สำคัญที่สุดอะไรต้องเดินไปข้างหน้าด้วยกัน วันนี้ประชาชนเดือดร้อนกันมากแล้วอย่างที่บอกไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าจีดีพีเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.8% มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ไขตรงนี้และทำให้และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น”

นายกฯ กล่าวว่า เรามาวันนี้ มาตรงนี้เพื่อที่จะทำ ซึ่งเรื่องความยุติธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตในการบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้ต้องไม่ให้สังคมมีข้อกังขาก็พยายามทำให้ดีที่สุด หลายเรื่องก็ต้องพยายามทำไป วันเสาร์อาทิตย์รัฐมนตรีหลายท่านก็ทำงาน ไม่มีที่จะไม่เห็นความสำคัญเรื่องเหล่านี้

เมื่อถามว่านายกฯ ทำงานไม่เหน็ดไม่เหนื่อยตามที่เคยระบุไว้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า “ไม่มีสิทธิ์เหนื่อย อาสาเข้ามาแล้วก็ต้องทำ ถ้าเหนื่อยก็พักไม่เป็นไร”

‘เศรษฐา’ คิวแน่นเอี้ยด บินปฏิบัติภารกิจทั่วไทย-ครม.สัญจรต่อเนื่อง พร้อมจับตา!! ศุกร์นี้ เตรียมแถลง ‘เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’

(8 พ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภายหลังเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-19 พ.ย.ว่า จากนั้นระหว่างวันที่  23-24 พ.ย.นี้ นายกฯ มีกำหนดการเดินทางไปประชุม ที่ประเทศสิงคโปร์

ต่อมาในวันที่  27 พ.ย. นายกฯ เป็นประธานและร่วมงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ที่ จ.สุโขทัย จากนั้น ช่วงเช้าวันที่ 28 พ.ย. นายกฯ จะเดินทางกลับมาเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนที่ช่วงบ่ายจะบินกลับไปปฏิบัติภารกิจที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 28-29 พ.ย. เพื่อลงพื้นที่ตรวจราชการ และร่วมงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจําปี พ.ศ. 2566 วันสุดท้าย ในวันที่ 28 พ.ย.ด้วย โดยจะพักค้างคืนที่ จ.เชียงใหม่ 2 คืน ก่อนที่วันที่ 30 พ.ย. นายกฯ จะเดินทางโดยรถยนต์จาก จ.เชียงใหม่ ไปยัง จ.อุตรดิตถ์ เพื่อปฏิบัติภารกิจและพักค้าง 1 คืน

จากนั้น เช้าวันที่ 1 ธ.ค. จะเดินทางไปยัง จ.พิษณุโลก เพื่อขึ้นเครื่องบินไปยัง จ.ภูเก็ต นอกจากนี้ นายกฯ ยังมีกำหนดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่ จ.หนองบัวลำภู ระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค.นี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้ ก่อนที่ในวันที่ 6-7 ธ.ค. นายกฯ จะลาราชการ เพื่อเข้าร่วมประชุมสัมมนาพรรคเพื่อไทย ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 10 พ.ย.เวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเป็นประธานแถลงข่าวในพิธีเปิดโครงการ ‘Thailand, Winter Festival’ โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร่วมด้วย จากนั้น เวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top