Saturday, 10 May 2025
Econbiz

หอการค้าไทย คาดบรรยากาศตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคัก คาดเงินสะพัดต่ำสุดในรอบ 13 ปี ลดจากปีก่อนราว 12,000 ล้านบาท เหตุพิษโควิด-19 ระบาด ส่งผลคนส่วนใหญ่ระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยภาพรวมเทศกาลตรุษจีนในปี 2564 ว่า บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้คงจะไม่คึกคักมากนัก

โดยจากการสำรวจพบว่า จะมีเงินสะพัดในช่วงเทศกาลปีนี้เพียง 44,939 .67 ล้านบาทถือว่าต่ำสุดในรอบ 13 ปี ลงลง 21.85% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน มีสาเหตุมาจากความกังวลต่อปัญหาโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถจะท่องเที่ยวได้มากนัก และประชาชนยังระระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย จึงทำให้การใช้จ่ายซื้อสินค้าเซ่นไหว้ในช่วงตรุษจีนกันไม่มากนัก

สำหรับเหตุผลที่การจับจ่ายน้อยลงมา ส่วนใหญ่มาจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ทั้งรอบเก่าและรอบใหม่รวมไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนมีกำลังการจับจ่ายใช้สอยลดลง โดยจากการสำรวจ พบว่า คนจะนำเงินจากที่ได้รับการช่วยเหลือผ่านโครงการของรัฐมาดำเนินการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะนำมาซื้อของเซ่นไหว้

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า "แม้เทศกาลตรุษจีนในปีนี้จะติดลบมากกว่าร้อยละ 21 หรือมีเงินหายจากระบบเมื่อเทียบกับตรุษจีนของปีที่ผ่านมากว่า 12,000 ล้านบาท แต่ก็เชื่อว่า จะมีเงินอัดฉีดผ่านโครงการภาครัฐอีกหลายโครงการ

โดยต้องติดตามโครงการไทยชนะและโครงการเรารักกัน โครงการคนละครึ่งที่จะมีเม็ดเงินรวมกันรวมกว่า 330,000 ล้านบาทที่จะอัดฉีดเข้าระบบได้ต่อเนื่องไปอีก จึงเชื่อว่าจะมีส่วนสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 2564"

สะเทือนวงการเงินดิจิทัล และอาจจะรวมถึงโลกการเงินเลยก็ได้ เมื่อ Tesla ได้ยื่นข้อมูลต่อคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทได้ซื้อ Bitcoin มูลค่า 45,000 ล้านบาท

โดยบริษัทได้กล่าวว่าการซื้อ Bitcoin ในครั้งนี้ เป็นการกระจายเงินสดสำรองของบริษัทไปลงทุนใน สินทรัพย์ดิจิทัล ทองคำ และ ETF ทองคำ

ทั้งนี้ในเดือนที่แล้ว บริษัท Tesla ได้อัปเดตนโยบายการลงทุน ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเพิ่มผลตอบแทนของเงินสดสำรองซึ่งเป็นส่วนเกินจากเงินสำรองเพื่อสภาพคล่องในการดำเนินงานปกติ โดยบริษัทบอกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ และBitcoin อาจเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้เงินสดของบริษัทในระยะยาวได้

แต่อีกเรื่องที่น่าทึ่งต่อเนื่องจากข่าวนี้ คือTesla กล่าวว่า จะเริ่มรับชำระเงินค่าซื้อผลิตภัณฑ์ของ Tesla ด้วยBitcoin ได้ในอนาคต ซึ่งหลังจาก Tesla ประกาศข่าวเรื่องดังกล่าวออกไป ก็ทำให้ราคาของ Bitcoin พุ่งทะลุ 42,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตรา +9% และถือเป็นจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ทันที

หลังจากข่าวนี้ออกมา ก็ดูท่าจะไปกระตุกต่อมคันของ เจ้าพ่อสตาร์ทอัพเมืองไทยอย่าง กระทิง พูนผล ที่ออกมาให้มุมมองต่อสินทรัพย์แห่งการแลกเปลี่ยนใหม่ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น โดยมี Tesla เป็นตัวเร่งว่า…

“มันส์มาก ๆ ช่วงนี้ จากเหรียญหมา (Dogecoin) มา Tesla <> BTC ต่อไปสงสัยจะมีเงินสกุล Musk เอาไว้ใช้จ่ายในนิคมบนดาวอังคารในอีก 15 ปีข้างหน้า”

เรื่องนี้กำลังจะบอกอะไรเรา?

ทรัพย์สินที่เรียกว่า ‘เงินสด’ อาจจะค่อยๆ ด้อยค่าลงหรือไม่?

