Sunday, 11 May 2025
Econbiz

อพท. เผยโควิดกระทบท่องเที่ยวชุมชนฉุดรายได้ร่วง 46% พร้อมเร่งผลักดันเมืองเก่า จ.สุโขทัย ติดอันดับแหล่งท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก 100 แห่ง

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. ได้จัดทำการประเมินระดับความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในพื้นที่พิเศษในปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่า ในภาพรวมประชาชนในพื้นที่พิเศษ มีระดับความอยู่ดีมีสุขอยู่ที่ 78.44% เมื่อเทียบกับเกณฑ์ความเพียงพอ(Sufficiency threshold) โดยอ้างอิงตามมาตรฐานในการวัด GNH ของประเทศภูฏานอยู่ในระดับ Deeply happy หรือมากที่สุด

ขณะที่รายได้เสริมจากการท่องเที่ยวในปี 2563 ใน 20 ชุมชนเป้าหมาย มีรายได้รวมเฉลี่ยลดลง 46.54% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยรายได้รวมทั้งหมดลดลงจาก 1,524,109.16 บาทต่อปี ลงมาอยู่ที่ 814,775.60 บาทต่อปี ในปี 63

สำหรับในปี 2564 อพท. ดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ในพื้นที่พิเศษจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ตำบลเกาะหมาก จ.ตราด พื้นที่ตำบลนาเกลือ จ.ชลบุรี พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย พื้นที่ตำบลเชียงคาน จ.เลย พื้นที่ตำบลในเวียง จ.น่าน และพื้นที่เทศบาลตำบลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป้าหมายสำคัญในปี 2564 คือ อพท. จะผลักดันให้พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย ให้เป็น Global Sustainable Destinations Top 100 หรือแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนที่ดีที่สุดในโลก 100 แห่ง

นอกจากนี้ ยังต้องการขับเคลื่อนเมืองตามแนวทางเครือข่ายเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) 2 แห่ง ได้แก่ จ.น่าน และ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ประจำปี 2564 ให้ได้ 75% และจัดทำใบสมัครในการเสนอเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก

อย่างไรก็ดี ยังมีเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยการสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน จากการใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนหรือ CBT Thailand เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันโดยมีเป้าหมายในการผลักดันชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ได้อย่างน้อย 8 ชุมชน และยังได้จับมือกับหน่วยงานชั้นนำในระดับโลก เพื่อต่อยอดความสำเร็จสู่การเป็นต้นแบบในระดับสากลในหลายๆ ด้านอีกด้วย

ทำใจได้เลย ตลาดอสังหาฯ ปีนี้ยังไม่ฟื้น คาดชะลอต่อเนื่อง เหตุกำลังซื้อคนไทยหดหาย ส่วนนักลงทุนต่างชาติ ชะลอการซื้อ

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ปี 2564 ว่า ตลอดอสังหาฯ ยังคงไม่ฟื้นตัวจากปีก่อน โดยมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง มีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อคนไทยลดลง จากผลกระทบไวรัสโควิด-19

ขณะที่ประชาชนบางส่วนที่มีกำลังซื้อ ก็ได้เร่งซื้อไปตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับกำลังซื้อจากชาวต่างชาติปีนี้ ยังเกิดปัญหาเพราะการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว และการเดินทางยังไม่สามารถทำได้สะดวก ทำให้นักท่องเที่ยว นักลงทุนต่างชาติ ชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยลงไปด้วย

ทั้งนี้ประเมินว่า ในปีนี้ จะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 353,236 หน่วย ลดลง 1.5% จากปี 63 และมีมูลค่าการโอนลดลงกรรมสิทธิ์ประมาณ 876,121 ล้านบาท ติดลบ 5.6% จากปี 63 โดยส่วนใหญ่เป็นการลดลงของที่อยู่อาศัยแนวราบ บ้านจัดสรรลดลง 7.7% และคอนโดมิเนียม ลดลง 1.4%

