Sunday, 11 May 2025
Econbiz

กรมการค้าภายใน ชี้ราคาน้ำมันปาล์มปรับขึ้นจริง แต่เชื่อมีนาคมนี้เริ่มปรับราคาลง หลังผลปาล์มฤดูใหม่ทยอยออกทำให้มีผลผลิตเพียงพอ

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีปัญหาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดราคาแพงและขาดแคลน ว่า ในเดือน มี.ค.64 คาดว่า สถานการณ์น้ำมันปาล์มจะเริ่มคลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ โดยผลผลิตปาล์มจะทยอยออกสู่ตลาดอีกครั้ง ดังนั้นในช่วงนี้ขอให้ผู้บริโภคใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันลำข้าวไปก่อน

ส่วนราคาการขายในตอนนี้ พบว่ามีราคาปรับขึ้นจริง แต่ยืนยันว่ายังไม่มีปัญหาการขาดแคลน โดยบางพื้นที่มีการจำกัดการซื้อ ก็เพื่อต้องการกระจายสินค้าให้ทั่วถึง โดยในกรณีที่น้ำมันปาล์มขวด ตามร้านโชห่วย ร้านค้าในตลาดสดขายขึ้นเป็นขวด 60 บาท กรมฯ ได้ขอความร่วมมือสมาคมตลาดสดไทยดูแลไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาเกินจริงจนทำให้ชาวบ้านเดือนร้อน

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า น้ำมันปาล์มแพงเป็นปัญหาระยะสั้น ๆ และหลังจากนี้น่าจะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อยากขอให้ชาวบ้านช่วยเห็นใจแก่เกษตรกรบ้าง เพราะที่ผ่านมาราคาผลปาล์มสดตกต่ำมานาน และเพิ่งกลับมีราคาสูงขึ้นช่วงนี้ จึงขอโอกาสให้เกษตรกรได้ขายผลปาล์มราคาดีบ้าง เพราะในเดือนมีนาคม เมื่อผลปาล์มฤดูใหม่ทยอยออกมา น่าจะทำให้มีผลผลิตเพียงพอ และทำให้ราคาปาล์มขวดลดลง

รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ ยก 8 ประเด็นคาใจแจงฝ่ายค้าน ยืนยันเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่อย่างที่ฝ่ายค้านอภิปรายในสภา

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 64 ในหัวข้อ “เรื่องจริงเศรษฐกิจไทย” โดยชี้แจง 8 ประเด็นข้อสงสัยของพรรคฝ่ายค้าน เรื่องการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล ยืนยันไม่ได้แย่อย่างที่อภิปรายในสภา มีเนื้อหาดังนี้...

#เรื่องจริงเศรษฐกิจไทย

จบลงไปแล้วนะครับสำหรับการอภิปรายที่รัฐสภาในญัตติไม่ไว้วางใจท่านนายกฯ และรัฐมนตรีอีก 5 ท่าน ซึ่งผมได้เตรียมชี้แจงข้อสงสัยและข้อกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้าน เรื่องการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ก็ไม่มีโอกาสได้พูดในสภา เนื่องจากเวลาไม่พอ ผมจึงขอสรุปสาระสำคัญซึ่งเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่จะทำให้มองเห็นการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาล และข้อเท็จจริงของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้ ว่าไม่ได้แย่อย่างที่อภิปรายกันในสภาครับ

1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19

ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ผู้อภิปรายหลายท่านบอกว่าประเทศไทยย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ย่ำแย่ของทุกประเทศ จุดต่ำสุดของไทยอยู่ที่เดือน เม.ย. ปีที่แล้ว หลังรัฐบาลค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ดัชนีชี้วัดทุกตัวจึงดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเดือน ธ.ค. มีการระบาดระลอกใหม่ ดัชนีบางตัวก็ยังดีกว่าเดือน เม.ย. ด้วยเรามีประสบการณ์และข้อมูลจากการระบาดครั้งแรก จึงไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ แต่คุมเข้มบางจังหวัด ตัวเลขเศรษฐกิจดูจะลดลง แต่สัญญาณบวกได้ปรากฏอยู่ในไตรมาสที่ 4 โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนและบริโภคของรัฐ

