Monday, 2 December 2024
Econbiz

'เผ่าภูมิ' เผย ปชช. กดเงิน 10,000 ตู้ ATM ธ.ก.ส. พุ่ง 18.8 เท่าตัว ออมสินยอดกดเงินรวมพุ่ง 3.7 เท่าตัว ชี้กลุ่มนี้มีเท่าไหร่ใช้หมด กระตุ้น ศก. ทันที

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 25 ก.ย. มีการถอนเงิน ยอดเงิน 10,000 บาท จากตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. เพิ่มขึ้น 18.8 เท่าตัว เทียบกับวันที่ 24 ก.ย. 

ยอดถอนเงินตู้ ATM ธนาคารออมสิน วันที่ 25 ก.ย. มีจำนวนรายการถอนเงินพุ่ง 1.76 เท่าตัว จำนวนเงินเพิ่มขึ้น 2.84 เท่าตัว วันที่ 26 ก.ย. มีจำนวนรายการถอนเงินเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จำนวนเงินเพิ่มขึ้น 3.72 เท่าตัว เทียบกับวันที่ 24 ก.ย.

ตัวเลขเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้หนึ่งว่าประชาชนกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องใช้เงินสูง มีเงินไม่พอใช้ มีเท่าไหร่ต้องถอนมาใช้เกือบหมด เป็นกลุ่มที่มี MPC สูง ซึ่งนั่นหมายถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันทีและมีประสิทธิภาพ

'อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ.' ชู 'บางระจันโมเดล' ปกป้องเศรษฐกิจไทย 700,000 ล้าน สนับสนุนอีคอมเมิร์ซไทยจับมือสภาเอสเอ็มอี. รวมพลังสู้แพลตฟอร์มค้าออนไลน์ต่างชาติ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์( FKII Thailand ) รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ปชป.และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยวันนี้ว่า

ตลาดอีคอมเมิร์ซ (eCommerce ) ของไทยมีการซื้อขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซ(Social commerce)กว่า700,000ล้านบาทต่อปีถูกครอบครองตลาดโดยแพลตฟอร์มต่างชาติแบบครบวงจรเกือบ100% จากต้นน้ำถึงปลายน้ำตั้งแต่ระบบซัพพลายเชน (supply chain system) โรงงานผลิตสินค้า ,ระบบอี-มาร์เก็ตเพลส (eMarketplace) ,ระบบขนส่งโลจิสติกส์ (Logistics) จนถึงระบบการชำระเงิน (Payment Gateway) โดยสินค้าส่วนใหญ่มาจากต่างชาติทำให้เอสเอ็มอี. โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจค้าปลีกค่าส่งดั้งเดิม ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจขนส่งและบริการส่งถึงลูกค้า(last mile delivery)ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและเสียเปรียบดุลการค้ามากขึ้น

แนวทางหนึ่งในการแก้ไขสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤติคือการสนับสนุนบริษัทอีคอมเมิร์ซไทยและเอสเอ็มอี.ไทยโดยสร้าง ระบบนิเวศน์การค้า(Eco-System)ในการซื้อขายในประเทศไทยรวมทั้งผนึกความร่วมมือกันต่อสู้เรียกว่า 'บางระจันโมเดล' และขอให้ภาครัฐกำกับการค้าออนไลน์ข้ามชาติแบบเสรีและเป็นธรรมควบคุมมาตรฐานสินค้าต่างชาติและการเสียภาษีสินค้า-นิติบุคคลรวมทั้งการใช้มาตรการปกป้องคุ้มครองผู้ประกอบการไทยตามกฎกติกา WTO และยกหารือประเด็นการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนรูปแบบใหม่ F2C(Factory to Customer) กรณีเตมู (TEMU) ภายใต้กลไกข้อตกลงทวิภาคีไทย-จีน และพหุภาคี เอฟทีเอ.อาเซียน-จีน ความตกลงDEFA(Digital Economy Framework Agreement)และAEC (ASEAN Economic Community)บนพื้นฐานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีระหว่างไทย-จีนและความร่วมมือในกรอบอาเซียน

ทั้งนี้สถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์ร่วมกับสถาบันทิวา (TVA) ได้จัดงาน 'รวมพลังไทย : สร้างอาชีพ สร้างชาติ' (Thai Power : Building Careers, Building the Nation) SME - E-COMMERCE COLLABORATION ณ สวนเสียงไผ่ สถาบันทิวา ทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพมหานครโดยได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ 5 องค์กรได้แก่

