Monday, 2 December 2024
Econbiz

การเมืองรุกคืบ!! เข้าแทรกแซง ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ หลายฝ่ายหวั่น เศรษฐกิจพัง กลับสู่ฝันร้าย ‘ยุคต้มยำกุ้ง’

(13 ต.ค. 67) หลัง นายปรเมธี วิมลศิริ อดีตประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หมดวาระเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2567 เป็นจุดเริ่มต้นในการสรรหา ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ คนใหม่ แทนที่ ซึ่งได้มีการเริ่มขั้นตอนการดำเนินงานมากว่า 3 เดือน

กระทรวงการคลังได้มีการแต่งตั้งกรรมการสรรหาฯ นำโดย นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยกรรมการมีการนัดประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ล่าสุดมีการประชุมไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2567 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปในการคัดเลือกผู้เป็นประธาน และกรรมการในบอร์ดแบงก์ชาติ

ข้อกำหนดในเรื่องของการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเข้ามารับตำแหน่งประธาน และกรรมการในบอร์ด ธปท.จะกำหนดให้เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม จาก 2 หน่วยงาน โดย ธปท.จะเสนอชื่อได้ 2 เท่าของกรรมการที่หมดวาระ และกระทรวงการคลังเสนอชื่อได้ 1 เท่า

สำหรับการสรรหาในครั้งนี้มีการเสนอชื่อประธานและกรรมการจาก ธปท. 6 รายชื่อ ประกอบไปด้วยประธาน 2 รายชื่อ และกรรมการ 4 รายชื่อ ส่วนกระทรวงการคลัง สามารถเสนอชื่อได้ 1 เท่าของผู้ที่หมดวาะระ

กระทรวงการคลังได้เสนอรายชื่อครบโควตา ส่วน ธปท.เสนอกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 2 คน จากโควตาที่เสนอได้ 4 คน

ที่ผ่านมารัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ประเด็นหลัก ทั้งในเรื่องการไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย และการคัดค้านนโยบายการแจกเงิน 1 หมื่นบาท 

“มีการคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งวัตถุประสงค์ก็คงไม่พ้นที่จะใช้ ธปท.เป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากภาพนี้เกิดขึ้น หายนะของเศรษฐกิจไทยก็จะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในธนาคารกลาง” นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเสนอความคิดเห็นไว้

ระเบียบข้อบังคับในการสรรหาประธานกรรมการ หรือกรรมการ ของธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีเจตนารมณ์ ป้องกันความเสี่ยงของการที่กรรมการสรรหาจะถูกแทรกแซงจากทางการเมือง กำหนดคุณสมบัติ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ‘เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี’ เพื่อจะได้สรรหากรรมการที่ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซง

สำหรับรายชื่อที่มีการเสนอให้เป็นประธานคณะกรรมการ ธปท.คนใหม่ จำนวน 3 รายชื่อ ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง เสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนอีก 2 ชื่อที่เสนอจาก ธปท.มี 2 คน ได้แก่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอิสระ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ซึ่งเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2567 หลังการประชุมคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นางวิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ฝ่ายเลขานุการฯ มีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการพิจารณาของที่ประชุม ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอขยายระยะเวลาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกมีความรอบคอบที่สุด และจะรวบรวมกลับมานำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยเร็ว แต่ยังไม่กำหนดวันที่ชัดเจน 

โดยมีรายงานในการประชุม มีมติเคาะเลือก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ท่ามกลางเสียงคัดค้าน ถึงการนำบุคคลที่เกี่ยวโยงการเมือง เข้ามาแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ จากการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

แม้คณะกรรมการสรรหาฯ ยังไม่ประกาศผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการ แต่การออกมาแสดงพลังคัดค้าน อาจตอกย้ำถึง ความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ได้รับการคัดเลือก

เมื่อหลายฝ่ายพยายามส่งเสียง แสดงการคัดค้าน ที่การเมืองจะเข้ามาแทรกแซงองค์กรของรัฐ ที่ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ฝั่งการเมืองจะยอมถอยหรือไม่..? และหากเข้ามากำกับ ควบคุมดูแลการทำหน้าที่ ของ ธปท. ได้สำเร็จ ภาพวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 40 ของไทย กลับเริ่มลอยเข้ามาในหัว ขอให้เป็นเพียงแค่ฝันร้าย ละกัน 

‘สรวงศ์’ เผยแคมเปญ กระตุ้นการท่องเที่ยว!! ในพื้นที่ภาคเหนือ ททท. ออกให้ครึ่ง-นักท่องเที่ยวจ่ายเองอีกครึ่ง เริ่ม 1 พ.ย.นี้

(13 ต.ค. 67) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงการออกมาย้ำถึงแคมเปญ ‘แอ่วเหนือคนละครึ่ง’ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการ ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้นำข้อมูลเพื่อมาแก้ไขปัญหา ซึ่งบางส่วนใช้งบของกระทรวงและบางส่วนต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ  