นายวิชัยกล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยประเมินว่า ในปีนี้ะมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัย ประมาณ 595,141 ล้านบาท จะลดลง 2.8% จากปีก่อน ส่วนยอดการเปิดตัวใหม่ปีนี้ ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นตามฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยบ้านจัดสรรเปิดตัวใหม่ในปีนี้ ประเมินว่าเพิ่มขึ้น 22.5% หรือมีจำนวนหน่วยประมาณ 43,732 หน่วย ส่วนโครงการอาคารชุดเปิดตัวใหม่ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 46.5%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า หลังจากพบประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟนไปลงทะเบียนรับสิทธิโครงการเราชนะที่ธนาคารกรุงไทยจำนวนมาก ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ขยายจุดให้บริการเพิ่มตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.นี้

โดยสามารถใช้บัตรประชาชนลงทะเบียนที่ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ว่าการอำเภอ หรือผู้ใหญ่บ้าน โดยใช้มือถือเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนเพื่อจดเลขบัตรประชาชน เพื่อส่งให้ธนาคารกรุงไทยต่อไป

"กระทรวงการคลังต้องขออภัยที่ประชาสัมพันธ์ไม่ชัดเจนในเรื่องระยะเวลาการลงทะเบียน ทำให้ทุกคนมาในวันแรกวันเดียว แต่คลังได้ขยายเวลาในการลงทะเบียนแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. - 25 มี.ค.นี้ และประสานผู้ว่าราชการทุกจังหวัด กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตร ช่วยกันให้บริการและอำนวยความสะดวก แต่ผู้ให้บริการหลัก ยังเป็นพนักงานธนาคารกรุงไทยอยู่"

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้ วัดบ้านไร่ได้ลิขสิทธิ์คุ้มครอง 'ผ้ายันต์หลวงพ่อคูณ' 50 ปี หากมีหลักฐานยืนยันการสร้าง ระบุ ก่อนนำภาพผ้ายันต์ไปใช้ ต้องขออนุญาตก่อน

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า หลังจากมีกระแสข่าวในสื่อสังคมออนไลน์นำเสนอแบรนด์สินค้าแฟชั่นชื่อดัง เปิดตัวคอลเล็กชันใหม่ โดยใช้ยันต์หลวงพ่อคูณ พระเกจิชื่อดังแห่งวัดบ้านไร่ จังหวัดนครราชสีมา ไปสกรีนบนเสื้อ เบื้องต้นได้ตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องของลิขสิทธิ์ ก็ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับผ้ายันต์รูปหลวงพ่อคูณ แต่หากวัดบ้านไร่เป็นผู้จัดทำผ้ายันต์รูปหลวงพ่อคูณนี้ขึ้นมา โดยมีหลักฐานยืนยันการสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์นี้ ก็สามารถแจ้งข้อมูลได้ เพื่อได้รับความคุ้มครองเป็นเวลา 50 ปีนับตั้งแต่วันที่สร้างสรรค์ขึ้น ดังนั้น หากมีผู้นำยันต์ดังกล่าวไปใช้ ก็ต้องขออนุญาตจากวัดบ้านไร่ด้วย

ทั้งนี้จากการตรวจสอบในฐานข้อมูลลิขสิทธิ์ พบว่ามีผู้มายื่นแจ้งข้อมูลงานลิขสิทธิ์เกี่ยวกับหลวงพ่อคูณไว้ 21 รายการ ประกอบด้วย ผลงานเพลง 15 รายการ งานวรรณกรรม 1 รายการ คือ หนังสือเจาะลึกข้อมูลเหรียญรุ่นพิเศษ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ ปี 2517 งานโสตทัศนวัสดุ 1 รายการ คือ สารคดีเรื่องแรงศรัทธาแด่หลวงพ่อคูณ และงานศิลปกรรม 4 รายการ ได้แก่ รูปปั้น รูปหล่อ และเหรียญ

นายวุฒิไกร ยอมรับว่า ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในกรณีของรูปหลวงพ่อคูณในผ้ายันต์ ถือเป็นงานศิลปกรรม และจัดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทหนึ่ง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีเมื่อสร้างสรรค์ผลงานขึ้น