สถาบันทิวา (TVA) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) บริษัท โกชิปป์ จำกัด และ บริษัท นีโอเวนเจอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด 

เพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาอีคอมเมิร์ซไทยและเอสเอ็มอี.ไทยนอกจากนี้ยังมีการสัมมนาโดยนายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานกรรมการสมาคมสถาบันทิวาได้บรรยายถึงวัตถุประสงค์ของการผนึกความร่วมมือของ 5 องค์กร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธาน FKII Thailand และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวเปิดงานและบรรยายหัวข้อ 'สถานการณ์ตลาดและผลกระทบของอีคอมเมิร์ซและเอสเอ็มอีไทยกับแนวทางแก้ปัญหา การค้าออนไลน์ข้ามชาติ'

นายสุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยบรรยายพิเศษเรื่อง 'ศักยภาพเอสเอ็มอีไทยในการสนับสนุนอีคอมเมิร์ซไทย (Thai SME Potential and Strength for E-Commerce)' นายภาวัต พุฒิดาวัฒน์ CEO บริษัท โกชิปป์ จำกัดบรรยายหัวข้อ 'แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน (GoSell & GoShip - E-Commerce Platform : Thailand Situation)' ภญ.ภัสราธาดา วัชรธาดาอาภาภัค CMO บริษัท นีโอเวนเจอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด Thailand’s NO.1 Complete Solutions for E-Commerce บรรยายหัวข้อ 'Thai Think, Thai Made, Thai Trade' โดยมีนายราม คุรุวาณิชย์ บอร์ดเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์ สรุปการสัมมนา

ทั้งนี้ภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สมาคมสถาบันทิวา สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย บริษัท โกชิปป์ จำกัด และ บริษัท นีโอเวนเจอร์ โซลูชั่นส์ จำกัดได้มีการทำกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจเอสเอ็มอี.กับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยด้วย

'การบินไทย' เดินหน้า!! ขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ปักหมุด!! นำหุ้นกลับเข้า ตลท.ภายในไตรมาส 2 ปี 68

(28 ก.ย.67) ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 30 ก.ย.นี้ การบินไทยจะเริ่มกระบวนการแรกของการ 'ปรับโครงสร้างองค์กร' โดยจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) สำหรับการปรับโครงสร้างทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ)

"การบินไทยจะยื่นเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาปรับโครงการทุนครั้งนี้ มีรายละเอียดมากถึง 2,000 หน้า ซึ่งประกอบการ ข้อมูลบริษัท แผนธุรกิจ แผนจัดหาเครื่องบิน โดยมั่นใจว่าจะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในการบินไทย หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว"

ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา การบินไทยได้เดินสายเจรจาให้ข้อมูลกับเจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ที่ต้องแปลงหนี้เป็นทุน อาทิ เจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์ เจ้าหนี้กลุ่มสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนแผนฟื้นฟูของการบินไทย และเชื่อว่าการปรับโครงสร้างทุนครั้งนี้จะแล้วเสร็จตามเป้าหมาย ทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้

อย่างไรก็ดี การยื่นไฟลิ่งเพื่อปรับโครงสร้างทุนครั้งนี้ นับเป็นหนึ่งในกระบวนการตามเงื่อนไขเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยกำหนดผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการที่ต้องแล้วเสร็จรวม 4 เงื่อนไข ได้แก่...

1.การเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยต้องดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุน และได้รับสินเชื่อใหม่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน และมีจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ

2.ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ได้ติดต่อกัน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วย

3.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ใน 2 ปีก่อนจะรายงานผลสำเร็จของแผนฟื้นฟู

4.การแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น

สำหรับรายละเอียดการปรับโครงสร้างทุน การบินไทยกำหนดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้...