เพราะหากผู้ผลิตที่มีสินค้า พร้อมจะลงเอยกับทรัพย์สินบางประเภทที่มิใช่เงินตรามากขึ้น อาจจะเปลี่ยนระบบการเงินโลกแบบครั้งใหญ่กันเลยทีเดียว

อย่างในประเทศไทยเอง หากยังพอจำกันได้เกือบๆ 10 ปีก่อน ก็เคยมีกรณี 'พระสมเด็จแลกรถเบนซ์' ของ นายวสันต์ โพธิพิมพานนท์ เจ้าของเบนซ์ทองหล่อ ซึ่งยินดีที่จะรับพระสมเด็จแท้ๆ พระเครื่องชุดเบญจภาคี รวมทั้งพระเครื่องยอดนิยมชุดอื่นๆ มาแลกกับรถเบนซ์ได้ แต่ย้ำว่าต้องเป็นพระแท้เท่านั้น เพียงแต่ตั้งแต่แผนการตลาดครั้งนั้นเกิดขึ้น ก็ยังไม่มีใครนำพระชุดเบญจภาคีที่ขึ้นชื่อว่าสวยสมบูรณ์แลกรถเบนช์ไปได้ทั้งคัน หรือต้องให้ทั้งรถและเพิ่มทั้งเงินก็ยังไม่เคยมี

อนาคตการแลกเปลี่ยน ด้วยเงินตรา อาจจะหายไปหรือไม่? ต้องติดตามดู…


ที่มา:

https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/206384

https://www.sec.gov/.../00015645902.../tsla-10k_20201231.htm

https://seekingalpha.com/.../3659395-bitcoin-flirts-with...

https://u.today/breaking-tesla-gets-15-billion-worth-of…

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10158699084935609&id=648910608

ททท.คาดบรรยากาศท่องเที่ยวช่วงตรุษจีนปีนี้เงียบเหงา แม้รัฐบาลประกาศเป็นวันหยุดยาวกรณีพิเศษ คาดมีคนเดินทางท่องเที่ยวเพียง 2.3 แสนคน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนแค่ 602 ล้านบาท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 ซึ่งเป็นวันหยุดยาวกรณีพิเศษ ระหว่างวันที่ 12-14 ก.พ. 2564 ว่า บรรยากาศโดยรวมของการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ค่อนข้างเงียบเหงา โดยจากการสำรวจพบว่า มีคนเดินทาง 2.35 แสนคน-ครั้ง สร้างรายได้หมุนเวียนแค่ 602.20 ล้านบาท โดยทั่วประเทศมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพียง 15% เท่านั้น

ทั้งนี้เป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ไม่เพียงกระทบต่อความเชื่อมั่น และความปลอดภัย ทำให้ต้องงดหรือชะลอการเดินทางท่องเที่ยว แต่ยังฉุดให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วนกลับมาซบเซาอีกครั้ง ส่งผลต่อรายได้ที่ลดลงและหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ระมัดระวังการใช้จ่ายค่อนข้างมาก  

ททท. ด้วยประเมินว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายๆ พื้นที่มีแนวโน้มลดลง และภาครัฐมีมาตรการผ่อนคลายพื้นที่ ทำให้ 60 จังหวัดเมืองหลัก และเมืองรอง มีความพร้อมรองรับการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ในช่วงเทศกาลตรุษจีนประมาณ 65.38% แต่เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวมีจำกัด 

ดังนั้นการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนจึงน่าจะเป็นการเดินทางระยะใกล้ และเน้นกิจกรรมตามวิถีแห่งศรัทธาด้วยการไหว้พระ เทพเจ้า ขอพร และแก้ปีชงเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีน โดยจากการวิเคราะห์การพูดคุยในสังคมออนไลน์ ระหว่างวันที่ 30 ม.ค. – 6 ก.พ. 64 เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ พบว่า จังหวัดที่โดดเด่นมีการพูดถึงค่อนข้างมากคือ นครนายก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ใช้เวลาเดินทางไม่นาน เหมาะกับการเดินทางแบบกลุ่มครอบครัว

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ชำแหละการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หนุนใช้ ‘เกณฑ์เดิม’ ดีกว่า ‘เกณฑ์ใหม่’ เพราะเป็นโครงการที่มีเส้นทางใต้ดินผ่านศูนย์การค้าขนาดใหญ่ พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีความซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งมวลชน โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ – Dr.Samart Ratchapolsitte’ โดยระบุว่า

ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

เกณฑ์เดิม "ดีกว่า" เกณฑ์ใหม่

คาดว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะใช้เกณฑ์ใหม่ในการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่แทนการประมูลเดิมที่ถูก รฟม.ยกเลิกไป แต่ผมมั่นใจว่าเกณฑ์ใหม่สู้เกณฑ์เดิมไม่ได้ เพราะอะไร?