ซึ่งกฎหมายจะให้สิทธิเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว เช่น ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณะ หรืออนุญาตให้ผู้อื่นนำงานไปใช้ประโยชน์ หากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

นักทวีตปั่นราคาเหรียญดิจิทัลสกุล MarsCoin (MARS) กันสุดมันส์ หลังจาก Elon Musk ได้ออกมากล่าวถึงเหรียญตัวนี้ จนส่งผลทำให้ราคาของเหรียญ MarsCoin ที่มีอยู่ในตลาด ราคาพุ่งขึ้นกว่า 1,000%

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปในปี 2014 เหรียญดิจิทัล Marscoin ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระนามว่า Lennart Lopin มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดาวอังคาร เพื่อให้มนุษย์อาศัยและเจริญรุ่งเรืองนอกโลก อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ

โดยจะมีการนำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้บนดาวอังคารไม่ว่าจะเป็น ระบบการเงิน การสื่อสาร การลงคะแนนโหวต การใช้ Smart contract เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะตอบสนองความต้องการตั้งถิ่นฐานใหม่ของมนุษย์บนดาวอังคาร ที่สำคัญอาจมีการนำ MarsCoin ไปเป็นสกุลเงินดิจิทัลแรกบนดาวอังคาร

ทว่าเหรียญดังกล่าวก็ยังไม่ได้โดดเด่นอะไรมากนัก จนกระทั่งเกิดแรงปั่นจากผู้รวยที่สุดในโลกอย่างนาย ‘Elon Musk’ ผู้ก่อตั้ง SpaceX ที่มีความมุ่งมั่นจะนำพามวลมนุษยชาติไปดาวอังคาร หลังจากได้มีการทวิตเตอร์บทสนทนาระหว่าง CEO ของ Binance นาย Changpeng Zhao กับนายElon Musk ซึ่งนาย Zhao ได้ถามนาย Musk ว่าจะมีเหรียญดิจิทัลที่ถูกนำไปใช้บนดาวอังคารหรือไม่ หรือมันอาจจะถูกเรียกว่าเหรียญ MarsCoin

ภายหลังจากนั้นไม่นาน Musk ก็ตอบกลับว่า...“มันจะต้องมีเหรียญ MarsCoin แน่นอน”

ทวิตฯ ดังกล่าวทำให้เหรียญ Marscoin ที่อยู่ในตลาดมาแล้วตั้งแต่ปี 2014 และมีราคาซื้อขายอยู่ต่ำกว่า 0.2 ดอลลาร์มาเป็นเวลาหลายปี ได้พุ่งไปแตะ 2.5 ดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา ก่อนที่จะร่วงกลับไปอยู่ที่ 1.02 ดอลลาร์

ทีมนักพัฒนาเหรียญ Marscoin นั้นดูเหมือนว่าจะมีเป้าหมายเดียวกับ Musk คือช่วยให้ทุนแก่มนุษย์ที่ไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร โดยมีการเสนอให้ผู้คนทำการขุดเหรียญ Marscoin บนโลกนี้ก่อน และเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมแล้ว ก็จะมีการส่งตัวสำเนา Blockchain ของ Marscoin ไปยังดาวอังคาร

อย่างไรก็ตาม Elon Musk ก็ไม่ได้มีเกียวข้องกับเหรียญดาวอังคารอย่าง Marscoin แต่อย่างใด เพียงแต่การกล่าวถึงเหรียญดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผู้คนและนักวิเคราะห์คาดการณ์กันไปต่างๆ นาๆ ว่าเป็นผู้สร้างเหรียญบ้าง เป็นผู้ถือเหรียญบ้าง และส่งผลให้ราคามีการพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง เมื่อเขาออกมาพูดถึงนั่นเอง