ข้อมูลของสภาพัฒน์ ปี 63 เราติดลบ 6.1% แต่ถ้าติดตามข้อมูลมาตั้งแต่ต้นปี หลายสถาบันเห็นว่าไทยจะติดลบ 10 %, 8.5% บ้าง แต่ประเทศไทยเราร่วมมือกันและควบคุมได้ ถือว่าบอบช้ำไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ไม่มีใครไม่ลบ แต่ที่ต่ำที่สุดคือฟิลิปปินส์ มีเพียงเวียดนามที่เป็นประเทศที่เพิ่งเติบโต แต่ก็เติบโตน้อยกว่าอัตราที่เคยเติบโตอยู่มาก ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเราไม่ได้แย่ที่สุด เราเกาะกลุ่มอยู่ในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้

2. การว่างงาน

ผู้อภิปรายหลายท่านบอกว่ามีคนว่างงาน 10 ล้านคน แต่คงเป็นประมาณการตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดการระบาด เพราะเขาไม่รู้ว่าการระบาดอย่างนี้ มีผลกระทบให้เกิดการว่างงานกันเท่าไร ก็คงมองในกรณีเลวร้ายที่สุดถึง 10 ล้านคน แต่ตัวเลขจริงที่ปรากฎออกมาคือ 1.9% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนสูงกว่านี้ แสดงให้เห็นถึงความบอบช้ำที่มีทั่วโลก แต่ประเทศไทยเราทำได้ดี

3. ความน่าเชื่อถือในสายตานานาชาติ

3 สถาบันจัดอันดับเครดิต คือ มูดี้ส์ ฟิทช์เรตติ้ง และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ประเมินให้ไทยอยู่ในอันดับเท่าเดิม ในขณะที่หลายประเทศถูกปรับลดอันดับลง สำหรับความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจหรือการควบคุมการแพร่ระบาด ปรากฏว่าอยู่ในการจัดอันดับต่างๆ หรือการยอมรับจากนานาชาติ ล่าสุดเราติดอันดับ 1 ใน 4 ประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ดีที่สุดในโลก ในขณะที่ความเข้มแข็งทางการเงิน การคลัง ติดอันดับต้นๆ ของประเทศเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุด นี่คือการประเมินเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมานี้เอง

4. รัฐบาล Very กู้ จริงหรือเปล่า

ปี 63 หนี้สาธารณะของเราอยู่ที่ราว 52% ของจีดีพี ตัวเลขกลมๆ ของหนี้สาธารณะคือ 8.1 ล้านล้านบาท ตอนที่ท่านนายกฯ รับตำแหน่งใหม่ๆ หนี้สาธารณะมีอยู่ 5.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้านั้น ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี 8 เดือน หนี้ของเขาเพิ่ม 1.3 ล้านล้านบาท รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อยู่ 6 ปี 9 เดือน หนี้เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านบาท เฉลี่ยกู้ต่อเดือนไม่ต่างกัน แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยังกู้น้อยกว่าด้วยซ้ำไป เงินกู้เหล่านี้ได้ถูกกระจายไปใช้ในการลงทุนโครงการสำคัญๆ ตั้งแต่ปี 59-63 จำนวน 162 โครงการ เป็นโครงการทางด้านคมนาคม สาธารณูปโภค และพลังงานเกือบทั้งหมด นี่คือการสร้างพื้นฐานให้ประเทศไทยเติบโตต่อไปในอนาคต และเป็นการกู้ที่ไม่เกินเลยจากรัฐบาลก่อนหน้านี้

5. รัฐบาลนี้ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงที่สุด

รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลที่ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงที่สุด เพราะสูงมาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว และสูงมาเรื่อยๆ ตอนที่ท่านนายกฯ เข้ามาเมื่อกลางปี 57 เรามีหนี้ครัวเรือนประมาณ 80% ท่านพยายามประคับประคองไม่ให้เพิ่ม มีปีหนึ่งลดลงไปที่กว่า 70% พอมาเกิดวิกฤต จีดีพีลดลงจาก 80% ที่พยายามรักษาไว้ กลายเป็น 86% เราพยายามบริหารจัดการให้เป็นหนี้มีคุณภาพ ประมาณ 65% ของหนี้ครัวเรือนจึงเป็นหนี้ที่กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ใช้ประกอบธุรกิจ ซื้อพาหนะ ที่เหลือเป็นเรื่องการอุปโภคบริโภค ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา ตอนนั้นเกิดโควิด-19 แล้ว เรามีหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้เสียที่อยู่ในระบบธนาคารเพียง 3% อยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของหนี้เสียของระบบธนาคาร