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. จึงเสนอโครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง โดยจะมีการ คลิกออฟ ได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ผู้ประกอบการเตรียมที่จะฟื้นฟูและกลับเข้าสู่สภาพเดิมให้ได้ โครงการนี้ยังรวมไปถึง 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยทาง ททท. จะออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง ตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 800 บาทและนักท่องเที่ยวออกเองอีกครึ่งหนึ่ง

หากประสบผลสำเร็จก็จะมีการก็จะมีการเสนอของบประมาณจากครม.อีกครั้งหนึ่ง แต่การดำเนินการในครั้งนี้จะใช้งบประมาณของททท.ไปก่อน โดยจะพยายามอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ขึ้นชื่อ ไม่ว่าจะเป็นงานลอยกระทง ที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายก็สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดมีความพร้อม

ส่วนการเตรียมมาตรการอื่นๆ เช่น การปล่อยกู้ อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว  เรื่องนี้เตรียมที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่จากการรับฟังจากผู้ประกอบการหลายส่วน มีข้อเสนอแนะว่า ยังมีหลักเกณฑ์ต่างๆที่เข้าถึงยาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก จึงต้องมีการกลับมาปรับแก้กันในเร็ว ๆ นี้ เพื่อที่จะปรับแก้ไข ให้ผู้ประกอบการได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึงในแคมเปญนี้ ซึ่งยังไม่สามารถที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ได้ เพราะมีบางจุดที่จะต้องนำกลับมาแก้ไขและเปลี่ยนแปลง

‘กัลฟ์-เอ็กโก-ราช-บาฟส์’ ลงชิง ขายไฟ ‘ลม-โซลาร์เซลล์’ 2.1 พันเมก หลัง ‘กกพ.’ ประกาศรับซื้อไฟฟ้าสะอาดจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’

(14 ต.ค. 67) การประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตไฟฟ้าอย่างมาก เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนตามเทรนด์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งเป้าหมายสู่ Net Zero 

สำหรับการประกาศรับซื้อรอบแรก 5,000 เมกะวัตต์ มีผู้สนใจยื่นขายไฟฟ้าถึง 15,000 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ภาครัฐประกาศรับซื้อเพิ่มอีก 3,000 เมกะวัตต์ โดยการประกาศรับซื้อรอบล่าสุดประกาศไป 2,100 เมกะวัตต์ ยังเหลืออีกบางส่วนที่รอประกาศเพิ่ม

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยว่า สำนักงาน กกพ.กำหนดรายละเอียดการเพื่อประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้ประกาศ กกพ.เรื่องรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม)

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้เงื่อนไขและระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าวันที่ 8 ต.ค.2567 โดยการไฟฟ้าประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการ กรอบเวลา 7 วัน จากนั้นสำนักงาน กกพ.ประกาศรายชื่อภายใน 30 วัน และจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 180 วัน

นายพูลพัฒน์ กล่าวว่า กกพ.กำหนดเงื่อนไขให้สิทธิ์กลุ่มที่เคยยื่นข้อเสนอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ FiT ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงจำนวน 198 ราย รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 5,203 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ได้ผ่านเกณฑ์พร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ภายใต้โครงการแต่ไม่ได้รับการคัดเลือกในโครงการดังกล่าว เนื่องจากการจัดหาไฟฟ้าได้ครบตามเป้าหมายแล้ว

สำหรับการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมดังกล่าวรวม 2,180 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ เป็นลำดับแรก และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ พร้อมยื่นเสนอขายไฟสะอาดรอบ 2 ของสำนักงาน กกพ.โดยคาดว่าจะได้รับโครงการไม่ต่ำกว่า 20% ของจำนวนที่เปิดรับซื้อ โดยเบื้องต้นอาจร่วมมือกับพันธมิตร

นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปิดรับซื้อไฟสะอาดเฟส 2 กัลฟ์พร้อมเข้าร่วมเสนอราคาและหวังที่จะให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ 

สำหรับการเปิดรับรอบแรก 5,000 เมกะวัตต์ กัลฟ์เป็นผู้ชนะราว 3,000 เมกะวัตต์ โดยภาพรวมรายได้จะเริ่มเห็นในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนแผนลงทุน 5 ปีวางไว้อยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 80% หรือที่ระดับ 7.5 หมื่นล้านบาท

“ปัจจุบันกำลังการผลิตรวมกลุ่มกัลฟ์ที่ COD ไปแล้วอยู่ที่ 1.4 หมื่นเมกะวัตต์ โดยหากรวมกำลังการผลิตในต่างประเทศด้วยจะมีอยู่ที่รวม 2.3 หมื่นเมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 8% และตั้งเป้าหมายปี 2033 จะเพิ่มเป็น36%” นายรัฐพล กล่าว

หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวว่า กลุ่มบาฟส์มีธุรกิจโรงงานไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่ม โดยพร้อมยื่นขอรับสิทธิขายไฟสะอาดเฟส 2 จากสำนักงาน กกพ.แน่นอน โดยจะร่วมมือกับพันธมิตร

“หากชนะการนำเสนอครั้งนี้ จะเพิ่มโอกาสขยายสัดส่วนพลังงานสะอาดในไทย อีกทั้งจะเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน จากการร่วมลงทุนกับ บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ลัคกี้ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ไบเซล เวสท์ เอ็นเนอร์ยี่ ที่ชนะรอบแรกมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 9.9 เมกะวัตต์” หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ กำลังศึกษาโครงการ Direct PPA ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ และมองว่าตลาดขยายตัวสูงจากนโยบายรัฐบาลพยายามส่งเสริมให้เอกชนได้ซื้อ-ขาย ไฟได้โดยตรง โดยอาจยื่นเองโดยตรงและร่วมกับพันธมิตร เพราะบางโครงการมีความเสี่ยงและบริษัทยังไม่มีเทคโนโลยีและประสบการณ์มากพอ

“เราจะทำโซลาร์เพราะมองว่าความเสี่ยงต่ำ ตอนขึ้นโครงการที่มองโกเลีย เป็นโครงการแรกของกลุ่มบริษัททำโซลาร์และระบบแบตเตอรี่สำรองไฟ จึงมองว่าไทยมีโอกาสจะได้นำมาใช้ ส่วนจำนวนเมกะวัตต์ต้องรอดูก่อน” หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ กล่าว

น.ส.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายระยะสั้นเป็นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573 ผ่านการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับการลงทุนในประเทศ EGCO Group พร้อมนำโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินกว่า 10 โครงการ ที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) จากโครงการ RE Big Lot รอบที่ 1 แต่ยังไม่ได้คัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการ RE Big Lot ในรอบที่ 2

นอกจากนี้ หาก EGCO Group ได้รับคัดเลือกในรอบ 2 จะช่วยให้บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในพอร์ตโฟลิโอเพิ่ม และสอดคล้องเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573

“หากการยื่นสิทธิรอบ 2 ครั้งนี้รวม 2,180 เมกะวัตต์ เรียบร้อยแล้ว สำนักงาน กกพ.ยังมีโควตาพลังงานหมุนเวียนเหลือ 1,488 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไปในรอบที่ 3” น.ส.จิราพร กล่าว

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราชกรุ๊ป มีความสนใจที่จะร่วมยื่นขายไฟจากพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 ของ สำนักงาน กกพ.เช่นเดียวกัน โดยหากเศรษฐกิจดีจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น จึงขอให้รัฐบาลเร่งใช้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) ที่รองรับความต้องการใช้พลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต

ทั้งนี้ ในครึ่งปีหลังของปี 2567 จะลงทุนระดับ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจและเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้ถึง 30% ในปี 2573 และ 40% ในปี 2578 โดยปัจจุบันราชกรุ๊ป มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวม 10,817.28 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลรวม 7,842.61 เมกะวัตต์ (72.5%) และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนรวม 2,974.67 (27.5%)

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเปิดรับซื้อพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 รวม 3,668 เมกะวัตต์ แม้สำนักงาน กกพ.อนุมัติกรอบเวลาการรับซื้อไว้แล้ว แต่ยังเหลือไฟสะอาดอีก 1,500 เมกะวัตต์ ที่จะต้องรอคณะกรรมการ กกพ.ชุดใหม่มาบริหารงานตามนโยบายต่อไป

อย่างไรก็ตาม สิ้นเดือน ก.ย.2567 มี กกพ.ครบวาระ 4 คน คือ 1.นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ 2.นายสุธรรม อยู่ในธรรม 3.นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และ 4.นายสหัส ประทักษ์นุกูล โดยกระทรวงพลังงานควรเสนอชื่อคณะกรรมการสรรหาบอร์ด กกพ.ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อมีเวลาสรรหา แต่ยังไม่ดำเนินการและนายเสมอใจ ประธาน กกพ.มีอายุครบ 70 ปี ต้องพ้นจากตำแหน่ง

“เมื่อประธานพ้นตำแหน่งต้องตั้งรักษาการประธานจะทำให้การทำงานล่าช้า ดังนั้น การเปิดรับซื้อไฟสะอาดรอบ 2 ในส่วนที่เหลืออาจจะต้องรอบอร์ดชุดใหม่ที่มีอำนาจเต็มมาดำเนินการ” แหล่งข่าว กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ ล่องใต้เยือน ‘ตรัง-พัทลุง’ ผลักดันอุตสาหกรรมท้องถิ่น เน้น!! ชุมชนเข้มแข็ง เข้าถึงแหล่งเงินทุน รุกตลาดออนไลน์