ที่มา: https://siamblockchain.com/2021/02/17/marscoin-elon-musk-tweet/?fbclid=IwAR0GOSWghr_VwdGplH93o_vDTrMjSUrpc6GAyiZ5swgbyGnhmSGiU7SxOiU

https://siamblockchain.com/2021/02/17/is-elon-musk-behind-marcois/

ก.คลัง เผยความคืบหน้าการเข้าร่วมโครงการเราชนะ (โครงการฯ) ของกลุ่มประชาชนที่อยู่ในฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ พบผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 10,544,909 คน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการเข้าร่วมโครงการเราชนะ (โครงการฯ) ของกลุ่มประชาชนที่อยู่ในฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ว่ามีผู้ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ ผ่านแถบ (Banner) โครงการ ‘เราชนะ’ ในแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ แล้ว จำนวน 10,544,909 คน (ข้อมูล ณ เวลา 17.00 น. วันที่ 18 ก.พ. 2564)

อย่างไรก็ดี เนื่องจาก มีผู้ประสงค์ยืนยันตัวตนเข้าโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ จำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อระบบของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทางธนาคารฯ จึงปิดระบบดังกล่าวชั่วคราวจนถึงเวลา 20.00 น. และขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถทยอยดำเนินการยืนยันตัวตนได้ และจะได้รับวงเงินสิทธิ์ภายหลังจากการยืนยันตัวตน โดยจะได้รับวงเงินสิทธิ์เพิ่มเป็นรายสัปดาห์ทุกวันพฤหัสบดีจนวงเงินสิทธิ์ครบ 7,000 บาท โดยสามารถสะสมวงเงินสิทธิ์และใช้จ่ายเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน ‘ถุงเงิน’ ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงผู้ประกอบการ / ร้านค้าและบริการรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำถึงการเปิดจุดรับลงทะเบียน ณ สาขาหรือจุดบริการเคลื่อนที่ของธนาคารกรุงไทย ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2564 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ไม่มีสมาร์ทโฟนทำให้ไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ได้ หรือผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมถึงผู้ที่ลงทะเบียนด้วยตนเองไม่สำเร็จเนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลไม่ถูกต้อง

โดยจากข้อมูลล่าสุดมีประชาชนกลุ่มดังกล่าวลงทะเบียนผ่านสาขาหรือจุดบริการเคลื่อนที่ของธนาคารกรุงไทยแล้ว จำนวน 455,354 คน และกระทรวงการคลังจะมีการเปิดจุดรับลงทะเบียนโครงการฯ ผ่านสาขาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการร่วมกับธนาคารทั้ง 3 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่รับลงทะเบียนให้แก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าว

ที่ผ่านมากระทรวงการคลังพบว่ามีข่าวปลอม (Fake News) จากสังคมออนไลน์ (Social Media) เกี่ยวกับโครงการฯ ถูกเผยแพร่ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงการคลังได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของโครงการฯ โปรดอย่าหลงเชื่อข่าวปลอมจากช่องทางดังกล่าว และขอความร่วมมือประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการฯ จากช่องทางการสื่อสารที่เป็นทางการจากทางราชการ ได้แก่ www.เราชนะ.com / www.mof.go.th / www.fpo.go.th และ Facebook Fanpage ‘สถานีข่าวกระทรวงการคลัง’ และ ‘สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง: Fiscal Policy Office’

สุดท้ายนี้ กระทรวงการคลังพบว่ามีประชาชนหรือร้านค้าที่ใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการประสานขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินการทางกฎหมายในประเด็นดังกล่าวแล้ว หากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขจริง จะระงับการใช้แอปพลิเคชัน ‘ถุงเงิน’ ของร้านค้าตลอดจนระงับการจ่ายเงินให้กับร้านค้าทันที รวมถึงระงับการใช้แอปพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ ด้วย และจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

กระทรวงการคลังจึงขอความร่วมมือประชาชนรักษาสิทธิ์ของตนเอง และขอให้ร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการฯ สำหรับประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการฯ สามารถแจ้งเบาะแสรวมถึงส่งหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิดเงื่อนไขโครงการฯ ถึง “คณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการฯ” ทางไปรษณีย์มาได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

