Saturday, 10 May 2025
Econbiz

‘ดาต้าเซ็ต’ ส่องความเห็นโซเชียล ปม 'แจกเงินหมื่น' พบชาวเน็ตเสียงแตก มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน

(5 ต.ค.67) ภายหลังโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบมาจาก 'ดิจิทัล วอลเล็ต' ได้ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงในสังคมออนไลน์ มีทั้งฝ่ายที่มองว่าเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและยกระดับคุณภาพชีวิต ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าเป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไม่ยั่งยืนพร้อมทั้งกังวลถึงผลกระทบระยะยาว โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างคึกคัก สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจอย่างมากของผู้คนที่มีต่อนโยบายนี้

บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Listening) ในช่วงวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2567 ถึงประเด็นเกี่ยวกับ “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ” พบว่ามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างคึกคักในโลกออนไลน์ โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ทั้งการวิจารณ์ตัวนโยบาย และการแบ่งปันไอเดียการใช้เงินที่ได้รับว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายกับอะไรบ้าง? สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างของประชาชนที่มีต่อมาตรการนี้

ส่องไอเดียโซเชียลใช้ 'เงินหมื่น' ไปกับอะไร ?
จากข้อมูลที่รวบรวมได้ในโซเชียลมีเดีย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่วางแผนจะนำเงินไปใช้จ่ายค่อนข้างหลากหลาย โดยส่วนใหญ่จะนำเงินไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมากที่สุด รองลงมาคือนำเงินที่ได้รับไปชำระหนี้ การต่อยอดลงทุนโดยเฉพาะการซื้ออุปกรณ์ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และอื่น ๆ โดยสามารถแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายได้ดังนี้: 

1. สินค้าอุปโภคบริโภค: 47.8%
- อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ในครัวเรือน ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องปรุง
- สินค้าเพื่อการเกษตร (ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อุปกรณ์การเกษตร พันธุ์พืช สัตว์เลี้ยง)
- เครื่องใช้ไฟฟ้า/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- เสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย

2. ชำระหนี้สิน: 17.4%
- ใช้หนี้ จ่ายหนี้ ชำระหนี้ต่าง ๆ
3. ลงทุน: 9.6%
-   ซื้อทอง เก็บเงิน ลงทุนในอุปกรณ์ทำมาหากิน ซื้อสลากออมสิน
4. เงินสำหรับการรักษาและซ่อมบำรุง: 8.7%
-  ค่ารักษาพยาบาล ยา อุปกรณ์การแพทย์ ทำฟัน
-  วัสดุซ่อมแซมบ้าน
5. อื่น ๆ: 16.5%
-  ชำระค่าสาธารณูปโภค
-  ทำบุญ/บริจาค
-  ใช้จ่ายเพื่อการศึกษา

ชาวโซเชียลคิดเห็นอย่างไร ? กับนโยบายแจกเงินหมื่น

ความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายนี้มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังและข้อกังวลที่มีต่อผลกระทบในระยะยาว โดยสามารถแบ่งความคิดเห็นออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย: 51.8%
• กังวลเรื่องภาระหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง เนื่องจากเป็นการใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพในระยะยาว อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและภาระทางการคลังแก่คนรุ่นต่อไป
• มองว่าการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนที่ไม่ได้เดือดร้อนจริงได้รับเงิน ในขณะที่คนที่เดือดร้อนไม่ได้รับ สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมและความล้มเหลวในการบริหารจัดการข้อมูล
• เห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน และอาจสร้างวัฒนธรรมการพึ่งพารัฐบาลมากเกินไป ทำให้ประชาชนขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองและพึ่งพาตนเอง
• วิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายเงินอย่างไม่เหมาะสมของผู้ได้รับ เช่น เล่นการพนัน ซื้อของฟุ่มเฟือย
• ต้องการให้นำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือการลงทุนระยะยาวแทน เนื่องจากมองว่ามีความยั่งยืนต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า

กลุ่มที่เห็นด้วยกับนโยบาย: 33.2%
• มองว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจริง ๆ เพราะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อยและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้
• เห็นว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและร้านค้าท้องถิ่นได้รับประโยชน์ 
• เชื่อว่าเป็นการคืนภาษีให้ประชาชน และรัฐบาลมีความตั้งใจดีในการช่วยเหลือประชาชน แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในปัญหาและความต้องการของประชาชน
• มองว่าการให้เป็นเงินสดดีกว่า เพราะประชาชนสามารถนำไปใช้ได้ตามความจำเป็น ให้อิสระในการบริหารจัดการเงินตามสถานการณ์ของแต่ละครอบครัว
• สนับสนุนให้มีนโยบายแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่ตรงจุดและเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