1.การแปลงหนี้ ประกอบด้วย...
- เจ้าหนี้กลุ่ม 4 แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของมูลหนี้เป็นทุน ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ได้แก่ กระทรวงการคลัง
- เจ้าหนี้กลุ่ม 5 (สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินจากการขายเครื่องบิน) แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน
- เจ้าหนี้กลุ่ม 6 (สถาบันการเงินไม่มีประกัน) แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน
- เจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน
- เจ้าหนี้กลุ่ม 4 5 6 และ 18-31 แปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมจากร้อยละ 24.50 ที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

2.การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน...
โดยส่วนนี้จะเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ภายหลังยื่นไฟลิ่งกับ ก.ล.ต.แล้ว กระบวนการหลังจากนั้นภายในเดือน พ.ย.2567 จะเริ่มกระบวนการใช้สิทธิ และแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม และภายในเดือน ธ.ค.2567 จะเข้าสู่กระบวนการเสนอขาย และจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน สำหรับผู้ถือหุ้นก่อนบริษัท เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP)

ทั้งนี้ หลังเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีส่วนทุนเป็นบวกนั้น อาจต้องใช้เวลา 2 เดือน เพื่อตรวจสอบงบการเงิน และประกาศงบการเงินงวดปี 2567 ในช่วงเดือน ก.พ.2568 หลังจากนั้นจะเริ่มยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และหุ้นของบริษัท กลับเข้าซื้อขายใน ตลท.ภายในไตรมาส 2 ปี 2568

โจทย์หนักรัฐบาล!! สินเชื่อบ้านไม่ขยับ แต่วิกฤตแรงงานขยับเอาๆ ฟากโรงพยาบาลเอกชนขาดทุน แห่ขอถอนตัวประกันสังคม

>> สินเชื่อบ้านโตต่ำที่สุดในรอบ 23 ปี จากปัญหารายได้และภาระหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง!!

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างสินเชื่อบ้านที่ปล่อยโดยธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวไม่เกิน 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตรายปีของสินเชื่อบ้านระบบธนาคารที่ต่ำที่สุดในรอบ 23 ปี เนื่องจากปัญหาด้านรายได้และภาระหนี้สินสูง ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหญ่ของครัวเรือน โดยเฉพาะตลาดใหม่อย่างเช่นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มจากหนี้ก้อนเล็ก ๆ และหนี้รถ จนทำให้โอกาสการก่อหนี้บ้านลดลง

การชะลอลงของยอดคงค้างสินเชื่อบ้านดังกล่าว เป็นผลจากฝั่งธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ซึ่งครองส่วนแบ่งประมาณ 55-56% ของตลาดสินเชื่อบ้านทั้งหมด โดยตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา สินเชื่อบ้านระบบธนาคารพาณิชย์เติบโต 0.8% ในไตรมาส 2 ปี 2567 ชะลอลงจาก 1% ในไตรมาส 1 ปี 2567

>> คุณภาพหนี้อาจเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้น 

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) สินเชื่อบ้านของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 3.90% ของสินเชื่อรวม เทียบกับ 3.71% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งรวมถึง NPLs ในบ้านระดับราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ที่เริ่มขยับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 รวมไปถึงหนี้ในกลุ่มบ้านระดับราคา 10-50 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

>> รพ.เอกชน จ่อออกจากประกันสังคม หลังโดนตัดงบลง 40% ทำให้ขาดทุน

สมาคมโรงพยาบาลเอกชนแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจทำให้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งต้องถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) หลังจากที่ถูกปรับลดงบค่ารักษาในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงลงถึง 40% โดยลดลงจาก 12,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW เหลือเพียง 7,200 บาทต่อหน่วย 

นอกจากนี้ ยังไม่ได้มีการปรับค่าตอบแทนมาเป็นเวลากว่า 5 ปี ทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกันตน ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคมต้องเผชิญกับภาระขาดทุน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้จ่ายไปล่วงหน้าแล้ว รวมถึงภาษีที่ต้องจ่ายตามประมาณการรายได้ ทำให้การปรับลดงบประมาณนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะการเงินของโรงพยาบาล

แม้ในปี 2565 สำนักงานประกันสังคมจะปรับเพิ่มค่าหัวเหมาจ่ายจาก 1,640 บาท เป็น 1,808 บาท แต่สำหรับกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังกลับไม่มีการปรับเพิ่มค่าตอบแทนมาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งส่งผลให้จำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับระบบประกันสังคมลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุดมีโรงพยาบาลเอกชนอีก 3 แห่ง ได้แก่ รพ.ยันฮี, รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ และรพ.ศรีระยอง เตรียมออกจากระบบประกันสังคม มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคมนี้

กลุ่มแรงงาน ที่ยังต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ก็คงต้องรอโอกาสต่อไป การเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยใช้สิทธิจากกองทุนประกันสังคม คงต้องคิดหนักมากขึ้น จากสถานพยาบาลที่ลดน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้บริการ ขออย่าให้ถึงกับมีเหตุที่ โรงพยาบาลรัฐ แบกรับการขาดทุนไม่ไหว จนต้องถอนตัวจากประกันสังคม เลย ...