รฟม.อ้างว่าเหตุที่ต้องใช้เกณฑ์ใหม่เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เนื่องจากจะต้องก่อสร้างอุโมงค์ใต้ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ยังคงเปิดให้บริการ จะต้องตัดเสาเข็มสะพานลอยโดยไม่ปิดการจราจร และที่สำคัญ จะต้องก่อสร้างอุโมงค์ใต้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ถือว่าเป็นการก่อสร้างที่ซับซ้อน มีความเสี่ยงสูง จะใช้เกณฑ์เดิมไม่ได้

เกณฑ์เดิมไม่ดีจริงหรือ?

ตามเกณฑ์เดิมเอกชนจะยื่นข้อเสนอ 4 ซอง ดังนี้

ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ

คณะกรรมการคัดเลือกจะประเมินข้อเสนอด้านคุณสมบัติว่ามีครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่ จะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน หากไม่ผ่านก็ไม่ต้องเปิดซองที่ 2 แต่หากผ่านก็ต้องเปิดซองที่ 2 เพื่อพิจารณาต่อไป

ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค

มีคะแนนเต็ม 100% แบ่งเป็น 5 หมวด ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนในแต่ละหมวดไม่น้อยกว่า 80% และจะต้องได้คะแนนรวมของทุกหมวดไม่น้อยกว่า 85% หากไม่ผ่านก็ไม่ต้องเปิดซองที่ 3 แต่หากผ่านก็ต้องเปิดซองที่ 3 เพื่อพิจารณาต่อไป

ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านผลตอบแทน

ผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม.มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล แล้วจึงเปิดซองที่ 4 ของผู้ชนะการประมูลต่อไป

ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อ รฟม.

แต่หลังจากปิดการขายเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน (RFP) แล้ว รฟม.ประกาศเปลี่ยนการใช้เกณฑ์ประเมินเป็นเกณฑ์ใหม่ โดยอ้างว่าเกณฑ์เดิมคัดเลือกผู้ชนะโดยการดูเฉพาะคะแนนผลตอบแทนเท่านั้น หากเอกชนรายใดรายหนึ่งเสนอผลตอบแทนให้ รฟม.ต่ำกว่าอีกรายเพียงเล็กน้อย

แต่เอกชนรายนั้นได้คะแนนด้านเทคนิคสูงกว่า จะทำให้ รฟม.เสียโอกาสในการได้เอกชนที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีเส้นทางใต้ดินผ่านศูนย์การค้าขนาดใหญ่ พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

แต่ผมไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกณฑ์เดิมได้ให้ความสำคัญด้านเทคนิคไว้สูงสุดแล้ว เพราะให้คะแนนไว้เต็ม 100% พร้อมทั้งกำหนดคะแนนขั้นต่ำไว้ 85% นั่นหมายความว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้ไม่น้อยกว่า 85% จึงจะสอบผ่าน และจะต้องได้คะแนนในหมวดย่อยอีก 5 หมวด หมวดละไม่น้อยกว่า 80% ผู้ยื่นข้อเสนอที่สอบผ่านถือว่ามีความสามารถด้านเทคนิคสูงมาก สามารถทำการก่อสร้างงานประเภทไหนก็ได้

การกำหนดคะแนนรวมด้านเทคนิคไว้ 85% ถือว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจากหัวลำโพง-ท่าพระ มีเส้นทางผ่านเยาวราชซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญ และต้องลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ รฟม.กำหนดคะแนนด้านเทคนิคไว้เพียง 70% เท่านั้น แม้กำหนดคะแนนสอบผ่านด้านเทคนิคไว้เพียง 70% แต่ผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลก็สามารถทำการก่อสร้างได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงฟันธงว่าเกณฑ์เดิมดีมากอยู่แล้ว รฟม.ไม่ควรยกเลิกแล้วเปลี่ยนไปใช้เกณฑ์ใหม่

เกณฑ์ใหม่ดีจริงหรือ?

เกณฑ์ใหม่พิจารณาซองที่ 1 (คุณสมบัติ) เช่นเดียวกับเกณฑ์เดิม แต่พิจารณาซองที่ 2 (ด้านเทคนิค) และซองที่ 3 (ด้านผลตอบแทน) พร้อมๆกัน โดยให้คะแนนรวมซองที่ 2 และซองที่ 3 เท่ากับ 100% แบ่งเป็นคะแนนซองที่ 2 (ด้านเทคนิค) 30% และคะแนนซองที่ 3 (ด้านผลตอบแทน) 70% สำหรับคะแนนด้านเทคนิคนั้น รฟม.ไม่ได้กำหนดคะแนนขั้นต่ำไว้

นั่นหมายความว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะได้คะแนนด้านเทคนิคต่ำเพียงใดก็ถือว่าสอบผ่าน อีกทั้ง การให้คะแนนด้านเทคนิคไว้เพียง 30% เป็นการลดความสำคัญด้านเทคนิคลงมา ซึ่งขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของ รฟม.ที่ต้องการใช้เกณฑ์ใหม่ โดยอ้างว่าจะทำให้ได้ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง เหมาะสมกับงานก่อสร้างที่มีความซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