กลุ่มที่เป็นกลาง: 15.0%
• เข้าใจความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อน แต่เสนอให้มีการปรับปรุงระบบการคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือถึงมือผู้ที่ต้องการจริง ๆ และลดความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร
• มองว่าควรมีการติดตามและประเมินผลนโยบายอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยพิจารณาทั้งผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวต่อเศรษฐกิจและสังคม
• เสนอให้มีมาตรการควบคุมการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนโยบาย เช่น การกำหนดประเภทสินค้าและบริการที่สามารถใช้จ่ายได้ หรือการให้เป็นเครดิตสำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นเท่านั้น
• แนะนำให้พิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ในการช่วยเหลือประชาชน เช่น การสร้างงาน หรือการพัฒนาทักษะ ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ยั่งยืนกว่าในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
• เห็นว่าควรมีการสื่อสารและให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและครอบครัว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความคิดเห็นต่อนโยบายนี้จะแตกต่างกัน แต่ยังมีประชาชนจำนวนมากที่รอคอยและหวังจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ และประชาชนยังให้ความสนใจเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย การเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินนโยบายอย่างชัดเจน และการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนานโยบายให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ผู้ผลิตเหรียญ $HIPPO เหรียญคริปโตมีมชื่อดัง บริจาค 5 ล้านบาทให้สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ก้าวแรกในการพัฒนาสวนสัตว์ในไทย ย้ำ! ขับเคลื่อนผ่านความรักที่มีต่อ ‘หมูเด้ง’

(6 ต.ค. 67) เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง’ ได้โพสต์ว่า 

ขอขอบคุณ $HIPPO สำหรับการมอบเงิน 5 ล้านบาท
นี่คือจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่น่าตื่นเต้นเพื่อสนับสนุนหมูเด้งและสวนสัตว์ไทย 
@hippo_cto!!

ด้าน @hippo_cto บัญชีอย่างเป็นทางการของผู้ผลิตเหรียญ $HIPPO หนึ่งในเหรียญมีม ได้มีการทวีตใน X ว่า 

เรามีความภูมิใจที่จะประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับองค์กรการกุศล
@KhaokheowZoo และเป็นเจ้าแรกที่ได้รับการรับรองจากบ้านของหมูเด้งเอง! 🦛

ก้าวเล็ก ๆ ของแผนใหญ่ในการมอบความช่วยเหลือด้านการกุศลระยะยาวให้กับสวนสัตว์ทั่วประเทศไทยเพื่อช่วยต่อสู้กับพายุฝนที่โหมกระหน่ำ

ขับเคลื่อนด้วยความรักที่มีต่อเจ้าหญิงหมูเด้งและความเชื่อของชุมชนในการสร้างความแตกต่าง

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น 💙

หนุ่มเจ้าของเพจคริปโตไทยชื่อดัง มอบบิตคอยน์เป็นสินสอดในงานวิวาห์ ส่งคริปโตจากยุค ‘To The Moon’ สู่ยุค ‘To The สินสอด’

(7 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ‘The BIG Secret’ เฟซบุ๊กแฟนเพจที่อัพเดตข่าวสาร และความรู้เกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี่ ได้โพสต์ว่า 

โฟกัสสินสอดที่ Bitcoiner มอบให้กับครอบครัวของคู่ชีวิต
ขอแสดงความยินดีกับน้องเพียวและเจ้าสาวด้วยครับ

พร้อมทั้งมีภาพประกอบงานวิวาห์ที่มีการมอบสินสอดจำนวน 1 BTC 

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า คุณเพียว เจ้าบ่าวนั้นคือเจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘เหมียวกวักทรัพย์ - Cat Money’ อีกหนึ่งเพจที่อัพเดตข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ 

ทั้งนี้บิตคอยน์ 1 BTC มีราคาประมาณ 2 ล้านบาทไทย

‘เอกนัฏ’ ยกทีมกระทรวงอุตฯ บุกภูเก็ต หนุนเงินทุน-เทคโนโลยี SME ย้ำชัดพัฒนาศักยภาพ Soft Power เมืองผ่าน ‘อาคาร-อาหาร-อาภรณ์-อารมณ์’

(7 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เยี่ยมชมสถานประกอบการ SME และชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต 

เพื่อพัฒนาศักยภาพสร้างความเท่าเทียมให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล สอดคล้องกับนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” ในการให้ความสำคัญ “Save อุตสาหกรรมไทย” สู่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค โดย SME มีความสําคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

จากรายงานสถานการณ์ SME ไทย ของสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในปี 2566 พบว่า มีผู้ประกอบการกว่า 3.24 ล้านราย กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และจากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ 