TMB มองปี 64 หลายธุรกิจทยอยฟื้นตัว แต่รายได้ยังต่ำกว่าภาวะปกติ เผยกลุ่มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ สุขภาพฟื้นแล้ว แต่สิ่งพิมพ์ อสังหา ท่องเที่ยว ยังร่อแร่ แนะรัฐเร่งเสริมสภาพคล่อง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ (TMB Analytics) คาดว่ารายได้รวมของธุรกิจไทยในปี 64 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่ 2.1% แต่ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ถึง -14.6% โดยคาดว่าธุรกิจที่ฟื้นแล้วจะขยายตัวจากปีก่อน 2.8% และธุรกิจที่กำลังฟื้นจะขยายตัวจากปีก่อน 2.5% ในขณะที่ธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นจะหดตัวจากปีก่อน -1.2%

ด้านแนวโน้มการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจที่วิเคราะห์ด้วยการใช้เกณฑ์เปรียบเทียบแนวโน้มรายได้ของธุรกิจในปี 64 กับรายได้ธุรกิจปี 62 ซึ่งสามารถแบ่งแนวโน้มธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มธุรกิจที่ฟื้นแล้ว (รายได้ธุรกิจปี 64 สูงกว่าปี 62) ได้แก่ อาหาร ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ยางพารา อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ธุรกิจด้านสุขภาพ ไอทีและเทเลคอม เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว พฤติกรรมการเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานที่บ้าน การซื้อขายสินค้าออนไลน์ และการดูแลสุขภาพมากขึ้น

กลุ่มธุรกิจกำลังฟื้น (รายได้ปี 64 ต่ำกว่าปี 62 ระหว่าง 80-100%) ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ เครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ บริการธุรกิจ สินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและอุปกรณ์ เหล็กและโลหะ ผลิตภัณฑ์เกษตร พลังงาน รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มนี้มีทิศทางฟื้นตัวตามทิศทางการการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวจากการส่งออก และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ แต่จะฟื้นตัวไม่เต็มที่ ยังต้องรอวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศอย่างทั่วถึงเสียก่อน

กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น (รายได้ปี 64 ต่ำกว่า 80% เมื่อเทียบกับปี 62 ) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ บริการส่วนบุคคล การขนส่งทางอากาศ สินค้าแฟชั่น ธุรกิจท่องเที่ยว อยู่ในหมวดสินค้าบริการและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง และยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าจะมีความหวังวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่อัตราการฉีดจะยังไม่ทั่วถึงในปีนี้ นอกจากนี้หลังจากฉีดไปแล้วยังต้องรอความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมาก่อน จึงจะทำให้เริ่มฟื้นตัวได้

จากข้อมูลดังกล่าวแนะนำให้ผู้ประกอบการหาโอกาสจากธุรกิจของตนเอง โดยการประเมินปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาคเกษตรที่ดีขึ้น และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ว่ามีส่วนใดบ้างที่ธุรกิจจะได้รับผลประโยชน์บ้าง และพิจารณาทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เว้นระยะห่างทางสังคม ทำงานที่บ้าน และซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้ภาครัฐควรเพิ่มแรงสนับสนุนธุรกิจที่ฟื้นแล้วและกำลังฟื้นให้กลับมาปกติ เช่น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวถือเป็นโอกาสของธุรกิจส่งออกสินค้า ภาครัฐควรเร่งเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อขายสินค้าให้ได้มากขึ้น รวมถึงดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป สินค้าเกษตรมีทิศทางดีขึ้น ภาครัฐควรสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีกำไรมากขึ้น เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวภาครัฐสามารถช่วยประคับประคองผู้ประกอบการให้ผ่านพ้นความยากลำบากนี้ ด้วยการใช้มาตรการช่วยเหลือ เช่น การให้เงินกู้เสริมสภาพคล่อง รวมถึงการยืดหนี้ให้สำหรับธุรกิจที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ จนกว่าธุรกิจจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ดังเดิมอีกครั้ง

พรุ่งนี้อย่าลืม ! 21 กุมภา 64 ลงทะเบียน 'ม33 เรารักกัน' รับเงินเยียวยา 4,000 บาท ไม่ได้รับสิทธิ์ขอทบทวนสิทธิ์ได้