'นายกฯ' เปิดทำเนียบฯ ต้อนรับ ประธานใหญ่ ‘แอลฟาเบต อิงก์’ เยือนไทย ถก ‘กูเกิล’ ปักหมุดสร้าง Data Center ต่อยอด 12 ปีดำเนินธุรกิจในไทย

(30 ก.ย. 67) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าวันนี้ เวลา 17.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเปิดห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ต้องรับ Mrs.Ruth Porat ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนบริษัท แอลฟาเบต อิงก์ (Alphabet Inc.) และบริษัทกูเกิล บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ในการพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน ของ Alphabet และ Google ในครั้งนี้จะมีการหารือกันเกี่ยวกับโครงการลงทุนของกูเกิลในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมนิทรรศการและข้อมูลการลงทุนโครงการใหม่ และแผนงานการพัฒนาดิจิทัลของกูเกิลในไทย รวมทั้งเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองแก่ Mrs. Ruth Porat ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนบริษัท Alphabet และ Google ด้วย

ก่อนหน้านี้กูเกิลได้ประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อตั้งศูนย์ข้อมูล (Cloud Region) แห่งแรกพร้อมเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล คาดการณ์สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 4,100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ภายในปี 2573 และสร้างงาน 50,300 ตำแหน่ง ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยจะมุ่งเน้น 4 ด้านหลัก ได้แก่...

1. ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล: Google พิจารณาจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในไทย และก่อตั้ง Cloud Region แห่งแรกเพื่อรองรับบริการดิจิทัลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดการณ์ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมหาศาล

2. ส่งเสริมการใช้ AI อย่างชาญฉลาด: รัฐบาลไทยและ Google ร่วมกันพัฒนาโครงการความร่วมมือด้าน AI โดยมุ่งเน้นการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบในภาครัฐ พัฒนาโซลูชัน AI ขยายผล และสร้างไซเบอร์สเปซที่มั่นคง

3. สนับสนุนนโยบาย Go Cloud-First: Google Cloud หนุนนโยบายส่งเสริมการใช้คลาวด์ของภาครัฐไทย ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ระบุประเภทของข้อมูลที่เหมาะกับการจัดเก็บบน Google Distributed Cloud Hosted ซึ่งเป็นบริการคลาวด์ที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว และสนับสนุนนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policies)

4. พัฒนาคนไทยสู่อาชีพดิจิทัล: Google มุ่งพัฒนาบุคลากรไทยให้มีทักษะด้านดิจิทัล ผ่านการฝึกอบรมและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีนวัตกรรม เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

โดยแผนที่กูเกิลจะลงทุนในไทยในธุรกิจ Data Center ได้ประกาศว่าบริษัทมีแผนที่จะลงทุนสร้าง Data Center เพิ่มเติมในอาเซียน โดยพิจารณาไทยเป็น 1 ในสถานที่ตั้งที่มีศักยภาพสำหรับการสร้าง Data Center ประเทศที่ 11 ของบริษัทจากทั่วโลก และเป็นแห่งที่ 4 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเป็นการต่อยอดจากการลงทุนของ Google ตลอด 12 ปีที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

สำหรับบริษัทแอลฟาเบต อิงก์ เป็นบริษัทโฮลดิ้งเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งขึ้นผ่านการปรับโครงสร้างของบริษัทกูเกิลในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 2015 และกลายเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลกับอดีตบริษัทย่อยของกูเกิลบางส่วน แอลฟาเบตเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เมื่อแบ่งตามรายได้ และเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีค่ามากที่สุดในโลก ถือเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศเจ้าใหญ่ของสหรัฐ 5 แห่ง 

'เอกนัฏ' หนุน!! ปรับเหมืองเก่า 'ภูเขาหินเขางู' เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หวัง!! กระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คืนกำไรสู่ท้องถิ่นตามหลัก BCG