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต (สอจ.ภูเก็ต) จึงได้ส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาค ผ่านกิจกรรมสร้างงาน สร้างอาชีพ และการกระจายรายได้ ให้คำปรึกษาพัฒนาบรรจุภัณฑ์และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ด้านกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ยังได้จัดฝึกอบรมการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดีพร้อม หรือ คพอ.ดีพร้อม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะด้านการบริหารจัดการในทุกมิติผ่านกระบวนการฝึกอบรม ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจ สู่การพัฒนาศักยภาพให้สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ ยังได้เชิญ ธพว. มาร่วมสำรวจพื้นที่ด้วยกันว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมาเพื่อใช้ประกอบกิจการและให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีได้ง่ายมากยิ่งขึ้น 

“ผมและคณะได้เยี่ยมชมย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งในอดีตจะมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ จีน อินเดีย ยุโรป มุสลิม เข้ามาตั้งถิ่นฐาน และได้สร้างบ้านเป็นตึกแถว มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบ"ชิโน-ยูโรเปียน" ทั้งสองสองฝั่งถนน ถือเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมอันเกิดจากการผสมผสานความแตกต่างทางวัฒนธรรมจนเกิดเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด 

โดย สอจ.ภูเก็ต ได้เข้าไปส่งเสริมในด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) การส่งเสริมสู่การแข่งขันเศรษฐกิจวิถีใหม่ อาทิ การทอเศษผ้าปาเต๊ะด้วยกระบวนการประยุกต์การทอเส้นด้าย การปักลูกปัดสีและเลื่อม สกรีน การเพ้นท์สีลายน้ำให้มีมิติผสมผสานศิลปะ สถาปัตยกรรมจีน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังได้ไปเยี่ยมชมร้านคุณแม่จู้ของฝากเมืองภูเก็ต (บริษัท แม่จู้ จำกัด) ร้านค้าภูมิปัญญาไทย (DIS SHOP) รายแรกของภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประกอบกิจการทำขนมอบแห้ง น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกตาแดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารพื้นเมืองหลากหลายชนิดและของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ของภูเก็ต โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ให้การรับรอง Green Industry ระดับที่ 1 “ความมุ่งมั่นสีเขียว” ให้กับบริษัทฯ ในความมุ่งมั่นของนโยบายเป้าหมายและแผนงานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน”

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมในภูเก็ต โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ เราเข้าใจถึงความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการในโครงการสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่เรียกว่า “โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดีพร้อม” หรือ คพอ.(ดีพร้อม) สำหรับภูเก็ตมีการดำเนินงานมาแล้วทั้งหมด 7 รุ่น ซึ่งเป็นการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านการบริหารจัดการ และสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดสากลได้  นอกจากนี้อุตสาหกรรมหลักของภูเก็ตคือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจในพื้นที่ 

รวมถึงการเป็นศูนย์กลางด้าน Soft Power ภูเก็ต คือ อาหาร อาคาร อาภรณ์ อารมณ์ โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรมและอาหาร การเชื่อมโยงพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอาหาร หรือการโปรโมทสินค้าท้องถิ่นและวัฒนธรรมผ่านเวทีนานาชาติสู่การขยายตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจเป็นก้าวสำคัญในการผลักดัน Soft Power ของไทยสู่ตลาดโลก และยังสอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรม เน้นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน สู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภูมิภาคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามกรอบแนวคิด BCG เพื่อให้สถานประกอบการหรือวิสาหกิจนำองค์ความรู้และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการยกระดับผลิตภาพการผลิตและสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีการใช้ทรัพยากรในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ก.พลังงานเผย ปริมาณน้ำมันในสต็อกพอใช้นานกว่า 60 วัน ใช้กองทุนน้ำมันลดความผันผวนราคาน้ำมัน พร้อมหากจำเป็นต้องใช้แผนฉุกเฉิน

(7 ต.ค. 67) กระทรวงพลังงานเผยปริมาณสำรองน้ำมันในสต็อกยังมีเพียงพอใช้นานกว่า 60 วัน ขอคนไทยไม่ต้องกังวล กระทรวงพลังงานจะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมหากจำเป็นต้องใช้แผนบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน เพื่อช่วยลดผลกระทบในทุกมิติหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น 

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้าง โดยเฉพาะสถานการณ์สู้รบระหว่างประเทศอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันจากพื้นที่ตะวันออกกลาง ทางกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น 