เกณฑ์ใหม่ที่ รฟม.ต้องใช้เป็นเกณฑ์ที่ รฟม.เคยใช้มาแล้วในอดีตนานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ รฟม.คงเห็นว่าไม่เหมาะสมกับงานก่อสร้างที่ซับซ้อน จึงทำให้ รฟม.เลิกใช้เกณฑ์นี้หันมาใช้เกณฑ์เดิม (แยกซองเทคนิคออกจากซองผลตอบแทน) หรือเกณฑ์ที่ประกาศใช้ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งแรก

สรุป

เกณฑ์ใหม่ที่ รฟม.ต้องการใช้ไม่เหมาะสมกับงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟาสายสีส้มที่มีเส้นทางส่วนใหญ่อยู่ใต้ดิน วิ่งผ่านใต้สะพานลอย (ต้องตัดเสาเข็มที่รองรับสะพานลอย) ใต้ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ใต้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และใต้แม่น้ำเจ้าพระยา

เกณฑ์เดิมจะทำให้ รฟม.คัดเลือกได้เอกชนที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูงเหมาะสมกับงานก่อสร้างโครงการนี้ และจะทำให้ รฟม.ได้รับผลตอบแทนสูงสุดที่ควรจะได้อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ รฟม.จึงควรพิจารณาใช้เกณฑ์เดิมในการเปิดประมูลครั้งใหม่


ที่มา : https://www.facebook.com/232025966942314/posts/2282528178558739/?sfnsn=mo&_rdc=1&_rdrhttp://https://www.facebook.com/232025966942314/posts/2282528178558739/?sfnsn=mo&_rdc=1&_rdr

VietJet สายการบินราคาประหยัดของเวียดนาม เผยรายได้ปี 2020 มีกำไรหลังหักภาษีแล้ว 90 ล้านบาท โชว์ศักยภาพสายการบินเพียงไม่กี่แห่งบนโลกที่มีกำไร และไม่ต้องปรับลดพนักงานในช่วงวิกฤติโควิด-19

แม้ในปีที่ผ่านมา VietJet จะเปิดให้บริการเที่ยวบินได้เพียง 78,462 เที่ยว ซึ่งลดลงจากปี 2019 ที่ให้บริการ 139,000 เที่ยว แต่ VietJet ก็ยังทำกำไรได้ถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า 90 ล้านบาท ขณะที่สายการบินอื่นๆ ตกอยู่ในภาวะขาดทุนหรือต้องปิดกิจการ

กุญแจสำคัญของ VietJet อยู่ตรงไหน?

ในปีที่ผ่านมา รายได้เสริมของVietJet คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มจำนวนเที่ยวบินขนส่งสินค้า ซึ่งอันที่จริงแล้ว VietJet ไม่มีเครื่องบินบรรทุกสินค้าเป็นของตัวเอง จึงต้องดัดแปลงเครื่องบินโดยสารเพื่อรองรับการขนส่งสินค้า โดยการถอดที่นั่งออกและยึดสินค้าด้วยตาข่าย

จากนั้นก็ได้ทำข้อตกลงร่วมกับบริษัทอื่นๆ ทำให้สามารถขยายเครือข่ายการขนส่งสินค้าไปยังยุโรปและสหรัฐฯ อาทิ บริษัทขนส่งสินค้ายูพีเอส โดยในปี 2020 VietJet เป็นสายการบินแห่งแรกของเวียดนามที่ได้รับอนุมัติให้ขนส่งสินค้าในห้องโดยสาร (CIPC) สามารถขนส่งสินค้าไปทั่วโลกได้กว่า 6 หมื่นตัน ทำให้รายได้จากการขนส่งสินค้าพุ่งขึ้น 75% ในไตรมาส 4/2020 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเติบโตขึ้นเพียง 16% และถือเป็นการทำธุรกิจขนส่งสินค้าที่ไปไกลได้ถึงทวีปอเมริกาและยุโรปครั้งแรก ทั้งที่เดิมเป็นแผนที่วางไว้ในอนาคต ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของสายการบินที่ส่งเสริมการขายสินค้าและบริการเพื่อชดเชยรายได้จากการจำหน่ายตั๋วโดยสารที่ลดลง

ไม่เพียงแต่การปรับธุรกิจเป็นเครื่องบินขนส่ง แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา VietJet ยังเปิดตัว VietJet Ground Services Center (VJGS) ณ ท่าอากาศยานนานาชาติโหน่ยบ่าย (ฮานอย) ซึ่งมีส่วนช่วยในการจัดการต้นทุนสายการบินและช่วยปรับปรุงการรับรู้แบรนด์และคุณภาพการให้บริการของสายการบินดีขึ้น แถมยังเปิดตัวสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร อาทิ บัตรกำนัลพาวเวอร์พาส (Power Pass) และบัตรกำนัลพาวเวอร์พาสสำหรับชั้นโดยสารสกายบอส (Power Pass Skyboss)