(14 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการ SME จังหวัดตรังและจังหวัดพัทลุง เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่น ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ยกระดับให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ มุ่งเน้นด้านอาหารและหัตถกรรม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการ ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรม’ ให้ความสำคัญ ‘Save อุตสาหกรรมไทย’ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่นและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยร่วมกับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่สนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น สินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ (เสือติดปีก) และ สินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) วงเงินกู้รวม 1,900 ล้านบาท เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนและพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้คณะฯ ได้เยี่ยมชมร้าน กวนนิโตพาทิสเซอรี (KUANITO Patisserie) ในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่นกับเทคนิคการทำขนมแบบฝรั่งเศส โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ผ่านโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก ให้สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและดึงดูดลูกค้าจากทั่วประเทศ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำวัฒนธรรมและวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และสามารถแข่งขันในตลาดระดับสากลได้ จากนั้น ได้เยี่ยมชมโรงงานแปรรูปไก่ของ บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ในจังหวัดพัทลุง เป็นบริษัทอาหารชั้นนำระดับสากล มีการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แช่แข็งไปยังหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป และมีการใช้แนวคิดตามหลัก ESG (Environment Social and Governance) ที่ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยวางหลักการทำงานว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ต้องพัฒนาชุมชนและสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals: SDGs) และยังได้เยี่ยมชมหัตถกรรมกระจูดวรรณี & โฮมสเตย์ จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตงานหัตถกรรมกระจูดที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ และได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย 

"การสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้สามารถต่อยอดธุรกิจและสามารถแข่งขันได้ ถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับภูมิภาคโดยการนำเอกลักษณ์ท้องถิ่นไปสู่ระดับสากล เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนสู่เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรม ยินดีให้การสนับสนุนในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้แข็งแกร่งและยั่งยืน ผ่านความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เสริมและเพิ่มศักยภาพให้อุตสาหกรรมท้องถิ่น การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม ผลักดันไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ในพื้นที่ภาคใต้ ตามนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรม’ ที่ให้ความสำคัญ ‘Save อุตสาหกรรมไทย’ อย่างยั่งยืน และสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป" นายเอกนัฏกล่าวทิ้งท้าย

ส่อง! ความเห็น ‘สภาพัฒน์’ ต่อโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าฯ แนะ เร่งปรับปรุงกฎ รับยุคประชาชนผลิตไฟฟ้าได้เองที่บ้าน

เมื่อวานนี้ (13 ต.ค. 67) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ มีความเห็นต่อ โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุน 38,500 ล้านบาท

เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIEC) ระยะที่ 3.1 (ภายใต้โครงการ TIEC ระยะที่ 3) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกอบความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 8 ต.ค. 2567 ซึ่งได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ

ทั้งนี้ เดิมสภาพัฒน์ ได้เห็นชอบต่อโครงการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า กรอบวงเงินลงทุน 44,040 ล้านบาท ตามมติครม. 14 ก.ค. 2558

เพื่อปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ในการรองรับการรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรายพื้นที่ตามแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อ 5 พ.ค. 2565 และ 8 มี.ค. 2566 รวมทั้งเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้สามารถส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังภาคกลาง และเขตนครหลวง ซึ่งเป็นศูนย์กลางความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันได้อย่างมีเสถียรภาพ

สภาพัฒน์ เห็นว่า สําหรับการดําเนินโครงการในส่วนที่เหลือภายใต้โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ระยะที่ 3

ได้แก่ การก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า 500 kV อุบลราชธานี 3 - นครราชสีมา 3 วงจรคู่ ระยะทาง ประมาณ 355 กิโลเมตร ซึ่งมีกรอบวงเงินคงเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีประมาณ 16,850 ล้านบาท เห็นควรให้ กฟผ. พิจารณาดําเนินการตามหลักการตามมติครม. 14 ก.ค. 2558

โดยพิจารณาปรับแผนการลงทุนให้เป็นปัจจุบันให้สอดคล้องกับปริมาณ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร

และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อนําเสนอคณะกรรมการ กฟภ. (บอร์ด กฟผ.) พิจารณาอนุมัติ และนำเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบ พร้อมทั้งรายงานให้ สภาพัฒน์ และคณะรัฐมนตรีทราบ

ทั้งนี้ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง ในสาระสําคัญของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า

อาทิ กรอบวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้น เห็นควรให้ กฟผ.เสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายและเปิดรับการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกและการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างจัดทําแผนพลังงานชาติ

ซึ่งรวมถึงแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ฉบับใหม่

ที่ให้ความสําคัญกับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศตามข้อตกลงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP 28)

ดังนั้น เมื่อแผนดังกล่าวมีความชัดเจนแล้ว เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและ กฟผ. เร่งศึกษาแนวทางการลงทุนพัฒนาศักยภาพของระบบส่งไฟฟ้าของประเทศในระยะต่อไป