โดยขณะนี้ในด้านปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีเพียงพอใช้ในประเทศอย่างแน่นอน ปัจจุบัน มีน้ำมันดิบคงเหลือประมาณ 3,365 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ได้ 26 วัน น้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่ง 2,055 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 16 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 2,414 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 20 วัน รวมจำนวนมีปริมาณน้ำมันคงเหลือและปริมาณสำรองที่สามารถใช้ได้ 62 วัน 

นอกจากนี้ ในด้านราคา กระทรวงพลังงานจะบริหารดูแลราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวนมากนัก โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ซึ่งสถานภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มมีสภาพคล่องมากขึ้น มีการติดลบลดลง จึงขอให้ประชาชนอย่าวิตกต่อสถานการณ์ และสามารถมั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะไม่ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาก็จะรักษาเสถียรภาพไม่ให้ผันผวนมากนัก

“จากข่าวสงครามในตะวันออกกลางที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น และสร้างความกังวลให้นานาประเทศ จนส่งผลให้ราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นราคาน้ำมันดิบ WTI ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 อยู่ที่ 68 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่วันนี้ (7 ตุลาคม 2567) หลังสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 74 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นกว่า 8% ใน 1 สัปดาห์ 

กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งในด้านความมั่นคง กระทรวงพลังงานมีปริมาณน้ำมันสำรองสำหรับใช้ภายในประเทศมากกว่า 60 วัน ส่วนในด้านราคา กระทรวงพลังงานก็จะติดตามและใช้กลไกที่มีเพื่อให้เกิดผลกระทบด้านราคากับประชาชนให้น้อยที่สุด 

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้มีการซ้อมแผนการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้แก่ กรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อวางมาตรการต่างๆ และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตพลังงาน อาทิ การปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า การบริหารจัดหาก๊าซในประเทศให้ได้มากที่สุด  การลดความต้องการใช้ เป็นต้น 

ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล และขอให้ติดตามข่าวสารที่เป็นทางการของทางราชการ กระทรวงพลังงานจะบริหารจัดการอย่างเต็มความสามารถให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด” นายวีรพัฒน์ กล่าว

‘อัครเดช’ ออกลูกอ้อน ครม.-แบงก์ชาติ เร่งหารือสางปัญหาเงินบาทแข็งค่า หลังกระทบอุตสาหกรรมส่งออก หวั่นทำลายขีดความสามารถในการแข่งขัน

‘อัครเดช’ ในฐานะประธานกรรมาธิการการอุตสาหกรรม เสนอรัฐบาล-แบงก์ชาติ เร่งออกมาตรการสางปัญหาเงินบาทแข็งค่า หวั่นหากทิ้งไว้เรื้อรังทำเศรษฐกิจชะลอตัว ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่งออกถดถอยส่งผลกระทบทางลบเศรษฐกิจหลายมิติ

(7 ต.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎรได้แสดงถึงความห่วงใยต่ออุตสาหกรรมส่งออกจากปัจจัยเงินบาทแข็งค่า ว่า 

จากที่ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาทไทยกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 33.33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเคยมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.15 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากที่เคยอ่อนค่าที่สุดในช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่อัตราแลกเปลี่ยน 37.17 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ 

การแข็งค่าของค่าเงินบาทเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากภายในระยะเวลาประมาณ 5 เดือนเท่านั้น และจากอัตราค่าเงินบาทแข็งค่านี้ตนได้รับทราบความเดือดร้อนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออก เนื่องจากด้วยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้การแลกเงินที่ได้รับจากการส่งออกกลับเป็นเงินบาทแลกได้น้อยลง 

ยกตัวอย่าง จากแต่เดิมส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง 1 กระป๋องราคา 100 ดอลลาร์ เมื่อค่าเงินบาทอ่อนที่สุดสามารถแลกเป็นเงินบาทได้ 3,717 บาท แต่เมื่อเงินบาทแข็งค่าที่สุดจะสามารถแลกเป็นเงินบาทได้เพียง 3,215 บาทเท่านั้น 

การที่รายได้ของผู้ประกอบการที่ลดน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบในอุตสาหกรรมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพการแข่งขันที่ลดลงส่งผลการชะลอตัวของการจ้างงานในอุตสาหกรรม, การลดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการตัดลดงบพัฒนาและวิจัย(R&D)ในอุตสาหกรรมลง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในอนาคตลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และจากการที่การส่งออกเป็นหนึ่งใน 4 เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทย การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเช่นนี้ย่อมทำให้เครื่องยนต์ส่งออกอ่อนกำลังลงอย่างชัดเจนส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงโดยเฉพาะการจ้างงานที่ลดลงจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจในประเทศทำให้ประชาชนขาดกำลังซื้อนอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมส่งออกอีกด้วย

ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมจึงขอส่งเสียงไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน ให้พิจารณาทบทวนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่เหมาะสมทั้งต่อเสถียรภาพทางเงินของประเทศ และลดผลเสียที่จะเกิดต่อระบบเศรษฐกิจไทย 

รวมถึงรัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายทางการคลังของประเทศต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อประคับประคองอุตสาหกรรมส่งออก ให้สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลได้ต่อไป และที่ดีที่สุดทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเร่งหารือเพื่อหาทางออกของปัญหาค่าเงินแข็งตัวโดยเร็ว

กองทุนน้ำมันฯ มั่นใจตรึงเสถียรภาพราคาดีเซลตลอดปี 67 ใช้เงินคืนกองทุนกว่า 1 หมื่นล้านต่อเดือน ไม่หวั่นสงครามตะวันออกกลาง

(8 ต.ค. 67) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มั่นใจยังรักษาเสถียรภาพราคาดีเซลได้ตลอดปี 2567 แม้เกิดปัญหาสงครามในตะวันออกกลางจนราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง ระบุปัจจุบันมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ กว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน แม้ภาพรวมยังติดลบ 9.9 หมื่นล้านบาท เผยแนวทางดูแลราคาดีเซลในภาวะสงครามขั้นแรก ต้องลดเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลที่ส่งเข้ากองทุนฯ ก่อน แต่หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นจนราคาน้ำมันดีเซลในตลาดสิงคโปร์เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อาจต้องพิจารณาขยับราคาดีเซลขึ้นบ้างเล็กน้อย

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด (ณ วันที่ 29 ก.ย. 2567) ที่รายงานโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) พบว่าเงินกองทุนฯ ยังคงติดลบรวม -99,087 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -51,643 ล้านบาท และมาจากบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,444 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ก็ได้เตรียมพร้อมกรณีราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นสูงจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน โดยเบื้องต้นวางแผนจะลดการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลที่ส่งเข้ากองทุนฯ ลงจากปัจจุบันเรียกเก็บอยู่ 2.84 บาทต่อลิตร โดยลดได้ต่ำสุดเพียง 2.34 บาทต่อลิตร และผู้ใช้ดีเซลยังคงต้องจ่ายเข้ากองทุนฯ อย่างน้อย 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อให้เหลือเงินไว้สำหรับชำระหนี้เงินต้นสถาบันการเงินในเดือน พ.ย. 2567 นี้

แต่หากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกยังพุ่งสูงต่อเนื่องจนทำให้ราคาดีเซลในตลาดสิงคโปร์เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล กบน. อาจจะต้องพิจารณาทยอยปรับขึ้นราคาดีเซลบ้างเล็กน้อย

ทั้งนี้มั่นใจว่ากองทุนน้ำมันฯ จะดูแลเสถียรภาพราคาดีเซลได้ตลอดจนถึงสิ้นปี 2567 นี้  เนื่องจากปัจจุบันกองทุนฯ ยังมีเงินไหลเข้าวันละ 337 ล้านบาท หรือ 10,447 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนปี 2568 จะต้องรอดูสถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลางอีกครั้ง

โดย กบน. จะเน้นดูแลราคาดีเซลและ LPG เป็นหลัก เนื่องจากมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยปัจจุบัน กบน. ได้เรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ 2.84 บาทต่อลิตร ส่วนผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียมส่งเข้ากองทุนฯ 4.34 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล อยู่ที่ 67.48 ล้านลิตรต่อวัน)

ขณะนี้ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ ดังนี้ เบนซิน ออกเทน 95 ส่งเข้ากองทุนฯ 10.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ส่งเข้า 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 31.65 ล้านลิตรต่อวัน)

ส่วนค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 7 ต.ค. 2567 พบว่าค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 4.04 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.17 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.24 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.21 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 2.89 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 1.31 บาทต่อลิตร และ ดีเซล B20 อยู่ที่ -0.11 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดอยู่ที่ 2.29 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 1.5-2 บาทต่อลิตร)

ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกล่าสุด ณ วันที่ 7 ต.ค. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 76.67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น  3.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 74.22 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.16 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 77.82 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.23 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

‘ซีอีโอ SCG’ ฉายภาพธุรกิจแห่งความยั่งยืน ชี้!! ไทยต้องพัฒนา Circular Economy ไม่ให้แพ้ยุโรป

(8 ต.ค.67) ไทยเป็นประเทศแรกที่รายงานใน COP ว่าอุตสาหกรรมซีเมนต์จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ Net Zero แต่ยังสอบไม่ผ่านในเรื่องของ Circular Economy เพราะยังแพ้ยุโรป ที่สามารถสร้าง Business Model โลว์คาร์บอนได้ โดยรีไซเคิลพลาสติกมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงกว่าพลาสติกธรรมดาทั่วไป 2-3 เท่า