6. แบงก์จะล้มไหม

ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินดูที่ทุนที่มีความเพียงพอต่อสินเชื่อที่ปล่อยออกไป ซึ่งวันนี้อยู่ในสัดส่วน 20% มากกว่าอัตราขั้นต่ำที่ ธปท. กำหนด คือประมาณ 11% นับว่าสูงกว่าราว 2 เท่า เอ็นพีแอลหรือหนี้เสียในระบบ 3.1% ถ้าเรากลัวกันว่าเศรษฐกิจดิ่งแล้วแบงก์จะล้ม ก็ไปดูกันตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นทุนของสถาบันการเงินมีเพียง 9.5% ซึ่งต่ำกว่าปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องถือว่าสถาบันการเงินเข้มแข็งมาก สินเชื่อก็โตขึ้นในปีที่ผ่านมา กำไรยังมีอยู่ สถาบันการเงินยังมีความเข้มแข็งที่จะดูแลลูกหนี้

7. ธุรกิจหนี้ท่วมจนต้องปิดกิจการมากที่สุด

วันนี้ 21 สถาบันการเงินมีการปรับโครงสร้างหนี้จำนวนที่อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะดำเนินกิจการต่อไปได้ และในปี 63 มีการจัดตั้งใหม่ 63,340 ราย เช็กเด้งน้อยลง 23% การขอใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ มีผู้ขอมากกว่าปี 62 สำหรับเรื่องที่บอกว่าประชาชนหนี้ท่วมจนอยู่ไม่ได้นั้น ที่ผ่านมาเราให้ไป 50,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มีจำนวนคนหลายล้านคนที่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ยและการพักชำระหนี้ จนถึงสิ้นปี มีมาตรการเยียวยาครอบคลุมคน 42.3 ล้านคน และรัฐบาลยังได้มีมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินสมทบประกันสังคม พร้อมเสริมสภาพคล่อง สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเงิน 2 แสน 9 หมื่นกว่าล้านบาท

ก่อนโควิด-19 ระลอกใหม่เมื่อเดือน ธ.ค. ครม. อนุมัติการช่วยเหลือผ่านการค้ำประกันของ บยส. ให้ธุรกิจที่มีปัญหา โดยเฉพาะที่เป็นเอสเอ็มอีในวงเงิน 1 แสน 5 หมื่นล้านบาท กลุ่มที่เป็นรายย่อยไมโครเอสเอ็มอีอีก 2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้การคิดดอกเบี้ยผิดนัด ธปท. ปรับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดใหม่เป็นอัตราดอกเบี้ยปกติ และคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามจำนวนที่ผิดนัด ตรงนี้เป็นการบรรเทา ลดค่าใช้จ่ายทางการเงินจะมีผลตั้งแต่เดือน เม.ย. 64

8. ประเทศไทยไม่ได้เหลื่อมล้ำมากที่สุด

มีคนพูดว่าประเทศไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก นั่นเป็นแค่มิติเดียว คือความมั่งคั่ง ถ้าจะดีต้องดูให้ครบทุกมิติ ต้องดูโอกาส การเข้าถึงระบบสาธารณสุข สิทธิประโยชน์ต่างๆ การดูแลโดยภาครัฐบาล รวมกันแล้ว ไทยเราเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในอาเซียนที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย ยิ่งหากดูเรื่องความยากจน เราน้อยที่สุด ถ้าไม่นับสิงคโปร์ เพราะรัฐบาลสร้างโอกาส มีสวัสดิการด้านสาธารณสุข และมีสวัสดิการที่ดูแลประชาชนที่มีความเปราะบาง


เครดิตเพจ : https://www.facebook.com/supattanapongp/photos/pcb.175498857710644/175479794379217/

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติฉีดวัคซีนเดินทางเข้าประเทศ ฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย คาดเริ่มเปิดรับได้ตั้งแต่ไตรมาส 3

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยว ได้สั่งให้ ททท. ทำแผนในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3