เพื่อให้สามารถลงทุนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า ให้มีศักยภาพรองรับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และการรับซื้อไฟฟ้า จากต่างประเทศที่จะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สภาพัฒน์ ยังเสนอให้คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดําเนินการจัดทําข้อกําหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code: TPA Code) และปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ

รวมถึงพิจารณากําหนดอัตราค่าบริการใช้ หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โดยคํานึงถึงผลตอบแทน ที่เหมาะสมของการลงทุนในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนรวม

เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า ( กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) ซึ่งจะมีส่วนสําคัญในการรองรับ ทิศทางตลาดพลังงานที่เอกชนและประชาชนหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกใช้เอง

รวมถึงซื้อ/ขายไฟฟ้าโดยตรงกับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจน ดึงดูดให้บริษัทอุตสาหกรรมต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้นต่อไป

ปตท.สผ. คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567 หนุน เดินหน้าสู่องค์กรคารบอนต่ำในปี 2593

(15 ต.ค. 67) บริษัท ปตท.‍สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โดยนายดิษฐพล สุทธิโอสถ  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารเทคโนโลยี พร้อมด้วยผู้บริหาร ปตท.สผ. รับ‍มอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567 ด้านองค์กรนวัตกรรม ประเภทองค์กรวิสาหกิจขนาดใหญ่ จาก ดร.‍กริชผกา บุญเฟื่อง (ขวาสุด) ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ

ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการนวัตกรรมภายในองค์กร โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งช่วยสนับสนุนเป้าหมายของบริษัทในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ โดยมีการบริหารจัดการทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน การบริหารทรัพยากรบุคคล และการบริหารจัดการองค์ความรู้

บอร์ด EEC เห็นชอบ แก้สัญญารถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน เตรียมเสนอ ครม. ปลดล็อกพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคตะวันออก

(15 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2567 วันที่ 11 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเลขานุการการประชุมฯ ทั้งนี้ กพอ. ได้พิจารณาและมีมติในเรื่องสำคัญ ดังนี้

1.เห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยการปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุนเพื่อผลักดันให้โครงการฯ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และภาคเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร โดยจะเสนอการแก้ไขสัญญาต่อ ครม. เพื่อพิจารณาใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย

1)วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิม เมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ รัฐจะแบ่งจ่ายเป็นจำนวน 149,650 ล้านบาท เป็น จ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท. ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท โดยเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของภาครัฐ (รฟท.) ทันทีตามงวดของการจ่ายเงิน

2)กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรก
ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้ เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ

3)กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป

4)การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมดนี้

5)การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น

ที่ประชุม กพอ. มีมติให้ สกพอ. ดำเนินการนำเสนอหลักการแก้ไขปัญหาโครงการฯ ใน 5 ประเด็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 และให้คู่สัญญาร่วมกันเจรจาร่างสัญญาแก้ไข และเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ พิจารณา และนำส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนนำเสนอ กพอ. และ ครม. เพื่อให้ ครม. เห็นชอบการแก้ไขสัญญาอีกครั้ง ก่อนคู่สัญญาจะลงนามในสัญญาฉบับแก้ไขต่อไป

2. เห็นชอบการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา จากการที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ไม่สามารถเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภาได้ และ สกพอ. เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานของประเทศไทย ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของช่างอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และจำเป็นต้องขับเคลื่อนการดำเนินโครงการต่อไปให้เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป กพอ. ได้มีมติเห็นชอบการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการ โดยให้ยกเลิกการเป็นโครงการร่วมลงทุนตามที่ ครม. อนุมัติไว้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 และให้ สกพอ. ดำเนินการจัดหาผู้เช่าที่ดินราชพัสดุในเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เพื่อดำเนินกิจกรรมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และ ระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การเช่าที่ดินราชพัสดุที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2562 ต่อไป โดย สกพอ. จะนำเสนอให้ ครม. รับทราบมติ กพอ. ดังกล่าว และพิจารณายกเลิกมติ ครม. วันที่ 30 ตุลาคม 2561 ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

2.รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 4 โครงการใหญ่ และการชักชวนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ เศรษฐกิจ BCG และบริการ โดยในช่วงตั้งแต่มกราคม 2566 ถึงกันยายน 2567 สกพอ. ได้ดำเนินการชักชวนนักลงทุน 139 ราย โดยมีนักลงทุนที่สนใจการลงทุนใน 5 กลุ่มคลัสเตอร์ดังกล่าวและได้ทำหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) รวม 35 ราย จำนวน 36 โครงการ มีการยื่นข้อเสนอโครงการฯ เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอีอีซีแล้ว จำนวน 12 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 135,000 ล้านบาท

9 เดือนแรก บสย. ค้ำประกันแล้วกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท เดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการขนาดย่อม

