Tuesday, 6 May 2025
CoolLife

วันนี้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว ‘บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด’ เปลี่ยนฐานะเป็น ‘องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.)’

วันนี้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เปลี่ยนฐานะเป็น องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) โดยย้อนกลับไป บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ซึ่งได้บริหาร สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวี ช่อง 4 (บางขุนพรหม) เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย และได้มีการเผยแพร่ภาพครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 

โดยในภายหลังรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ขึ้น เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 เพื่อดำเนินกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่น่าเชื่อถือต่อสาธารณชน 

10 เมษายน ค.ศ. 1912 การออกเดินทาง ‘เรือไททานิก’ เที่ยวปฐมฤกษ์

ในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 ไททานิค (RMS Titanic) เรือยักษ์ใหญ่ที่มีความหรูหรา ใหญ่โต และแข็งแรงที่สุดในต้นศตวรรษที่ 20 ขนาดที่คนเชื่อกันว่าเรือลำนี้ ‘ไม่มีวันอับปาง’ ได้ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าสู่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 

หลังเดินทางออกจากเซาแธมป์ตันในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 ไททานิก แวะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่เมืองเชอร์บูร์ก ที่เชอร์บูร์ก (Cherbourg) ในฝรั่งเศส และควีนส์ทาวน์ (ปัจจุบันคือ โคฟ, Cobh) ในไอร์แลนด์ ก่อนมุ่งหน้าไปทางตะวันตกมุ่งสู่นิวยอร์ก วันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1912 ห่างจากเซาแธมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ไททานิก ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง การชนแฉลบทำให้แผ่นลำเรือไททานิก เกิดความเสียหาย น้ำได้ทะลักเข้าไปในเรือ แล้วได้เปิดห้องกั้นน้ำทั้งหมด แต่ทว่า ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้จากห้องเก็บถ่านหิน ทำให้ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ไม่สามารถทนทานแรงดันน้ำได้ จึงส่งผลให้น้ำทะลักเข้ามาภายในตัวเรือ

โดยน้ำค่อยๆ ไหลเข้ามาในเรือและจมลง ผู้โดยสารและสมาชิกลูกเรือบางส่วนถูกอพยพในเรือชูชีพ โดยมีเรือชูชีพจำนวนมากถูกปล่อยลงน้ำไปทั้งที่ยังบรรทุกไม่เต็ม ผู้ชายจำนวนมาก กว่า 90% ในที่นั่งชั้นสอง ถูกทิ้งอยู่บนเรือ เพราะระเบียบ “ผู้หญิงและเด็กก่อน” ตามด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งบรรทุกเรือชูชีพนั้น ก่อน 2.20 น. เล็กน้อย ไททานิกแตกและจมลงโดยยังมีอีกกว่าพันคนอยู่บนเรือ คนที่อยู่ในน้ำเสียชีวิตภายในไม่กี่นาทีจากภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) อันเกิดจากการแช่อยู่ในมหาสมุทรที่เย็นจนเป็นน้ำแข็ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน จากผู้โดยสารราว 2,300 คน เนื่องจากเรือมีเสื้อชูชีพไม่พอและมีเรือกู้ภัยเพียง 20 ลำ นับเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุทางเรือที่ร้ายแรงที่สุดของโลก
 

อะพอลโล 13 ‘ตำนานความล้มเหลวที่สำเร็จ’ หลังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายภารกิจ แต่นักบิน 3 คน รอดชีวิตกลับมายังพื้นโลกได้อย่างปลอดภัย 

ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2513 ‘ยานอะพอลโล 13’ ถูกส่งไปเยือนดวงจันทร์ด้วยจรวด Saturn V โดยมีภารกิจหลักคือ ส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์และเก็บข้อมูลตัวอย่างกลับมาศึกษาอย่างปลอดภัย มีนักบินสามคนได้แก่ เจมส์ โลเวลล์, แจ็ค สไวเกิร์ท และเฟรด ไฮส์ 

ระหว่างการเดินทางถังออกซิเจนบนยานระเบิดทำให้ยานส่วนหนึ่งเกิดความเสียหาย จึงต้องยุติภารกิจสำรวจดวงจันทร์ และเปลี่ยนเป็นภารกิจกู้ชีพนักบินแทน โดยใช้ยานลงจอดดวงจันทร์ (Lunar Module) เป็นเรือชูชีพ แต่ท้ายที่สุดนักบินทั้งสามก็เดินทางกลับมาโลกอย่างปลอดภัย โดยใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 5 วัน 22 ชั่วโมง 54 นาที เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่ล้มเหลวของนาซา แต่ยิ่งกว่าภารกิจคือการนำตัวนักบินเดินทางกลับมาได้อย่างปลอดภัย จึงเรียกโครงการนี้ว่า “ความล้มเหลวที่ประสบความสำเร็จ”