ล่าสุด ททท.ได้สั่งให้ทุกสำนักงานต่างประเทศของ ททท.แจ้งข้อมูลและสถานการณ์ของประเทศต้นทางทุก 2 สัปดาห์ ทั้งข้อมูลการฉีดวัคซีนว่ามีจำนวนเท่าใด รวมถึงแนวทางการเปิดประเทศว่าประเทศที่ดูแลนั้นมีนโยบายเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ เพื่อให้ ททท. กำหนดแนวทางการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องตรงตามเป้าหมาย

นายฉัตรทันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า ททท.ได้หารือกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดเล็ก ถึงแนวทางการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข รับไปดูแนวทางและเตรียมทำแผนออกมาโดยเร็ว เพื่อให้ ททท. กลับไปวางแผนดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้เร็วมากขึ้น พร้อมทั้งจะได้ไปหารือกับเอกชนภาคการท่องเที่ยว เพื่อออกแพ็คเกจท่องเที่ยว ให้ตรงกับตลาดนักท่องเที่ยวได้ด้วย

ทั้งนี้จากการหารือเบื้องต้นได้กำหนดแนวทางเอาไว้ 3 ตัวอย่าง ตัวอย่างแรก คือ แนวทางการดึงนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เป็นรายบุคคลหรือกลุ่มคณะ จะเดินทางเข้ามาได้หรือไม่ และต้องมีเอกสารอะไรประกอบบ้าง ในกรณีที่ประเทศไทยยังไม่มีการฉีด ตัวอย่างที่สอง คือ ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทางที่มีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้ว จะเข้ามาได้อย่างไร และตัวอย่างสุดท้าย คือ กรณีที่ทั้งประเทศไทย และประเทศต้นทางมีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้ว คนที่เดินทางเจ้ามาจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดกระทรวงสาธารณสุข จะสรุปมาอีกครั้ง

“การดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากนี้เป็นต้นไป จะกำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ คนฉีดวัคซีนมาก่อนให้เดินทางเข้ามาในประเทศได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน เช่น เข้าได้อย่างไร ต้องกักตัวกี่วัน ใช้เอกสารอะไร ใช้ประกันอะไรหรือไม่ เป็นสิ่งที่ ททท. ถามไปแล้ว และรอสาธารณสุขตอบกลับมา”

เจ้าหน้าที่ตำรวจ - อย. บุกทลายโรงงานลักลอบผลิตผงชูรส น้ำยาล้างจาน สบู่ยี่ห้อดังย่านลำลูกกา ปทุมธานี อึ้ง พบของกลางเป็นตัน เผยใช้ถุงบรรจุพิมพ์เลียนแบบ ก่อนส่งไปขายตามตลาดนัด เน้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 ก.พ. ที่โกดังเลขที่ 38/8 ภายใน อรดาแฟคเตอร์รี่แลนด์ คลอง 8 ลำลูกกา ต.ลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี พล.ต.ต.วิวัฒน์ ไชสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต. ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ., ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการทลายโรงงานลักลอบผลิตผงชูรส น้ำยาล้างจาน และสบู่ สวมยี่ห้อดัง ย่านลำลูกกา

พล.ต.ต.วิวัฒน์ ไชสังฆะ รอง ผบช.ก.กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า มีโรงงานแห่งหนึ่งย่านลำลูกกา ลักลอบผลิตผงชูรส น้ำยาล้างจาน และสบู่ ปลอม จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เข้าตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว พบแรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งกำลังบรรจุผงชูรสยี่ห้อ อายิโนะโมะโต๊ะ น้ำยาล้างจานยี่ห้อ ซันไลต์ และสบู่ยี่ห้อ เบนเนท

จากการสืบสวนพบว่า สถานที่แห่งนี้มีพฤติการณ์ลักลอบผลิตผงชูรส น้ำยาล้างจาน และสบู่ ปลอมมากว่า 1 ปีแล้ว ผลิตผงชูรสโดยแบ่งบรรจุจากผงชูรสไม่มียี่ห้อนำมาผสมเกลือ ก่อนบรรจุใส่ถุงที่พิมพ์ยี่ห้อ “อายิโนะโมะโต๊ะ” ผลิตน้ำยาล้างจานโดยแบ่งบรรจุจากน้ำยาล้างจานที่ผสมเอง แล้วนำมาบรรจุถุงที่พิมพ์ยี่ห้อ “ซันไลต์” ส่วนสบู่จะนำมาห่อพลาสติกและบรรจุลงกล่องที่พิมพ์ยี่ห้อ “BENNET” แล้วส่งสินค้าสำเร็จรูปไปขายในจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส

เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางไว้ทั้งหมด เป็นผงชูรสสำเร็จรูปปลอมยี่ห้อ อายิโนะโมะโต๊ะ กว่า 5,000 ซอง ผงชูรสวัตถุดิบ กว่า 22 ตัน เกลือวัตถุดิบกว่า 1.4 ตัน ซองผงชูรสเปล่ากว่า 1.1 แสนชิ้น น้ำยาล้างจานสำเร็จรูปยี่ห้อ ซันไลต์ 20 ถุง ซองน้ำยาล้างจานเปล่ากว่า 25,000 ชิ้น สบู่ยี่ห้อ BENNET กว่า 2,088 ก้อน สบู่เปลือยรอบรรจุกว่า 20 กระสอบ ลังบรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์การผลิต และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตอีกจำนวนหนึ่ง

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ฐานผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตและปลอม มีโทษสูงสุด จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาทถึง 1 แสนบาท ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ฐานผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 โดยไม่แจ้งข้อเท็จจริงและปลอม มีโทษสูงสุด ต้องระวางโทษกึ่งหนี่งของโทษตามมาตรา 75 (จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) และตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ฐานผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง/ปลอม/แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ในประเด็นการละเมิดเครื่องหมายการค้า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเชิญผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อไป

พล.ต.ต. วิวัฒน์ ไชสังฆะ รอง ผบช.ก. กล่าวอีกว่า ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด ทำให้เจ้าหน้าที่ทั้ง อย. และ บก. ปคบ. สามารถสืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดพร้อมของกลางเป็นจำนวนมาก ไม่ให้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพหลุดลอดไปจำหน่าย หากพบเห็นการลักลอบผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน ปคบ. 1135 เพื่อตำรวจ บก. ปคบ. และเจ้าหน้าที่ อย. จะร่วมกันปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป

ด้านภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอมที่ยึดได้ใช้วิธีสวมยี่ห้อผลิตภัณฑ์ที่ขออนุญาตอย่างถูกต้อง ทำให้ตรวจสอบได้ยาก ขอให้ผู้บริโภคระวังสินค้าที่มีราคาถูกเป็นพิเศษหรือขายในแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ หากไม่แน่ใจให้ตรวจสอบกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ตามที่ปรากฏในฐานข้อมูลของ อย. และหากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556

ส่วนนายชาย ปราบเล่ง กรรมการผจก. สบู่เบนเนท กล่าวว่า การดูของแท้หรือของปลอมนั้น ให้ตรวจดูบริเวณใต้กล่อง จะมีล็อตนำเบอร์ และตรงยี่ห้อจะมีสัญญาลักษณ์ ตัว R อยู่ และการซื้อสบู่ของบริษัทก็สามารถซื้อได้ตามร้ายค้าชั้นนำ และร้านค้าที่หน้าเชื่อถือ ซึ่งส่วนมากสบู่ปลอมจะขายตามตลาดนัด หรือไม่ก็ในเฟซบุ๊ก ที่มีราคาถูกกว่าราคาจริงมาก


อ้างอิงเพจ : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_6010337

การบินไทย ประกาศขายทรัพย์สิน 4 รายการ ทั้งหุ้น - เครื่องบิน - ศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ หลังศาลล้มละลายฯ ไฟเขียว หวังนำมาเพิ่มกระแสเงินสด พร้อมสำรองใช้ดำเนินธุรกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ส่งผลให้ทุกสายการบิน รวมถึงการบินไทยไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ อีกทั้งธุรกิจการบินทั่วโลกเผชิญอยู่กับวิกฤตการหดตัวอย่างรุนแรง จากข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนไม่เพียงพอที่บริษัทฯ จะกลับมาเริ่มทำการบินได้

ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการหารายได้จากหลายๆ ทาง เช่น การจัดให้มีเที่ยวบินรับคนไทยกลับบ้าน เที่ยวบินขนส่งสินค้า และการหารายได้เสริมจากหน่วยธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน (Non-Air) อาทิ รายได้จากธุรกิจภัตตาคารของฝ่ายครัวการบิน การให้บริการสายการบินลูกค้าของฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้นและฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้น ฝ่ายช่าง รวมทั้งรายได้จากการขายสินค้าใน Thai Shop และทัวร์เอื้องหลวงของสายการพาณิชย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขออนุญาตขายทรัพย์สินบางรายการที่ไม่ได้เป็นทรัพย์สินหลักที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจการบินของลูกหนี้ หรือเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ หรือหากเก็บไว้มีแต่จะเสื่อมค่าเสื่อมราคาลง ตลอดจนก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่เพิ่มขึ้นจำนวน 4 รายการ ได้แก่

1.) หุ้นสายการบินนกแอร์

2.) หุ้นบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

3.) เครื่องยนต์ของเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ที่ไม่ได้ใช้งาน (จำนวน 5 เครื่องยนต์)

และ 4.) อาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ซึ่งศาลล้มละลายฯได้ไต่สวนและมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์สิน ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า "บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องประกาศขายอาคารศูนย์ฝึกอบรม หลักสี่ กรุงเทพมหานคร เนื่องจากในการทำการบินในแต่ละเที่ยวบินนั้น บริษัทฯจำเป็นต้องมีเงินจำนวนหนึ่ง พร้อมไว้เพื่อชำระให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำการบินในเที่ยวบินนั้น ๆ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 คลี่คลายลง และข้อจำกัดด้านการเปิดน่านฟ้าของประเทศไทยและต่างประเทศเอื้ออำนวยจนมีการอนุญาตให้ทำการบิน"

ทั้งนี้ หากบริษัทฯ ไม่สามารถกลับมาทำการบินได้ นอกจากบริษัทฯ จะเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากธุรกิจการบิน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่บริษัทฯ มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ยังอาจเสียสิทธิการบินและตารางการบิน (Flight Slot) ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่ประเมินมูลค่าไม่ได้อันเป็นสาระสำคัญของการประกอบกิจการของบริษัทฯ

หากปล่อยให้เกิดความเสียหายดังกล่าวนี้ จะทำให้บริษัทฯ สูญเสียศักยภาพในการแข่งขันไปอย่างถาวร และมีผลกระทบต่อโอกาสในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ อย่างแน่นอน ซึ่งความเสียหายดังกล่าวหากปล่อยให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยากที่จะเยียวยาได้ ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจการบิน เพื่อต่อยอดและสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ หรือนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจภายใต้ขอบเขตที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายต่อไป

สำหรับอาคารสำนักงานศูนย์ฝึกอบรมบริเวณหลักสี่ ก็เป็นทรัพย์สินรายการหนึ่งที่ได้ขายตามคำสั่งอนุญาตของศาลล้มละลายในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ โดยจะดำเนินการขายด้วยวิธียื่นซองเสนอราคา ซึ่งบริษัทฯ เสนอขายที่ดินและอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ แบบไม่รวมสิ่งที่ไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินและอาคาร และไม่รวมสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ของบริษัทฯ ที่อยู่ในบริเวณอาคาร โดยเสนอขายในลักษณะและสภาพปัจจุบัน ("as is-where is") กล่าวคือ ผู้เสนอราคาจะต้องไม่เรียกร้องให้บริษัทฯ ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างใดบนที่ดินและศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่

ทั้งนี้ อาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 425 ตำบลตลาดบางเขน (ดอนเมือง) อำเภอบางเขน จังหวัดกรุงเทพมหานคร รวมเนื้อที่ทั้งหมด 19 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา หรือ 7,926 ตารางวา ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับ TOR ได้ตั้งแต่วันนี้ - 25 กุมภาพันธ์ 2564 และระหว่างวันที่ 1 - 26 มีนาคม 2564 ทางอีเมล [email protected] และสามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าดูพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ได้ ระหว่างวันที่ 1 - 26 มีนาคม 2564 และจะจัดให้มีการยื่นซองเสนอราคา ในวันที่ 1 เมษายน 2564 เวลา 9.00 - 16.00 น. ณ ศูนย์บริการงานจัดซื้อ อาคาร 3 ชั้น 1 สำนักงานใหญ่ การบินไทย และจะประกาศผลการคัดเลือกให้ทราบในวันที่ 16 เมษายน 2564 ต่อไป


ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/news/646196

หอการค้าไทยประเมินเศรษฐกิจช่วงหยุดยาววันมาฆบูชา เชื่อตัวเลขตกเหลือ 2.3 พันล้าน ลดลง 9.38% จากเดิม 2,601 ล้านบาท คาดคนกลัวโควิด แต่โดยภาพรวมเศรษฐกิจยังดีกว่าช่วง ‘ตรุษจีน - วาเลนไทน์’

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุ โควิด-19 ทุบเศรษฐกิจเหลือ 2.3พันล้าน หลังประเมินทัศนคติ พฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้คนในช่วงวันมาฆบูชา

จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,215 ตัวอย่าง สำรวจตั้งแต่วันที่ 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ในปีนี้กลุ่มตัวอย่างจะเดินทางไปทำบุญไหว้พระในวันมาฆบูชา 40% ไม่ไป 37.3% และไม่แน่ใจ 22.7% ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ไม่ไป ส่วนใหญ่มาจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 รายได้ลดลง และภาวะเศรษฐกิจไม่ดี

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับมูลค่าเงินสะพัดวันมาฆบูชาในปี 2564 นี้ คาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 2,360 ล้านบาท หรือลดลงติดลบ 9.38% ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินสะพัดประมาณ 2,601 ล้านบาท ถือว่ามีเงินสะพัดต่ำสุดในรอบ 6 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากการใช้จ่ายยังติดลบทุกรายการ อาทิ การทำบุญ และการเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งโดยรวมประชาชนมีการใช้จ่ายประมาณ 1,311 บาทต่อคน เท่านั้น

“แม้ในวันมาฆบูชาในครั้งนี้ จะได้หยุดยาว 3 วันแต่ประชาชนยังมีความกังวลกับโควิด-19 อยู่ ส่งผลให้เงินสะพัดอาจไม่มากเท่าที่ควร แต่เศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวและเติบโตดีกว่าช่วงเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เพราะในครั้งนี้ยังมีประชาชนที่ออกมาใช้จ่าย อาทิ ซื้อสัมฆภัณฑ์ ทำบุญ เวียนเทียน และทำทาน กันมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในวันมาฆบูชาไม่ได้สาหัสมาก” นายธนวรรธน์ กล่าว

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยเศรษฐกิจไทยเดือนมกราคม ส่งสัญญาณชะลอตัว ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดรอบใหม่ ขณะที่ส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือน ม.ค.2564 และดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือน ก.พ.2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือน ก.พ. 2564 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลยังชะลอตัว

ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค. 2564 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อน เป็นผลจากไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 2563 โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่กลับมาติดลบน้อยลง รวมทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ลดลง เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เพราะผู้บริโภคมีความกังวลเศรษฐกิจและการจ้างงาน ด้านการลงทุนภาคเอกชน ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน

ขณะที่เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.4% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด

‘คมนาคม’ ชงแผนฟื้นฟู ขสมก. เล็งเก็บค่าโดยสารตามแผนฟื้นฟู แบ่งตั๋ว 3 ประเภท ‘รายเที่ยว - รายวัน - ประเภทเฉพาะ’ คาดช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องอัตราค่าโดยสารของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านขนส่ง) เป็นประธานฯ เพื่อกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสาร ที่จะจัดนำมาใช้ในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล โดยจะกำหนดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง หรือตามกิโลเมตร (กม.) ประกอบกับการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร ก่อนที่จะคำนวณเป็นค่าโดยสารที่แท้จริง

ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง พิจารณาและกำหนดมาตรฐานเรื่องอัตราค่าโดยสารแล้วนั้น ขสมก.จะรวบรวมข้อมูล และจัดทำแผนลงทุนเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ให้พิจารณาตามกระบวนการ

ซึ่งคาดว่า ขสมก. จะส่งรายละเอียดดังกล่าวไปยังสภาพัฒน์ภายใน มี.ค. 2564 ส่วนจะสามารถเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ ว่าจะตอบกลับมายังกระทรวงคมนาคมหรือแล้วเสร็จเมื่อไร