(15 ต.ค. 67) นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงาน บสย. ช่วง 9 เดือนปี 2567 (ม.ค. – ก.ย.) สามารถช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. เพิ่มสินเชื่อในระบบ และช่วยรักษาการจ้างงาน ตลอดช่วยลูกหนี้ บสย. ปรับโครงสร้างหนี้ แก้หนี้อย่างยั่งยืน ตอบโจทย์นโยบายภาครัฐ

ตลอด 9 เดือน บสย. ค้ำประกันสินเชื่อได้กว่า 34,543 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 141,189 ล้านบาท มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่า 70,634 ราย แบ่งเป็นกลุ่มรายย่อยหรือ Micro SMEs ในสัดส่วนถึง 91% ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 90,000 บาทต่อราย ส่วนอีก 9% เป็นกลุ่ม SMEs ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 4.71 ล้านบาทต่อราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้กว่า 36,221 ล้านบาท รวมถึงรักษาการจ้างงานไม่น้อยกว่า 311,948 ตำแหน่ง  ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่เป็นมาตรการรัฐ และโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ บสย. พัฒนาเอง ได้แก่

1.โครงการตามมาตรการรัฐ วงเงิน 16,942 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 65,356 ราย
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) วงเงิน 9,893 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 1,543 ราย
3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดำเนินการโดย บสย. วงเงิน 7,351 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 4,255 ราย  

ผลงานค้ำประกันที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการ PGS 11 “บสย SMEs ยั่งยืน” ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี หลังจาก บสย. ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถึงสิ้นเดือนกันยายน ในระยะเวลากว่า 2 เดือน มียอดค้ำประกันสินเชื่อไปแล้ว 12,048 ล้านบาท ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน อาทิ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ เริ่มต้น 2 ปีแรก และสูงสุดถึง 4 ปีแรก ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกัน ด้วยอัตราค่าธรรมเนียมต่ำเพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการ โดยมีวงเงินค้ำประกันต่อรายตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 40 ล้านบาท ระยะเวลาการค้ำประกันนานสูงสุด 10 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ ตอบโจทย์ความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจและเสริมสภาพคล่อง ตลอดจนยังมุ่งเน้นมาตรการการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อการพลิกฟื้นธุรกิจจากภาครัฐ

สำหรับความสำเร็จที่ชัดเจนของ บสย. ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา คือ การให้คำปรึกษาทางการเงิน โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถทางธุรกิจของ SMEs ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยทีมผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 – 30 กันยายน 2567 ให้บริการรวม 21,737 ราย แบ่งเป็นผู้ลงทะเบียนขอรับคำปรึกษา 6,746 ราย และลงทะเบียนเข้าอบรม 14,991 ราย โดยมีความต้องการสินเชื่อ 17,000 ล้านบาท สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ (Success rate) ที่ 14.92%

นอกจากนี้ บสย. ยังประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อที่ถูกเคลม ด้วยมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ “บสย. พร้อมช่วย” (มาตรการ 4 สี  ม่วง เหลือง เขียว และ ฟ้า) ซึ่ง บสย. พัฒนาขึ้น เพื่อรองรับความสามารถในการชำระหนี้ ช่วยลูกหนี้ ตัวเบา ลดต้นทุนทางการเงิน มีจุดเด่นคือ ตัดต้นก่อนตัดดอก และ ดอกเบี้ย 0%

ทั้งนี้ ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา มีลูกหนี้ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว 2,727 ราย แบ่งเป็นลูกหนี้กลุ่มที่มีศักยภาพในการชำระคืนเงินต้นบางส่วนแต่ต้องการปลอดดอกเบี้ย (สีเขียว) สูงถึง 73% ตามด้วยลูกหนี้กลุ่มที่จ่ายไหวเพียงบางส่วน (สีเหลือง) 20% และลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง (สีม่วง) 7% โดยตั้งแต่เริ่มมาตรการดังกล่าว ในเดือน เม.ย. 2565 มีลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และได้รับการประนอมหนี้รวม 16,068 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 7,240 ล้านบาท ที่สำคัญสามารถช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มสีเขียวให้สามารถปลดหนี้ และเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ผ่านการร่วมมาตรการ “ปลดหนี้” (สีฟ้า) จำนวน 114 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (มาตรการปลดหนี้ เปิดใช้เมื่อเดือนมกราคม 2567 เป็นมาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มสีเขียวที่ผ่อนชำระดี 3 งวดติดต่อกัน และต้องการปลดหนี้ โดย บสย. ลดเงินต้นให้ 15%)