12 เมษายน ค.ศ. 1961 ประวัติศาตร์หน้าใหม่ของมนุษยชาติ ‘ยูริ กาการิน’ มนุษย์คนแรกผู้โคจรรอบโลกเป็นครั้งแรก

ยูริ อเล็กซิเยวิช กาการิน (Yuri Alekseyevich Gagarin) เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1934 เขาเป็นลูกชายของช่างไม้ชาวรัสเซีย จบการศึกษาจากโรงเรียนอาชีวะใกล้กับกรุงมอสโกก่อนศึกษาต่อในวิทยาลัยอุตสาหกรรมที่เมืองซาราตอฟพร้อมกับศึกษาวิชาการบินไปด้วยในเวลาเดียวกัน หลังจบการศึกษาเขาได้เข้าเรียนต่อในโรงเรียนเตรียมทหารของกองทัพอากาศโซเวียตจนจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1957

4 ปีให้หลังเข้าสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับมนุษยชาติ ด้วยการทำภารกิจที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้า ซึ่งภารกิจในครั้งนี้ทำให้เขากลายเป็นนักบินอวกาศคนแรกที่ได้สัมผัสชั้นบรรยากาศนอกโลก โดยยานวอสตอก 1 (Vostok 1) ของเขาได้ทะยานออกจากพื้นดินเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1961 เวลา 9.07 นาฬิกา ตามเวลาในกรุงมอสโก และได้โคจรรอบโลกเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 29 นาที ที่ระดับความสูงสูงสุด 301 กิโลเมตร ก่อนลงจอดบนผิวโลกอีกครั้งเมื่อเวลา 10.55 นาฬิกา

13 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ ‘วันสงกรานต์’และ ‘วันผู้สูงอายุ’ 

ในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี นับว่าเป็นวันแรกเริ่มของเทศกาลสำคัญของไทยอย่าง ‘เทศกาลวันสงกรานต์’ แต่นอกจากนี้แล้ววันนี้ยังมีวันสำคัญอีกวันหนึ่งซึ่งจัดตั้งขึ้นมาควบคู่ไปกับวันปีใหม่ไทย นั่นก็คือ ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’ เพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชนทุกกลุ่มให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ เห็นถึงคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญกับผู้สูงอายุ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ตามศักยภาพของตนเองอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี ส่งเสริมการเรียนรู้และการเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ

โดยความเป็นมาของวันผู้สูงอายุ เกิดขึ้นเมื่อในอดีตสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีนโยบายดูแล ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี และดำรงชีวิตในสังคมได้ จึงจัดสถานสงเคราะห์เพื่อให้คนชราได้มีที่พักพิง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลผู้สูงอายุอย่างจริงจัง โดยกรมประชาสงเคราะห์เป็นหน่วยงานที่ดูแล และได้จัดตั้ง ‘สถานสงเคราะห์คนชราบางแค’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘บ้านบางแค’ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496

ยุคต่อมาเมื่อองค์การสหประชาชาติได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ จึงจัดประชุมสมัชชาเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ประเทศออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. 2525 และพิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ ‘ผู้สูงอายุ’ ไว้ 3 ประการ ได้แก่ ด้านมนุษยธรรม, ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา โดยกำหนดนิยามผู้สูงอายุว่า คือ บุคคลเพศชาย หรือ เพศหญิง ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

14 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ ‘วันครอบครัว’ เพื่อให้ประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัว

‘สถาบันครอบครัว’ จัดว่าเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคม ทั้งยังเป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม นับได้ว่าเป็นสถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนา ผู้ร่วมครัวเรือน โดยการที่ทางราชการกำหนด ‘วันครอบครัว’ ขึ้นมานั้น เนื่องจากต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวให้มากขึ้น เพราะการที่วิถีชีวิตของคนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ย่อมทำให้ครอบครัวมีความขัดแย้ง และห่างเหินกันมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาทีหลังได้

โดยประวัติความเป็นมาของ ‘วันครอบครัว’ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีได้เสนอมติโดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและอนุมัติให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก

15 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ ‘วันศิลปะโลก’ วันแห่งการฉลองให้กับความคิดสร้างสรรค์

วันที่ 15 เมษายน ตรงกับ ‘วันศิลปะโลก' ซึ่งริเริ่มโดยสมาคมศิลปะนานาชาติ (International Association of Art) หรือ IAA โดยก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองให้กับงานศิลปะและกิจกรรมที่ว่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ทั่วโลก