นายสรพงศ์ ได้กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบการเก็บอัตราค่าโดยสารตามที่แผนฟื้นฟู ขสมก. กำหนด ซึ่งเป็นรถโดยสารปรับอากาศ แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย

1.) ตั๋วรายเที่ยว ราคา 15 บาท/เที่ยว

2.) ตั๋วรายวัน (One Day Pass) ราคา 30 บาท/วัน

3.) ตั๋วประเภทเฉพาะ กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการที่ระบุไว้ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารตามระยะทางในปัจจุบัน ที่จัดเก็บ 15 - 20 - 25 บาทนั้น ยังคงเก็บตามเดิมอยู่ จนกว่า ครม. จะมีมติอนุมัติปรับอัตราค่าโดยสารทั้ง 3 ประเภทข้างต้น

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลผลการศึกษาของ ขสมก. ยังได้ระบุไว้ว่า เมื่อมีการจัดเก็บค่าโดยสารตามแผนฟื้นฟู ขสมก. จะมีประชาชนที่ได้รับประโยชน์ในการจ่ายค่าโดยสารที่ถูกลงประมาณ 72% เทียบกับการเดินทางตามระยะทาง เนื่องจากในแผนฟื้นฟูได้กำหนดต้นทุนพลังงานการเดินรถของรถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า (EV) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.63 บาท/กิโลเมตร (กม.) ในส่วนของรถโดยสารเชื้อเพลิงธรรมชาติ (NGV) จะอยู่ที่ 10 บาท/กม.

ทั้งนี้ ขสมก. ยืนยันว่า หากดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ขสมก. จะสามารถเดินหน้าประกอบกิจการได้ และจะมีอัตราการเติบโตปีละ 3% อย่างไรก็ตาม การใช้อัตราค่าโดยสารตามแผนฟื้นฟู ขสมก.ดังกล่าว ถือเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ยังมีมติเห็นชอบในหลักการการปฏิรูปเส้นทางของ ขสมก. จำนวน 108 เส้นทาง ภายใต้แผนฟื้นฟู ขสมก. เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ปัญหาจราจรติดขัด รวมทั้งให้เส้นทางการเดินรถไม่ทับซ้อนกัน ซึ่งหลังจากการประชุมในครั้งนี้ ขสมก. จะต้องไปรวบรวมและทบทวนแผนฟื้นฟู ขสมก. จากนั้นจะรายงานให้คณะกรรมการนโยบายฯ ขนส่งทางบกกลาง โดยมีนายศักดิ์สยาม เป็นประธานพิจารณา ก่อนที่ ขสมก. จะเสนอไปยังสภาพัฒน์ฯ และ ครม.ต่อไป

คนไทยสุดล้ำ ยืนหนึ่งระดับโลก ทำการเงินผ่านมือถือ | BizMAX EP.27

จากข่าว "ไทยล้ำที่สุดในโลก!!! ยืนหนึ่งทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ พ่วงช้อปสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 2 ของโลก

Link ข่าว : https://thestatestimes.com/post/2021021203

จากการเปิดสถิติธุรกรรมการเงินในช่วงยุคโควิด พบว่าคนไทยใช้โมบายแบงก์กิ้งอันดับหนึ่งของโลก ธุรกิจออนไลน์กำลังรุ่งเรืองอย่างมาก ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวอย่างไรและวิธีการสร้างมูลค่า สร้างกำไรให้กับแบรนด์ตัวเองในช่วงยุคโควิด มีวิธีการอย่างไรกับ หยก - สถาพร บุญนาจเสวี

.

ธุรกิจไทย หวั่น ! รัฐประหารที่เมียนมาร์ทำพิษเศรษฐกิจ | BizMAX EP.25

"ข่าว รัฐ - เอกชน เกรงรัฐประหารเมียนมาร์ลากยาว หวั่นกระทบการค้า 2 ประเทศ 164,000 ล้านบาท"

Link ข่าว : https://thestatestimes.com/post/2021020202 ​

จากสถานการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาร์อาจส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจบ้านเรา จะส่งผลร้ายแรงมากน้อยแค่ไหน สถานการณ์เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอีกหรือไม่ มาวิเคราะห์กันกับ หยก - สถาพร บุญนาจเสวี

.

 

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top