ในส่วนของการลดค่าใช้จ่าย VietJet ก็ได้บริหารจัดสรรฝูงบินใหม่ ซึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้ 10% ผ่านการเจรจาขอส่วนลด 20-25% จากผู้ผลิต พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในแต่ละวันไปได้ 10% โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ยังประสบความสำเร็จจากการประกันความเสี่ยงราคาเชื้อเพลิง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงได้ 25% เมื่อเทียบกับราคาตลาด

นอกจากนี้ ยังมีรายได้เพิ่มเติมจากการเปิดศูนย์บริการพิเศษภาคพื้นดินที่สนามบินนานาชาติโหน่ยบาย ในฮานอย รวมถึงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ค่อนข้างน้อย ทำให้ไม่มีมาตรการที่ขัดขวางการเดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศ และยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยการลดภาษี ขยายระยะเวลาการชำระภาษี ลดค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงเครื่องบินและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ตลอดจนได้รับการพิจารณาข้อเสนอความช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาลสำหรับสายการบินท้องถิ่น

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สายการบิน VietJet ไม่จำเป็นต้องปรับลดพนักงานลง แถมยังทำให้เกิดกำไรสวนทางกับสายการบินอื่นๆ ในโลก

ปัจจุบันสินทรัพย์ของ VietJet มีมูลค่ารวม 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้บริการเที่ยวบินในปี 2020 ที่ 78,462 เที่ยวบิน มีชั่วโมงบินรวม 120,093 ชั่วโมง รองรับผู้โดยสารกว่า 15 ล้านคน อัตราความน่าเชื่อถือทางเทคนิคของ VietJet สูงถึง 99.64% ได้รับการจัดอันดับความปลอดภัยระดับ 7 ดาว เป็นระดับสูงสุดและได้รับการจัดอันดับจาก Airline ratings อยู่ใน 10 อันดับสายการบินโลว์คอสต์ที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดในโลกประจำปี 2020 และตอนนี้ VietJet กลับมาให้บริการเส้นทางบินในประเทศเวียดนามแล้วกว่า 47 เส้นทาง


ที่มา:

https://www.posttoday.com/world/644433

https://brandinside.asia/vietjet-income-and-profit-in-2020/?fbclid=IwAR1SYc8XVnZMKVQIDX8jf56IPij-5sEYJ1egqdkAH9WKYTJWkOBA_y__R1E

เรียกว่าเป็นอีกข่าวดีที่มีเยาวชนไทย ได้ทำการประดิษฐ์เทคโนโลยี เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน อย่างเครื่องดักจับคาร์บอนในอากาศ ที่สามารถแปลงเป็นเชื้อเพลิงได้

ก่อนหน้านี้ Elon Musk เจ้าพ่อรถยนต์ไฟฟ้า มหาเศรษฐี CEO ของ Tesla เคยทวิตข้อความว่าจะสนับสนุนเงินทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3 พันล้านบาท) ให้กับผู้ที่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดีที่สุด

โดยล่าสุด Elon Musk ประกาศว่า XPRIZE องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่เป็นแพลตฟอร์มการจัดแข่งขันเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับมนุษยชาติ จะเป็นผู้จัดการแข่งขันเฟ้นหาผู้ที่สามารถสร้างเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนที่ดีที่สุด

แม้ทาง XPRIZE จะยังไม่เปิดเผยรายละเอียดจนกว่าจะถึงว่าที่ 22 เมษายน แต่เบื้องต้น XPRIZE ประกาศแนวทางคร่าวๆ ในเว็บไซต์ดังนี้

1.) ทีมที่เข้าแข่งขันจะต้องคิดค้นโมเดลการจัดการคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ และต้องสามารถขยายสเกลของโมเดลการจัดการคาร์บอนให้ได้ถึงระดับกิกะตัน

2.) เป้าหมายของการแข่งขันในครั้งนี้คือ การสร้างวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 10 กิกะตันต่อปีภายในปี 2050

Elon Musk กล่าวในประกาศการแข่งขันว่า “เราต้องการสร้างระบบที่ชัดเจน วัดผลได้จริง สามารถสร้างผลกระทบได้ในระดับกิกะตัน (ระดับพันล้านตัน) และต้องทุ่มเททั้งหมดที่มีเพราะเวลาไม่คอยท่า”

การแข่งขันครั้งนี้จะกินระยะเวลา 4 ปี โดยใน 18 เดือนแรก ผู้เข้าแข่งขัน 15 ทีมสุดท้ายจะได้รับเงินทุนสนับสนุนทีมละ 1 ล้านดอลลาร์ เพื่อต่อยอดเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนไปสู่สเกลที่ใหญ่ขึ้น