ทั้งนี้ เพื่อสามารถเข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs ได้ง่ายขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ SMEs’ Gateway วันนี้ นอกจากสำนักงานเขต บสย. 11 สาขาทั่วประเทศ ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาผ่าน Line OA : @tcgfirst นอกจากนี้ บสย. ยังมีการให้บริการผ่าน “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs” ที่พร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การแก้ปัญหาหนี้ และให้ความรู้ทางการเงิน โดยผู้ประกอบการ SMEs สามารถขอรับคำปรึกษาและตรวจสุขภาพทางการเงินเพื่อเตรียมพร้อมก่อนยื่นขอสินเชื่อ ฟรี..ไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2534 เพื่อรับโอนกิจการและการดำเนินงานทั้งหมดของ กองทุนประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (กสย.) ทำหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 มีทุนจดทะเบียนแรกเริ่มจำนวน 400 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการเพิ่มทุนอีกจำนวน 4,000 ล้านบาท ทำให้ บสย. มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 4,400 ล้านบาท

ต่อมาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2548 ที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นได้มีมติพิเศษเพิ่มทุนอีกจำนวน 2,000 ล้านบาท โดยในปี พ.ศ. 2551 ได้เรียกให้ผู้ถือหุ้นที่แสดงความประสงค์ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวชำระเงินค่าหุ้นบางส่วน รวมแล้วเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว จำนวน 6,702.47 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 ประกาศใช้พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534 ขยายขอบเขตการดำเนินงาน บสย. สามารถค้ำประกันการให้สินเชื่อของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ซึ่งให้บริการสินเชื่อแก่ภารธุระอุตสาหกรรมขนาดย่อมได้ รวมถึงเพื่อขยายขอบเขตการค้ำประกันให้ครอบคลุมถึงสินเชื่อประเภทอื่นที่มิใช่ความหมายโดยทั่วไป

‘พลังงาน’ เล็งเสนอ 3 แนวทาง ดูแลราคาดีเซลรอบใหม่ ก่อนสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา 33 บาท/ลิตร 31 ต.ค. นี้

(15 ต.ค. 67) พลังงาน เตรียมเสนอ ครม. พิจารณาทบทวนราคาดีเซล ก่อนมาตรการตรึงราคาไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค. 2567 นี้ ชี้กรณีไม่ตรึงราคาต่อจะส่งผลให้ราคาดีเซลเป็นไปตามกลไกตลาดโลก เสี่ยงที่ราคาจะเกิน 33 บาทต่อลิตรได้  แต่คาดว่า 3 แนวทางที่ ครม. จะพิจารณาคือ ตรึงราคา 33 บาทต่อลิตรต่อถึงสิ้นปี 2567 หรือ ประกาศให้ กบน. ดูแลเองแต่ไม่ควรเกิน 33 บาทต่อลิตร หรือ ปรับลดเพดานราคาดีเซลลงเหลือ 32 บาทต่อลิตร แต่ต้องคำนึงถึงหนี้เงินต้นสถาบันการเงินที่ต้องเริ่มจ่ายตั้งแต่ พ.ย. 2567 นี้ และฐานะเงินกองทุนฯ ที่ยังติดลบอยู่ -95,333 ล้านบาท  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทบทวนราคาน้ำมันดีเซลอีกครั้ง เนื่องจากจะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ในวันที่ 31 ต.ค. 2567 โดยคาดว่ากระทรวงพลังงานอาจจะเสนอ ครม. พิจารณาในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค. 2567 นี้

สำหรับปัจจุบันราคาดีเซลจำหน่ายอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร และดีเซลเกรดพรีเมียมจำหน่ายที่ 44.94 บาทต่อลิตร โดยกองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้ชดเชยราคาดีเซลมาตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2567 แล้ว และยังมีรายได้จากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ ด้วย โดยดีเซลและดีเซล B20 เรียกเก็บอยู่ 1.66 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลเกรดพรีเมียมเรียกเก็บ 3.16 บาทต่อลิตร

ดังนั้นหาก ครม. ไม่พิจารณาต่ออายุมาตรการตรึงราคาดีเซลที่ 33 บาทต่อลิตร จะส่งผลให้ราคาดีเซลต้องเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ในอนาคตหากราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นอาจทำให้ราคาดีเซลในไทยสูงเกิน 33 บาทต่อลิตรได้

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานคาดว่าแนวทางที่น่าจะเป็นไปได้ คือ 1. ครม. ต่ออายุมาตรการตรึงราคาดีเซลที่ 33 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นปี 2567 นี้  2. ครม. ไม่ประกาศตรึงราคาดีเซล แต่กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ บริหารจัดการดูแลราคาดีเซลเอง แต่แนะนำว่าไม่ควรให้ราคาจำหน่ายเกิน 33 บาทต่อลิตร หรือ 3. ครม. ปรับลดเพดานราคาดีเซลสูงสุดลงเหลือไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร เนื่องจากประชาชนบางกลุ่มเห็นว่าราคาดีเซลปัจจุบันแพงเกินไป