โดยศิลปะ คือ ผลแห่งความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่แสดงออกมาในรูปลักษณะต่าง ๆ ให้ปรากฏซึ่งสุนทรียภาพ ความประทับใจ หรือความสะเทือนอารมณ์ตามประสบการณ์ รสนิยม และทักษะของบุคคลแต่ละคน นอกจากนี้ ยังมีนักปราชญ์ นักการศึกษา ท่านผู้รู้ ได้ให้นิยามความหมายของศิลปะแตกต่างกันออกไป

16 เมษายน ค.ศ. 2014 โศกนาฏกรรม ‘เรือเซวอล’ อับปาง

ในวันนี้เมื่อ 8 ปีก่อน ได้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สะเทือนใจคนทั้งโลก โดยเฉพาะชาวเกาหลีใต้ นั่นก็คือ โศกนาฏกรรม ‘เรือเซวอล’ อับปาง ที่คร่าชีวิตไปกว่า 304 ศพ โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมของโรงเรียนดันวอน

โดยเหตุการณ์นี้ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 2014 เรือเซวอลกำลังมุ่งหน้าจากเมืองอินชอนสู่เกาะเชจูตามตารางเวลาที่กำหนด โดยบนเรือส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมของโรงเรียนดันวอน ที่กำลังออกไปทัศนศึกษา

เมื่อรวมจำนวนผู้โดยสารและลูกเรือแล้ว เรือลำนี้บรรจุผู้โดยสารกว่า 476 ชีวิต ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของน้ำหนักผู้โดยสาร ที่เจ้าของเรืออ้างว่าเซวอลสามารถบรรทุกได้

ในวันเกิดเหตุ กัปตันอีจุนซอก วัย 69 ปี ผู้กุมชะตาชีวิตคนบนเรือเกือบ 500 คน กลับไม่ได้อยู่ในห้องควบคุมเรืออย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับสั่งให้ลูกเรือเป็นผู้ดำเนินการทุกอย่างแทน ซึ่งเมื่อเรือเข้าสู่ช่องแคบ ที่เต็มไปด้วยโขดหินและคลื่นแรงใต้ทะเล ลูกเรือที่ไม่มีประสบการณ์มากพอก็ตัดสินใจผิดพลาดได้หันหัวเรือกะทันหัน และกระปุกพวงมาลัยเรือที่ทำงานขัดข้อง จึงเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้เซวอลศูนย์เสียการทรงตัว

นอกจากความหละหลวมในการทำหน้าที่ของเขาแล้ว เรือลำนี้ยังบรรทุกสินค้าที่ไม่สมดุลและเกินน้ำหนักมาตรฐาน คอนเทนเนอร์สินค้าที่จัดวางอย่างไม่รัดกุม รวมถึงน้ำอับเฉาที่มีน้อยกว่าที่ทางการกำหนด โดยเรือเซวอลนั้น แท้จริงแล้วเป็นเรือมือสองที่ซื้อต่อมาจากบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทชองแฮจินของเกาหลีใต้ ได้ซื้อมาเพื่อใช้งานต่อเมื่อปี 2012

หลังจากนั้น บริษัทชองแฮจินของเกาหลีใต้ ได้มีการปรับปรุงเรือและทำการต่อเติม เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากกว่าเดิม ซึ่งจุดนี้เองจึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ เพราะการต่อเติมเรือ ทำให้ศูนย์ถ่วงเรือมีปัญหา ยิ่งไปกว่านั้นทางบริษัทฯ ยังได้ยื่นขอบรรทุกสินค้าเกือบ 2,000 ตัน ซึ่งต่อมากรมทะเบียนเรือ ได้ปรับลดน้ำหนักบรรทุกสินค้าของเซวอลลงเหลือครึ่งหนึ่ง และกำหนดให้ต้องบรรทุกน้ำอับเฉาถึง 2,000 ตัน เพื่อให้เรือสามารถทรงตัวอยู่ได้

17 เมษายน พ.ศ. 2557 ‘บิลลี่ พอละจี’ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง หายตัวไปอย่างไม่มีวันกลับ

‘บิลลี่ พอละจิ รักจงเจริญ’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และเป็นหลานชายของ ‘ปู่คออี้’ ที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน จังหวัด เพชรบุรี เขาเติบโตขึ้นมาโดยเป็นที่ไว้วางใจของคนในหมู่บ้านในเรื่องการช่วยต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชน

โดยบิลลี่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ออกมาช่วยชาวบ้านในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อเรียกร้องถึงสิทธิชุมชน โดยหลายกรณีคือความขัดแย้งที่ชาวกะเหรี่ยงต้องสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ในประเด็นที่อยู่อาศัย-การไล่รื้อที่อยู่ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงและรัฐนั้น มีเรื่องระหองระแหงกันอยู่เสมอ ๆ