ส่วนการแข่งขันในรอบสุดท้าย ผลรางวัลมีดังนี้

• ทีมชนะเลิศจะได้รับรางวัล 50 ล้านดอลลาร์

• ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับรางวัล 20 ล้านดอลลาร์

• ทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับรางวัล 10 ล้านดอลลาร์

• ทีมของนักเรียนนักศึกษา จะได้รับทุนจำนวน 2 แสนดอลลาร์ (25 ทุน)

แน่นอนว่าโครงการนี้ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วนอย่างมาก แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ หนึ่งในเด็กไทยที่ถูกจับตามองด้วยจากโครงการนี้

‘แอนโทนี - ปิยชนม์ ภุมวิภาชน์’ อายุ 15 ปี นักเรียนเกรด 9 ที่โรงเรียนนานาชาติเกนส์วิลล์ เชียงราย เป็นเด็กไทยที่ได้เสนอไอเดียนวัตกรรมต่อ ‘อีลอน มัสก์’ ในการดักจับคาร์บอนในบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ที่จะช่วยแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศที่ภาคเหนือได้ด้วย

โดยแอนโทนีได้ทำคลิปวิดีโอเผยแพร่ลงบนยูทูบเพื่อเป้าหมายเสนอโครงการดังกล่าว ซึ่งในเนื้อหาของวิดีโอ ได้กล่าวถึง ที่มาของแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องดักจับคาร์บอนของเขาด้วย

“ผมเห็นข่าวที่มัสก์ลงมาช่วยภารกิจ 13 หมู่ป่า ที่ถ้ำขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย และรู้สึกประทับใจในตัวของมัสก์ ที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมกู้ภัยได้อย่างรวดเร็ว ผมจึงอยากให้มัสก์ได้เห็นว่า คนไทยสามารถผลิตนวัตกรรมดักจับคาร์บอนได้ ซึ่งเราเห็นความสำคัญของเรื่องมลพิษทางอากาศผ่านปัญหาหมอกควันในภาคเหนือช่วง 2 ปีที่ผ่านมา” (แอนโทนี เผยกับ National Geographic ประเทศไทย)

ภายในคลิปวิดีโอได้อธิบายหลักการทำงานของเครื่องมือนี้ไว้ว่า ในส่วนตัวเครื่องมีกลไกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศให้เป็นก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ และก๊าซออกซิเจน รวมถึงภายในเครื่องมือนี้ยังสามารถดักจับฝุ่นละลอง PM 2.5 ได้อีกด้วย

สำหรับก๊าซไฮโดรเจนที่ได้ สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงมีเทนและปิโตรเลียม ส่วนก๊าซออกซิเจนสามารถปล่อยคืนสู่ชั้นบรรยากาศได้ โดยปัจจุบันเครื่องมือนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนา ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างแอนโทนีและคุณลุงผู้เป็นนักประดิษฐ์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้จริงในอนาคต

คลิกชมคลิป >> video 

 


ที่มา:

https://www.facebook.com/1523107561151019/posts/3425884500873306/

https://brandinside.asia/elon-musk-donate-for-carbon-capture-tech-competition/

https://ngthai.com/envir.../33745/carbon-capture-technology/

https://twitter.com/aphiyachon?s=21

https://www.facebook.com/1523107561151019/posts/3424998934295196/

สำนักข่าวต่างประเทศ NPR ได้ติดตามชีวิตผู้ให้บริการทางเพศ (Sex Workers) ในประเทศไทย ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยระบุว่าอุตสาหกรรมทางเพศในประเทศไทยกำลังหยุดชะงัก

ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ปิดประเทศและยกเลิกเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวประเทศไทยซบเซา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมทางเพศที่ได้รับการสนับสนุนจากลูกค้าต่างชาติพังทลายลงเช่นกัน

การวิเคราะห์ในปี 2015 โดย Havocscope บริษัทวิจัยที่ศึกษาตลาดมืด คาดว่า การค้าบริการทางเพศของไทยมีมูลค่าสูงถึง 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (190,000 ล้านบาท) ต่อปี หรือประมาณ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แม้ว่าจะยังคงเป็นงานผิดกฎหมายอยู่ก็ตาม

แต่เมื่อต้องเผชิญกับมาตรการจำกัดการท่องเที่ยวนานแรมปี บวกกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการปิดล็อคอีกครั้งในหลายจังหวัด รวมถึงพัทยาซึ่งถูกประกาศเป็นเขตควบคุมสูงสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 63 เพราะเจอผู้ติดเชื้อสูงถึง 144 ราย จนทำให้สถานที่สาธารณะส่วนใหญ่รวมถึงผับบาร์ต้องปิดตัว