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ได้เข้าร่วมเวทีเสวนา CEO Panel ภายในงาน SX2024 หรือ Sustainability Expo 2024 ซึ่งเป็นมหกรรมความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยในครั้งนี้ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ "วิสัยทัศน์ 2030: พลังความร่วมมือ สู่อนาคตยั่งยืน" เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

'ธรรมศักดิ์' กล่าวว่า ประเทศไทยมีโครงการแฟล็กชิพหลายโครงการที่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตยั่งยืน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ผมมองควรมุ่งไปในสองเรื่อง หนึ่ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยตามเป้าของ Paris Agreement สอง เรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ competitiveness ไทยต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันไปพร้อม ๆ กัน ถึงจะยั่งยืน

"เมื่อเร็ว ๆ นี้ เอสซีจีจัด Symposium เป็นการรายงานผล 1 ปี ของการทำสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ ซึ่งเป้าหมายคือการทำให้เป็นจังหวัดต้นแบบโลว์คาร์บอน หนึ่งปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าอย่างมาก และผมเชื่อว่า ถ้าเราผลักดันสระบุรีเป็น Net Zero ได้ พื้นที่อื่นอย่าง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ กทม. ทำต้องทำได้แน่"

นอกจากนั้น 'ธรรมศักดิ์' พูดถึงการปรับอุตสาหกรรมซีเมนต์ให้เป็นโลว์คาร์บอนซีเมนต์ ที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศไทยใช้ซีเมนต์จำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยควรต้องปรับมาตรฐานการใช้โลว์คาร์บอนซีเมนต์ให้ได้

“ปีที่ผ่านมายอดขายซีเมนต์ของเอสซีจี 70% เป็นซีเมนต์โลว์คาร์บอน และปีนี้ตั้งเป้า 80-100% จะเห็นว่าคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้น เราต้องรวมพลังผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ

การผลักดันครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีการผลิต การบริหารต้นทุนการผลิต ซัพพลายเชน การปรับกฎกติกามาตรฐานการก่อสร้างไปเป็นโลว์คาร์บอน ซึ่งผมมองว่าไทยสอบผ่าน ซึ่งเราเป็นประเทศแรกที่รายงานใน COP ว่าอุตสาหกรรมซีเมนต์จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ Net Zero แต่ไทยยังสอบไม่ผ่านในเรื่องของ Circular Economy เรายังแพ้ยุโรป ที่เขาสามารถสร้าง Business Model โลว์คาร์บอนได้ และมีการเติบโตสูง โดยการรีไซเคิลพลาสติกมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงกว่าพลาสติกธรรมดาทั่วไป 2-3 เท่า เป็นธุรกิจที่กำลังโต

เอสซีจีได้จัดทำการระดมสมองรับฟังความคิดเห็นกว่า 3,500 คน ในเรื่อง Circular Economy พบว่า หลายคนเห็นตรงกันว่าไทยยังขาดเรื่องแผนแม่บทด้านการรีไซเคิล และยังขาดจิตสำนึกในระดับบุคคลเรื่องการแยกขยะ

ไทยควรผลักดันเรื่องเศรษฐกิจรีไซเคิลอย่างจริงจัง เพราะเรื่องนี้จะสร้างการเติบโตให้กับประเทศไทย รวมทั้งบริษัทต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก

ส่วนเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เราต้องเปรียบเทียบกับจีน เพราะจีนทำเรื่องโซลาร์เยอะมาก ถ้าเราทำเรื่องนี้ได้เพิ่มขึ้น ก็จะสร้างศักยภาพการแข่งขันได้แน่นอน

เวทีเสวนา CEO Panel นี้ ยังมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำอีก 3 องค์กรขึ้นเวทีร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ในการนำแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมาปรับใช้ในภาคธุรกิจ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนอย่างแท้จริง ได้แก่ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ SCG ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ ธีรพงศ์ จัน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

‘ไอออน’ ชูยุทธศาสตร์ดันไทยฮับฐานผลิตอีวี ‘อาเซียน’ เดินหน้าเร่งผลิตรุ่นใหม่ ขยายโชว์รูม - สถานีชาร์จ

(8 ต.ค.67) ‘ไอออน’ ยักษ์ใหญ่อีวีจีน ประกาศยุทธศาสตร์ขยายตลาดไทย ชูเป็นฮับหลักผลิตรถยนต์อีวีในภูมิภาค เดินหน้าเร่งเครื่องการผลิต เล็งเปิดตัว 2-3 รุ่นใหม่ วางโรดแมปขยายโชว์รูมและศูนย์บริการให้ครบ 200 แห่ง เพิ่มซูเปอร์ชาร์จให้ครบ 1,000 จุด ใน 2570 มุ่งสร้างบุคลากรอีวีไทยแข็งแกร่ง