หนึ่งในกรณีสำคัญ คือ การที่เขาเตรียมจะฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เข้ามารื้อที่อยู่อาศัยและทำให้ทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวต้องเสียหายไปเมื่อปี 2554

โดยในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 บิลลี่ ได้หายตัวไป ซึ่งเช้าวันนั้นเองเขาเดินทางออกจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อไปตัวอำเภอแก่งกระจาน พยานที่พบเห็นบิลลี่เป็นครั้งสุดท้าย ระบุว่า เขาเห็นบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานจับกุมตัวไป แต่ไม่รู้ว่าพาไปไหนต่อ

ในวันต่อมาผู้ใหญ่บ้านบางกลอยได้เข้าแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้ตรวจสอบพบว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเอาไว้จริง แต่ก็ได้ปล่อยตัวไปแล้วตามปกติ ต่อมาพนักงานสอบสวนตรวจสอบพบว่านายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยอมรับว่า ควบคุมตัวบิลลี่ไว้จริง โดยให้เหตุผลว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองจึงเรียกไปตักเตือนแต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว

หลังจากการหายตัวไปของบิลลี่ ทางครอบครัวก็ได้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับเขา ทั้งไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รวมถึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ให้ไต่สวนกรณีควบคุมตัวบิลลี่ขัดกับหลักกฎหมาย (ในตอนนั้นครอบครัวเชื่อว่า บิลลี่ยังมีชีวิตอยู่แต่ถูกควบคุมตัวเอาไว้) อย่างไรก็ดี ศาลได้ยกคำร้องเรื่องการควบคุมตัวบิลลี่ไปในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557

หลังจากนั้น การหายตัวไปของบิลลี่ก็ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่าที่ควร แต่ทางครอบครัวก็ยังไม่ยอมแพ้ และพยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้กับบิลลี่อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ภรรยาของบิลลี่ มึนอ ที่เดินทางไปยื่นหนังสือต่อองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงองค์กรและสถานทูตต่างประเทศ

และในช่วงต้นปี 2561 เมื่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ได้รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่ไปเป็น ‘คดีพิเศษ’ ขณะที่องค์กรภาคประชาชน และภาคประชาสังคมก็ยังคงจับตาการสอบสวนคดีนี้อย่างต่อเนื่อง ทางด้านองค์กรด้านสิทธิเรียกการสูญหายไปของบิลลี่ว่าเป็น ‘การถูกบังคับให้สูญหาย’ (forced disappearance) ซึ่งมีนัยของการที่บุคคลหนึ่งถูกอุ้มหายไปจากสังคม ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่งที่ร้ายแรง

ซึ่งในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562 มีข้อมูลใหม่ที่ถูกเปิดเผยออกมาว่าเจ้าหน้าที่ได้ค้นพบวัตถุบางอย่างในอุทยานแก่งกระจาน ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงไปถึงการหายตัวไปของบิลลี่ได้ ทางด้านหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มานะ เพิ่มพูล บอกว่า อุทยานฯ ได้รับทราบถึงหลักฐานชิ้นใหม่นี้แล้ว ซึ่งข้อมูลที่พอจะให้ได้ก็คือ เป็นหลักฐานที่ค้นพบแถวๆ สะพานแขวน ซึ่งจุดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของแก่งกระจาน

18 เมษายน พ.ศ. 2498 การจากไปของ ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ สุดยอดอัจฉริยะของโลก

หากกล่าวถึงนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่พลิกโฉมวงการวิทยาศาสตร์ และมีชื่อเสียงกระฉ่อนโลก ชื่อแรกที่หลายคนต่างนึกถึงก็คือ ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ โดยในวันนี้เป็นวันสำคัญที่โลกต่างระลึกถึง ต่อการจากไปของอัจฉริยะคนสำคัญของโลกผู้นี้

‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ เป็นศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์และนักฟิสิกส์ทฤษฎี ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาเป็นผู้เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพ และมีส่วนร่วมในการพัฒนากลศาสตร์ควอนตัม กลศาสตร์สถิติ และจักรวาลวิทยา เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปี 2464 จากการอธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก และจากการทำประโยชน์แก่ฟิสิกส์ทฤษฎี

หลังจากที่ไอน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ในปี 2458 เขาก็กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยธรรมดานักสำหรับนักวิทยาศาสตร์ ในปีต่อ ๆ มา ชื่อเสียงของเขาได้ขยายออกไปมากกว่านักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ ไอน์สไตน์ได้กลายมาเป็นแบบอย่างของความฉลาดหรืออัจฉริยะความนิยมในตัวของเขาทำให้มีการใช้ชื่อไอน์สไตน์ในการโฆษณา หรือแม้แต่การจดทะเบียนชื่อ "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ให้เป็นเครื่องหมายการค้า


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top