รายงานข่าวจาก NPR ได้มีการพูดคุยกับพนักงานวัย 26 ปี ทำงานอยู่ที่บาร์เกย์แห่งหนึ่งในพัทยา โดยเผยว่า แต่เดิมอาชีพของเขารายได้ดีมากเมื่อเทียบกับพนักงานทั่วไปหรืองานบริการอื่น ๆ เขาสามารถสร้างบ้านเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสบาย แต่เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เขาต้องประสบปัญหาอย่างหนัก ไม่มีเงินแม้แต่จะจ่ายค่าเช่าห้องพัก จึงตัดสินใจกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ก่อนที่เงินออมจะหมดลงในเดือนตุลาคม และรู้สึกหดหู่ซ้ำเข้าไปอีก เพราะหลังจากโควิดระบาดใหม่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการปิดพรมแดน จนยากที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาในเร็ววัน

อีกรายหนึ่งเป็นผู้ค้าบริการทางเพศวัย 28 ปี ก็ได้เผยว่า เมื่อก่อนอาชีพนี้อาจทำเงินได้มากถึง 3,000 ถึง 6,000 บาทต่อคืน แต่ตอนนี้พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้เงินเลย และขณะนี้บาร์เปิดให้บริการน้อยลงกว่าแต่ก่อน ซึ่งนั่นแปลว่าพวกเขาต้องทำงานหนักมากขึ้น ในขณะที่ได้เงินน้อยลง

ผู้ให้บริการทางเพศหลายคนต้องหันไปทำงานอื่นอย่างเช่น การขายอาหาร หรือหันไปให้บริการทางออนไลน์ โดยการให้บริการผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ และรับเงินผ่านทาง PayPal

NPR ยังได้พูดคุยกับผู้จัดการบาร์ Cheap charlie's bar ซึ่งเป็นชาวอังกฤษและได้รับคำตอบว่า บาร์ของเขาตอนนี้มีแต่ชาวต่างชาติที่มีรายได้น้อยและพวกเขามักปฏิเสธที่จะซื้อเครื่องดื่มและใช้บริการเด็กนั่งดริ๊งก์ “อุตสาหกรรมนี้กำลังจะตาย” ผู้จัดการบาร์กล่าว

อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคที่เข้มงวดและยอมรับในการปิดพรมแดน แม้ว่าพวกเขาจะต้องลำบากหรือตกงานแต่เขาก็ต้องการได้เงินอย่างปลอดภัยเช่นกัน


ที่มา: https://www.posttoday.com/world/644895

https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2021/02/03/960848011/how-the-pandemic-has-upended-the-lives-of-thailands-sex-workers

คนไม่มีสมาร์ทโฟนเตรียมเฮ!!! กระทรวงการคลัง เปิดลงทะเบียนร่วมโครงการ ‘เราชนะ’ 15 - 25 ก.พ.นี้ ที่สาขาธนาคารกรุงไทย หรือจุดบริการเคลื่อนที่รับลงทะเบียนของธนาคาร

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายละเอียดการเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะ สำหรับประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ว่า ประชาชนกลุ่มนี้ สามารถลงทะเบียนได้ระหว่างวันที่ 15 - 25 ก.พ.นี้ ที่สาขาธนาคารกรุงไทย หรือจุดบริการเคลื่อนที่รับลงทะเบียนต่าง ๆ ของธนาคาร

สำหรับประชาชนในกลุ่มนี้ เบื้องต้นต้องนำบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด ไปใช้ประกอบการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์โครงการฯ โดยต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนโดยการเสียบบัตรประจำตัวประชาชน ผ่านเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) พร้อมกำหนดรหัส (PIN Code) ได้ที่สาขาของธนาคารกรุงไทย หรือจุดบริการที่ธนาคารกรุงไทยกำหนด หากผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและได้รับอนุมัติวงเงินสิทธิ์จะได้รับวงเงินสิทธิ์สนับสนุนเป็นราย

ส่วนกลุ่มประชาชนที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ทางเว็บไซต์เราชนะ แล้วพบว่า “ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติ” สามารถยื่นขอทบทวนสิทธิ์ผ่านทางเว็บไซต์เราชนะ ได้ โดยผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติเรื่องเงินได้พึงประเมิน

และต้องการให้ตรวจสอบข้อมูลเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2563 ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2563 ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ แต่ต้องไม่เกินวันที่ 8 มี.ค. 2564 สำหรับผู้ที่ได้ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 8 - 9 ก.พ. 2564 จะต้องยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 17 ก.พ. 2564

ที่ผ่านมากระทรวงการคลังพบว่ามีประชาชนหรือร้านค้าที่ใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการประสานขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการติดตาม ตรวจสอบ

และดำเนินการทางกฎหมายในประเด็นดังกล่าวแล้ว หากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขจริง จะระงับการใช้แอปฯ “ถุงเงิน” ของร้านค้า และระงับการจ่ายเงินให้กับร้านค้าทันที รวมถึงระงับการใช้แอปฯ เป๋าตัง และจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