(30 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสลงพื้นที่ร่วมกับคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ภูผาแรด ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานหินเขางู อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมในจังหวัดราชบุรี ซึ่งภูเขาหินเขางู เคยเป็นแหล่งทำเหมืองแร่หินปูนที่สำคัญในอดีต มีการขุดค้นแร่เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่เมื่อการทำเหมืองหยุดลง พื้นที่แห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน จนเกิดการฟื้นฟูตามธรรมชาติ จนมีความสวยงามและเหมาะสำหรับการส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) มีแผนที่จะให้พื้นที่หินเขางูนี้เป็นต้นแบบในการพัฒนาเหมืองเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว มาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์แก่พื้นที่และชุมชนรอบข้าง โดยได้เชิญธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มาร่วมสำรวจพื้นที่ด้วยกันว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจใดในพื้นที่ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมาเพื่อใช้ประกอบกิจการ หรือควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ. หรือ ดีพร้อม) ช่วยให้คำปรึกษา แนะนำ ด้านการพัฒนาอาชีพ พัฒนาสินค้า และร่วมสร้างอัตลักษณ์เฉพาะให้สินค้า อาหาร และของใช้ต่าง ๆ ของเขางู ให้มีความน่าสนใจเพื่อช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว และเป็นการกระจายรายได้ให้เมืองรอง 

"ผมอยากให้พื้นที่ของอุทยานเขางูแห่งนี้ เป็นต้นแบบของการพัฒนาเหมืองเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว โดยให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยอุทยานเขางูได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับประเทศ มีทั้งบริการแคมป์ปิ้งและกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ ที่ไม่เพียงแต่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ และเป็นสถานที่สำหรับผู้ชื่นชอบกิจกรรมผจญภัย เช่น ปีนหน้าผา ปั่นจักรยาน ทั้งในอนาคตยังมีแผนที่จะนำอุปกรณ์เหมืองเก่ามาจัดแสดงโชว์ไว้สำหรับศึกษาและอนุรักษ์ เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาชน จะทำให้การฟื้นฟูอุทยานเขางู กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจมวลรวมของจังหวัด และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้" รมว.เอกนัฏ กล่าว    

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และขอความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี ร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวปักหมุดเมื่อมาเยือนจังหวัดราชบุรี และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีแผนการพัฒนาพื้นที่เหมืองหลังจากการหยุดประกอบกิจการก่อนการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ อีกทั้งกำหนดแผนการพัฒนาพื้นที่ประกอบการที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์สูงสุดของชุมชน เช่น พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นพื้นที่สันทนาการ ซึ่งถือเป็นการคืนกำไรให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ อาชีพ ให้กับชุมชนโดยรอบ ตามแนวทางเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Model (Bio-Circular-Green  Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนำมาเป็นแนวทางในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจที่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ ผ่านการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และเป็นการจัดการทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

'เผ่าภูมิ' ปลื้ม 'ธนารักษ์' จัดเก็บ 1.4 หมื่นล้าน ทะลุเป้า 25% พุ่งขึ้น 58% สูงสุดในรอบ 91 ปี ตั้งแต่ก่อตั้ง

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการจัดเก็บรายได้ของกรมธนารักษ์ปีงบประมาณ 2567 ดังนี้

1. จัดเก็บรายได้ประจำปีงบประมาณ 2567 รวม 14,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 57.9% สูงกว่าประมาณการ 25.4% สูงที่สุดในรอบ 91 ปี สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ก่อตั้งกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นผลจากการเร่งรัดการประมูลที่ราชพัสดุทั่วประเทศ การต่อสัญญาผู้เช่ารายใหญ่อย่างมียุทธศาสตร์ การเพิ่มพื้นที่การจัดหาประโยชน์ รวมถึงค่าทดแทนเวนคืนที่ดินต่างๆ

2. มีจำนวนผู้เช่าที่ราชพัสดุ 225,820 ราย แบ่งเป็นเชิงสังคม 86% และเชิงพาณิชย์ 14% หากคิดเป็นสัดส่วนรายได้ กรมธนารักษ์มีรายได้จากเชิงพาณิชย์สูงถึง 98% และเชิงสังคม 2% ทั้งนี้กรมธนารักษ์ได้มอบค่าเช่าราคาต่ำให้แก่ที่ราชพัสดุเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อประกอบการเกษตร เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะโครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์

3. กรมธนารักษ์ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่การจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุปีละ 9-10% โดยเร่งเรียกคืนที่ราชพัสดุในครอบครองของหน่วยงานรัฐ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยในปีงบ 2567 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จราว 24,000 ไร่ ซึ่งในส่วนนี้จะนำมาสู่การจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

