‘ซีอีโอ SCG’ ฉายภาพธุรกิจแห่งความยั่งยืน ชี้!! ไทยต้องพัฒนา Circular Economy ไม่ให้แพ้ยุโรป
(8 ต.ค.67) ไทยเป็นประเทศแรกที่รายงานใน COP ว่าอุตสาหกรรมซีเมนต์จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ Net Zero แต่ยังสอบไม่ผ่านในเรื่องของ Circular Economy เพราะยังแพ้ยุโรป ที่สามารถสร้าง Business Model โลว์คาร์บอนได้ โดยรีไซเคิลพลาสติกมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงกว่าพลาสติกธรรมดาทั่วไป 2-3 เท่า
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ได้เข้าร่วมเวทีเสวนา CEO Panel ภายในงาน SX2024 หรือ Sustainability Expo 2024 ซึ่งเป็นมหกรรมความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยในครั้งนี้ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ "วิสัยทัศน์ 2030: พลังความร่วมมือ สู่อนาคตยั่งยืน" เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
'ธรรมศักดิ์' กล่าวว่า ประเทศไทยมีโครงการแฟล็กชิพหลายโครงการที่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตยั่งยืน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ผมมองควรมุ่งไปในสองเรื่อง หนึ่ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยตามเป้าของ Paris Agreement สอง เรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ competitiveness ไทยต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันไปพร้อม ๆ กัน ถึงจะยั่งยืน
"เมื่อเร็ว ๆ นี้ เอสซีจีจัด Symposium เป็นการรายงานผล 1 ปี ของการทำสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ ซึ่งเป้าหมายคือการทำให้เป็นจังหวัดต้นแบบโลว์คาร์บอน หนึ่งปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าอย่างมาก และผมเชื่อว่า ถ้าเราผลักดันสระบุรีเป็น Net Zero ได้ พื้นที่อื่นอย่าง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ กทม. ทำต้องทำได้แน่"
นอกจากนั้น 'ธรรมศักดิ์' พูดถึงการปรับอุตสาหกรรมซีเมนต์ให้เป็นโลว์คาร์บอนซีเมนต์ ที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศไทยใช้ซีเมนต์จำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยควรต้องปรับมาตรฐานการใช้โลว์คาร์บอนซีเมนต์ให้ได้
“ปีที่ผ่านมายอดขายซีเมนต์ของเอสซีจี 70% เป็นซีเมนต์โลว์คาร์บอน และปีนี้ตั้งเป้า 80-100% จะเห็นว่าคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้น เราต้องรวมพลังผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ
การผลักดันครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีการผลิต การบริหารต้นทุนการผลิต ซัพพลายเชน การปรับกฎกติกามาตรฐานการก่อสร้างไปเป็นโลว์คาร์บอน ซึ่งผมมองว่าไทยสอบผ่าน ซึ่งเราเป็นประเทศแรกที่รายงานใน COP ว่าอุตสาหกรรมซีเมนต์จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ Net Zero แต่ไทยยังสอบไม่ผ่านในเรื่องของ Circular Economy เรายังแพ้ยุโรป ที่เขาสามารถสร้าง Business Model โลว์คาร์บอนได้ และมีการเติบโตสูง โดยการรีไซเคิลพลาสติกมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงกว่าพลาสติกธรรมดาทั่วไป 2-3 เท่า เป็นธุรกิจที่กำลังโต
เอสซีจีได้จัดทำการระดมสมองรับฟังความคิดเห็นกว่า 3,500 คน ในเรื่อง Circular Economy พบว่า หลายคนเห็นตรงกันว่าไทยยังขาดเรื่องแผนแม่บทด้านการรีไซเคิล และยังขาดจิตสำนึกในระดับบุคคลเรื่องการแยกขยะ
ไทยควรผลักดันเรื่องเศรษฐกิจรีไซเคิลอย่างจริงจัง เพราะเรื่องนี้จะสร้างการเติบโตให้กับประเทศไทย รวมทั้งบริษัทต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก
ส่วนเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เราต้องเปรียบเทียบกับจีน เพราะจีนทำเรื่องโซลาร์เยอะมาก ถ้าเราทำเรื่องนี้ได้เพิ่มขึ้น ก็จะสร้างศักยภาพการแข่งขันได้แน่นอน
เวทีเสวนา CEO Panel นี้ ยังมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำอีก 3 องค์กรขึ้นเวทีร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ในการนำแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมาปรับใช้ในภาคธุรกิจ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนอย่างแท้จริง ได้แก่ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ SCG ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ ธีรพงศ์ จัน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ที่มา : bangkokbiznews