พรุ่งนี้แล้ว​ (21 ก.พ.64)​ ที่โครงการ 'ม.33 เรารักกัน'​ จะเปิดให้ลงทะเบียน​ โดยโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้ประกันตนมาตรา 33 จากผลกระทบของการระบาดโควิด-19​ คาดว่า​ จะมีผู้เข้าข่ายมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ 9.27 ล้านคน โดยรัฐบาลจะจ่ายเยียวยารายละ 4,000 บาท ใช้วงเงินประมาณ 37,100 ล้านบาท

สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจในขั้นตอนการลงทะเบียนและทบทวนสิทธิ์ 'โครงการ ม.33 เรารักกัน'​ นั้น​ สามารถติดตามได้ดังนี้...

***การลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์...

วันที่ 21 ก.พ. - 7 มี.ค. 2564​ >> ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com

วันที่ 8-14 มี.ค. 2564​ >> ธนาคารทำการตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งประมวลผลคัดกรอง

วันที่ 15-21 มี.ค. 2564​ >> ตรวจสอบสถานะผู้ได้รับสิทธิ์ผ่านทาง www.ม33เรารักกัน.com และกดยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน 'เป๋าตัง'

วันที่ 22, 29 มี.ค. และ 5, 12 เม.ย. 2564 >>

ผู้ได้รับสิทธิ์ จะได้วงเงินผ่าน 'เป๋าตัง'​ ครั้งละ 1,000 บาท

วันที่ 22 มี.ค. - 31 พ.ค. 2564​ >> เริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ผ่านร้านค้า/ผู้ประกอบการ/บริการ ภายใต้ร้านธงฟ้าที่ใช้แอปฯ 'ถุงเงิน'​/ โครงการ '​คนละครึ่ง'​ / โครงการ 'เราชนะ'​

***การขอทบทวนสิทธิ์

วันที่ 15 - 28 มี.ค. 2564​ >> เปิดให้ขอทบทวนสิทธิ์ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com

วันที่ 29 มี.ค. - 4 เม.ย. 2564​ >> ธนาคารทำการตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งประมวลผลคัดกรอง

วันที่ 5-11 เม.ย. 2564​ >> ตรวจสอบสถานะผู้ได้รับสิทธิ์ผ่านทาง www.ม33เรารักกัน.com และกดยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน 'เป๋าตัง'​

วันที่ 12, 19 เม.ย. 2564 >> ผู้ได้รับสิทธิ์ จะได้วงเงินผ่าน 'เป๋าตัง'​ ครั้งละ 2,000 บาท

วันที่ 12 เม.ย. - 31 พ.ค. 2564​ >> เริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ผ่านร้านค้า/ผู้ประกอบการ/บริการ ภายใต้ร้านธงฟ้าที่ใช้แอปฯ 'ถุงเงิน'​/ โครงการ 'คนละครึ่ง' / โครงการ 'เราชนะ'​


ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/2036116

คลังเตรียมทบทวนสิทธิคนถือบัตรคนจน 13.8 ล้านปีนี้

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง เตรียมทบทวนสิทธิของผู้ถือ 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ'​ ใหม่ในปีนี้ อัพเดตข้อมูลของประชาชน หลังจากที่ผ่านไม่ได้มีการเปิดทบทวนสิทธิผู้ถือบัตรสวัสดิการมานานกว่า 2 - 3 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 13.8 ล้านคน 

ทั้งนี้​ คลังจะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง หลังจากเสร็จสิ้นการลงทะเบียนโครงการเราชนะ​ ช่วงเดือนมี.ค.64 ไปแล้ว โดยจะเปิดให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการเดิม และประชาชนทั่วไป เข้ามาสมัครเข้าร่วมโรงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ได้ และหลังจากนั้นคลังจะมีการทบทวนข้อมูลผู้ถือบัตรสวัสดิการทุกๆ ปี