4. ตั้งเป้ารายได้รวม 55,000 ในแผนระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 โดยเร่งเพิ่มค่าเช่าสำหรับเพื่อการพาณิชย์ของภาคเอกชนโดยมีเป้าหมาย ROA ที่ 3% แต่ยังคงดำเนินนโยบายค่าเช่าผ่อนปรนให้กับประชาชนที่เช่าในเพื่อที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรม

5. ในปีงบประมาณ 2568 กรมธนารักษ์จะดำเนินโครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ มอบสัญญาเช่าที่ดินที่ราคาต่ำให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เราตั้งเป้าทำให้ดีขึ้น เร็วขึ้น มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและอาชีพให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย

'บางจากฯ' โชว์ฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง ด้าน 'ทริส เรทติ้ง' เพิ่มอันดับเครดิตเป็น A+

(30 ก.ย. 67) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับการปรับอันดับจาก ทริส เรทติ้ง เพิ่มเครดิตองค์กรขึ้นเป็น 'A+' จาก 'A' สูงสุดตั้งแต่บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับเครดิต โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตที่ 'คงที่' ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 30 กันยายน 2567

การปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของโครงสร้างธุรกิจของบางจากฯ ที่ยกระดับขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมันและธุรกิจการตลาด หลังจากการรวมบริษัทบางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) (BSRC) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทบางจาก รวมถึงการขยายธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) มีส่วนช่วยสร้างการเติบโต อีกทั้งความหลากหลายของธุรกิจยังช่วยลดความผันผวนของผลการดำเนินงาน จากราคาน้ำมันหรือค่าการกลั่นได้ดีขึ้น

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงความสำเร็จและศักยภาพในการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากเข้าซื้อกิจการ BSRC ได้มีการรับรู้ผลประโยชน์จาก Synergy เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ ทำให้กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมันและกลุ่มธุรกิจการตลาดของบางจากฯ เติบโตและแข็งแกร่งมากขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ลงทุนผ่านบริษัท OKEA ASA ที่ประเทศนอร์เวย์ ยังมีการเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตที่วางไว้ ทำให้บางจากมีความสามารถในการแข่งขันและความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรามุ่งมั่นที่จะรักษาวินัยทางการเงิน และพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนและมั่นคง”

>> เกี่ยวกับบางจากฯ
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินงานใน 5 ธุรกิจหลัก คือ...

1) กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ผู้นำด้านการกลั่นน้ำมันของประเทศ ด้วยกำลังการผลิตรวมเกือบ 300,000 บาร์เรลต่อวัน จากโรงกลั่นน้ำมันแบบ Complex Refinery มาตรฐานระดับโลก 2 แห่ง คือ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนงและโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขยายสู่ธุรกิจการค้าน้ำมันผ่านบริษัทบีซีพี เทรดดิ้ง (BCPT) และต่อยอดเครือข่ายธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิง ผ่านบริษัทกรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ (BFPL) รวมถึงลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF ผ่านบริษัทบีเอสจีเอฟ (BSGF) 

2) กลุ่มธุรกิจการตลาด ส่งมอบ Greenovative Experience ผ่านเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,200 แห่ง เสริมด้วยธุรกิจ non-oil เช่น กาแฟอินทนิล น้ำมันหล่อลื่น Furio EV Charger รวมทั้งความร่วมมือกับพันธมิตรด้านอาหารหลากหลายและนำระบบดิจิทัลมาส่งมอบประสบการณ์ทันสมัย สะดวก ปลอดภัย ให้กับผู้ใช้บริการ 

3) กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการการใช้พลังงานของผู้บริโภคและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย บมจ. บีซีพีจี ผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค 

4) กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินการภายใต้ บมจ. บีบีจีไอ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพรายใหญ่ของประเทศและขยายสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง 

5) กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผ่านการถือหุ้นใน OKEA ASA ประเทศนอร์เวย์ ที่เป็นที่ยอมรับว่ามีมาตรฐานด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และมีกลุ่มธุรกิจใหม่ (New Businesses) อาทิ ธุรกิจ Battery as a Service สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Winnonie และสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) เน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งช่วยสร้างระบบนิเวศสำหรับ นวัตกรรมสีเขียว

นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตสภาวะภูมิอากาศและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และร่วมก่อตั้งภาคีเครือข่ายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งอนาคต SynBio Consortium