ทั้งนี้การพิจารณาว่าจะเลือกแนวทางใดนั้น ต้องพิจารณาฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ และการใช้คืนหนี้เงินต้นให้สถาบันการเงินที่จะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. 2567 นี้เป็นต้นไปด้วย โดยปัจจุบันราคาน้ำมันโลกปรับลดลง ส่งผลดีต่อกองทุนฯ ให้สามารถเก็บเงินเข้าได้มากขึ้น เพื่อเตรียมชำระหนี้ให้สถาบันการเงิน

แต่หาก ครม. ปรับลดเพดานราคาดีเซลลงเหลือ 32 บาทต่อลิตร จะส่งผลให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้าลดลงจากปัจจุบันเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลเข้ากองทุนฯ อยู่ 1.66 บาทต่อลิตร จะเหลือเพียง 66 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ในปี 2568 จะต้องใช้หนี้ธนาคารเพิ่มขึ้นทุกเดือนจากระดับกว่า 140 ล้านบาท ขึ้นไปถึง 3,000 ล้านบาท ตามภาระการกู้ยืมที่ผ่านมา ซึ่งกองทุนฯ อาจเหลือเงินไม่เพียงพอชำระหนี้เงินต้นได้

สำหรับฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 13 ต.ค. 2567 พบว่าเงินกองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดลงเหลือ -95,333 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -47,885 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,448 ล้านบาท

BOI เปิดยอดลงทุน รง.แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ นับแสนล้าน หนุน! สร้างงานให้คนไทย ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

(16 ต.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังจากการเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ของบริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ จำกัด ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า

ตามที่ได้มีคลื่นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต PCB ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ได้เข้ามาลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยบริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ หนึ่งในบริษัทรายใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Welgao Electronics ผู้ผลิต PCB ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศจีน เป็นรายแรกที่เริ่มเดินเครื่องผลิตในประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากได้ก่อสร้างโรงงานที่มีพื้นที่กว่า 64,000 ตารางเมตร รวมทั้งติดตั้งเครื่องจักรในเวลาไม่ถึง 1 ปี

โรงงานของบริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ มีเงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 2,500 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์หลักจะเป็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ High-Density Interconnect (HDI) ชนิดหลายชั้น (Multilayer PCB) ซึ่งในเฟสแรกสามารถสร้างวงจรซ้อนกันได้สูงสุดถึง 30 ชั้น และบริษัทกำลังเตรียมแผนขยายโรงงานในเฟส 2 ในพื้นที่ติดกัน ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าเฟสแรกหลายเท่า และจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต PCB ไปถึงระดับ 50 ชั้น โดย Multilayer PCB จะใช้สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนสูงหรือมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก เช่น Data Server และ Power Supply ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า (EV), Data Center และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยี AI โดยบริษัทจะจำหน่ายในประเทศร้อยละ 40 ให้กับลูกค้าในกลุ่ม EV และอิเล็กทรอนิกส์ และส่งออกร้อยละ 60 ไปยังประเทศต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะใช้วัตถุดิบในประเทศกว่าร้อยละ 50

สาเหตุสำคัญที่กลุ่มเวล เทค ได้ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทย เพื่อเป็นฐานผลิตสำคัญแห่งแรก
นอกประเทศจีน เนื่องจากมองเห็นศักยภาพและความพร้อมของไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และบุคลากรที่มีคุณภาพในการรองรับกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 

โดยโรงงานผลิต PCB แห่งนี้ จะเป็น Smart Factory ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัยที่สุด ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี AI และระบบอัจฉริยะในการผลิตทุกขั้นตอน รวมทั้งการใช้หุ่นยนต์ AGV ในการเคลื่อนย้ายสินค้า โดยจะมีการจ้างงานบุคลากรไทยในเฟสแรกกว่า 500 คน ส่วนใหญ่เป็นวิศวกรและช่างเทคนิค ขณะที่มีผู้บริหารชาวจีนไม่เกิน 10 คนเท่านั้น 

นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะใช้นักวิจัยไทยกว่า 40 คน มาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีใน 5 สาขา ได้แก่ การพัฒนาวัสดุขั้นสูง ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการผลิต การจัดการสิ่งแวดล้อม การพัฒนาซอฟต์แวร์และ AI อีกทั้งจะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย 4 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และพระนครศรีอยุธยา ในการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน PCB ด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา (ปี 2566 - กันยายน 2567) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB จำนวน 95 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 162,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งการขยายการลงทุนของผู้ผลิตรายเดิม เช่น Mektec, KCE และการลงทุนใหม่โดยบริษัทผู้ผลิต PCB ระดับโลก โดยเฉพาะจากจีนและไต้หวันที่เข้ามาลงทุนจำนวนมาก เช่น Unimicron, Compeq, WUS, Gold Circuit, Chin Poon, Dynamic Electronics, Apex Circuit, Unitech เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงาน จะแล้วเสร็จพร้อมทยอยเปิดสายการผลิตตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top