สำหรับการทบทวนเรื่องนี้ กระทรวงการคลังจะกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขการรับสิทธิใหม่ โดยดูเรื่องเกณฑ์รายได้ครัวเรือนเป็นหลัก ต่างจากการรับสิทธิบัตรสวัสดิการที่ผ่านมา ที่พิจารณาเกณฑ์รายได้เป็นรายบุคคล เช่น ภรรยาในครอบครัวนั้น เป็นผู้ไม่มีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่สามีเป็นผู้มีเงินได้จำนวนมาก​ ก็อาจจะไม่ได้รับ ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมาเมื่อภรรยาไม่มีรายได้ก็จะได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนเกณฑ์ขั้นต่ำที่พิจารณารายได้ของครอบครัวนั้น ยังไม่สรุปจะมีการหารือเพื่อสรุปต่อไป

“เมื่อปรับเกณฑ์ดูรายครอบครัวแล้ว จะทำให้มีผู้เข้าร่วมโครงการน้อยลงหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถบอกได้ โดยจะต้องมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะการเปิดลงทะเบียนที่ผ่านมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ก็จะมีทั้งคนที่มีรายได้เพิ่มขึ้น และคนที่ได้รับผลกระทบแล้วทำให้รายได้ลดลงก็มี ซึ่งจะต้องมาดูกันอีกครั้ง"

ออมสินปิดลงทะเบียนสินเชื่อ "SMEs มีที่ มีเงิน" เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว ชั่วคราว หลังมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1,500 ราย เต็มวงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาทแล้ว

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาและเพิ่มสภาพคล่องสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น โดยมอบหมายธนาคารออมสิน ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว วงเงิน 10,000 ล้านบาท เริ่มเปิดรับลงทะเบียนยื่นกู้ทางเว็บไชต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากเปิดลงทะเบียนไม่นานก็มีผู้แจ้งความประสงค์ยื่นกู้แล้วกว่า 1,500 ราย ขณะนี้เต็มวงเงินแล้ว ธนาคารจึงขอปิดระบบรับลงทะเบียนไว้ก่อน

โดยการลงทะเบียนนี้ เป็นเพียงการแจ้งความประสงค์เพื่อจองวงเงินขอกู้เท่านั้น จากนี้ธนาคารขอเวลาพิจารณาคุณสมบัติผู้กู้ตามหลักเกณฑ์โครงการ ที่ต้องเป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา รวมถึงพิจารณาคุณภาพของหลักประกัน เป็นต้น

สำหรับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สามารถใช้ที่ดินเปล่า หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากธนาคาร เพื่อนำเงินกู้ไปใช้เสริมสภาพคล่องให้กิจการ หรือเพื่อไถ่ถอนที่ดินซึ่งทำสัญญาขายฝากกับเอกชนไว้ในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2563 โดยธนาคารฯ ให้วงเงินสินเชื่อต่อราย ไม่เกิน 70% ของราคาประเมินที่ดินราชการ ระยะเวลากู้ 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษตามนโยบายรัฐบาล ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย = 0.10% ต่อปี ปีที่ 2 = 0.99% ต่อปี และปีที่ 3 = 5.99% ต่อปี กรณีบุคคลธรรมดาจำนวนเงินให้กู้ 1 - 10 ล้านบาท นิติบุคคลจำนวนเงินให้กู้ 1-50 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเงื่อนไขการขอสินเชื่อได้ที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th

“สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ของธนาคารออมสิน เริ่มเปิดให้กู้ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2563 มีแนวคิดเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนที่ขาดสภาพคล่องในการทำธุรกิจ หรือมีความเสี่ยงสูญเสียที่ดินติดสัญญาขายฝากอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากที่ได้เตรียมวงเงินโครงการเริ่มแรก 5,000 ล้านบาท ต้องขยายเพิ่มเติมเป็น 10,000 ล้านบาท โดยมีผู้ลงทะเบียนขอกู้จนเต็มวงเงินในเวลาอันรวดเร็ว สำหรับวงเงินใหม่ 10,000 ล้านบาทนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล โดยธนาคารจะพิจารณาให้กู้จากคุณภาพของหลักประกัน และคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top