บางจากฯ ได้รับการประเมินจาก S&P Global CSA ผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี DJSI (ผลประเมินเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566) ได้คะแนนการประเมินสูงเป็น Top 5% ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refining and Marketing และเป็นบริษัทไทยรายเดียวที่ได้รับการประเมินความยั่งยืน MSCI ESG Ratings ระดับ AA สูงสุดในกลุ่ม Oil & Gas Refining, Marketing, Transportation & Storage ต่อเนื่อง 5 ปีซ้อน

พร้อมกันนี้ บางจากฯ ตั้งเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050

‘ปธ.กมธ.อุตฯ’ เยือนนครฉงชิ่ง หารือการลงทุน-นำเข้าสินค้าไทย ดันเพิ่มสัดส่วนสินค้าในอุตฯ EV สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย

(30 ก.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า

ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม และคณะได้เดินทางมายังนครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมหารือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนให้มีการใช้สินค้า หรือชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศไทยโดยผู้ประกอบการชาวไทยในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการชาวไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และยังเป็นการเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน (Suply Chain) ให้กับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีการผลิตในประเทศไทยด้วย 

โดยส่วนหนึ่งของการหารือในครั้งนี้ได้กล่าวถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนแผงวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board) โดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนอยู่ในระดับสูง และในอนาคตจะมีการใช้งาน PCB ในเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท 

การร่วมหารือในครั้งนี้ได้รับผลการตอบรับที่ดีมากจากผู้ร่วมหารือทุก ๆ ฝ่าย และมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามข้อหารือต่อไป เพื่อนำไปสู่การใช้ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศไทยมากกว่าที่กฎหมาย หรือเกณฑ์ที่ BOI ได้กำหนดไว้ 

การหารือของประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมและคณะในครั้งนี้ได้มีการหารือร่วมกับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตวัสดุสำหรับผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรพิมพ์ (PCB) และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ‘ฉางอัน’

นอกจากนั้นประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมยังได้มีการร่วมหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน นครฉงชิ่ง 

นายอัครเดช กล่าวในประเด็นนี้ว่า เป็นการหารือเพื่อพัฒนาไปสู่ความร่วมมือกันในอนาคตใน 2 ด้าน ด้านแรก คือ เป็นการหารือเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมายังนครฉงชิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรม หรือสินค้าทางการเกษตร 

ด้านที่สอง เป็นการหารือเพื่อให้มีการลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และควรต้องเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษน้อยที่สุด ซึ่งทางคณะกรรมการดังกล่าวต่างแสดงความสนใจที่จะร่วมพัฒนาการลงทุนและการค้าร่วมกับไทยในอนาคต 

นายอัครเดช ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม กล่าวในตอนท้ายว่า การเจรจา และผลักดันในครั้งนี้ นอกจากเป็นสิ่งที่ตนได้ให้ความสำคัญผ่านการร่วมหารือกับผู้แทนของประเทศจีนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องแล้ว

เรื่องนี้ยังเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายรวมถึงเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการชาวไทย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อันเป็นหนึ่งในการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย

‘IRPC’ ตั้ง ‘เทอดเกียรติ พร้อมมูล’ นั่ง CEO คนใหม่ สานภารกิจขับเคลื่อนองค์กรเติบโตยั่งยืน

(30 ก.ย. 67) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) แต่งตั้ง นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป 

สำหรับ นายเทอดเกียรติ มีประสบการณ์ในตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และมีความเชี่ยวชาญทั้งงานแผนกลยุทธ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านภารกิจในการกำกับดูแล และกำหนดทิศทางให้กับกลุ่มธุรกิจที่สำคัญของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. รวมทั้งดำรงตำแหน่งสำคัญในหลายองค์กร ได้แก่ กรรมการบริหาร สถาบันวิทยสิริเมธี ประธานคณะกรรมการจัดการสถาบันวิทยาการพลังงาน อุปนายก สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กรรมการ สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย

นายเทอดเกียรติ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท Master of Engineering (Industrial & Manufacturing Systems Engineering) จาก University of Missouri, Columbia, USA และปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมเคมี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายเทอดเกียรติ CEO ลำดับที่ 8 ของ IRPC จะมาขับเคลื่อนองค์กร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล ที่คำนึงถึงสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืนต่อไป 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top