รมว.คลัง สั่ง ก.ล.ต. คุมเข้มเทรดบิทคอยน์ ย้ำต้องเติมความรู้ให้นักลงทุนรู้เท่าทัน เหตุมีความเสี่ยงสูง พร้อมระบุเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีหวัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะบิทคอยน์ อย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นสินทรัพย์ใหม่ และมีความเสี่ยง จึงต้องดูแลเรื่องนี้ให้ดี

พร้อมทั้งให้คำแนะนำ และความรู้กับผู้ลงทุนด้วย โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารความเสี่ยงกับผู้มีเงินออมและเข้ามาอยู่ในตลาดตรงนี้ ต้องให้มีความรู้เท่าทัน ป้องกันไม่ให้ได้รับความเสี่ยงมากเกินไป

ทั้งนี้ยังขอให้ ก.ล.ต.ช่วยอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น การเปิดโอกาสให้บริษัท หรือผู้ประกอบรายใหม่เข้าถึงตลาดทุน ยกระดับความเชื่อมั่นเสริมศักยภาพตลาดทุน และการพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

"สถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้โดยเฉพาะผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบที่แตกต่างออกไปจากปีก่อน เพราะมีปัจจัยเสริมคือเรื่องวัคซีน หากทำได้เร็วก็ช่วยลดการแพร่ระบาดได้ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความหวังว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจะน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อน"

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการบริหารเศรษฐกิจปี 2564 รัฐบาลต้องดำเนินการ 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1.) การเยียวยาและฟื้นฟู ต้องทำให้ทันสถานการณ์ โดยปี 63 ที่ผ่านมา มีการเยียวยาประชาชนในโครงการเราไม่ทิ้งกัน สำหรับปีนี้ก็ได้ดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการ ม33 เรารักกัน อย่างไรก็ดี มาตรการเยียวยาทำได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น ไม่สามารถเยียวยาโดยการแจกเงินไปได้ตลอด ดังนั้นรัฐบาลต้องทำการฟื้นฟู ช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านนโยบายการเงินการคลัง ไปพร้อมกันด้วย

2.) การกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตให้มีความชัดเจน ซึ่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยต้องเน้นเรื่องนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG)

3.) การดูแลการระบาดของโควิด-19 และการดูแลรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่ตอนนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 12% และอีก 10 ปี จะเพิ่มเป็น 24% ต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับในส่วนนี้

นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องมีวัคซีนเศรษฐกิจ 3 ตัว เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพ ประกอบด้วย

1.)วัคซีนเศรษฐกิจระดับประเทศ GDP ต้องเติบโตมั่นคง ต่อเนื่องมีคุณภาพ เศรษฐกิจต้องมีความมั่นคง ทุนสำรองสูง ฐานะการคลังแข็งแรง และหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

2.) วัคซีนเศรษฐกิจระดับภาคการผลิต ภาคบริการ ต้องมีภูมิคุ้มกัน มีการบริหารความเสี่ยง และมีธรรมาภิบาล

และ 3.) วัคซีนระดับประชาชน ส่งเสริมให้มีการออมเงินมากขึ้น และสร้างทางเลือกการออมยามเกษียณให้กับประชาชน

เปิดสถิติธุรกรรมการเงินยุคโควิด พบคนไทยใช้โมบายแบงกิ้งอันดับหนึ่งของโลก ส่วนเรื่องช็อปไม่แพ้ใคร ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ ผ่านสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 2 ของโลก

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยถึงไลฟ์สไตล์คนไทยยุคโควิด โดยอ้างอิงมูลจาก We Are Social และ Hootsuite พบว่าในปี 2563 คนไทยทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 68.1% ต่อเดือน ส่วนการซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซผ่านสมาร์ทโฟน สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็น 74% และมีการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เฉลี่ย 5 ชั่วโมง 7 นาทีต่อวัน

ส่วน K PLUS ซึ่งเป็นแอปพลิเคชัน โมบายแบงกิ้ง ของธนาคารกสิกรไทย ยังได้กลายเป็นช่องทางสำคัญที่ลูกค้าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตอบรับกับไลฟ์สไตล์คนในปัจจุบันที่ลดการเดินทางออกนอกบ้าน เลี่ยงจับเงินสด และใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

โดยในปี 2563 มีลูกค้าใช้งาน K PLUS มากถึง 5 ล้านรายต่อวัน มีจำนวนธุรกรรมรวมทุกประเภท 14,500 ล้านรายการ เติบโต 71% และมีผู้ใช้งานรวม 14.4 ล้านราย

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้งาน K PLUS รวม 17.5 ล้านราย และมีจำนวนธุรกรรมทั้งหมดผ่าน K PLUS มากกว่า 24,600 ล้านรายการ ภายในปี 2564


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top