นายโอเชี่ยน หม่า ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (AION) กล่าวในงานสัมมนา ASEAN Economic Outlook 2025:The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity ซึ่งจัดโดย กรุงเทพธุรกิจว่า ตลาดอาเซียนมีพลวัตและมีแนวโน้มที่ดีสุดในโลก รวมถึงดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก 

สำหรับไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่สุดในอาเซียน และเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 2 มีอีโคซิสเต็มอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัว รวมถึงมีภาครัฐบาลได้ร่วมสนับสนุนรถยนต์พลังงานใหม่และมาตรการทางภาษีในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม พร้อมมีแผน 30@30 ในการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573

ทั้งนี้บริษัทได้วางยุทธศาสตร์ลงทุนและขับเคลื่อนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าระยะยาวในประเทศไทย ที่มีความสอดคล้องกับแผนของภาครัฐ ทำให้บริษัทได้มีการสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และเป็นโรงงานแห่งแรกในต่างประเทศ เพื่อร่วมยกระดับภาคอุตสาหกรรมพลังงานใหม่กับยานยนต์ไฟฟ้าและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขยายตัว

สำหรับโรงงานประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.2567 ในโรงงานที่ระยอง อยู่ในพื้นที่อีอีซี โดยเป็นฐานการผลิตในระดับโลก และถือว่าไทยเป็นฐานผลิตหลักในภูมิภาคอาเซียน รองรับการทำตลาดในประเทศไทย ส่งออกไปในภูมิภาคและขยายตลาดประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ขณะเดียวกันโรงงานในไทย ได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับเดียวกับประเทศจีน ที่เป็นเทคโนโลยีอัจฉริยะ และมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทยสัดส่วน 45% พร้อมมุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด

ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทได้เปิดตัวรถยนต์ เข้ามาทำตลาดประเทศไทยแล้ว โดยมีรุ่นเรือธง ได้แก่ AION Y PLUS, AION ES และ Hyper HT ที่เป็นรุ่นพรีเมียม ซึ่งรถยนต์ที่ได้เปิดตัวในรุ่นต่างๆ ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าในประเทศไทย พร้อมกันนี้มีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในไทย จำนวน 2-3 รุ่น เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างต่อเนื่องในทุกปี

เร่งแผนขยายโชว์รูม 100 แห่งในปี 2568
ขณะเดียวกันหลังเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยกว่าหนึ่งปีแล้ว มีแผนขยายช่องทางจำหน่าย ผ่านการมีตัวแทนจำหน่าย โดยปัจจุบันมีโชว์รูมและบริการหลังการขายประมาณ 50 แห่ง และในปี 2567 พร้อมขยายเป็น 70 แห่ง ส่วนในปี 2568 มุ่งขยายให้ครบ 100 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาค เพื่อทำให้กลุ่มลูกค้าคนไทยได้รับประสบการณ์ที่ดี และได้รับความสะดวก เข้าถึงมากยิ่งขึ้น

สำหรับสถานีชาร์จความเร็วสูง โดยบริษัทเป็นแบรนด์เดียวได้ที่พัฒนาในด้านนี้ โดยได้มีการลงทุนสร้างไปแล้ว 8 แห่ง พร้อมวางแผนไว้ในปี 2567 จะก่อสร้างแล้วเสร็จได้ครบจำนวน 25 แห่ง รวมถึงประเมินระยะยาว ภายในปี 2570 จะขยายเพิ่มสถานีชาร์จให้ได้ 200 แห่ง และมีหัวชาร์จรวม 1,000 จุด ครอบคลุมรวม 100 เมือง ทั่วประเทศ เพื่อทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกมากขึ้น

“แผนในระยะต่อไป บริษัทมีความสนใจขยายการลงทุนใหม่ในไทยเพิ่มขึ้น รองรับการขยายรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต”

มุ่งสร้างศูนย์พัฒนาวิจัย-บุคลากรอีวีในไทย 
พร้อมกันนี้ ยังมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยส่งมอบรถยนต์ฝึกอบรมให้สถาบันการศึกษา 2 แห่ง ในไทย พร้อมฝึกอบรมพนักงานในพื้นที่จำนวนมาก เพื่อร่วมส่งเสริมการจ้างงาน ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม

อีกทั้งบริษัทได้ให้ความสำคัญในการลงทุนวิจัยและพัฒนาในไทยและในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ล้ำหน้า พร้อมร่วมสร้าง สังคมคาร์บอนต่ำในภูมิภาคอาเซียน และทำให้ในภูมิภาคอาเซียนมีโซลูชันพลังงานสีเขียวที่มีความยั่งยืน ทั้งหมดสอดรับกับนโยบายของบริษัทที่มุ่งมั่นเป็นผู้นำในระดับโลกในด้านนี้

“ตลอดการลงทุนสร้างโรงงานในไทย ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล พันธมิตร และภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ซึ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นว่าการลงทุนและการพัฒนาในประเทศไทยเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาด พร้อมร่วมทำงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและยกระดับอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ของประเทศไทยต่อไป และมีส่วนสนับสนุนต่อความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม สำหรับแบรนด์รถยนต์อีวี "ไอออน (AION) ก่อตั้งขึ้นปี 2560 ในจีน โดยภาพรวมตลาดโลกครองตำแหน่งแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 2 ของจีนและอันดับที่ 3 ของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าโลก 

พร้อมกันนี้สร้างสถิติการผลิตและขายรถยนต์ 1 ล้านคันเร็วที่สุดในโลก ด้วยใช้เวลา 4 ปี 8 เดือน รวมถึงบริษัทติดอันดับ Fortune Global 500 ส่วนในไทยพบว่ากลุ่มจีเอซี กรุ๊ป (GAC Group) บริษัทแม่จากจีน ประกาศแผนลงทุนผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามูลค่า 6,400 ล้านบาทในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พร้อมมีแผนตั้งสำนักงานในไทยอย่างเป็นทางการ

ราคาน้ำมันดิบ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์สู้รบในตะวันออกกลาง

(8 ต.ค.67) หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์วันที่ 30 ก.ย. – 4 ต.ค. 67 และแนวโน้มสัปดาห์วันที่ 7 – 11 ต.ค. 67 โดยระบุราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์การต่อสู้ภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง

วันที่ 1 ต.ค. 67 อิหร่านระดมโจมตีบริเวณเมือง Tel Aviv ในอิสราเอลด้วยมิสไซล์กว่า 180 ลูก ซึ่งเป็นการโจมตีเพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลสังหารผู้นำกลุ่ม Hezbollah ทำให้ตลาดวิตกว่าอิสราเอลจะตอบโต้อิหร่านหรือไม่ ขณะเดียวกัน อิสราเอลยังคงโจมตีกลุ่ม Hezbollah อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวันที่ 5-6 ต.ค. 67 กองทัพอากาศอิสราเอลโจมตีเขตชานเมือง Beirut เมืองหลวงของเลบานอนอย่างหนัก โดยทางการอิสราเอลกล่าวว่าการโจมตีกำหนดเป้าหมายไปที่คลังเก็บอาวุธของกลุ่ม Hezbollah ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมในเลบานอนตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 67 มากกว่า 2,000 ราย

วันที่ 1 ต.ค. 67 United Kingdom Maritime Trade Operations (UKMTO) รายงานกลุ่ม Houthi ในเยเมนใช้เรือผิวน้ำไร้คนขับ (Uncrewed Surface Vessel) และมิสไซล์โจมตีเรือขนส่งน้ำมันดิบ Cordelia Moon (ชนิด Suezmax ปริมาณบรรทุก 1 ล้านบาร์เรล) ติดธงสัญชาติปานามา และเรือขนส่งสินค้า Minoan Courage (ชนิด Panamax ปริมาณการบรรทุก 500,000 บาร์เรล) ติดธงสัญชาติไลบีเรีย ขณะแล่นผ่านทะเลแดง อย่างไรก็ดี เรือทั้ง 2 ลำไม่ได้รับความเสียหายรุนแรงและสามารถเดินทางต่อได้

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) ในเดือน ก.ย. 67 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 254,000 ราย (Reuters Poll คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 140,000 ราย) สูงสุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่อัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ลดลงจากเดือนก่อน 0.1% อยู่ที่ 4.1%

วันที่ 2 ต.ค. 67 ที่ประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) มีมติให้กลุ่ม OPEC+ คงแผนเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค. 67 ที่ระดับ 189,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ OPEC+ (18 ประเทศ) ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 67 อยู่ที่ 34.09 ล้านบาร์เรลต่อวัน (โควตาการผลิตอยู่ที่ 33.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน) นอกจากนี้ ที่ประชุมขอความร่วมมือให้อิรักและคาซัคสถานลดการผลิตที่เกินโควตาจากทั้ง 2 ประเทศ ประมาณ 150,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค. 67


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top